EEC เตรียมชง กพอ.เปิดประมูลสัมปทานเช่าที่ดิน 905 ไร่ 30 ปี ก่อสร้าง “ศูนย์ซ่อมอากาศยาน” ภายใน มิ.ย.2565 เดินหน้ายกระดับ “สนามบินอู่ตะเภา” สู่มหานครการบินอย่างครบวงจร คาดสร้างเสร็จพร้อมให้บริการปี 2568 สร้างรายได้นำส่งคลังกว่า 10,000 ล้านบาท
หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) คัดเลือกบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์ เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) เป็นผู้ดำเนินในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกบนเนื้อที่ 6,500 ไร่ ให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ EEC เชื่อมโยงสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง ด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูง ถือเป็นสนามบินแห่งที่ 3 ของกรุงเทพมหานคร โดยใช้รูปแบบของการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน หรือ “PPP” ที่ประสบความสำเร็จและมีความคืบหน้าไปพอสมควร ซึ่งภายใต้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนแรก ภาคเอกชนลงทุน ดำเนินการโดยบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์ เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) จะประกอบด้วย
1. ส่วนของอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 3 ซึ่งมีขนาดพื้นที่กว่า 450,000 ตารางเมตร เพื่อรองรับผู้โดยสารกว่า 60 ล้านคนต่อปี ภายในอาคารจะติดตั้งระบบอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ทันสมัย เช่น ระบบการเช็คอินอัตโนมัติ (smart airport) , ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (automate people mover: APM)
2. ส่วนของคลังสินค้า, cargo village และ free trade zone มีขนาดพื้นที่กว่า 470,000 ตารางเมตร รองรับการขนส่งสินค้าและศูนย์กระจายสินค้ากว่า 3 ล้านตันต่อปี
3. ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน (ground transportation center: GTC) ขนาดพื้นที่ 30,000 ตารางเมตร เชื่อมโยงกับการเดินทางในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ รถไฟความเร็วสูง, รถบัส , แท็กซี่ เข้าสู่อาคารผู้โดยสารสนามบินอู่ตะเภาหลังใหม่ และพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ (commercial gateway) อย่างรวดเร็วและไร้รอยต่อ ไม่ว่าจะเป็น ร้านค้าปลอดอากร , ภัตตาคาร , โรงแรม , อาคารศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้า , อาคารพักอาศัยและอาคารสำนักงาน เป็นต้น
ส่วนที่ 2 ภาครัฐลงทุน ประกอบด้วย ทางวิ่งมาตรฐาน 2 ทางวิ่ง ความยาว 3,500 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินพาณิชย์ได้ทุกขนาด ขึ้นลงได้ทั้ง 2 ทางวิ่งอย่างอิสระต่อกัน โดยมีหลุมจอดเครื่องบินประมาณ 170 หลุมจอด รวมทั้งลงทุนพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Aviation Technical Zone : ATZ) บนพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ สนับสนุนอุตสาหกรรมการบินอย่างครบวงจร ประกอบด้วย ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน , ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ , โรงผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น , โรงผลิตน้ำประปา , โรงบำบัดน้ำเสีย , บริการเติมเชื้อเพลิงอากาศยาน และก่อสร้างอาคารหอบังคับการบิน ดำเนินการโดยบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด สามารถให้บริการการขึ้นลงของอากาศยานได้สูงสุด 70 เที่ยวบินต่อชั่วโมง โดยการลงทุนทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างงแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568
ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้จัดทำ “International Market Sounding” ครั้งที่ 1 เพื่อประชาสัมพันธ์เชิญชวน และสำรวจความต้องการของนักลงทุนจากต่างประเทศที่มีความสนใจจะเข้ามาลงทุนในพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ที่ สกพอ. เตรียมไว้ใช้ในการพัฒนา “ศูนย์ซ่อมอากาศยาน แบบครบวงจร” คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวได้ภายในช่วงกลางปี 2565 โดย ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมการบิน (ATZ) ว่า ขณะนี้ สกพอ.ได้ทำ Market Sounding ครั้งที่ 1 ไปแล้ว มีนักลงทุนด้านอุตสาหกรรมการบินทั้งทางฝั่งยุโรปและเอเชียประมาณ 50 – 60 ราย ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังกิจกรรมต่าง ๆภายในพื้นที่อุตสาหกรรมการบิน โดยเป้าหมายของการจัดทำ Market Sounding ครั้งนี้ ก็เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรม ATZ ภายในสนามบินอู่ตะเภา พร้อมทั้งถือโอกาสเชิญชวน และสำรวจตลาดต้องการต่าง ๆ ของนักลงทุน (Requirements) ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม ATZ เพื่อนำไปออกแบบแผนแม่บท , วางผังภายในพื้นที่ ATZ รวมทั้งยกร่างหนังสือเชิญชวน และกำหนดเงื่อนไขของ TOR ซึ่งจะมีการจัดทำ Market Sounding อีกครั้ง ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พิจารณาเห็นชอบ ให้เปิดดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้ามาลงทุนพัฒนาพื้นที่กิจกรรม ATZ ภายในเดือนมิถุนายน 2565 และเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 ถึงเดือนธันวาคม 2567 พร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2568
สำหรับรายละเอียดของกิจกรรมในพื้นที่ศูนย์ซ่อมอากาศยาน แบบครบวงจรมีอะไรบ้างนั้น นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สกพอ. กล่าวว่า โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน แบบครบวงจร หรือ ที่เรียกว่า “Aviation Technical Zone” นั้น สกพอ.ได้จัดแบ่งพื้นที่ในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน เตรียมไว้ให้เอกชนเช่ากว่า 1,000 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ให้เช่าเพื่อประกอบกิจการให้บริการสาธารณูปโภคสนับสนุนกิจการภายในสนามบินประมาณ 154 ไร่ เช่น โรงไฟฟ้า , โรงผลิตน้ำประปา , โรงงานบำบัดน้ำเสีย และกำจัดขยะ เป็นต้น รวมทั้งกันพื้นที่เอาไว้ก่อสร้างถนนส่วนกลางประมาณ 44 ไร่ เหลือพื้นที่ที่จะนำมาพัฒนาเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานแบบครบวงจรอีกประมาณ 905 ไร่ซึ่งโครงการนี้ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานของกระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ทำการศึกษาและมีความเห็นในเบื้องต้นว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสมที่จะนำมาจัดตั้งเป็น “นิคมอุตสาหกรรมการบิน” อันได้แก่ กิจกรรมซ่อมบำรุง (MRO) , กิจกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน (OEM) และกิจกรรมพัฒนาบุคลากรด้านการบิน (Human Resource: HR) เป็นต้น
“อุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานนั้น ถือเป็นกิจกรรมที่ใหญ่ การซ่อมบำรุงเครื่องบิน 1 ลำ มีทั้งซ่อมหนัก-ซ่อมเบา , ซ่อมตัวถังเครื่องบิน หรือ “Body” , ซ่อมเครื่องยนต์ , อุปกรณ์ควบคุมเครื่องบิน , อุปกรณ์ตบแต่งภายในอากาศยาน และมีอะไหล่ชิ้นส่วนต่าง ๆมากมาย ดังนั้น นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานนั้นต้องมีประสบการณ์ และมีมาตรฐานด้านเทคนิคการซ่อมบำรุงขั้นสูง และที่สำคัญต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานทักษะขั้นสูง ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ”นายโชคชัย กล่าวว่า
ดังนั้น สกพอ.จึงได้จัดทำผัง เพื่อแบ่งพื้นที่สำหรับประกอบกิจการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน แบบครบวงจร หลักๆก็แบ่งออกเป็น 4 โซน สนับสนุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกให้เป็น “ศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมอากาศยานในภูมิภาคนี้” มีรายละเอียดดังนี้
-
1) กันพื้นที่ 323 ไร่ เอาไว้ก่อสร้างทางวิ่ง (Taxi Way) และลานจอดเครื่องบินจำนวน 44 หลุมจอด เพื่อลำเลียงเครื่องบินเข้ามาจอดที่ลาน รอการซ่อมบำรุง หรือ จอดระยะยาวในกรณีที่ต้องซ่อมหนัก
-
2) จัดแบ่งพื้นที่ 375 ไร่ สำหรับก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานแบบครบวงจร (Aviation Technical Zone: ATZ) นอกจากนี้ยังสำรองพื้นที่เอาไว้อีก 100 ไร่ เตรียมไว้ให้บริษัท การบินไทย กรณีมีความประสงค์จะประกอบกิจการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO)
-
3) กันแบ่งพื้นที่ 50 ไร่ ก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอุปกรณ์สนับสนุนการบิน หรือ “Aviation Support Equipment Maintenance Center)
-
4) ก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน และพื้นที่ส่วนกลางต่าง ๆ รวมพื้นที่ 157 ไร่
ส่วนรายละเอียดของแต่ละพื้นที่ที่ สกพอ.นำมาพัฒนาและจัดกิจกรรมภายในศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานนั้น ในเบื้องต้นจะประกอบไปด้วย
-
1) กิจกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) เช่น ซ่อมบำรุงตามระยะเวลา , ซ่อมบำรุงเบา ,ซ่อมบำรุงหนัก , บริการพ่นสี , ซ่อมบำรุงเครื่องบินเสียมีปัญหา ,ดัดแปลงเครื่องยนต์ (Modification)
-
2) กิจกรรมศูนย์บริการอะไหล่อากาศยาน (Spare Parts Center and Logistics) เช่น บริการจัดหาและขนส่งอะไหล่ชิ้นส่วนเครื่องบิน , เครื่องยนต์ , ล้อ และสต็อกอะไหล่อุปกรณ์ชิ้นส่วนเครื่องบิน สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอะไหล่ชิ้นส่วนเครื่องบินในอนาคต นอกเหนือจากการเป็นฐานการผลิตอะไหล่ชิ้นส่วนยานยนต์
-
3) กิจกรรมศูนย์บริการอุปกรณ์ภาคพื้น (Ground Support Equipment : GSE) เช่น รถขนส่งผู้โดยสาร , รถขนส่งสินค้า , คลังสินค้า
-
4) กิจกรรมการซ่อมบำรุงอุปกรณ์อากาศยาน (Aircraft Component Workshop) เช่น บริการเปลี่ยน หรือ ซ่อมล้อเครื่องบิน ผ้าเบรก แบตเตอรี่ น้ำมันเครื่องบิน
-
5) กิจกรรมการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์อากาศยาน (Engine Workshop) เช่น ประกอบ หรือ ถอดเครื่องยนต์ เปลี่ยนโมดูล อะไหล่เครื่องยนต์ และตรวจสอบเครื่องยนต์
-
6) กิจกรรมล้างทำความสะอาดเครื่องบิน (Aircraft Washing Facility)
-
7) กิจกรรม Aircraft Long Term Parking Area สำหรับอากาศยานที่เสียและต้องใช้เวลาการซ่อมระยะยาว อากาศยานที่รอการจำหน่าย (Phase-Out and Part-Out Area)
-
8) กิจกรรมฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน (Aircraft Mechanics Technical Training) โดยสถาบันการบินพลเรือน ดำเนินการฝึกอบรมบุคลากร ทั้งทางด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน และด้านการรักษาความปลอดภัย (Aviation Safety and Security) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมอุตสาหกรรมการบิน
นายโชคชัย กล่าวต่อว่า สำหรับผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการนำพื้นที่ของรัฐมาพัฒนาเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงแบบครบวงจร โดยเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนเช่าพื้นที่เป็นเวลา 30 ปีนั้น คาดว่าจะทำให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ EEC คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท สร้างรายได้จากค่าเช่าให้กับรัฐบาลมากกว่า 10,000 ล้านบาท และที่สำคัญก่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้นำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้มีความสามารถในการผลิตบุคลากรที่มีทักษะสูงตามมาตรฐานสากล ป้อนอุตสาหกรรมการบิน ทำให้เกิดการจ้างแรงงานทักษะสูงเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3,000 คน อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนของการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมการบิน และสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคเอเชีย (Aviation Hub) เป็นอีก 1 โครงการที่ สกพอ.จะดำเนินการในปีหน้านี้