ThaiPublica > คนในข่าว > “ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา” คณบดีคนใหม่กับการกลับมาของนักวิจัย-นักวิชาการ “เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์”

“ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา” คณบดีคนใหม่กับการกลับมาของนักวิจัย-นักวิชาการ “เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์”

3 กรกฎาคม 2014


ที่ผ่านมามีการตั้งคำถามดังๆ ว่านักเศรษฐศาสตร์หายไปไหน จากนักเศรษฐศาสตร์แถวหน้า อาทิ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร กับคำถาม “บทบาทที่ลดลงของวิชาเศรษฐศาสตร์ในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ” รวมทั้งคำถามแรงๆ ที่ว่า”เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์” กำลังถดถอย และ “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” กำลังหายไป หรือ ดร.วิรไท สันติประภพ เคยตั้งว่าคำถาม“น่าประหลาดใจคือ บทบาทของนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งควรทำหน้าที่สร้างความกระจ่างให้สังคมเกี่ยวกับผลได้ผลเสียของนโยบายเศรษฐกิจค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคมไทย”

65 ปีมาแล้วที่ “เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์” ไม่เป็นเพียงสถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความเข้าใจในเศรษฐกิจเป็นอย่างดี แต่ยังเป็นสถาบันทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ทั้งสร้างองค์ความรู้ทางเศรษฐกิจใหม่ๆ นำเสนอนโยบายเศรษฐกิจแก่รัฐบาล ตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจอย่างตรงไปตรงมา

ศ. ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศ. ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การมารับตำแหน่งของศ. ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนใหม่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา จึงเป็นแรงกดดันว่าจะทำให้คณะเศรษฐศาสตร์ กลับมาทำหน้าที่(อีกครั้ง)ในการรับใช้สังคมได้มากน้อยแค่ไหน ศ. ดร.สกนธ์ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าถึงทิศทางและแนวทางของ “เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์” ในอนาคตและจะมีบทบาทต่อเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างไรดังนี้

“จริงๆ แล้ววันนี้คนมองนักเศรษฐศาสตร์ที่ออกสื่อ ก็มักจะชอบให้เป็นการวิจารณ์นโยบายรัฐบาล คือผมไม่อยากให้เป็นนักเศรษฐศาสตร์หน้าจอทีวี แต่ต้องพูดบนความจริง ความถูกต้อง ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นจุดอ่อนของคนคณะนี้ อะไรที่เราไม่แน่ใจไม่รู้จริงเราไม่ค่อยไม่กล้าพูด ทำให้คนรู้สึกว่าที่ผ่านมาคณะเศรษฐศาสตร์ถดถอยไปในเรื่องนี้ แต่จริงๆ อันนี้เป็นเรื่องที่เรากลัวที่สุด เพราะว่าถ้าเราบอกว่าเราเป็นนักวิชาการจะให้ข้อมูลความรู้แก่สังคม แล้วเกิดความรู้นั้นผิด ไม่ถูก มันไปกันใหญ่ คิดผิดกันไปหมด”

ดังนั้น สิ่งที่อยากทำตอนนี้ คือการสร้าง “กลุ่มวิจัยทางนโยบายเศรษฐกิจ” เราจะมีการเก็บข้อมูล มีการวิเคราะห์ วิจัยเรื่องของนโยบายต่างๆ ให้มีความชัดเจน มีความรู้ทางวิชาการสนับสนุน ในขณะเดียวกันไม่ใช่รอให้ผลงานเสร็จ เราต้องมีความคืบหน้ามีประเด็นสื่อสารกับสังคมได้ อย่างตอนนี้เรื่องพลังงานผมว่าสังคมเข้าใจผิดกันเยอะเลย เรื่องการคลังที่หลุดประเด็นกันเยอะแยะไปหมดเลย ทำให้ต้องเริ่มสร้างเครือข่ายมาช่วยสนับสนุน และที่สำคัญที่สุด ไม่อยากให้เป็นเครือข่ายเฉพาะของคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ หรือกลุ่มทุน แต่ผมอยากจะสร้างเครือข่ายของกลุ่มคณะเศรษฐศาสตร์ทั้งประเทศเลย เพราะความเชี่ยวชาญเราอาจจะไม่รอบด้านแต่มหาวิทยาลัยอื่นอาจจะเชี่ยวชาญมากกว่าเราก็จับมือร่วมกันผลักดันเรื่องเหล่านี้ออกไปแก่สังคม

ไทยพับลิก้า : ความคาดหวังจากนักวิชาการ ถ้าพูดต้องรู้จริง

ก็นี่ไง เพราะว่าทุกคนคาดหวังแบบนั้น ถ้าผิดมันจะยิ่งไปกันใหญ่เลย แล้วมันจะฝังใจว่าอาจารย์คนนั้นพูดนี่ต้องถูกต้อง เป็นสิ่งที่เรากลัวมากที่สุด

ดังนั้น กลุ่มวิจัย ถ้าเราสามารถทำได้ เราจะมีการเก็บข้อมูล มีการวิเคราะห์ สร้างทีม เราไม่ได้รู้ทุกเรื่อง อย่างตอนนี้เรากำลังทำทีมประชาสัมพันธ์ของคณะ ต้องมีโฆษกของคณะเศรษฐศาสตร์ เราจะทำเชิงรุกมากขึ้น ไม่ใช่แบบมีไมค์จ่อปากแล้วพูดทันที

ไทยพับลิก้า : มารับตำแหน่งคณบดีเศรษฐศาสตร์แล้วรู้สึกอย่างไรกับความคาดหวังของคนในแวดวงว่าจะทำให้บทบาทนักเศรษฐศาสตร์กลับมา

ตอนนี้พูดตรงๆ กดดันเยอะ เพราะอย่างที่เห็นอยู่ กดดันทั้งจากภายในภายนอก บอกว่าคณะเศรษฐศาสตร์จะกลับมาแล้วนะ จะเริ่มมีบทบาทมากขึ้นแล้วนะ นั้นคือประเด็นที่ผมจะต้องเริ่มต้นวางรากฐาน สิ่งที่ทุกคนตั้งความหวังเอาไว้อาจจะไม่สามารถให้ได้ทั้งหมด ที่นี้ต้องถามอะไรเร่งด่วน อะไรมาก่อน อะไรมาหลัง ทำได้มากน้อยแค่ไหน เริ่มต้นต้องบริหารความคาดหวังของแต่ละคน

“สิ่งที่สำคัญคือหลักการ ต้องไม่เสีย อย่างที่บอกว่ากดดันเยอะมาก แม้แต่คนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนยังมากดดันเลย มาบอกว่าดีใจด้วย หวังว่าจะทำให้คณะกลับมานะ ความหมายว่าได้คณะกลับมานี่มันคืออะไร เราก็ไม่รู้ เราก็รู้แต่ว่ามีความคาดหวังสูงมาก”

อย่างที่บอกว่าวันนี้ทุกคนคาดหวัง แต่ภาระมันเยอะมาก แต่ผมก็ดีใจนะ มีอาจารย์หลายท่านมาช่วย และพอมารับตำแหน่งครั้งนี้ ทุกคนมาช่วยกันทำงาน ทำให้รู้สึกเบาใจไปหน่อยหนึ่ง ก็หวังว่าจะมาช่วยขับเคลื่อนไปด้วยกัน สามปีถามว่าเสร็จไหม ไม่เสร็จ แต่ได้ครึ่งหนึ่งก็ดีใจ เพราะเป็นการวางรากฐานคณะใหม่ ใน 3–4 มิติที่อยากจะทำ มิติเรื่องของการวิจัย อยากให้คณะเน้นคณะวิจัยจริงๆ รากฐานวิจัยที่ผมพยายามพูดตลอด เรื่องของเงินทุน ทีมงาน โครงการบริหาร ฐานข้อมูล เราต้องมีการเริ่มต้นวางรากฐาน อาจจะทำได้ไม่หมด แต่ต้องมีการวางเชื้อเอาไว้ เช่น เรื่องนักศึกษา เราตกลงกันแล้วว่าคุณภาพนักศึกษาเป็นแบบนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องเรียนอย่างเดียว ต้องมี CSR มีส่วนร่วมกับสังคมมากขึ้น เราก็ต้องวางกลไกลงไปด้วย สร้างเครือข่าย มีปฏิสัมพันธ์กับส่วนอื่น และต้องไม่ผูกกับตัวผมนะ ต้องผูกกับสถาบัน

ศ. ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา
ศ. ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา

ไทยพับลิก้า : งานวิจัยที่ว่าทำอย่างไร

คืออยากให้ความรู้และเผยแพร่ความคิดเศรษฐกิจที่สนับสนุนด้วยวิชาการ นั่นคือการสร้างกลุ่มวิจัยนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อวิจัยเรื่องของนโยบายต่างๆ ให้มีความชัดเจน เป็นการทำวิจัยเพื่อให้มีความรู้ทางวิชาการ ในขณะเดียวกันต้องมีประเด็นสื่อสารกับสังคมได้ อย่างตอนนี้เรื่องพลังงานผมว่าสังคมเข้าใจผิดกันเยอะเลย หรือเรื่องการคลังที่หลุดประเด็นกันเยอะแยะไปหมดเลย เรื่องพวกนี้ผมมองว่าจำเป็นต้องมีการให้ข้อมูลเป็นระยะๆ คณะเศรษฐศาสตร์เองสามารถสนับสนุนเรื่องความรู้ เนื้อหาสาระ แต่เรื่องการเผยแพร่ต่างๆ ต้องขอความร่วมมือสื่อมวลชน

การทำกลุ่มวิจัย ตอนนี้กำลังเริ่มสร้างเครือข่ายคนที่จะมาช่วยสนับสนุน และที่สำคัญที่สุดไม่อยากให้เป็นเครือข่ายเฉพาะของคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ หรือคนให้เงิน แต่ผมอยากจะสร้างเครือข่ายของกลุ่มคณะเศรษฐศาสตร์ทั้งประเทศเลย เพราะความเชี่ยวชาญเราอาจจะไม่รอบด้าน แต่มหาวิทยาลัยอื่นอาจจะเชี่ยวชาญมากกว่าเรา ก็จับมือร่วมกันผลักดันเรื่องเหล่านี้ออกไป แต่เราก็ต้องพยายามเป็นแกนไว้ก่อน เพราะถ้าไม่มีแกนมันก็ไม่รู้ว่าเราจะไปต่อกับคนอื่นได้อย่างไร หรือคนอื่นจะมาต่อกับเราได้อย่างไร อันนี้เราคิดว่าเราจะทำเรื่องนี้ขึ้นมา

ถึงแม้ว่าวันนี้จะมีทุนทำวิจัยเรื่องต่างๆ แต่เราต้องการสร้างให้มันมีความต่อเนื่องระยะยาว อย่างเช่นเรื่องการปฏิรูปทุกวันนี้ คำถามคือคุณรู้หรือยังว่าปัญหาประเทศไทยด้านนโยบายเศรษฐกิจมันคืออะไร ตำแหน่งของประเทศไทยขณะนี้คืออะไร ประสิทธิภาพการแข่งขัน ผลิตภาพเป็นอย่างไร เราจะยกประสิทธิภาพกันยังไง ภาคธุรกิจไหนจะเป็นดาวเด่นดาวร่วงในอนาคต ภาพของประเทศไทยในอนาคตที่เราอยากจะเห็น เพราะในปัจจุบันเห็นได้ชัดว่าแผน 5 ปีของสภาพัฒน์ฯ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ที่เราทุ่มงบประมาณลงไปมันไม่ได้ผลเลย เราน่าจะเปลี่ยนมุมมองการพัฒนาประเทศใหม่ แทนที่จะเป็นแค่เรื่องของแผนพัฒนาแห่งชาติที่มีมา 11 ฉบับแล้ว มุมมองแบบนั้นผมว่าปัจจุบันมันใช้ได้ไม่ได้แล้ว

กลุ่มวิจัยต้องตอบโจทย์ว่าวันนี้เราอยู่ตรงไหน แล้วอนาคตต้องการเป็นอะไร ต้องเป็นวาระของประเทศ เราอาจจะไม่ได้คิดเพียงภาพใหญ่อย่างเดียว อย่างอุตสาหกรรม ดาวรุ่งจะเป็นรถยนต์อยู่หรือเปล่า ถ้าใช่ เราต้องทำอะไรต่อไป คือต้องเห็นทั้งภาพใหญ่ หรือด้านเกษตรกรรม ต้องบอกว่าอนาคตสินค้าเกษตรหลักคือข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด จะแข่งกันด้วยราคาหรือเปล่า ไม่แข่งด้วยราคาจะแข่งด้วยอะไร มันต้องตอบโจทย์แบบนี้แล้ว จะเห็นความจำเป็นในการมีกลุ่มวิจัยเพื่อเป็นหลักให้เห็นทั้งภาพเล็กภาพใหญ่

นั่นคือเหตุผลหลักว่าทำไมต้องมีกลุ่มวิจัยแบบนี้ เพราะมันต้องใช้เวลานาน ต้องมีความละเอียดของการศึกษา แต่ไม่ใช่ว่ารอให้จบก่อน เป็นการทำให้เห็นประเด็นปัญหา ให้สังคมรับรู้ด้วยว่านี่คือปัญหานะ และเราอยากจะเห็นนโยบายของรัฐ แต่อย่างน้อยๆ ผมคิดว่าทางวิชาการต้องการทำให้เห็นภาพเหล่านี้สื่อออกไปยังสังคม ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงวงการวิชาการ แต่ต้องสื่อให้กับสังคมโดยรวม

ไทยพับลิก้า : แล้วบทบาทนี้จะแตกต่างจากทีดีอาร์ไอหรือสถาบันวิจัยอื่นๆ อย่างไร

ก็อย่างที่กล่าวข้างต้นว่าเราอยากเป็นหลักในการให้ความคิดทางเศรษฐศาสตร์ ทางนโยบายเศรษฐกิจให้แก่สังคม ขอขยายความคือที่บอกว่าพยายามจะจับมือเครือข่ายอื่นๆ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นหน่วยงานหรือองค์กรอย่างชัดๆ เพราะแต่ละสถาบันก็มีแนวทางของตัวเอง แต่เราคิดว่าเราเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมาร่วมกับเรา ไม่ใช่ต่างคนต่างทำแล้วหายไปหมดเลย เมืองไทยมันไม่ใหญ่โตแบบประเทศใหญ่ๆ ประเทศรวยๆ องค์ความรู้เหล่านี้มันต้องช่วยกันทำ

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้สังคมไทยที่มีสื่อหลากหลาย คิดว่าคนจะฟังหรือไม่

วันนี้เราโชคดีอย่างหนึ่ง การมีปัญหาแบบนี้ทำให้ทุกคนไม่ใช่ฟังอย่างเดียว ทุกคนเริ่มคิดแล้วว่ามันมีหลายมุมมองในแต่ละมิติของข่าวสารที่ออกมา ผมคิดว่าสังคมเปิดเรื่องนี้มากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนจะใส่เข้าไปในสังคมเขาจะต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้น รวมทั้งผมเชื่อว่าคนไทยเองเมื่อรับข่าวสารมากขึ้นแล้วเขาเริ่มคิดมากขึ้นด้วย ถูกผิดเป็นอย่างไร ข้อมูลที่ให้จึงต้องถูกต้อง ง่ายๆ ชัดเจน ต้องจบ

ตัวอย่างจำนำข้าว สมัยเริ่มต้นใหม่ๆ อาจารย์นิพนธ์ พัวพงศกร หรือใครต่อใครพูดว่ามันไม่ดี ใครเชื่อไหม ไม่มีใครเชื่อ โดนด่ากลับอีก แต่ทุกวันนี้นโยบายที่ไม่ดีมันเกิดผลอย่างไรบ้าง ผมอยากให้สังคมเห็นภาพแบบนี้ ว่าพูดตั้งแต่เริ่มต้นเตือนตั้งแต่เริ่มต้น คุณไม่เห็นด้วยกับผมไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยคุณตระหนักหน่อยนะ แล้วคุณก็ดูสิ ถูกผิดหรือเปล่า

เราคงไม่สามารถไปบอกได้ว่าคุณต้องเชื่อผมนะ ไม่ใช่ เราไม่คิดว่าทุกคนต้องเปลี่ยนทัศนคติตามเรา แต่คุณต้องตระหนักต้องคิดได้ ถ้าคิดไม่ได้ ส่วนตัวผมคิดเองว่าถ้ารัฐบาลใหญ่ ประชาชนเล็ก ประเทศไปไม่ได้ ประชาชนต้องใหญ่ต้องคิดเองทำเองได้ ถ้าประชาชนงอมืองอไม้รอรัฐบาล มันไม่รอด ที่ผ่านมาประชาชนเรารอรัฐบาลอย่างเดียว ถ้าคิดแบบนี้จะไปได้ไหม ทัศนคติแบบนี้ต้องเปลี่ยนได้แล้ว

ไทยพับลิก้า : หากต้องเล่นบทในการคานข้อมูลข้อเท็จจริง จะรักษาระยะห่างอย่างไรกับนักการเมือง

เป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวัง แต่ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าถ้าเราคิดและพูดบนฐานของข้อมูล การวิจัย อันนี้จะเป็นเกราะป้องกันเราอันหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันผมยังเชื่อมั่นว่าเราทำบนฐานที่ไม่ได้อิงกับใคร ความเป็นสถาบันการศึกษา ถึงแม้จะมีความเห็นแตกต่าง แต่ทำงานคณะก็ยังทำงานด้วยกัน และผมก็ยังเชื่อมั่นว่า เวลาทำงานด้วยกันก็ยังมีความเป็นคณะเศรษฐศาสตร์อยู่

ศ. ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา
ศ. ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา

ไทยพับลิก้า : ที่ผ่านมาอะไรที่ทำให้บทบาทนักเศรษฐศาสตร์ทำหน้าที่ในฐานะนักวิชาการน้อยลงไป

ปัญหาของเราจริงๆ มันเป็นปัญหาจากโครงสร้างของอาจารย์ สร้างกันไม่ทัน อาจารย์อาวุโสเกษียณไปเยอะ ขณะเดียวกันช่องว่างตรงนี้ ห่างกันเกือบ 10 ปี สร้างกันไม่ทัน การที่จะเชื่อมต่อและความต่อเนื่องมันหายไป เป็นปัญหาบุคลากร เมื่อก่อนคนเรียนเศรษฐศาสตร์ทำอาชีพอะไร ส่วนใหญ่ก็สอนหนังสือ หรือนักวิชาการ แต่เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็อยากได้นักเศรษฐศาสตร์ อย่างธนาคารพาณิชย์ สื่อมวลชน ทำให้ตลาดของนักเศรษฐศาสตร์ใหญ่ขึ้น มีแรงจูงใจให้ไปทำอาชีพอื่น ไม่มาเป็นอาจารย์ ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ที่จะมาเป็นนักวิชาการมีคู่แข่งที่ดูดไป หลายๆ คนก็น่าจะเป็นอาจารย์ แต่ไปทำอย่างอื่น ซึ่งเราเชื่อว่านักเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ไหนก็ทำประโยชน์ได้ พอเป็นแบบนี้ ความต่อเนื่องของนักวิชาการมันก็หายไป

“ที่ผ่านมา อยู่ในระบบราชการมันโตไม่ได้ ผลตอบแทนน้อย เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ ถ้าผมมีความรู้แต่ว่าผลตอบแทนน้อยก็ไปหางานพิเศษ ถามว่าแล้วประสิทธิผลการทำงานจะเป็นยังไง แล้วมองต่อยอดออกไปว่า ถ้าผมต้องรอกว่าจะได้เป็นผู้อำนวยการ ระบบราชการต้องรอให้เป็นผู้ใหญ่ ถึงจะได้ผลตอบแทนอะไรต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งมันรอไม่ได้ นั่นหมายความว่าการปฏิรูประบบราชการ ต้องมาคิดกันใหม่ ว่าที่เป็นอยู่แบบนี้จะขับเคลื่อนไปได้หรือไม่”

ไทยพับลิก้า : กลุ่มเทคโนแครตหายไปด้วย

ถูก อันนี้โจทย์ใหญ่ ก็คือว่านักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นเทคโนแครตเดิม ก็เจอสภาพแบบเดียวกัน เพราะตลาดเอกชนเปิดมา นักเรียนทุนรัฐบาลเยอะแยะ โดดไปอยู่เอกชนเยอะ เมื่อกลุ่มเทคโนแครตหายไปมันก็ถดถอยในทางวิชาการ ทั้งศักยภาพ ประสิทธิภาพ หลายหน่วยงานก็แก้ไขปัญหา อย่างกระทรวงการคลัง ตั้ง สวค. (มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง) ขึ้นมา ขณะที่สภาพัฒน์ฯ ก็ตั้ง ทีดีอาร์ไอขึ้นมา ซึ่งหนังสือของอาจารย์เสนาะ อูนากูล พูดที่มาที่ไปของทีดีอาร์ไอไว้ว่าเนื่องจาก think tank พัฒนาไม่ทัน…ไปดูประวัติศาสตร์ได้

ไทยพับลิก้า : จะปรับโครงสร้างในคณะอย่างไร

อันนี้เรื่องยากมากเลย ปัญหาใหญ่คือคู่แข่งไม่ใช่สถาบันการศึกษาด้วยกัน แต่เป็นภาคเอกชน เราสู้ไม่ได้ เริ่มต้นมาเป็นอาจารย์เงินเดือนน้อย เทียบกับเอกชนต่ำกว่าเขาสองสามเท่า แต่ก็ไม่ได้บอกว่ามีเรื่องเงินอย่างเดียว มันก็มีเรื่องอื่น ก็ต้องเอาความอยากเป็นอาจารย์ งานวิจัย การเรียนการสอนมาจูงใจ

ผมก็เชื่อว่ายังมีคนที่อยากทำงานในลักษณะแบบนี้มากกว่ามุ่งหารายได้ แต่ก็แน่นอนมันปฏิเสธไม่ได้ รายได้ก็ต้องให้เหมาะสม คำตอบคือจะทำอย่างไร ก็ต้องแข่งขันกับเอกชนเขา ก็ต้องสร้างแรงจูงใจให้เขาอยากมา รวมทั้งความน่าเชื่อของสถาบัน ความอิสระของสถาบัน เป็นต้น

ไทยพับลิก้า : ที่ผ่านมา think tank ของราชการหายไป คณะเศรษฐศาสตร์ถ้ารวมตัวกันได้ก็จะมาช่วยกันคิด

ใช่..ช่วยตรวจสอบ ช่วยคิด ช่วยถ่วงดุล ให้มีความเข้มแข็งทางวิชาการอีกด้าน

ผมคิดว่าวันนี้คนไทยเรียนรู้จากม็อบการเมืองว่าทุกเรื่องมันเกี่ยวข้องกับตัวเอง เพราะฉะนั้นข้อมูลข่าวสารที่ให้ต้องถูก ต้องเชื่อถือได้ เป็นเรื่องสำคัญมาก รวมทั้งสังคมตอนนี้มันเปิดมาก คุณมีสื่ออะไรเยอะแยะไปหมดเลย เพราะงั้นคุณต้องเลือก ต้องตัดสินว่าจะเชื่อใคร เชื่อด้วยเหตุผลอะไร ตรงนี้เป็นโอกาสของเราในการให้ข้อมูลที่ดีที่ถูกต้องออกไป ให้เขาเลือกตัดสินเอง กระบวนการทำงานไม่ต้องถึงกับเป็นทางการเป็นหน่วยงานอะไร เจอกันบ้างเดือนครั้งสองเดือนครั้ง คนทุกคนก็มีการบ้านของตัวเองเป็นปกติอยู่แล้ว มาเจอกันว่ามีอะไรเป็นประเด็นไหม มานำเสนอกัน คุยกัน แล้วทำเลย เริ่มต้นก่อน

ไทยพับลิก้า : นอกจากการทำวิจัยเพื่อตอบโจทย์การทำแผนหรือกลยุทธ์ของประเทศ แล้วบริบทอื่นๆ

โดยภารกิจของคณะเศรษฐศาตร์มีสี่ด้านด้วยกัน ด้านวิจัย ด้านการเรียนการสอน ด้านการบริการสังคม ด้านสร้างจิตอาสาในนักศึกษา ซึ่งท้าทายมาก

เรื่องการเรียนการสอน เราจะพยายามยกคุณภาพนักศึกษามากขึ้น พัฒนาหลักสูตรหลากหลายมากขึ้น ทันสมัยมากขึ้น เราไม่ได้คิดว่าเราดีที่สุดแต่เราต้องปรับปรุงคุณภาพตรงนั้นมากยิ่งขึ้น เพราะผมคิดว่าธรรมศาสตร์เอง โดยภาพความเป็นมหาวิทยาลัยต้องมีความชัดเจนว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัย และเป็นปรัชญาของคณะเศรษฐศาสตร์เองที่เป็นคณะวิจัย เราไม่ละทิ้งการเรียนการสอน ดังนั้นเราต้องเชื่อมโยงการวิจัยที่เราได้รับจากตอนต้น มาปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัย และรู้ว่าสภาพความเป็นจริง

อีกส่วนหนึ่งวันนี้เราบอกว่าจะเป็น AEC เราเป็นคณะแรกในประเทศไทยที่มีภาษาไทยและอังกฤษครบทั้งปริญญาตรี โท เอก มีหมดเลย เพราะฉะนั้นเราต้องเปิดความเป็นอินเตอร์ของเราให้มากยิ่งขึ้น คล้ายๆ กับเป็นศูนย์รวมด้านเศรษฐศาสตร์ในภูมิภาคเหล่านี้ เราก็ต้องทำ เรายังไม่มองความเป็นอินเตอร์ระดับโลก เอาแค่ตรงนี้ก่อน ให้เห็นความชัดเจนตรงนี้ องค์ความรู้ทั้งการวิจัยการเรียนการสอนต้องไปด้วยกัน ถ้าเป็นแบบนั้นก็หมายความว่า เราต้องพยายามมุ่งเน้นการเพิ่มนักศึกษาในภูมิภาค เพราะเราจะเหมือนกับเป็นพี่เลี้ยงให้เขาไปช่วยสนับสนุนมหาวิทยาลัยในประเทศรอบบ้านเราให้มาเรียนมากขึ้น

แต่พร้อมกันนั้นโยงต่อเรื่องที่สี่คือการเพิ่มความเป็นนักศึกษาที่ดีตามปรัชญาอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในอดีตอาจารย์ป๋วยเป็นคนตั้งบัณฑิตอาสา กำลังคิดเรื่องการตั้งบริษัทเพื่อสังคม ทำแล้วผลกำไรต้องคืนกลับ จะเป็นรูปเงินหรือรูปอะไรก็แล้วแต่แก่สังคม แต่ต้องอยู่ได้ เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นว่าได้ฝึกงานจริงๆ ที่ผ่านมาการฝึกงานฝึกจริงบ้างไม่จริงบ้าง อันนี้เราทำเอง ทำให้เห็นภาพของความเป็นบริษัทที่ดี สอนให้คุณหากำไร หารายได้ แต่การหากำไรหารายได้มันต้องมีความเป็นมูลค่าทางสังคมอยู่ด้วย ถ้าทำได้ก็คิดจะขยายเป็นเครือข่ายออกไปด้วย ซึ่งตอนนี้โชคดีสมาคมศิษย์เก่าเราเข้มแข็งมาก และให้ความสำคัญคือความเชี่ยวชาญของเอกชนมาเป็นผู้ฝึกให้กับนักศึกษา เป็นการเปิดกว้างกับสังคมในทุกๆ มิติ

ศ. ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา
ศ. ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา
ไทยพับลิก้า : ตอนนี้สัดส่วนนักศึกษาต่างชาติเป็นอย่างไร

สัดส่วนนักศึกษาต่างชาติยังน้อยอยู่ เราคงต้องแต่งตัวเราใหม่ให้อินเตอร์มากขึ้น อย่างน้อยก็ภูมิภาคอินโดจีน เมื่อก่อนเราไม่ได้ไปหาตลาดตรงนั้น เพราะมันไม่ใช่ตลาดเปิด แต่ตอนนี้คนละเรื่อง เราต้องเตรียมตัวเรื่องนี้แล้ว ที่ต้องทำแน่ๆ คือไปเยี่ยมเขา ยกตัวอย่าง พม่า เวียดนาม ที่มีคณะเศรษฐศาสตร์สอนที่เดียว และเวียดนามบังเอิญคณบดีจบจากที่นี่ เราก็ต้องไปเยี่ยมเยียน

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้บริบทสังคมที่ “จ่ายครบจบแน่” จะต้านไหวไหม

ต้านไม่ไหวอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราต้องมากำหนดทิศทางของเรา เพราะว่าถ้าคนอยากได้แบบนั้นเราไม่เอาอยู่แล้ว คงต้องคัดคนที่อยากเรียนกับเรา เชื่อในปรัชญาของเรา ความคิดความเชื่อของเรา เพียงแต่เราเปิดช่องทางเลือกให้เยอะขึ้น ไม่ใช่ตัดเขาตั้งแต่ทีแรก ผมก็ยังเชื่อว่าคนไทยก็ยังอยากแสวงหาความรู้อยู่นะ ก็เปิดทางเลือกให้เขามากขึ้น เหมาะสมกับความต้องการของเขามากขึ้น ที่เราพยายามจะให้สิ่งที่เราอยากจะให้ ให้มากที่สุด

ดังนั้นที่ว่า “ปีเดียวจบหรือจ่ายครบจบแน่” ไม่มีแน่นอน เพราะหัวใจของเรา เราไม่เน้นว่าต้องมีคนมาเรียนกับเราเยอะๆ