ThaiPublica > เกาะกระแส > รายงานกสศ. ชี้พัฒนาทุนมนุษย์ ทางออกความเหลื่อมล้ำการศึกษา-กับดักรายได้ปานกลาง

รายงานกสศ. ชี้พัฒนาทุนมนุษย์ ทางออกความเหลื่อมล้ำการศึกษา-กับดักรายได้ปานกลาง

2 พฤศจิกายน 2023


ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

25 ตุลาคม 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2566 สาเหตุและอุปสรรคที่ทำให้เด็กไทยไม่ได้ไปต่อ และข้อเสนอนโยบายการลงทุนพัฒนาทุนมนุษย์ในประชากร 3 ช่วงวัยสำคัญของประเทศ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างคุ้มค่า

ความเหลื่อมล้ำแบบ K-Shape เพราะเด็กไทยหลุดจากระบบ

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวเปิดรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปี 2566 ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี ‘Equity Forum ทุนมนุษย์เพื่อยุติความเหลื่อมล้ำ’ ว่า การพัฒนาทุนมนุษย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ของประเทศไทย เพราะมีการพูดถึงประเด็นนี้ในแผนพัฒนาประเทศมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ แผน SDGs ฯลฯ โดยเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 โดยสภาพัฒน์ฯ หมุดหมายที่ 9 ตั้งเป้าว่าในปี 2570 ประเทศไทยจะมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และมีความคุ้มครองทางสังคม

ขณะเดียวกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ปัญหาความเหลื่อมล้ำยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขัดแย้งกับเป้าหมายการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยเพียง 2-3% ต่อปี

“ถ้าเราพัฒนาเด็กและเยาวชนทุกคนให้มีโอกาสเสมอภาคในการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ เราจะสามารถทำงานได้หลายเรื่อง ทั้งเรื่องการยุติความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และพัฒนาประเทศไปพร้อมกัน…เราต้องการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 5% ต่อปีภายในปี 2579 จึงจะทำให้ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงกว่า 40% หรือ 38,000 บาทต่อคนต่อเดือน คำถามคือ เราในฐานะผู้เสียภาษี ทำอะไรได้มากกว่านี้ไหม”

ดร.ไกรยส กล่าวต่อว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือเด็กและเยาวชนจากครัวเรือนเปราะบาง เนื่องจากมีปัญหาความยากจนหรือด้อยโอกาสในมิติต่างๆ เป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว ขณะเดียวกัน เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีความพร้อมมากกว่าจะสามารถฟื้นตัวจากภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ได้มากกว่า ด้วยเหตุนี้ เด็กที่เข้าไม่ถึงโอกาสในการฟื้นฟูหรือหลุดออกจากระบบ จะกลายเป็นกลุ่มประชากรรุ่นที่สูญหายจากการเรียนรู้ (Lost Generation) ซึ่งสามาถยืนยันได้จากข้อค้นพบ ‘ปัญหาทุนมนุษย์ช่วงวัยสำคัญ’

ดร.ไกรยส กล่าวต่อว่า หากไม่เร่งช่วยเหลือเยาวชนกลุ่มนี้ ประเทศไทยจะมีการฟื้นตัวเป็นลักษณะ K-Shaped ช่องว่างความเหลื่อมล้ำของเด็กและเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อย กับครัวเรือนที่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจมากกว่า จะยิ่งถ่างกว้างออกไปมากขึ้น

“การพัฒนาทุนมนุษย์ในวันนี้ต้องเปลี่ยนไปตามบริบทและเงื่อนไขใหม่ ไม่ปล่อยให้เกิดการสูญเสียจากการที่เด็กและเยาวชนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพแม้แต่คนเดียว”

นักเรียนยากจนเกือบ 2 ล้าน ขาดโอกาสช่วงรอยต่อ

ดร.ไกรยส ให้ข้อมูลว่า ปีการศึกษา 2566 ประเทศไทยมีจำนวนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษราว 1.8 ล้านคน โดย กสศ. สนับสนุนทุนเสมอภาคให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษ หรือยากจนระดับรุนแรง (Extremely Poor) จำนวน 1,248,861 คน

ดร.ไกรยส กล่าวต่อว่า แม้จะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่ความยากจนในระดับรุนแรงยังคงเป็นอุปสรรคทำให้ครอบครัวเด็กไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาได้ ดังนั้น ถ้าสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่มีความเข้มแข็ง และสามารถทำงานไปกับสถาบันทางการศึกษาได้แล้ว โจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะเป็นโจทย์ที่เราสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดและมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ดร.ไกรยส กล่าวต่อว่า กสศ. ได้ติดตามข้อมูลเส้นทางการศึกษาของนักเรียนจากครัวเรือนยากจนและยากจนพิเศษตั้งแต่ปี 2562-2566 โดยติดตามจากจุดสำคัญบนเส้นทางการศึกษา 4 จุดด้วยกัน คือ การสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ การศึกษาต่อในปีการศึกษา 2562 การศึกษาต่อในปีการศึกษา 2563 และการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในปีการศึกษา 2566 (ผ่านระบบ TCAS)

ข้อค้นพบคือ ในปีการศึกษา 2562 นักเรียนยากจนและยากจนพิเศษสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ หรือ ม.3 จำนวน 168,307 คน และในปีการศึกษา 2563 นักเรียนในกลุ่มนี้หลุดออกจากระบบการศึกษามากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ (33,547 คน) ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่พบการศึกษาต่อในระบบ (รวม กศน.) สาเหตุหลักคือความยากจนและความห่างไกลของสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า และอีก 80 เปอร์เซ็นต์ (134,760 คน) คือจำนวนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษที่ศึกษาต่อในระดับชั้น ม.4, ปวช., กศน. หรือเทียบเท่า

ขณะเดียวกัน ในปีการศึกษา 2566 มีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่สามารถศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ซึ่งต่ำกว่าค่าสถิติของทั้งประเทศกว่า 3 เท่า

โดยช่วงชั้นรอยต่อเป็นช่วงเวลาวิกฤติที่เด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบมากที่สุด เพราะจำเป็นต้องย้ายสถานศึกษาในช่วงเปิดเทอม พร้อมกับต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

  • รอยต่อ ม.ต้น ถึง ม.ปลาย หรือ ปวช.
  • สิ่งที่พบว่าเป็นอุปสรรคในช่วงรอยต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับจากการสัมภาษณ์เชิงลึก สาเหตุหลักมาจากการเข้าถึงข้อมูลแหล่งทุน กล่าวคือ เด็กจำนวนมากไม่รู้ข้อมูลแหล่งทุน และแหล่งทุนเองก็มีจำกัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ยืม
  • นอกจากนี้ เงื่อนไขของแหล่งทุน เงินกู้เพื่อการศึกษา หรือกระทั่งเงื่อนไขของสถาบันการศึกษาเอง ก็ไม่เอื้อให้กับเด็กยากจนและยากจนพิเศษเท่าที่ควร เนื่องจากในบางกรณีเปิดเทอมไปแล้ว 3-6 เดือน จึงจะได้รับเงิน ก็กลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของอุปสรรคในการเรียนต่อ เช่น ค่าเครื่องแบบ อุปกรณ์การเรียน ค่าเดินทาง เป็นต้น
  • รอยต่อ ม.ปลาย หรือ ปวช. ถึงอุดมศึกษา
  • นักเรียนจากครัวเรือนยากจนและยากจนพิเศษที่จำต้องยอมแพ้และตัดสินใจไม่เรียนต่อในที่สุด เนื่องจากค่าใช้จ่ายในช่วงรอยต่อการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยสูงถึง 12 เท่าของรายได้นักเรียนยากจนพิเศษ หรือราว 13,200-29,000 บาท โดยภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับเพิ่มขึ้นจากเดิม เช่น ค่าใช้จ่ายในระบบ TCAS ค่าแรกเข้ามหาวิทยาลัย (หอพัก ประกัน เครื่องแบบนักศึกษา กิจกรรม) และค่าเทอมที่อาจต้องจ่ายทันทีเพื่อรักษาสิทธิ์
  • เมื่อติดตามต่อเนื่องถึงปีการศึกษา 2566 เห็นว่านักเรียนยากจนและยากจนพิเศษเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา 12.46 เปอร์เซ็นต์ (21,921 คน) และอีก 87.54 เปอร์เซ็นต์ (112,839 คน) ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาและระบบประกอบอาชีพ (อาจศึกษาต่อโดยไม่ผ่านระบบ TCAS เรียน ปวส. หรือไม่ได้เรียนต่อ)

    ดร.ไกรยส เสริมว่า อุปสรรคสำคัญคือรายได้ของครัวเรือนที่มีนักเรียนยากจน โดยข้อมูลพบว่า ในปีการศึกษาที่ 1/2566 รายได้เฉลี่ยของกลุ่มนักเรียนยากจนอยู่ที่ 1,039 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน และรายได้มีแนวโน้มจะลดลงต่อเนื่องในภาคการศึกษาถัดไป

    โดยจังหวัดที่มีจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษมากที่สุด 10 อันดับแรก ดังนี้

    1. แม่ฮ่องสอน
    2. นครพนม
    3. อำนาจเจริญ
    4. มุกดาหาร
    5. กาฬสินธุ์
    6. ศรีสะเกษ
    7. ร้อยเอ็ด
    8. ยโสธร
    9. สกลนคร
    10. มหาสารคาม

    นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องของแหล่งทุนเองก็คล้ายคลึงกับช่วงรอยต่อก่อนหน้า โดยมีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ทราบข้อมูลแหล่งทุน แหล่งทุนมีจำกัด รวมไปถึงหากต้องการเรียนโดยการใช้ทุน จะต้องเลือกเรียนสาขาที่ให้ทุนและค่าเทอมไม่แพง ซึ่งอาจไม่ตรงตามความต้องการ อีกทั้งยังพบเจอกับปัญหาที่เงินจากแหล่งทุนหรือเงินกู้ให้เงินล่าช้า เกินเวลาการรักษาสิทธิ์และการจ่ายค่าเทอม ประกอบกับนักศึกษาไม่สามารถขอผ่อนผันค่าใช้จ่ายในมหาวิทยาลัยไปก่อนได้

    “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ได้เป็นโจทย์เพียงเศรษฐกิจ การลงพื้นที่-การสำรวจทำให้เราเห็นมิติที่มากกว่าเศรษฐกิจและความห่างไกลของบ้านและโรงเรียน เป็นมิติทางครอบครัวที่ กสศ. อยากเชิญให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญมากขึ้น”

    ลงทุนในมนุษย์ พาประเทศหลุดกับดักรายได้ปานกลาง

    “เราไม่ได้บอกว่าความสำเร็จของเด็กคือไปเรียนมหา’ลัย แต่มันแสดงให้เห็นว่ามีเด็กจำนวนมากทยอยออกจากระบบการศึกษา เป็นเส้นทางเปิดที่ทุกคนค่อยๆ ทยอยออกไปตามจุดต่างๆ ม.3 ออกไปแล้ว 20 เปอร์เซ็นต์ ปวช. และ ม.6 ออกอีก 67.5 เปอร์เซ็นต์ รวมแล้วออกไปประมาณ 150,000 คน”

    จากตัวเลข 150,000 คนที่หลุดจากระบบช่วงรอบต่อ ทำให้ ดร.ไกรยส นำตัวเลขไปเปรียบเทียบกับประชากรวัยเด็กแรกเกิดที่ราว 500,000 คนในช่วงปีที่ผ่านมา ดังนั้น ตัวเลข 150,000 จาก 500,000 จึงนับเป็นตัวเลขที่ ‘สูง’ มาก

    “ตอนนี้ทองแพงมาก แต่มูลค่าเด็กทั้งคนสูงกว่าทองคำ เด็กทุกคนเป็นมนุษย์ทองคำในวันนี้ อย่าปล่อยให้เขาต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา”

    การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ใช่การสงเคราะห์ แต่คือการลงทุนในมนุษย์ที่จะพาทั้งครัวเรือนพ้นกับดักความยากจน เป็นเรื่องเดียวกันกับการพาประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลาง

    ดร.ไกรยส กล่าวถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจ ว่าถ้าสามารถรักษาเด็กไม่ให้หลุดจากระบบได้ จะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 409 ล้านบาทต่อปีถ้าเด็ก ม.3 จำนวน 33,547 คนไม่หลุดจากระบบ สะท้อนให้เห็นว่าผลตอบแทนของการลงทุนในมนุษย์สูงกว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค

    นอกจากนี้ ทุนมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น จะนำไปสู่การขยายฐานภาษีที่กว้างและลึกขึ้น ช่วยเพิ่มรายได้และรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

    “ถ้าเราสามารถลงทุนในทุนมนุษย์อย่างเสมอภาค นี่จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด อย่างน้อยประเทศไทยได้ 3 เด้ง หนึ่ง ประเทศไทยมีทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพในการพัฒนาประเทศ สอง ประเทศไทยพาคนทั้ง 15 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ออกจากกับดักความยากจนได้ในรุ่นของเรา และสาม ประเทศไทยจะออกจากกับดักรายได้ปานกลางในช่วงชีวิตของเรา”

    ข้อเสนอเชิงนโยบาย ลงทุนจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

    จากผลการศึกษาของ กสศ. นำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย 4 ข้อ ดังนี้

    (1) ลงทุนในเด็กและเยาวชนตั้งแต่ระดับปฐมวัย (Invest Early) โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยจากครัวเรือนใต้เส้นความยากจน มุ่งเน้นการลงทุนที่ตัวเด็กและครัวเรือน รวมทั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยของกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว

    ดร.ไกรยส เสริมว่า รัฐบาลควรวางระบบการพัฒนาทุนมนุษย์แบบวงจรปิด (Closed-loop Human Development Model) มุ่งเน้นกระบวนการพัฒนาพัฒนาทุนมนุษย์จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน โดยไม่ปล่อยให้เกิดการสูญเสียเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา

    (2) ลงทุนให้ถูกกลุ่มเป้าหมายสำคัญของประเทศและด้วยวิธีการที่ชาญฉลาด (Invest Smartly) คือการลงทุนสร้างระบบการศึกษาทางเลือกที่ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิตและครอบครัวของเยาวชนมากขึ้น

    กสศ. จึงมีข้อเสนอว่า รัฐควรเพิ่มแรงจูงใจทางภาษี 2 เท่าแก่สถานประกอบการ ภาคเอกชนที่จะทำหน้าที่เป็นระบบการศึกษาทางเลือกให้แก่เยาวชน 150,000 คน ที่ออกจากระบบการศึกษา แต่ยังต้องการพัฒนาทักษะแรงงาน และมีรายได้เสริมระหว่างการพัฒนา รวมไปถึงสมาชิกครัวเรือน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนการเทียบโอนวุฒิและหน่วยกิตให้แก่สถานประกอบการและเยาวชนวัยแรงงาน

    ในข้อเสนอนี้ หน่วยงานผู้พัฒนาทุนมนุษย์ทุกฝ่ายควรพิจารณานำข้อมูลเยาวชน 150,000 คน ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เพื่อหาแนวทางสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์ 20 ปีไร้รอยต่อ (ตั้งแต่ปฐมวัย-อุดมศึกษา) โดย กสศ. ได้พัฒนาระบบสนับสนุนการส่งต่อข้อมูลให้แก่หน่วยงานที่พร้อมร่วมสนับสนุน ภายใต้หลักการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)

    (3) ลงทุนอย่างเสมอภาค (Invest Equitably) ให้ความสำคัญต่อสิทธิทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนมาก่อนเงื่อนไขทางบัญชีและการเงินของสถาบันที่สามารถยืดหยุ่นได้

    ดร.ไกรยส อธิบายว่า สิ่งสำคัญคือ ต้องพิจารณาลดค่าใช้จ่ายในการเตรียมตัวและการสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะเยาวชนผู้มีรายได้น้อยซึ่งต้องแบกรับค่าใช้จ่ายดังกล่าวสูงกว่ารายได้ครัวเรือนถึง 12 เท่า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาของประชากรที่ยากจนที่สุดของประเทศ

    (4) ลงทุนด้วยนวัตกรรมทางการเงินการคลังเพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์ (Invest Innovatively) โดยใช้แรงจูงใจในการลดหย่อนภาษี 2 เท่า มาพัฒนานวัตกรรมความร่วมมือและนวัตกรรมทางสังคม เพื่อสนับสนุนการลงทุนพัฒนาทุนมนุษย์อย่างเสมอภาคและยั่งยืน

    โดย กสศ. เสนอให้ใช้มาตรการกึ่งการคลัง (Quasi-fiscal Policy) เพื่อสนับสนุนงบประมาณในการลงทุนในทุนมนุษย์อย่างเสมอภาคและยั่งยืน เช่น การออกสลากการกุศล หรือออกพันธบัตร ตราสารหนี้ เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน เป็นต้น นอกจากนี้อาจมีการเหนี่ยวนำทรัพยากรจากตลาดเงินและตลาดทุน มาร่วมลงทุนมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการลงทุนในทุนมนุษย์อย่างเสมอภาคและยั่งยืน

    การลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดคือ การลงทุนในเด็กและการพัฒนาทุนมนุษย์” ดร.ไกรยสกล่าว