ASEAN Roundup ประจำวันที่ 28 มกราคม-3 กุมภาพันธ์ 2567
ฟิลิปปินส์เติบโตเร็วที่สุดในอาเซียนแซงหน้าเวียดนามและมาเลเซีย

ฟิลิปปินส์แซงหน้าเวียดนามและมาเลเซีย และกลายเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีที่แล้ว โดยการขยายตัวได้รับแรงหนุนจากการบริโภค บริการ และการลงทุน
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(Gross domestic product:GDP)ขยายตัว 5.6% ซึ่งสูงกว่าการเติบโตเฉลี่ย 5.5% ในการสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์จากบลูมเบิร์ก เศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีเติบโตในอัตราที่ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ก็เติบโต 2.1%
แม้อัตราการขยายตัวต่อปีจะต่ำกว่าเป้าหมาย 6%-7% ของรัฐบาล แต่ก็เป็นการขยายตัวที่เร็วที่สุดในภูมิภาคนี้ ซึ่งแซงหน้าการขยายตัว 5.05% ของเวียดนาม ขณะที่เศรษฐกิจของมาเลเซียซึ่งมีเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2565 ที่ 8.7% มีแนวโน้มชะลอตัวลงเหลือ 3.8% ในปี 2566
อินโดนีเซียและไทยกำหนดรายงานข้อมูลเศรษฐกิจในเดือนกุมภาพันธ์
อาร์เซนิโอ บาลิซากัน เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติ(National Economic and Development Authority ) กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า รัฐบาลมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 6.5%-7.5% ในปี 2567 ซึ่งจะช่วยให้ฟิลิปปินส์รักษาตำแหน่งการเติบโตสูงสุดของภูมิภาคได้
ความเห็นของอาร์เซนิโอ บาลิซากัน สะท้อนถึงมุมมองในทางบวกของประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ ต่อแนวโน้มของเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภค ขณะที่อัตราเงินเฟ้อลดลง และธนาคารกลางพักการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เข้มงวดที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม การรักษาการขยายตัวที่โดดเด่นไว้นั้น ต้องอาศัยการยกระดับอย่างมากจากรัฐบาล เนื่องจากผู้กำหนดนโยบายการเงินไม่น่าจะผ่อนคลายนโยบายในเร็วๆ นี้ ท่ามกลางความเสี่ยงด้านราคาที่ยังคงมีอยู่
ฟิลิปปินส์ซึ่งมีการบริโภคในสัดส่วนถึง 75% ของ GDP ยังเผชิญกับความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น จากความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับจีนในเรื่องทะเลจีนใต้ ความปั่นป่วนทางการเมืองในประเทศยังเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากประธานาธิบดีมาร์กอสและอดีตประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต แตกคอกัน
“ประเทศใดก็ตามที่มีความไม่มั่นคงทางการเมืองจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ” บาลิซากันกล่าวเมื่อถูกขอให้แสดงความเห็นเกี่ยวกับความแตกแยกที่ขยายวงกว้างขึ้นระหว่างมาร์กอสและดูเตอร์เต
เมื่อเจาะลงไปใน GDP ไตรมาสที่สี่ พบว่า ผลผลิตภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1.4% จากปีที่แล้ว ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ภาคบริการขยายตัว 7.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี การใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 5.3% จากปีก่อน การลงทุนเพิ่มขึ้น 11.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี
ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐลดลง 1.8% ซึ่งสอดคล้องกับความพยายามที่จะปรับนโยบายการคลังกลับไปสู่ภาวะปกติ ซึ่งบาลิซากันคาดว่า การขยายตัวของบริการจะต่อเนื่องตามการเติบโตของเศรษฐกิจ
แม้ว่าการบริโภคจะยังคงแข็งแกร่ง แต่เศรษฐกิจโลกที่ซบเซา อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ย ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ โรเบิร์ต แดน โรเซส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากซีเคียวริตี้ แบงก์ คอร์ป ในกรุงมะนิลา กล่าว “โมเมนตัมการเติบโตตอนนี้ขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายของรัฐบาล”
Bloomberg Economics ระบุว่า โดยรวมแล้ว GDP ยังคงเติบโตและเมื่อบวกกับการอ่อนค่าของเงินเปโซ ก็คาดว่าธนาคารกลาง ฟิลิปปินส์จะยังคงนโยบายการเงินเข้มงวดในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังคงแข็งแกร่งและการใช้เงินทุนของภาคธุรกิจกำลังฟื้นตัว โดยรวมแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4.50% ในรอบนี้ และคาดว่าธนาคารกลางจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในปลายปีนี้ แต่หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐเริ่มผ่อนคลายลงก่อนเท่านั้น ซึ่งน่าจะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินได้บ้าง
แม้อัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคมจะชะลอตัวลงจนอยู่ในกรอบเป้าหมาย 2%-4% ของธนาคารกลางหลังจากผ่านไป 21 เดือน แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ไม่ได้จบลงเสียทีแเดียว เพราะราคาอาหารสูงขึ้น การปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกของธนาคารกลางอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยการบริโภคลดลง
ผู้ว่าการ ธนาคารกลาง เอลี เรโมโลนา เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมากล่าวว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งช่วยให้ผู้กำหนดนโยบาย “มีพื้นที่เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย”
ฟิลิปปินส์-เวียดนามลงนามซื้อขายข้าว 1.5-2 ล้านตันใน 5 ปี

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ฟิลิปปินส์และเวียดนามได้ลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือการค้าข้าว การป้องกันและการจัดการเหตุการณ์ในทะเลจีนใต้ ความร่วมมือด้านการเกษตรและวัฒนธรรมในระหว่างการเยือนเวียดนามของประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์
ในบรรดา MoU ที่ได้ลงนาม ได้แก่ บันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือการค้าข้าว MoU ว่าด้วยการป้องกันเหตุการณ์และการจัดการในทะเลจีนใต้(Incident Prevention and Management in the South China Sea) MoUเกี่ยวกับความร่วมมือในด้านการเกษตรและสาขาที่เกี่ยวข้อง MoUระหว่างหน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์ (PCG) และหน่วยยามฝั่งเวียดนาม (VCG) ว่าด้วยความร่วมมือทางทะเลและโครงการความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างคณะกรรมการวัฒนธรรมและศิลปะแห่งชาติของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์และกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระยะเวลาปี 2567-2572
บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการค้าข้าว ได้สร้างกรอบความร่วมมือด้านข้าวระหว่างฟิลิปปินส์และเวียดนาม เพื่อรองรับและมีแนวทางการจัดหาอาหารที่ยั่งยืนท่ามกลางผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาด และเหตุการณ์ภายนอกอื่นๆของทั้งสองประเทศ
ภายใต้บันทึกความเข้าใจ เวียดนามตกลงในข้อผูกพันทางการค้าระยะเวลา 5 ปีในการจัดหาข้าวขาวผ่านภาคเอกชนให้แก่ภาคเอกชนของฟิลิปปินส์ ในปริมาณ 1.5 ล้านถึง 2 ล้านตันต่อปีในราคาที่แข่งขันได้และซื้อได้
นอกเหนือจากการค้าข้าวแล้ว ฟิลิปปินส์และเวียดนามยังคาดหวังที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบาย แผนงาน และกฎระเบียบ และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าข้าว
ส่วน MoU ว่าด้วยการป้องกันและการจัดการเหตุการณ์ในทะเลจีนใต้ ทั้งสองประเทศเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างการประสานงานเกี่ยวกับประเด็นทางทะเลทวิภาคี ภายในอาเซียนและกับคู่เจรจาอื่นๆ โดยทั้งสองฝ่ายกระชับความพยายามในการส่งเสริมความไว้วางใจ ความเชื่อมั่น และความเข้าใจ ผ่านการเจรจาและความร่วมมือ กิจกรรม
ด้านบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรจะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างฟิลิปปินส์และเวียดนามในด้านการเกษตร การพัฒนาชนบท และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งกำหนดขอบเขตความร่วมมือ 19 ด้าน ที่ครอบคลุมพืชผลที่มีมูลค่าสูง ปศุสัตว์ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การจัดการฟาร์ม และความยั่งยืน เทคโนโลยีการเกษตรและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอัจฉริยะ การฝึกอบรมการวิจัย และการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ
ในทางกลับกัน MOU ว่าด้วยความร่วมมือทางทะเลมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และความเชื่อมั่นระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยผ่านการพัฒนาคณะกรรมการร่วมหน่วยยามฝั่งเพื่อหารือประเด็นและผลประโยชน์ร่วมกันระหว่าง PCG และ VCG จะมีการจัดตั้งกลไกการสื่อสารสายด่วนระหว่าง PCG และ VCG
และผ่านโครงการความร่วมมือทางวัฒนธรรม ฟิลิปปินส์และเวียดนามจะขยายการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและกระชับความสัมพันธ์ฉันมิตรตามข้อตกลงทางวัฒนธรรมที่ลงนามระหว่างทั้งสองประเทศในปี 2541
เอลนีโญอาจส่งผลกระทบนาข้าวฟิลิปปินส์ 20%

สำนักงานชลประทานแห่งชาติ (NIA) กำลังจับตานาข้าวในลูซอนกลางซึ่งเป็นแหล่งข้าวของประเทศอย่างใกล้ชิด โดยคาดว่าจะมีการผลิตลดลงเนื่องจากผลกระทบของภัยแล้งที่ยืดเยื้อยาวนานในปีนี้
ในการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ เอดูอาร์โด กิลเลน ผู้บริหาร NIA กล่าวว่า NIA คาดการณ์ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลกระทบต่อนาข้าวของประเทศถึง 20%สาเหตุหลักมาจากการขาดแคลนน้ำเพื่อการชลประทานในภาคกลางของเกาะลูซอน
“ดังนั้น คำสั่งของประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ คือให้ NIA ผลักดันให้มีการปลูกพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูงในพื้นที่ที่มีการชลประทานที่เพียงพอ เพราะด้วยพันธุ์ข้าวเหล่านี้ เกษตรกรของเราสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากถึง 50% เพื่อชดเชย พื้นที่ 20% ที่จะได้ผลตอบแทนลดลง”
ทำเนียบประธานาธิบดีได้ให้แนวทางสำหรับหน่วยงานต่างๆ ในการกำหนดมาตรการเพื่อให้ภาคเกษตรกรรมสามารถปรับตัวเข้ากับผลกระทบด้านลบของปรากฏการณ์เอลนีโญ
โดยผู้บริหาร NIA เรียกร้องให้เกษตรกรหันมาใช้พันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง แม้จะชี้แจงว่า ช่วงฤดูแล้งจะไม่มีผลต่อผลิตผลข้าวมากนัก โดยชี้ว่า ประเทศได้ดำเนินการโครงการ Bagong Pilipinas Ngayon เพื่อจำกัดผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นหลายลูกที่มีต่อพื้นที่ผลิตข้าว ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีการผลิตเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ เพราะยังมีแดดที่เพียงพอต่อข้าวด้วย
พื้นที่นาข้าวประมาณ 50,000 เฮกตาร์ในจังหวัด Nueva Ecija รวมทั้งบางส่วนของ Pampanga, Bulacan และ Tarlac จะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนระบบชลประทานจากเขื่อนปันตาบางัน ในขณะที่อีก 30,000 เฮกตาร์จะได้รับผลกระทบในพื้นที่ส่วนที่เหลือของภาคกลาง เกาะลูซอน
เพื่อแก้ปัญหานี้ NIA ยังได้นำเทคโนโลยีการปลูกแบบเปียกสลับแห้ง มาใช้ ซึ่งคาดว่าจะพึ่งพาการชลประทานน้อยลง และมีผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ถึง 30% ส่วนเกษตรกรที่ไม่ได้รับน้ำชลประทานที่เพียงพอ ก็จะได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงแรงงานและการจ้างงาน และกรมสวัสดิการสังคมและการพัฒนา ผ่านโครงการเงินผันของหน่วยงานต่างๆ สำหรับนาข้าวในพื้นที่ดอน จะมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์พร้อมระบบปุ๋ย และระบบน้ำหยด
เวียดนามชนะประมูลขายข้าวให้อินโดนีเซีย 5 แสนตัน

ตามแผนปี 2567 อินโดนีเซียจะนำเข้าข้าวประมาณ 3 ล้านตัน ซึ่งใกล้เคียงกับแผนนำเข้าข้าวจากเวียดนามของฟิลิปปินส์ และจะทำให้อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกและเป็นลูกค้ารายสำคัญของ อุตสาหกรรมข้าวเวียดนาม
จากข้อมูลของ BULOG บริษัทเวียดนามรายใหญ่ 3 แห่งต่างชนะการประมูลรายละสองล็อต ส่วนที่เหลืออีก 2 บริษัทชนะรายละหนึ่งล็อต เวียดนามมีความโดดเด่นในฐานะประเทศเดียวที่มีบริษัทหลายแห่งเข้าร่วมและชนะการประมูลในปริมาณมาก(มากกว่าสองล็อต) ขณะที่บริษัทการค้ารายเดียวในสิงคโปร์ ชนะสามล็อต
ข้อมูลกรมศุลกากรของเวียดนามเปิดเผยว่า อินโดนีเซียแซงหน้าจีน และกลายเป็นตลาดส่งออกข้าวที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเวียดนามด้วยปริมาณ 1.16 ล้านตัน รวมมูลค่า 640 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 877-992% เมื่อเทียบกับปี 2566
ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมกล่าวว่า การประมูลข้าวจำนวน 500,000 ตันที่ได้ข้อสรุปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยที่บริษัทเวียดนามได้ไปประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณดังกล่าว ส่งสัญญาณถึงแนวโน้มเชิงบวกสำหรับความสำเร็จในการเก็บเกี่ยวหลังปีใหม่ทางจันทรคติ
ข้อมูลล่าสุดจากสมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) ในเดือนมกราคม 2567 บ่งชี้ว่า แม้จะมีความผันผวนเล็กน้อย แต่ราคาส่งออกข้าวของประเทศก็ลดลงประมาณ 11 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 โดยข้อมูลปลายเดือนมกราคม 2567 ราคาส่งออกข้าวหักมาตรฐาน 5% อยู่ที่ 642 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน
ที่ระดับราคานี้ ข้าวหัก 5% ของเวียดนามปัจจุบันมีราคาต่ำกว่าเกรดเทียบเท่าจากประเทศไทยประมาณ 13เหรียญสหรัฐฯต่อตัน (ตามข้อมูลของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ข้าวหัก 5% มาตรฐานของไทยมีราคา 655 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน) เมื่อเปรียบเทียบกับปากีสถาน ข้าวหัก 5% ของเวียดนามมีราคาสูงกว่าประมาณ 4 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน โดยราคาปัจจุบันของปากีสถานอยู่ที่ 638 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน
คนในวงการอุตสาหกรรมกล่าวว่า ราคาส่งออกข้าวเวียดนามในปัจจุบันไม่สูงนัก เนื่องจากมีสต็อกที่มีค่อนข้างจำกัด โดยคาดว่าจะมีการ กลับมาทำธุรกรรมอีกครั้งในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคม ในช่วงเวลานี้ ธุรกิจต่างๆ มุ่งไปที่ตลาดภายในประเทศและเตรียมพร้อมสำหรับวันหยุดตรุษจีนหรือ Tet โดยงดเซ็นสัญญาใหม่อย่างจริงจัง
เวียดนามติด 10 อันดับแรกรับเงินโอนเงินกลับประเทศปี 2566

แม้ภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกมีความท้าทาย แต่เวียดนามยังคงยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งใน 1 ใน 10 อันดับแรกของโลก ในฐานะประเทศที่รับเงินโอนกลับประเทศ โดยมีมูลค่าประมาณ 14 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในปีที่แล้ว จากรายงานสรุปการย้ายถิ่นฐานและการพัฒนา(Migration and Development Brief)ของธนาคารโลก ด้วยความร่วมมือกับ Global Knowledge Partnership on Migration and Development (KNOMAD)
โฮจิมินห์ ซิตี้ทำลายสถิติด้วยยอดส่งเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 43.3% ต่อปี แตะระดับ 9.46 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปีเช่นกัน
เงินจำนวนนี้ ตามที่ นายเหงียน ดุ๊ก เหล่ง(Nguyen Duc Lenh) รองผู้อำนวยการ ธนาคารกลางเวียดนามประจำโฮจิมินห์ซิตี้ กล่าวว่า เงินจำนวนนี้ไม่เพียงแต่แซงหน้าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเมืองนี้ถึง 2.7 เท่า แต่ยังคิดเป็นเกือบ 14% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของภูมิภาคอีกด้วย ความสำเร็จแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนนี้ มีสาเหตุมาจากการเติบโตของแรงงานเวียดนามในต่างประเทศ
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โฮจิมินห์ ซิตี้มีความโดดเด่นในการดึงดูดการรับเงินโอนกับประเทศ โดยมีสัดส่วน 44.1% ของยอดรวมของทั้งประเทศในปี 2561 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 55.03% ในปี 2565
รองประธานคณะกรรมการประชาชนประจำเมือง นายโว วัน ฮว่าน(Vo Van Hoan) เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเติบโตเชิงบวกนี้ โดยชี้ไปที่ศักยภาพในการเพิ่มความแข็งแกร่งของอัตราแลกเปลี่ยน การรักษาเสถียรภาพของตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของเมือง
รายงานจากคณะกรรมการแห่งรัฐสำหรับกิจการเวียดนามโพ้นทะเล(State Committee for Overseas Vietnamese Affairs )เปิดเผยว่า เวียดนามได้รับเงินที่ส่งกลับมากกว่า 190 พันล้านเหรียญสหรัฐฯในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเกือบจะเท่ากับยอด FDI ทั้งหมดที่ชำระในช่วงเวลาเดียวกัน
ในบรรดาประเทศที่มีผลต่อการไหลเข้าครั้งนี้ สหรัฐฯ อันดับหนึ่ง ตามมาด้วยสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และแคนาดา ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และไต้หวัน (จีน) มีบทบาทสำคัญในการเป็นตลาดแรงงานที่สำคัญ
นายเหล่งกล่าวว่า รัฐบาลเวียดนามได้ออกนโยบายหลายประการเพื่อส่งเสริมให้กิจการเวียดนามโพ้นทะเลทำธุรกิจในประเทศ และส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวของพวกเขา
นอกจากนี้กฎหมายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ฉบับแก้ไขซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2568 ยังช่วยเพิ่มโอกาสสำหรับกิจการเวียดนามโพ้นทะเลในการลงทุนและการค้าอสังหาริมทรัพย์ในระดับที่เท่าเทียมกับบริษัทในประเทศ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นแรงผลักดันเชิงบวกในการเติบโตของการส่งเงิน
อาเซียน-สหภาพยุโรปเห็นพ้องกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน

ที่ประชุมได้ออก แถลงการณ์ร่วม ว่า รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและสหภาพยุโรป และผู้แทนระดับสูงด้านการต่างประเทศด้านนโยบายกิจการและความมั่นคง เน้นย้ำถึงค่านิยมร่วมและผลประโยชน์ร่วมกันที่เป็นรากฐาน 47 ปีแห่งความสัมพันธ์การเจรจาอาเซียน-สหภาพยุโรป และรับทราบด้วยความพึงพอใจถึงการเป็นหุ้นส่วนแบบไดนามิกที่ครอบคลุมและหลากหลายข รวมทั้งชื่นชมความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอาเซียน-สหภาพยุโรป (2566-2570) และรับทราบถึงการดำเนินการตามคำแถลงร่วมของผู้นำที่รับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรปสมัยพิเศษ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565
“เราได้รับแรงหนุนจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป โดยสหภาพยุโรปเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับ 3 ของอาเซียนและเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของอาเซียนในปี 2565 และเน้นย้ำอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นของเราที่จะใช้แรงผลักดันเชิงบวกนี้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่าง อาเซียนและสหภาพยุโรป เราเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องหาแนวทางแก้ไขปัญหาการเข้าถึงตลาดที่มีมายาวนาน และเปิดรับโอกาสในการส่งเสริมโอกาสทางการค้าและการลงทุน เสริมสร้างความเชื่อมโยงและความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองภูมิภาค และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างทั้งสองฝ่าย เช่น ผ่านการทำงานของกลุ่มประเทศอาเซียน คณะทำงานร่วมสหภาพยุโรปด้านการค้าและการลงทุน เราพร้อมรับโอกาสทางการค้าและการลงทุนผ่านข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีของสหภาพยุโรปกับประเทศสมาชิกอาเซียน เราจะยกระดับการมีส่วนร่วมของเราในประเด็นการค้าและเศรษฐกิจ และสำรวจช่องทางอื่นๆ ในระยะสั้นและระยะกลางเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านที่มีความสนใจร่วมกัน เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีสีเขียวและบริการสีเขียว การผลิตและการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยั่งยืน และความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทาน และเน้นย้ำอนาคตเขตการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรปที่เป็นวัตถุประสงค์ระยะยาวร่วมกัน” แถลงการณ์ระบุ
ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำความร่วมมือเชิงกลยุทธ์และความสนใจร่วมกันในการรักษาความสงบสุข มั่นคง และเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค ด้วยการยึดและเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ และระเบียบโลกบนพื้นฐานของการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และในการธำรงรักษาสันติภาพ ความมั่นคงและเสถียรภาพ รวมถึงการส่งเสริมและการคุ้มครอง สิทธิมนุษยชนผ่านมาตรการต่างๆ ตลอดจนเพื่อคนพิการ ความเท่าเทียมทางเพศ และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
อาเซียนยังยืนยันความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องที่จะสนับสนุนติมอร์-เลสเต ให้เข้าร่วมอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานสำหรับการเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบในอาเซียน
การประชุมยังรับทราบถึงการสนับสนุนของสหภาพยุโรปสำหรับติมอร์-เลสเตในการเข้าร่วมองค์การการค้าโลก (WTO) ที่จะช่วยบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกและความสัมพันธ์ระดับภูมิภาค