ThaiPublica > เกาะกระแส > “รากเหง้า” ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และชาติตะวันตก

“รากเหง้า” ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และชาติตะวันตก

15 พฤศจิกายน 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และสี จิ้นผิง จะพบปะเจรจากันเป็นครั้งแรกในรอบปีที่ผ่านมา ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC ในวันที่ 14-16 พฤศจิกายนนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่า ผู้นำทั้งสองจะหารือประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน รวมถึงเรื่องการค้าที่เป็นธรรม และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของสองประเทศ

แต่เป็นเรื่องยากที่สองประเทศจะมีความสัมพันธ์ที่ก้าวหน้าอย่างแท้จริง เพราะทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างก็ถือว่าตัวเองตกอยู่ในสภาพที่แข่งขันกันและกันโดยตรงมากขึ้น ในเรื่องความได้เปรียบทางทหาร ความได้เปรียบของเศรษฐกิจในศตวรรษ 21 และการสนับสนุนจากประเทศอื่นๆ ในโลก

ความขัดแย้งนับวันขยายตัว

หนังสือชื่อ Ultimate Economic Conflict Between China and Democratic Countries (2022) เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และประเทศประชาธิปไตยตะวันตกไว้ว่า ความขัดแย้งจีนกับสหรัฐฯ เริ่มต้นเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งมารุนแรงมากขึ้นในสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์

กรณีของจีน ไม่ใช่เป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ มีความขัดแย้งทางเศรษฐกิจการค้า ในทศวรรษ 1980 สหรัฐฯ เคยมีความขัดแย้งในเรื่องนี้กับญี่ปุ่น แต่สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ แตกต่างจากสงครามการค้าญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ในกรณีหลังนี้ การตัดสินใจทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องของกลไกตลาด
แต่กรณีของจีน เป็นเศรษฐกิจที่มีหลักการพื้นฐานคือเศรษฐกิจสังคมนิยม รัฐเป็นเจ้าของวิสาหกิจ มีการวางแผนเศรษฐกิจ และการกำหนดเป้าหมายของรัฐ

จากจุดนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความขัดแย้งสหรัฐฯ กับจีน มีลักษณะเป็นความขัดแย้งด้านโครงสร้างเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน จากจุดเริ่มต้นเรื่อง “การค้าไม่เป็นธรรม” ขยายตัวไปสู่เรื่องเทคโนโลยีและการเงิน

เดือนมีนาคม 2018 รัฐบาลทรัมป์เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นเงิน 60 พันล้านดอลลาร์ ต่อมาความขัดแย้งขยายตัวออกไปสู่ด้านเทคโนโลยี เมื่อสหรัฐฯ ห้ามการส่งออกชิ้นส่วนให้บริษัท ZTE ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมจีน

เดือนธันวาคม 2018 กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ขอให้แคนาดาจับกุม Weng Wanozhu รองประธาน Huawei ที่ละเมิดกฎหมายการค่ำบาตรสหรัฐฯ โดยส่งออกอุปกรณ์ไปอิหร่านและเกาหลีเหนือ ที่มีชิ้นส่วนของสหรัฐฯ และสะท้อนการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เรื่องการพัฒนาระบบโทรคมนาคม 5G ที่ Huawei เป็นหนึ่งในผู้นำในเรื่องนี้

เดือนสิงหาคม 2020 รัฐบาลทรัมป์สั่งให้บริษัทจำนวนหนึ่ง ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์กและ Nasdaq ต้องขึ้นต่อระบบตรวจสอบบัญชีสหรัฐฯ ไม่เช่นนั้นหุ้นบริษัทจะถูกถอนการซื้อขายในปี 2022 คำสั่งนี้มีผลต่อบริษัทจดทะเบียนที่เกี่ยวข้องกับจีนและฮ่องกงจำนวน 283 บริษัท นับเป็นครั้งแรกที่ ความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ ขยายตัวไปในด้านการเงิน สหรัฐฯยังประกาศรายชื่อบริษัทจีนที่ถูกคว่ำบาตรมากขึ้น

โครงการ Made in China 2025

ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจจีน-สหรัฐฯ มีประเด็นสำคัญคือเรื่องการอุดหนุนของรัฐเดือนกรกฎาคม 2018 สหรัฐฯ เสนอรายงานต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เรื่อง “รูปแบบเศรษฐกิจบิดเบือนการค้าของจีน” (China’s Trade-Disruptive Economic Model) โดยกล่าวหาว่าจีนใช้โมเดลเศรษฐกิจที่ไม่ใช่แบบแผนตามปกติ เช่น ระบบกำกับควบคุมแบบอำนาจนิยมของพรรค-รัฐ การบังคับการถ่ายโอนเทคโนโลยี การขโมยทรัพย์สินทางปัญญา และการใช้นโยบายอุตสาหกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น นโยบาย Made in China 2025

สหรัฐฯ และประเทศตะวันตก มีความกังวลต่อนโยบาย Made in China 2025 เนื่องจากถูกร่างขึ้นมาเพื่อให้ธุรกิจจีน สามารถเป็นบริษัทแนวหน้าชั้นนำ ในอุตสาหกรรมไฮเทค 10 อย่าง การผูกขาดในธุรกิจการเกษตรหรืออุตสาหกรรมดั้งเดิม มีสภาพเป็นไปตามกฎเศรษฐศาสตร์เรื่อง การตอบแทนที่ลดลง (the law of diminishing return) ที่ผู้ผลิตรายใหญ่และรายเล็กล้วนประสบอยู่

ที่มาภาพ : https://www.routledge.com/Ultimate-Economic-Conflict-between-China-and-Democratic-Countries-An-Institutional/

แต่หนังสือ Ultimate Economic Conflict Between China and Democratic Countries บอกว่า การเป็นผู้นำด้านไฮเทคมีความได้เปรียบหลายอย่าง ประการแรก การผูกขาดของอุตสาหกรรมไฮเทคกลับมีลักษณะการให้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมไฮเทคต้องใช้เงินลงทุนสูงในระยะแรกของการพัฒนา แต่เมื่อผู้ผลิตสามารถครองตลาด ต้นทุนผลิตเฉลี่ยจะลดลง ทำให้ผู้ผลิตรายใหม่ยากที่จะเข้ามาแข่งขัน การพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของผู้นำตลาดก็มีค่าใช้จ่ายต่ำ เพราะมีประสบการณ์มาแล้ว

ความได้เปรียบประการที่สองของสินค้าไฮเทค คือ ผลกระทบจากเครือข่าย (network effect) หมายถึงสินค้ามีคุณค่ามากขึ้น เมื่อมีคนนิยมใช้มากขึ้น ความสำเร็จของ Amazon ด้านอีคอมเมิร์ซ ทำให้มีสินค้าเสนอขายมากขึ้น สามารถดึงคนที่เข้ามาดูในเว็บไซต์มากขึ้น ยอดขายและฐานลูกใหญ่มากขึ้น

ประการที่สาม คือความได้เปรียบของผู้นำตลาดในเรื่อง ผลกระทบจากการผูกพันของลูกค้า (customer lock-in effect) เช่น ลูกค้าอีคอมเมิร์ซเคยชินกับเว็บไซต์บริษัทอีคอมเมิร์ซชั้นนำ ทั้งระบบการทำงาน การชำระเงิน และการหาสินค้า จึงไม่ต้องการเปลี่ยนไปเว็บไซต์อื่น

เพราะฉะนั้น จากความได้เปรียบดังกล่าว การอุดหนุนของรัฐบาลจีนต่อนโยบายอุตสาหกรรมไฮเทค Made in China 2025 จึงไม่ใช่เพื่อให้ธุรกิจจีนมีต้นทุนต่ำ หรือสินค้ามีราคาถูกลง แต่ต้องการให้ธุรกิจจีนให้มีฐานะนำในตลาดสินค้าไฮเทค

ความแตกต่างด้านการลงทุนต่างประเทศ

มีตัวอย่างรูปธรรมที่สะท้อนความแตกต่างเรื่องการลงทุนต่างประเทศของชาติตะวันตกกับจีน ปี 2021 Audi ประกาศร่วมทุนกับ FAW ของจีน เพื่อผลิตรถยนต์ EV ออกมาในปี 2024 แม้สหรัฐฯ กับจีนจะเกิดสงครามการค้า แต่บริษัทรถยนต์ชั้นนำของเยอรมัน เช่น BMW Mercides Benz และ Audi ก็ยังลงทุนต่อเนื่องในจีน เนื่องจาก 30-40% ของยอดขายมาจากตลาดจีน นอกจากนี้ อีกปัจจัยหนึ่งเพราะวิศวกรรมรถยนต์ของเยอรมันไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีสหรัฐฯ

ส่วนตัวอย่างการลงทุนต่างประเทศของจีน คือโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ที่จะใช้เงินลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ที่อยู่นอกประเทศจีน 900 พันล้านดอลลาร์ การลงทุนส่วนใหญ่ผ่าน Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประกอบด้วย ท่าเรือ อาคารสูง รางรถไฟ ถนน สนามบิน เขื่อน โรงงานไฟฟ้าถ่านหิน และอุโมงค์รถไฟ โครงการนี้จะเสร็จในปี 2049 ในวาระครบรอบ 100 ปีของสาธารณรัฐประชาชนจีน

สิ่งที่เป็นความแตกต่างด้านการลงทุนต่างประเทศระหว่างชาติตะวันตกกันจีน ประการแรก เนื่องจากธุรกิจของชาติตะวันตกเป็นของเอกชน การตัดสินใจลงทุนเป็นเรื่องการลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ ส่วนการลงทุนของจีน ส่วนใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจ การลงทุนจึงมีทิศทางทางการเมือง

ประการที่สอง การลงทุนของชาติตะวันตกในจีน มีเป้าหมายเฉพาะทางเศรษฐกิจ เช่น ขยายโรงงาน ส่วนการลงทุนต่างประเทศของจีน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ธุรกิจเอกชนไม่ลงทุนในด้านนี้ โครงการ BRI ของจีนจึงมีบทบาทและทำหน้าที่เหมือนธนาคารโลกและ IMF ที่สนับสนุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในหลายประเทศ สิ่งที่แตกต่างกันคือ การลงทุนของ BRI ใช้สินทรัพย์ของประเทศที่กู้เงินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น กรณีท่าเรือ Hambantota ในศรีลังกา

ประการที่สาม การลงทุนต่างประเทศในจีน มีลักษณะเป็น “การเพิ่มอุปสงค์” (demand-pulled) คือการลงทุนที่มาจากความต้องการทางธุรกิจ ส่วนการลงทุนต่างประเทศของจีนมีลักษณะเป็น “การเพิ่มอุปทาน” (supply-pulled) หมายถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่มาจากตัดสินใจจากรัฐบาลลงมา

การบังคับการถ่ายโอนเทคโนโลยี

การบังคับการถ่ายโอนเทคโนโลยี หรือ forced technology transfer (FTT) เป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง ในเรื่องสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ สำหรับจีน การถ่ายโอนเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่คู่ขนานกับการลงทุนต่างประเทศในจีน รูปแบบสำคัญคือการกำหนดเป็นกฎหมายต้องร่วมลงทุนกับบริษัทท้องถิ่น

การบังคับด้านการถ่ายโอนเทคโนโลยี จึงเป็นข้อขัดแย้งสำคัญระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กลุ่ม EU และญี่ปุ่น เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาในช่วงการเปิดประเทศของจีนที่เป็นตลาดใหญ่สุดของโลก จีนยังขาดโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี แต่ FTT กลายเป็นประเด็นสำคัญขึ้นมาเมื่อจีนก้าวเป็นประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 2 และกลายเป็นคู่แข่งตะวันตกในเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

หนังสือ Ultimate Economic Conflict Between China and Democratic Countries สรุปว่า คนส่วนหนึ่งมองความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ ในรูปแบบของ “กับดักทิวซิดิดีส” (Thucydides’s Trap) ที่เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างมหาอำนาจดาวรุ่งกับมหาอำนาจเดิม หากเป็นเช่นนี้จริง ความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ ก็คงเป็นเรื่องการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจเท่านั้น แต่การเผชิญหน้าระหว่างประชาธิปไตยกับระบบอำนาจนิยม หัวใจความขัดแย้งคือค่านิยม และอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน

เอกสารประกอบ

Ultimate Economic Conflict Between China and Democratic Countries, C.Y.C. Chu and Others, Routledge, 2022.