ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” สวมหมวก ‘เซ็นทรัล’ ใช้พลังธุรกิจเชื่อมความยั่งยืน เร่งสปีดคนข้างหลัง-ประเทศ

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” สวมหมวก ‘เซ็นทรัล’ ใช้พลังธุรกิจเชื่อมความยั่งยืน เร่งสปีดคนข้างหลัง-ประเทศ

2 เมษายน 2023


ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษา Central Group Sustainability ของกลุ่มเซ็นทรัล

เบื้องหลังคำปรึกษา ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ ของกลุ่มเซ็นทรัล จาก “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และในฐานะที่ปรึกษา Central Group Sustainability ของกลุ่มเซ็นทรัล สู่โครงการ ‘เซ็นทรัล ทำ’ เน้นสร้างความเจริญไปถึง ‘ข้างหลัง’ ของประเทศ พร้อมย้ำหลักคิด CSV (Creating Shared Values) สร้างคุณค่าร่วมระหว่างสังคมและธุรกิจ

บทบาทความยั่งยืนกลุ่มเซ็นทรัล พัฒนาปัจเจก-ชุมชน

ดร.ประสาร ไตรรัตน์ววรกุล ที่ปรึกษา Central Group Sustainability ของกลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า “ประเทศไทยมีหลายโจทย์ แต่โจทย์หนึ่งคือการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยทั้งข้างหน้าและข้างหลัง ไม่ได้หมายความว่า ขณะที่ข้างหน้าเคลื่อนไปแล้วข้างหลังไม่ได้เคลื่อนตาม ข้างหลังก็ไปเหมือนกัน แต่ช้ากว้า แต่ทุกวันนี้ ประเทศข้างหน้าเคลื่อนไปเร็วมาก ข้างหลังเคลื่อนช้ากว่า”

“วิธีที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นโจทย์ใหญ่ แต่มีอย่างหนึ่งคือการกระจายประโยชน์ต่างๆ ทำได้ทั้ง ‘ระดับปัจเจก’ อาทิ พัฒนาทักษะแรงงาน ‘ระดับชุมชน’ เช่น การสร้างเศรษฐกิจฐานราก หรือ ‘ระดับประเทศ’ เช่น ระบบรัฐสวัสดิการ ระบบสาธารณสุขถ้วนหน้า เบี้ยคนชรา”

บทบาทธุรกิจกลุ่มเซ็นทรัลคือ ระดับปัจเจกและชุมชน ส่วนระดับประเทศเป็นเรื่องของพรรคการเมือง-รัฐบาล รวมถึงงบประมาณแผ่นดิน

มุมมองของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากระดับชุมชน ดร.ประสารมองว่าต้องคำนึงถึง 3 องค์ประกอบ คือ หนึ่ง พึ่งพาตนเองได้ ถ้าไม่คิดเรื่องนี้ จะเป็นสังคมสงเคราะห์ไปเรื่อยๆ ถ้าทำอะไรก็ตาม ให้คนพึ่งพาตนเองได้จะมีความยั่งยืน สอง มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สาม การเรียนรู้และพัฒนาด้านต่างๆ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการช่วยกันตลอดไป

การเรียนรู้มาจากสังคม ชุมชน ผู้คน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สามารถสร้างอาชีพและกระจายรายได้ ถึงจุดหนึ่งเขาจะช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชน และการเรียนรู้ทำให้เกิดการพัฒนา ชาวบ้านเขามีความคิดดีๆ เราก็ไปเพิ่มเติม เขาก็เรียนรู้และพัฒนาต่อไปได้ เหมือนที่เห็นว่ามีภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ลายผ้าที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นตัวอย่างคือ

  • ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี จังหวัดตรัง โดยกลุ่มเซ็นทรัลให้การสนับสนุนก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ เพื่อรวบรวมผ้าทอมือโบราณที่มีประวัติยาวนานกว่า 200 ปี และอบรมการเป็นมัคคุเทศก์ในพิพิธภัณฑ์ให้แก่ลูกหลานชาวนาหมื่นศรี รวมทั้งจัดทำเส้นทางจักรยานท่องเที่ยวชุมชน สำหรับนักท่องเที่ยว โดยปี 2565 สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 7.3 ล้านบาท และมีจำนวนสมาชิกชุมชนที่เข้าร่วม 155 คน
  • ชุมชนผ้าย้อมครามบ้านกุดจิก จังหวัดสกลนคร การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม โดยกลุ่มเซ็นทรัลร่วมมือกับ กรมพัฒนาชุมชน เข้าไปสนับสนุนพัฒนากลุ่มทอผ้าบ้านกุดจิก ร่วมกันหาจุดเด่น และเอกลักษณ์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมด้านการขายและการตลาด โดยปี 2565 สร้างรายได้ให้กับชุมชน 1 ล้านบาทต่อปี
  • โครงการศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี จ.ตรัง
    ชุมชนผ้าย้อมครามบ้านกุดจิก-จ.สกลนคร

    CSV-คุณค่าร่วม คือส่วนสำคัญของธุรกิจ

    “สมัยก่อน ธุรกิจมองว่า หน้าที่ของฉันคือการทำธุรกิจ ซื้อมาขายไป มีรายได้เข้ามาแล้วก็เสียภาษี เรื่องส่วนรวมก็ไม่ทำ ตัวอย่างที่ชัดมากคือสิ่งแวดล้อม สมัยก่อนเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่ปัจจุบันความคิดที่แยกปัญหาสังคมกับประโยชน์ส่วนบุคคลออกจากกันมันไม่เวิร์ค…จะเห็นว่าพัฒนาต้นทุนสังคมกับประโยชน์ธุรกิจมันพันกันจนแยกไม่ออก”

    เช่น กลุ่มเซ็นทรัลมีธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และค้าปลีก ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่ดี เช่น น้ำในทะเลสกปรก อากาศเป็นพิษ มันก็กระทบธุรกิจ คนก็ไม่อยากมาเที่ยว ในทางกลับกัน ถ้าอากาศดี ทะเลสะอาด คนก็มาท่องเที่ยว

    “เวลารับสมัครพนักงาน กลุ่มเซ็นทรัลบอกว่าอยากได้คนเก่งๆ แต่ถ้าระบบการศึกษาของประเทศสร้างคนเก่งไม่ได้ หรือถ้ามองเศรษฐกิจเป็นวงจร ค้าปลีกคือขายสินค้า ถ้าอำนาจซื้อของคนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดยังไม่มี แล้วจะขายอย่างไร

    ดังนั้น ‘เซ็นทรัล ทำ’ คือ โครงการขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืนของกลุ่มเซ็นทรัล โดยมีแนวคิดเพื่อ ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาการศึกษา ส่งเสริมอาชีพคนพิการ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ขับเคลื่อนสู่การท่องเที่ยวยั่งยืน พร้อมกับการมุ่งสู่โลกสีเขียว

    โดยในปี 2565 สร้างรายได้ให้ชุมชนรวมกว่า 1,500 ล้านบาท สนับสนุนชุมชนกว่า 100,000 ครัวเรือน สร้างอาชีพให้คนพิการ 751 คน เพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูป่า 5,519 ไร่ ส่วนปี 2566 ตั้งเป้าสร้างรายได้ให้ชุมชน 1,800 ล้านบาท และเพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูป่า 6500 ไร่ ด้านการพัฒนาชุมชน ไม่ว่าจะเป็น

  • จริงใจ มาร์เก็ต ตลาดที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีทั้งอาหาร (Food) ศิลปะและงานออกแบบ (Art & Design) และงานฝีมือ (Craft) และเป็นตลาดเกษตรอินทรีย์แห่งแรกของกลุ่มเซ็นทรัล ปัจจุบันมีผู้ประกอบการท้องถิ่น และเกษตรกรที่นำ ผัก ผลไม้ มาจำหน่ายภายในตลาดจริงใจจาก 15 ชุมชน คิดเป็นกว่า 70 ครัวเรือน และมีผู้ประกอบการอีกเกือบ 250 ราย สร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวให้กับเศรษฐกิจไทยได้กว่า 40 ล้านบาทต่อปี
  • ชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ สถานที่ท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์ ร่วมกับ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน (Earth Net Foundation) และหน่วยงานต่างๆ โดยสนับสนุนคนรุ่นใหม่รวมกลุ่มกันจัดสรรพื้นที่สร้างประโยชน์ด้านต่าง ตัวอย่างเช่น ‘วิสาหกิจชุมชนแม่ทา ออร์แกนิค’ ที่มีเกษตรกรรุ่นใหม่รวมตัวกัน 20 คน เพื่อการท่องเที่ยววิถีชุมชน การจัดทำที่พักโฮมสเตย์ ศูนย์การเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ และส่งขายที่ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และตลาดจริงใจ มาร์เก็ต เชียงใหม่ สร้างรายได้ให้ชุมชนในปี 2565 มากกว่า 5 ล้านบาท
  • กาแฟรักษาป่า ภูชี้เดือน จังหวัดเชียงราย โดยกลุ่มเซ็นทรัลได้เข้าไปส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟอินทรีย์รักษาป่าภูชี้เดือน จังหวัดเชียงราย สนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกจากเกษตรแบบเชิงเดี่ยวและใช้สารเคมี มาเป็นการปลูกกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าแท้ โดยการคัดต้นพันธุ์แท้ ทริปปิก้า มัลเดอริ่ง จากต่างประเทศ มาปลูกในผืนป่าธรรมชาติบนพื้นที่ภูชี้เดือน
  • จริงใจ มาร์เก็ต จ.เชียงใหม่

    นอกจากนี้ยังสร้างงานสร้างอาชีพผ่าน ต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ด้านนวัตกรรมการทำเกษตรอินทรีย์ จังหวัดเชียงราย แหล่งท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์ที่ร่วมมือกับพระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี) โดยต่อยอดจากโครงการพุทธนิเวศเกษตรอินทรีย์ ไร่เชิญตะวัน และพัฒนาวิสาหกิจชุมชน เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกร ชาวนา รวมถึงผู้ที่สนใจ สามารถเข้ามาเรียนรู้ศึกษาโครงการเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ

    โครงการศูนย์การเรียนรู้พุทธนิเวศเกษตรอินทรีย์ ไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย

    ด้านสิ่งแวดล้อมคือ ศูนย์การเรียนรู้พัฒนาผลผลิตการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน บ้านเทพพนา อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ที่กลุ่มเซ็นทรัลเพิ่มพื้นที่สีเขียวทดแทนป่าเสื่อมโทรม จำนวน 2,000 ไร่ ที่สำคัญคือพัฒนาให้เป็นการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์ 1 ใน 7 ของผู้ปลูกอะโวคาโด พันธุ์แฮสส์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลก รวมถึงขยายผลเครือข่ายผู้ปลูกอะโวคาโด จำนวน 1,000 ราย

    ศูนย์การเรียนรู้พัฒนาผลผลิตการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน-บ้านเทพพนา-อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ
    ศูนย์การเรียนรู้พัฒนาผลผลิตการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน บ้านเทพพนา อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ

    ดร.ประสาร กล่าวต่อว่า การทำธุรกิจเพื่อสังคมต้องคำนึงถึงการสร้างค่านิยมร่วมหรือคุณค่าร่วม หรือที่เรียกว่า CSV (Creating Shared Value) เพราะถ้าสิ่งแวดล้อมดี ธุรกิจของเซ็นทรัลก็ได้รับประโยชน์ตามไปด้วย หรือถ้าผู้บริโภคต้องการอาหารปลอดสารพิษแล้วกลุ่มเซ็นทรัลสามารถตอบสนองความต้องการได้ สินค้าเหล่านี้ก็จะมีราคาที่สูง ซึ่งทั้งหมดเป็นคุณค่าร่วมกัน

    ที่สำคัญ ต้องไม่พูดว่า ธุรกิจเพื่อสังคมคือกิจกรรมพิเศษที่แตกต่างจากการทำธุรกิจปกติ เพราะมันคือเรื่องเดียวกัน

    ใช้ความยั่งยืน เร่งสปีดประเทศ

    ดร.ประสาร เล่าว่าเมื่อประมาณปี 2559 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ หรือที่เรียกว่า SDGs Goal (Sustainable Development Goal) เพื่อต้องการแก้ปัญหาร่วมกันของคนทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นการลดความยากจน ความอดอยาก สิ่งแวดล้อม คุณภาพอากาศ รวมถึงสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน แต่ภายหลัก SDGs ถูกย่อเป็น 3 เสาหลักคือ ESG (Environment, Social, Governance)

    ดร.ประสาร กล่าวต่อว่า กลุ่มเซ็นทรัลต้องนำแนวคิดด้านความยั่งยืนมาปรับใช้ให้เข้ากับธุรกิจ โดยกลับมาสำรวจจุดแข็งองค์กร จนทำให้พบว่า สิ่งที่กลุ่มเซ็นทรัลต้องการมีอยู่ 2 ประการ หนึ่ง ทำแล้วมีสาระสำคัญ มีผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม สอง ทำแล้วมี engagement กับพนักงานและคนของเซ็นทรัล ไม่ใช่บริจาคแล้วจบ

    “บางเรื่องเราเข้าไปช่วยได้อีกเยอะ เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับการบริการ การท่องเที่ยว แต่ต้องทำให้เชื่อมโยงกับชุมชน และมีหลักความยั่งยืน เวลาเลือกพื้นที่กิจกรรมก็คำนึงถึงข้อเหล่านี้ โดยเฉพาะสิ่งดึงดูดใจ ทั้งธรรมชาติและมนุษย์สร้าง ทำให้พื้นที่นั้นๆ เป็น tourist desination แล้วจะมีห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ตามมา ที่สำคัญต้องมีมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ระบบสาธารณูปโภค ถนน มีการอนุรักษ์การมีส่วนร่วมของชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนกับทรัพยากรธรรมชาติ มีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียม ประเพณี ก่อให้เกิดรายได้กับชุมชน และมีความโดดเด่นบางประการ”

    “ความต้องการของประเทศมันเยอะมาก โจทย์เยอะมาก แต่เราโฟกัสกับสิ่งที่ทำตามกำลังที่เรามี แต่การทำอะไรก็ตามอย่าลืมหลักความยั่งยืน แรกเริ่มเราก็ค่อยๆ ทำ ขยับขึ้นมาเป็นโปรเจคที่กลายเป็นเข็มทิศ จากนั้นมีการประกวดชื่อภายในองค์กรว่า สิ่งที่เราทำควรจะเรียกรวมๆ ว่าอะไร สุดท้ายได้ชื่อ ‘เซ็นทรัล ทำ’ แล้วทำทั้งมิติคน การมีรายได้ สิ่งแวดล้อม สังคมดี และความร่วมมือ”

    “จากความคิดว่า เราก็มีส่วนรับผิดชอบในปัญหาสังคม เพื่อให้ ‘ข้างหลัง’ ได้สปีดตาม ‘ข้างหน้า’ ได้ดีขึ้น บางคนอาจจะคิดว่าข้างหน้าอย่าไปเร็วมาก ข้างหลังตามไม่ทัน แต่คอนเซ็ปต์ของประเทศคือความเร็ว เราต้องแข่งกับชาวโลก แต่อย่าลืมคนข้างหลัง และใช้พลังของเราทำธุรกิจ ไม่ใช่กิจกรรมพิเศษ แต่เป็นกิจกรรมที่ไปด้วยกันกับงานหลักเราได้”