ThaiPublica > เกาะกระแส > “พีระพันธุ์” เข็น ‘ไฟฟ้าสีเขียว’ รับนักลงทุนต่างชาติ

“พีระพันธุ์” เข็น ‘ไฟฟ้าสีเขียว’ รับนักลงทุนต่างชาติ

15 มกราคม 2024


วันที่ 15 ม.ค. 2567 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมกับ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม , นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน , นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าว “เดินหน้าพลังงานสะอาด – Utility Green Tariff ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และการลงทุน” ณ บ้านพิบูลธรรม กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

“พีระพันธุ์” เปิดตัว ‘ไฟฟ้าสีเขียว’ ต้อนรับนักลงทุนต่างชาติ ด้าน กพพ.เร่งจัดประชาพิจารณ์ สูตรคำนวณค่าไฟขายปลีก ‘UGT 1 – 2’ ในเดือน ม.ค.นี้

วันที่ 15 ม.ค. 2567 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมกับ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม , นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน , นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าว “เดินหน้าพลังงานสะอาด – Utility Green Tariff ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และการลงทุน” ณ บ้านพิบูลธรรม กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน มีความพร้อมในการจัดหา “ไฟฟ้าสีเขียว” หรือไฟฟ้าที่มีกระบวนการผลิตจากพลังงานสะอาด อย่างมีมาตรฐาน พร้อมด้วยกลไกการรับรองมาตรฐานแหล่งที่มาซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมั่นใจว่าจะมี “ไฟฟ้าสีเขียว” ในปริมาณเพียงพอสนองตอบต่อความต้องการ และรองรับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเร่งรัด และเพิ่มปริมาณการลงทุนทางตรง (Foreign Direct Investment : FDI) จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

“เป็นครั้งแรกที่ไทยจะมีกระบวนการผลิต จัดหา และรับรองไฟฟ้าสีเขียวใช้ และผมมั่นใจว่าประเทศไทย มีความพร้อมด้านการให้บริการไฟฟ้าสีเขียวเพื่อรองรับความต้องการพลังงานของธุรกิจ หรือบริษัทข้ามชาติที่ต้องการขยายการลงทุน หรือย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ทั้งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ขจัดอุปสรรคด้านการค้า การลงทุน จากภาษีคาร์บอนข้ามแดน (CBAMC) ได้เป็นอย่างดี” นายพีระพันธุ์ กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า รัฐบาลโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตระหนักดีถึงความต้องการใช้พลังงานสีเขียวของภาคธุรกิจ รวมถึงพันธกิจของรัฐบาลในการขับเคลื่อนภาคพลังงานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงมีโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผน PDP เพื่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดในระบบอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในขณะนี้สามารถจัดให้มีการให้บริการ 2 รูปแบบ ทั้งแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะไม่สามารถเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการ และแบบที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเจาะจงแหล่งที่มาได้

ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การให้บริการไฟฟ้าสีเขียว โดยเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถรับรู้แหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัญญาบริการได้ พร้อมระบบใบรับรองการผลิตไฟฟ้าสีเขียวที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวทุกกลุ่ม ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการ กกพ. ที่สนับสนุนและร่วมกันทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนอย่างต่อเนื่อง

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กกพ.ได้ประกาศหลักเกณฑ์การให้บริการ และการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแล้ว และอยู่ระหว่างนำ (ร่าง) ข้อเสนออัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งกำหนดภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจะเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะเปิดบริการไฟฟ้าสีเขียวให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนได้อย่างเป็นทางการ

“การเตรียมความพร้อมในการจัดหาไฟฟ้าสีเขียว อัตราค่าบริการ และมาตรฐานกระบวนการรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียว กกพ. ได้ทยอยดำเนินการมาเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าพลังสะอาดภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง จำนวน 5,203 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) เข้าสู่ระบบกว่า 4,800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 ควบคู่ไปกับการออกแบบกำหนดหลักเกณฑ์การคิดอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว และแนวทางการกำกับดูแลให้กระบวนการบริหารจัดการและรับรองแหล่งกำเนิดไฟฟ้าสีเขียวให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานสากล ซึ่งขณะนี้เสร็จเรียบร้อยทั้งหมด และพร้อมให้การไฟฟ้าให้บริการแล้ว” นายเสมอใจ กล่าว

สำหรับการให้บริการไฟฟ้าสีเขียวผ่าน Utility (กฟภ. และ กฟน.) ภายใต้โครงสร้างกิจการไฟฟ้าในปัจจุบัน (Regulated Market) จะเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในการซื้อไฟฟ้า พร้อมใบรับรองระบุแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียว หรือที่เรียกว่า “Renewable Energy Certificate : REC Certificate” เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ลดความเสี่ยงและความยุ่งยากในการจัดหาไฟฟ้าสีเขียว และใบ Certificate

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุม กพช.มีมติเห็นชอบแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) ในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก จากนั้นเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ที่ประชุม กกพ.มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวเบื้องต้นพร้อมอัตราที่เสนอโดย กฟผ. กฟภ. และ กฟน. ปัจจุบันได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว และอยู่ในระหว่างรับฟังความคิดเห็นเรื่องอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวในเดือนมกราคม 2567

โดย Utility Green Tariff (UGT) คือ อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ ซึ่งจะมีการออกใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (REC Certificate) ร่วมกับการให้บริการพลังงานไฟฟ้า โดยผู้ที่ต้องการใช้บริการไฟฟ้าสีเขียวสามารถเลือกได้ 2 รูปแบบ คือ

รูปแบบแรก ผู้ใช้ไฟฟ้าจะไม่สามารถเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียวได้ (UGT 1) โดยผู้ใช้บริการกลุ่มนี้จะเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3,4 และ 5 สามารถใช้บริการไฟฟ้าสีเขียวได้จาก กฟภ. และ กฟน. โดยการไฟฟ้าจะส่งมอบ REC Certificate ที่มาจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำของ กฟผ. 7 แห่ง ในราคาตลาด และมีระยะเวลาในการใช้ 1 ปี ขายไฟฟ้าขั้นต่ำ 1 Block หรือ ประมาณ 100 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ขึ้นไป ไถ่ถอนสิทธิ์ REC Certificate ในนามผู้ใช้ไฟฟ้าได้ปีละ 1 ครั้ง ไม่มีบทปรับในสัญญา

ในเบื้องต้น กกพ.กำหนดหลักการคิดคำนวณค่าไฟฟ้าสีเขียว สำหรับกลุ่ม UGT 1 โดยใช้อัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนตามปกติ (รวมค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ ค่า Ft) บวกกับค่า Premium อีกประมาณ 0.0594 บาทต่อหน่วย ซึ่งคำนวณมาจากราคาตลาดของ REC Certificate บวกค่าบริหารจัดการและค่าตอบแทนการดำเนินงานของการไฟฟ้าแต่ละแห่งที่เกี่ยว REC Certificate

ยกตัวอย่าง กกพ.ประกาศอัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2567 ที่ 4.18 บาทหน่วย บวกค่า Premium อีก 0.0594 บาทต่อหน่วย รวมเป็น 4.2394 บาทต่อหน่วย นี่คืออัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวของกลุ่ม UGT 1 โดยจะปรับขึ้น-ลงตามอัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชน และค่าใบรับรอง REC ซึ่งราคาจะปรับขึ้น – ลง ตามราคาตลาด

รูปแบบที่ 2 ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถเจาะจงแหล่งที่มาได้ (UGT 2) กลุ่มนี้จะเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 4 และ 5 ใช้บริการไฟฟ้าสีเขียวที่รับซื้อไฟฟ้ามาจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ (RE) ซึ่งไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงในรูปแบบของ Feed – in Tarrif (FiT) ตั้งแต่ปี 2565-2573 โดยผู้ใช้ไฟฟ้าสีเขียวกลุ่มนี้จะได้รับ REC Certificate จากกลุ่มโรงไฟฟ้าใหม่ตาม Portfolio ที่เลือก และมีระยะเวลาการใช้ 10 ปีนับจากวันที่เริ่มรับ UGT 2 ไถ่ถอนสิทธิ์ REC Certificate ในนามผู้ใช้ไฟฟ้าได้ปีละ 1 ครั้ง รวมทั้งมีการปรับปรุงหน่วยการผลิต หรือ การใช้จริง และ REC Certificate ตามรอบ Ft และมีบทปรับตามสัญญา

ส่วนการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวของกลุ่ม UGT 2 นั้น จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ขึ้นอยู่ระยะเวลาการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ดังนี้

    กลุ่มแรก รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Port A) เข้าระบบ (SCOD) ตั้งแต่ปี 2568-2570 คิดค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวในอัตราคงที่ 4.5622 บาทต่อหน่วย และ
    กลุ่มที่ 2 รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Port B) เข้าระบบ (SCOD) ตั้งแต่ปี 2571-2573 คิดค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวในอัตราคงที่ 4.5475 บาทต่อหน่วย