ThaiPublica > เกาะกระแส > กรมควบคุมมลพิษปรับกลยุทธ์แก้ฝุ่น PM.2.5 ใหม่ ‘สแกนBig Data-มั่นใจแก้ตรงจุด’

กรมควบคุมมลพิษปรับกลยุทธ์แก้ฝุ่น PM.2.5 ใหม่ ‘สแกนBig Data-มั่นใจแก้ตรงจุด’

23 ธันวาคม 2023


กรมควบคุมมลพิษ ปรับแนวทางแก้ไขฝุ่น PM 2.5 แก้ปัญหาฝุ่นแบบเฉพาะพื้นที่ เลือกแนวทางตามแหล่งกำเนิดมลพิษ ขึ้นทะเบียนล้อมกรอบพื้นที่ป่าไหม้ซ้ำซาก ตั้งเป้าหมาย 17 จังหวัด ลดเผาป่าลง 50%  เผาพื้นที่เกษตรลดลง 50% เชื่อปี 2567 ปัญหาฝุ่นจะไม่วิกฤติ

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

คำถามที่มักจะเกิดขึ้นเกือบทุกครั้งที่เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวคือ ฝุ่นมาแล้ว “ทำไมกรมควบคุมมลพิษ ไม่ทำอะไรสักที” นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ บอกว่า มีหลายประเด็นที่คนในสังคมไทยยังไม่เข้าใจ สาเหตุของฝุ่น PM2.5 ว่ามาจากไหนบ้างและแต่ละพื้นที่มีสภาพและที่มาของปัญหาแตกต่างกัน และประเด็นสำคัญ ที่อธิบดีกรมควบคุมมลพิษย้ำทุกครั้งคือ การแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น ไม่สามารถทำได้เพียงหน่วยงานเดียว หรือแก้ไขได้แค่คนเดียว เพราะการแก้ไขจะบรรลุเป้าหมายต้องสร้างความร่วมมือและเห็นปัญหาร่วมกันเท่านั้น

นายปิ่นสักก์ บอกว่า ความร่วมมือจะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มจากความเข้าใจตรงกันก่อน   โดยปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 มีความเข้าใจผิดในหลายประการ เช่น ทุกคนเข้าใจว่า ฤดูฝุ่น หรือ ฝุ่นขนาดเล็ก 2.5 จะเริ่มเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน -ธันวาคม -มกราคม -กุมภาพันธ์- เมษายน ของทุกปี เนื่องจากค่าฝุ่นขนาดเล็กในช่วงเวลาดังกล่าวก็มีปริมาณสูงและเข้าใจช่วงฤดูฝนจะไม่มีฝุ่นเป็นความเข้าใจผิดเพราะฝุ่นขนาดเล็กมีในอากาศอยู่แล้ว

“มีความเข้าใจผิดหลายอย่าง เช่น มีใครบอกว่าฤดูฝนคือฤดูที่ไม่มีฝุ่น แต่ความจริงแล้ว มันมีค่าฝุ่นที่ตรวจวัดได้ โดยเฉพาะในเมือง หรือ กทม.ที่มีปัญหาจราจร มีโรงงานอุตสาหกรรม นั่นแสดงว่าแหล่งกำเนิดฝุ่นของ กทม.เป็นเรื่องจราจร โรงงานอุตสาหกรรม แต่บางช่วงฝุ่นน้อย เพราะปริมาณฝุ่นสะสมในเมืองน้อย ทำให้ลมพัดแพร่กระจายออกไปนอกเมืองได้”

แต่ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน กทม.มีสภาพอากาศปิด ลักษณะเป็นฝาชีครอบทำให้ ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งปกติมีการปล่อยจากแหล่งกำเนิดอยู่แล้วทั้งเรื่องของการจราจร และ โรงงานอุตสาหกรรม  ดังนั้นลมไม่สามารถพัดให้กระจายออกไปได้ ปริมาณฝุ่นในช่วงนี้จึงสูงกว่าช่วงเวลาอื่นๆ

“คนส่วนใหญ่จะงงว่าทำไม ตุลาคม พฤศจิกายน ฝุ่นกทม.เพิ่มขึ้นมา ซึ่งแหล่งกำเนิดฝุ่นมาจากหลายปัจจัย ตั้งแต่การเผาไหม้ในเครื่องยนต์ เผาไหม้ในเครื่องจักร   หรือเผาที่โล่งเผาการเกษตร หรือเผาป่า  ซึ่งแต่ละพื้นที่มีแหล่งกำเนิดฝุ่นที่แตกต่างกัน”

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

กทม.คุมจราจร -ดูแลรถยนต์เก่า ลดฝุ่นได้ 30 %

เนื่องจากแหล่งกำเนิดฝุ่นมาจากปัจจัยที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ทำให้การแก้ไขปัญหาแตกต่างกันไป  ดังนั้นมาตรการในพื้นที่ กทม.จึงโฟกัสไปที่รถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่าการเผาในพื้นที่โล่ง

“ในกทม.มีปัจจัยเรื่องเผาในที่โล่งไม่มาก เป็นเพียง 1 ใน 3 ของแหล่งกำเนิดฝุ่น เพราะฉะนั้นการลดฝุ่นใน กทม.อยู่ที่การขนส่ง การจราจร ถ้าบริหารจัดการเรื่องรถ ก็จะลดปริมาณฝุ่นลงไปได้”

ทั้งนี้ข้อมูลแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในกทม. แบ่งเป็น รถยนต์ดีเซล 57 % ฝุ่นจากทุติยภูมิ ปฏิกิริยาทางคมีของสารพิษในอากาศ 16% การเผาไหม้ชีวมวล 15% รถยนต์เบนซีน 8% และอื่น 4 %

ดังนั้นมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นในพื้นที่ กทม.ของในปี 2567 จึงมุ่งไปที่การจัดการฝุ่นจากการจราจร หรือ รถยนต์ โดยในเดือนมกราคาปี 2567 เริ่มบังคับใช้น้ำมันยูโร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป จะบังคับให้เป็นมาตรฐานน้ำมัน EURO 5 (กำมะถันต่ำกว่า 10 ppm) สำหรับดีเซล นอกจากกำมะถันแล้ว ไพลีโซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน จะลดจาก 11% เหลือ 8%

นอกจากนี้จะมีมาตรการในการดูแลปัญหาจราจรโดยเฉพาะรถยนต์เก่าในพื้นที่กทม.  สาเหตุหลักปัญหาฝุ่นละอองเนื่องจากมียานพาหนะมากถึง 9.7 ล้านคัน และในจำนวนดังกล่าวเป็นเครื่องยนต์ดีเซล 2.4 ล้านคัน ซึ่งทั้งหมดนี้เกินพื้นที่ถนนที่รองรับได้ 4.4 เท่า

“หากมีการบำรุงรักษารถยนต์เก่าที่มีจำนวนมากจะสามารถลดปัญหาฝุ่นลงได้กว่า 30 % คือการแก้ปัญหาระยะสั้น ขณะนี้กรมควบคุมมลพิษได้ร่วมกับค่ายรถยนต์หลายแห่ง เพื่อเปิดให้มีการนำรถยนต์เก่ามาดูแล ส่วนในระยะยาวต้องเปลี่ยนเป็นรถยนต์ใช้น้ำมันเป็นรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าหรือ EV จะช่วยลดมลพิษให้กับ กทม.ได้มากขึ้น”

ส่วนปัญหาการเผาในที่โล่ง ในพื้นที่กทม.มีปัญหาที่นาในพื้นที่รอบนอกเขตปริมณฑลที่ลมพัดเข้ามา  ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องเผานาข้าวต้องแก้ไขในระยะยาว ในการทำให้ซังข้าวมีราคาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล  รวมไปถึงการพัฒนานำมาเป็นปุ๋ยจนทำให้ชาวนาเกิดแรงจูงใจไม่เผาได้

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

ปรับกลยุทธ์ แก้ปัญหาฝุ่นแบบเฉพาะพื้นที่ “ป่า”

เมื่อสภาพปัญหาฝุ่น PM 2.5 มีความแตกต่างกัน ทำให้การแก้ปัญหาก็แตกต่างกันไปด้วย โดยที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษได้สำรวจแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 ในแต่ละพื้นที่แบ่งออกเป็น ภาคเหนือ สาเหตุหลักของฝุ่นมาจาก 1.ไฟป่า 2.การเผาเศษวัสดุการเกษตร 3.หมอกควันข้ามแดน

ภาคกลาง มีสาเหตุมาจาก 1. การเผาเศษวัสดุการเกษตร  2. ไฟป่า 3. หมอกควันข้ามแดน 

ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสาเหตุจาก 1.การเผาเศษวัสดุการเกษตร 2.หมอกควันข้ามแดน และ 3.การเผาริมทาง

สำหรับสาเหตุฝุ่นของ กทม.และปริมณฑล  1.ยานพาหนะ(การจราจร/ขนสง) 2.การเผาในที่โล่ง และ 3.โรงงานอุตสาหกรรม

“ฝุ่นในประเทศไทยมีแหล่งกำเนิดที่แตกต่างกัน ซึ่งพื้นที่มีฝุ่นปริมาณมากมีทั้งหมดคือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และ ใต้ โดยภาคกลาง หรือ กทม.มาจากการขนส่งเป็นหลัก ขณะที่ภาคใต้  ป่าพรุ และ เป็นเรื่องของหมอกควันข้ามแดน และภาคเหนือเป็นเรื่องของการเผาในที่โล่ง ทั้งเผาป่า และ พื้นที่การเกษตร ทำให้การแก้ไขปัญหาแตกต่างกัน โดยภาคเหนือ อาจจะต้องไปโฟกัสที่การเผาในพื้นที่ป่าไม้”

การจัดการฝุ่นในพื้นที่ภาคเหนือ จึงแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ซึ่งเมื่อแยกออกเป็นกลุ่ม 17 จังหวัดภาคเหนือ  สาเหตุฝุ่นอันดับแรกมาจากพื้นที่ป่า 86 % พื้นที่เกษตร 11 %  และชุมชน 3 %  โดยแบ่งออกเป็น 9 จังหวัดตอนบน  พื้นที่ป่า 93 %  พื้นที่เกษตร 4 % ชุมชน  3 %  และ  8 จังหวัดตอนล่าง สาเหตุมาจากพื้นที่ป่า 67 พื้นที่ เกษตร 27 %  และ ชุมชน 5 %

จับตามีนาคมปริมาณฝุ่น PM2.5 พุ่ง

การคาดการณ์ ปริมาณฝุ่น PM2.5 เมื่อวิเคราะห์เชื่อมโยงกับปัจจัยการสะสมตัวของ PM2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัด คาดว่าในเดือนมีนาคม 2567 หากมีปัจจัยการเกิดฝุ่นครบองค์ประกอบครบทั้งเรื่อง ปัจจัยจากสภาพอากาศ เผาในพื้นที่เกษตร และพื้นที่ป่า พร้อมกับหมอกควันข้ามแดน จะมีความเข้มข้นของฝุ่นสูงถึง 150  มคก./ลบ.ม  และมีค่าสูงสุด 538  มคก./ลบ.ม

เช่นเดียวกับในพื้นที่ กทม.ปริมณฑล ในเดือนมีนาคม ค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ 73 มคก./ลบ.ม.  ค่าสูงสุดอยู่ที่ 118  มคก./ลบ.ม.  หากปัจจัยการเกิดขึ้นจากแหล่งกำเนิดต่างๆ มาพร้อมสภาพอากาศที่ปิด จะทำให้ค่าความเข้มข้นของฝุ่นสูงทันที

มาตรการในการแก้ไขปัญหา ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ป่า ซึ่งถือว่าไฟป่าเป็นปัจจัยหลักทำให้เกิดฝุ่น ที่ผ่านมาพบว่า การเกิดขึ้นของไฟป่าอยู่ในพื้นที่ซ้ำซากทุกปี  ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงทำทะเบียนพื้นที่ป่าไม้ที่เกิดไฟป่าทุกปี เพื่อนำมาตรการป้องกันไฟป่าเข้าไปแก้ไขก่อนเกิดปัญหา

“เดิมกรมอุทยานแห่งชาติมีกลยุทธ์ดึงภาครัฐ ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปีญหา ขณะที่ชุมชนในพื้นที่ป่าที่เกิดไฟป่า อาจจะมีแรงจูงใจหรือมีการจ้างในการดูแลป่าเพื่อไม่ให้เกิดการเผาปัญหาฝุ่นก็จะลดลง”

การปรับกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567  เพื่อลดการเกิดไฟป่า แบ่งพื้นที่เป้าหมาย 10 ป่าอนุรักษ์  10 ป่าสงวน และพื้นที่เกษตรที่เผาไหม้ ซึ่งรวมพื้นที่เผาไหม้ 6.5 ล้านไร่  หรือ 66 %ของพื้นที่เผาไหม้ปี 2566

กลยุทธ์ที่ใช้ คือตรวจพบไฟป่าให้เร็วขึ้น จัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงในการเผา จากการเก็บของป่า เลี้ยงสัตว์ รวมไปถึงการสร้างกติการ่วมระหว่างรัฐ- ชุมชน เพื่อช่วยลดการเผาในพื้นที่เป้าหมาย จะทำให้ป่าเผาไหม้ลดลง 50%  พื้นที่เกษตรเผาไหม้ลดลง 50%

หลังการดำเนินการเป้าหมายลดฝุ่น PM2.5 .ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ คาดว่าค่าเฉลี่ยของฝุ่นลดลง 40% จำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานลดลง 30 % , ส่วนกรุงเทพ ปริมณฑล 20 % จำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานลดลง 5 %, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลง 10 %  จำนวนวันที่ เกินค่ามาตรฐาน 5 % , ภาคกลางลดลง 20 %   จำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐาน 10 %

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

ปรับค่ามาตรฐานฝุ่นใหม่เข้มข้นขึ้น

นอกจากนี้เพื่อควบคุมปริมาณฝุ่นให้อยู่ในระดับที่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพ กรมควบคุมมลพิศปรับมาตรฐานฝุ่น PM2.5 ให้เข้มข้นมากขึ้น เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2566  จากค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเดิมอยู่ 50 มคก./ลบ.ม. ปรับให้เข้มขึ้นเป็น 37.5 มคก./ลบ.ม ทำให้ระดับการเตือนเกินค่ามาตรฐานสีเหลืองจะเพิ่มมากขึ้น

“หลายคนเข้าไปดูดัชนีคุณภาพอากาศแล้วอจจะตกใจเหมือนว่าค่าฝุ่น PM2.5 เพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา  แต่ความจริงแล้วระดับฝุ่นไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่เราปรับค่ามาตรฐานลงมา ทำให้การแจ้งเตือนสุขภาพอยู่ในระดับที่เข้มข้นจากปีที่แล้ว ทำให้ระดับการเตือนมีสีเหลืองเพิ่มมากขึ้น”

มาตรการการบริหารจัดการในภาพรวม

ส่วนการบริหารจัดการฝุ่นภาพรวมจะมีการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) การเผาในพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่า รวมไปถึงการนำเอาระบบการรับรองผลผลิตทางเกษตรแบบไม่เผา (GAP PM2.5 Free) มาใช้เป็นเครื่องมือ ปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืช และการเปลี่ยนพืชที่มีการเผาให้ปลอดการเผา ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สูง อ้อย ข้าว

การจัดการหมอกควันข้ามแดน โดยให้เร่งรัดดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนระหว่างประเทศไทย-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว -สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy) สร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน จัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 แผนที่เสี่ยงไฟ ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) การจัดการเกษตรในพื้นที่สูง เพิ่มเงื่อนไขเรื่องการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตร

นอกจากนี้ ในการพิจารณานำเข้า – ส่งออกสินค้า กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ทำธุรกิจด้านการเกษตร เพื่อตรวจสอบว่ามีส่วนทำให้เกิดฝุ่นควันข้ามแดนหรือไม่

พร้อมกันนี้ จะเร่งจัดทำระบบ Big Data ที่บูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้านคุณภาพอากาศ  แหล่งกำเนิดและการจัดการ และการนำกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด เสนอต่อคณะรัฐมนตรี

ตั้งคณะกรรมการฝุ่น PM2.5 แห่งชาติ

นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง หมอกควัน และฝุ่นละออง โดยมี พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการ นายกิตติรัตน์ณ ระนอง ที่ปรึกษาของคณะกรรมการ

คณะกรรมการฝุ่นจะมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย แนวทาง มาตรการ อำนวยการ สั่งการ ควบคุม กำกับ ประสานงาน และติดตาม การดำเนินงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นกลไกการบริหารจัดการระดับชาติโดยมีกรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานผู้ประสานงานหลัก

นายปิ่นสักก์บอกว่าการเตรียมการเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในปี 2567 ถือว่ามีความพร้อมในการจัดการทั้งคณะกรรมการบริหารจัดการระดับชาติที่มีอำนาจสั่งการหากเกิดภาวะวิกฤติ นอกจากนี้ยังมีการขึ้นทะเบียนแหล่งกำเนิดฝุ่น ซึ่งหากสามารถลดแหล่งกำเนิดฝุ่นลงไปได้ปริมาณฝุ่นก็จะลดลง

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ

ครม. รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.อากาศ

ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาว เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ โดย จุดเด่นของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือมีเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อการแก้ปัญหาเข้ามา ประมาณ 5 เครื่องมือ คือ 1.เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ 2.เครื่องมือทางด้านระบบงบประมาณที่เป็นงบบูรณาการ  3.เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม  เทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศบ้านเรา 4.เครื่องมือทางสังคม 5. เครื่องมือด้านการสื่อสารสาธารณะ

ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องมือที่จะมาช่วยแก้ปัญหาควบคู่กันไป ที่ไม่ใช่มีการใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว เนื่องจากร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ยังออกแบบให้คณะกรรมการระดับชาติมีหน้าที่ที่รับผิดชอบแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ ซึ่งมีกรรมการระดับชาติอยู่พอสมควรครอบคลุมแหล่งกำเนิด มีกฎหมายที่รองรับการทำงานทั้งด้านคมนาคม อุตสาหกรรม ด้านการเกษตร  ด้านป่าไม้  ด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นภายใต้กฎหมายอากาศสะอาด และเสริมระบบการทำงานที่เข้มข้นมากขึ้น ทำให้การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ครอบคลุมทุกแหล่งกำเนิด