ThaiPublica > Native Ad > หวั่นสงครามอิสราเอล-ฮามาส กระทบราคาค่าไฟฟ้าปีหน้า

หวั่นสงครามอิสราเอล-ฮามาส กระทบราคาค่าไฟฟ้าปีหน้า

3 พฤศจิกายน 2023


ยังคงยืดเยื้อ ไม่มีทีท่าจะจบลงง่ายๆ เสียแล้ว สำหรับสถานการณ์ “สงครามอิสราเอล-ฮามาส” หลังจากที่หลายฝ่ายเฝ้าติดตามและประเมินในช่วงแรก ๆ ว่าอาจจะไม่กระทบต่อราคาพลังงานโลกมากนักเพราะพื้นที่

การสู้รบอยู่ห่างจากแหล่งผลิตน้ำมัน แต่ก็ยอมรับว่ามีผลกระทบทางด้านจิตวิทยาต่อความกังวลของตลาดราคาพลังงานโลกจนเกิดความผันผวนของราคาแต่ไม่มาก มาวันนี้ ต้องบอกว่าสถานการณ์ดังกล่าวได้เพิ่มความกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันโลกขาดแคลน และมีแนวโน้มจะกดดันให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น ราคาทองคำสูงขึ้น รวมทั้งการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ซึ่งผลพวงดังกล่าวอาจจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประเทศในช่วงปีหน้าก็อาจเป็นได้

โดยตั้งแต่สงครามอิสราเอลและกลุ่มฮามาสเริ่มเปิดฉากขึ้น เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวสูงขึ้นเกือบร้อยละ 5 จากระดับ 84.8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 88.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในวันที่ 10 ตุลาคม 2566 แต่ยังคงแตะอยู่ในระดับ 88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงวันที่ 11-13 ตุลาคม 2566 เนื่องจากไม่กระทบต่อการผลิตน้ำมัน เพราะอิสราเอลผลิตน้ำมันแค่วันละ 300,000 บาร์เรล

อย่างไรก็ตาม หากสงครามระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์นำไปสู่การสร้างความขัดแย้งทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง ผลกระทบต่อตลาดน้ำมันมีแนวโน้มรุนแรงจะมากขึ้น โดยผู้ค้าน้ำมันต่างจับตามองไปที่ความเคลื่อนไหวของอิหร่าน ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญต่อสถานการณ์สงครามครั้งนี้ ในฐานะเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่และผู้สนับสนุนกลุ่มฮามาส โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมากกับกลุ่มประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้านั้นจากตะวันออกกลาง และประเทศที่ต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงประเทศไทยจะได้รับผลกระทบมากหากสงครามลุกลามรุนแรงและยืดเยื้อ ราคาน้ำมันดิบจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันอาจพุ่งขึ้นแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากอิหร่านยึดช่องแคบฮอร์มุชที่มีการขนส่งน้ำมันวันละ 17.2 ล้านบาร์เรล คิดเป็นร้อยละ 20 ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลก ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุปทานนั้นตึงตัว อาจทำให้บางประเทศเกิดการขาดแคลนน้ำมันได้

ขณะที่สถานการณ์ก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจรหรือ Spot LNG แม้จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส แต่ราคาก็มีการปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากจะเข้าฤดูหนาว โดยราคาได้ปรับลดลงจากระดับ 29 ดอลล่าร์/ล้านบีทียู ในช่วงเดือน มกราคม 2566 มาอยู่ในระดับ 10-11 ดอลล่าร์/ล้านบีทียูในช่วงกลางปี หลังจากนั้นก็ทยอยปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ในระดับ 13-14 ดอลล่าร์/ล้านบีทียูในช่วงต้นเดือน กันยายน

หลังเหตุการณ์สงครามราคาได้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 18.4 ดอลล่าร์/ล้านบีทียู ในวันที่ 20 ตุลาคม 2566 และแนวโน้มน่าจะปรับตัวสูงขึ้นในระดับ 19-20 ดอลล่าร์/ล้านบีทียูในช่วงปลายปีนี้

ทั้งนี้สถานการณ์สงครามที่ส่อเค้ายืดเยื้อและการเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวของประเทศตะวันตก ก็อาจให้เกิดความกังวลล่วงหน้าถึงค่าไฟฟ้าในปีหน้า เพราะเมื่อมองย้อนสำรวจเรื่องอัตราค่าไฟฟ้าเอฟที ประจำงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศอยู่หน่วยละ 4.45 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เป็นการคำนวณตามต้นทุนที่แท้จริง แต่รัฐบาลมีนโยบายปรับลดเหลือ 3.99 บาท/หน่วย เป็นผลให้เกิดส่วนต่าง 46 สตางค์/หน่วย ทำให้ กฟผ. สมควรจะได้รับชำระหนี้ที่ติดไว้ 38.31 สตางค์/หน่วย ก็ไม่ได้รับคืน
ส่วนอีก 7.69 สตางค์/หน่วยนั้นให้ ปตท. ร่วมรับภาระคิดเป็นวงเงินประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการปรับลดราคาก๊าซธรรมชาติส่วนต่างจาก 346.48 บาท/ล้านบีทียู ลงเหลือ 304.79 บาทต่อล้านบีทียู

สถานการณ์ในขณะนี้ ทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ราคาก๊าซธรรมชาติ Spot LNG ที่ปรับตัวสูงขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง รวมทั้งภาระหนี้ของ กฟผ. จำนวน 138,485 ล้านบาท ซึ่งเดิมคาดว่าจะได้ทยอยคืนให้แต่ก็ไม่ได้รับ แถมยังติดค่าก๊าซธรรมชาติที่ ปตท. รับไว้อีก 8,000-9,000 ล้านบาท ก็ได้แต่ทำใจ และพอจะมองออกว่าค่าไฟฟ้าปีหน้าจะไปทางไหน ซึ่งงานนี้ ถือเป็นโจทย์ยากของ กกพ. อยู่ไม่น้อย ที่จะต้องบริหารค่าไฟฟ้าในรอบเดือน มกราคม-เมษายน 2567 อย่างไร ท่ามกลางปัจจัยลบต่าง ๆ ที่เข้ามาพร้อมกัน