ThaiPublica > เกาะกระแส > “ธรรมศาสตร์” รุกรับมหา’ลัยขาลง ปั้น “Greats Person” เปิด “ตลาดวิชา”อีกครั้งเรียนรู้ตลอดชีวิต – ทดลอง”Thammasat Frontier School” ไม่ยึดติดคณะ เน้นประสานอง์ความรู้

“ธรรมศาสตร์” รุกรับมหา’ลัยขาลง ปั้น “Greats Person” เปิด “ตลาดวิชา”อีกครั้งเรียนรู้ตลอดชีวิต – ทดลอง”Thammasat Frontier School” ไม่ยึดติดคณะ เน้นประสานอง์ความรู้

26 ตุลาคม 2018


รศ.เกศินี วิฑูชาติ (ที่สองจากซ้าย) อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อ 26 ตุลาคม 2561 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดจัดงานพบปะพูดคุย “อธิการบดีพบปะสื่อมวลชน: เปิดนโยบายธรรมศาสตร์แห่งอนาคต Thammasat University of the Future” โดยชูยุทธศาสตร์บริหารในปี 2562 เพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคต หรือ “Thammasat Transformation: Defining the Future”

รศ.เกศินี วิฑูชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าสถานการณ์ปัจจุบันของสถาบันอุดมการศึกษาในช่วงที่ผ่านมาอาจจะเห็นข่าวสารว่าหลายมหาวิทยาลัยต้องปิดหลักสูตร เนื่องจากขาดผู้เรียน บางแห่งเรียกว่าไม่ถึงครึ่งของเป้าหมายที่หลักสูตรเปิดรับ ซึ่งจริงๆถือว่าเป็นปลายเหตุ แต่หากย้อนไปไปดูที่ต้นเหตุจะพบว่ามีหลายสาเหตุ ตั้งแต่โครงสร้างประชากรของไทยที่เด็กเกิดน้อยลงในปัจจุบัน, วิชาความรู้หลายอย่างกำลังถูกปั่นป่วนจากเทคโนโลยีและโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และสุดท้ายคือความต้องการของคนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่ต้องการแรงงานหรือบัณฑิตที่มีทักษาแตกต่างจากเดิม การเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ต้องการคนหรือแรงงานลดลง ภาพของอาชีพต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป มีอาชีพใหม่ๆเกิดขึ้น ขณะที่บางอาชีพก็กำลังจะหายไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับสถาบันการศึกษาในต่างประเทศหลายแห่งที่เผชิญปัญหารูปแบบเดียวกัน

“แม้ว่าปัจจุบันธรรมศาสตร์จะยังไม่เห็นภาพดังกล่าวนัก เนื่องจากในทุกปีก็ยังมีความต้องการเข้ามาเรียนที่สูงอยู่มากกว่าปกติ แล้วต้องยอมรับอีกด้วยว่าหลายหลักสูตรก็เผื่อจำนวนนักศึกษาที่จะรับเข้ามาให้เกินกว่าระดับปกติด้วย รวมทั้งเราเองก็มีหลายวิทยาเขต ทั้งท่าพระจันทร์ รังสิต ลำปาง พัทยา แต่พอดูสาเหตุและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก ก็คาดว่าจะต้องกระทบกับเราในที่สุด ทำให้เราต้องรีบปรับตัวรับมือ ไม่ใช่รอให้การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กลายมาเป็นปัญหาของเราก่อน โดยบัณฑิตยุคใหม่ของเราจะต้องเน้นไปที่เป็นนักวิเคราะห์ ซึ่งปัญญาประดิษฐ์หรือเทคโนโลยีจะมาทดแทนไม่ได้” รศ.เกศินี กล่าว

รศ.เกศินี กล่าวขยายความไปถึงการศึกษาภาพรวมว่าการศึกษาไทยมีปัญหาตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ตั้งแต่ประถมศึกษาขึ้นมาด้วยซ้ำ เช่น ปัญหาคุณภาพของครูจนถึงหลักสูตรที่ไม่ได้ปรับให้สอดคล้องกับการพัฒนาในโลกปัจจุบัน เนื่องจากความล่าช้าของระบบราชการและขาดความต่อเนื่องของการลงทุนพัฒนาครูที่มักจะถูกย้ายไปย้ายมาและไม่ได้พัฒนาทั่วถึงเพียงพอ จึงไม่ตอบโจทย์และแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้

อย่างไรก็ตาม การศึกษาในระดับอุดมศึกษาไทยถือว่าพัฒนามาระดับหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ได้เทียบชั้นกับต่างประเทศชั้นนำทั้งหลาย แต่มหาวิทยาลัยใหญ่ๆต่างมีความเป็นนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นการไปนำเสนอผลงานที่ต่างประเทศ ไปประชุม หรือร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ และจากการไปร่วมงานเหล่านี้อีกด้านทำให้ธรรมศาสตร์เองคิดว่าอยู่เฉยไม่ได้ อย่างคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หรือคณะแพทยศาสตร์ที่ลุกขึ้นมาหาการรับรองจากมาตรฐานระดับโลก เพราะเห็นว่าจะเป็นเส้นทางที่ทำให้เราตามเท่าทันมาตรฐานการเรียนการสอน การจัดหลักสูตร การประเมิน การจัดข้อสอบของโลกที่เหมาะสมและปรับตัวตาม

“การศึกษาไทยโดยรวมแน่นอนว่าคงสู้ระดับโลกไม่ได้ จากเหตุผลที่ว่าไป แต่ระดับอุดมศึกษาก็ถือว่าพอไปได้อาจจะไม่ถึงระดับโลกแบบสิงคโปร์หรือยุโรป เราก็พยายามเรียนรู้พัฒนาให้ก้าวหน้ามากขึ้น อย่างของธรรมศาสตร์เราถือว่าล้ำหน้าในเรื่องการเอาการศึกษาไปเข้ากับชุมชน ทำให้เด็กมีพื้นฐานจิตวิญญาณที่ดี คิดเป็น แม้จะโครงการเล็กๆที่ช่วยเหลือชนบท แต่ก็ได้เรียนรู้ วิธีการทำโครงการ การดูแลคน การแก้ปัญหา การเป็นผู้ให้ แล้วมันก็ต่อยอดให้ใหญ่ขึ้นไปได้ทีหลัง”

รศ.เกศินี กล่าวต่อไปว่าด้วยความไม่แน่นอนปั่นป่วนของโลกแบบนี้ เราไม่มีทางคาดเดาโลกอนาคตได้เลย เป้าหมายของมหาวิทยาลัยจึงต้องเน้นไปที่การสร้างฐานการเรียนรู้ใหม่และเน้นสร้างบัณฑิตที่มีคุณลักษณะหรือทัศนคติของ Greats Person ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานของคนยุคใหม่ที่จะต้องมีทักษะหลักคือการปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงต่างๆของโลกได้ แทนที่จะเน้นองค์ความรู้เป็นหลักเหมือนในอดีต โดยมี 5 คุณลักษณะ ได้แก่

  1. G- Global Mindset คือต้องเข้าใจและวิเคราะห์ความเป็นไปของโลก ต้องสื่อสารกับโลกได้ และเชื่อมโยงกับบริบทภายในประเทศหรือภูมิภาคได้
  2. R- Responsibility คือต้องมีความรับผิดชอบ มีวินัย
  3. E- Eloquent คือการรู้จักสื่อสารอย่างทรงพลัง ตรงจุด มีประสิทธิภาพ
  4. A- Aesthetics คือมีความประทับในเรื่องของศิลปะ ความงาม หรือความคิดสร้างสรรค์
  5. T- Teamwork คือต้องสามารถทำงานเป็นทีมได้ รู้จักเป็นทั้งผู้ตามและผู้นำที่เหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆ
  6. S- Spirit of Thammasat คือการมีจิตวิญญาณที่รักความเป็นธรรม พร้อมจะช่วยเหลือสังคมและคนรอบข้าง

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ที่จะทำให้บัณฑิตพัฒนาขึ้นมาเป็น GREATS Person นั้น รศ.เกศินี กล่าวว่าจะเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนใหม่ในทุกคณะ ให้มีรูปแบบใหม่ๆและมีความหลากหลาย และสอนให้เด็กสามารถแสวงหาความรู้ พัฒนาตนเอง หรือแก้ปัญหาใหม่ในโลกอนาคตได้ด้วยตัวเอง จะปรับตั้งแต่การรับนักศึกษาที่หลากหลายกว้างขึ้น การปรับหลักสูตรให้ทันสมัย มีความเชื่อมโยงกัน และเน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหาในชีวิตจริง โดยองค์ความรู้จะลดบทบาทมาเป็นองค์ประกอบเสริม และสุดท้ายคือต้องสามารถสื่อสารองค์ความรู้ใหม่ๆหรือวิธีแก้ปัญหาออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ที่พูดไปรวมถึงของคนอื่นๆต่อไปด้วย หากถามว่าจะทำอย่างไร จริงๆนี่คือภาพที่เรามองไว้ เราวางแนวคิดก่อนว่าจะเอาแบบนี้คือทางรอดของเรา แต่การทำจริงๆมันก็จะมีข้อจำกัดอะไรบ้าง เราก็พยายามแก้ปัญหา ทั้งประสานงานกันเปิดท่อให้มันใหญ่ขึ้นระหว่างคณะ แต่มันต้องเริ่มจากความเข้าใจให้ตรงก่อน เห็นภาพตรงกันว่าจะเอาแบบนี้ ก็พยายามจูงใจกันเต็มที่ เด็กต้องมีทางเลือก อาจจะมีทั้งวิชาหลักและวิชารอง หรือเด็กมี 2 วิชาหลักไปเลย เราต้องการให้มีความหลากหลาย เช่นวันนี้มีเด็กคณะบัญชีจำนวนไม่น้อยนะที่มาเรียนนิติศาสตร์ต่อในภาคบัณฑิต เพราะความรู้ตรงนี้มันช่วยให้การทำงานของเขารอบคอบมากขึ้น” รศ.เกศินี กล่าว

เตรียมรับ “ศิษย์ธรรมศาสตร์” Gen Next – เปิดตลาดวิชาอีกครั้ง

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการปรับรูปแบบการเรียนการสอนว่าจะแบ่งเป็น 2 ส่วน อันแรกคือการเรียนการสอนภายในมหาวิทยาลัยเดิม จะเริ่มจาการปรับปรุงวิชาพื้นฐานที่จะเพิ่มทักษะของผู้ประกอบการ ได้แก่ ทักษะด้านดิจิทัลและการเงิน ขณะที่วิชาเฉพาะทางของแต่ละคณะหรือสาขาจะปรับจากให้อาจารย์เป็นศูนย์กลาง (Passive Learning) เป็นนักศึกษาเป็นศูนย์กลางและจะเรียนผ่านประสบการณ์เป็นหลัก (Experience-based Learning) โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในปัญหาในชีวิตจริง ขณะเดียวกันจะต้องเน้นสร้างผลลัพธ์ที่จับต้องได้จากการเรียนรู้ (Outcome-Based Education) ด้วย

สำหรับกลยุทธ์ของการปรับปรุงการเรียนการสอนจะแบ่งเป็น 5 ด้าน

    1) พัฒนาอาจารย์ให้เข้าใจกระบวนการ กลไก และวิธีการสร้างการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยมีแรงจูงใจทั้งการเลื่อนขั้นและการให้รางวัลต่างๆ

    2) สร้างบรรยากาศในห้องเรียนใหม่ที่ไม่มีกำแพงและยืดหยุ่นมากขึ้นระหว่างผู้เรียนและผู้สอน เช่นเก้าอี้ที่เลื่อนไปมาได้ เพื่อให้จับกลุ่มวิเคราะห์ได้ง่าย หรือในวิชาออกแบบก็อาจจะมีแคทวอล์กกลายห้องให้ได้ลองเดินดูจริงๆ เป็นต้น

    3) ปรับหลักสูตรให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เช่นจัดชุดวิชาให้สามารถเรียนเป็นวิชาโทได้ง่ายขึ้น หรือมีการให้ฝึกงานในอุตสาหกรรมจริงระหว่างเรียน (Work Integrated Learning) เพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่ว่าผู้ประกอบการเวลารับนักศึกษาไปแล้วต้องไปตามฝึกฝนทักษะใหม่ๆเพิ่ม

    4) ส่งเสริมหลักสูตรแบบควบปริญญา (Double/Dual Degree) เพื่อให้นักศึกษามีทักษะที่หลากหลาย

    5) ให้ทุนพัฒนาการประเมินคุณภาพหลักสูตรตามมาตรฐานโลก เพื่อยกระดับสู่สากล

“คนอาจจะกังวลว่าหลักสูตรที่คนไม่นิยมหรือดูไม่ตอบโจทย์โลกสมัยใหม่ตรงๆ แต่บทบาทของมหาวิทยาลัยที่จะยังต้องรักษาความรู้พื้นฐานเหล่านี้ไว้ เช่น ปรัญชา เป็นเรื่องสำคัญมากเลยว่าเราจะทำอย่างไร แนวทางของเราคือเราจะเริ่มพัฒนาหลักสูตรให้ดีสุดก่อน แต่ถ้าความสนใจยังน้อยอยู่ เราก็จะปรับหลักสูตรเหล่านั้นให้เข้าไปเป็นวิชารองในมหาวิทยาลัย ผสมผสานไปกับวิชาต่างๆในสมัยมากขึ้น หลายเป็นข้ามศาสตร์กัน ส่วนเรื่องงานวิจัยในสาขาเหล่านี้ ไม่ได้เล็กลง เพราะการผลิตผลงานวิชาการของอาจารย์อาจจะอิสระจากเรื่องที่สอนพอสมควร อาจารย์ก็ทำวิจัยในขอบเขตวิชาที่สนใจได้ต่อไป”

รศ.ดร.ชาลี กล่าวต่อว่าส่วนที่ 2 คือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเปิดตลาดวิชาเรียกว่าหลักสูตร “Gen Next Academy” ที่ให้โอกาสบุคคลภายนอกเข้ามาเรียนในวิชาต่างๆ หรือเรียกว่าเป็น Personalized-Base Learning โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่นักเรียนมัธยม (Advancement) คนวัยทำงาน (Re-training) คนเกษียณ (Lifelong Learning)

ขั้นตอนการสมัครเรียนจะให้บุคคลที่สนใจมาลงทะเบียนออนไลน์เป็น “ศิษย์ธรรมศาสตร์” และเลือกวิชาที่จะเรียนที่เปิดสอนในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่เป็นห้องเรียน เป็นรูปแบบเรียนออนไลน์ และเป็นหลักสูตรระยะสั้น ซึ่งเรื่องจำนวนรับที่อาจะเป็นข้อจำกัดจะใช้ระบบมาก่อนได้ก่อนหาเป็นแบบห้องเรียนหรือหลักสูตรระยะสั้น แต่รูปแบบออนไลน์ก็จะไม่มีข้อจำกัดตรงนี้ นอกจากนี้ บางหลักสูตรเริ่มสนใจที่จะเปิดเป็นวิชาเฉพาะสำหรับบุคคลภายนอกไปเลย

เมื่อสำเร็จการศึกษา ศิษย์ธรรมศาสตร์จะเก็บหน่วยกิตวิชาต่างๆเอาไว้ได้ 8 ปี เพื่อนำมาสมัครเรียนในหลักสูตรต่างๆของมหาวิทยาลัยได้ โดยการเรียนแบบที่เก็บหน่วยกิตก็อาจจะมีค่าธรรมเนียมประมาณ 1.5 เท่าของหน่วยกิตปกติ หรือประมาณ 2,000 บาทต่อวิชา แต่หากเป็นรูปแบบออนไลน์ก็อาจจะมีทางเลือกให้เรียนฟรีได้ด้วย

“ถ้าถามว่าแบบนี้คนก็เลือกเรียนจนครบทุกวิชาในหลักสูตรใดๆแล้วมารับปริญญาได้เลยหรือไม่ ตรงนี้ยังไม่ได้ เพราะระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา หรือสกอ. คือมันเป็นการเรียนนอกหลักสูตร แปลว่าวันใดวันหนึ่งจะต้องโอนเข้ามาในหลักสูตรจริงๆ ตอนนี้ข้อกำหนดคือปริญญาตรีไม่สามารถโอนมาได้มากกว่า 50% ส่วนปริญญาโทหรือเอกจะโอนได้ 25% ของหลักสูตร พอเรียนครบก็ต้องเตรียมโอนเข้ามาในหลักสูตร” รศ.ดร.ชาลี

รองศาสตราจารย์ ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์

“Thammasat Frontier School”-ไม่ยึดติดคณะ เน้นประสานอง์ความรู้

รศ.ดร.ชาลี กล่าวต่อไปอีกว่านอกจากจะปรับปรุงหลักสูตรให้เชื่อมโยงมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์โลกสมัยใหม่มากขึ้นแล้ว ธรรมศาสตร์วางแผนที่จะก้าวไปไกลกว่านั้นด้วยการเปิดหลักสูตรที่ไม่ยึดติดกับคณะหรือสาขาเฉพาะทางใดๆ แต่จะเปิดให้นักศึกษาได้ทดลองเรียนรู้หาแนวทางที่ตอบโจทย์ความต้องการในชีวิตของนักศึกษา เรียกว่า “Thammasat Frontier School”

“เบื้องต้นวางไว้ว่าจะรับประมาณ 200 คนในหลักสูตรนี้ มีอาจารย์ที่ปรึกษาดูแลใกลชิด อัตราส่วนคือนักศึกษา 20 คน ต่ออาจารย์ 1 คน และหลักจากนั้นพอถึงเทอมที่ 4 ก็ต้องเลือกว่าจะเรียนวิชาเอกอะไร ขั้นแรกจะมีให้เลือกประมาณ 10 สาขาวิชา ยังเลือกไม่ได้ทั้งหมด แต่จะเป็นหลักสูตรอะไรบ้าง อะไรกำลังตกลงกับคณะต่างๆอยู่ ให้เปิดรับนักศึกษาตรงนี้ไปกำหนดไว้ประมาณหลักสูตรละสูงสุดประมาณ 30คน เผื่อหลักสูตรมีคนสนใจมากกว่าก็จะได้ไม่ต้องมีคนผิดหวัง แล้วพอเลือกสาขาไปก็เรียนต่อไปจนจบพร้อมกับคนที่เรียนในสาขานั้นตั้งแต่แรก” รศ.ดร.ชาลี กล่าว

รศ.ดร.ชาลี กล่าวอีกว่าในระยะต่อไปจะออกแบบให้หลักสูตรหลวมยิ่งกว่านั้นคือจะให้นักศึกษาเลือกเรียนวิชาอะไรก็ได้ในมหาวิทยาลัย แล้วเมื่อได้หน่วยกิตครบ มหาวิทยาลัยก็จะมาตัดสินกันอีกครั้งว่าเหมาะสมกับปริญญาในสาขาอะไร คาดว่าจะเปิดรับได้ประมาณปีงบประมาณ 2563

Gen Next แก้ปัญหา “กวดวิชา-แข่งขันสอบเข้า-ซิ่วย้ายคณะ”

รศ.ดร.ชาลี กล่าวว่าในกรณีของนักเรียนที่จะเข้ามหาวิทยาลัย การเปิดตลาดวิชาจะช่วยแก้ไขปัญหาการศึกษาไทยได้ เพราะจะมีลักษณะแบบ Pre-Degree ให้นักเรียนเข้ามาลองเรียนก่อน โดยในแต่ละวิชาจะมีการกำหนดความรู้พื้นฐานที่ต้องใช้ รวมไปถึงแบบทดสอบเบื้องต้นว่าสามารถเรียนได้หรือไม่

ทั้งนี้ ระบบนี้จะทำให้ปัญหาการแข่งขันเพื่อสอบเข้าไม่จำเป็นต่อไป เพราะหากนักเรียนสามารถพิสูจน์ว่าตนเองสนใจและมีความสามารถที่จะเรียนได้จริงๆผ่านการเก็บหน่วยกิตสะสมมาถึง 25% ของหลักสูตร ก็ควรจะสามารถมาสมัครเรียนได้เลยและไม่มีเหตุผลใดที่คณะหรือหลักสูตรจะไม่รับเข้าเรียน หากเทียบกับระบบเดิมที่คณะอาจจะไม่แน่ใจว่าจริงๆแล้วนักเรียนมีความสนใจหรือเหมาะสมจริงหรือไม่

“แต่หลายคณะก็สวงนท่าทีกันอยู่ว่าจะรับแบบนี้หรือไม่ แต่ลองคิดดูเทียบกับระบบรับเข้ามหาวิทยาลัยปัจจุบัน รับเข้ามาเราไม่รู้ว่าจะเรียนไหวหรือไม่ แต่คนพวกนี้เรียนไหวแน่นอน พิสูจน์แล้ว เรียนมา 1 ใน 4 แล้ว ไม่ต้องสอบก็ได้หรือไม่ อันหนึ่งก็อยากจะลดพวกไปเรียนพิเศษนะ น่าสงสารมาก คุณมาเรียนมันตรงนี้แหละ เข้ามหาวิทยาลัยได้ด้วยเหมือนกัน แล้วไปสอบไปดูพวกทัศนคติต่างๆประกอบด้วย แล้วหน้าที่รัฐบาลก็จะต้องเปลี่ยนไปพัฒนาระดับข้างล่างในเรื่องทัศนคติพวกนี้แทน ไม่เช่นนั้นมันก็จะมาช่องเดิม ไปติว จำความรู้มา แต่ตอนนี้มันไม่จำเป็นแล้วไง กูเกิ้ลก็มี” รศ.ดร.ชาลี กล่าว

รศ.ดร.ชาลี กล่าวต่อไปอีกว่าระบบนี้หรือเรื่อง Frontier school จะแก้ไขปัญหาเรื่องย้ายคณะหรือรีไทร์ของนักศึกษาที่รับเข้ามาได้ด้วย ซึ่งเป็นการเสียโอกาสของเด็กคนอื่นอีกหลายคน เพราะหากรับเข้ามาแล้วเด็กย้ายออกไปก็จะเป็นช่องโหว่แบบนั้นไปจนจบอีก 3-4 ปี แต่ถ้าเราสามารถรับคนที่สนใจและเรียนได้จริงๆก็จะช่วยได้มาก สุดท้ายส่วนปัญหารีไทร์ แม้ว่าปัจจุบันจะมีไม่มาก แต่ส่วนหนึ่งเพราะมหาวิทยาลัยอะลุ่มอล่วยไปค่อนข้างมาก คือต้องผิดพลาดหลายครั้งมากกว่าจะถูกรีไทร์ออกไป มีการเตือน 2 ครั้ง อาจารย์ที่ปรึกษาจะเข้ามาดูแลเรื่องการลงทะเบียน อาจจะยับยั้งไม่ให้ลงในบางวิชาก่อน เป็นต้น