โดย รศ.ดร. จุฑาทิพย์ จงวนิชย์, รศ.ดร. อาชนัน เกาะไพบูลย์ ศูนย์วิจัยความสามารถในการแข่งขัน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การโจมตีครั้งใหญ่อย่างไม่ทันตั้งตัวของกลุ่มฮามาสซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาต่ออิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ถือเป็นการโจมตีอิสราเอลครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี และทำให้เกิดการตอบโต้จากอิสราเอลอย่างรุนแรง เหตุการณ์ความไม่สงบข้างต้นจึงอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่บั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤต COVID-19 เพิ่มเติมจากเหตุการณ์ก่อนหน้า ทั้งสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯและพันธมิตรกับจีน บทความนี้จัดทำขึ้นเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของความขัดแย้งดังกล่าวที่มีต่อเศรษฐกิจไทย โดยจำแนกออกเป็นช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้สามารถกำหนดแนวทางการวางแผนรับมือผลกระทบได้อย่างเหมาะสมและเป็นระบบ
ผลกระทบภายใต้ความขัดแย้งไม่ขยายวงกว้าง
ผลกระทบทางตรง
โครงสร้างการค้าระหว่างประเทศทั้งของไทยและอิสราเอลชี้ให้เห็นว่าทั้งสองประเทศมีการค้าระหว่างกันจำกัด กล่าวคือ มูลค่าที่ไทยส่งออกไปอิสราเอลคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.3 ของการส่งออกรวมของไทย ในขณะที่มูลค่าที่ไทยนำเข้าจากอิสราเอลคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.21 ดังนั้นเหตุการณ์ความไม่สงบจึงไม่น่าส่งผลกระทบทางตรงผ่านการค้าต่อเศรษฐกิจไทย ผลกระทบที่ค่อนข้างจำกัดตั้งบนสมมติฐานที่ว่าความขัดแย้งไม่ขยายวง
อย่างไรก็ตามหลายผลิตภัณฑ์ อิสราเอลเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยและอาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในอิสราเอล โดยเฉพาะ รถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ไทยส่งออกไปอิสราเอลคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 ของการส่งออกรวมของไทย เครื่องประดับ (เครื่องเพชร) และตู้เย็น ที่สัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 ของการส่งออกรวมของไทย (ตารางที่ 1) สำหรับปลาทูน่ากระป๋อง แม้อิสราเอลเป็นตลาดสำคัญหนึ่งของไทย (คิดเป็นร้อยละ 3.5) แต่ผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าวอาจไม่มากเฉกเช่นในกรณีของสินค้าอื่นข้างต้น เพราะเป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิต มีความเป็นไปได้เช่นกันที่ความต้องการอาจปรับเพิ่มขึ้นท่ามกลางความขัดแย้ง
มีสินค้าหลายรายการที่อิสราเอลเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญของไทย โดยเฉพาะอุปกรณ์ทางการแพทย์ (HS 90) เคมีภัณฑ์ (HS 28) (เช่น ไนเตรต โปแตสเซียม) และปุ๋ย (HS31) ไทยนำเข้าจากอิสราเอลในสัดส่วนที่สูง คิดเป็นกว่าร้อยละ 50 ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยในรายการสินค้านั้น ๆ (ตารางที่ 2) ผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบต่อสินค้านำเข้าขึ้นอยู่กับว่าไทยสามารถหาแหล่งนำเข้าอื่น ๆ เพื่อทดแทนอิสราเอลได้มากน้อยเพียงใด
นอกจากนั้นเหตุการณ์ความไม่สงบส่งผลกระทบทางตรงต่อไทยผ่านการท่องเที่ยวและการที่แรงงานไปทำงานในอิสราเอล แต่ผลกระทบคาดว่าจะมีจำกัด โดยในช่วงปี 2022 และ 2023 (ม.ค.-ก.ย.) มีชาวอิสราเอลเข้ามาท่องเที่ยวในไทย 145,000 คน และ 186,000 คน ตามลำดับ หรือคิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 1 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด ในขณะที่แรงงานไทยที่ไปทำงานที่อิสราเอลมีประมาณ 9,500 คน แรงงานเหล่านี้ส่งเงินกลับไทยปีละประมาณ 7,500 ล้านบาท2 หรือคิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 0.05 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเท่านั้น ในขณะที่หลายปีที่ผ่านมาไม่ปรากฏข้อมูลว่ามีนักลงทุนจากอิสราเอลเข้ามาลงทุนในไทยพิจารณาจากทั้งข้อมูลดุลการชำระเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย และการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ดังนั้นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยผ่านทั้ง 3 ช่องทางข้างต้นคาดว่าจะจำกัด
ผลกระทบทางอ้อม
เหตุการณ์ความไม่สงบส่งผลกระทบทางอ้อมต่อไทยได้อย่างน้อย 3 ช่องทาง
ช่องทางแรก คือ ผลกระทบผ่านที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และส่งผลต่อมายังไทยที่เป็นประเทศเล็กและมีระบบเศรษฐกิจที่เปิด ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยหลายประเทศเช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน เป็นคู่ค้าสำคัญของอิสราเอลและได้รับผลกระทบทางตรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ดังนั้นเหตุการณ์ความไม่สงบจึงคาดว่าจะส่งผ่านไปยังประเทศเหล่านี้และบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ความต้องการสินค้าและบริการของโลก รวมทั้งไทยจึงคาดว่าจะชะลอตัวลง โดย IMF ได้ปรับลดการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของปี 2024 เพียง 0.1 จุดร้อยละเท่านั้น จากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 2.9 (IMF, 2023a & 2023b; Rappeport and Cohen, 2023) หากความขัดแย้งไม่ยืดเยื้อ ดังนั้นผลกระทบทางลบผ่านช่องทางนี้คาดว่าจำกัด
ช่องทางที่สอง คือ ผลกระทบที่มีต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมัน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาผลกระทบยังมีจำกัด ดังสะท้อนในราคาน้ำมันดิบในตลาด Brendt ที่แม้ปรับเพิ่มขึ้นแต่ยังต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ช่องทางที่สุดท้าย คือ ผลกระทบผ่านห่วงโซ่อุปทานของโลก หรือ Global Value Chain (GVC) ที่ทั้งไทยและอิสราเอลมีส่วนร่วม หากพิจารณาตำแหน่งของอิสราเอลใน GVC เชื่อว่าผลกระทบผ่านทางช่องนี้คาดว่ามีผลจำกัด บทบาทของอิสราเอลใน GVC ของโลก คือ ผู้ส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยการส่งออกชิ้นส่วนของอิสราเอลคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.5 ของการส่งออกโลก3 แต่หากเทียบกับขนาดของประเทศไม่ว่าจะพิจารณาจากจำนวนประชากรที่มีเพียง 9 ล้านคน มีพื้นที่เพียง 8.7 พันตารางไมล์ (ไทย 198 พันตารางไมล์) การส่งออกสินค้าดังกล่าวถือว่าเป็นสินค้าสำคัญของอิสราเอล
สินค้า GVC ที่อิสราเอลส่งออกเกือบทั้งหมดเป็นชิ้นส่วน คิดเป็นกว่าร้อยละ 90 ของการส่งออก GVC รวม (ชิ้นส่วนและสินค้าสำเร็จรูป) ชิ้นส่วนที่ส่งออกกระจุกตัวสูงมากและส่วนใหญ่เป็นวงจรที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Chip ชิ้นส่วนที่มีการส่งออกสูงสุด 3 จากทั้งหมดกว่า 300 รายการ ได้แก่
-
(1) HS 854231 วงจรที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ logic Chip (คิดเป็นร้อยละ 43.4 ของการส่งออกของอิสราเอล คิดเป็นร้อยละ 1-3 ของ logic Chip ทั้งหมดในตลาดโลกในช่วงปี 2017-2022)
(2) HS 851762 ชิ้นส่วนที่ใช้ในสมาร์ทโฟน (คิดเป็นร้อยละ 14.2 ของการส่งออกของอิสราเอล); และ
(3) HS 854239 วงจรที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ (ร้อยละ 4.6)
ทั้งสามรายการมีมูลค่ารวมคิดเป็นร้อยละ 60 ของการส่งออกรวมของอิสราเอล
ตลาดส่งออกของอิสราเอลสำหรับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้เป็นประเทศผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลกเกือบทั้งสิ้น โดยในปี 2022 ตลาดส่งออกสำคัญ 10 ประเทศของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากอิสราเอล ได้แก่ (1) สหรัฐฯ (21.2%); (2) ไอร์แลนด์ (20.7%); (3) จีน (18.7%); (4) เยอรมัน (4.5%); (5) อินเดีย (4.2%); (6) เกาหลีใต้ (2.8%); (7) สิงคโปร์ (2.7%); (8) เนเธอร์แลนด์ (2.7%); (9) ไต้หวัน (2.5%) และ (10) สหราชอาณาจักร (1.7%) (ข้อมูลปี 2022)
โครงสร้างการนำเข้าผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์กระจายตัวมากกว่าเมื่อเทียบกับการส่งออก ผสมผสานระหว่างสินค้าสำเร็จรูป เช่น Smart Phone (HS 851713) และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตามแหล่งนำเข้าผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของอิสราเอลกระจุกตัวสูงเหมือนทางด้านการส่งออก โดยแหล่งนำเข้า 10 อันดับแรกของอิสราเอลในปี 2022 ได้แก่ (1) จีน (29.6%); (2) สหรัฐฯ (15.2%); (3) เยอรมัน (7.9%); (4) ไต้หวัน (5.3%); (5) สหราชอาณาจักร (5.2%); (6) ตุรกี (3.1%); (7) อิตาลี (2.8%); (8) เกาหลีใต้ (2.6%); (9) สาธารณรัฐเชค (2.4%); และ (10) ฝรั่งเศล (2.1%) โดย 10 ประเทศมีสัดส่วนรวมกันเท่ากับ 76.2% (ข้อมูลปี 2022)
นอกจากนั้นบทบาทสำคัญของอิสราเอล คือ แหล่งรวมของแรงงานทักษะสูง ทั้งการออกแบบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงกลุ่ม Startup สำคัญของโลก ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการกำหนดความสามารถในการแข่งขันของ GVC (King, 2023)
บทบาทและโครงสร้างของอิสราเอลดังกล่าวชี้ให้เห็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตโดยอิสราเอลน่าจะเป็นชิ้นส่วนที่มีความสลับซับซ้อน และมีบทบาทสำคัญ (Critical parts) ในการกำหนดการทำงานของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ชิ้นส่วนเหล่านี้เป็นส่วนประกอบ ดังนั้นเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นอาจทำให้การผลิตและการส่งมอบชิ้นส่วนเหล่านี้สะดุด และส่งผลกระทบต่อการผลิตและการดำเนินงานของ GVC อย่างไรก็ตามด้วยสัดส่วนที่ต่ำของชิ้นส่วนจากอิสราเอลในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง ความสามารถในการทดแทน Chip ที่ผลิตจากอิสราเอลคาดว่าอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ดังนั้นผลกระทบจากการขาดแคลน Chip ต่อ GVC โลกจึงคาดว่าจะไม่มาก
ในส่วนของการย้ายฐานการผลิตและแรงงานทักษะสูงจากอิสราเอลมีโอกาสเกิดขึ้น แต่ไทยน่าได้ประโยชน์ในส่วนนี้จำกัดเนื่องจากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่อิสราเอลผลิตคาดว่าเป็นชิ้นส่วนที่มีความสลับซับซ้อนและต้องการแรงงานทักษะสูง ประเทศในสหภาพยุโรป (เช่น ไอร์แลนด์ โปแลนด์) ที่มีความเชื่อมโยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์น่าจะเป็นประเทศที่มีแนวโน้มที่ได้รับประโยชน์ส่วนนี้มากกว่า ประเทศในแถบเอเชียที่มีการพัฒนาทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความสลับซับซ้อน เช่น สิงคโปร์ หรือมาเลเซียเป็นอีกกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ในส่วนนี้มากกว่าไทย
ผลกระทบในสถานการณ์ความไม่สงบขยายวงกว้าง
ผลกระทบจะมีความรุนแรงขึ้นอย่างมากหากสถานการณ์ความไม่สงบขยายขอบเขตที่มีประเทศอื่น ๆ (เช่นอิหร่าน ซีเรีย) เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยความรุนแรงเกิดขึ้นทั้งทางทางตรงและทางอ้อม
ผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจไทยเกิดขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในตะวันออกกลางที่กระทบทั้งการค้า การท่องเที่ยว และคนไทยที่ทำงานในตะวันออกกลาง4 ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าอิสราเอลเพียงประเทศเดียว
ไทยส่งออกไปตะวันออกกลางโดยรวมคิดเป็นร้อยละ 4.3 ของการส่งออกรวมในปี 2022 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.8 ในปี 2021 นอกจากนั้นหลายผลิตภัณฑ์ เช่น ข้าว รถยนต์นั่ง รถกระบะ ปลาทูน่ากระป๋อง ไฟเบอร์บอร์ด เครื่องปรับอากาศ และ เครื่องประดับ ที่ภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นตลาดส่งออกสำคัญ โดยเฉพาะรถยนต์นั่ง ภูมิภาคตะวันออกกลางคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงประมาณร้อยละ 25-30 ของการส่งออกรถยนต์นั่งรวมของไทย (ตารางที่ 3) ในขณะที่ไทยพึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ปุ๋ย และผลิตภัณฑ์เหล็กจากตะวันออกกลางในสัดส่วนที่สูง โดยเฉพาะในส่วนของน้ำมันปิโตรเลียมที่ไทยนำเข้าจากตะวันออกกลางสูงถึงร้อยละ 60 ของการนำเข้ารวม หรือปุ๋ย (ไนโตรเจน) ที่มีสัดส่วนการนำเข้าสูงถึงร้อยละ 70 (ตารางที่ 4) สถานการณ์ความไม่สงบที่ขยายวงกว้างน่าจะส่งผลต่อปริมาณและราคาสินค้านำเข้า ภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพของผู้บริโภคไทยในวงกว้าง
การท่องเที่ยวเป็นอีกภาคเศรษฐกิจหนึ่งที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบทางตรงหากสถานการณ์ความไม่สงบยืดเยื้อ แต่ผลกระทบทางตรงนี้จะไม่รุนแรงเท่าภาคการค้า วันนี้นักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางมีประมาณ 500,000 คนในปี 2022 และเพิ่มเป็น 700,000 คนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2023 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 2-3 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด
วันนี้ยังมีแรงงานไทยจำนวนมากที่ไปทำงานในตะวันออกกลาง โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 25-30 ของแรงงานที่ไปทำงานในต่างประเทศทั้งหมด (ข้อมูลปี 2022) แรงงานเหล่านี้ส่งเงินกลับบ้าน เหตุการณ์ความไม่สงบคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเงินโอนจากการไปทำงานต่างประเทศที่มีมูลค่าประมาณร้อยละ 0.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
ผลกระทบต่อการลงทุนจากตะวันออกกลางคาดว่ามีจำกัด เพราะสัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนตะวันออกกลางยังมีจำกัดคิดเป็นเพียงไม่ถึงร้อยละ 1 ของการลงทุนโดยตรงรวม (ค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2017-22)
ในขณะที่เหตุการณ์ความไม่สงบที่ยืดเยื้อจะบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าและบริการในวงกว้างกับทุกประเทศ รวมทั้งไทย ถึงแม้ว่าสินค้าเกษตรและอาหารซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นน่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าก็ตาม สำนักพยากรณ์ทั้งองค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันการเงินชั้นนำของโลกคาดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ (Fleming and Smith, 2023)
บทสรุปและแนวทางการรับมือ
ผลกระทบของเหตุการณ์ความไม่สงบที่กำลังเกิดขึ้นในตะวันออกกลางถ้าไม่ยืดเยื้อและขยายวงมีจำกัดทั้งทางตรงและทางอ้อม มีบางผลิตภัณฑ์ เช่น รถยนต์ เครื่องประดับ ที่ต้องจับตามากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในบางผลิตภัณฑ์ เช่น ทูน่ากระป๋อง ข้าว แต่ผลกระทบต่อสินค้าเหล่านี้คาดว่าจะจำกัดเพราะเป็นสินค้าจำเป็น หรืออาจมีความต้องการเพิ่มขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งได้เช่นกัน
มีสินค้านำเข้าหลายรายการ เช่น ปุ๋ย อุปกรณ์การแพทย์ เคมีภัณฑ์บางรายการ (เช่น ไนเตรด โพทัสเซียม) ที่ไทยพึ่งพาจากอิสราเอลจำนวนมาก ผลกระทบทางตรงด้านอื่น ๆ ไม่ว่าเป็นการท่องเที่ยว แรงงาน และเงินโอนจากการไปทำงานในต่างประเทศน่าจะมีผลจำกัด
หากเหตุการณ์ความไม่สงบยังไม่ขยายวงและจบลงในระยะเวลาอันสั้น ผลกระทบทางอ้อมคาดว่าจะจำกัดเช่นกันทั้งในส่วนของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการสะดุดของ supply chains
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด หากสถานการณ์ความไม่สงบยืดเยื้อ และขยายวงทำให้หลายประเทศเข้าไปเกี่ยวข้อง ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจะรุนแรงขึ้นอย่างมาก การติดตามสถานการณ์และประเมินผลกระทบอย่างต่อเนื่องยังเป็นสิ่งจำเป็น
นอกจากนั้นไทยควรเตรียมมาตรการกระจายตลาดทั้งทางด้านการส่งออกและนำเข้าโดยเฉพาะสินค้าที่ไทยมีความเชื่อมโยงกับประเทศอิสราเอล (และอาจรวมถึงกลุ่มประเทศตะวันออกกลางโดยรวม) เพื่อลดผลกระทบและเพิ่มความยั่งยืน (Resilience) ของการส่งออกของไทยในระยะยาว ในส่วนของพลังงานประเทศคงต้องเร่งเพิ่มการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ (energy efficiency) และการเร่งการใช้พลังงานทดแทน (renewable energy) เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
สิ่งที่ควรให้ความสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การลดต้นทุนการส่งออก และ/หรือการบุกตลาด และจัดหาแหล่งนำเข้าใหม่ ซึ่งมีหลายมาตรการที่สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็น การใช้ความตกลงทางด้านดิจิทัลเข้ามาช่วย (เช่น ระบบ Paperless) การใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอที่ลงนามไปแล้วและเปิดตลาดกับประเทศคู่ค้าใหม่ การขยายความร่วมมือในส่วนของการทำความตกลงยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangement หรือ MRA) ซึ่งเป็นความตกลงที่เสนอให้คู่ค้าแต่ละฝ่ายยอมรับมาตราฐานและการตรวจสอบสินค้าของกันและกันในการทำการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ การลดต้นทุนเป็นหัวใจที่ช่วยให้ผู้ประกอบการอยู่รอดได้ดีที่สุด นอกจากนั้นการใช้ประโยชน์จากการรวมกลุ่มขนาดใหญ่และการเพิ่มความเข้มแข็งของอาเซียนที่มีกติกาที่ชัดเจน (Rule-based agreement) เพื่อเป็นเกราะป้องกันการเผชิญกับมาตรการฝ่ายเดียวของประเทศมหาอำนาจ (Unilateral Action) เป็นสิ่งสำคัญ
สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และกำลังคน ที่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาในระยะปานกลางของประเทศแล้ว การพัฒนาดังกล่าวทำให้ไทยอยู่ใน Investment radar ของบริษัทข้ามชาติ กอปรกับจุดขายสำคัญของไทยที่ค่อนข้างห่างไกลจากพื้นที่ความขัดแย้งต่าง ๆ รวมไปถึงความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ น่าจะทำให้ประเทศไทยได้รับอานิสงค์จากขบวนการย้ายฐานการผลิตที่ยังคงมีต่อเนื่อง
คำอธิบายเพิ่มเติม
1.ตัวเลขเป็นค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2015-2022 หากพิจารณาจากทางด้านอิสราเอลก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกัน คือ มูลค่าที่อิสราเอลส่งออกมาไทยคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.6 ของการส่งออกรวมของอิสราเอล ในขณะที่มูลค่าที่อิสราเอลนำเข้าจากไทยคิดเป็นเพียงร้อยละ 2.9 ของการนำเข้ารวมของอิสราเอล
2.จำนวนเงินดังกล่าวเป็นการประมาณการจากจำนวนแรงงานที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอลต่อจำนวนแรงงานที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศทั้งหมดที่รายงานต่อกระทรวงแรงงาน (อ้างอิงจากสถิติแรงงานประจำปั 2565) และเงินส่งกลับในดุลการชำระเงิน ดังนั้นเงินส่งกลับที่คาดการณ์นี้มีแนวโน้มต่ำกว่าความเป็นจริงเนื่องจากพิจารณาเพียงแค่เงินส่งกลับที่รายงานผ่านเฉพาะช่องทางที่นับรวมอยู่ในดุลการชำระเงินเท่านั้น
3.เนื่องจากคำจำกัดความเกี่ยวกับสินค้า GVC ที่เป็นที่ยอมรับในวงกว้างยังไม่มี ดังนั้นผู้เขียนพิเคราะห์รายสินค้าใน Board Economic Categories (BEC. Rev 5) และคัดสรรตามหลักวิชาการ ข้อมูลเชิงประจักษ์อื่น ๆ เพื่อกำหนดรายการสินค้าใน GVC ที่จำแนกต่อเป็นชิ้นส่วนและสินค้าสำเร็จรูป
4.ตะวันออกกลางครอบคลุมบาห์เรน ไซปรัส อียิปต์ อิหร่าน อิรัก อิสราเอล จอร์แดน คูเวต เลบานอน ลิเบีย โอมาน ปาเลสไตน์ กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน
เอกสารอ้างอิง
IMF (2023a), ‘World Economic Outlook Update: Near-term resilience, persistent challenges’, July available at https://www.imf.org/en/Publications/WEO/Issues/2023/07/10/world-economic-outlook-update-july-2023
IMF (2023b),‘World Economic Outlook: Navigating global divergences’, October 2023 available at https://www.imf.org/en/Publications/WEO/Issues/2023/10/10/world-economic-outlook-october-2023
Rappeport, A. and P. Cohen (2023), ‘Fragile global economy faces new crisis in Israel-Gaza War’, New York Times, 10 October available at https://www.nytimes.com/2023/10/10/business/economy/global-economy-israel-gaza-war.html
King, Ian (2023), ‘Israel Is an Important Link in the Global Chip Supply Chain’, Bloomberg available at https://www.bloomberg.com/news/newsletters/2023-10-12/israel-is-an-important-link-in-the-global-chip-supply-chain
Fleming, S. and C. Smith (2023), ‘Fears of wider Middle East conflict cast shadow over global economy’, 15 October, available at https://www.ft.com/content/3c358b32-33ff-4118-841c-689c27a4dd89