ThaiPublica > เกาะกระแส > ทิศทาง-อนาคต อุตสาหกรรมความงาม อานิสงส์ต่อเศรษฐกิจไทย

ทิศทาง-อนาคต อุตสาหกรรมความงาม อานิสงส์ต่อเศรษฐกิจไทย

27 มกราคม 2024


มูลค่าตลาดความงามไทยเกือบแตะแสนล้านบาท เติบโต 2.3 – 3.6% แต่เป็นรอง ‘เกาหลี’ เพราะรัฐไทยยังไม่สนับสนุนอย่างจริงจัง

วันที่ 22 มกราคม 2566 กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) จัดงานสัมมนาแฟล็กชิปประจำปี KKP YEAR AHEAD 2024 เพื่อฉายภาพทิศทางเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์การลงทุน ตลอดจนวิเคราะห์อุตสาหกรรมสำคัญให้แก่ลูกค้าของกลุ่มธุรกิจฯ โดยระดมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนของ KKP ตลอดจนวิทยากรรับเชิญจากหลากหลายสาขา มาแลกเปลี่ยนมุมมองในหลากหลายเวทีภายใต้ตีม “เส้นทางสู่ความมั่งคั่ง (Pathway to Prosperity)”

การสัมมนาในหัวข้อ The Future Trends of Thailand’s Aesthetic Surgery Industry ทิศทางและอนาคตอุตสาหกรรมศัลยกรรมความงามของประเทศไทย มีวิทยากรคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ชลธิศ สินรัชตานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสเตติก คอนเนค จำกัด (มหาชน) นายแพทย์คงศักดิ์ เตชะวิบูลย์ผล กรรมการและผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เอสเตติก คอนเนค จำกัด (มหาชน)

โดยได้ให้ข้อมูลว่า ในแต่ละปีเม็ดเงินในอุตสาหกรรมความงามสะพัดกว่า 87,000 ล้านบาท เติบโต 2.3 – 3.6% ต่อปี และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2027 มูลค่าตลาดจะเติบโตไปถึง 193,000 – 248,000 ล้านบาท

ประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่องความงาม-ศัลยกรรม ไม่แพ้ชาติใดในโลก ทำให้คนหลายประเทศทั่วโลกยอมบินมาประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น ชาวออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ตลอดจนกลุ่มเป้าหมายรองอย่าง กัมพูชา ลาว และเมียนมา อย่างไรก็ตาม ‘คนไทย’ ยังคงเป็นกลุ่มเป้าหมายของอุตสาหกรรมในประเทศ ขณะเดียวกันกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่ค่อยมาใช้บริการในไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง เวียดนาม และอินโดนีเซีย

ข้อมูลจากแพทยสภา ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2566 ระบุว่า ประเทศไทยมีแพทย์ทั้งประเทศ 75,199 คน แบ่งเป็น เพศชาย 40,539 คน และเพศหญิง 34,660 คน และในจำนวนนี้มีแพทย์ด้านศัลยศาสตร์ 3,754 คน คิดเป็น 4.99% ของจำนวนแพทย์ทั้งประเทศ ทั้งนี้ ตัวเลขแพทย์ 3,754 คนที่แพทยสภารายงาน หมายถึงแพทย์ที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพเท่านั้น แต่ยังไม่ได้นับบุคลากรด้านอื่นๆ ในวงการ

ปัจจัยหลักที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตมาจากค่านิยม ‘ความงาม’ และความมั่นใจในตัวเอง บวกกับการได้รับการยอมรับจากสังคม นอกจากนี้จำนวนบุคลากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบนวัตกรรมความงามที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นปัจจัยสำคัญให้อุตสาหกรรมนี้เติบโต

ค่านิยมความงามของคนไทย แบ่งได้ตามเพศสรีระ ตามลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้

เพศหญิง

  1. จมูก
  2. ตา
  3. ยกกระชับใบหน้า
  4. ดูดไขมัน
  5. หน้าอก

เพศชาย

  1. จมูก
  2. ตา
  3. โบท็อก ทรีตเม้นต์หน้า ร้อยไหม
  4. ปลูกผม
  5. เพิ่มขนาดอวัยวะเพศ

แต่จุดที่ทำให้อุตสาหกรรมความงามไทยเป็นรองประเทศเกาหลี ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ของโลก สัดส่วน 25% คิดเป็นเม็ดเงิน 130,000,000,000 ล้านบาท คือ ความนิยม จำนวนแพทย์ และการสนับสนุนของภาครัฐที่ยังแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

เริ่มจากค่านิยมคนเกาหลี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม โดยค่านิยมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คนเกาหลีมองว่าการทำศัลยกรรมไม่ใช่เรื่องแปลก คนหน้าตาดีมีโอกาสมากกว่า พ่อแม่ สนับสนุนให้บุตรหลานทำศัลยกรรม และความเชื่อด้านโชคลาง

ที่สำคัญคือการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะในมิติ Soft Power หรือการส่งออกวัฒนธรรมผ่านซีรีย์และภาพยนตร์ไปทั่วโลก นับเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

กลับมาที่ประเทศไทย ทุกวันนี้ภาคเอกชนยังเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อน ดังนั้น หากภาครัฐเข้ามามีบทบาทอย่างจริงจังจะช่วยให้อุตสาหกรรมความงามไทยเติบโตได้มากกว่าเดิม โดยสิ่งที่ภาครัฐสามารถทำได้ ดังนี้

  1. จัดตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำศัลยกรรมความงาม
  2. สนับสนุนอาชีพด้าน agency ให้เป็นรูปธรรม
  3. สนับสนุน visa ให้นักท่องเที่ยวที่สนใจทำศัลยกรรม
  4. จัดงานที่เกี่ยวข้องให้ตรงกลุ่มเป้าหมายของประเทศต่างๆ