ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup : กัมพูชาเซ็น FTA จีนสิ้นปีนี้ เมียนมาเตรียมเดินรถทัวร์ข้ามแดนเข้าอินเดีย

ASEAN Roundup : กัมพูชาเซ็น FTA จีนสิ้นปีนี้ เมียนมาเตรียมเดินรถทัวร์ข้ามแดนเข้าอินเดีย

23 กุมภาพันธ์ 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 16-22 กุมภาพันธ์ 2563

  • กัมพูชาเซ็น FTA กับจีนในสิ้นปีนี้
  • กัมพูชาให้สิทธิภาษี SME จูงใจเข้าระบบ
  • เมียนมาเตรียมเดินรถทัวร์ข้ามแดนเข้าอินเดีย
  • เวียดนามผ่อนคลายการนำเข้ารถยนต์
  • เวียดนามเปิดสำนักงานท่องเที่ยวในอังกฤษ
  • อินโดนีเซียเก็บภาษีสรรพสามิตพลาสติก

กัมพูชาเซ็น FTA กับจีนในสิ้นปีนี้

ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/50691647/cambodia-china-closer-to-fta-signing-deal?utm_source=mailpoet&utm_medium=email&utm_campaign=khmer-times-monday-news-digest_54
กัมพูชาเตรียมที่จะลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกับจีนภายในปีนี้ หลังจากมีการเจรจารอบแรกไปในเดือนที่ผ่านมาในกรุงปักกิ่ง

ในสัปดาห์ก่อนกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังได้ประชุมเพื่อประเมินผลการเจรจาเขตการค้าเสรีหรือ FTA รอบแรกระหว่างกัมพูชากับจีน ซึ่งเห็นว่าทั้งสองฝ่ายได้มีการรับรู้และชื่นชมต่อการหารือรอบแรก

“ที่ประชุมได้ให้แนวทางการเจรจากับทีมเจรจา เพื่อใช้เป็นฐานในการเจรจารอบต่อไปซึ่งมีเป้าหมายที่จะสรุปข้อตกลงได้” เอกสารกระทรวงฯ ระบุ อีกทั้งวางเป้าที่จะสรุปการเจรจาได้ภายในกลางปีนี้ และทั้งสองประเทศคาดว่าจะลงนามในข้อตกลงได้ภายในสิ้นปีนี้

หากการเจรจาประสบความสำเร็จ FTA นี้จะเป็นกลไกใหม่ที่จะกระตุ้นและขยายศักยภาพ รวมทั้งวิสัยทัศน์ของทั้งสองประเทศ เพราะข้อตกลงการค้ามีเป้าหมาย ที่จะขยายการค้า การลงทุน บริการและความร่วมมือให้มากขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ ตลอดจนยังช่วยให้กัมพูชาส่งออกสินค้าไปตลาดจีนได้ปริมาณมาก

ส่วนทางด้านการลงทุนนนั้น FTA จะเอื้อให้นักลงทุนที่ได้ลงทุนอยู่แล้วขยายธุรกิจได้มากขึ้น ขณะเดียวกันจะดึงการลงทุนเข้ากัมพูชากกว่าเดิม

เจียง วันนะริธ ประธานสถาบันวิสัยทัศน์เอเชีย ให้ความเห็นว่า กัมพูชาจะมีโอกาสอย่างมาก เพราะจะปริมาณสินค้าที่จะส่งออกไปยังจีน ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก ที่มีประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน

นอกจากนี้ กัมพูชาจะสามารถส่งออกสินค้าเกษตรได้มากขึ้น เสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่การผลิตของกัมพูชา อีกทั้งกัมพูชาจะเป็นตลาดสำคัญของบริษัทขนาดใหญ่ของจีน

FTA จะดึงการลงทุนจากธุรกิจขนาดกลางของจีนให้เข้ามาลงทุนในกัมพูชา เพื่อป้อนสินค้าให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ในจีน ซึ่งช่วยขยายการผลิตของทั้งสองประเทศ

มูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชากับจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 5.16 พันล้านดอลลาร์ในปี 2016 เป็น 6.04 พันล้านดอลลาร์ในปี 2017 และ 7.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2018 ซึ่งสองประเทศมีเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าเป็น 10 พันล้านดอลลาร์ผ่านการค้าแบบทวิภาคีภายในปี 2023

นอกเหนือจากการทำ FTA กับจีนแล้ว กัมพูชายังเตรียมที่จะทำ FTA กับประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ เช่น เกาหลีใต้และสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union) กลุ่มเศรษฐกิจที่มีรัสเซียเป็นผู้นำ ประกอบด้วย รัสเซีย เบลารุส คาซักสถานและคีร์จิสสถาน

กัมพูชาให้สิทธิภาษี SME จูงใจเข้าระบบ

ผู้ประกอบการรายย่อยในตลาด Central Market พนมเปญ
รัฐบาลได้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อจูงใจให้จดทะเบียนธุรกิจให้ถูกต้องรวมทั้งให้ข้อมูลที่เป็นจริง

กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังได้ประกาศให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นระยะเวลา 5 ปี ลดอัตราภาษีเงินได้เป็นเวลา 5 ปี และให้สิทธิลดหย่อนค่าใช้จ่าย แก่ 6 ภาคธุรกิจที่มีความสำคัญ ได้แก่ ภาคเกษตรและเกษตรแปรรูป ภาคผลิตและแปรรูปอาหาร ภาคผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศ ธุรกิจบำบัดน้ำเสียและผลิตสินค้าเพื่อการท่องเที่ยว และธุรกิจวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยี

ธุรกิจเอสเอ็มอีจะต้องเข้าสู่ระบบภาษีด้วยการขึ้นทะเบียนภาษีกับสรรพากร รวมทั้งต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงและทันการณ์ โดยสามารถใช้สิทธิทางภาษีได้หลังจากยื่นขอใช้สิทธิกับสรรพากรไปแล้ว 7-10 วัน

สิทธิประโยชน์ทางภาษีมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบมากขึ้นด้วยการจดทะเบียนจัดตั้งอย่างเป็นทางการ เพื่อที่รัฐสามารถดูแลได้ กระทรวงอุตสาหกรรมและหัตถกรรมมีข้อมูลว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีในกัมพูชามีจำนวนราว 500,000 ราย แต่มีเพียง 52,154 รายที่จดทะเบียน ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีมีการจ้างงานถึง 824,245 ตำแหน่งทั่วประเทศ

นายจัม ประสิธ รัฐมนตรี กระทรวงอุตสาหกรรมและหัตถกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงกำลังวางแผนส่งเสริมเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องการขยายธุรกิจและต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ

เมียนมาจะเดินรถทัวร์ข้ามแดนเข้าอินเดีย

ที่มาภาพ: https://www.irrawaddy.com/news/burma/india-myanmar-cross-border-bus-service-operate-soon.html

บริการเดินทางด้วย รถทัวร์ข้ามแดนจากเมียนมาไปยังอินเดียทางตะวันตกเฉียงเหนือ ในรัฐมณีปุระ จะเริ่มดำเนินการในเดือนเมษายนนี้

บริการรถทัวร์บนเส้นทาง 579 กิโลเมตรจากมัณฑะเลย์ของเมียนมาเข้าสู่อิมฟาล เมืองหลวงของรัฐมณีปุระ เป็นการเชื่อมโยงการเดินทางด้วยรถทัวร์ครั้งแรกของทั้งสองประเทศหลังจากที่ได้มีการวางแผนมานา 17 ปี และการเจรจากระดับนโยบายระหว่างรัฐบาล ที่อินเดียมีนโยบายขยายมาทางตะวันออกหรือ Look East policy

ชเว มันดาลาร์ เอ็กซ์เพรส จำกัด บริษัทเดินรถบัสในเมียนมา และเซเว่น ซิสเตอร์ฮอลิเดย์ จำกัด ในอินเดียได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ เพื่อร่วมกันให้บริการ

อู เน ลิน อู ผู้บริหารของ ชเว มันดาลาร์ เอ็กซ์เพรส จำกัด กล่าวว่า ทั้งสองบริษัทได้มีการเจรจากันตั้งแต่ปี 2018 แต่ที่ล่าช้าเพราะการเจรจาแบบทวิภาคีของทั้งสองประเทศ

บริการรถทัวร์ข้ามแดนจะใช้รถบัสขนาด 27 ที่นั่ง มี 1 เที่ยวต่อสัปดาห์ออกจากมัณฑะเลย์เวลา 18.00 น. วิ่งผ่านเมืองโมนยว เมืองกั่นกอ เมืองกะเลย์ ไปจนถึงเมืองตามู ในภูมิภาคสะกายในเวลา 12 ชั่วโมง จากนั้นเดินทางไปอีก 3 ชั่วโมงเพื่อผู้โดยสารจะต้องผ่านจุดตรวจข้ามแดนที่เมืองมอเรห์ ซึ่งเป็นจุดที่ต้องเปลี่ยนมาขึ้นรถของเซเว่นซิสเตอร์ฮอลิเดย์ จำกัด เพื่อเดินทางต่อไปยังอิมฟาลที่ห่างออกไปอีก 140 กิโลเมตร

อู เน ลิน อู กล่าวว่า เส้นทางเดินรถมีการกำกับดูแลโดยทางการของรัฐมณีปุระ และได้มีการหารือเกี่ยวกับความปลอดภัยกับกองทัพอินเดีย ส่วนอัตราค่าโดยสารจะอยู่ที่ประมาณ 40 ดอลลาร์ หรือ 58,000 จ๊าด แต่ผู้โดยสารต้องมีวีซ่าจากสถานทูตอินเดียในกรุงย่างกุ้ง และจากสถานกงสุลในมัณฑะเลย์ ตลอดจนรายละเอียดของการเดินทาง

อู เน ลิน อู กล่าวอีกว่า บริษัทฯ หวังว่าจะมีการจัดทำข้อตกลงข้ามแดนภายใน 3 เดือน ขณะที่ประกันภัยการเดินทาง การตรวจตราคนเข้าเมือง และความปลอดภัยยังอยู่ระหว่างการเจรจา

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ใช้การเดินทางด้วยรถบัสเที่ยวกลางคืนจากมัณฑะเลย์ไปตามู จากนั้นแยกย้ายเดินทางไปอิมฟาล

โครงการนี้ริเริ่มตั้งแต่ปี 2003 และได้รับการผลักดันจากความสนใจของอดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย นายมันโมฮัน ซิงห์ ซึ่งได้เดินทางมาเยือนเมียนมาในปี 2012 แต่การเจรจาชะงักเพราะประเด็นการยกระดับถนนเส้นทางมัณฑะเลย์ไปตามู และประเด็นความปลอดภัย เพราะมณีปุระยังมีปัญหากับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนบริเวณชายแดน

เวียดนามผ่อนคลายนำเข้ารถยนต์

ที่มาภาพ: http://hanoitimes.vn/vietnam-eases-restriction-on-car-imports-301099.html

รัฐบาลเวียดนามได้ตัดสินใจที่จะผ่อนคลายหลักเกณฑ์การนำเข้ารถยนต์ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากเห็นว่าขณะที่เศรษฐกิจของประเทศเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้นนั้น การแข่งขันก็สูงขึ้นด้วย

การผ่อนคลายการนำเข้ารถยนต์นับเป็นการดำเนินการครั้งสำคัญของรัฐบาลอีกครั้ง หลังจากที่ได้ยกเลิกหลักเกณฑ์การอนุญาตรถยนต์ตามประเภทไปแล้ว (vehicle type approval: VTA) โดยได้ปรับข้อความในประกาศคำสั่งฉบับที่ 116 ซึ่งมีผลบังคับใช้ปี 2017 กับเงื่อนไขและในอนุญาตการผลิต ประกอบ การนำเข้าและธุรกิจรับประกัน

VTA เป็นข้อจำกัดหลักที่ส่งผลให้การนำเข้ารถยนต์ลดลงในช่วงปลายปี 2017 จนถึงต้นปี 2018 เพราะประเทศที่มีการส่งรถยนต์รายใหญ่ เช่น ไทยและอินโดนีเซียไม่ออกใบรับรองให้

นอกเหนือจากการกยกเว้นเงื่อนไข VTA แล้ว ประกาศคำสั่งฉบับที่ 117 ได้ปรับกระบวนการศุลกากรให้สะดวกและง่ายขึ้นสำหรับการรถนำเข้าด้วยลดจำนวนครั้งในกระบวนการควบคุมคุณภาพสำหรับการส่งออกรถยนต์ในรุ่นเดียวกัน ซึ่งจะลดเวลาทางศุลกากรและค่าใช้จ่ายของการนำเข้ารถ

ประกาศคำสั่งฉบับ 116 มองกันเป็นการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีเพื่อควบคุมการนำรถยนต์เข้าประเทศ โดยเฉพาะหลังจากที่ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน หรือ ASEAN Trade in Goods Agreement (ATIGA) มีผลตั้งแต่ต้นปี 2018 ให้ต้องยกเลิกภาษีนำเข้ารถยนต์

อย่างไรก็ตาม การนำเข้ารถยนต์ที่ได้มีการใช้ VTA ทำให้รถนำเข้าในเวียดนามมีจำนวนสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างรถนำเข้ากับรถที่ผลิตประกอบในประเทศ

ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามได้มีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเทศได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น การแข่งขันสูงขึ้น ดังนั้นประกาศคำสั่งฉบับ 116 คงจำกัดการนำเข้ารถยนต์ได้ชั่วคราว

เวียดนามเปิดสำนักงานท่องเที่ยวในอังกฤษ

ที่มาภาพ:
https://en.nhandan.org.vn/travel/item/8416202-vietnam%E2%80%99s-first-overseas-tourism-office-opened-in-uk.html
เวียดนามได้เปิดสำนักงานท่องเที่ยวต่างประเทศแห่งแรก ที่กรุงลอนดอน ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งมีแขกเข้าร่วมจำนวนมากทั้งตัวแทนจากระทรวงการต่างประเทศและเครือจักรภพ แห่งสหราชอาณาจักร เครือข่ายเวียดนาม-อังกฤษ สถานทูตเวียดนามในอังกฤษและสายการบินแห่งชาต เวียดนามแอร์ไลน์

รัฐมนตรีช่วยกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เลอ ฉวง ตุง กล่าวว่า อังกฤษเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์และเป็นตลาดท่องเที่ยวใหญ่อันดับสองของเวียดนามในยุโรป ดัวนั้นการเปิดสำนักงานที่ใช้ชื่อว่า Visit Vietnam จะช่วยให้คนอังกฤษรู้จักเวียดนามมากขึ้น

ตรัน เตรือง เคียน ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาการท่องเที่ยวเวียดนามกล่าวว่า สำนักงานนี้จะทำร่วมกันตัวแทนท่องเที่ยวในอังกฤษเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเวียดนาม เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวอังกฤษและตลาดยุโรปอื่นๆ

เวียดนามเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เติบโตเร็วมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นแหล่งท่องเที่ยวติดอันดับของเอเชีย

อินโดนีเซียเก็บภาษีสรรพสามิตพลาสติก

ที่มาภาพ: https://www.thejakartapost.com/news/2020/02/19/indonesia-revives-excise-plan-on-plastics-dirty-vehicles-and-sweet-drinks.html
อินโดนีเซียเตรียมเก็บภาษีสรรพสามิตจากพลาสติก รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และเครื่องดื่มที่มีรสหวาน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน

ศรี มูลยานี อินทราวตี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า การเก็บภาษีสรรพสามิตจะช่วยลดการใช้พลาสติกลงราว 50% ขณะเดียวกันรัฐบาลจะมีรายได้ภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นอีก 1.6 ล้านล้านรูเปียห์ต่อปี

“เราหวังว่ากาารเก็บภาษีจะทำให้ผู้ผลิตพลาสติกเปลี่ยนโฉมไปสู่ผู้ผลิตสินค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม,” ศรี มูลยานี อินทราวตี ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการเงิน และกล่าวว่า ภาษีสรรพสามิตจึงเหมาะสมเพราะครอบคลุมหลักเกณฑ์ทั่วประเทศ

หลายเมืองของอินโดนีเซียได้สั่งห้ามการใช้ถุงพลาสติก ล่าสุดมีจาการ์ตากับบาหลีที่ประกาศออกไป ซึ่งผู้บริโภคและผู้ผลิตต่างสำนึกถึงการบริโภคที่ยั่งยืนที่มีการปฏิบัติกันมากขึ้น

กรมสรรพสามิตวางแผนที่จะลดอัตราอากรภาษีถุงพลาสติกจำนวน 30,000 รูเปียห์ต่อกิโลกรัมจากผู้ผลิตและผู้นำเข้าพลาสติก หรือ 200 รูเปียห์ต่อแผ่นพลาสติกหนึ่งแผน ส่วนแผนพลาสติกจะมีราคา 450-500 รูเปียห์หลังจากเก็บภาษี ทั้งนี้รัฐบาลมีแผนจะเก็บภาษีสรรพสามิตจากพลาสติกมาตั้งแต่ปี 2017 แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่สร้างมลพิษทางทะเลสูงเป็นอันดับสองของโลก ทิ้งขยะพลาสติกราว 1.3 ล้านตันต่อปี โดยที่ 70% มีการฝังกลบอีก 15% ทิ้งลงแม่น้ำแะลทะเล ขณะที่มีการรีไซเคิลเพียง 10-15%

อินโดฟู้ด ดานอน และมายอรา เป็นผู้ทิ้งขยะรายใหญ่ 3 อันดับแรกของอินโดนีเซีย จากรายงาน Brand Audit Report 2019 ของ Break Free from Plastic

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังได้ขอให้สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติการเก็บภาษีสรรพสามิตจากรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เนื่องจากสร้างมลพิษในเมืองใหญ่ ทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจวางมาตรการจำกัดการใช้

“รถยนต์ทุกคันที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต้องเสียภาษีสรรพสามิต ยกเว้นรถยนต์ไฟฟ้า รถขนส่งสาธารณะและรถของหน่วยงานรัฐ และรถยนต์เพื่อการส่งออก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวและว่า ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศจะต้องเสียภาษีหลายขั้น ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้ราว 15.7 ล้านล้านรูเปียห์จากการเก็บภาษีรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังมีแผนที่จะเก็บภาษีสรรพสามิตจากเครื่องดื่มที่มีรสหวาน เพื่อลดการเป็นโรคเบาหวานในประเทศ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชากร

“มีหลายประเทศที่เก็บภาษีจากสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล หากสภาให้ความเห็นชอบ กระทรวงการคลังจะเก็บภาษีสรรพสามิตจากเครื่องดื่มประเภทพร้อมดื่ม และเครื่องดื่มแบบชงที่มีน้ำตาล ยกเว้นเครื่องดื่มที่ไม่ได้ปรุงแต่งและเครื่องดื่มที่ส่งออก

รัฐบาลจะเก็บภาษีสรรพสามิต 1,500 รูเปียห์ต่อลิตรจากชาที่บรรจุหีบห่อและ 2,500 รูเปียห์จากเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม และเครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งคาดว่าจะได้เก็บเงินเข้ารัฐได้ 6.25 ล้านล้านรูเปียห์

ทั้งนี้สภาได้ให้ความเห็นชอบการเก็บภาษีสรรพสามิตจากพลาสติกทันที แต่สำหรับสินค้าประเภทอื่นได้ขอให้รัฐบาลทำแผนมานำเสนอ