ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาอุตฯชงรัฐบาลใหม่รื้อโครงสร้างราคาพลังงาน – แก้ค่าไฟแพงภายใน 90 วัน

สภาอุตฯชงรัฐบาลใหม่รื้อโครงสร้างราคาพลังงาน – แก้ค่าไฟแพงภายใน 90 วัน

29 มีนาคม 2023


นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

สภาอุตฯเผยผลสำรวจซีอีโอ 427 คน ชง 9 พรรคการเมืองว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ เร่งปรับโครงสร้างราคาพลังงาน – แก้ปัญหาค่าไฟแพง – ยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ ภายใน 90 วัน พร้อมจี้รัฐบาลประยุทธ์ปรับลดค่าไฟงวดที่ 2 ของปี 2566 เหลือ 4.40 บาท

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 27 ในเดือนมีนาคม 2566 ภายใต้หัวข้อ “สิ่งที่อยากให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการใน 90 วันแรก” พบว่า สิ่งที่ผู้บริหาร ส.อ.ท. อยากให้รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ เร่งดำเนินการภายใน 90 วันแรกของการทำงาน โดยการสำรวจความเห็นครั้งนี้ได้แบ่งตามปัญหา 5 ด้านที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ได้แก่ ปัญหาราคาพลังงานและค่าไฟฟ้าแพง ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบแพง ปัญหาต้นทุนทางการเงิน ปัญหาแรงงาน และปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งในแต่ละเรื่องมีข้อเสนอที่ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเลือกสูงสุดดังนี้

    1) ปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ เช่น ค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ รวมทั้ง ปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้าให้สมดุล
    2) ทบทวนปรับลดโครงสร้างอัตราภาษีนำเข้าในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบที่ไม่กระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ
    3) ออกมาตรการช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตให้แก่ SMEs ที่อยู่ในระบบภาษี เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ลดค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นต้น
    4) สนับสนุนระบบการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) และรัฐปรับปรุงระบบสวัสดิการแรงงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับแรงงาน
    5) ปรับปรุงกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาตภาครัฐ และที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ รวมทั้งยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัย

ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้มีการนำเสนอผลสำรวจ FTI Poll นี้ ให้แก่ผู้แทนพรรคการเมืองทั้ง 9 พรรค ที่เข้าร่วมเสวนา “วิสัยทัศน์การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย” ในการประชุมสามัญ ส.อ.ท. ประจำปี 2566 พร้อมทั้งได้ส่งมอบรายงานข้อเสนอแนะต่อภาครัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบการจากปัญหาเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการสะท้อนความเห็นและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาให้กับภาคอุตสาหกรรม และเป็นการบ้านสำคัญให้กับพรรคการเมืองที่จะเข้ามาบริหารประเทศในอนาคตต่อไป

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 427 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 27 จำนวน 5 คำถาม ดังนี้

1. รัฐบาลใหม่ควรเร่งแก้ไขปัญหาราคาพลังงานและค่าไฟฟ้าแพงในเรื่องใด (Multiple choices)

อันดับที่ 1 : ปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ เช่น ค่าไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้าให้สมดุล 77.8%
อันดับที่ 2 : ปรับลดอัตราค่า Ft ประจำเดือน กันยายน-ธันวาคม 2566 เพื่อลดภาระผู้ประกอบการ 70.0%
อันดับที่ 3 : แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านพลังงาน (กรอ.พลังงาน) 50.6%
อันดับที่ 4 : เปิดให้เอกชนขายไฟฟ้าส่วนที่เกินจากการใช้ งานผ่านระบบส่ง/จำหน่ายของการไฟฟ้าฯ และมีระบบหักลบหน่วยใช้ไฟฟ้าที่ขายคืนการไฟฟ้าฯ เข้าระบบ (Net Metering) 49.6%

2. รัฐบาลใหม่ควรเร่งแก้ไขปัญหาต้นทุนวัตถุดิบแพงและการสร้าง Supply Chain Security ในเรื่องใด (Multiple choices)

อันดับที่ 1 : ทบทวนปรับลดโครงสร้างอัตราภาษีนำเข้าในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบที่ไม่กระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ 65.3%
อันดับที่ 2 : ลดขั้นตอนและค่าธรรมเนียมด้านศุลกากร และส่งเสริมการใช้งานแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย เช่น National Digital Trade Platform (NTDP) 58.3%
อันดับที่ 3 : จัดทำแผนพัฒนาและรองรับปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) โดยเฉพาะสินค้าจำเป็นของประเทศ 54.6%
อันดับที่ 4 : เร่งให้ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือสินค้าที่สามารถหมุนเวียนเอาทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตามหลัก Circular Economy 49.6%

3.รัฐบาลใหม่ควรเร่งแก้ไขปัญหาต้นทุนทางการเงินในภาคธุรกิจอย่างไร (Multiple choices)

อันดับที่ 1 : ออกมาตรการช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตให้แก่ SMEs ที่อยู่ในระบบภาษี เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ลดค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นต้น 60%
อันดับที่ 2 : ปรับปรุงเงื่อนไขการขอรับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนสำหรับ SMEs ให้สะดวกและง่ายยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ 59.5%
อันดับที่ 3 : ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง และเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ประชาชน 58.3%
อันดับที่ 4 : ให้สถาบันการเงินของรัฐปล่อยสินเชื่อ Supply Chain Finance ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจให้กับ SMEs 55%

4.รัฐบาลใหม่ควรแก้ไขปัญหาแรงงานอย่างไร (Multiple choices)

อันดับที่ 1 : สนับสนุนระบบการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) และรัฐปรับปรุงระบบสวัสดิการแรงงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับแรงงาน 65.8%
อันดับที่ 2 : จัดสรรงบประมาณในการ Up-skill/Re-skill/Multi-skill/Future-skill บุคลากรให้เหมาะสมกับธุรกิจยุคใหม่ 65.1%
อันดับที่ 3 : กำหนดให้การเพิ่มผลิตภาพแรงงานเป็นวาระแห่งชาติ (Labour Productivity) เพื่อให้เกิดการบูรณาการการพัฒนาบุคลากรจากทุกภาคส่วน 63%
อันดับที่ 4 : พัฒนาระบบฐานข้อมูล Big data เพื่อวางแผนพัฒนากำลังคนทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน 48.5%

5.รัฐบาลใหม่ควรแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างไร (Multiple choices)

    อันดับที่ 1 : ปรับปรุงกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาตภาครัฐ และที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ รวมทั้งยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัย 74.7%
    อันดับที่ 2 : ปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแก้ปัญหาการฮั้วประมูล 62.1%
    อันดับที่ 3 : ปรับรูปแบบจากระบบการขออนุมัติอนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐมาเป็นการรายงานผลการปฏิบัติตามกฎหมายและตรวจติดตามผล 58.3%
    อันดับที่ 4 : เร่งรัดหน่วยงานภาครัฐในการปรับปรุงวิธีการปฏิบัติงานให้สอดคล้องตาม พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ประมาณ 55.5%

ส่วนแนวทางการรปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าในงวดที่ 2 ของปี 2566 (พ.ค.-ส.ค. 2566) ให้ลดต่ำลงกว่า 4.40 บาท/หน่วย นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า 4 ประเด็นดังนี้

1) สมมุติฐานที่ใช้กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าในงวดนี้ Conservative มากเกินไป จากสมมุติฐานเดิม (งวด1/2566) กำหนดใช้หนี้ กฟผ.ภายใน 3 ปี ส่วนสมมุติฐานใหม่ (งวด 2/2566) ปรับลดเหลือ 2 ปี ทั้ง ๆที่แนวโน้มของราคาพลังงานในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนี้ คาดว่าจะทำให้ภาระหนี้ของ กฟผ.หมดเร็วกว่ากำหนดแน่นอน ถามว่าทำไมต้องเร่งคืนหนี้ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายแห่งประเทศไทย(กฟผ.)

2) เร่งลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า จากการที่ภาครัฐเคยประกาศว่า ปริมาณก๊าซธรรมชาติ (NG) ราคาถูกจากอ่าวไทยจะเข้าสู่ระบบมากขึ้น ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566 ดังนั้นสัดส่วนการนำเข้า LNG ควรจะลดลงหรือไม่?

3) ความชัดเจน และ โปร่งใสของตัวเลขต้นทุน LNG หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า ควรจะใช้ราคา LNG นำเข้าล่าสุดตามแผนการนำเข้า LNG ในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 ไม่ควรใช้ราคาเฉลี่ย ตามกลไกเดิมๆที่ราคา 20 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู ซึ่งปัจจุบันราคา LNG นำเข้าเฉลี่ยอยู่ที่ 13 ดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น

4) ภาคนโยบาย ควรสนับสนุนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กกพ.ดังนี้

4.1) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ฯ ควรมีนโยบาย หรือ แนวทาง ให้ กกพ. ทบทวนราคาค่าไฟฟ้าในงวดที่ 2 ของปี 2566 เนื่องจากยังพอมีเวลาที่จะพิจารณาทบทวน ก่อนที่จะถึงเดือนพฤษภาคม 2566 อีก 1 เดือน

“ประเด็นนี้ผมมองว่าไม่ถือเป็นการแทรกแซงเชิงนโยบาย หรือ เป็นการหาเสียงใดๆของรัฐบาลรักษาการ เพราะเป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ควรจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาที่เป็นธรรมมากกว่าราคาค่าไฟฟ้าที่ กกพ.ประกาศเมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา” นายอิศเรศ กล่าว

4.2 ตัวเลขสมมุติฐานทุกตัวที่จัดทำโดยหน่วยงาน Operators ที่เกี่ยวข้องที่นำมาใช้ในการคำนวณ ควรมองภาพทิศทางที่เป็นบวกต่อประชาชน และประเทศให้เต็มที่ และเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างโปร่งใส เนื่องจากระบบ Cost plus ต่อค่า Ft มันคือภาระของผู้บริโภคไฟฟ้าทุกคน

“สรุปภาครัฐทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีความกล้าหาญ และความจริงใจ โดยเน้นการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนคนไทยทุกคนมากกว่าการเกรงใจโรงไฟฟ้าเอกชนหรือไม่ อย่างไร” นายอิศเรศ กล่าวทิ้งท้าย