ThaiPublica > เกาะกระแส > การเมืองอเมริกากำลังแตกร้าว จะเกิดอะไรขึ้นกับโลก หากไม่มีประชาธิปไตยในอเมริกา

การเมืองอเมริกากำลังแตกร้าว จะเกิดอะไรขึ้นกับโลก หากไม่มีประชาธิปไตยในอเมริกา

6 มกราคม 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

Thomas Homer-Dixon นักวิชาการจาก Royal Roads University ในแคนาดา เขียนบทความลงใน theglobalandmail.com ว่า ในปี 2025 ระบอบประชาธิปไตยในอเมริกาจะเกิดการล่มสลาย และในปี 2030 หรืออาจจะเร็วกว่านั้น สหรัฐอเมริกาจะถูกปกครองโดยเผด็จการฝ่ายขวา

Thomas Homer-Dixon กล่าวว่า ตัวเขาเองเป็นนักวิชาการที่ศึกษาความขัดแย้งที่รุนแรงมานานกว่า 40 ปี เช่น สาเหตุการเกิดสงคราม การล่มสลายทางสังคม การปฏิวัติ ความรุนแรงทางเชื้อชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทุกวันนี้ เราไม่ควรมองข้ามความเป็นไปได้ที่อเมริกาจะเกิดเผด็จการฝ่ายขวาเพราะคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระที่จะคาดคิดในสิ่งนี้ แต่ในปี 2014 แทบทุกคนมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ทุกวันนี้ สื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียของฝ่ายขวาในสหรัฐฯ เช่น รายการวิทยุ โทรทัศน์ Fox News และ Newsmax ทำหน้าที่คล้ายลิ่ม ที่ตอกให้เกิดรอยร้าวต่อการใช้อำนาจของสถาบันการเมืองสหรัฐฯ จนประเทศตกอยู่ในสภาพที่บริหารปกครองได้ยาก ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในสหรัฐฯ อาจจะเลวร้ายจนก้าวไปสู่สงครามกลางเมืองครั้งใหม่

ที่มาภาพ : scmp.com

ต้นตอทำให้การเมืองแตกร้าว

Thomas Homer-Dixon กล่าวว่าสิ่งที่ทำให้สหรัฐฯ เกือบจะสูญเสียประชาธิปไตย จากเหตุการณ์ฝูงชนบุกโจมตีอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 มาจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งสิ่งที่เป็นความผิดพลาดภายในตัวระบอบการเมืองสหรัฐฯ เอง และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทางสังคม

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ว่านี้ก็คือ รายได้คนชั้นกลางคงที่ชะงักงัน ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจที่เรื้อรัง และความเหลื่อมล้ำที่ขยายตัวขึ้นอย่างมาก สภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะเทคโนโลยีและโลกาภิวัตน์ จากเดิมที่เศรษฐกิจมีรากฐานความมั่งคั่งจากอุตสาหกรรมการผลิต มาเป็นความคิดทางนวัตกรรม เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร และธุรกิจการเงิน

ผลตอบแทนจากแรงงานอยู่ในภาวะคงที่ แต่ผลตอบแทนจากเงินทุนพุ่งสูงขึ้น คนอเมริกันส่วนใหญ่อยู่ในสภาพถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ค่าแรงคนงานระดับกลางในปี 2019 หลังจากหักเงินเฟ้อมีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าของค่าแรงในปี 1997 แต่ในระหว่างปี 1978-2016 รายได้ CEO ของบริษัทขนาดใหญ่ เพิ่มจาก 30 เท่าของรายได้เฉลี่ยพนักงาน มาเป็น 271 เท่า

Thomas Homer-Dixon กล่าวว่า ปัจจัยทางสังคมอีก 2 อย่างที่มีความสำคัญ ได้แก่ ประการแรก ความหวาดกลัวที่ว่าสัดส่วนประชากรที่เป็นคนผิวขาวที่เป็นชาวคริสต์จะลดลง ทำให้ฝ่ายขวานำไปปลุกระดมให้เกิดความกลัวว่า วัฒนธรรมดั้งเดิมของสหรัฐฯ จะถูกลบล้างหายไป และคนผิวขาวถูกแทนที่โดยคนผิวสีอื่น

ปัจจัยที่ 2 คือความเห็นแก่ตัวที่มีอยู่อย่างกว้างขวางในกลุ่มคนชั้นนำ คนที่มั่งคั่งและมีอิทธิพลในสหรัฐฯ ไม่เต็มใจที่จะเสียภาษี ลงทุนในบริการสาธารณะ หรือสร้างช่องทางทำให้เกิดการเลื่อนฐานะทางสังคมในแนวตั้ง ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ การศึกษา เชื้อชาติ และทางภูมิศาสตร์ หากรัฐบาลขาดทรัพยากรที่จะแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ผู้คนก็จะเสื่อมศรัทธาต่อรัฐ หันไปหาความมั่นคงปลอดภัยที่คับแคบซึ่งมาจากกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์พวกเดียวกันแทน

ช่องว่างทางเศรษฐกิจ เชื้อชาติ และสังคม คือสาเหตุที่ทำให้เกิดการแบ่งขั้วทางการเมือง ระหว่างฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย (เสรีนิยมก้าวหน้า) การแบ่งขั้วทางการเมืองเป็นเหตุทำให้รัฐบาลและองค์กรรัฐ ไม่สามารถทำงานตามปกติ สภาพนี้ทำให้ช่องว่างต่างๆ ขยายตัวรุนแรงมากขึ้น ทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายต่างก็แยกตัวออกจากกัน และเกลียดชังกันและกัน

แต่ละฝ่ายต่างก็เห็นว่า การแข่งขันทางการเมืองเป็นเรื่องความเป็นความตาย เพราะมองว่าอีกฝ่ายหนึ่งต้องการทำลายประเทศ ส่วนพวกสายกลางทางการเมืองก็สูญหายไปอย่างรวดเร็ว ส่วนคนอเมริกันเองที่เป็นพลเรือน มีอาวุธปืนในมือถึง 400 ล้านกระบอก

อเมริกาที่ไม่มีประชาธิปไตย

Larry Diamond นักรัฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญเรื่อง ประชาธิปไตย เขียนบทความชื่อ A World Without American Democracy ใน foreignaffairs.com ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ และนักประชานิยมแบบอำนาจนิยม มักใช้วิธีการขัดขวางประชาธิปไตยด้วยยุทธวิธีที่เรียกร้องคนที่สนับสนุนให้ “หยุดยั้ง” การขโมยหรือโกงการเลือกตั้ง พฤติกรรมต่อต้านประชาธิปไตยแบบนี้ ที่มาเกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยที่มีอำนาจอิทธิพลมากสุดของโลกอย่างสหรัฐฯ อาจจะสะท้อนจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ที่อันตราย

Larry Diamond กล่าวว่า ทุกวันนี้ สหรัฐฯ เผชิญกับการเคลื่อนไหวที่ต่อต้านประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มพวกฝ่ายขวาหัวรุนแรงเท่านั้น แต่จากกลุ่มคนที่มีหน้าที่การงานของรัฐด้วย หากการเคลื่อนไหวต่อต้านของคนพวกนี้ประสบความสำเร็จ สหรัฐฯ จะกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีเศรษฐกิจอุตสาหกรรมก้าวหน้าชาติแรกที่ล้มเหลว คือมีระบอบการเมืองไม่เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำของประชาธิปไตย ที่การเลือกตั้งจะต้องเสรีและเที่ยงธรรม

ความล้มเหลวของประชาธิปไตยในสหรัฐฯ จะก่อผลเสียหายไม่จำกัดเฉพาะภายในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่จะมีผลกระทบไปทั่วโลก ในยามที่เสรีภาพและประชาธิปไตยตกอยู่ในภาวะถดถอย

Samuel Huntington นักรัฐศาสตร์ชื่อดัง เคยเขียนไว้ว่า การแพร่กระจายของขบวนการและความคิดประชาธิปไตยจากประเทศหนึ่งไปยังประเทศหนึ่ง ช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบประชาธิปไตยขึ้นมา การดำเนินการที่ต่อต้านประชาธิปไตย ก็จะเกิดการแพร่กระจายในแบบเดียวกัน จากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะถ้ามีต้นตอที่มาจากประเทศที่มีอิทธิพลอำนาจ

ที่มาภาพ : https://democracy-central.org/american-democracy/american-democracy-the-world/

สั่นคลอน 3 เสาหลักประชาธิปไตย

Larry Diamond มองว่า รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ตั้งอยู่บนเสาหลัก 3 อย่าง

  • เสาหลักที่ 1 คืออำนาจอธิปไตยของประชาชน ซึ่งก็คือการปกครองโดยประชาชน ระบอบประชาธิปไตยหมายความว่า ประชาชนสามารถเลือกผู้นำและเปลี่ยนผู้นำผ่านการเลือกตั้ง ที่มีกำหนดเวลาแน่นอน เป็นอิสระ และเที่ยงธรรม ส่วนสิ่งที่มีความสำคัญเช่นเดียวกันก็คือ การจัดการเลือกตั้งต้องทำอย่างเป็นกลาง การนับคะแนนเสียงทำไปอย่างถูกต้อง และก็มอบอำนาจให้กับฝ่ายที่ชนะ
  • เสาหลักที่ 2 ของระบอบประชาธิปไตยแบบเสรี คือเสรีภาพ ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จะให้การปกป้องเต็มที่แก่เสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด การทำหน้าที่สื่อมวลชน สมาคม และการชุมนุมต่างๆ ประชาธิปไตยส่งเสริมวัฒนธรรมการอดทนอดกั้นระหว่างกันและกัน และเคารพต่อสิทธิของคู่แข่งทางการเมือง
  • เสาหลักที่ 3 ของระบบประชาธิปไตย คือ หลักนิติธรรม (rule of law) ที่จะให้ความปกป้องแก่ 2 เสาหลักที่กล่าวมา คือ การปกป้องการปกครองโดยประชากร และปกป้องสิทธิเสรีภาพ หลักนิติธรรมให้หลักประกันว่า จะมีการบังคับใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยอย่างเที่ยงธรรม ผ่านทางตุลาการที่เป็นอิสระ และหน่วยงานกำกับดูแล ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจในทางที่ผิด ในประเทศตะวันตกอื่นๆ ยกเว้นสหรัฐฯ เครื่องมือที่ทำให้ฝ่ายการเมืองมีความรับผิด คือ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เป็นต้น

แต่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีคนแรกสหรัฐฯ ที่แสดงท่าทีเหยียดหยามต่อเสาหลัก 3 อย่างที่ค้ำจุนประชาธิปไตย เช่น โจมตีสื่อมวลชนว่าเป็น “ข่าวปลอม” (fake news) ให้จัดการคู่แข่งทางการเมืองโดยการ “จับขัง” (lock-up) และหลังจากแพ้เลือกตั้งก็กล่าวหาว่าตัวเองถูกโกง

นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ถูกต้องว่า เมื่อทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 2017 คงจะเป็นภัยอันตรายต่อประชาธิปไตยของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพและหลักนิติธรรม แต่นักวิเคราะห์คาดการณ์ผิดในเรื่องความร้ายแรงจากกรณีของทรัมป์ เพราะคิดว่าเมื่อทรัมป์แพ้การเลือกตั้ง พิษร้ายต่อประชาธิปไตยคงจะหมดหายไปจากระบอบการเมืองด้วย และคาดการณ์ผิดเรื่องความรุนแรงที่จะเกิดจากผู้สนับสนุนทรัมป์ รวมทั้งประเมินต่ำไปในเรื่องที่ทรัมป์สามารถทำให้พรรครีพับลิกันจงรักภัคดีต่อตัวทรัมป์ และกลายเป็นพรรคที่เป็นปรปักษ์ต่อประชาธิปไตย

พายุที่กำลังก่อตัว

เมื่อระบอบการเมืองสูญเสียความเห็นพ้องกันของฝ่ายต่างๆ ในเรื่องกติกาของประชาธิปไตย สิ่งนี้ย่อมทำให้เกิดการไถลลื่นไปสู่ระบอบอำนาจนิยม จึงไม่ใช่เรื่องที่คาดคิดไม่ได้ว่าจะเกิดระบอบอำนาจนิยมในสหรัฐฯ

นักรัฐศาสตร์อาจเห็นต่างกันในเรื่องที่ว่า อะไรคือเงื่อนไขหรือมาตรฐานขั้นต่ำของการเป็นประชาธิปไตย แต่ทุกคนเห็นตรงกันในเรื่องหนึ่ง ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย หากไม่มีการจัดการเลือกตั้งอย่างเป็นกลางและเที่ยงธรรม หากไม่มีสิ่งนี้ประเทศนั้นก็หมดความเป็นประชาธิปไตย แม้ในเวลานั้นจะยังมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการด้านประชาธิปไตยกว่า 100 คนจึงออกแถลงการณ์ว่า การที่พรรครีพับลิกันโจมตีหลักการของกระบวนการเลือกตั้ง หมายถึงจุดจบของประชาธิปไตยอเมริกา นักวิชาการเหล่านี้จึงเรียกร้องให้รัฐสภาผ่านร่างกฎหมาย Voting Right Act เพื่อคุ้มครองกระบวนการจัดการเลือกตั้ง ที่เป็นอิสระเที่ยงธรรม

สิ่งที่เกิดขึ้นกับระบอบประชาธิปไตยในสหรัฐฯ จะกำหนดชะตากรรมของประชาธิปไตยทั่วโลกว่า กระแสตกต่ำของประชาธิปไตยในโลก จะได้รับแรงกระตุ้นใหม่ขึ้นมาหรือไม่

เอกสารประกอบ
The American polity is cracked and might collapse. Canada must prepare, December 31, 2021, theglobeandmail.com
A World Without American Democracy? Larry Diamond, July 2, 2021, foreignaffairs.com