ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามใช้ประโยชน์จาก FTA ส่งออกสินค้าเกษตร

ASEAN Roundup เวียดนามใช้ประโยชน์จาก FTA ส่งออกสินค้าเกษตร

17 ธันวาคม 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 10-16 ธันวาคม 2566

  • เวียดนามใช้ประโยชน์จาก FTA ส่งออกสินค้าเกษตร
  • แตงโมเวียดนามจ่อเข้าตลาดจีนอย่างเป็นทางการ
  • การค้าทวิภาคีเวียดนาม–จีนคิดเป็น 25% ของการค้าจีนกับอาเซียนทั้งหมด
  • เวียดนาม-กัมพูชา ส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและการค้า
  • เวียดนามตั้งเป้าใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 50% ของพื้นที่เพาะปลูกภายในปี 2593
  • ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจเมียนมาโตแค่ 1%

    เวียดนามใช้ประโยชน์จาก FTA ส่งออกสินค้าเกษตร

    ที่มาภาพ:https://www.vietnam.vn/en/rong-cua-xuat-khau-nong-san-sang-trung-quoc/

    เวียดนามได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับตลาดมากกว่า 60 แห่ง รวมถึงคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น จีน สหภาพยุโรป (EU) สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และรัสเซีย

    จากข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ได้เปิดประตูบานใหญ่ให้สินค้าเกษตรของเวียดนามเจาะลึกเข้าไปในตลาดสหภาพยุโรป

    โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ข้าว เวียดนามมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศผู้ส่งออกข้าวอื่นๆ เช่น กัมพูชา ไทย และอินเดีย เนื่องจากได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจาก EVFTA

    นอกจากข้าวแล้ว ยังมีผัก และผลไม้ด้วย ซึ่งในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกไปยังสหภาพยุโรปมีมูลค่าสูงถึง 199.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 85.9% ของรายได้ในปี 2565

    ทั้งนี้เป็นผลจาก EVFTA ที่ทำให้เวียดนามสามารถยกเลิกรายการภาษีสำหรับผักและผลไม้ได้ถึง 94% (มีอัตราภาษี 10-20%) สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศไทยและจีน

    นอกจากนี้ ข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหราชอาณาจักรและเวียดนาม (UKVFTA) และข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ยังเป็น ข้อได้เปรียบอย่างมากให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของเวียดนามอีกด้วย

    UKVFTA ได้ช่วยเพิ่มข้อได้เปรียบของสินค้าเวียดนามเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากสินค้าเกษตรของอาเซียนจำนวนมากมีความคล้ายคลึงกับของเวียดนาม ดังนั้นสินค้าเวียดนามจึงแข่งขันด้านราคาได้อย่างชัดเจนเมื่อใช้ข้อผูกพันใน UKVFTA

    เมื่อเร็วๆ นี้ เวียดนามมีการลงนามเขตการค้าเสรีกับอิสราเอลซึ่งเป็นหุ้นส่วนรายแรกในเอเชียตะวันตก ซึ่งเปิดโอกาสมากมายสำหรับสินค้าเกษตรในการใช้ประโยชน์จากตลาดใหม่

    อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่สินค้าเกษตรของเวียดนามเผชิญเมื่อส่งออกไปยังประเทศที่ได้ลงนามเขตการค้าเสรี คือ การเผชิญกับมาตรการทางเทคนิค(Technical Trade Barriers-TBT) รวมถึงระบบมาตรฐานระดับสูงและกฎระเบียบทางเทคนิคที่มีมาตรฐานมากมายที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพผลิตภัณฑ์ แรงงาน สิ่งแวดล้อม การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่า และการเติบโตสีเขียว

    ในเวลาอันใกล้นี้ เมื่อผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กาแฟและผลิตภัณฑ์จากป่าได้รับผลกระทบจากกฎระเบียบต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EU Anti-Deforestation Regulation -EUDR) ก็จะเกิดความยากลำบากใหม่ๆ มากมายในการส่งออก ทำให้อุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

    สำหรับหน่วยงานของรัฐ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าได้เสนอให้รัฐบาลพิจารณาจัดสรรเงินทุนให้ภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนธุรกิจในการใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะธนาคารที่มีแหล่งสินเชื่อที่เหมาะสมและอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ขณะเดียวกันก็เพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สีเขียว Green Credit ให้กับธุรกิจ เพื่อตอบสนองมาตรฐานจากตลาดส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

    แตงโมเวียดนามจ่อเข้าตลาดจีนอย่างเป็นทางการ

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/industries/vietnamese-watermelon-to-be-officially-exported-to-china-4688792.html

    พิธีสารใหม่ที่ลงนามระหว่างการเยือนเวียดนามของ เลขาธิการพรรคและประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนจะทำให้เวียดนามสามารถส่งออกแตงโมผ่านโควต้าอย่างเป็นทางการไปยังจีน

    พิธีสารนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างมาตรฐานและส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรอย่างเป็นทางการของเวียดนามไปยังประเทศจีน เพราะกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรฐานด้านความปลอดภัยของอาหารของจีน และข้อกำหนดในการกักกันพืช โดยการผลิต การบรรจุ และกระบวนการการส่งออกในประเทศจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ดังกล่าวด้วย

    ตามระเบียบการดังกล่าว แตงโมที่จัดส่งจากเวียดนามจะต้องไม่ปนเปื้อนกับสิ่งมีชีวิต 5 สายพันธุ์ที่อยู่ในรายการกักกันพืชของจีน

    พื้นที่เพาะปลูกและโรงงานบรรจุหีบห่อในเวียดนามที่ผลิตแตงโมเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน จะต้องขึ้นทะเบียนและได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทั้งสองประเทศ

    พื้นที่เพาะปลูกต้องเป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี และการเลี้ยงและการบรรจุผลไม้ต้องมีการกำกับดูแลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โรงงานบรรจุหีบห่อต้องพัฒนาระบบเพื่อให้แน่ใจว่าการส่งออกมีแหล่งที่มาที่ชัดเจนและสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังพื้นที่การเกษตรได้ และสินค้าแตงโมที่จัดส่งจะต้องผ่านพิธีการศุลกากรทุกขั้นตอนในจีน ในขณะที่ 2% จะต้องผ่านการกักกันพืช

    เป็นเวลาหลายปีที่เวียดนามส่งออกแตงโมข้ามพรมแดนไปยังจีน แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ภายใต้โควต้าอย่างเป็นทางการก็ตาม และเป็นที่ชื่นชอบอย่างมาก ตั้งแต่ปี 2021 เวียดนามได้ปรับปรุงคุณภาพการส่งออกสินค้าเกษตร เพื่อให้มั่นใจว่ามีแหล่งที่มาที่ตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างชัดเจนและเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย

    ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกแตงโมไปยังประเทศจีนมีมูลค่า 44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 162% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ฤดูแตงโมในท้องถิ่นของจีนคือตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนถึงกันยายน ดังนั้นจีนจึงมักจะนำเข้าผลไม้ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน ความต้องการผลไม้ยังพุ่งสูงขึ้นในช่วงปีใหม่ทางจันทรคติ เนื่องจากสีแดงถือเป็นฤกษ์มงคล

    ปัจจุบันมีสินค้าเกษตร 14 รายการได้รับการอนุมัติให้ส่งออกอย่างเป็นทางการไปยังประเทศจีน ซึ่งรวมถึงผลไม้ 9 ชนิด ได้แก่ แก้วมังกร ลำไย เงาะ มะม่วง ขนุน แตงโม กล้วย มังคุด และทุเรียน

    การค้าทวิภาคีเวียดนาม–จีนคิดเป็น 25% ของการค้าจีนกับอาเซียนทั้งหมด

    ที่มาภาพ: https://en.nhandan.vn/vietnam-china-bilateral-trade-maintains-steady-growth-accounting-for-25-of-chinas-total-trade-with-asean-post131904.html

    การค้าทวิภาคีระหว่างจีนและเวียดนามยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ ตามข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรจีน

    ในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน การค้าสินค้าระหว่างทั้งสองประเทศมีมูลค่าประมาณ 1.45 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี คิดเป็น 25% ของการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนทั้งหมด

    ที่น่าสนใจ การค้าทวิภาคีแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 161.92 พันล้านหยวนในเดือนพฤศจิกายนเพียงเดือนเดียว เพิ่มขึ้น 12.5% ​​เมื่อเทียบเป็นรายปี

    การค้าทวิภาคีเวียดนาม–จีนยังคงมีความต่อเนื่องและบรรลุผล เนื่องจากเวียดนามยังคงเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของจีนในกลุ่มอาเซียนนับตั้งแต่ปี 2559

    ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความร่วมมือทวิภาคีในด้านอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น และในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ การนำเข้าและส่งออกสินค้าขั้นกลางมีมูลค่าสูงถึง 1.01 ล้านล้านหยวน คิดเป็น 69.8% ของการค้าจีน-เวียดนาม

    เวียดนาม-กัมพูชา ส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและการค้า

    ที่มาภาพ:https://en.nhandan.vn/vietnam-cambodia-promote-cooperation-in-industry-and-trade-post131885.html
    เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม นายเหงียน ฮอง เดียน ได้มีการหารือในกรุงฮานอยร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา นางจอม นิมล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม นายเหม วันดี ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน มาเนตเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ

    ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าความร่วมมือทวิภาคีในด้านการค้าและอุตสาหกรรมมีความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา ในปี 2565 มูลค่าการค้าเวียดนาม กับกัมพูชาเพิ่มขึ้นเกือบ 11% จากปี 2564 มีมูลค่าเกือบ 11 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจากตัวเลขนี้ การส่งออกของเวียดนามไปยังกัมพูชาอยู่ที่ 5.75 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่การนำเข้าจากกัมพูชาอยู่ที่ 4.82 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.48%

    ภายใต้บริบทของความผันผวนเชิงลบของสถานการณ์โลกในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 การค้าระหว่างเวียดนามและกัมพูชามีมูลค่ารวมเกือบ 8 พันล้านเหรียญสหรัฯ เวียดนามเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของกัมพูชาและเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

    เวียดนามได้พัฒนาโครงการจำนวนมากในกัมพูชาเพื่อจัดหาวัตถุดิบสำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมในประเทศ โดยเฉพาะยางพารา ซึ่งมีส่วนช่วยให้กัมพูชามีความมั่นคงในชีวิตและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ กัมพูชายังเป็นตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า วัสดุก่อสร้าง อาหารแปรรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคจากเวียดนาม

    ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ-การค้า และอุตสาหกรรมระหว่างทั้งสองประเทศ โดยมีเป้าหมายผลักดันให้มูลค่าการค้าสูงขึ้นในระยะต่อไป ผ่านการทบทวน เสริม และลงนามกรอบกฎหมายใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการค้า

    ทั้งสองฝ่ายยังให้คำมั่นที่จะเสริมสร้างการประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อขจัดการลักลอบขนสินค้าข้ามพรมแดน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อยกระดับสภาพแวดล้อมการลงทุนทางธุรกิจ ตลอดจนนโยบายในการดึงดูดการลงทุนในด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมในกัมพูชา

    รัฐมนตรีทั้งสองประเทศมีฉันทามติที่จะพิจารณากลไกการประชุมประจำปีของทั้งสามกระทรวงเพื่อส่งเสริมความร่วมมือเวียดนาม-กัมพูชาในด้านการค้าและอุตสาหกรรม และเห็นพ้องที่จะประสานงานอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อแก้ไขอุปสรรคที่ยังอยู่ในความสัมพันธ์ทางการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างทั้งสองประเทศ

    เวียดนามเปิดตัวโครงการข้าวคุณภาพสูงคาร์บอนต่ำ 1 ล้านเฮกตาร์

    ที่มาภาพ: https://vietnamagriculture.nongnghiep.vn/thinking-of-a-mekong-delta-person-about-1-million-hectares-of-high-quality-rice-program-d371651.html
    เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทร่วมกับจังหวัด เหิ่วซาง ที่อยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง(Mekong Delta) ได้มีพิธีเปิดตัวโครงการพัฒนาข้าวคุณภาพสูงและปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำจำนวน 1 ล้านเฮกตาร์ ซึ่งเชื่อมโยงกับการเติบโตสีเขียวในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ภายในปี 2573

    โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมูลค่า พัฒนาอุตสาหกรรมข้าวของประเทศอย่างยั่งยืน เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปกป้องสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมในการตระหนักถึงความมุ่งมั่นด้านสิ่งแวดล้อมของเวียดนาม

    ภายใต้โครงการนี้ คาดว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกข้าวจะลดลงมากกว่า 10% และข้าวคุณภาพสูงที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ จะมีสัดส่วนมากกว่า 20% ของการส่งออกทั้งหมดในภูมิภาคเกษตรกรรมเฉพาะทางทั้งหมด

    รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท นายเล มินห์ ฮหว่าน กล่าวว่า ตลอดการดำเนินโครงการ จะมีการทดลองนโยบายใหม่ ๆ รวมถึงการจ่ายคาร์บอนเครดิตตามผลการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นไปที่การผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำซึ่งเชื่อมโยงกับการเติบโตสีเขียว และพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรหมุนเวียน

    ในการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ (COP26) ครั้งที่ 26 ในสหราชอาณาจักรปี 2564 เวียดนามมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 ซึ่งสร้างความท้าทายและความยากลำบากให้กับอุตสาหกรรมข้าวของเวียดนาม และจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง นายฮหว่าน กล่าว

    แคโรลีน เติร์ก ผู้อำนวยการประจำธนาคารโลกในเวียดนามกล่าวว่า การดำเนินโครงการในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแหล่งข้าวของเวียดนามจะช่วยเพิ่มการผลิตข้าวของประเทศ และเชื่อว่าโครงการนี้จะสนับสนุนเกษตรกรและการเกษตรของเวียดนามได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่เพียงช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต และโดยรวมแล้วจะทำให้เกษตรกรมีกำไรเพิ่มขึ้น 30% ช่วยให้เวียดนามบรรลุเป้าหมายในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและยกระดับชีวิตของเกษตรกรตลอดจนความมั่นคงด้านอาหาร

    เวียดนามตั้งเป้าใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 50% ของพื้นที่เพาะปลูกภายในปี 2593

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/vietnam-aims-to-use-organic-fertiliser-for-50-of-cultivation-area-by-2050/274672.vnp
    เวียดนามตั้งเป้าที่จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 50% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดทั่วประเทศภายในปี 2593 และอย่างน้อย 80% ของเมืองและจังหวัดที่บริหารโดยส่วนกลาง เพื่อสร้างโมเดลการเกษตรที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าสำหรับผลิตภัณฑ์หลักและผลิตภัณฑ์เฉพาะด้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่กำหนดไว้ในโครงการส่งเสริมการผลิตและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์จนถึงปี 2573 โดยมีวิสัยทัศน์ถึงปี 2593 ที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท

    นอกจากนี้ ภายใต้โครงการนี้ วัตถุดิบจากการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ การประมง และขยะในครัวเรือนที่มีอยู่ 100% จะถูกนำมาใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ทั้งในระดับการผลิตในครัวเรือนและระดับอุตสาหกรรม

    ในระยะสั้น ภาคเกษตรมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้มากกว่า 30% ของจำนวนผลิตภัณฑ์ปุ๋ยทั้งหมดในตลาด ขณะเดียวกันก็เพิ่มกำลังการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของโรงงานผลิตที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็น 5 ล้านตันต่อปี

    ในขณะเดียวกัน ปริมาณปุ๋ยอินทรีย์ทางอุตสาหกรรมคาดว่าจะมีสัดส่วนอย่างน้อย 30% ของปริมาณปุ๋ยทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตทางการเกษตร ปริมาณปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตในระดับครัวเรือนที่ใช้ในการผลิตทางการเกษตรคาดว่าจะสูงถึงอย่างน้อย 20 ล้านตันต่อปี

    ภาคเกษตรยังมีเป้าหมายที่จะสร้างโมเดลการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์สำหรับพืชผลหลัก 9 กลุ่ม ได้แก่ ข้าว กาแฟ ยางพารา เม็ดมะม่วงหิมพานต์ พริกไทย ชา ไม้ผล ผัก และมันสำปะหลัง

    กระทรวงฯมองว่า การผลิตและการใช้ปุ๋ยอินทรีย์โดยใช้ผลพลอยได้ทางการเกษตรเป็นแนวโน้มที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของภาคเกษตรกรรมของเวียดนาม นอกจากนี้ยังเป็นทางออกที่ยั่งยืนในการลดการใช้ปุ๋ยอนินทรีย์และการพึ่งพาการนำเข้า

    ด้วยเหตุนี้ กระทรวงฯจะสร้างระบบเกณฑ์และมาตรฐานทางเทคนิค ตลอดจนระบบทดสอบปุ๋ยอินทรีย์ให้สมบูรณ์ และสนับสนุนเกษตรกรในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และจัดทำแนวทางปฏิบัติใน การใช้ปุ๋ย ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ผลพลอยได้ทางการเกษตร รวมทั้งจะสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการจดทะเบียนและการออกใบอนุญาตปุ๋ยอินทรีย์ ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการพัฒนา การผลิต และการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในครัวเรือนเกษตรกรโดยการใช้ผลพลอยได้ทางการเกษตรและของเสียในชีวิตประจำวันอย่างเต็มที่

    ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจเมียนมาโตแค่ 1%

    ที่มาภาพ: https://www.frontiermyanmar.net/en/market-frenzy-sees-real-estate-prices-soar/
    ธนาคารโลกคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาในปีงบประมาณ 2566-2567 ไว้ที่ 1%

    รายงานตามติดเศรษฐกิจเมียนมาเรื่อง “ความท้าทายท่ามกลางความขัดแย้ง” หรือ “Challenges Amid Conflict” ที่เผยแพร่วันอังคาร(12 ธ.ค.) ระบุว่า แนวโน้มการเติบโตในระยะสั้นได้ทำให้แนวโน้มการเติบโตจากปีงบประมาณที่สิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2024 ยิ่งอ่อนแอลงอีก

    ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ลง โดยสัญญาณการฟื้นตัวที่เห็นในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีความเปราะบางและไม่นาน ธนาคารโลก ระบุ

    ในขณะที่ความผันผวนทางเศรษฐกิจมหภาคกลับมาอีกครั้ง ค่าเงินจั๊ตก็อ่อนค่าลงประมาณ 18% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในช่วงไตรมาสที่สาม

    นับตั้งแต่เดือนตุลาคม ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธได้ลุกลามไปทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อชีวิตและการดำรงชีวิตอย่างรุนแรง ปิดกั้นเส้นทางคมนาคมและช่องทางการค้าที่สำคัญ แลยิ่งทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนมากขึ้น

    ธนาคารโลกกล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนพลังงานยังคงมีอยู่ ก่อให้เกิดความท้าทายมากขึ้นสำหรับธุรกิจและครัวเรือน ขณะที่รัฐบาลพม่ามีการแทรกแซงตลาดบ่อยครั้ง แต่การแทรกแซงของรัฐบาลทหารโดยทั่วไปไม่ประสบผลสำเร็จในการฟื้นฟูเสถียรภาพด้านราคา และความขัดแย้งได้ทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม ทำให้เกิดการพลัดถิ่น การขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้น

    รายงานระบุว่า ค่าเงินจั๊ตที่อ่อนค่าลงและความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาข้าวตกหลังเดือนมิถุนายน

    “การปะทะกันด้วยอาวุธได้ขัดขวางเส้นทางการค้าที่สำคัญ โดยเฉพาะทางตอนเหนือของรัฐฉาน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนหลักกับจีน ธนาคารโลกตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินงานที่จุดผ่านแดนหลายแห่งกับไทยและอินเดียก็หยุดชะงักเช่นกัน” รายงานกล่าว

    สถานการณ์นี้มีผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศของเมียนมาที่มีพรมแดนทางบกซึ่งคิดเป็น 40% ของการส่งออกและ 21% ของการนำเข้าระหว่างเดือนมีนาคมถึงกันยายน

    เส้นทางคมนาคมสำคัญภายในเมียนมาถูกปิดกั้น ส่งผลให้มีการจำกัดการสัญจรของผู้คนและสินค้า และนำไปสู่การขาดแคลนอาหารและปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ แรงกดดันที่เกิดขึ้นใหม่ต่ออัตราแลกเปลี่ยนและอัตราเงินเฟ้อเป็นผลจากทั้งพัฒนาการภายในและภายนอกผสมกัน

    บริษัทตัดเย็บเสื้อผ้าประเมินว่า การตัดไฟทำให้พวกเขาต้องเสียค่าใช้จ่ายเทียบเท่ากับ 31% ของยอดขายรวมในปีที่แล้ว ส่วนใหญ่เนื่องมาจากต้นทุนของเครื่องปั่นไฟที่ใช้งานอยู่

    “น้ำท่วม ความขัดแย้ง ต้นทุนการผลิตที่สูง และข้อจำกัดทางการค้าได้จำกัดความสามารถของเกษตรกรในการที่จะได้ประโยชน์จากราคาส่งออกที่ดี และลดการลงทุนที่จำเป็นเพื่อรองรับการผลิตในอนาคต” รายงานระบุ

    นอกจากนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศยังคงอ่อนแอมาก และพื้นที่ทางการคลังยังมีจำกัด โดยการขาดดุลที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ได้รับการชดเชยโดยตรงจากธนาคารกลางเมียนมา รายงานระบุว่า การใช้จ่ายด้านการศึกษาและสุขภาพรวมกันในปีงบประมาณนี้ลดลงเหลือประมาณ 2% ของ GDP จากเกือบ 4% ในปี 2562-2563