ThaiPublica > คอลัมน์ > บทเรียนเพื่อการปรับระบบการเมืองจากวิกฤติ COVID 19

บทเรียนเพื่อการปรับระบบการเมืองจากวิกฤติ COVID 19

31 มีนาคม 2020


กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

วิกฤติ COVID-19 สร้างหายนะและความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติว่าเราจะอยู่รอดต่อไปในอนาคตได้หรือไม่ วิกฤติคราวนี้เป็นบทเรียนให้สังคมโลกและไทยต้องปรับตัวขนานใหญ่ เพราะแม้หากเราจะผ่านไวรัสนี้ไปได้ อนาคตก็อาจจะเจอโรคระบาดใหม่ๆ หรือภัยพิบัติใหม่ เช่น โลกร้อน ที่จะทำให้สังคมมนุษย์ล่มสลายในที่สุด สังคมโลกและไทยต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง เริ่มต้นจากบทเรียนทางการเมือง

ความล้มเหลวของแนวคิดเสรีนิยมใหม่

ระบบการเมืองการปกครอง และวัฒนธรรมร่วมสมัยของพลเมืองประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบสังคมนิยม หรือเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ล้วนขับเคลื่อนด้วยทุนอุตสาหกรรมนิยม ล้วนไปไม่รอดเมื่อเผชิญการท้าทายของไวรัส COVID-19

รัฐบาลอย่างอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เริ่มต้นด้วยแนวคิดเสรีนิยมใหม่ คือ ใช้แนวทางกลไกตลาดเสรีมาเป็นหลักคิดกลไกไวรัสเสรี โดยปล่อยให้ไวรัสแพร่ระบาดอย่างอิสระ แล้วประชาชนที่เข้มแข็งจะปรับตัวเพื่อความอยู่รอดจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) เอง ส่วนผู้อ่อนแอหรือปรับตัวไม่ได้ก็ต้องยอมรับชะตากรรม ทั้งหมดนี้เป็นไปตามหลักวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต ซึ่งมักจะอ้างอิงจากนักวิทยาศาสตร์ชาร์ล ดาร์วิน ที่เสนอวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิตจากกลไกการคัดเลือกตามธรรมชาติ ผู้ที่เหมาะสมที่สุด เช่น ปรับตัวได้ดีที่สุด จึงจะอยู่รอด แม้จะมีข้อถกเถียงว่าเราไม่ควรเอาแนวคิดวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิตธรรมชาติมาใช้กับสังคมที่มีความซับซ้อนกว่ามาก และการอยู่รอดอาจไม่ได้หมายถึงการแข่งขันแต่ยังมีความร่วมมือด้วย แต่รัฐเสรีนิยมใหม่ก็เลือกตีความเช่นนี้ เพราะกลไกไวรัสเสรีได้ช่วยเลือกให้รัฐแล้วว่า เมื่อรัฐสร้างหลักประกันให้ประชาชนทั้งหมดไม่ได้ รัฐควรทุ่มเทกับพลเมืองประเภทไหนที่คุ้มประโยชน์ที่สุด (เช่น วัยแรงงานที่จะสร้างประโยชน์ให้รัฐต่อไป) ตามแนวคิดประโยชน์นิยมที่ทรัพยากรมีจำกัด จำเป็นต้องใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐ

แต่ปัญหาของวิธีคิดกลไกไวรัสเสรีเช่นนี้ ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงว่า “อำมหิต” เพราะมั่นใจได้อย่างไรว่า ภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นจริงก่อนประชาชนจะล้มตายไปก่อน และที่สำคัญคือ ในฐานะรัฐเสรีประชาธิปไตยที่ต้องเคารพสิทธิ เสรีภาพของประชาชน การกำหนดนโยบายกลไกไวรัสเสรีจะละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้ และจะต้องถามความยินยอมของประชาชนด้วย ซึ่งต่อมาเมื่อรัฐบาลอังกฤษรู้ว่าแนวทางดังกล่าวกลับยิ่งหายนะ จึงต้องกลับลำหันมาควบคุมสถานการณ์อย่างเข้มข้น ห้ามประชาชนออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น จัดระบบสนับสนุนการเงินแก่ประชาชนที่ต้องตกงาน พักงาน ซึ่งทั้งหมดนี้ตรงข้ามกับแนวคิดเสรีนิยมใหม่อย่างสิ้นเชิง

ขณะที่รัฐบาลสังคมนิยมแบบจีน หรือรัฐประชาธิปไตยที่ไม่ปล่อยให้ตลาดเสรีเลยเถิดอย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ก็ใช้อำนาจรัฐเข้าควบคุมจัดการอย่างเข้มงวด สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสให้อยู่ในสถานการณ์ที่รัฐจัดการได้ โดยไม่ทิ้งประชาชนคนชั้นล่างที่ด้อยโอกาสให้เสี่ยงตามยถากรรม

สำหรับอิตาลีและไทยจัดอยู่ในประเภทรัฐล้มเหลว จากความประมาท ล่าช้า ไร้ประสิทธิภาพ และขาดธรรมาภิบาล แม้อิตาลีและไทยจะไม่ประกาศเจตจำนงใช้กลไกไวรัสเสรีอย่างโจ่งแจ่งแบบอังกฤษ แต่กระบวนการที่ไร้ประสิทธิภาพกำลังนำมาสู่สภาวะสังคมเสี่ยงภัยอย่างเสรี สถานการณ์อิตาลีรุนแรงกว่าไทยมาก เพราะไวรัสแพร่กระจายได้เกือบเสรี มาตรการต่างๆ ที่มาเข้มงวดภายหลังนั้นช้าเกินไป เปรียบได้กับสภาวะกลไกตลาดได้เคลื่อนย้ายทุน แรงงาน เทคโนโลยี วัฒนธรรมของกลุ่มทุน จนทำลายระบบสาธารณะทั้งทรัพยากรและสวัสดิการสังคมต่างๆ จนรัฐไม่สามารถสร้างหลักประกันสาธารณะแก่พลเมืองได้อย่างมั่นคง ทั่วถึง เท่าเทียม เช่นเดียวกันกับการแพร่ระบาดไวรัสเสรีได้ทำให้รัฐหมดบทบาทการปกป้องชีวิตสาธารณะซึ่งเป็นหน้าที่พื้นฐานของรัฐได้ สถานการณ์ไทยกำลังอยู่ในภาวะก้ำกึ่งจะก้าวไปสู่ความล้มเหลวหรือหันกลับมาได้ทัน

แต่สิ่งที่ควรพิจารณาต่อไปคือ แม้รัฐบาลไทยจะไม่ได้ประกาศใช้นโยบายกลไกไวรัสเสรี แต่มีแนวทางจัดการแบบเสรีนิยมกลายๆ ด้วยสภาวะความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและ สังคม เมื่อโดนไวรัสโจมตีจะผลักให้สังคมเข้าสู่สภาวะรุนแรงได้ไม่ยาก รัฐและสังคมไทยพยายามส่งเสริมแนวทางสร้างระยะห่างทางสังคม (social distancing) เช่น การทำงานอยู่ที่บ้าน การห้ามออกจากพื้นที่ ซึ่งชนชั้นสูงและชนชั้นกลางยังพอสามารถปฏิบัติได้ แต่กับชนชั้นล่างทั้งแรงงานในประเทศและแรงงานข้ามชาติ พวกเขายากที่จะทำเช่นนั้น

หากรัฐบาลไทยปล่อยปละละทิ้งให้พวกเขาเผชิญชะตากรรมเอาเอง โดยไม่มีมาตรการตาข่ายนิรภัยทางสังคม และการสร้างระบบสวัสดิการทางสังคมในยามวิกฤติสำหรับคนชั้นล่างให้พอเพียงทั่วถึง ผลที่จะตามมาคือ คนชั้นล่างมีโอกาสเสี่ยงจะติดเชื้อสูงกว่า และเศรษฐกิจครอบครัวล่มสลายอย่างรวดเร็ว ทั้งหมดนี้ไม่เพียงฉุดระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมืองให้ตกต่ำ แต่ยังทำให้เกิดความไม่พอใจจากความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างดังกล่าว ซึ่งพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงทางสังคมและการเมืองได้

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/fanmoph/

จากบทเรียนโลกและไทยในด้านการบริหารจัดการของรัฐในยามวิกฤติโควิดทำให้เห็นว่า นโยบายเสรีนิยมใหม่ที่เปิดเสรีของทุนในทุกด้าน ปล่อยให้ประชาชนต่อสู้ดิ้นรนเองตามความสามารถแข่งขัน โดยผู้ปรับตัวอยู่รอดได้เท่านั้นที่เหมาะสมที่จะเป็นพลเมืองที่รัฐจะสนับสนุนนั้น เป็นแนวทางที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ซึ่งมันได้เผยตัวออกมาในภาวะวิกฤติสังคม ทิศทางการเมืองการปกครองของรัฐต่างๆ ทั่วโลกและรัฐไทย ควรจะต้องก้าวเข้าสู่การสร้างระบบประชาธิปไตยที่มีฐานรัฐ-สังคมสวัสดิการที่เข้มแข็ง

สิทธิมนุษยชนกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน

ฉับพลันที่รัฐบาลไทยประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด ก็มีเสียงเตือนว่าต้องไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ด้วยเหตุผลเชิงคุณค่าของรัฐเสรีนิยมที่ยึดหลักการเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยจำกัดอำนาจรัฐไม่ให้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

หากแต่สถานะของสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนจะมีชีวิตรอดจากการคุกคามของไวรัส กับสิทธิเสรีภาพทั่วไปยามปรกติพึงต้องจำแนกและแยกแยะจัดลำดับความสำคัญ เพราะในทางกลับกัน ประเทศเสรีประชาธิปไตยทั้งหลาย ต่างก็พากันออกมาตรการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น สิทธิในการอยู่อาศัย สิทธิการเดินทาง สิทธิในการครอบครองสิ่งที่ปัจจัยสำคัญต่อการปกป้องโรคระบาด สิทธิการค้าขาย สิทธิการชุมนุม และอื่นๆ ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อปกป้อง “สิทธิมนุษยชน” อันเป็นสิทธิพื้นฐานกว่าสิทธิพลเมืองอื่นๆ เพราะรัฐเริ่มเห็นแล้วว่า หากวัฒนธรรมความรับผิดชอบต่อสาธารณะของพลเมืองไม่เข้มแข็งพอ และความจำเป็นการดำรงชีพทางเศรษฐกิจสังคมในการใช้ชีวิตสาธารณะ ลำพังการขอความร่วมมือประชาชนให้สร้างระยะห่างทางสังคมเพื่อปกป้องสิทธิส่วนรวมและสิทธิบุคคลไม่เพียงพอ รัฐจึงใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามาลิดรอนสิทธิเสรีภาพบางด้านเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนส่วนรวมในยามวิกฤติ และเป็นการใช้อำนาจเพียงชั่วคราวจนกว่าวิกฤติผ่านพ้น

เป็นที่เข้าใจทั่วไปว่า สังคมประชาธิปไตยไม่ได้มีแต่ด้านสิทธิ เสรีภาพ แต่ยังมีหน้าที่ของพลเมืองที่ต้องเคารพ รับผิดชอบ และมีส่วนร่วมต่อสาธารณะ สาธารณะอันหมายรวมทั้งรัฐและสังคมจะต้องรับรองส่งเสริมสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล และบุคคลต้องมีวัฒนธรรมการเมืองที่จะใช้สิทธิเสรีภาพบุคคลไม่ละเมิดสิทธิสาธารณะ ซึ่งหากประเทศไหนสามารถจัดความสำคัญระหว่างสิทธิหน้าที่ของปัจเจกบุคลกับสิทธิหน้าที่ที่มีต่อสาธารณะให้เกื้อกูลไม่ขัดแย้งกันได้ ย่อมจะทำให้เกิดพลังรัฐร่วมสังคมในการสร้างสังคมให้เข้มแข็งและเป็นธรรมได้

เราจึงเห็นบางรัฐเช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เยอรมัน ฯลฯ ที่สามารถจัดความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิบุคคลกับหน้าที่ต่อสาธารณะได้ดีสามารถเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติไวรัสได้ดี ประชาชนแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม สร้างระยะห่างไม่ให้แพร่เชื้อ ระดมทุน ทำกิจกรรมจิตอาสาช่วยเหลือสังคมโดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบางที่อาจจำเป็นต้องใช้ชีวิตสาธารณะ ทั้งนี้เป็นระบบการเมืองที่วางรากฐานความรับผิดชอบสาธารณะไว้เข้มแข็ง ประชาสังคมมีวัฒนธรรมความรับผิดชอบสาธารณะที่เข้มแข็ง รัฐมีธรรมาภิบาล ยามเผชิญวิกฤติที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชนของประชาชน รัฐและสังคมจึงมีพลังร่วมกันที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชนแม้จะต้องลิดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคลในภาวะชั่วคราวก็ตาม

แต่บางสังคมเช่นสังคมไทยที่วัฒนธรรมการรับผิดชอบต่อสาธารณะอ่อนแอ ประชาสังคมอ่อนแรง เพราะรัฐขาดธรรมาภิบาลและความน่าในการสร้างหลักประกันคุ้มครองส่งเสริมสิทธิสาธารณะให้เข้มแข็ง ทำให้แนวทางการใช้พลังทางสังคมจัดการแพร่ระบาดไวรัสไม่ได้ผลมากนัก ประชาชนจำนวนไม่น้อยยังใช้ชีวิตปรกติ ไม่สนใจสร้างระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ เมื่อยามตื่นตระหนกเร่งกักตุนสินค้าที่จำเป็นทั้งอาหาร ยารักษาโรค เจล หน้ากากอนามัย นายจ้างก็ยกเลิกหรือหยุดพักการจ้างงานโดยไม่จ่ายเงิน โดยไม่สนใจที่จะช่วยเหลือเยียวยาลูกจ้าง ไม่นับการอาสาเพื่อช่วยเหลือสังคมที่มีจำกัด สังคมที่วัฒนธรรมความรับผิดชอบต่อสาธารณะอ่อนแอกำลังล้มเหลวในภาวะวิกฤติไวรัส

หากรัฐหรือชุมชนใดไม่สามารถคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้ ผู้คนจะกลับไปสู่สิทธิธรรมชาติที่จะปกป้องตนเองเพื่อความอยู่รอดไม่ว่าจะแก่งแย่งช่วงชิงหรือร่วมมือกันเองโดยไม่สนใจอำนาจรัฐ และอาจนำไปสู่ความล่มสลายของรัฐและสังคมในที่สุด

แต่กระนั้น ในสังคมไทยก็มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจบางอย่างที่จะสะท้อนถึงความพยายามใช้วัฒนธรรมความรับผิดชอบสาธารณะในระดับชุมชน ดังเช่น ชุมชนกะเหรี่ยงในภาคเหนือบางชุมชนที่เปราะบาง มีมาตรการคัดกรอง หรือกระทั่งไม่ยอมให้ลูกหลานกลับชุมชนตนเองชั่วคราว เพราะชุมชนขาดระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งพอจะรับมือกับไวรัสได้ ด้วยโครงสร้างบริการสาธารณสุขของรัฐก็ไปไม่ถึงชุมชนอย่างทั่วถึง ดังนั้นหากลูกหลานกลับไปนั่นหมายถึงหายนะของชุมชนและลูกหลานเอง แต่หากลูกหลานยังอยู่เมืองยังมีโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณสุขของรัฐและหาเลี้ยงชีพตนเองได้ง่ายกว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงการปกป้องสิทธิชุมชน ซึ่งแม้จะดูเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของลูกหลานที่จะกลับบ้าน แต่ก็เป็นไปเพื่อสิทธิมนุษยชนส่วนรวมของชุมชนและลูกหลาน

บทเรียนจากวิกฤติโควิดทำให้เห็นว่า จะต้องปฏิรูปความเป็นรัฐและสังคมให้คุ้มครองสิทธิมนุษยชน สร้างหลักประกันและส่งเสริมให้ประชาชนมีวัฒนธรรมความรับผิดชอบต่อสาธารณะ เมื่อเผชิญวิกฤติ หากสังคมมีวัฒนธรรมความรับผิดชอบสาธารณะเพื่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนส่วนรวมที่เข้มแข็ง ย่อมไม่จำเป็นเลยที่รัฐจะต้องรวบอำนาจลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อสาธารณะอยู่แล้ว

แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น รัฐก็ต้องมีมาตรการปกป้องสิทธิมนุษยชนส่วนรวมโดยอาจลิดรอนสิทธิเสรีภาพทั่วไป แต่จะต้องมีหลักประกันในการคืนสิทธิเสรีภาพสู่ประชาชนเมื่อวิกฤติผ่านพ้น เพราะการให้รัฐถืออำนาจผูกขาดยาวนานจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงเช่นกัน