ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เชื่อมโลกให้ไทยแล่น > “อีอีซี” ปรับกลยุทธ์ ชู “ยกเว้นภาษี – Long Term VISA” ตั้งเป้า ดึงต่างชาติขนเงินลงพื้นที่จริง 1 แสนล้านบาท/ปี

“อีอีซี” ปรับกลยุทธ์ ชู “ยกเว้นภาษี – Long Term VISA” ตั้งเป้า ดึงต่างชาติขนเงินลงพื้นที่จริง 1 แสนล้านบาท/ปี

7 พฤศจิกายน 2023


‘อีอีซี’ ปรับกลยุทธ์ ชู “ยกเว้นภาษี 15 ปี – Long Term VISA” ตั้งเป้าดึงต่างชาติขนเงินลงทุน 5 คลัสเตอร์ในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมปีละ 1 แสนล้านบาท เริ่ม 1 ม.ค. 2567 รวม 5 ปี 5 แสนล้านบาท จี้เอกชนลงมือสร้างรถไฟความเร็วสูง-อู่ตะเภา-ท่าเรือ ดึงแบงก์กสิกรฯ-กรุงไทย ร่วมพัฒนาแหล่งระดมทุนใน EEC มอบกรมชลฯสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก

99 วัน คือเป้าหมายเร่งด่วนของโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หลังเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเสร็จเรียบร้อย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้จัดการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 เพื่อพิจารณาความก้าวหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในพื้นที่อีอีซี พร้อมยกร่างแผนดำเนินการในระยะ 1 ปี (ตุลาคม 2566-กันยายน 2567) เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี บอกว่า แผนระยะสั้น 99 วัน ถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้าง “commitment” กับรัฐบาลชุดใหม่ในการผลักดันโครงการลงทุนต่างๆ ให้ผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยแผนงานจะแบ่งออกเป็นด้านต่างๆ แต่สิ่งสำคัญคือการจัดทำแผนภาพรวม ก็ไม่ต่างจากแผนของสภาพัฒน์ฯ ที่จะทำให้เห็นว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ทิศทางของอีอีซีจะเดินไปในทิศทางใด เพราะฉะนั้น เรื่องแรกของ 99 วัน คือ การกำหนดทิศทางภาพรวม 5 ปี เพื่อให้มีทิศทางในการพัฒนาที่ชัดเจน

ทั้งนี้ ในแผน 5 ปีของอีอีซี ได้กำหนดทิศทางในการพัฒนาเอาไว้ 5 คลัสเตอร์หลัก ประกอบด้วย 1. อุตสาหกรรมการแพทย์ 2. อุตสาหกรรมดิจิทัล 3. อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 4. อุตสาหกรรมกลุ่ม BCG และ 5. อุตสาหกรรมบริการ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

นอกจากการกำหนดแผนพัฒนาอุตสาหกรรมโดยแยกเป็นคลัสเตอร์แล้ว ยังเสนอมุมมองในการลงทุนใหม่ โดยเน้นไปที่การดึงดูดเม็ดเงินลงทุนที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากที่ผ่านมา 5 ปี เรากำหนดเป้าหมายไว้ที่ 2.2 ล้านล้านบาท

“แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คือ เงินไม่ได้เข้ามาในระบบตามที่ตั้งเป้าเอาไว้ การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ไม่เกิด GDP ก็ไม่โต การลงทุนในพื้นที่ก็ไม่เคลื่อนไหว ดังนั้น การกำหนดเป้าหมายในแผนใหม่ครั้งนี้ เราจะดูงบลงทุนที่ลงจริงๆ คิดว่าปีละ 1 แสนล้านบาทก็น่าจะพอ”

ที่ผ่านมา หลายคนอาจมีภาพความทรงจำเรื่องตัวเลขการลงทุนในอีอีซีมูลค่าหลายแสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขในขั้นตอนของการยื่นขอส่งเสริมการลงทุน มิใช่เม็ดเงินลงทุนที่เกิดจริง ซึ่งที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาตินำเงินมาลงทุนในพื้นที่จริงๆ ยังไม่ถึงแสนล้านบาท แต่จากนี้ไปอีอีซีจะพยายามมุ่งเน้นดึงการลงทุนให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่อีอีซีปีละ 1 แสนล้านบาท หากมีเม็ดเงินลงทุนในพื้นที่ ก็จะเกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจอีกหลายรอบ และทำให้ GDP โตได้

นายจุฬากล่าวว่า “การวางแผนภาพรวมจึงมีความจำเป็นในเชิงกลยุทธ์ โดยกำหนดแผนการลงทุนไปก่อน เพื่อให้เห็นภาพรวมของแผนพัฒนาในปลายทางตลอด 5 ปี แต่ละปีจะต้องมีเงินลงทุน 1 แสนล้านบาท ดังนั้น ภายใน 5 ปี เราจะต้องดึงการลงทุนให้ได้ 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้เกิดผลประโยชน์ที่มากกว่าตัวเลขเป้าหมายเดิม คือ 1.97 ล้านล้านบาท ใน 5 ปีข้างหน้า

ส่วนเม็ดเงินลงทุนที่เกิดขึ้นจะเกิดจากความสำเร็จของการดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยไม่ต้องไปดูว่าเอกชนมาลงทุนกี่ราย แต่จะดึงนักลงทุนให้สามารถเข้ามาลงทุนทั้ง 5 คลัสเตอร์ และดูผลลัพธ์ปลายทางว่าภายใน 5 ปี มีเม็ดเงินลงทุนในพื้นที่อีอีซี 5 แสนล้านบาทได้จริงหรือไม่ หรือมีเงินลงทุนปีละ 1 แสนล้านบาทหรือไม่

สำหรับคลัสเตอร์เร่งด่วน ซึ่งในช่วงนี้ต้องแย่งชิงหรือดึงนักลงทุนแข่งขันกับประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ ก็คืออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV และอุตสาหกรรมดิจิทัล เนื่องจากกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวมีแนวโน้มว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะย้ายฐานการผลิตเนื่องจากจีนมีปัญหา และนักลงทุนได้เริ่มมองหาพื้นที่ลงทุนใหม่ ซึ่งหนึ่งในนั้นประเทศไทยร่วมอยู่ด้วย

“ผมเห็นว่าทั้งสองอุตสาหกรรมมีความจำเป็น ต้องเร่งดึงดูดนักลงทุนกลุ่มนี้เข้ามายังประเทศไทยก่อนที่ประเทศอื่นจะดึงไป เพราะอยู่ในช่วงที่นักลงทุนกำลังจะย้ายฐานการผลิต ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมต่อมา คือ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ ที่ต้องวางแผนดึงดูดนักลงทุนเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง โดยจะจัดเป็นแพ็กเกจการลงทุนเพื่อให้นักลงทุนได้เห็นภาพรวมว่าการลงทุนในอีอีซีจะได้รับอะไรบ้าง”

ชู “ยกเว้นภาษี – Long Term VISA” ดึงทุนต่างชาติ

ส่วนแผนการดึงดูดนักลงทุน นายจุฬาบอกว่า ได้พิจารณาเรื่องของสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่อง “EEC Long Term VISA” เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถนำพนักงานหรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงานได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ที่นำเครื่องจักรสมัยใหม่เข้ามาใช้งาน ดังนั้น ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องนำผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงานด้วย

“ผู้ประกอบการที่ลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท อาจต้องกันเงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนกับคนที่มาทำงาน ดังนั้น ในส่วนของอีอีซีต้องหาวิธีการที่จะทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้นำพนักงานเข้ามาทำงานได้ง่ายขึ้น เราจึงต้องอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนเหล่านี้ โดยให้วีซ่าระยะยาวตามสัญญาจ้าง พร้อมกับใบอนุญาตทำงาน (work permit) พ่วงเข้าไปด้วย”

ทั้งนี้ ตามแผนงานของอีอีซีได้ออกแบบวีซ่าสำหรับกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในพื้นที่อีอีซี โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย 1. ผู้เชี่ยวชาญ 2. ฝ่ายบริหาร 3. ผู้มีประสบการณ์ในการทำงานอุตสาหกรรมนั้น 4. ครอบครัวของคนที่มาทำงาน เพื่อให้เขาตัดสินใจง่ายขึ้นในการมาทำงานประเทศไทย

“วีซ่าคือการสร้างสภาพแวดล้อมให้นักลงทุนตัดสินใจ แม้จะเป็นมาตรการอ้อมๆ แต่มีผลโดยตรง ทำให้นักลงทุนสามารถหาคนมาทำงานได้ง่ายขึ้น หากเราให้วีซ่าแค่ 1 ปี แต่สัญญาการทำงานกำหนดเอาไว้ 5 ปี ก็ทำให้เกิดความยุ่งยาก และมีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้เหมือนกัน แต่ถ้าทำงาน 5 ปี เราออกวีซ่าให้ 5 ปีเลย กรณีอย่างนี้ก็จะช่วยทำให้นักลงทุนสามารถนำพนักงานหรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงานในเมืองไทยได้ง่ายและมากขึ้น ดังนั้น การออกวีซ่าจึงควรมีอายุเท่ากับสัญญาจ้าง”

ทั้งนี้ การให้สิทธิประโยชน์ทางด้านวีซ่าแก่ผู้ประกอบการที่จะเข้ามาลงทุนในอีอีซี ถือเป็นการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน เพราะนอกจากจะได้วีซ่าระยะยาวตามสัญญาจ้างแล้ว อีอีซียังออกใบอนุญาตทำงานไปพร้อมกันด้วย โดยมาตรการนี้จะเร่งอออกระเบียบในการดำเนินการในเรื่องนี้เป็นมาตรการเร่งด่วนให้แล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566

ชงบอร์ดอีอีซีไฟเขียวยกเว้นภาษีสูงสุด 15 ปี

ส่วนมาตรการอื่นๆ เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยอาจยกเว้นภาษีได้มากกว่าบีโอไอ คือ 15 ปี โดยจะดำเนินการออกกฎหมายเพิ่มขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เพื่อกำหนดกรอบและแนวทางว่าจะยกเว้นภาษีให้สูงสุดเท่าไหร่ หลังจากนั้นอีอีซีจะพิจารณาเป็นรายๆ ไปว่าจะพิจารณายกเว้นภาษีกลุ่มอุตสาหกรรมประเภทไหน จำนวนเท่าไหร่

“เราจะให้ กพอ. กำหนดกรอบการยกเว้นภาษีสูงสุดเอาไว้ แต่ในทางปฏิบัติจะพิจารณาเป็นรายกรณีไป ยกตัวย่าง บางอุตสาหกรรมอาจต้องการยกเว้นภาษีสูงสุด 11 ปี แต่เราอาจพิจารณาให้เพียง 8 ปีก็ได้ โดยจะพิจารณาว่าเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือเกิดประโยชน์ต่อประเทศโดยรวมมากน้อยแค่ไหน หรือบางอุตสาหกรรมบอกว่าจะลงทุน 5,000 ล้านบาท ขอยกเว้นภาษี 8 ปี แต่เราเห็นว่า ถ้าคุณลงทุน 8,000 ล้านบาท เอาสิทธิประโยชน์ภาษีไป 10 ปีดีไหม นี่คือการเจรจาให้เขาตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติม โดยใช้มาตรการภาษีเป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรอง”

นายจุฬากล่าว่า เมื่อสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีต้องเจรจาเป็นรายๆ ไป ดังนั้น จึงต้องจัดตั้งทีมในการพิจารณาเรื่องสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุน โดยแบ่งออกเป็น 5 คลัสเตอร์ และบางทีมอาจจะต้องมีแพทย์มาร่วมพิจารณาทางด้านเทคนิค หรือมีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

“การดำเนินการในเรื่องสิทธิประโยชน์ ทำให้อีอีซีไม่ต่างจากบีโอไอขนาดย่อม แต่จะต้องให้ บอร์ด กพอ. กำหนดกรอบแนวทาง และอาจจะต้องพิจารณาในเรื่องของการทำระเบียบในการดำเนินการ ขณะที่ผมต้องตั้งคณะกรรมการสิทธิประโยชน์เรื่องนี้ขึ้นมา 5 ด้าน เพื่อเจรจากับผู้ประกอบการเป็นรายๆ ไป ผมต้องเป็นประธานเองทุกคณะไปก่อน โดยไม่จำเป็นต้องออกพระราชกฤษฎีกา แต่ใช้ระเบียบของ กพอ. ดำเนินการไปก่อน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ในวันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป”

ดึงแบงก์กสิกรฯ-กรุงไทย พัฒนาแหล่งระดมทุนใน EEC

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเริ่มนับหนึ่งในวันที่ 1 มกราคม 2567 นายจุฬาบอกว่า ภายใน 3 เดือนนี้ นอกจากจะต้องเตรียมแผนงานด้านสิทธิประโยชน์แล้ว สิ่งที่ต้องเร่งมองหา คือ แหล่งเงินทุนที่จะมาช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ เนื่องจากบางอุตสาหกรรมอาจจะนำเงินลงทุนมากจากต่างประเทศ แต่ต้องการมาร่วมทุนกับคนไทย จึงต้องเตรียมแหล่งเงินทุนในประเทศไทยเอาไว้ด้วย โดยอาจจะไปหารือกับสถาบันการเงิน หรืออาจจะเชิญสถาบันทางการเงินเข้ามาร่วมพิจารณาเรื่องการระดมทุนด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งมีความพร้อมทั้งตลาดเงินและตลาดทุน รองรับการระดมทุน

นายจุฬากล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การลงทุนด้วยเงินดิจิทัลเพื่อสนับสนุนให้กลุ่มสตาร์ทอัปเติบโตได้ เนื่องจากการลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมเป็นอุตสาหกรรมที่มีซัพพลายเชนจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์สมัยใหม่ กลุ่มสมุนไพร ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องหาแหล่งเงินทุนเข้ามาช่วยเสริม เช่น กรณีธนาคารกสิกรไทยก็เข้ามาลงทุนในเรื่องอุตสาหกรรมสีเขียว

“ในช่วง 3 เดือน ก็จะต้องเตรียมเรื่องการระดมทุนเงินทุนเข้ามาช่วยสนับสนุน พูดง่ายๆ จากนี้ไปนักลงทุนต่างชาติไม่ต้องกำเงินมาลงทุนในพื้นที่อีอีซีเพียงช่องทางเดียว แต่ยังสามารถมาหาแหล่งเงินลงทุนในประเทศไทยได้อีกด้วย ซึ่งในขณะนี้ได้มีการหารือกับธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงไทย”

จี้เอกชนลงมือสร้างรถไฟความเร็วสูง-อู่ตะเภา-ท่าเรือ

นายจุฬายังบอกอีกว่า ไม่เพียงเรื่องของสิทธิประโยชน์ การหาแหล่งทุน สิ่งที่ต้องเตรียมดำเนินการใน 99 วัน คือ การเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หากล่าช้าออกไป อาจจะส่งผลกระทบต่อสนามบินอู่ตะเภาที่จะเริ่มก่อสร้างอาคารผู้โดยสารใน 99 วันเช่นกัน

และภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ กองทัพเรือจะเริ่มประกาศประกวดราคาก่อสร้างสนามบิน โดยเชิญชวนเอกชนมาลงทุนสร้างอาคารผู้โดยสาร และการสร้างเมืองใหม่ แต่จะเริ่มหลังจากกองทัพเรือประกาศประกวดราคา ซึ่งคาดว่าเอกชนจะเริ่มทำงานได้ในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งจะทำให้สนามบินอู่ตะเภาเริ่มดำเนินการได้ทันที และสามารถเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบในปี 2570 ส่วนโครงการอื่นๆ เช่น การก่อสร้างท่าเรือ และรถไฟฟ้า ก็จะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปีเช่นกัน

นายจุฬากล่าวต่อว่า ในช่วงนี้ต้องระดมหานักลงทุนมาลงทุน ควบคู่ไปกับการจัดเตรียมมาตรการตามที่กล่าวข้างต้น โดยตั้งเป้าหมายว่าต้องมีนักลงทุนนำเงินมาลงทุนปีละ 1 แสนล้านบาท เริ่มนับตั้งแต่ปี 2567 ที่ผ่านมามีนักลงทุนรายเก่าที่ลงทุนในพื้นที่อยู่แล้วประมาณ 60,000 ล้านบาท เหลืออีกเพียง 40,000 ล้านบาท ก็จะเป็น 1 แสนล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าในปี 2567 จะสามารถเชิญชวนต่างชาตินำเงินมาลงทุนได้ตามเป้าหมาย 1 แสนล้านบาท

“ความจริงแล้วตอนนี้ นักลงทุนหน้าเก่าก็มีเงินลงทุนอยู่แล้วประมาณื 60,000 ล้านบาท ซึ่งเราต้องพยายามทำงานให้หนักมากขึ้นเพื่อเพิ่มเงินลงทุนอีก 40,000 ล้านบาท ให้ได้ตามเป้าหมาย 100,000 ล้านบาท ภายในปีหน้า”

มอบกรมชลฯ สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในอีอีซี

นายจุฬากล่าวถึงเรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซีว่า ที่ผ่านมาพื้นที่ภาคตะวันออกมักจะมีปัญหาน้ำขาดแคลน การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้พิจารณาในเรื่องภัยจากเอลนีโญ ที่จะทำให้จะเกิดความแห้งแล้งขึ้นและกระทบต่อปัญหาน้ำอุตสาหกรรม แต่จากการประเมินในเรื่องนี้ เชื่อว่าปริมาณน้ำเพียงพอไม่มีปัญหา เนื่องจากได้แก้ปัญหาบริหารจัดการ โดยพิจารณาแหล่งน้ำต้นทุนจากจังหวัดจันทบุรี มากกว่าประมาณการใช้น้ำในจังหวัดระยอง ทั้งนี้ ที่ผ่านมาปริมาณน้ำฝนจะตกมากในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี โดยเฉพาะจังหวัดตราดมีแหล่งน้ำต้นทุนในปริมาณที่มาก แต่การส่งน้ำจากจังหวัดตราดมายังพื้นที่อีอีซีมีระยะทางไกลเกินไป จึงเห็นว่าควรจะจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากระยอง และยังสามารถส่งน้ำไปถึงจังหวัดชลบุรีได้เช่นกัน

ส่วนการพัฒนาน้ำต้นทุน นายจุฬาบอกว่า ได้หารือกับเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเรื่องจัดทำอ่างเก็บน้ำสำหรับอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ เนื่องจากที่ผ่านมากรมชลประทานจัดสรรน้ำออกเป็น 3 ส่วน น้ำเพื่อการเกษตรกรรม น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และสุดท้ายคือน้ำเพื่อภาคอุตสาหกรรม ทำให้ในช่วงที่น้ำขาดแคลนอาจจะทำให้เกิดปัญหาในการจัดสรรน้ำได้

“เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเห็นว่าปัญหาเรื่องน้ำจะต้องบริหารจัดการ โดยให้กรมชลประทานสร้างแหล่งน้ำเพื่ออุตสาหกรรมเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กเพื่ออุตสาหกรรม ทำให้เอกชนมั่นใจว่ามีความมั่นคงในเรื่องการจัดการน้ำมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมี 2 บริษัท คือ บริษัท อีสท์วอเตอร์ กรุ๊ป กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางว่าจะดำเนินการอย่างไร”

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

‘ภูมิธรรม’ ไฟเขียวแผนอีอีซี 8 ด้าน ทำทันทีใน 99 วัน เริ่ม 1 ม.ค. ปี ’67

สำหรับแผนการดำเนินการทั้งหมดนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 โดยผลประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบร่างแผนการดําเนินงานของอีอีซีในระยะ 1 ปี (ต.ค. 2566 – ก.ย. 2567) และกำหนดเป้าหมายเร่งด่วนสามารถลงมือทําได้จริงภายใน 99 วัน เพื่อดึงดูดเงินลงทุนทั่วโลกผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมายใน 5 คลัสเตอร์หลัก ประกอบด้วย 1. อุตสหกรรมการแพทย์ 2. อุตสาหกรรมดิจิทัล 3. อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 4. อุตสาหกรรม BCG 5. อุตสาหกรรมบริการ ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายหลักของรัฐบาล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืน เพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศให้ทัดเทียมนานาชาติ โดยกำหนดเป้าหมายในการดำเนินงานอย่างเร่งด่วนภายใน 99 วัน แบ่งออกเป็น 8 ด้าน มีรายละเอียดดังนี้

1. ด้านนโยบายเดือนธันวาคม 2566 จัดทําแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (2566-2570) ซึ่งจะเป็นกรอบดําเนินงานหลักของอีอีซี บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ มุ่งเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่ในทุกมิติ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยแนวทางพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่ 1) ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 2) เพิ่มประสิทธิภาพ และการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค 3) ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4) พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย น่าอยู่อาศัย และเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ และ 5) เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน

2. ด้านการพัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุน สร้างความพร้อมให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยเดือนธันวาคม 2566 อีอีซีจะออกประกาศ กพอ. เรื่องสิทธิประโยชน์สําหรับผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อดึงดูดการลงทุนในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ครอบคลุมด้านภาษี และมิใช่ภาษี เพื่ออํานวยความสะดวกนักลงทุน เช่น สิทธิในการได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร สิทธิ การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือห้องชุด รวมไปถึงการอนุญาตอยู่อาศัยในระยะยาว (EEC long-term VISA) เป็นกรณีพิเศษ สําหรับผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และทํางานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ เช่น ผู้มีความเชี่ยวชาญ ผู้บริหาร ผู้ชํานาญการ ตลอดจนคู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะ เป็นต้น

3. ด้านการสร้างระบบนิเวศสําหรับการลงทุน เดือนมกราคม 2567 พัฒนาแหล่งระดมทุนอีอีซี (EEC fundraising venue) รองรับการระดมทุนที่ใช้เงินตราต่างประเทศเป็นหลัก โดยเริ่มจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ให้ผู้ระดมทุนทั้งบริษัทไทยและต่างประเทศที่ใช้เงินตราต่างประเทศมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสให้แก่บริษัทไทยที่ไปจดทะเบียนในต่างประเทศให้มีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น และจะเป็นการเพิ่มเครื่องมือทางการเงินที่แตกต่างให้กับผู้ลงทุนในตลาดได้

4. ด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จะได้ข้อยุติการเจรจาและแนวทางที่ชัดเจนในการดําเนินโครงการฯ ระหว่าง รฟท. และเอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุน (บริษัท เอเชีย เอรา วัน จํากัด) ส่วนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ภายในเดือนมกราคม 2567 เอกชนคู่สัญญาจะพร้อมเริ่มก่อสร้าง อย่างเป็นทางการ

5. ด้านการจัดให้มีบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร เดือนธันวาคม 2566 จะยกระดับการให้บริการอนุมัติ อนุญาต จํานวน 44 รายการ ครอบคลุม 8 กฏหมาย ตาม พ.ร.บ.อีอีซี ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน การควบคุมอาคาร การจดทะเบียนเครื่องจักร การสาธารณสุข คนเข้าเมือง การจดทะเบียนพาณิชย์ โรงงาน และการจัดสรรที่ดิน โดยจะเพิ่มการพัฒนาระบบให้ครอบคลุมการให้สิทธิประโยชน์ สําหรับผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเช่น สิทธิในการได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร ซึ่งจะทําให้พื้นที่อีอีซีเป็นเป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลก

พร้อมกันนี้ อีอีซียังได้บูรณาการร่วมกับภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะด้านการพัฒนาบุคลากร เพื่อเตรียมกําลังคนรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักแต่ละด้านที่จะมาเป็นแต้มต่อ ทําให้นักลงทุนตัดสินใจเลือกเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบัน อีอีซีได้เชื่อมความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา ผู้ประกอบการชั้นนํา ผ่านกลไกขับเคลื่อน 12 ศูนย์เชี่ยวชาญ พัฒนาบุคลากร เพื่อเป็นฐานเรียนรู้หลัก จัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะใหม่ที่จําเป็นและตรงกับความต้องการอุตสาหกรรม เช่น ด้านยานยนต์ไฟฟ้า ด้านดิจิทัล เป็นต้น

6. ด้านการพัฒนาพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เดือนตุลาคม 2566 จัดตั้งศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ มีพื้นที่พัฒนาระยะที่ 1 ประมาณ 5,795 ไร่ จากพื้นที่รวมทั้งโครงการประมาณ 14,619 ไร่ ทั้งนี้ การจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริม เศรษฐกิจพิเศษ เพื่อรองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การแพทย์และสุขภาพครบวงจร การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา ดิจิทัล การบิน และโลจิสติกส์ เป็นต้น

การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษนิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์ กรีน อินดัสเตรียลเอสเตทในพื้นที่ 22,191.49 ไร่ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ พัฒนาระบบสาธารณูปโภค สิ่งอํานวยความสะดวก และบริการที่จําเป็น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร เป็นต้น

เดือนมกราคม 2567 การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ยกระดับบริการสาธารณสุขในพื้นที่อุตสาหกรรมปลวกแดง (EEC Advanced Healthcare หรือ EEChc) เป็นการลงทุนโรงพยาบาลปลวกแดง 2 ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ให้ประชาชนที่อยู่อาศัยและทํางานในพื้นที่ อ.ปลวกแดง ได้รับบริการสาธารณสุขอย่างทันการ สะดวก ปลอดภัย และมีคุณภาพ ลดการเดินทางไปรักษาพยาบาลนอกพื้นที่

7. ด้านการเริ่มต้นการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ

เดือนธันวาคม 2566 เกิดการลงนามสัญญาเช่าพื้นที่ภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล EEC ได้แก่ บริษัท CtrlS Datacenter ผู้ประกอบการชั้นนําระดับโลกจากประเทศอินเดีย เช่าพื้นที่ 25 ไร่ ระยะเวลา 50 ปี เพื่อลงทุนศูนย์ธุรกิจข้อมูล (data center) มูลค่าโครงการรวมกว่า 4,500 ล้านบาท รวมทั้งจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการฝึกอบรม เกี่ยวกับ cloud service การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เช่าพื้นที่ 5 ไร่ ระยะเวลา 20 ปี ลงทุนประกอบกิจการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV charging station ให้บริการรองรับรถขนส่งขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมระบบโลจิสติกส์การขนส่ง ในพื้นที่ EEC และบริษัท ALBA จากประเทศเยอรมนี มีความประสงค์เช่าพื้นที่เพื่อดําเนินโครงการต้นแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม และศูนย์ควบคุมการรีไซเคิลซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการลงทุนโครงการกว่า 1,300 ล้านบาท

8. ด้านการสร้างความเข้มแข็งของพื้นที่และชุมชน เดือนธันวาคม 2566 ต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยชุมชน วิสาหกิจชุมชน และกิจการเพื่อสังคมในพื้นที่อีอีซี ให้ได้รับการรับรองเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบ (EEC Select) สนับสนุนการสร้างแนวคิดเชิงธุรกิจอย่างเป็นระบบและได้รับการส่งเสริม และพัฒนาช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้น

เดือนมกราคม 2567 จัดตั้งศูนย์เครือข่ายพลังสตรี EEC ระดับจังหวัดและระดับอําเภอ เพื่อเป็นศูนย์การสร้างความเข้าใจและเป็นประโยชน์กับอีอีซี รวมไปถึงการขยายผลโครงการเยาวชน อีอีซี สแควร์ สร้างโอกาสให้เยาวชนได้ต่อยอดแนวคิด คิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สามารถใช้ในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพอ. ได้พิจารณาการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) โดยเห็นชอบกรอบอัตราค่าเช่าและค่าธรรมเนียมอื่นใด และกรอบสิทธิประโยชน์สําหรับผู้ประกอบกิจการในโครงการ EECd พร้อมแผนปฏิบัติการ และแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ เพื่อการขับเคลื่อนรองรับนักลงทุนระดับนานาชาติที่แสดงความจํานงเข้าลงทุนในพื้นที่โครงการ EECd แล้ว เช่น บริษัท CtrlS สร้างธุรกิจ Data Center มีมูลค่าการ ลงทุนโครงการรวมประมาณ 15,000 ล้านบาท โดยมีแผนการเซ็นสัญญาเช่ากับ สกพอ. ภายในเดือนตุลาคม 2566 เพื่อเช่าพื้นที่ จํานวน 25 ไร่ ระยะเวลา 50 ปี สร้างรายได้แก่ สกพอ. มูลค่าทั้งหมดประมาณ 1,310 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดตั้งศูนย์อัดประจุไฟฟ้าต้นแบบระดับประเทศ โดยมีแผนการลงนามความร่วมมือภายในปี 2566 เพื่อเช่าพื้นที่จํานวน 5 ไร่ ระยะเวลา 20 ปี สร้างรายได้แก่ สกพอ. มูลค่าทั้งหมดประมาณ 60 ล้านบาทตลอดระยะเวลาการดําเนินงาน

และบริษัท ALBA Asia Group Limited บริษัทชั้นนําด้าน Smart City Digital Waste and Recycling Management จากประเทศเยอรมัน ปัจจุบันบริษัทได้มีการส่งหนังสือแสดงเจตจํานงความต้องการลงทุน (letter of intent) ในพื้นที่โครงการ EECd วันที่ 24 เมษายน 2566 และมีแผนการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MoU) ในการสร้างศูนย์ควบคุมและสั่งการด้าน digital waste management (การบริหารจัดการขยะดิจิทัล) ต้นแบบ มูลค่าการลงทุนทั้งหมดประมาณ 1,400 ล้านบาท ในช่วง ปี 2567

  • “คณิศ” แจง 4 ปี อนุมัติการลงทุนในอีอีซีเข้าเป้าฯก่อนกำหนด- ชงนายกฯผ่านแผน 5 ปี 2.2 ล้านล้านบาท ต.ค.นี้
  • “คณิศ แสงสุพรรณ” 4 ปี EEC เดินหน้า หรือถอยหลัง!!
  • “อู่ตะเภา มหานครการบิน” 50 ปี ฝันที่เป็นจริงของ “ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” เจ้าพ่อ Boutique Airline
  • บอร์ด กพอ. ยกระดับ ‘อู่ตะเภา’ เป็น “เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ” ประกอบการค้าเสรี 24 ชั่วโมง
  • นายกฯเคาะ-ชง ครม.แก้สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน