ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เชื่อมโลกให้ไทยแล่น > สกพอ. ปลื้ม พช. ขยายผล “บัณฑิตอาสาต้นแบบ” ทั่วประเทศ

สกพอ. ปลื้ม พช. ขยายผล “บัณฑิตอาสาต้นแบบ” ทั่วประเทศ

30 มีนาคม 2022


สกพอ. ปลื้ม “กรมการพัฒนาชุมชน” เตรียมขยายผลโครงการ “บัณฑิตอาสาต้นแบบ” ไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ-เสนอ กพ. ปรับหลักเกณฑ์บรรจุ “อสพ.-บัณฑิตอาสา” เข้ารับราชการ

ย้อนหลังกลับไปในช่วงต้นปี 2563 หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลมีความจำเป็นต้องออกมาตรการมาควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรคอย่างหลีกไม่ได้ ทั้งสั่งปิดกิจการบางประเภท จำกัดการเดินทางเข้า-ออกประเทศ ประกาศเคอร์ฟิว และมาตรการอื่นๆ อีกหลายมาตรการ การแพร่ระบาดของเชื้อโรคครั้งนั้นส่งผลทำให้หลายธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง จนต้องปิดกิจการลง มีคนตกงานเป็นจำนวนมาก เดินทางกลับภูมิลำเนา ส่วนกิจการที่ยังเปิดดำเนินการอยู่ก็ใช้วิธีการปรับลดค่าใช้จ่าย เพื่อประคับประคองธุรกิจให้สามารถก้าวข้ามวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้ ทั้งปรับลดจำนวนพนักงาน เงินเดือน และชะลอการจ้างหนักงานใหม่ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจึงมีบัณฑิตจบใหม่ว่างงานเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ช่วงปี 2563 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ร่วมกับกรมพัฒนาชุมชน และมหาวิทยาลัยบูรพา จัดทำ “โครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบ” เปิดรับสมัครบัณฑิตที่ยังหางานทำไม่ได้ในพื้นที่อีอีซี 30 อำเภอ 3 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) มาทำหน้าที่สำรวจข้อมูลเชิงลึกในระดับอำเภอและชุมชนที่สำคัญ ๆ ในทุกมิติ เช่น สำรวจข้อมูลผลกระทบจากการพัฒนาโครงการต่างๆ ในพื้นที่อีอีซี ทั้งด้านคุณภาพชีวิต สังคม และการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม โดยนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจกลับไปวิเคราะห์วางแผนการแก้ไขปัญหา หรือพัฒนาให้ตรงตามความต้องการและบริบทของชุมชนแต่ละแห่ง รวมทั้งสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนในพื้นที่อีอีซี ภายใต้แนวคิด “คนพื้นที่ ดูแลพื้นที่ สร้างประโยชน์ให้พื้นที่” โดยมี สกพอ. รับเป็นเจ้าภาพในการจัดหางบประมาณมาสนับสนุนค่าจ้างบัณฑิตอาสาฯ วันละ 500 บาท ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและทุนการศึกษาในระดับปริญญาโท ส่วนกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ทำหน้าที่ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และจัดฝึกอบรมให้แก่บัณฑิตอาสา ทั้งในเรื่องของการวิเคราะห์ วิจัย จัดทำยุทธศาสตร์ชุมชน และเชิญชวนประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานราก เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน โดยมีเจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) เป็นพี่เลี้ยง และคอยให้คำแนะนำแก่บัณฑิตอาสา

ขณะที่มหาวิทยาลัยบูรพาโดยคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการแก่บัณฑิตอาสาต้นแบบ ทั้งในเรื่องของการออกแบบพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม, สัมภาษณ์, การบริหารจัดการฐานข้อมูล และการนำข้อมูล big data ที่ได้จากการออกสำรวจมาสังเคราะห์ตามหลักวิชาการ สำหรับบัณฑิตอาสาที่ประสงค์จะศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สามารถนำระยะเวลาในการลงพื้นที่ปฏิบัติงานมาสะสมเป็นหน่วยกิตในระบบธนาคารหน่วยกิต (credit bank) และสามารถนำหน่วยกิตมาเทียบโอนเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทของมหาวิทยาลัยบูรพาได้

สำหรับโครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการ เฟสแรก ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2563 – กุมภาพันธ์ 2564 และเฟสที่ 2 เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 – กันยายน 2566

หลังจากนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 กรมการพัฒนาชุมชนก็เริ่มประกาศรับสมัคร “บัณฑิตอาสาต้นแบบ” ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เว็บไซต์ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด และสื่อโซเชียลต่างๆ จนกระทั่งได้ “บัณฑิตอาสาต้นแบบ” ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาทำงานรวมทั้งหมด 27 คน

จากนั้น สกพอ., มหาวิทยาลัยบูรพา และกรมการพัฒนาชุมชนโดยวิทยาลัยการพัฒนาชุมชน ก็ได้ส่งวิทยากรมาถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้แก่บัณฑิตอาสาต้นแบบ 27 คน เป็นเวลา 10 วัน (ภาคทฤษฎี 7 วัน และภาคปฏิบัติลงพื้นที่ 3 วัน) ตามโปรแกรมที่วางไว้ โดยให้ความรู้เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12, นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก, บทบาทของการพัฒนาจังหวัดและชุมชน, ฝึกทักษะการพูดในที่ชุมชน, การจัดเก็บข้อมูลความต้องการของชุมชน, นำข้อมูล big data มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลปัญหา ความต้องการของชุมชน และการพัฒนาอาชีพให้กับชุมชน เป็นต้น

หลังจากฝึกอบรมกันเสร็จเรียบร้อย ก็ส่งบัณฑิตอาสาต้นแบบลงพื้นที่ สำรวจผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และพื้นที่ชุมชนตามที่กล่าวข้างต้น โดยมีเจ้าหน้าที่ พช. มาเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำแก่บัณฑิตอาสาต้นแบบ และเป็นสื่อกลางเชื่อมประสานการจัดกิจกรรมต่างๆ ระหว่างประชาชนในกันพื้นที่กับอีอีซี โดยบัณฑิตอาสาต้นแบบต้องนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจทั้งหมดมาจัดทำเป็นโครงการหรือแผนพัฒนาชุมชน ส่งให้กับกรมการพัฒนาชุมชนและ สกพอ. เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่ต่อไป

สำรวจความคิดเห็นชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา

โดยผลงานของบัณฑิตอาสาที่สำคัญๆ ได้แก่ การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง รวม 14 อำเภอ จำนวน 2,868 ตัวอย่าง พบว่า ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกสูงถึงร้อยละ 82.83 และประชาชนในพื้นที่มีความเห็นว่าโครงการอีอีซีช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมากที่สุดร้อยละ 96.06 รวมทั้งเชื่อมั่นว่าโครงการอีอีซีจะช่วยยกระดับรายได้และโอกาสการจ้างงานประมาณร้อยละ 95.15 และโครงการอีอีซีจะส่งผลต่อสังคมและวิถีชีวิตให้ดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 89.09

สำรวจความคิดเห็นชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดชลบุรี

และจากการสำรวจความต้องการและทัศนคติของคนในชุมชนครั้งนั้น พบประเด็นที่คนในชุมชนพูดถึงกันมากคือเรื่องปัญหาทรัพยากรน้ำไม่เพียงพอ และบางกลุ่มยังมีความกังวลเรื่องปัญหามลพิษในชุมชน ที่อาจเกิดขยะหรือของเสียอันตรายมากขึ้น ปัญหาฝุ่นละออง เป็นต้น ทั้งนี้ คนในชุมชนได้มีข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายฝากไปถึง สกพอ. และหน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยขอให้จัดหางบประมาณหรือแหล่งเงินทุนมาสนับสนุนกิจกรรมและจัดฝึกอบรมอาชีพให้กับชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพให้คนในชุมชนได้พัฒนาสินค้า และสนับสนุนการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น

สำรวจความคิดเห็นชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดระยอง

นอกจากผลงานทางด้านการสำรวจความคิดเห็นและทัศนคติของคนในชุมชนแล้ว “บัณฑิตอาสาต้นแบบ” ยังได้จัดทำข้อเสนอโครงการ หรือแผนพัฒนาชุมชนส่งให้กรมการพัฒนาชุมชน นำไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่ตามเงื่อนไขการจ้าง รวมทั้งหมด 24 โครงการ ดังนี้

    1. โครงการส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน และ OTOP
    2. โครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร
    3. โครงการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรชุมชนบ้านคลองยาง
    4. โครงการเสริมสร้างความยั่งยืนชุมชนท้องเที่ยว “ทุ่งนาเลน”
    5. การแปรรูปเห็ดบ้านมาบจันทร์
    6. ผักปลอดสารพิษชีวิตปลอดภัย
    7. โครงการก่อสร้างไฟส่องสว่างรอบคลองชลประทานในพื้นที่บ้านซากกอไผ่
    8. โครงการต่อเติมโรงปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศ
    9. สวนสาธารณะสีเขียวเยียวยาหัวใจ
    10. ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ด้วยสัมมาชีพท้องถิ่น
    11. การอบรมทำถังขยะเปียกในครัวเรือน
    12. โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งหมู่บ้านบูรณาการต้นแบบ
    13. พัฒนาผลิตภัณฑ์สัมมาชีพพริกแกง
    14. การประชาสัมพันธ์ชุมชนบ้านตลาดล่างผ่านสื่อออนไลน์โดยคนในชุมชน
    15. ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและจัดสวัสดิการชุมชนแก่ประชาชน
    16. โครงการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ สร้างความมั่นคงทางอาหาร
    17. ฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพระยะสั้น (ทำกระเป๋าหนัง)
    18. โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบ้านพยูน
    19. ศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์ผ้าไทย
    20. โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวบ้านพลงตาเอี่ยม
    21. ส่งเสริมและสร้างอาชีพเพื่อผู้ว่างงานและผู้สูงอายุในชุมชน
    22. โครงการไวน์ฝรั่ง เพื่อการแปรรูป และการเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตร
    23. ชุมชนท่องเที่ยวบ้านห้วยลึก
    24. โครงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบเครือข่าย

โดยผลงานของบัณฑิตอาสาต้นแบบทั้ง 24 โครงการนี้ ทางกรมการพัฒนาชุมชนจะนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชนพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

ตัวอย่าง ข้อเสนอโครงการพัฒนาชุมชนของ “บัณฑิตอาสาต้นแบบ”

กิจกรรมของบัณฑิตอาสายังไม่จบแค่นี้ สกพอ. ได้สนับสนุนทุนการศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองและการจัดการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ทั้งหมด 35 ทุน เพื่อต่อยอดบัณฑิตอาสาต้นแบบและผู้ที่ปฏิบัติงานกับชุมชนท้องถิ่น ได้รับโอกาสทางการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา โดยนำหน่วยกิตที่ได้จากการลงพื้นที่มาเทียบโอนในหลักสูตรได้ แบ่งเป็นทุนการศึกษาสำหรับบัณฑิตอาสาต้นแบบ 26 ทุน และบุคลากรที่ปฏิบัติงานกับชุมชนท้องถิ่นของกรมการพัฒนาชุมชน 9 ทุน โดยมีผู้เข้ารับศึกษาในหลักสูตรปริญญาโทดังกล่าวนี้ทั้งหมด 34 คน

ล่าสุด กรมการพัฒนาชุมชน หรือ “พช.” เตรียมนำโมเดล “บัณฑิตอาสาต้นแบบ” ในพื้นที่อีอีซีไปดำเนินการในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศดังนี้

1) จัดทำบันทึกวามร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาชุมชน และรับนักศึกษาฝึกงานโดยสถาบันการพัฒนาชุมชน (ส่วนกลาง) ร่วมกับคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาศิลปากร
2) อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างบันทึกความร่วมมือทางวิชาการในด้านการพัฒนาชุมชน ประกอบด้วย ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน 3 แห่ง กับสถาบันการศึกษา 9 แห่ง ได้แก่

  • ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนพิษณุโลก ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมป์
  • ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี ร่วมกับ สถาบันการศึกษา 7 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์,มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุดรธานี, วิทยาลัยการอาชีพ อุดรธานี

3) อยู่ระหว่างการประสานงานเพื่อจัดทำร่างบันทึกความร่วมมือทางวิชาการด้านงานพัฒนาชุมชน ประกอบด้วย ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน 8 แห่ง ร่วมกับสถาบันการศึกษา 9 แห่ง ได้แก่

  • ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง หรือ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
  • ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนเพชรบุรี ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
  • ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
  • ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนยะลา ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
  • ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราช ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
  • ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรี ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี
  • ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนชลบุรี ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา
  • ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

นอกจากนี้ทางกรมการพัฒนาชุมชน อยู่ระหว่างจัดทำข้อเสนอให้สำนักงาน กพ. กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไข ในการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการกรณีพิเศษตามมาตร 55 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ซึ่งครอบคลุมผู้มีประสบการณ์ในการทำงานด้านการพัฒนาชุมชนต่าง ๆ เช่น อาสาพัฒนา (อสพ.), พนักงานราชการ, บัณฑิตอาสา และข้าราชการ (เจ้าพนักงานพัฒนาชุมชน) เพื่อเปิดโอกาสให้บัณฑิตอาสาได้เป็นบุคลากรของกรมการพัฒนาชุมชน หรือหน่วยงานของรัฐอื่นๆ

ทั้งหมดก็เป็นความสำเร็จของโครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบ เริ่มนำร่องในพื้นที่อีอีซี กำลังขยายผลไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ นอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงานแล้ว ยังช่วยพัฒนาทรัพยากรบุคคลในระดับท้องถิ่น และเปิดโอกาสให้บัณฑิตจบใหม่ได้ทำงานที่บ้านเกิดของตนเอง โดยนำองค์ความรู้ที่ได้จากการเรียนในมหาวิทยาลัย และประสบการณ์ที่ได้จากการฝึกอบรมในหลักสูตรที่เข้มข้น (intensive course) ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาทางสังคมในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด ตอบสนองความต้องการของชุมชน และชาวบ้านตามหลัก demand driven อย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชน และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่อื่นอย่างยั่งยืนต่อไป…

  • สกพอ. จับมือกรมพัฒนาชุมชน-ม.บูรพา จ้าง “บัณฑิตอาสา” พัฒนาชุมชนใน EEC
  • ป้ายคำ :