ThaiPublica > เกาะกระแส > “เจอ-จ่าย-จบ” อีกกี่ชาติ ‘ผู้เอาประกัน’ จะได้ค่าสินไหมคืน

“เจอ-จ่าย-จบ” อีกกี่ชาติ ‘ผู้เอาประกัน’ จะได้ค่าสินไหมคืน

1 มกราคม 2024


“เจอ – จ่าย – จบ” 80,000 ล้านบาท อีกกี่ชาติจะได้ค่าสินไหมคืน ล่าสุด ‘กองทุนประกันวินาศภัย’ เงินหมดเกลี้ยง หลังจากเคลียร์หนี้คืนผู้เอาประกัน 6,755 ล้านบาทช่วงส่งท้ายปีเก่า ด้าน ‘จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์’ สั่ง สบน.เร่งจัดหาเงิน 3,000 ล้านบาท เสริมสภาพคล่อง กปว. นัดหารือสมาคมประกันชีวิต – ประกันวินาศภัยไทยในเดือน ม.ค.ปี’67

หลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ให้ยกเลิกคำสั่งฟื้นฟูกิจการของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ส่งผลทำให้อำนาจในการบริหารจัดการของบริษัทเปลี่ยนจากผู้จัดทำแผนฟื้นฟูฯ กลับมาอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ถือหุ้น และผู้บริหารของบริษัทสินมั่นคงฯอีกครั้ง

และในวันเดียวกันนั้น เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) อาศัยอำนาจตามมาตรา 52 วรรค 1 แห่ง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย 2535 ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 48/2566 สั่งให้บริษัท สินมั่นคง ฯ หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว พร้อมกับห้ามกรรมการ พนักงาน และลูกจ้างของบริษัทฯ สั่งจ่ายเงินของบริษัท หรือเคลื่อนย้ายทรัพย์สินของบริษัท ยกเว้นการจ่ายเงินเดือนพนักงาน ตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ประกันวินาศภัยฯ มาตรา 54 โดยอัตโนมัติ รวมทั้งบริษัทจัดทำรายงานเจ้าหนี้ และลูกหนี้ทั้งหมดส่งให้นายทะเบียนรับทราบภายในระยะเวลาที่กำหนด หากบริษัทไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว สามารถมายื่นอุทธรณ์ต่อ คปภ.ได้ภายใน 15 วัน

ประกันภัยโควิด “เจอ-จ่าย-จบ” ที่เป็นปัญหาคารังคาซังมาจนถึงทุกวันนี้ กลับมาเป็นประเด็นใหญ่ที่คนในแวดวงธุรกิจประกันภัย และผู้เอาประกัน (เจ้าหนี้) เกือบ 7 แสนราย ต่างให้ความสนใจ เพราะหนี้เก่าของบริษัทประกันภัย 4 แห่ง กว่า 50,000 ล้านบาท ที่ถูกโอนมาให้กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ทำหน้าที่ชำระบัญชี ตอนนี้ยังไม่รู้จะไปหาเงินที่ไหนมาใช้หนี้ รวมทั้งกรณีบริษัท สินมั่นคงฯ ถ้าผู้ถือหุ้นไม่สามารถหาเงินหรือพันธมิตรรายใหม่ เข้ามาเพิ่มทุนได้ สุดท้ายแล้วอาจนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และหนี้สินที่บริษัท สินมั่นคงฯ ติดค้างผู้เอาประกันประมาณ 300,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 30,000 ล้านบาท อาจถูกโอนมาให้ กปว.ชำระหนี้แทนเช่นเดียวกับบริษัทประกันภัย 4 แห่งที่ปิดกิจการไปก่อนหน้านี้ รวมหนี้ 2 ก้อน คิดเป็นเงินกว่า 80,000 ล้านบาท

หนี้ของเก่ายังไม่เคลียร์ หนี้ใหม่กำลังจะมา ถามว่า กปว.จะไปหาเงินจากไหนมาใช้หนี้

จากข้อมูลที่ตัวแทน คปภ. และ กปว.ไปรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ว่าในช่วงปี 2563 ถึงปี 2565 มีบริษัทประกันวินาศภัยขายกรมธรรม์ประกันภัย Covid-19 ไปประมาณ 50 ล้านฉบับ ต่อมาเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 เป็นวงกว้างและรวดเร็ว ส่งผลทำให้มีผู้เอาประกันภัยโควิดฯติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทประกันภัยทั้ง 4 แห่ง อาทิ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) , บริษัท เดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน) , บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ไม่มีเงินพอที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันได้จนถูก คปภ.เพิกถอนใบอนุญาต และปิดกิจการในเวลาต่อมา หนี้สินทั้งหมดถูกโอนไปให้กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) บริหารจัดการต่อในฐานะผู้ชำระบัญชี ปรากฎว่ามีเจ้าหนี้ของบริษัทประกันฯ 4 แห่ง มายื่นคำขอทวงหนี้กับ กปว.ประมาณ 683,068 ราย คิดเป็นวงเงินที่ กปว.ต้องชดใช้ค่าสินไหมตามสัญญาที่ระบุไว้ในกรมธรรม์กว่า 56,000 ล้านบาท

ขณะที่ปัจจุบันกองทุนประกันวินาศภัยมีความสามารถในการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ประมาณ 6,000 รายต่อเดือน ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กปว.ได้พิจารณาคำขอทวงหนี้ให้กับผู้เอาประกัน (4 บริษัท) ไปแล้วทั้งสิ้น 97,322 ราย คิดเป็นวงเงินที่ กปว.อนุมัติจ่าย 6,755 ล้านบาท ประกอบด้วยบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) จำนวน 28,101 ราย , บริษัท เดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน) 25,014 ราย , บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) 18,543 ราย และบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) 25,664 ราย

แหล่งข่าวจากกองทุนประกันวินาศภัย กล่าวว่า สาเหตุที่ กปว.ชำระหนี้ล่าช้า เนื่องจากมีผู้เอาประกันภัย และเจ้าหนี้เป็นจำนวนมาก บางกรณียื่นคำขอรับชำระหนี้ซ้ำซ้อน บางกรณีทำเอกสารเท็จร่วมอยู่ด้วย ทำให้เจ้าหน้าที่ กปว.ต้องใช้เวลาในการตรวจพิสูจน์หลักฐานต่าง ๆอย่างรอบคอบก่อนที่จะจ่ายเงิน แต่ที่สำคัญที่สุดกองทุนประกันวินาศภัยไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระหนี้ จากข้อมูลงบการเงินของกองทุนประกันวินาศภัย ณ สิ้นปี 2565 กองทุนประกันวินาศภัยมีเงินกองทุนประมาณ 6,091 ล้านบาท และปกติทุกๆปี กปว.จะมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเหลืออยู่ประมาณ 600 ล้านบาท แต่ในปี 2565 กปว.มีรายได้ติดลบ หรือ รายได้น้อยกว่ารายจ่าย 87 ล้านบาท

ดังนั้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 กปว.ได้ทำเรื่องขออนุมัติที่ประชุม คปภ.ปรับเพิ่มอัตราส่วนเงินที่บริษัทประกันวินาศภัยต้องนำส่งเข้ากองทุนประกันวินาศภัยเต็มเพดาน จากอัตราเดิม 0.25% เพิ่มเป็น 0.5% ของเบี้ยประกันภัยที่บริษัทได้รับ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปเป็นที่เรียบร้อย และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2566 ในทางปฏิบัติ กปว.จะเริ่มรับรู้ หรือ มีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป แต่ก็ยังไม่พอชำระหนี้ก้อนแรกที่ยังค้างจ่ายผู้เอาประกันอยู่ประมาณ 50,000 – 52,000 ล้านบาท กว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น คาดว่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 40 ปี ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมกรณีไปรับหนี้ค่าสินไหมทดแทนของบริษัท สินมั่นคง ฯเข้ามาบริหารอีก 30,000 ล้านบาท หาก กปว.ต้องเข้าไปรับโอนหนี้ก้อนที่ 2 นี้มาบริหาร คาดว่าจะใช้เวลาชำระหนี้เสร็จจสิ้น 80 ปี

ส่วนข้อเสนอที่จะให้มีการเพิ่มสัดส่วนเงินนำส่งกองทุนประกันวินาศภัยมากกว่านี้ ในทางปฏิบัติต้องยกร่างกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย 2535 เสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาผ่านความเห็นชอบ ทั้งนี้ เนื่องจากในกฎหมาย มาตรา 80/3 กำหนดให้บริษัทประกันภัยต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันวินาศภัยได้ไม่เกิน 0.5% ของเบี้ยประกันภัยที่บริษัทได้รับ อีกทั้งยังไม่เป็นธรรมกับบริษัทประกันภัยที่ไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน ยอมจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันครบถ้วน หรือ บริษัทประกันภัยไม่ได้ขายกรมธรรม์ประกันภัย เจอ-จ่าย-จบ ต้องเข้ามาแบกรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 หลังจากที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับมอบหมายจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ติดตาม และศึกษาหาแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินของบริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกโอนมาให้ กปว.บริหาร นายจุลพันธ์ ได้เชิญนายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คปภ. , นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย และ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มาหารือ พบว่าตอนนี้กองทุนประกันวินาศภัยได้นำเงินสำรองของบริษัทประกันภัย 4 แห่งที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต และสภาพคล่องของกองทุนฯไปชำระหนี้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันจนเกือบหมดแล้ว ปี 2567 ไม่มีเงินเหลือเพียงพอที่จะนำชำระหนี้คืนกับเจ้าหนี้

แหล่งข่าวจากกองทุนประกันวินาศภัย กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาการเงินให้กับ กปว.ในเบื้องต้น ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ไปจัดหาเงินกู้ลอตแรกวงเงิน 3,000 ล้านบาท โดยที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน เนื่องจากกองทุนประกันวินาศภัยมีสถานะเป็นนิติบุคคล ไม่ใช่ส่วนราชการ หรือ รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ จึงไม่สามารถจัดสรรงบประมาณ หรือ ค้ำประกันเงินกู้ไปให้กองทุนประกันวินาศภัย เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ให้กับผู้เอาประกันได้ แต่จะช่วยประสานสถาบันการเงินเข้ามาร่วมกันปล่อยกู้ หรือ เข้ามาลงทุนในพันธบัตร หรือ ตราสารหนี้ของกองทุนประกันวินาศภัย แต่ติดปัญหาเรื่องฐานะการเงินของกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งตอนนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว รายได้น้อยกว่ารายจ่าย

ดังนั้น การหาแหล่งเงินมาสนับสนุนภารกิจของกองทุนประกันวินาศภัยในครั้งนี้ โดยเสนอผลตอบแทน หรือ ดอกเบี้ยให้กับสถาบันการเงินในอัตราที่สูงกว่าตลาด อาจยังไม่จูงใจให้สถาบันการเงินเข้ามาร่วมกันปล่อยกู้ หรือ ลงทุนในพันธบัตร หรือ ตราสารหนี้ของกองทุนฯ ควรจะต้องศึกษาหามาตรการจูงใจพิเศษมาช่วยเสริม นอกจากเสนอผลตอบแทน หรือ ดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าปกติแล้ว อาจมอบหมายให้ คปภ.ออกระเบียบเป็นกรณีพิเศษ ให้บริษัทประกันชีวิต หรือ บริษัทประกันวินาศภัยนำตราสารหนี้ของ กปว.นำไปสำรองเป็นเงินกองทุนได้ 2-4 เท่า เป็นต้น แนวทางนี้หาไม่ติดปัญหาในประเด็นข้อกฎหมายสามารถทำได้ เชื่อว่าพันธบัตร หรือ ตราสารหนี้ของ กปว.อาจขายหมดเกลี้ยงภายใน 5 นาที โดยนายจุลพันธ์นัดหารือกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทยภายในเดือนมกราคม 2567 เพื่อทดสอบตลาด จากนั้นก็จะเชิญ คปภ.มาหารือในรายละเอียดอีกครั้งก่อนที่เริ่มดำเนินการ

นี่คือปม ‘เจอ-จ่าย-จบ’ ผู้เอาประกันจะได้เงินคืนเมื่อไหร่ ยังไม่มีคำตอบ!!! หรือคำตอบที่ใช่…80 ปี?

  • กสม.ชง ‘รัฐบาลเศรษฐา’ เร่งเคลียร์หนี้ “เจอ-จ่าย-จบ” 56,000 ล้านบาท
  • “ปลัดคลัง”สั่งศึกษาโยกเงิน คปภ.เคลียร์หนี้“เจอ-จ่าย-จบ”
  • กองทุนประกันฯ แจงเคลียร์หนี้ “เจอ-จ่าย-จบ” 6.5 หมื่นล้าน เหลือทรัพย์สินรอขายแค่ 100 ล้านบาท
  • คปภ. ออกคำสั่งยกเลิก การใช้สิทธิของ “บริษัทประกัน” บอกเลิกกรมธรรม์โควิด
  • ปมพิพาท กรมธรรม์ เจอ-จ่าย-จบ ทางออกที่ “ไม่มีใครถูกลอยแพ”
  • คลังสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย “เอเชียประกันภัย” ตั้งแต่ 15 ต.ค.64
  • ลูกค้า “เอเชียประกันภัย” ร้องคลัง-ทวงค่าสินไหม 4 ล้านบาท
  • คลังสั่งถอนใบอนุญาต“อาคเนย์ประกันภัย-ไทยประกันภัย” ปิดกิจการทันทีวันนี้
  • ป้ายคำ :