ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

วันที่ 27 กันยายน 2566 อาดสะพังทอง สีพันดอน เจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์ ได้ออกหนังสือแจ้งการเลขที่ 06/จนว. เรื่องการเปลี่ยนทิศทางการจราจรบนถนน 18 สาย ในย่านศูนย์กลางธุรกิจเก่าแก่ของตัวเมืองนครหลวงเวียงจันทน์
ตัวอย่างถนนหลักบางเส้นที่ถูกเปลี่ยนทิศทางการจราจรตามหนังสือแจ้งการฉบับนี้(โปรดดูแผนที่ประกอบ)
ฯลฯ
ในหนังสือแจ้งการ ได้ได้อ้างอิงเนื้อหาจากบันทึกการประชุมคณะชี้นำ “โครงการขนส่งแบบยั่งยืนในตัวเมืองนครหลวงเวียงจันทน์”(Vientiane Sustainable Urban Transport Project) หรือโครงการ VSUTP เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ซึ่งมีเจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์ และรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่งเป็นประธานร่วม และอ้างอิงหนังสือเสนอของแผนกโยธาธิการและขนส่ง นครหลวงเวียงจันทน์ เลขที่ 7668/ยทข.นว. ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2566
โดยระบุวัตถุประสงค์ของการเปลี่ยนทิศทางการจราจรครั้งนี้ว่า เพื่อลดการแออัดของการจราจร แก้ปัญหารถติด ลดการเกิดอุบัติเหตุ และควบคุมให้การจราจรบนถนนในตัวเมืองนครหลวงเวียงจันทน์มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย…
ถัดมา วันที่ 28 กันยายน 2566 กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ได้เซ็นสัญญากับบริษัทรัฐวิสาหกิจสร้างทางหมายเลข 8 จำกัด และบริษัทไตเจื่องเซิน จำกัด ให้เป็นผู้ก่อสร้างเส้นทางอ้อมรอบสถานีรถเมล์ด่วน(Bus Rapid Transport) หรือ BRT โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 3.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เส้นทางอ้อมรอบสถานี BRT ที่กำลังจะสร้าง ประกอบด้วย ถนนร่วมที่เป็นเลนเฉพาะของรถเมล์ด่วน BRT บนเส้นทางหลัก 4 สาย ได้แก่ ถนนเจ้าอานุ ทั้งทิศเหนือและทิศใต้ ถนนแห่งบุน และถนนหัดสะดีบริเวณใกล้กับศูนย์การค้าตลาดเช้ามอลล์
เลนเฉพาะของรถเมล์ด่วน BRT ที่จะสร้างใหม่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กปูหน้าด้วยแอสฟัลท์ กว้าง 5.7-8.8 เมตร ระยะทางยาว 1.065 กิโลเมตร รายละเอียดเนื้องาน จะมีการสร้างฟุตบาท นำสายไฟฟ้าและสารสื่อสารลงใต้ดิน ตกแต่งแนวริมทางด้วยต้นไม้ วางเก้าอี้ให้คนนั่ง สร้างหลักกั้น ตีเส้นการจราจร รวมถึงติดป้ายสัญญานจราจร กำหนดเวลาก่อสร้างไว้ 12 เดือน คาดว่าจะสามารถส่งมอบงานได้ในเดือนตุลาคม 2567…
รุ่งขึ้น วันที่ 29 กันยายน 2566 กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ได้เซ็นสัญญาให้บริษัทซิงเต่า ไลเซนส์ ทรานส์เทค จำกัด เป็นผู้ติดตั้งระบบการขนส่งอัจฉริยะ(Intelligent Transport System) หรือระบบ ITS ให้กับโครงการรถเมล์ด่วน BRT โครงการนี้มูลค่า 5.5 ล้านดอลลาร์ โดยจะติดตั้งระบบและอุปกรณ์ใน 4 ส่วน ได้แก่ ศูนย์ควบคุมการจราจรของรถเมล์ด่วน BRT อู่รถเมล์ด่วน BRT สถานีรถเมล์ด่วน BRT และภายในตัวรถเมล์ด่วน BRT
อุปกรณ์ที่จะติดตั้ง ประกอบด้วย กล้องวงจรปิด(CCTV) ระบบติดตามตำแหน่งยานพาหนะ (Automatic Vehicle Location : AVL) จอแสดงข้อมูลและเวลาที่รถวิ่งให้บริการ ระบบตรวจนับผู้โดยสาร ฯลฯ คาดว่าจะสามารถติดตั้งระบบและอุปกรณ์ได้ทั้งหมด ภายในเดือนพฤศจิกายน 2567
ตามข่าวที่เผยแพร่ของสื่อในลาว ระบุว่า ระบบการขนส่งอัจฉริยะ(ITS) จะยกระดับการให้บริการขนส่งสาธารณะในตัวเมืองนครหลวงเวียงจันทน์ให้ทันสมัย มีศูนย์ควบคุมการจราจรที่เป็นระบบ ตามสถานีรับ-ส่งผู้โดยสาร จะมีจอแสดงข้อมูลของสายรถเมล์ BRT ที่กำลังวิ่งให้บริการ แสดงเวลาจอดรับ-ส่งผู้โดยสารตามสถานีที่แน่นอน…
“ประชาชน” สื่อของรัฐที่กำกับดูแลโดยพรรคประชาชนปฏิวัติลาว รายงานว่า นอกจากสัญญาสร้างเส้นทางอ้อมรอบสถานีรถเมล์ด่วน BRT บนเส้นทางหลัก 4 สาย และสัญญาติดตั้งระบบการขนส่งอัจฉริยะ ที่ได้มีการลงนามกันไปแล้ว กระทรวงโยธาธิการและขนส่งยังมีสัญญาก่อสร้างตามโครงการรถเมล์ด่วน BRT เหลืออยู่อีก 4 สัญญา ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ลงทุน ได้แก่
……
รถเมล์ด่วน BRT เป็นส่วนประกอบสำคัญซึ่งถูกบรรจุไว้ในแผนแม่บทของ “โครงการขนส่งแบบยั่งยืนในตัวเมืองนครหลวงเวียงจันทน์”(VSUTP) ซึ่งมีกระทรวงโยธาธิการและขนส่งเป็นเจ้าภาพ VSUTP ไม่ใช่โครงการใหม่ แนวคิดของโครงการนี้ ถูกริเริ่มไว้ตั้งแต่สมัยของนายกรัฐมนตรี ทองสิง ทำมะวง ในปี 2558
VSUTP เป็นการปรับปรุงบริการและควบคุมการขนส่งในตัวเมืองนครหลวงเวียงจันทน์ โดยการสร้างหน่วยงานควบคุมการขนส่ง , ให้บริการขนส่งมวลชนด้วยรถเมล์ไฟฟ้าที่มีคุณภาพสูงและรถเมล์ด่วน BRT , ปรับปรุงและบริหารจัดการจราจร , นำระบบควบคุมที่จอดรถและระบบขึ้นทะเบียนยานพาหนะ , ปรับปรุงเส้นทางคนเดิน และนำการขนส่งแบบไม่ใช้เครื่องจักรมาใช้เพื่อลดปัญหามลพิษ รวมถึงสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
โครงการ VSUTP ใช้งบประมาณรวม 99.7 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นเงินลงทุนของรัฐบาลลาว 14.55 ล้านดอลลาร์ การลงทุนจากภาคเอกชน 6.41 ล้านดอลลาร์ ที่เหลือ อีก 78.74 ล้านดอลลาร์ เป็นเงินกู้ยืมและเงินช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ 5 แห่ง ได้แก่
สภาแห่งชาติลาวให้การรับรองโครงการ VSUTP ในปี 2559 และเริ่มเดินหน้าโครงการอย่างจริงจังในปี 2561 อย่างไรก็ตาม หลังเกิดการระบาดหนักของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา โครงการ VSUTP ได้หยุดชงักไปนานพอสมควร กระทั่งเพิ่งเริ่มกลับมาเดินหน้าอีกครั้ง ในปี 2565

“นครหลวงเวียงจันทน์” ซึ่งเป็นเมืองหลวงของ สปป.ลาว มีพื้นที่รวม 3,920 ตารางกิโลเมตร สถิติเมื่อปี 2563 ประชากรในนครหลวงเวียงจันทน์มี 948,446 คน ในนี้เป็นประชากรที่อาศัยอยู่เฉพาะในพื้นที่เมือง(urbanized areas) ไม่ต่ำกว่า 500,000 คน
นอกจากพื้นที่ซึ่งเป็นที่พักอาศัยแล้ว นครหลวงเวียงจันทน์ยังเป็นศูนย์รวมที่ตั้งของทั้งหน่วยงานรัฐ วัด โบราณสถาน สำนักงานใหญ่ของธุรกิจเอกชน ทั้งธุรกิจในท้องถิ่นและธุรกิจข้ามชาติจากต่างประเทศ มีศูนย์การค้า ย่านพาณิชยกรรม แหล่งบันเทิง สันทนาการ และแหล่งท่องเที่ยว ทำให้สภาพของตัวเมืองทุกวันนี้ เต็มไปด้วยความแออัด คับคั่ง
ย่านศูนย์กลางธุรกิจซึ่งเป็นพื้นที่เก่าแก่ตลอดแนวฝั่งทิศเหนือของแม่น้ำโขง ถนนหนทางคับแคบไม่สามารถขยายได้ หนำซ้ำ ปริมาณรถยนต์ส่วนตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 10 กว่าปีมานี้ ทำให้หลายพื้นที่ของนครหลวงเวียงจันทน์เกิดปัญหาการจราจร ทั้งรถติด ขาดแคลนที่จอดรถ และถนนชำรุด ทรุดโทรม เสียหาย
ระบบขนส่งสาธารณะในนครหลวงเวียงจันทน์ที่คนนิยมในอดีต มักใช้รถจักรยานยนต์รับจ้างที่เรียกกันว่ารถ”รถจัมโบ้” ต่อมามีรถตุ๊กตุ๊ก 3 ล้อเข้ามาให้บริการ แต่เมื่อปี 2554 รัฐบาลญี่ปุ่นและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(JICA) ได้มาช่วยพัฒนาการขนส่งสาธารณะด้วยรถเมล์ให้กับนครหลวงเวียงจันทน์ มีการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจรถเมล์นครหลวงเวียงจันทน์ขึ้น และขยายเส้นทางเดินรถได้ครอบคลุมถนนหลายสายในทุกวันนี้ โดยเฉพาะเส้นทางหลักจากย่านใจกลางเมืองไปยังชานเมือง ที่สามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายขนส่งประเภทอื่น ทั้งสนามบิน สถานีรถไฟ สถานีรถโดยสารสายใต้ และสะพานมิตรภาพแห่งที่ 1
ส่วนโครงข่ายถนน มีการสร้างโครงการทางด่วนเวียงจันทน์ หมายเลข 1 ยาว 15.30 กิโลเมตร เป็นทางด่วนแห่งแรกที่สร้างขึ้นเพื่อลดปัญหาการจราจรภายในนครหลวงเวียงจันทน์ มูลค่าก่อสร้างรวม 200 ล้านดอลลาร์ มีจุดเริ่มต้นจากเขตเศรษฐกิจเฉพาะบึงทาดหลวง เมืองไซเสดถา วิ่งตรงขึ้นไปทางทิศเหนือถึงถนนสาย 13 ใต้ ในเขตบ้านดงหมากคาย เมืองไซทานี
บริษัทเอเซียลงทุน พัฒนา และก่อสร้าง ได้ร่วมทุนกับบริษัท China North Industries Corporation ตั้งบริษัททางด่วนเวียงจันทน์หมายเลข 1 ขึ้น เพื่อเข้ารับสัมปทานก่อสร้างทางด่วนสายนี้ มีอายุสัมปทาน 50 ปี และต่อได้อีก 20 ปี โดยองค์การปกครองนครหลวงเวียงจันทน์ได้เซ็นสัญญามอบสัมปทานก่อสร้างทางด่วนเวียงจันทน์หมายเลข 1 เมื่อเดือนเมษายน 2562 และมีพิธีวางศิลาฤกษ์เริ่มต้นการก่อสร้าง ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563
ปัจจุบันทางด่วนสายนี้ยังสร้างไม่เสร็จ แม้ว่าในพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 บริษัททางด่วนเวียงจันทน์หมายเลข 1 ผู้ได้รับสัมปทาน คาดไว้ว่า ทางด่วนเส้นนี้จะสร้างเสร็จภายในเวลา 24 เดือน แต่ต่อมา ในเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาด ได้มีการขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปเป็น 36 เดือน

ด้วยความที่ลาวตั้งอยู่บนเส้นทางยุทธศาสตร์ “1 แถบ 1 เส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ที่ประเทศจีนให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และนครหลวงเวียงจันทน์ก็เป็นชุมทางโครงข่ายคมนาคมทางราง เป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางทางรถไฟลาว-ไทย เข้ากับทางรถไฟลาว-จีน และทางรถไฟลาว-เวียดนาม แนวโน้มประชากรที่จะเข้ามาอาศัยอยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์ย่อมเพิ่มสูงขึ้น และโอกาสของเมืองที่จะขยายตัวต่อไปอีก ก็มีมากขึ้น การเตรียมวางระบบขนส่งสาธารณะภายในตัวเมืองเพื่อรองรับการขยายตัวเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้
หากทุกสัญญาที่ได้เซ็นกันไปแล้วเดินหน้าได้ตามกำหนดเวลา อีก 1 ปีข้างหน้า ย่านศูนย์กลางธุรกิจเก่าแก่ของนครหลวงเวียงจันทน์ คงต้องดูแปลกตาไปจากปัจจุบันไม่น้อยทีเดียว
ตัวแปรน่าจะอยู่ที่ไลฟ์สไตล์คนลาวเอง โดยเฉพาะรสนิยมของผู้ที่มีฐานะทางสังคมในลาว ซึ่งชอบเดินทางไปไหนต่อไหนด้วยรถยนต์ส่วนตัว และหลายคนก็มีนิสัยสะสมรถยนต์ส่วนตัวไว้เป็นจำนวนหลายคัน
โครงข่ายขนส่งมวลชนที่กำลังถูกพัฒนาขึ้นมา จะช่วยบรรเทาปัญหาความแออัดคับคั่งบนถนนในนครหลวงเวียงจันทน์ได้หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับตัวแปรนี้ด้วยอย่างแน่นอน…