สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้มีการจัดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 จากต้นทุนค่าไฟที่สูงขึ้นจากภาวะราคาที่ผันผวนของก๊าซธรรมชาติในตลาดจร (Spot LNG) อาจทำให้ค่าไฟตามต้นทุนจริงที่รวมกับค่าเชื้อเพลิง เป็นหนี้เก่าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับภาระต้นทุนแทนผู้ใช้ไฟฟ้าอีกกว่า 95,777 ล้านบาท อาจทำให้ต้องปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าจากงวดปัจจุบัน (ก.ย. – ธ.ค. 2566) อยู่ที่ 3.99 ต่อหน่วย เป็น 4.68 – 5.95 บาทต่อหน่วย ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ และจะสิ้นสุดกระบวนการในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 นี้
แนวโน้มค่าไฟฟ้าที่ยังเป็นขาขึ้น ทำให้ถึงจุดสำคัญที่รัฐบาลต้องตัดสินใจอีกครั้งหนึ่งจะไปต่อหรือพอแค่นี้ เพราะหากว่าจะต้องตรึงราคาค่าไฟฟ้าให้ต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วยที่ระดับเดิม มีการประเมินกันภายในแล้วว่าอาจจะต้องใช้เงินอีกกว่า 40,000 ล้านบาท เพื่ออุ้มต้นทุนค่าไฟฟ้า
จากเอกสารข่าวเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ระบุว่า กกพ. มีมติรับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงประจำรอบเดือน พ.ค. – ส.ค. 2566 ที่ใช้นำมาประกอบการคำนวณ และจัดทำประมาณการต้นทุนสำหรับค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 ซึ่งเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 เป็นจำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย ค่าเอฟทียังสูงกว่าค่าไฟฟ้าฐานซึ่งอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย และเป็นต้นทุนที่ยังไม่นับรวมหนี้คงค้างจากค่าเชื้อเพลิงที่กฟผ.แบกรับภาระค่าเชื้อเพลิงแทนผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศในงวดที่ผ่านๆ มาจนถึงปัจจุบันและคงเหลือหนี้ค่าเชื้อเพลิงคงค้างอยู่อีก 95,777 ล้านบาท หมายความว่าค่าไฟจริงจะต้องแพงกว่า 4 บาทต่อหน่วย
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงาน กกพ. ระบุถึงแนวโน้มต้นทุนค่าไฟในระยะต่อไปว่า “ต้นทุนค่าไฟจริงๆ เฉลี่ยน่าจะอยู่ประมาณ 60 สตางค์ในระยะยาว ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นกับหลายปัจจัย ก๊าซราคาถูกในอ่าวจะเข้ามาได้เร็วแค่ไหนและจะยืนอยู่ตรงนั้นหรือเปล่า ส่วนในเรื่อง LNG เราก็พยายามบริหารจัดการ เราก็จะมี LNG เป็นสัญญายาวมากขึ้นกว่า LNG Spot เราก็พยายามบริหารจัดการตรงนี้อยู่”
เอาเข้าจริงๆ งานนี้ไม่น่าจะมีใครผิดหรือมีใครถูก เพียงแต่ว่าสถานการณ์มันไม่เอื้อ ค่าไฟของประเทศไทยที่เป็นอยู่ยังหนีไม่พ้นปัจจัยราคาก๊าซธรรมชาติ สัดส่วนเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าที่ประเทศไทยยังต้องพึ่งพาเกินครึ่ง ในขณะที่แหล่งก๊าซต้นทุนต่ำจากอ่าวไทย และเมียนมาก็ยังไม่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าได้อย่างเต็มศักยภาพ การพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากตลาดจร (Spot LNG) จากต่างประเทศที่เริ่มจะแพงและผันผวนหนักอีกรอบเข้ามาทดแทนย่อมกระทบกับค่าไฟฟ้า
ข้อมูลจากสำนักงาน กกพ. ระบุว่า Spot LNG ที่ราคาผันผวนและเป็นขาขึ้น เป็นผลจากสงครามอิสราเอล – กลุ่มฮามาส บวกกับปริมาณความต้องการก๊าซในช่วงฤดูหนาวของประเทศแถบตะวันตกในขณะนี้ ทำให้ค่าก๊าซ LNG ได้ถีบตัวสูงขึ้นไปถึง 14 – 17 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูแล้ว ในขณะที่ปริมาณก๊าซธรรมชาติต้นทุนต่ำในอ่าวไทย และเมียนมาร์ที่จะเข้ามาเฉลี่ยต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ามีสัดส่วนไม่เปลี่ยนแปลงจากครึ่งปีแรกของปี 2566 คือก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยอยู่ในระดับ 38 – 42% และเมียนมาร์อยู่ในระดับ 14 – 16% ตามลำดับ ส่งผลให้ต้องนำเข้า LNG เข้ามาทดแทน 41 – 47%หนี้เก่าสะสมที่ กฟผ. แบกรับภาระไว้อีกกว่า 95,777 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าผู้ใช้ไฟฟ้าต้องใช้คืนให้กับ กฟผ. เพื่อลดความเสี่ยง และให้กลไกมันไปต่อให้ได้ จึงเป็นที่มาให้ กกพ. ต้องเปิดรับฟัง 3 กรณี เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมกันเสนอความคิดเห็น ซึ่งประกอบด้วย 3 กรณี
กรณีที่ 1 (จ่ายคืนภาระต้นทุนค้างทั้งหมด) แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค. – เม.ย. 67 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาทในงวดเดียว รวมเท่ากับ 216.42 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วยแล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.95 บาทต่อหน่วย ตามรายงานการคำนวณตามสูตรเอฟที
กรณีที่ 2 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 1 ปี) แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อทยอยชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาทโดยแบ่งเป็น 3 งวดๆ ละจำนวน 31,926 ล้านบาท รวมเท่ากับ 114.93 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 4.93 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 3 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 2 ปี) แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อทยอยชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาทโดยแบ่งเป็น 6 งวดๆ ละจำนวน 15,963 ล้านบาท รวมเท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย
กกพ. ยังไม่ได้สรุปว่าค่าไฟจะขึ้นหรือลดเท่าไหร่อย่างไร กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเปรียบเหมือนกับการรายงานข้อเท็จจริงให้ได้รับทราบกัน หน่วยงานกำกับไม่ได้เป็นผู้กำหนดค่าไฟทั้งหมด ต้องนำเสนอความคิดเห็นเข้ามา และนำเข้าสู่การพิจารณาของ กกพ. อีกครั้งหลังกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสิ้นสุด และที่สำคัญช่วง นี้รัฐบาลยังมีเวลาตัดสินใจ บนโจทย์ก็ยากขึ้น บนข้อจำกัดเดิม กับภาระที่เพิ่มขึ้นจากความยืดเยื้อต้นทุนค่าเชื้อเพลิงราคาแพงซึ่งเป็นปัจจัยเดิมๆ ที่ทุกคนรู้ดีว่าอยู่นอกเหนือการควบคุม ถึงแม้ว่าจะเป็นความตั้งใจดีของรัฐบาลที่ต้องการจะเยียวยาค่าครองชีพ และต้นทุนสินค้าอุปโภคบริโภค ให้กับพี่น้องประชาชนก็ตามผู้คนหลังจากเผชิญกับค่าไฟแพงยาวนาน และยืดเยื้อก็ตาม
ด้วยปัจจัย ข้อจำกัด ที่หยิบยกมาข้างต้น เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนเลี่ยงไม่ได้ ต้องร่วมกันเผชิญกับปัญหา และแบกรับภาระร่วมกัน ที่สำคัญมันอยู่ที่เราจะรับมือกับมันอย่างไรต่างหาก ความคุ้นเคยกับการเรียกร้องมาตรการชั่วคราวเพื่อให้เป็นเหมือนมาตรการถาวรจากรัฐบาล บนความเสี่ยงจากปัจจัยราคาพลังงาน
ที่นอกเหนือการควบคุม ย่อมต้องแลกด้วยต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ทุกคนต้องจ่าย จึงเป็นเรื่องที่ควรไตร่ตรองให้ดี ในขณะที่หลายคนยังคงชินกับความรู้สึกว่าค่าไฟกำลังถูก และใช้ไฟฟ้ากันอย่างไม่บันยะบันยัง จึงเป็นเรื่องที่ต้องเตือนกันอีกครั้งว่า ความจริงไฟฟ้าไม่ได้ถูก และภาระค่าเชื้อเพลิงไม่ได้หายไปไหน วันหนึ่งทุกคนก็ต้องเข้ามาแบกรับไปทั้งหมด สิ่งที่ทำได้เลย และง่ายที่สุดคือ พึ่งตัวเองท่องไว้ว่าต้องประหยัด และใช้ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น อย่าลืม…