ThaiPublica > เกาะกระแส > PROVE POINTS ข้อค้นพบและทางออก : การพัฒนาทุนมนุษย์ 3 ช่วงวัย

PROVE POINTS ข้อค้นพบและทางออก : การพัฒนาทุนมนุษย์ 3 ช่วงวัย

2 พฤศจิกายน 2023


25 ตุลาคม 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเวที “PROVE POINTS ข้อค้นพบและทางออก” เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยสถานการณ์การพัฒนาทุนมนุษย์ในประชากร 3 ช่วงวัยสำคัญของประเทศ โดยมีวิทยากร คือ รศ. ดร.วีระชาติ กิเลนทอง, ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว และนายโคจิ มิยาโมโต ทั้งนี้ ข้อเสนอบางส่วนเป็นส่วนหนึ่งของรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2566

ความยากจน คืออุปสรรคต่อพัฒนาการเด็กปฐมวัย

รศ. ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) และคณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในหัวข้อ School Readiness Survey ความพร้อมของเด็กปฐมวัยในการเข้าสู่ประถมศึกษา โดยฉายภาพให้เห็นว่า งานวิจัยจะนำไปสู่กระบวนการแก้ปัญหา แต่งานวิจัยไม่ได้แก้ปัญหาในตัวมันเอง ดังคำกล่าวของ Lord Kelvin ที่ว่า “If you cannot measure it, you cannot improve it” ซึ่งหมายความถึงเทอร์โมมิเตอร์ไม่สามารถแก้ปัญหาไข้ได้ ไม่ใช่ยา แต่เราใช้เทอร์โมมิเตอร์ตลอดเวลา เพราะมันจะบอกเราว่ามันมีปัญหาไหม

ดังนั้น กสศ. จึงร่วมกับคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อศึกษาเรื่อง Thailand School Readiness Survey (TSRS) เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย มีจุดประสงค์เพื่อประเมินความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย โดยใช้เครื่องมือประเมินที่พัฒนามาจาก Measuring Early Learning and Outcome: MELQO (UNICEF, 2012) ในการเก็บข้อมูลเด็กปฐมวัยที่เรียนอยู่ในระดับอนุบาล 3 จำนวน 43,213 คน จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในช่วงปีการศึกษา 2562-2565 ทั้งนี้จำนวนกลุ่มเป้าหมายนับเป็น 10% ของประชากรเด็กปฐมวัยทั้งประเทศ

โดยคณะผู้วิจัยจะนำแบบทดสอบ 3 โมเดล ที่เป็นตัวอย่างในการนำเสนอ ได้แก่ การทดสอบความพร้อมด้านความเข้าใจในการฟัง (Listening Comprehension: LC) ความพร้อมด้านการต่อรูปในใจ (Mental Transformation: MT) และความพร้อมด้านความจำใช้งาน (Working Memory: WM)

รศ. ดร.วีระชาติ อธิบายว่า “สิ่งนี้จะเป็นฐานข้อมูลที่นำไปสู่ความเข้าใจ และช่วยให้คนทำงานในแวดวงการศึกษาใช้เรียนรู้เรื่องการพัฒนาเด็กปฐมวัยในอนาคต”

รศ. ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) กล่าวในหัวข้อ School Readiness Survey และคณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

แต่ทั้งนี้ รศ. ดร.วีระชาติ บอกว่า แบบทดสอบดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาเด็กที่ได้คะแนนเก่งหรือดี แต่ต้องการหาเด็กที่ทำถูกเพียง 1-2 ข้อ หรือไม่ถูกสักข้อเลย เพื่อมาศึกษาปัจจัยของเด็กกลุ่มนี้ต่อ

“สิ่งที่แบบทดสอบกำลังบอก คือชุดทักษะที่เราต้องการให้เด็กแสดงให้เห็นนั้นไม่ใช่เรื่องยากและซับซ้อน แต่ยืนยันว่าถ้าเด็กปฐมวัยไม่ได้รับการลงทุนด้านคุณภาพการศึกษาที่เหมาะสม ทั้งจากครอบครัวและโรงเรียน เด็กจะเจอกับปัญหาอุปสรรคแม้ในการทำสิ่งที่เป็นเรื่องพื้นฐานง่ายๆ และจะมีผลสืบเนื่องระยะยาวในขั้นถัดไปของการเรียนรู้”

ผลสำรวจพบว่า เมื่อเจาะจงไปที่คะแนนเด็กปฐมวัยที่อยู่ในระดับ 15 เปอร์เซ็นต์ล่างสุด จากกลุ่มตัวอย่างราว 500 คนในแต่ละพื้นที่ จะพบว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ ‘ไม่พร้อม’ (low-readiness children) หรือทำคะแนนใน 3 ชุดทดสอบ ได้ไม่ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นสัญญาณความน่ากังวลเกี่ยวกับความพร้อมของเด็กๆ ในการเรียนต่อระดับประถมศึกษา

รศ. ดร.วีระชาติ กล่าวต่อว่า ถ้าดูเพียงภาพรวมของผลสำรวจทุกด้าน อาจเห็นว่าความพร้อมของเด็กโดยรวมดูเหมือนไม่มีปัญหา หากเมื่อพิจารณาย่อยลงไปในแต่ละการทดสอบ สิ่งที่ชวนให้วิตกกังวลคือ ผลทดสอบความเข้าใจในการฟังที่ทุกพื้นที่สำรวจได้ผลลัพธ์เป็น ‘สีแดง’ ทั้งหมด ซึ่งหมายถึงมีสัดส่วนของกลุ่มเป้าหมายที่ทำคะแนนได้ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 25 เปอร์เซ็นต์ จำนวนสูงมาก

ขณะที่ผลทดสอบการต่อรูปในใจและความจำใช้งาน ที่แม้ไม่เป็นสีแดงทั่วทุกพื้นที่เท่าทักษะการฟัง แต่ ‘สีชมพู’ ที่ปรากฏกระจัดกระจายบนกราฟจำลองรูปแผนที่ประเทศไทย ก็แสดงแนวโน้มให้เห็นว่า ยังมีเด็กที่ทำคะแนนทดสอบได้น้อยหรือทำไม่ได้เลยในเปอร์เซ็นต์ที่น่าเป็นห่วงเช่นกัน

วิธีการคือให้เด็กฟังข้อความยาวประมาณ 3 นาที จากเทปที่บันทึกไว้ และให้ตอบคำถาม 5 ข้อ
วิธีการคือให้เด็กลองประกอบชิ้นส่วนจากภาพ 4-5 ภาพ เพื่อให้ได้ภาพที่ตรงกันกับภาพตัวอย่าง
วิธีการคือ จดจำตัวเลข 2-10 หลัก แล้วตอบจากหลังไปหน้า

“ความกังวลจากผลสำรวจดังกล่าวมีน้ำหนักเพียงพอที่เราจะชวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่มาคุยกัน ว่าพวกเราจะพัฒนาคุณภาพการศึกษา และช่วยส่งเสริมการดูแลบุตรหลานให้กับผู้ปกครองได้อย่างไร คือถ้าเรามองว่าเด็กไปโรงเรียนทุกวัน ได้ฟังครูอ่านหนังสือให้ฟังเป็นประจำ แต่ผลลัพธ์จากการฟังยังอยู่ในระดับต่ำมาก หรือการทดสอบความจำใช้งานที่แสดงให้เห็นว่า เด็กไม่ได้รับการกระตุ้น (stimulation) ให้ได้คิดหรือลงมือทำด้วยตัวเองอย่างเพียงพอ นั่นหมายความว่าวิธีการที่เคยทำๆ กันมาอาจถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยน”

“เราสำรวจผู้ปกครอง 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ประสบภาวะขาดแคลนทางอาหาร กับกลุ่มที่ไม่มีปัญหา พบว่าสัดส่วนของเด็กปฐมวัยในครอบครัวที่ประสบภาวะขาดแคลนอาหาร มีโอกาสขาดความพร้อมสูงกว่าและทำคะแนนได้ต่ำกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งตอกย้ำว่าความยากจนคืออุปสรรคสำคัญต่อพัฒนาการตั้งแต่ในช่วงปฐมวัย”

รศ. ดร.วีระชาติ กล่าวต่อว่า ปัจจัยทุกอย่างล้วนมีส่วนซ้ำเติมให้เด็กขาดพัฒนาการที่เหมาะสม ดังนั้นเป้าหมายหนึ่งของ TRSR จึงเป็นการสำรวจและจัดการข้อมูล เพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ยกระดับครูในการจัดกิจกรรมให้เด็กได้คิด ได้ลงมือทำ และอีกประเด็นหนึ่งที่ยังได้รับการพูดถึงน้อยมาก คือการเข้าไปพัฒนาคุณภาพการเลี้ยงดูร่วมกับผู้ปกครอง

จากผลการศึกษา นำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย ซึ่ง รศ. ดร.วีระชาติ อธิบายว่า อีกวิธีการที่ช่วยลดปัญหาการเรียนรู้ของเด็กคือ การอบรมครูปฐมวัยแบบ On-Site Training ที่เน้นการฝึกปฏิบัติตามแนวทางที่เจาะจง (High Scope ตามแนวทางไรซ์ไทยแลนด์) พร้อมมีแผนการสอนที่ละเอียดประกอบ ซึ่งสามารถช่วยให้เด็กปฐมวัยมีความพร้อมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความเข้าใจในการฟังและการต่อรูปในใจ

“ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 มีการนำหลักสูตร On-Site Training ไปทดลองใช้ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นงานวิจัยแบบ randomized control trial หรือการทดลองแบบสุ่ม โดยมี ‘กลุ่มทดลอง’ และ ‘กลุ่มควบคุม’ โดยใช้วิธีจับสลากเชิญครูจากโรงเรียนกลุ่มหนึ่งเข้ามาฝังตัวเป็นกลุ่มทดลองในศูนย์อบรมเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วจัดให้ครูเหล่านี้ทำกิจกรรมเติมทักษะที่หลากหลายโดยเจาะจงวิธีการและผลลัพธ์ จากนั้นจึงนำผลลัพธ์มาทาบวัดกับครูจากกลุ่มโรงเรียนที่ไม่ได้เข้าอบรมหรือกลุ่มควบคุม ว่ามีความแตกต่างอย่างไร และอีกหนึ่งกิจกรรมที่ต้องคำควบคู่กันคือ ครูอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ละส่งเสริมให้เด็กยืมนิทานกลับไปให้ผู้ปกครองอ่านให้ฟังที่บ้าน แล้วกลับมาแลกเปลี่ยนในห้องเรียน”

ผลปรากฏว่า ครูจากโรงเรียนในกลุ่มทดลองมีค่าของการสอนที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในทุกการทดสอบ ซึ่งถือว่าตรงตามสมมติฐานที่คณะวิจัยพยากรณ์ไว้ เนื่องจากในการทำกิจกรรมแบบ plan-do-view หรือเป็นการจัดชั้นเรียนตามคำแนะนำ ครูได้ส่งเสริมให้เด็กวางแผน มีการเล่นและทำงานกิจกรรมร่วมกัน และในขั้นสุดท้ายเด็กจะต้องสะท้อนผลด้วยตัวเอง ทำให้เด็กในความดูแลของครูในกลุ่มทดลอง ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการทักษะด้านการฟังและใช้ภาษาตลอดเวลา ผลทดสอบจึงออกมาว่า เด็กกลุ่มนี้มีทักษะทั้งสองด้านที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ส่วนการยกระดับการดูแลในครอบครัว รศ. ดร.วีระชาติ เผยว่า จากผลสำรวจที่ชี้ว่ามีครัวเรือนราว 40 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่มีหนังสือนิทานอยู่ที่บ้าน อันเป็นผลสืบเนื่องต่อมาว่ามีผู้ปกครองกว่า 50% ที่ไม่เคยอ่านหนังสือให้เด็กฟังเลย สะท้อนว่าหลายครอบครัวขาดความพร้อมและยังไม่เข้าใจถึงประโยชน์ของกิจกรรมการอ่าน 

ท้ายที่สุด รศ. ดร.วีระชาติ กล่าวว่า หลังจากนี้จะเป็นขั้นตอนของการทำความสะอาดข้อมูล (data cleaning) จัดทำรายงานผล ส่งต่อข้อมูล และประชุมแนะแนวทางการใช้ประโยชน์จาก TSRS ในระดับจังหวัด เพื่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยในแต่ละพื้นที่ โดยทีมวิจัยและ กสศ. ยินดีที่จะทำงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับจังหวัดต่อไป

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทักษะแห่งอนาคต และข้อเสนอการพัฒนาเยาวชน

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในหัวข้อ Career Readiness Survey ความพร้อมในการเข้าสู่อาชีพของนักเรียน ว่า โลกใช้เวลา 600 ปีในการเปลี่ยนแปลงชีวิตคน และพัฒนานวัตกรรม-เทคโนโลยีขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงยุคก่อนดิสรัปชัน แต่ยุคปัจจุบันในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ระดับสเกลการเปลี่ยนแปลงใกล้เคียงกันการเปลี่ยนแปลงในช่วง 600 ปี สะท้อนให้เห็นว่า โลกหมุนเร็วมาก และถ้าไม่จัดการการศึกษาที่ดี จะวิ่งไม่ทันโลก โลกจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี และบางอาชีพจะอยู่ได้ไม่ถึง 5 ปี 

ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวต่อว่า ก่อนปี 2558 (2015) มีการกำหนด ‘ทักษะแห่งอนาคต’ หรือ Top Skills in 2015 หลังจากนั้นมีการกำหนด Top Skills in 2020 ซึ่งสังเกตได้ว่าบางอาชีพที่เคยถูกให้ความสำคัญในปี 2558 เริ่มหายไปในช่วงเวลาเพียง 5 ปี และหลังจากเกิดวิกฤติโควิด-19 ก็มีการตั้ง Top Skills in 2025 ปรากฏว่า ทักษะที่เคยถูกให้ความสำคัญในอดีตก็หายไปอย่างสิ้นเชิง

ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวถึงทางรอดในโลกของงานอนาคต โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มที่เก่งนำหน้าปัญญาประดิษฐ์ (Job Innovator) (2) กลุ่มซูเปอร์เป็ด (Super Multitasker) (3) กลุ่มอึดถึกทน (Hardy Worker) และ (4) กลุ่มหนีตลาด (Market Disengager) อย่างไรก็ตาม ทักษะที่สำคัญของทางรอดเหล่านี้คือ ทักษะทางอารมณ์ ทักษะทางการอ่านและทักษะการปรับตัวต่อความยืดหยุ่น

เมื่อกล่าวถึงการศึกษาในประเทศไทย ดร.เกียรติอนันต์ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหา ‘วงจรแห่งความยากจน’ ซึ่งทุนมนุษย์ขั้นต่ำไม่เพียงพอที่จะทำให้เยาวชนหลุดจากระบบนี้ได้ โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องการศึกษาและรายได้

ดังนั้น การลงทุนในเยาวชนไทย จึงต้องประกอบด้วย ทักษะด้านความรู้ (Hard Skill) และ ทักษะทางความคิด (Soft Skill) ดังนี้

  • ทักษะด้านความรู้ – Hard Skill ได้แก่ (1) ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (2) การใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต (3) การใช้ภาษาอังกฤษ (4) การคำนวณ (5) การพูด (6) การเขียน และ (7) การอ่าน
  • ทักษะทางความคิด – Soft Skill ได้แก่ (1) ความเป็นผู้นำ (2) มนุษยสัมพันธ์ (3) ความคิดสร้างสรรค์ (4) การควบคุมอารมณ์ และ (5) การปรับตัว

“เวลาเจออุปสรรคจากการทำงาน hard skill เหมือนค้อนทุบให้แตก แต่ soft skill เหมือนน้ำ ที่จะพาเราไหลผ่านสถานการณ์อุปสรรคในชีวิตจริงได้”

ทั้งนี้ ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวถึงข้อเสนอเชิงนโยบาย 4 ข้อ ดังนี้ 

(1) รัฐบาลต้องประกาศให้ทำ Career Readiness Survey ปูพรมทั้งประเทศ (โครงการพัฒนาเครื่องมือเพื่อประเมินความพร้อมของเด็กและเยาวชนในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน)

(2) หน่วยงานรัฐต้องเผยข้อมูลการพัฒนากำลังคน การยกระดับ soft skill ซึ่งไม่ใช่ภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่เป็นภารกิจร่วมกัยของทุกหน่วยงาน และภาครัฐต้องพร้อมจับมือกับภาคเอกชน ภาควิชาการและภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ในทุกช่วงวัย

(3) นโยบาย 1 จังหวัด 1 Carrer Team จะเริ่มนำไปใช้ในจังหวัดนำร่องในช่วงปี 2567-2568 ไม่น้อยกว่า 5 จังหวัด เพื่อให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค

(4) การบูรณาการฐานข้อมูลผู้เรียนและกำลังคนแบบ Case-Based เพื่อให้มีข้อมูลเยาวชนและแรงงานครอบคลุมทุกช่วงชีวิต นำไปสู่การใช้ Big Data เพื่อช่วยออกแบบเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ตรงคน ตรงสถานการณ์ ตรงเวลา และตรงวัตถุประสงค์

“การขับเคลื่อนเชิงนโยบายต้องมีเลือดตกยางออก แต่ทุกอย่างจะค่อยๆ สะสมไป ภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกัน ผมอยากให้เข้าใจว่าเรากำลังทำให้เครื่องบินสูง ตอนนี้อยู่ในช่วงสั่งสมโมเมนตัม บางเรื่องพูด 50 ปีกว่าจะเปลี่ยน แต่ถ้าปีที่ 51 คนหยุดพูด มันจะไม่เกิดการส่งไม้ต่อ มันจะสูญเสียทันที ช่วยกันพูด วันหนึ่งการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น”

เยาวชน-ผู้ใหญ่ ทำแบบทดสอบได้ต่ำกว่าเกณฑ์

นายโคจิ มิยาโมโต (Mr.Koji Miyamoto) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice แห่ง World Bank กล่าวในหัวข้อ Adult Skills Assessment ความพร้อมของวัยแรงงาน โดยเริ่มจากยกตัวอย่างเรื่องฉลากยาว่า เยาวชนและผู้ใหญ่ในประเทศไทยถึง 62.3% ไม่สามารถอ่าน ทำความเข้าใจ และย่อยข้อมูลบนฉลากยาได้

จากนั้น นายโคจิได้หยิบยกตัวอย่างโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ในปี 2018 ซึ่งมีการประเมินทักษะด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ในเวลานั้นประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาด้านการพัฒนาการศึกษาอย่างไร เพราะผลคะแนน PISA จะบ่งบอกถึงระดับการเรียนรู้ของนักเรียน และยังสะท้อนผลลัพธ์ด้านความเสมอภาคอีกด้วย ซึ่งการประเมินผลดังกล่าวจะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถออกแบบและจัดการนโยบายได้อย่างสะดวกและแม่นยำมากขึ้น

นายโคจิกล่าวต่อว่า ทักษะเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องและค่อยๆ สั่งสม เสมือนการปั้นหิมะแล้วปล่อยให้กลิ้งลงจากเนินเขา ซึ่งจะค่อยๆ สะสมหิมะขึ้นมาเป็นก้อนใหญ่ ฉะนั้น โปรแกรม PISA ที่ได้ทำการประเมินผลเยาวชนอายุ 15 ปี จึงหมายความว่าเป็นการประเมินผลทักษะที่สะสมมาตลอด 15 ปี แต่ในความเป็นจริง เราจำเป็นต้องเก็บผลการประเมินต่อเนื่องไปอีกหลังจากพ้นอายุ 15 ปีไปแล้ว

นายโคจิ มิยาโมโต (Mr.Koji Miyamoto) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice แห่ง World Bank

จากประเด็นดังกล่าว นำมาสู่ข้อเสนอที่ธนาคารโลกได้จัดทำร่วมกับ กสศ. จนเป็นที่มาของโครงการวิจัยมาตรฐานคุณภาพโรงเรียน (Fundamental School Quality Levels: FSQL) และโครงการวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงานของประเทศไทย (Adult Skills Assessment in Thailand: ASAT)

นายโคจิกล่าวถึงโครงการ ASAT ว่า มีการสำรวจทักษะประชากรวัยแรงงานในระดับครัวเรือน โดยใช้ตัวอย่างการศึกษามากถึง 7,312 ครัวเรือน ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพฯ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) และภาคใต้ ภายในกรอบระยะเวลาช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา เพื่อวัดผล 4 มิติหลัก ได้แก่ ทักษะการรู้หนังสือ ทักษะด้านดิจิทัล ทักษะทางสังคม และทักษะด้านอารมณ์ นอกจากนั้น ยังมีการประเมินจากภูมิหลังของแต่ละบุคคลและครอบครัวกลุ่มตัวอย่างอีกด้วย

“เราเห็นภาพประชากรนักเรียน นักเรียนที่มีเศรษฐกิจไม่ดี-ภูมิหลังไม่ดี ทำได้แย่ กลุ่มที่เสียเปรียบจากพื้นที่ห่างไกล มีปัญหามากที่สุด ข้อมูลทำให้ผู้กำหนดนโยบายคิดได้ว่าจะปรับปรุงจุดไหน และทำให้การสอนในโรงเรียนดีขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษา ASAT จะเปิดเผยต่อสาธารณะในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2566 หลังจากนั้นข้อมูลดังกล่าวจะช่วยผู้มีอำนาจสามารถออกแบบนโยบายได้อย่างตรงจุด และเป็นการประเมินผลเพื่อหาอุดช่องว่างทางทักษะครั้งแรกในกลุ่มประชากรรายได้ปานกลาง-สูง

“ถ้าผมเป็นผู้กำหนดนโยบายแล้วเห็นข้อมูลเรื่องการปรับปรุง-ฝึกอบรมครู การประเมินทักษะทำให้ผมเกิดไอเดียว่าจุดไหน ทักษะใดที่ครูต้องมีการพัฒนาขึ้น หรือทักษะการสอนแบบไหน ครูบางคนอาจยังไม่พร้อมในการสอนทักษะดิจิทัล แต่ถ้าเราบอกว่าผู้ใหญ่จำนวนมากไม่มีทักษะด้านนี้ ดังนั้น เราต้องฝึกอบรมครูด้านดิจิทัลให้ดียิ่งขึ้น” นายโคจิ ทิ้งท้าย