ThaiPublica > เกาะกระแส > เรื่องวุ่นๆ EEC… เปิดไส้ในร้อง ป.ป.ช. สอบจ้างที่ปรึกษาออกแบบเมืองอัจฉริยะ

เรื่องวุ่นๆ EEC… เปิดไส้ในร้อง ป.ป.ช. สอบจ้างที่ปรึกษาออกแบบเมืองอัจฉริยะ

10 ธันวาคม 2023


เรื่องวุ่นๆในที่ประชุมบอร์ด EEC เมื่อ สกพอ.เร่งชงเรื่องขออนุมัติผลการจัดซื้อจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาวงเงิน 280 ล้านบาท ออกแบบผังโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซี-เมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ บนพื้นที่เฟสแรก 5,795 ไร่ จังหวัดชลบุรี ในรูปแบบ PPP คาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 5 แสนล้านบาท โดยไม่แจ้งที่ประชุมเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ป.ป.ช.

  • เรื่องวุ่นๆของ ‘บอร์ดอีอีซี’ ตีกลับผลคัดเลือกที่ปรึกษา “เมืองอัจฉริยะ” 280 ล้านบาท (ตอน1)
  • ต่อจากตอนที่แล้ว เป็นเรื่องวุ่นๆที่เกิดขึ้นในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ “บอร์ดอีอีซี” ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานฯ เป็นประเด็นขึ้นมาเมื่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ “สำนักงานอีอีซี” ได้ทำเรื่องเสนอที่ประชุม กพอ. ขอมติอนุมัติ หรือ เห็นชอบผลการจัดซื้อจัดจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาออกแบบรายละเอียดผังการพัฒนา “โครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ” โดยวิธีการคัดเลือก วงเงิน 280 ล้านบาท (ราคากลาง) บรรจุอยู่ในช่วงท้ายของระเบียบวาระที่ 4.4 เรื่องการพัฒนาศูนย์ธุรกิจ และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ เฟสแรกบนพื้นที่ของ สปก. 5,795 ไร่ ใช้เงินลงทุนในรูปแบบ PPP วงเงิน 534,985 ล้านบาท โดยที่ไม่ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่ามีกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา (ผู้ร้องเรียน) ซึ่งมีประสบการณ์ออกแบบเมืองอัจฉริยะในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ และลงมือการก่อสร้างไปแล้ว ถูกคณะกรรมการคัดเลือกของสำนักงานอีอีซีพิจารณาให้ไม่ผ่านคุณสมบัติ ทำหนังสือไปร้องเรียนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรารมการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้เข้ามาตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ปรึกษาฯของสำนักงานอีอีซี ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 , ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 และกฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ อย่างไร

    ก่อนถึงวันประชุมบอร์ดอีอีซี ปรากฏว่ามีกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาที่ถูกคณะกรรมการคัดเลือกของสำนักงานอีอีซีพิจารณาให้ตกคุณสมบัติ ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมส่งถึงประธานบอร์ดอีอีซี โดยแจ้งให้ทราบว่าการจัดซื้อจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาของโครงการนี้ ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ป.ป.ช. ขอให้ประธาน กพอ.ตรวจสอบ และยกเลิกการอนุมัติจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้

    เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3/2566 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล

    จากนั้น สำนักงานอีอีซีได้ทำเรื่องเสนอที่ประชุมบอร์ดอีอีซีเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ปรากฎว่ามีรัฐมนตรีหลายคนที่เข้าประชุม กพอ.ครั้งนั้น ทราบว่าเรื่องดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบของ ป.ป.ช.จึงหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอภิปรายในที่ประชุมกันอย่างกว้างขวาง ท้ายที่สุดนายภูมิธรรม เวชยชัย ประธานที่ประชุมฯ จึงขอให้สำนักงานอีอีซีถอนระเบียบวาระที่ 4.4 เรื่องการพัฒนาศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะออกไปก่อน และให้นำเสนอเรื่องนี้กลับมาให้ที่ประชุม กพอ.พิจารณาใหม่ครั้งหน้า แต่ยกเว้นเรื่องขออนุมัติจัดจ้างที่ปรึกษาออกแบบผังศูนย์ธุรกิจและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ

    ต่อกรณีที่มีกลุ่มบริษัทที่ปรึกษากิจการร่วมค้าที่เข้าร่วมประมูลงานนี้ (ผู้ร้องเรียน) ไปยื่นหนังสือร้องเรียนถึงเลขาธิการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 ขอให้ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาของ สกพอ.

    แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวถึงที่มาที่ไปของกรณีพิพาทดังกล่าวนี้ว่า ตามที่สำนักงานอีอีซีได้รายงานที่ประชุมบอร์ดอีอีซีรับทราบนั้น สำนักงานอีอีซีเริ่มส่งหนังสือถึงบริษัทที่ปรึกษาเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 เชิญชวนให้มายื่นข้อเสนอเข้ารับการคัดเลือกเป็นที่ปรึกษาออกแบบผังการพัฒนาโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีฯ รวมทั้งสิ้น 30 ราย กำหนดวันให้ยื่นข้อเสนอ คือ วันที่ 13 มีนาคม 2566 เมื่อถึงวันปิดรับข้อเสนอมีกลุ่มบริษัทที่ปรึกษามายื่นซองทั้งหมด 4 ราย ได้แก่

    1. กลุ่มกิจการร่วมค้า 3AE ประกอบด้วย บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด , บริษัท อาคิเตคส์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด , บริษัท เอ – เซเว่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด

    2. กลุ่มกิจการร่วมค้า DSI 103 ประกอบด้วย บริษัท ดีไซน์ 103 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด , บริษัท ฉมา จำกัด และบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด

    3. กลุ่มกิจการร่วมค้า STLD ประกอบด้วย บริษัท สแปน คอนซัลแตนท์ จำกัด , บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) , บริษัท ทีม เอสคิว จำกัด และบริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด

    4. กลุ่มกิจการร่วมค้า 110-MHPM ประกอบด้วย บริษัท สถาปนิกหนึ่งร้อยสิบ จำกัด และบริษัท เอ็มเอชพีเอ็ม จำกัด

    ต่อมา คณะกรรมการดำเนินงานจ้างที่ปรึกษาฯ ได้ตรวจคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 4 ราย พบว่ามีเพียง 2 ราย ที่มีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วนทุกประการเป็นไปตามหนังสือเชิญชวน และข้อกำหนดและขอบเขตของงาน (Term of Reference : TOR) จึงมีมติให้ผู้ยื่นซองข้อเสนอ 2 ราย ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ และพิจารณาซองข้อเสนอด้านเทคนิค ซึ่งทั้ง 2 ราย ได้ผ่านการประเมินข้อเสนอด้านเทคนิค โดยได้รับคะแนนมากกว่า 80% เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด จึงเรียกรายที่ได้คะแนนสูงสุดมาเจรจาต่อรองราคาจนได้ผู้ชนะการประมูลครั้งนี้ ตรงนี้คือข้อมูลในฝั่งของสำนักงานอีอีซี

    ขณะที่ผู้ร้องเรียน ซึ่งหนึ่งในบริษัทที่ถูกคณะกรรมการคัดเลือก พิจารณาให้ไม่ผ่านคุณสมบัติ ทำหนังสือร้องเรียน ป.ป.ช. รวมทั้งบอร์ดอีอีซี โดยแจ้งว่า หลังจากที่ผู้ร้องเรียนไปยื่นซองข้อเสนอต่อสำนักงานอีอีซีเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 ต่อมา ทางสำนักงานอีอีซีได้เชิญกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาทุกรายมานำอธิบายข้อเสนอด้านเทคนิคต่อ “คณะกรรมการดำเนินการจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดผังพัฒนาโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซี และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ” หรือ “คณะกรรมการคัดเลือก” ที่สำนักงานอีอีซี เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 นับตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงปัจจุบัน สกพอ.ยังไม่มีการแจ้งผลการคัดเลือกอย่างเป็นทางการ แต่อย่างใด

    ปรากฏเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 มีพนักงาน หรือ ทีมงานของบริษัทที่เข้าร่วมประกวดราคา และคาดว่าจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการประมูลครั้ง โพสต์ข้อความใน Instragram พร้อมภาพรูปหน้าปกข้อเสนอโครงการ ฯ ว่า “We won the contract for EEC city design development” (บริษัทของตนเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการนี้) ทำให้ผู้ร้องเรียนเกิดข้อสงสัยทำไมบริษัทดังกล่าวรับทราบผลการคัดเลือกได้อย่างรวดเร็ว ทั้ง ๆที่ข้อมูลดังกล่าวยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือก ผู้ร้องเรียนจึงถ่ายภาพที่หน้าจอโน๊ตบุ๊ก (Capture Computer) เก็บเป็นหลักฐาน

    ต่อมา บริษัทผู้ร้องเรียนทราบภายหลังว่าในช่วงเช้าของวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 คณะกรรมการคัดเลือกมีการประชุมเพื่อพิจารณาผลการคัดเลือกข้อเสนอด้านคุณสมบัติ และสรุปข้อเสนอด้านเทคนิค ซึ่งในการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกที่ผ่านมามีประเด็นที่ผู้ร้องเรียนสงสัยอยู่หลายเรื่อง อาทิ มีการขอข้อมูลเพิ่มเติม หรือ มีการเลื่อนวันยื่นข้อเสนอของบริษัทผู้ร้องเรียน เป็นต้น จึงไปตรวจสอบรายชื่อคณะกรรมการคัดเลือกโครงการนี้ พบว่าหนึ่งในคณะกรรมการคัดเลือกฯ เคยเป็นอดีตผู้บริหารของกลุ่มบริษัทได้รับการคัดเลือก (ผู้ชนะการประมูล) ให้เป็นที่ปรึกษาออกแบบผังโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซี ฯตามที่กล่าวข้างต้น

    ผู้ร้องเรียนจึงนำภาพที่ถ่ายจากคอมพิวเตอร์ กรณีพนักงานของบริษัทที่ปรึกษาทราบผลการคัดเลือกได้อย่างรวดเร็ว และประวัติการทำงานของคณะกรรมการคัดเลือกส่งให้ ป.ป.ช.ใช้ประกอบการพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวนี้ เข้าข่ายการกระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) หรือไม่อย่างไร

    นอกจากนี้ทางผู้ร้องเรียนได้แจ้งให้ ป.ป.ช.รับทราบถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาของโครงการนี้ ตามที่กำหนดไว้เงื่อนไขของ TOR ข้อ 8.1.1 กำหนดว่า สกพอ.จะพิจารณาซองที่ 1 เอกสารแสดงคุณสมบัติ เป็นลำดับแรก และข้อ 8.1.2 สกพอ.จะพิจารณาซองที่ 2 ข้อเสนอทางด้านเทคนิค เฉพาะผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการพิจารณาซองที่ 1 เอกสารแสดงคุณสมบัติ หมายความว่าผู้ยื่นข้อเสนอต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ (ซองที่ 1 ) ก่อน จากนั้นจึงมาเปิดซองข้อเสนอทางด้านเทคนิค (ซองที่ 2 )

    ปรากฏว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯของ สกพอ.ได้เชิญบริษัทที่ปรึกษาทั้ง 4 ราย มาชี้แจงข้อเสนอทางด้านเทคนิค (ซองที่ 2) ซึ่งใน TOR ข้อ 8 กำหนดให้ยื่นซองที่ 2 ได้เฉพาะผู้ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ (ซองที่ 1) เท่านั้น จากเงื่อนไขของ TOR ผู้ร้องเรียน มีความเห็นว่า “กลุ่มบริษัทที่ยื่นข้อเสนอทุกรายได้ผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการคัดเลือก จึงไม่มีอำนาจย้อนกลับไปพิจารณาตัดรายชื่อบริษัทที่ปรึกษาที่ถูกเชิญมานำเสนอข้อมูลด้านเทคนิค เพราะจะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ และรับทราบข้อมูลทางด้านเทคนิคของผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละทีม” ถามว่าการดำเนินการดังกล่าวนี้เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนด TOR ว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาฯ หรือไม่ อย่างไร

    ทั้งนี้ ผู้ร้องเรียน มั่นใจว่า บริษัทของตนเคยมีผลงานการออกแบบเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ และมีการดำเนินการก่อสร้างแล้ว ตรงตามข้อกำหนดของ TOR ข้อ 5.4 ที่ระบุว่า บริษัทที่ปรึกษาต้องมีผลงานออกแบบทางสถาปัตยกรรม วิศวกรรม การวางผังพัฒนาพื้นที่ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน หรือ ระบบสาธารณูปโภค ในลักษณะงานที่เกี่ยวข้องกับงานที่จะสร้าง และใน TOR ข้อ 8.2.1 (1) ระบุว่า มีผลงานการจ้างที่ปรึกษาประเภทเดียวกัน ในลักษณะงานที่เกี่ยวข้องกับงานที่จะจ้างกับโครงการฯ เป็นที่ประจักษ์ และผู้ร้องเรียนได้ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุดมากกว่าข้อกำหนดใน TOR ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากเอกสารข้อเสนอของบริษัท (ผู้ร้องเรียน)

    ดังนั้น กลุ่มบริษัทของผู้ร้องเรียนที่ถูกพิจารณาให้ไม่ผ่านคุณสมบัติ จึงไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อเลขาธิการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 พร้อมแนบหลักฐานกรณีพนักงานของกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาฯที่เข้าร่วมประมูลไปโพสต์ข้อความใน Instagram เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 ว่าบริษัทของตนเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการออกแบบผังเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ทั้งที่ สกพอ.ยังไม่ได้ประกาศรายชื่อผู้ชนะ รวมทั้งแนบประวัติและระสบการณ์ทำงานของคณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งอดีตเคยเป็นผู้บริหารของบริษัทที่ได้รับการคัดเลือก โดยขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อความถูกต้องตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560, ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 และกฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์

    ต่อมา สำนักไต่สวนการทุจริตภาครัฐ 1 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือลงวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ถึง ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง ขอทราบข้อเท็จจริง และขอเอกสารหลักฐานดังนี้

    1. การจัดจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดผังการพัฒนา โครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ มีวัตถุประสงค์ ความเป็นมา และขั้นตอนการดำเนินการจัดจ้างตั้งแต่การขออนุมัติการจ้าง การกำหนดขอบเขตงาน (TOR) กระบวนการจัดจ้างจนกระทั่งการทำสัญญามีรายละเอียดข้อเท็จจริงอย่างไร พร้อมขอเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดจ้างโครงการดังกล่าวทั้งหมด

    2. การคัดเลือกจ้างที่ปรึกษาดังกล่าวมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขกำหนดไว้อย่างไร พร้อมขอทราบรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการคัดเลือก ตั้งแต่ขั้นตอนการเชิญชวนให้มีการยื่นข้อเสนอเข้ารับการคัดเลือก การพิจารณาและผลการคัดเลือก รวมถึงการแจ้งผลพิจารณาให้ผู้ยื่นข้อเสนอทราบ โดยขอเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวทั้งหมด

    3. คณะกรรมการคัดเลือกที่ปรึกษาฯ ตามที่ผู้ร้องเรียนกล่าวถึงนั้น มีอำนาจหน้าที่ หรือ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการโครงการดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร

    โดย ป.ป.ช.ขอให้ สกพอ.ชี้แจงข้อเท็จจริง และจัดส่งเอกสารหลักฐานตามที่กล่าวข้างต้น พร้อมรับรองสำเนาทุกแผ่นส่งไปยังสำนักงาน ป.ป.ช.ภายใน 15 วัน

    ในระหว่างที่ ป.ป.ช.กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริง ทางผู้ร้องเรียนทราบข่าวว่า สำนักงานอีอีซีจะนำผลการคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาฯส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 พิจารณาอนุมัติ หรือ ผ่านความเห็นชอบ แต่ก่อนที่จะถึงวันประชุมบอร์ดอีอีซี ผู้ร้องเรียนจึงทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรม บรรยายเรื่องราวทั้งหมดให้ประธานบอร์ดอีอีซีรับทราบ และเมื่อสำนักงานอีอีซีนำผลการคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาฯส่งให้ที่ประชุมบอร์ดอีอีซีอนุมัติ ปรากฎว่ามีรัฐมนตรีหลายคนทราบเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ป.ป.ช. จึงคัดค้าน ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการลงมติเห็นชอบการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย ประธานบอร์ดอีอีซี จึงขอให้สำนักงานอีอีซี ถอนวาระที่ 4.4 เรื่องการพัฒนาโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองน่าอยู่อัจฉริยะออกไปก่อน และให้สำนักงานอีอีซีนำโครงการนี้เสนอประชุมบอร์ดอีอีซีในครั้งถัดไป แต่ยกเว้นเรื่องขออนุมัติจ้างที่ปรึกษาออกแบบผังศูนย์ธุรกิจและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ

    ทั้งหมดนี้จึงเป็นเรื่องวุ่นๆที่เกิดขึ้นในการประชุมบอร์ดอีอีซีครั้งที่แล้ว โครงการจ้างที่ปรึกษาออกแบบผังศูนย์ธุรกิจและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่อย่างไร ต้องติดตามผลการพิจารณาของ ป.ป.ช.