ThaiPublica > เกาะกระแส > “จุฬา สุขมานพ” พาสื่อลงพื้นที่ EEC เตรียมพร้อมรับทุนต่างชาติ ปีหน้า 1 แสนล้าน

“จุฬา สุขมานพ” พาสื่อลงพื้นที่ EEC เตรียมพร้อมรับทุนต่างชาติ ปีหน้า 1 แสนล้าน

17 ธันวาคม 2023


ในระหว่างวันที่ 14 – 15 ธันวาคม 2566 ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ “อีอีซี” นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกในจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดชลบุรี

“อีอีซี” นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นชมโรงงานโตโยต้าบ้านโพธิ์ – ต้นแบบแห่งความยั่งยืน พร้อมสำรวจแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน “Unseen Bangkhla” เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 14 ก.พ.ปีหน้า – ตรวจเยี่ยม ‘เทคนิคสัตหีบ – มทร.ตะวันออก’ ตามความคืบหน้า “EEC Model” ผลิตเด็กอาชีวะสมรรถนะสูง ป้อนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา – อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ – ออกแบบสายพานการผลิตแบบอัตโนมัติ เตรียมความพร้อมรองรับต่างชาติขนเงินลงทุนในพื้นที่อีอีซีตามเป้าหมายใหม่ 1 แสนล้านบาท/ปี

ในระหว่างวันที่ 14 – 15 ธันวาคม 2566 ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ “อีอีซี” นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกในจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดชลบุรี โดยวันแรก นำคณะเข้าเยี่ยมชมโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้า บ้านโพธิ์ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 โรงงานต้นแบบแห่งความยั่งยืนของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นอกจากโรงงานประกอบรถยนต์ที่ประเทศญี่ปุ่น , สหรัฐอเมริกา , อังกฤษ และฝรั่งเศส โดยโรงงานแห่งนี้มีเนื้อที่ทั้งหมด 2,500,000 ตารางเมตร แต่นำมาใช้ประกอบรถยนต์แค่ 760,000 ตารางเมตร หรือ คิดเป็นสัดส่วน 30% ของเนื้อที่ทั้งหมด ส่วนเหลืออีก 70% นำมาใช้ทำกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยลดการใช้พลังงาน , เพิ่มการใช้พลังงานทดแทน และขยายพื้นที่ปลูกป่าในพื้นที่ส่วนที่เหลือบริเวณรอบๆตัวโรงงาน เพื่อดูดซับคาร์บอน

นอกจากจะมีพื้นที่สีเขียวแล้ว โรงงานโตโยต้า บ้านโพธิ์ยังทำบ่อกักเก็บน้ำในปริมาณความจุ 60,000 คิว รองรับปริมาณน้ำฝน และน้ำที่ใช้แล้วนำกลับมารีไซเคิลใหม่ เพื่อลดการใช้น้ำแบบพึ่งพาตนเองได้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนโรงงานแห่งนี้ ไม่ต้องใช้น้ำประปาเลย

ส่วนเรื่องการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นนั้น โรงงานโตโยต้า บ้านโพธิ์ ติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงาน ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในกิจกรรมประกอบรถยนต์ได้ประมาณ 6.3 เมกะวัตต์ ด้านนอกของตัวโรงงานก็ติดตั้งแผงโซลาร์เซล หรือ “Solar Farm” มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าอีก 6 เมกะวัตต์ รวมทั้งนำกระแสไฟฟ้าส่วนที่เหลือไปต่อเข้ากับเครื่อง Heater ผลิตพลังงานความร้อนเอาไปเก็บไว้ที่ถังทรายใช้ในกระบวนการผลิตต่อไป (C0-Generater)

นอกจากนี้ภายในโรงงานโตโยต้า บ้านโพธิ์ ยังได้ออกแบบกลไกอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า “Karakuri” ซึ่งเป็นกลไกพื้นฐานที่อาศัยหลักการทำงานของแรงโน้มถ่วงของโลก สปริง แม่เหล็ก ลูกรอก คาน และพื้นที่ลาดเอียง ติดตั้งในสายพานการผลิต เพื่อลดการใช้พลังงานและต้นทุนค่าใช้จ่าย โดยบริษัท โตโยต้าฯเข้ามาบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้กับโรงงานแห่งนี้ เพื่อไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2030

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การเยี่ยมชมโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าบ้านโพธิ์ ถือเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จเชื่อมประโยชน์จากการลงทุนในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษของอีอีซี และส่งผลต่อเนื่องไปถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม และสร้างประโยชน์ให้ชุมชน โดยโรงงานที่บ้านโพธิ์แห่งนี้ ได้สร้างการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับผลักดันคลัสเตอร์การลงทุนด้าน B-C-G ของอีอีซี เช่น ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Co-Generation) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการลดการใช้พลังงาน ออกแบบระบบจ่ายพลังงานแบบรวมศูนย์ (Centralized) สามารถบริหารจัดการด้านพลังงานได้อย่างคุ้มค่า ลดปริมาณปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงถึง 8,500 ตันต่อปี อีกทั้งได้ต่อยอดลงทุนเพื่อยกระดับชุมชน อาทิ การสนับสนุนแหล่งน้ำสะอาดเพื่ออุปโภค บริโภค มีพื้นที่ปลูกป่าในโรงงานกว่า 60 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพ และความยั่งยืน เป็นต้น

ทั้งนี้ เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์อนาคตบ้านโพธิ์ ถือเป็นพื้นที่เขตส่งเสริม ฯ ที่สำคัญ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และเป็นรากฐานของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) สนับสนุนให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์อีวีในประเทศไทย สามารถสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ใน Supply Chain ของรถยนต์อีวี และผลิตชิ้นส่วนที่ได้ตามมาตรฐานโลก ผลักดันให้อีอีซีก้าวสู่ “ศูนย์กลางลงทุนยานยนต์อีวีแห่งภูมิภาคนี้”

แหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน “Unseen Bangkhla” ริมแม่น้ำบางปะกง

หลังจากนั้นทางสำนักงานอีอีซี นำคณะสื่อมวลชนลงเรือที่คลองท่าลาด อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ชมแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน หรือ “Unseen Bangkhla” ริมแม่น้ำบางปะกง โดยมีนายศิริชัย เผ่าบรรจง นายกเทศมนตรีตำบลบางคล้า เป็นมัคคุเทศก์ บรรยายข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ๆ อาทิ อนุสรณ์สถานพระสถูปเจดีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่ในบริเวณปากน้ำโจ้โล้ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าตากสินตีฝ่าวงล้อมของพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยาไปเข้าตีเมืองจันทบุรี เพื่อรวบรวมไพร่พลกลับมากอบกู้เอกราช ได้ปะทะกับทหารพม่าในบริเวณปากน้ำโจ้โล้ แต่ด้วยพระปรีชาของพระองค์สามารถรบชนะพม่าซึ่งมีกำลังเหนือกว่า และหลังจากที่พระองค์ทรงกอบกู้อิสรภาพจากพม่าได้สำเร็จ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระสถูปเจดีย์ขึ้นที่บริเวณนี้ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ นอกจากอนุสรณ์สถานพระสถูปเจดีย์ ฯ แล้ว บริเวณริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ อุโบสถสีทองเหลืองอร่ามที่วัดปากน้ำโจ้โล้ ,ชมค้างคาวแม่ไก่ขนาดใหญ่ห้อยหัวอยู่ตามกิ่งไม้เป็นจำนวนมากในบริเวณวัดโพธิ์ บางคล้า , ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง , ตลาดน้ำบางคล้า และไปจบทริปนี้ที่เทวสถานพระพิฆเนศ องค์ยืนสูง 39 เมตร ต.บางตลาด อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา โดยนายศิริชัย เผ่าบรรจง นายกเทศมนตรีตำบลบางคล้า ให้สัมภาษณ์ว่าทางเทศบาลตำบลบางคล้าจะแถลงข่าวเปิดตัวเส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชนริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง หรือ “Unseen Bangkhla” อย่างเป็นทางการในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567

วันที่ 15 ธันวาคม 2566 ดร.จุฬา นำคณะสื่อมวลชน เยี่ยมชมความก้าวหน้าโครงการผลิต และพัฒนาทักษะบุคลากร เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และนวัตกรรมขั้นสูงในพื้นที่อีอีซี 2 แห่ง คือวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก จังหวัดชลบุรี ซึ่งตามแผนการพัฒนาบุคลากรภายใต้ EEC Model มี 2 รูปแบบ คือ EEC Model Type A ผลิตบุคลากรทักษะสูง โดยความร่วมมือของผู้ประกอบการ , สถาบันการศึกษาและองค์กรวิชาชีพ เข้ามาร่วมกันออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ (demand driven) กับ EEC Model Type B ซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกัน แต่เน้นไปที่หลักสูตรระยะสั้น (Short Course) พัฒนาทักษะให้กับบุคลากรของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี

โดยเริ่มจากวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นสถาบันอาชีวศึกษาที่พัฒนาหลักสูตร EEC Model Type A หรือ “สัตหีบโมเดล” มาภารกิจผลิตบุคลากรอาชีวะสมรรถนะสูง (ปวส.) ร่วมกับบริษัทชั้นนำหลายแห่งภายใต้หลักการ demand driven อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้ร่วมมือกับ BMW Ford และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (E@) , อุตสาหกรรมอากาศยานร่วมกับ Senior Aero Space , บริษัทผลิตชิ้นส่วนอากาศยานจากอเมริกา , อุตสาหกรรมท่องเที่ยวผลิตบุคลากร ร่วมกับกลุ่มโรงแรมแอมบาสเดอร์ และ Holiday Inn Pattaya , อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ร่วมกับ Mitsubishi Electric และกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และแมคคาทรอนิกส์จับคู่กับบริษัท TKK และ TBKK เป็นต้น โดยผลการดำเนินงานของโครงการสัตหีบโมเดลในช่วงที่ผ่านมา พบว่า มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ 39 แห่ง มีผู้เรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 778 คน ในจำนวนเป็นนักศึกษาที่จบการศึกษาได้ทำงานกับบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 470 คน ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และมีรายได้ทันทีหลังการเรียนจบ

จากนั้น ดร.อรทัย โยธินรุ่งเรือง สุดสงวน ผู้อำนวยการวิทยาลัยสัตหีบ พาคณะผู้บริหารอีอีซีและสื่อมวลชนเยี่ยมชมแผนกวิชาช่างอากาศยาน (Aviation Maintenance Technician Department ภายใต้โครงการ Excellent Model School (EMS) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา , วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ และบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกันออกแบบหลักสูตรผลิตช่างซ่อม และผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน เพื่อรองรับศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก

สำหรับความคืนหน้าของโครงการลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานสนามบินอู่ตะเภานั้น ดร.จุฬา กล่าวว่า “ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาทบทวนรูปแบบการลงทุนใหม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปชัดเจนภายในไตรมาสแรกของปี 2567 จากนั้นก็จะออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เข้ามาร่วมลงทุน (PPPs) ในพื้นที่ที่อีอีซีกันไว้ใช้ในโครงการนี้ประมาณ 200 ไร่ โดยหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ประกอบการที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการนี้จะแตกต่างจากโครงการอื่น ซึ่งที่ผ่านมาจะเน้นในเรื่องการเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้กับรัฐเป็นสำคัญ แต่สำหรับโครงการนี้จะเน้นไปที่อัตราค่าบริการซ่อมบำรุงอากาศยานเป็นหลัก โดยผู้ประกอบการรายใดเสนออัตราค่าบริการต่ำที่สุด เป็นผู้ชนะ ทั้งนี้ เพื่อเร่งรัดให้มีการลงทุนในโครงการนี้อย่างเป็นรูปธรรม และสามารถแข่งขันกับศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคนี้ได้”

จากนั้น ดร.จุฬา นำคณะสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมศูนย์เครือข่ายการพัฒนาบุคลากรด้านเมคคาทรอนิกส์ หรือ “ENMEC” (EEC Networking of Mechatronics Excellence Center) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (วิทยาเขตบางพระ) เป็นจุดสุดท้าย เพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาทักษะบุคลากรภายใต้ “EEC Model” ของศูนย์ ENMEC ซึ่งจะเน้นหลักสูตรการใช้เครื่องจักรกลอัตโนมัติ ระบบหุ่นยนต์ และระบบการผลิตอัจฉริยะ ให้กับนักศึกษาในรูปแบบของ Type A รวมทั้งจัดหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นให้กับบุคลากรของโรงงานอุตสาหกรรมในรูปแบบของ EEC Model Type B โดยมีเป้าหมายในการผลิตและพัฒนาทักษะให้กับบุคลากรในพื้นที่อีอีซี และพื้นที่ต่อเนื่อง รองรับการผลิตในโรงงานที่ใช้นวัตกรรมขั้นสูงเช่นเดียวกับวิทยาลัยสัตหีบ โดยศูนย์ ENMEC ได้รับการสนับสนุนงบบูรณาการจากรัฐบาลวงเงิน 61 ล้านบาท รวมทั้งได้รับการบริจาคอุปกรณ์เครื่องจักรกล และหุ่นยนต์จากภาคเอกชนเป็นจำนวนมาก จนไม่มีที่เก็บ

ศูนย์เครือข่ายการพัฒนาบุคลากรด้านเมคคาทรอนิกส์ หรือ “ENMEC” (EEC Networking of Mechatronics Excellence Center) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (วิทยาเขตบางพระ)

สำหรับผลการดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรภายใต้ EEC Model ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ นับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และผลิตบุคลากรตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรมไปแล้วกว่า 54,573 คน โดยในปี 2567 สามารถผลิตบุคลากรได้เพิ่มขึ้นอีก 76,573 คน จากเป้าหมายความต้องการบุคลากรในอุตสาหกรรมขั้นสูง 475,668 คน

หลังจากที่ประชุม กพอ.ครั้งที่ 3/2566 ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานฯ มีมติเห็นชอบมาตรการดึงดูดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยให้อำนาจสำนักงานอีอีซีสามารถออก EEC Visa ให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ คู่สมรส และผู้ติดตาม อายุสูงสุด 10 ปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง พร้อมกับออกใบอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย หรือ “EEC Work permit” แบบอัตโนมัติ รวมทั้งให้สิทธินักลงทุนต่างชาติเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในอัตราคงที่ 17% และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายสูงสุดถึง 15 ปี

วันนี้ อีอีซีพร้อมแล้วที่จะออกไปเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี ตามเป้าหมายใหม่นับที่เม็ดเงินลงทุนจริง 100,000 ล้านบาท/ปี…

  • บอร์ดอีอีซีแจก “EEC Visa” 10 ปี แถม Work Permit – ลดภาษีเงินได้เหลือ 17% เริ่ม ม.ค.ปี’67
  • “อีอีซี” ปรับกลยุทธ์ ชู “ยกเว้นภาษี – Long Term VISA” ตั้งเป้า ดึงต่างชาติขนเงินลงพื้นที่จริง 1 แสนล้านบาท/ปี
  • ป้ายคำ :