ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามดึง FDI ปี 2566 กว่า 36 พันล้านดอลล์

ASEAN Roundup เวียดนามดึง FDI ปี 2566 กว่า 36 พันล้านดอลล์

31 ธันวาคม 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 24-30 ธันวาคม 2566

  • เวียดนามดึง FDI ปี 2566 กว่า 36 พันล้านดอลล์
  • เวียดนามขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 6% ปี 2567
  • อินโดนีเซียเตรียมพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมไม้
  • มาเลเซียผ่อนปรนกฎเกณฑ์วีซ่า Malaysia My Second Home
  • เมียนมาเร่งรัดท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว ระดับนานาชาติแห่งแรก
  • เมียนมาขายก๊าซธรรมชาติได้เงินกว่า 2.3 พันล้านดอลล์
  • กลุ่มความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ล้านช้างมุ่งสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันและทันสมัย

    เวียดนามดึง FDI ปี 2566 กว่า 36 พันล้านดอลล์

    โรงงานAmkor ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในนิคมอุตสากรรม จังหวัดบั๊กนิญ ที่มาภาพ: https://tuoitrenews.vn/news/business/20231227/vietnams-2023-foreign-investment-third-highest-since-2018-despite-economic-downturn/77520.html
    เวียดนามดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) รวม 36,610 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นปีนี้ จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม เพิ่มขึ้น 32.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี และสูงสุดเป็นครั้งที่สามนับตั้งแต่ปี 2008 ตามข้อมูลของสำนักงานการลงทุนต่างประเทศ ภายใต้กระทรวงการวางแผนและการลงทุน ซึ่งนับเป็นความสำเร็จที่โดดเด่นท่ามกลางความยากลำบากทางเศรษฐกิจทั่วโลก

    เวียดนามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมูลค่า 44.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2551 ซึ่งเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปีก่อนหน้า หลังจากที่เข้าร่วมองค์การการค้าโลกในปี 2550 แต่การลงทุนจากต่างประเทศในเวียดนามลดลงระหว่างปี 2551 ถึง 2559 โดยมีเงินลงทุนจดทะเบียนเฉลี่ยปีละ 22,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯอย่างไรก็ตาม การลงทุนจากต่างประเทศฟื้นตัวกลับมาระหว่างปี 2560 ถึง 2566 โดยมีมูลค่าเฉลี่ยที่ 33.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี และคุณภาพการลงทุนก็ดีขึ้นเช่นกัน

    โครงการที่ลงทุนโดยต่างประเทศได้รับการคัดเลือกอย่างรอบคอบมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับโครงการไฮเทคซึ่งอาจกลายเป็นตัวเร่งสำหรับบริษัทในประเทศ

    โครงการที่ลงทุนในปี 2566 ได้แก่ โรงงานเซมิคอนดักเตอร์ของ Amkor Technology ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐฯ ในจังหวัดบั๊กนิญทางตอนเหนือของเวียดนาม ซึ่งมีมูลค่า 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ, Foxconnซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ของ Apple ลงทุน 1.5 พันล้านดอลลาร์ในจังหวัดทัญฮว้า ภาคกลางตอนเหนือ และ 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯในจังหวัดบั๊กซางทางตอนเหนือ เพื่อผลิต iPad และ AirPods, Luxshare-ICT ซัพพลายเออร์ของ Apple ลงทุน 330 ล้านเหรียญสหรัฐฯในจังหวัดบั๊กซาง และการลงทุน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯของ LG Innotek จากเกาหลีใต้ในเมืองไฮฟองทางตอนเหนือของเวียดนาม

    ในบรรดาข้อผูกพันการลงทุนจากต่างประเทศตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม ประกอบด้วยการจัดสรรเงิน 20.18 พันล้านเหรียญสหรัฐฯให้กับโครงการใหม่เกือบ 3,200 โครงการ, จัดสรร 7.88 พันล้านเหรียญสหรัฐฯให้กับโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ประมาณ 1,300 โครงการ และอีก 8.54 พันล้านเหรียญสหรัฐฯผ่านการอัดฉีดเงินและการซื้อหุ้น

    ในบรรดาโครงการใหม่เกือบ 3,200 โครงการนั้นเป็นโครงการในภาคการผลิตและการแปรรูปเกือบ 1,100 โครงการ

    สำนักงานการลงทุนต่างประเทศเปิดเผยว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว มีการเบิกจ่ายเงินลงทุนจากต่างประเทศประมาณ 23.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

    ในปีนี้มี 11 ประเทศและเขตปกครองลงทุนในเวียดนาม และมี 6 ประเทศและเขตปกครองที่ลงทุนมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯต่อประเทศในเวียดนาม รวมถึงสิงคโปร์ 6.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 18.6% ของ FDI ทั้งหมด ญี่ปุ่น (6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ฮ่องกง (4.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) จีน (4.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) เกาหลีใต้ (4.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) และไต้หวัน (2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ)

    เมืองโฮจิมินห์ เมืองฮานอย เมืองไฮฟอง กว๋างนิงห์ บั๊กซาง ท้ายบิ่ญ และบั๊กนิญ ทางตอนเหนือของเวียดนาม เป็นจังหวัดที่รับการลงทุนจากต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดในปีนี้

    เวียดนามขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 6% ปี 2567

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/news/vietnam-set-for-6-minimum-wage-hike-next-year-4691298.html
    เวียดนามจะ ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในภาคธุรกิจอีก 6%ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ตามที่ตกลงกันระหว่างตัวแทนแรงงานและธุรกิจในการประชุมเมื่อวันพุธ(20 ธ.ค.) หลังจากสมาพันธ์แรงงานแห่งชาติเวียดนามเสนอให้ขึ้นค่าจ้าง 6.48% หรือ 7.3% โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าธุรกิจต่างๆ ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น

    หอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม ซึ่งเป็นตัวแทนของธุรกิจ เสนอปรับแค่ 4.5-5% โดยชี้ว่าคำสั่งซื้อใหม่เพิ่งกลับมา และสิ่งสำคัญคือต้องรักษาการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

    การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เพื่อหารือเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปีหน้า หลังจากที่ครั้งแรกในเดือนสิงหาคมไม่มีข้อตกลง

    หลังการเจรจา สมาชิกสภาค่าจ้างแห่งชาติ(National Wage Council)ทั้ง 16 คนลงมติให้ปรับขึ้น 6% ซึ่งหมายความว่าค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 200,000-280,000 ด่องเวียดนาม (8.22-11.50 เหรียญสหรัฐ) ขึ้นอยู่กับภูมิภาค เป็น 3.45-4.96 ล้านด่องเวียดนามต่อเดือน

    ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 5.88% เป็น 4.68 ล้านด่องเวียดนาม (197.07 ดอลลาร์) ต่อเดือนในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว

    เลอ วัน แทง ประธานสภาค่าจ้างแห่งชาติและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 6% ที่อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากรัฐบาล เป็นผลประโยชน์ที่ลงตัวระหว่างคนงานและภาคธุรกิจ

    การปรับขึ้นค่าแรงมีการพิจารณาในขณะที่เงินเฟ้อในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 4.27% และธุรกิจต่างๆ กำลังประสบปัญหาคำสั่งซื้อที่ลดลง ซึ่งนำไปสู่การเลิกจ้างจำนวนมากนับตั้งแต่ปลายปี 2565

    องค์การแรงงานระหว่างประเทศในเวียดนามกล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงควรคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยระบุว่าเวียดนามขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 6% ระหว่างปี 2563 ถึง 2565 แต่เมื่อพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อ รายได้ที่แท้จริงของคนงานเพิ่มขึ้นเพียง 0.7% เท่านั้น

    การสำรวจโดยสมาพันธ์แรงงานเวียดนามในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ พบว่าคนงานในโรงงานมีรายได้เฉลี่ย 7.88 ล้านเวียดนามด่องต่อเดือน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนอยู่ที่ 11.7 ล้านด่องเวียดนาม และยังสำรวจพบว่าค่าครองชีพเพิ่มขึ้น 19% จากปี 2022

    อินโดนีเซียเตรียมพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมไม้

    ที่มาภาพ: https://en.antaranews.com/news/302025/government-to-build-special-economic-zone-for-wood-industry

    รัฐบาลอินโดนีเซียมีแผนที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) สำหรับอุตสาหกรรมไม้ เพื่อเพิ่มการผลิตไม้และขีดความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ไม้และเฟอร์นิเจอร์ของประเทศ

    “เราจะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมไม้เนื่องจากเราตามหลังเวียดนามมาก การส่งออก (ผลิตภัณฑ์ไม้) ของเวียดนามมีมูลค่าสูงถึง 15.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ของเรามีมูลค่าเพียง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯเท่านั้น” ประธานบริษัท Sedulur Wood และ สมาคมเฟอร์นิเจอร์ นายเซโย วิษณุ โบรโต กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่นี่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

    นานโบรโตเข้าพบประธานาธิบดีโจโค วิโดโดที่ทำเนียบประธานาธิบดีจาการ์ตาเมื่อวันศุกร์(29 ธ.ค.) ก่อนหน้านี้เขาได้ส่งจดหมายขอข้าพบประธานาธิบดีวิโดโด เพื่อหารือเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไม้และเฟอร์นิเจอร์ และสมาคมได้รับเชิญให้เข้าพบประธานาธิบดีเมื่อวันศุกร์

    ในการหารือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนและหัวหน้าคณะกรรมการประสานงานการลงทุนนายบาห์ลิล ลาฮาดาลีอา ก็เข้าร่วมด้วย

    สมาคมได้หยิบยกประเด็นต่างๆ ขึ้นมาหรือร่วมกับประธานาธิบดี เช่น ผลกระทบจากสงครามยูเครน-รัสเซีย และปาเลสไตน์-อิสราเอลต่ออุตสาหกรรมไม้และเฟอร์นิเจอร์ของประเทศ

    “กฎระเบียบได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นแล้ว แต่สงครามทำให้มันยุ่งยาก” นายโบรโตกล่าวและให้ข้อมูลว่า ในการเข้าสู่ตลาดยุโรปต่อไปนี้ ผู้ประกอบการไม้และเฟอร์นิเจอร์ระดับชาติต้องปฏิบัติตามกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation Regulation: EUDR)

    “เรายังพูดถึงการเข้าสู่ตลาดยุโรปที่ต้องผ่านระบบที่ซับซ้อน เราได้หารือเรื่องนี้แล้ว และ (หวังว่า) รัฐบาลสามารถช่วยได้ เพื่อให้เราเข้าไปได้ง่ายขึ้น” นายโบรโตกล่าว

    โดยคาดหวังว่ากฎระเบียบและสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหมดจะถูกบูรณาการในเขตเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมไม้ รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องของอุตสาหกรรมไม้ด้วย

    นายโบรโตไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดว่า พื้นที่ใดจะถูกกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมไม้ SEZ แต่กล่าวว่ามีการเสนอสถานที่ที่มีศักยภาพ 30 แห่ง ซึ่งหลังจากเลือกที่ตั้ง SEZ แล้ว ประธานาธิบดีวิโดโดจะมีการวางศิลาฤกษ์เพื่อดำเนินการก่อสร้าง

    มาเลเซียผ่อนปรนกฎเกณฑ์วีซ่า Malaysia My Second Home

    ที่มาภาพ: https://www.channelnewsasia.com/asia/malaysia-mm2h-visa-wealthy-foreigners-residency-properties-delays-4006451
    กระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะ และวัฒนธรรมของมาเลเซียเปิดตัวโครงการ Malaysia My Second Home (MM2H)เวอร์ชันปรับปรุงใหม่เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ที่มาพร้อมกับการแบ่งกลุ่มใหม่เป็น 3 ระดับ และข้อกำหนดทางการเงินใหม่

    ดาโต๊ะ สรี เตียง คิง ซิง รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะ และวัฒนธรรมของมาเลเซียกล่าวว่า เงื่อนไขใหม่มีเป้าหมายเพื่อลดความซับซ้อนของขั้นตอนการสมัคร MM2H ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นภาระ โดยเกณฑ์ใหม่มีกฎระเบียบการสมัครที่ยืดหยุ่นและชัดเจนยิ่งขึ้น และเงื่อนไขที่ผ่อนปรนยังเกิดขึ้นพร้อมกับวันครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการฑูตของมาเลเซียกับจีนที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า

    ดาโต๊ะ สรี เตียง คิง ซิง กล่าวว่า เงื่อนไขใหม่ได้ทดลองใช้มาแล้วหนึ่งปี โดยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ อาจมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นในภายหลังตามความต้องการในปัจจุบัน

    โปรแกรม MM2H เวอร์ชันปรับปรุงใหม่เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ แพลทินัม โกลด์ และซิลเวอร์ พร้อมด้วยข้อกำหนดทางการเงินใหม่

    สำหรับระดับแพลทินัม ผู้ยื่นต้องมีเงินฝากประจำ 5 ล้านริงกิต (1.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และสามารถถอนเงินออกมาได้ครึ่งหนึ่งหลังจากหนึ่งปีเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาขั้นต่ำ 1.5 ล้านริงกิต เงินจำนวนนี้ยังสามารถใช้เพื่อการรักษาพยาบาลและการท่องเที่ยวภายในประเทศได้ โดยส่วนหลังเป็นส่วนเพิ่มเติมใหม่ของเงื่อนไข

    นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถถอนเงินต้นได้สูงสุด 50% หลังจากผ่านไปหนึ่งปีเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการท่องเที่ยวภายในประเทศ แต่ผู้ยื่นในระดับ แพลทินัมจะต้องพำนักอยู่ในมาเลเซียอย่างน้อย 60 วันต่อปี และผู้ที่อยู่ในหมวดแพลทินัมยังสามารถได้รับสถานะผู้พำนักถาวรหลังจากได้รับบัตร MM2H

    ผู้ที่ยื่นขอในระดับโกลด์จะต้องมีเงินฝากประจำ 2 ล้านริงกิต ในขณะที่ประเภทซิลเวอร์จะต้องมีเงินฝากขั้นต่ำ 500,000 ริงกิต

    ผู้ที่อยู่ในระดับโกลด์จะได้วีซ่าแบบเข้าออกได้หลายครั้ง( Multiple Entry Visa-MEV) เป็นเวลา 15 ปี ในขณะที่ผู้ที่อยู่ในระดับซิลเวอร์จะได้ MEV เป็นเวลา 5 ปี โดยสามารถต่ออายุได้

    นอกจากนี้ยังปรับลดอายุขั้นต่ำสำหรับ MM2H ใหม่จาก 35 ปีเหลือ 30 ปี และเงื่อนไขใหม่กำหนดให้ต้องพำนักในมาเลเซียเพียง 60 วัน เทียบกับ 90 วันก่อนหน้านี้

    ผู้เข้าร่วมที่มีอายุระหว่าง 30 ถึง 49 ปีสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านถิ่นที่อยู่ได้ทั้งแบบรายบุคคลหรือร่วมกับคู่สมรสหรือผู้อยู่ในความอุปการะ

    ดาโต๊ะ สรี เตียง คิง ซิง กล่าวว่า การปรับปรุงใหม่นี้เป็น “เวอร์ชันเบื้องต้น” และข้อกำหนดและเงื่อนไขจะมีการประกาศเป็นระยะๆ เร็วๆ นี้

    MM2H เปิดตัวครั้งแรกในปี 2545 เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติให้เกษียณหรือพำนักอยู่ในมาเลเซียเป็นระยะเวลานาน ผู้เข้าร่วมที่มีสิทธิ์จะได้รับใบอนุญาตสำหรับผู้ ติดตามพร้อมวีซ่าเข้าออกหลายครั้งที่ออกโดยกรมตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งมีอายุ 10 ปีและต่ออายุได้หลังจากนั้น

    การรีแบรนด์ในปี 2552 เพื่อให้มาเลเซียขยายตลาดเป้าหมายไปยังบุคคลที่มีรายได้สูงที่ต้องการลงทุนในมาเลเซีย โดยการก่อตั้งธุรกิจหรือร่วมมือกับผู้ประกอบการในท้องถิ่น

    เมียนมาเร่งรัดท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว ระดับนานาชาติแห่งแรก

    ที่มาภาพ: https://www.gnlm.com.mm/myanmars-kyaukpyu-sez-deep-seaport-set-to-make-history-targeting-7m-containers-annually/
    อู ออง ไหน่ อู รัฐมนตรีเปิดเผยว่า หลังจากที่ โครงการท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่วในเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าก์ผิ่วก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว ท่าเรือแห่งนี้จะกลายเป็นท่าเรือน้ำลึกระดับนานาชาติแห่งแรกของเมียนมา ที่มีการอำนวยความสะดวกด้วยท่าเทียบเรือ 10 แห่งที่สามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ 7 ล้านตู้ต่อปี

    อู ออง ไหน่ อู รัฐมนตรีและประธานคณะทำงานเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียนมา ได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนหลังพิธีลงนามภาคผนวกของข้อตกลงสัมปทานสำหรับการดำเนินการท่าเรือน้ำลึกของเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าก์ผิ่วในช่วงเย็นของวันที่ 26 ธันวาคม

    อู ออง ไหน่ อูกล่าวว่าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าก์ผิ่ว เป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนจำนวนมากผ่านความร่วมมือเมียนมา-จีน โดยเมียนมาถือหุ้น 30% และจีนถือหุ้น 70% ของจีน และแบ่งการดำเนินโครงการท่าเรือน้ำลึกแบ่ง 4 ระยะ

    “โครงการจะแบ่งออกเป็น 4 เฟส โครงการนี้จะให้บริการอย่างสะดวกด้วยท่าเทียบเรือ 10 แห่งเพื่อรองรับการเทียบท่าของเรือ เมื่อสร้างเสร็จ ท่าเรือจะสามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตได้ประมาณ 7 ล้านตู้ต่อปี โดยหลักแล้ว โครงการนี้จะจัดการการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ในประเทศของเราและสินค้าที่ผ่านเมียนมาไปยังประเทศในแอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยุโรป ปกติไม่ว่าสินค้าใดก็ตาม การส่งออกไปยังประเทศเป้าหมายต้องผ่านทางสิงคโปร์และมาเลเซีย เมื่อเสร็จสิ้นโครงการ เราจะมีโอกาสส่งออกสินค้าไปยังประเทศเป้าหมายโดยตรง” รัฐมนตรีชี้แจง

    คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าก์ผิ่ว และ Kyaukpyu SEZ Deep Seaport Co Ltd ซึ่งก่อตั้งขึ้นในฐานะบริษัทร่วมทุนระหว่างเมียนมาและจีน ได้ลงนามในข้อตกลงสัมปทานเพื่อดำเนินการท่าเรือน้ำลึกในเดือนพฤศจิกายน 2563

    รัฐมนตรีกล่าวว่า “ทั้งสองฝ่ายได้จัดการประชุมประสานงานเพื่อทำความเข้าใจข้อตกลงสัมปทานและอำนาจหน้าที่สำหรับข้อเท็จจริงบางประการในข้อตกลงระหว่างเมียนมาและจีนอย่างชัดเจน ในตอนแรกเมียนมาเสนอให้ลงนามภาคผนวกของข้อตกลง”

    จากการประชุมประสานงาน ประธานคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าก์ผิ่ว และตัวแทนอย่างเป็นทางการของบริษัท Kyaukpyu SEZ Deep Seaport Co Ltd ได้ลงนามในบันทึกเพิ่มเติมเพื่อดำเนินโครงการโดยเร็วที่สุด

    นอกจากนี้ยังว่า “โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในรัฐยะไข่ รวมถึงภูมิภาคเจ้าก์ผิ่ว และสร้างโอกาสการจ้างงาน นอกเหนือจากการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างเมียนมาและจีน”

    โครงการนี้จะเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างเอเชีย แอฟริกา และยุโรป และเป็นประตูสู่โลกเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของเมียนมาและประเทศในภูมิภาค ดังนั้น เมียนมาและจีนจึงร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการดำเนินกระบวนการเริ่มต้นของโครงการ อู อ่อง ไหน่ อู กล่าว

    โครงการนี้จะสามารถดึงดูดการลงทุนหลายล้านเหรียญสหรัฐมายังเมียนมา สร้างรายได้ภาษีจำนวนมากให้กับรัฐ และส่งเสริมอุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำโดยรอบ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งประเทศและ GDP รายบุคคลของประชาชน

    ในการดำเนินโครงการนี้ นักธุรกิจชาวยะไข่ในท้องถิ่นและนักธุรกิจชาติพันธุ์ที่มีประสบการณ์สูงและสามารถทำงานได้จริง จะได้รับเชิญให้ร่วมมือกับบริษัทโครงการ

    ส่วนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินผลกระทบทางสังคม (SIA) เสร็จสิ้นแล้วประมาณ 85% และกระบวนการทำงานจะยังคงต่อเนื่องจนเสร็จสมบูรณ์ โดยการสำรวจภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์เสร็จสิ้นแล้ว และงานร่างการออกแบบที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการ ขณะที่จะมีการดำเนินการด้านเงินทุนเพื่อการลงทุนเพื่อเริ่มโครงการ และจะมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของโครงการ “หากกระบวนการทั้งหมดนี้เสร็จสิ้น โครงการก็จะเริ่มต้นขึ้น ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันเพื่อเริ่มโครงการโดยทันที” อู อ่อง ไหน่ อู กล่าว

    นอกเหนือจากการก่อสร้างโครงการท่าเรือน้ำลึกเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าก์ผิ่วแล้ว โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะยังคงดำเนินการต่อไป หากมีการดำเนินโครงการท่าเรือน้ำลึกเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าก์ผิ่วและโครงการนิคมอุตสาหกรรม คนในท้องถิ่นจะมีโอกาสทำงาน และตำแหน่งผู้บริหารส่วนใหญ่จะเป็นชาวเมียนมา

    เขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าก์ผิ่วและโครงการท่าเรือน้ำลึกจะนำผลประโยชน์มาสู่ประเทศมากมาย เช่น การถือครองท่าเรือที่สามารถเชื่อมต่อกับรัฐบาลระหว่างประเทศได้โดยตรง โอกาสในการทำงานในด้านต่างๆ รวมถึงตำแหน่งผู้บริหารสำหรับพลเมืองเมียนมา การได้รับรายได้จากภาษีการค้ากับจีนที่ผ่านประเทศเมียนมา และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มีโครงการนิคมอุตสาหกรรม

    ที่มาภาพ: https://www.bnionline.net/en/news/environmental-social-impact-assessment-kyaukphyu-sez-be-completed-mid-2023

    “โครงการทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งประเทศและภาคเศรษฐกิจและสังคมของพลเมือง” อู อ่อง ไหน่ อูยืนยันอีกครั้ง

    มีรายงานว่า ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา ( China-Myanmar Economic Corridor-CMEC) ซึ่งรัฐบาลในอดีตเห็นพ้องกัน จะนำไปดำเนินการพร้อมกับโครงการนี้ CMEC ประกอบไปด้วยทางรถไฟด่วนจีน-มัณฑะเลย์-เจ้าก์ผิ่วของเมียนมา ซึ่งเชื่อมต่อกับโครงการท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว

    โครงการนี้จะแบ่งการดำเนินงานเป็น 4 เฟสและลงนามโดยรัฐบาลชุดเดิม โครงการจะดำเนินการเป็นระยะๆ ตามกรอบเวลาที่กำหนด

    เมียนมาขายก๊าซธรรมชาติได้เงินกว่า 2.3 พันล้านดอลล์

    แหล่งก๊าซ Yedagun ที่มาภาพ:https://www.gnlm.com.mm/natural-gas-export-bags-over-us800-million-from-april-to-july/
    กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า เมียนมามีรายได้มากกว่า 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯจากการขายก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศอื่นๆ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน (2566-2567) ซึ่งเริ่มในเดือนเมษายนและสิ้นสุดในวันที่ 8 ธันวาคม

    อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ลดลงจากปีก่อน ตามรายงานขององค์สถิติกลาง กระทรวงการวางแผนและการเงิน รายงานแสดงให้เห็นว่าในไตรมาสแรก (เมษายน-มิถุนายน) ของปี 2566-2567 การส่งออกก๊าซธรรมชาติของเมียนมามีมูลค่ามากกว่า 841.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งต่ำกว่า 909.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯในช่วงเดียวกันของปี 2565-2566 ถึงกว่า 67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

    ตลอดปี 2565-2566 เมียนมามีรายได้เกือบ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯจากการส่งออกก๊าซธรรมชาติ โดยมีมูลค่าสูงสุด (มากกว่า 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ในไตรมาสที่ 3 (ตุลาคม-ธันวาคม)

    ในปี 2564 การส่งออกก๊าซธรรมชาติของเมียนมามีมูลค่ารวมกว่า 3.15 พันล้านเหรียญสหรัฐฯโดยมีรายได้ต่อเดือนสูงสุด (300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ในเดือนพฤศจิกายน

    ในปี 2562-2563 การส่งออกก๊าซธรรมชาติของประเทศลดลง 420 ล้านเหรียญสหรัฐฯเหลือ 3.5 พันล้านเหรียญวหรัฐฯ เทียบกับปี 2561-2562 ที่มีมูลค่า 3.92 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2560-2561 การส่งออกก๊าซธรรมชาติลดลงเล็กน้อยมีมูลค่า 3.51 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

    กลุ่มความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-ล้านช้างมุ่งสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันและทันสมัย

    นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 4 ที่มาภาพ :https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/76614
    การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ “Join Hands on the Building of a Community of Shared Future and Modernization among Mekong-Lancang Countries” ซึ่งมีจีนและเมียนมาเป็นประธานร่วม เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 บรรดาผู้นำประเทศความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) ทั้ง 6 ประเทศให้คำมั่นที่จะร่วมกันสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันและความทันสมัยในภูมิภาค

    ในแถลงการณ์ที่ออกหลังการประชุมผู้นำ MLC ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นทางออนไลน์ ผู้นำจากกัมพูชา จีน ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม ยืนยันว่าจะเดินหน้าเพิ่มความไว้วางใจและความเคารพซึ่งกันและกัน ประสานยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับชาติ กระชับความร่วมมือเชิงปฏิบัติให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และตอบสนองความท้าทายร่วมกัน

    ผู้นำเห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านช้าง และพยายามมากขึ้นในการสร้างประชาคมที่ดีขึ้นด้วยอนาคตร่วมกันเพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านช้าง

    ตาม “ปฏิญญาเนปิดอว์” ผู้นำยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกันเพื่อจัดการกับความท้าทายร่วมกัน ตกลงที่จะพัฒนาการพัฒนาที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางของแถบพัฒนาเศรษฐกิจล้านช้าง-แม่น้ำโขง (LMEDB) และคว้าโอกาสจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ความก้าวหน้าตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคและการฟื้นฟู

    นอกจากนี้ยังแสดงความพร้อมที่จะกระชับความร่วมมือในด้านต่างๆ ร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และเร่งดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ 2030 รวมไปถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริม MLC ภายใต้หลักการของการหารือในวงกว้าง การสนับสนุนร่วมกัน และแบ่งปันผลประโยชน์ เคารพและปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศตลอดจนกฎบัตรอาเซียน กฎหมายภายในประเทศและข้อบังคับของประเทศสมาชิก ตลอดจนจะยังคงสนับสนุนแนวคิดเรื่องความเสมอภาค การพัฒนา การปฏิบัติจริงและประสิทธิภาพ ความเปิดกว้างและการไม่แบ่งแยก

    บรรดาผู้นำยังได้แสดงความเต็มใจที่จะสนับสนุนความร่วมมือคุณภาพสูงภายใต้โครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI) ที่เสนอโดยจีน ข้อเสนอริเริ่มการพัฒนาระดับโลก(Global Development Initiative) โข้อเสนอริเริ่มความมั่นคงระดับโลก(Global Security Initiative) และข้อเสนอริเริ่มอารยธรรมโลก(Global Civilization Initiative)

    ประเทศสมาชิก MLC ทั้ง 6 ประเทศยังได้เผยแพร่แผนปฏิบัติการระยะ 5 ปีของMLC (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี มิตรภาพ และความร่วมมือเชิงปฏิบัติระหว่างประเทศ MLC , ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน, พัฒนา LMEDB ที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นมากขึ้น, ร่วมกันสร้างภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขงที่สงบสุข ปลอดภัย มั่งคั่ง สวยงามและเป็นมิตร และสร้างความก้าวหน้าใหม่สู่ประชาคมที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นด้วยอนาคตร่วมกันเพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองระหว่างประเทศุลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านช้าง

    นอกจากนี้ ทั้ง 6 ประเทศยังได้ออกความคิดริเริ่มร่วมกันเกี่ยวกับการพัฒนาระเบียงนวัตกรรม MLC โดยกล่าวว่า การยกระดับกรอบความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) เพิ่มเติมจะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางสังคม และสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันเพื่อสันติภาพและ ความเจริญรุ่งเรืองของประเทศลุ่มน้ำโขง-ล้านช้าง

    อีกทั้งเสนอให้ยกระดับบทบาทของความร่วมมือ STI ในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับความร่วมมือระดับภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนความสามารถของ STI ใช้ประโยชน์จากบทบาทของ STI ในความร่วมมือบรรเทาความยากจน เสริมสร้างความร่วมมือ STI เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม สนับสนุนความร่วมมือ STI ในด้านสาธารณสุข กระชับความร่วมมือทางดิจิทัลของ STI ให้ลึกยิ่งขึ้น ยกระดับความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสีเขียว ส่งเสริมความร่วมมือระดับโลกในด้านนวัตกรรม การเป็นผู้ประกอบการ และระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ และสำรวจความเป็นไปได้ในการสร้างกลไกการประชุมสำหรับทางเดินนวัตกรรมของ MLC

    กรอบ MLC พัฒนามาจากข้อริเริ่มของไทยเมื่อปี 2555 โดยประกอบด้วย 3 เสาความร่วมมือ ได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน และสังคมและวัฒนธรรม โดยมี 5 สาขา ความร่วมมือหลัก ได้แก่ ความเชื่อมโยง ศักยภาพในการผลิต เศรษฐกิจข้ามพรมแดน ทรัพยากรน้ำ และการเกษตรขจัดความยากจน ซึ่งในการประชุมครั้งนี้มีเอกสารผลลัพธ์ ได้แก่ 1) ปฏิญญาเนปยีดอ 2) แผนดำเนินการระยะ 5 ปี ของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (ค.ศ. 2023-2027) และ 3) ข้อริเริ่มร่วมเรื่องการพัฒนาระเบียงนวัตกรรมภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขงล้านช้าง