ThaiPublica > เกาะกระแส > WHO จับตาเชื้อโควิดสายพันธุ์ JN.1 พบแพร่กระจายหลายประเทศ

WHO จับตาเชื้อโควิดสายพันธุ์ JN.1 พบแพร่กระจายหลายประเทศ

21 ธันวาคม 2023


WHO ได้จัดให้สายพันธุ์ JN.1 ซึ่งเป็นเชื้อ SARS-CoV-2 หรือ Covid-19 เป็น สายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ Variants of interest (VOI) หลังมีการแพร่กระจายทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

องค์การอนามัยโลกแห่งสหประชาชาติ (World Health Organization-WHO) กล่าวว่า กำลังติดตามการแพร่กระจายทั่วโลกของ JN.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หนึ่งของโควิด-19 ที่กลายพันธุ์จากสายพันธุ์หลัก BA.2.86

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมายังคงมีการรายงานพบการติดเชื้อในสายพันธุ์ JN.1 ในหลายประเทศ และความชุกของโรคก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลกเช่นกัน และขณะนี้เป็นตัวแทนของสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์มาจากสายพันธุ์ BA.2.86 ที่พบเป็นส่วนใหญ่ ตามที่รายงานไปยัง GISAID(Global Initiative on Sharing All Influenza Data)

การประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นของสายพันธุ์ JN.1 ณวันที่ 19 ธันวาคม 2566 พบว่าสายพันธุ์ JN.1 เป็นสายพันธุ์ที่สืบทอดมาจากสายพันธุ์ BA.2.86 โดยมีการเก็บตัวอย่างแรกสุดในวันที่ 25 สิงหาคม 2566

เมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อสายต้นกำเนิด BA.2.86 สายพันธุ์ JN.1 มีการกลายพันธุ์ L455S เพิ่มเติมในโปรตีนตรงส่วนหนาม (spike protein) บนผิวของไวรัส

ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2566 มีรายงานพบ JN.1 จำนวน 7,344 รายที่ส่งไปยัง GISAID จาก 41 ประเทศ คิดเป็น 27.1% ของจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอยู่ทั่วโลกในรายงานทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ที่ 48 (27 พฤศจิกายนถึง 3 ธันวาคม 2566) ประเทศที่รายงานสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดของลำดับ JN.1 คือฝรั่งเศส (20.1%, จำนวน 1552 ราย), สหรัฐอเมริกา (14.2%, จำนวน 1,072 ราย), สิงคโปร์ (12.4%, จำนวน 934 ราย) แคนาดา (6.8%, จำนวน 512 ราย), สหราชอาณาจักร (5.6%, จำนวน 422 ราย) และสวีเดน (5.0%, จำนวน 381 ราย)

ทั่วโลก สัดส่วนการติดเชื้อสายพันธุ์ JN.1 ที่รายงาน มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยมีความชุกทั่วโลกที่ 27.1% ในรายงานทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ที่ 48 ของการระบาด ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมากจากข้อมูลที่รายงานเมื่อ 4 สัปดาห์ก่อน (สัปดาห์ที่ 44, 30 ตุลาคม จนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566) ที่ความชุกของ JN.1 ทั่วโลกอยู่ที่ 3.3%

การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้พบได้ทั่วทั้งภูมิภาคของ WHO ทั้ง 3 แห่งโดยมีจำนวนการแพร่กระจายของ SARS-CoV-2 ร่วมอยู่ด้วยอย่างต่อเนื่อง เช่น ภูมิภาคอเมริกา (AMR) แปซิฟิกตะวันตก (WPR) และภูมิภาคยุโรป (EUR) โดยมีการเพิ่มขึ้นมากที่สุดใน WPR จาก 1.1% ในรายงานทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ที่ 44 เป็น 65.6% ในรายงานทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ที่ 48

ความเร็วของสายพันธุ์ BA.2.86.1 (เชื้อสายต้นกำเนิดของ JN.1) ในการจำลองตัวเองบนเซลล์เยื่อบุจมูกปฐมภูมิ (hNEC) ไม่สูงกว่าสายพันธุ์ XBB อื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องพิจารณาว่าความสามารถในการแพร่เชื้อสูงของ JN.1 ในมนุษย์ยังสัมพันธ์กับสมรรถภาพที่เพิ่มขึ้นใน hNEC หลักและเซลล์ชนิดอื่นหรือไม่ และเชื่อมโยงกับการกลายพันธุ์ที่ไม่ใช่ส่วนของโปรตีนมากน้อยแค่ไหน

ที่มาภาพ: https://www.who.int/docs/default-source/coronaviruse/18122023_jn.1_ire_clean.pdf?sfvrsn=6103754a_3

เมื่อพิจารณาจากหลักฐานที่มีอยู่แต่มีจำกัด ก็ประเมินว่าความเสี่ยงด้านสาธารณสุขทั่วโลกจากสายพันธุ์ JN.1 ในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ และคาดว่าสายพันธุ์นี้อาจทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อ CoV-2 เพิ่มขึ้นท่ามกลางการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในประเทศที่เข้าสู่ฤดูหนาว

หลังจากการหารือกับ คณะที่ปรึกษาด้านวิชาการของ องค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับวิวัฒนาการของไวรัส (Technical Advisory Group on Virus Evolution)หรือ TAG-VE และการพิจารณาข้อมูลที่มีอยู่ ภูมิคุ้มกันของประชากรในปัจจุบันทั่วโลก ตลอดจนภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนเสริม XBB.1.5 คาดว่าจะยังคงมีผลในการป้องกันอาการรุนแรงจากสายพันธุ์นี้

ดังนั้นการแพร่กระจายของสายพันธุ์นี้ ไม่น่าจะเพิ่มภาระให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศเมื่อเทียบกับสายพันธุ์นี้ย่อยอื่นๆของสายพันธุ์ โอมิครอน (Omicron) อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆ ที่กำลังเข้าสู่ฤดูหนาวควรตระหนักว่า โดยรวมแล้ว เชื้อ SARS-CoV-2 และเชื้อโรคที่หมุนเวียนร่วมอยู่ด้วย อาจทำให้ภาระโรคระบบทางเดินหายใจรุนแรงขึ้น

เนื่องจากความครอบคลุมของวัคซีนที่แตกต่างกันและการแพร่กระจายของสายพันธุ์ SARS-CoV-2 ทั่วโลก ภูมิคุ้มกันของประชากรจึงมีความแตกต่างกันทั่วโลก ดังนั้น ความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของ JN.1 จึงขึ้นอยู่กับภูมิหลังของภูมิคุ้มกันของประชากร

ขณะที่การหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของ BA.2.86.1 (เชื้อสายต้นกำเนิดของ JN.1) จาก XBB.1.5 และ EG.5.1 การติดเชื้อที่ลุกลามดูเหมือนจะคล้ายกับสายพันธุ์อื่นที่แพร่กระจายพร้อมกัน เช่น HK.3 แล้ว JN.1 มีความสามารถในการหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่สูงกว่า

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลที่จำกัดเกี่ยวกับการลบล้างฤทธิ์ข้ามกลุ่ม(cross neutralization )ของ JN.1 และแม้จะคุณสมบัติในการลบล้างฤทธิ์ของ JN.1 ลดลง แต่การป้องกันด้วยวัคซีนสายพันธุ์เดียว หรือวัคซีนโมโนวาเลนต์ (monovalent vaccine) XBB.1.5 ก็มีแนวโน้มว่าจะมีผลกับ JN.1

คณะที่ปรึกษาด้านวิชาการของ WHO พร้อมด้วยนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกกำลังติดตามเรื่องนี้อย่างแข็งขัน

WHO และคณะที่ปรึกษาด้านวิชาการเกี่ยวกับวิวัฒนาการของไวรัส SARS-CoV-2 (TAG-VE) ยังคงแนะนำให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญกับการดำเนินการเป็นการเฉพาะเพื่อจัดการกับความไม่แน่นอนที่เกี่ยวข้องกับการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและความรุนแรงของสายพันธุ์ BA.2.86 และ JN.1

ข้อเสนอแนะต่อไปนี้เป็นเพียงการประเมิน และจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศตามความสามารถของประเทศ คือ

  • ดำเนินการตรวจวิเคราะห์การลบล้างฤทธิ์โดยใช้ซีรั่มของมนุษย์ ตัวแทนของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ และแยก JN.1 ที่มีชีวิต ( 2 ถึง 4 สัปดาห์)
  • ทำการประเมินเปรียบเทียบเพื่อตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของตัวบ่งชี้ความรุนแรงที่ใช้ประจำ หรือเฉพาะกิจ (4 ถึง 12 สัปดาห์)

    WHO และคณะที่ปรึกษาด้านวิชาการเกี่ยวกับองค์ประกอบของวัคซีนโควิด-19 (Technical Advisory Group on COVID-19 Vaccine Composition) ยังคงประเมินผลกระทบของสายพันธุ์ต่างๆ ที่มีต่อประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 อย่างสม่ำเสมอ เพื่อประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับการอัปเดตองค์ประกอบของวัคซีน

    การประเมินความเสี่ยงขณะนี้เป็นไปตามกรอบการทำงานของ WHO และขึ้นอยู่กับหลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะมีการแก้ไขเป็นระยะเมื่อมีหลักฐานและข้อมูลเพิ่มเติมจากประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม