ThaiPublica > เกาะกระแส > เรื่องวุ่นๆของ ‘บอร์ดอีอีซี’ ตีกลับผลคัดเลือกที่ปรึกษา “เมืองอัจฉริยะ” 280 ล้านบาท (ตอน1)

เรื่องวุ่นๆของ ‘บอร์ดอีอีซี’ ตีกลับผลคัดเลือกที่ปรึกษา “เมืองอัจฉริยะ” 280 ล้านบาท (ตอน1)

4 ธันวาคม 2023


เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3/2566 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล

‘บอร์ดอีอีซี’ ตีกลับโครงการจ้างที่ปรึกษาออกแบบ – วางผัง “เมืองอัจฉริยะ” วงเงิน 280 ล้านบาท หลังหลายรมต.รุมค้าน – ไม่ลงมติอนุมัติผลการคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษา ชี้สำนักงานอีอีซีไม่แจ้งที่ประชุมว่าการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ป.ป.ช.

จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ)หรือ ‘บอร์ดอีอีซี’ ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจอีกหลายกระทรวง ได้มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีชุดใหญ่ ตามที่ กพอ.เสนอหลายมาตรการ อาทิ การออก EEC VISA อายุสูงสุดถึง 10 ปี ตามสัญญาจ้างให้แก่นักลงทุนต่างชาติ คู่สมรส และผู้ติดตาม สามารถมารายงานตัวผ่านระบบออนไลน์ และใช้ช่องทางพิเศษ (Fast track) ณ สนามบินนานาชาติทั่วประเทศไทยโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยให้เริ่มขอรับสิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป รวมทั้งยังให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนต่างชาติที่สำคัญๆ อันได้แก่ การให้ใบอนุญาตทำงาน หรือ Work Permit อัตโนมัติ และเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราคงที่ 17% เป็นต้น และมีมติเห็นชอบแนวทางการให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซีแล้ว

  • บอร์ดอีอีซีแจก “EEC Visa” 10 ปี แถม Work Permit – ลดภาษีเงินได้เหลือ 17% เริ่ม ม.ค.ปี’67
  • แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า การประชุม’บอร์ดอีอีซี’วันนั้น ยังมีเรื่องวุ่นๆเกิดขึ้น เมื่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ทำเรื่องเสนอบอร์ดอีอีซีในระเบียบวาระที่ 4.4 เรื่องการพัฒนาศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ หลังจากรายงานความเป็นมาและความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการนี้ให้ที่ประชุมฯได้รับทราบแล้ว สำนักงานอีอีซีได้ขอให้บอร์ดอีอีซีมีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกและสั่งจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดผังการพัฒนา “โครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซี และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ” โดยวิธีการคัดเลือก ราคากลาง 280 ล้านบาท และมอบหมายให้เลขาธิการ สกพอ.เป็นผู้ลงนามแทนประธานคณะกรรมการนโยบาย ฯ ดังนี้

      1. ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาจ้างที่ปรึกษาโครงการ
      2. หนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้กลุ่มที่ปรึกษาทุกรายทราบผลการคัดเลือกการจ้างที่ปรึกษาโครงการ
      3. สัญญาจ้างที่ปรึกษาโครงการ

    ปรากฏว่ามีรัฐมนตรีหลายคนที่เข้าประชุมบอร์ดอีอีซีในวันนั้น อาทิ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และตัวแทนจากกระทรวงมหาดไทย ไม่เห็นด้วยที่จะให้บอร์ดอีอีซีมีมติเห็นชอบการจัดซื้อจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาครั้งนี้ เนื่องจากมีกลุ่มบริษัทที่เข้าร่วมประมูลโครงการนี้บางรายทำเรื่องร้องเรียนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยขอให้ตรวจสอบกระบวนการคัดเลือกกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง ป.ป.ช.ได้ทำหนังสือมาขอข้อมูลกับสำนักงานอีอีซีเพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณาไต่สวนไปแล้วก่อนหน้าที่จะมีการนำเรื่องนี้เสนอที่ประชุมบอร์ดอีอีซี

    แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า “สำนักงานอีอีซีไม่ได้รายงานให้ที่ประชุมบอร์ดอีอีซีรับทราบว่า ป.ป.ช.กำลังตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาครั้งนี้ แต่อย่างใด จึงมีรัฐมนตรีหลายคนที่ทราบเรื่องร้องเรียนดังกล่าว หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอภิปรายในที่ประชุมบอร์ดอีอีซีกันอย่างกว้างขวาง สุดท้าย นายภูมิธรรม เวชยชัย ประธานฯที่ประชุม จึงต้องขอให้สำนักงานอีอีซีถอนระเบียบวาระที่ 4.4 เรื่องการพัฒนาศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะออกไปก่อน และให้นำเสนอเรื่องนี้กลับมาใหม่ในการประชุม กพอ.ครั้งหน้า แต่ยกเว้นเรื่องขออนุมัติจัดจ้างที่ปรึกษาออกแบบผังศูนย์ธุรกิจและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ”

    ……

    สำหรับที่มาของโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซี และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ สกพอ.ได้ทำการศึกษามหานครเมืองการบินระดับนานาชาติที่ประสบความสำเร็จ 5 แห่ง อันได้แก่ เมืองซองโด และเมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี , เมืองเจิ้งโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน , เมืองเวสเทิร์นซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และเมืองมาสดาร์ซิตี้ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรต พบว่า การพัฒนาเมืองบนพื้นที่ว่างเปล่า (Greenfield) ในต่างประเทศล้วนพัฒนาบนพื้นฐานของแนวคิดมหานครการบินที่เชื่อมโยงกับสนามบิน เพื่อให้การเดินทางสะดวกรวดเร็ว รองรับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีโครงสร้างพื้นฐาน และพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างครบครัน โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเมืองให้เป็นศูนย์ธุรกิจคู่กรุงเทพมหานคร และเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะสำหรับอนาคต (Future Livable Smart City)

    เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบให้ สกพอ.เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) บริเวณตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี จำนวน 14,619 ไร่ เพื่อพัฒนา “โครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซี และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ” ตามที่ กพอ.นำเสนอ

    จากนั้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ โดยกำหนดการพัฒนาพื้นที่เฟสแรก เริ่มตั้งแต่ปี 2566 – 2570 จำนวน 5,795 ไร่ คิดเป็น 40% ของพื้นที่ทั้งหมด 14,619 ไร่ นำมาใช้ในการพัฒนาเป็นศูนย์บริการทางการเงิน, ศูนย์ราชการ, สำนักงานใหญ่ภูมิภาค, ศูนย์การแพทย์และสุขภาพครบวงจร, ศุนย์พัฒนาบุคลากรและการศึกษา, ศูนย์การบินและโลจิสติกส์, การแปรรูปอาหาร, การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กลุ่มรายได้ดี และกิจการพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย โดยเชิญชวนภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซี และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะในรูปแบบ “PPP” ภายใน 10 ปี (ปี 2566-2575) คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 534,985 ล้านบาท

    ต่อมา สำนักงานอีอีซีได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2566 ภายใต้แผนบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 3 โครงการ วงเงินรวม 1,970.53 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • 1. โครงการจัดหาพื้นที่เฟสแรก 5,795 ไร่ เพื่อเตรียมพร้อมในการพัฒนาโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีฯ โดย สกพอ.ได้รับการจัดสรรงบประมาณมาแล้ว 1,500 ล้านบาท เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 จึงนำไปจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดิน สปก.จำนวน 2,483.48 ไร่ คิดเป็นเงินประมาณ 1,499.79 ล้านบาท คงเหลือการจัดหาพื้นที่เฟส 1 อีกประมาณ 3,312 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างขอรับการจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือ จำเป็นในปี 2566 วงเงิน 2,5000 ล้านบาท มาใช้ในการจัดพื้นที่ต่อไป
  • 2. โครงการบริหารจัดการเพื่อเตรียมพื้นที่โครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีฯ 10.79 ล้านบาท
  • 3. โครงการจ้างที่ปรึกษาออกแบบขั้นรายละเอียด และจัดทำรายละเอียดการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ในโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีฯ 495.74 ล้านบาท และเพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในระยะเวลา 18 เดือน สกพอ.ได้แบ่งโครงการจ้างที่ปรึกษา ฯออกเป็น 7 โครงการย่อยดังนี้
    • 3.1 โครงการจ้างผู้เชี่ยวชาญ เพื่อปฏิบัติงานด้านการพัฒนา และบริหารจัดการเมืองการบินและเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ ราคากลาง 12 ล้านบาท ระยะเวลาในการดำเนินงาน 18 เดือน โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ Mr. John Dale Kasarda เริ่มปฏิบัติงานเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566

      3.2 โครงการจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดผังการพัฒนาโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซี และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ โดยวิธีการคัดเลือก ราคากลาง 280 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินงาน 18 เดือน ซึ่งเป็นโครงการที่ สกพอ.นำเสนอที่ประชุม กพอ.เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 เพื่อขออนุมัติหรือเห็นชอบการจัดจ้างที่ปรึกษาฯดังกล่าว

      3.3 โครงการจ้างที่ปรึกษาจัดทำกลยุทธ์ และรายละเอียดแผนพัฒนาธุรกิจเชิงลึก สำหรับกลุ่มธุรกิจเป้าหมายของโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ โดยวิธีคัดเลือก ราคากลาง 17 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินงาน 300 วัน ซึ่งผู้ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ บริษัท โรแลนด์ เบอร์เกอร์ จำกัด เริ่มปฏิบัติงานเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566

      3.4 โครงการจ้างที่ปรึกษาวิเคราะห์การเงินและการตลาด สำหรับกลุ่มธุรกิจเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการลงทุนของโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ กรอบวงเงิน 38 ล้านบาท 3.5 โครงการจัดทำพื้นที่แสดงนวัตกรรมการพัฒนา และเจรจาการลงทุนศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ กรอบวงเงิน 40 ล้านบาท

      3.6 โครงการจ้างที่ปรึกษาด้านกฎหมายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน เพื่อสนับสนุน สกพอ.ดำเนินโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซี และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ กรอบวงเงิน 20 ล้านบาท

      3.7 กิจกรรมอื่น ๆ ของโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซี และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ กรอบวงเงิน 52.73 ล้านบาท เช่น การจัดทำ Market Sounding, งานปรับพื้นที่โครงการในส่วนที่จ่ายค่าชดเชยแล้วเสร็จ, งานสร้างถนนชั่วคราว เข้าโครงการ (บางส่วนที่เร่งด่วน), งานสร้างสำนักงานสนามชั่วคราว (Site Office) ก่อนมีผู้รับเหมาเข้าปรับพื้นที่ (บางส่วนที่เร่งด่วน), งานบริหารจัดการพื้นที่โครงการ เช่น การจัดซื้อติดตั้ง CCTV และเช่าพื้นที่เก็บข้อมูลภาพเคลื่อนไหวจาก CCTV (Cloud) สำหรับใช้ติดตามตรวจสอบดูแลพื้นที่โครงการฯ ที่จ่ายค่าชดเชยเเล้วเสร็จ การจัดซื้อติดตั้งสิ่งกีดขวาง, ติดตั้งป้ายเเสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อป้องปรามการเข้ามาบุกรุกพื้นที่ที่จ่ายค่าชดเชยแล้วเสร็จ และสนับสนุนค่าใช้จ่ายหน่วยงานท้องถิ่นในการป้องกันอัคคีภัยในพื้นที่โครงการฯ

    ……

    แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวต่อว่า หลังจากที่สำนักงานอีอีซีรายงานความก้าวหน้าของโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีฯให้ที่ประชุม กพอ.รับทราบเสร็จ ทางสำนักงานอีอีซีได้นำเสนอผลการคัดเลือกโครงการจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดผังการพัฒนาโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีฯ (ในข้อ 3.2) ต่อที่ประชุม กพอ. เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 โดยสำนักงานอีอีซี ได้ให้คณะกรรมการดำเนินงานจ้างที่ปรึกษา ส่งหนังสือเชิญชวนบริษัทที่ปรึกษาฯไปทั้งหมด 30 ราย และกำหนดยื่นข้อเสนอในวันที่ 13 มีนาคม 2566 ปรากฎว่ามีบริษัทที่ปรึกษาฯมายื่นซองข้อเสนอโครงการฯครบถ้วน 4 ราย ได้แก่

  • กลุ่มกิจการร่วมค้า 3AE ประกอบด้วย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด , บริษัท อาคิเตคส์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด , บริษัท เอ-เซเว่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด
  • กลุ่มกิจการร่วมค้า DSI 103 ประกอบด้วย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท ดีไซน์ 103 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด , บริษัท ฉมา จำกัด และบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด
  • กลุ่มกิจการร่วมค้า STLD ประกอบด้วย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท สแปน คอนซัลแตนท์ จำกัด , บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) , บริษัท ทีม เอสคิว จำกัด และบริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด
  • 4) กลุ่มกิจการร่วมค้า 110-MHPM ประกอบด้วย กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท สถาปนิกหนึ่งร้อยสิบ จำกัด และบริษัท เอ็มเอชพีเอ็ม จำกัด
  • จากนั้นคณะกรรมการดำเนินงานจ้างที่ปรึกษาฯ ได้ตรวจคุณสมบัติผู้ยื่นซองข้อเสนอทั้ง 4 ราย พบว่ามีเพียง 2 ราย ยื่นเอกสารคุณสมบัติถูกต้อง ครบถ้วนทุกประการเป็นไปตามหนังสือเชิญชวน ข้อกำหนดและขอบเขตของงานของโครงการ ฯ จึงมีมติให้ผู้ยื่นซองข้อเสนอ 2 ราย ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ และพิจารณาซองข้อเสนอด้านเทคนิค ซึ่งทั้ง 2 ราย ได้ผ่านการประเมินข้อเสนอด้านเทคนิค โดยได้รับคะแนนมากกว่า 80% เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด จึงเรียกรายที่ได้คะแนนสูงสุดมาเจรจาต่อรองราคาจนได้ผู้ชนะการประมูลครั้งนี้

    ปรากฏว่ามีผู้ยื่นข้อเสนอที่ถูกคณะกรรมการดำเนินการจ้างที่ปรึกษา ฯ พิจารณาให้ไม่ผ่านคุณสมบัติ ได้ทำหนังสือไปร้องขอความเป็นธรรม ป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้เอาไว้หลายประเด็น อาทิ เรื่องการพิจารณาให้ผู้ยื่นข้อเสนอไม่ผ่านคุณสมบัติ ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนดใน TOR ข้อ 8.1.1 ระบุว่า สกพอ.จะพิจารณาซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ เป็นอันดับแรก และข้อ 8.1.2 สกพอ.จะพิจารณาซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค เฉพาะผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการพิจารณา ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ จากนั้นจึงเปิดซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค

    แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาฯทุกรายได้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติ (ซองที่ 1) แล้ว คณะกรรมการดำเนินงานจ้างที่ปรึกษาฯ จึงเชิญกลุ่มที่ปรึกษาทุกรายมานำเสนอซองที่ 2 คือข้อเสนอด้านเทคนิค ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน TOR อาจถือได้ว่ากลุ่มบริษัทที่ปรึกษาทุกรายได้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติแล้ว ดังนั้น คณะกรรมการดำเนินงานจ้างที่ปรึกษาฯ จึงไม่มีอำนาจย้อนกลับไปพิจารณาตัดรายชื่อผู้ยื่นข้อเสนอที่สำนักงานอีอีซีเชิญมานำเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิคแล้ว ซึ่งมีผลทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ

    จากนั้นผู้ยื่นข้อเสนอที่ถูกพิจารณาให้ตกคุณสมบัติทราบข่าวว่า สำนักงานอีอีซีจะนำผลการคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาฯเสนอให้ที่ประชุมบอร์ดอีอีซีในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 พิจารณาอนุมัติ หรือ ผ่านความเห็นชอบ ก่อนถึงวันที่จะมีการประชุมบอร์ดอีอีซี ทางผู้ยื่นข้อเสนอรายดังกล่าวได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมส่งถึงนายภูมิธรรม เวชยชัย ประธาน กพอ. และขอให้ประธาน กพอ.ตรวจสอบ และยกเลิกการอนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้

    (อ่านตอนที่2 เปิดรายละเอียดข้อร้องเรียนป.ป.ช.)