ThaiPublica > เกาะกระแส > การหมดอำนาจของ ‘หลี่ เค่อเฉียง’ สะท้อน ความตกต่ำของ “สันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์จีน”

การหมดอำนาจของ ‘หลี่ เค่อเฉียง’ สะท้อน ความตกต่ำของ “สันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์จีน”

26 ตุลาคม 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

นายหลี่ เค่อเฉียง ที่มาภาพ : https://abcnews.go.com/International/wireStory/china-opens-final-session-ruling-communist-party-congress-91894874

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ที่ประชุมคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเต็มคณะชุดที่ 20 ครั้งที่ 1 เลือกสี จิ้นผิง ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคเป็นสมัยที่สาม และเลือกคณะกรรมการประจำกรมการเมือง 7 คน รวมทั้งสี จิ้นผิงด้วย ส่วนนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ที่เคยมีฐานะผู้นำจีนอันดับ 2 ไม่ได้รับเลือกจากที่ประชุมสมัชชาพรรคฯ ให้เป็นแม้แต่สมาชิกคณะกรรมการกลางชุดที่ 20 นี้ มติดังกล่าวเท่ากับว่าหลี่ เค่อเฉียง ต้องเกษียณทางการเมือง

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 22 ตุลาคม ในช่วงการปิดประชุมสมัชชาแห่งชาติพรรคคอมฯ ครั้งที่ 20 เกิดเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนแบบไม่คาดฝันขึ้น เมื่อหู จิ่นเทา อดีตผู้นำพรรคคนก่อน ถูกเจ้าหน้าที่บังคับพาออกจากที่ประชุม เมื่อหู จิ่นเท่า ที่อยู่ในสภาพสับสนและไม่เต็มใจลุกจากที่นั่งก็ได้ถามสี จิ้นผิง และหลี่ เค่อเฉียง ทั้งสองคนได้พยักหน้า

  • “หู จิ่นเทา” อดีตประธานาธิบดี ถูกเชิญตัวออกจากพิธีปิดประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20
  • หู จิ่นเทา เป็นผู้นำจีนในสมัยที่พรรคฯ มี “การนำร่วม” (collective leadership) แต่ไม่เคยมีอำนาจมากเท่ากับที่สี จิ้นผิง มีอยู่ในเวลานี้ แต่สมัยหู จิ่นเทา การคอร์รัปชันในจีนเพิ่มขึ้นมากจนเป็นอันตรายต่อพรรค ในสมัยสี จิ้นผิง พรรคพวกของหู จิ่นเทา ถูกจับกุมในข้อหาคอร์รัปชัน

    ทั้งหู จิ่นเทาและหลี่ เค่อเฉียง เติบโตขึ้นมาจากสายงานองค์กร “สันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์” (Communist Youth League – CYL) ของจีน กรณีที่เกิดขึ้นกับผู้นำจีนทั้งสองคนนี้สะท้อนว่า อำนาจอิทธิพลทางการเมืองของกลุ่มสันนิบาตเยาวชนฯ ถูกลดความสำคัญลงไปมาก

    สันนิบาตเยาวชนฯ

    สันนิบาตเยาวชนฯ เป็นองค์กรที่ครั้งหนึ่งทำหน้าที่สร้างผู้ปฏิบัติงานและผู้นำการเมืองในอนาคตของจีน ตั้งขึ้นเป็นทางการครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 1922 หนึ่งปีหลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อตั้งขึ้นเมื่อกรกฎาคม 1921 สมาชิกสันนิบาตฯ คือเยาวชนจีนอายุ 14-28 ปี มีสมาชิก 73 ล้านคน โครงสร้างสันนิบาตเยาวชนฯ เลียนแบบโครงสร้างพรรคฯ ผู้นำสูงสุดคือเลขาธิการคนที่หนึ่ง ที่โดยตำแหน่งจะได้รับเลือกเป็นสมาชิกสำรองของคณะกรรมการกลางพรรคฯ

    ผู้นำจีนที่เป็นศิษย์เก่าสันนิบาตเยาวชนฯ คือ หู เย่าปัง (Hu Yaobang) เลขาธิการสันนิบาตเยาวชนฯ ปี 1953-1978 เลขาธิการพรรคฯ ปี 1982-1987 หู จิ่นเทา เลขาธิการสันนิบาตเยาวชนฯ ปี 1984-1985 เลขาธิการพรรคฯ ปี 2002-2012 และหลี่ เค่อเฉียง เลขาธิการสันนิบาตเยาวชนฯ ปี 1993-1998 ในยุคสมัยของหู จิ่นเทา อิทธิพลของสันนิบาตเยาวชนฯ พุ่งขึ้นสูงสุด

    ที่ผ่านมา สันนิบาตเยาวชนฯ จึงเป็นเวทีบรรดาเยาวชนจจีนที่มีศักยภาพ เพื่อแสดงออกถึงความสามารถทางการเมือง โดยเฉพาะเยาวชนที่ไม่ใช่ “เจ้าชายน้อย” (princeling) ลูกหลานของผู้นำพรรค ที่มีความได้เปรียบจากพ่อแม่ที่มีตำแหน่งสูงในพรรคแบบสี จิ้นผิง ที่บิดาเคยเป็นนักปฏิวัติอาวุโสและผู้นำพรรคระดับสูงมาก่อน

    นายหลี่ เค่อเฉียง ที่มาภาพ : scmp.com

    แนวคิดกลุ่มสันนิบาตเยาวชนฯ

    หู จิ่นเทา ถือเป็นตัวแทนความคิดของกลุ่มสันนิบาตเยาวชนฯ เป็นบุคคลที่ได้รับการวางตัวเป็นผู้นำพรรคจากการเลือกของเติ้ง เสี่ยวผิง แต่หู จิ่นเทา มีเส้นทางขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดแตกต่างจากเจียง เจ๋อหมิน ผู้นำพรรคคนก่อน ที่สังกัดกลุ่มการเมืองเรียกว่า “กลุ่มเซี่ยงไฮ้” (Shanghai Faction) หู จิ่นเทา ได้รับเลือกเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากเจียง เจ๋อหมิน มาตั้งแต่ปี 1992 และใช้เวลาถึง 10 ปี ในการทำงานในตำแหน่งบริหารต่างๆ ก่อนขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคฯ

    หู จิ่นเทา จบจากมหาวิทยาลัยซินหัวในปี 1965 ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าพลังน้ำ และเข้าร่วมพรรคตั้งแต่ปีดังกล่าว ต่อมาถูกส่งไปทำงานที่โรงงานไฟฟ้าในมณฑลกานซูทางตะวันตกของจีน ที่ยากจนและกันดาร การทำงานได้รับความสนใจจาก เซิ่ง ผิง เลขาธิการพรรคของมณฑล ที่เป็นคนสนิทของเติ้ง เสี่ยวผิง สื่อจีนรายงานว่า ที่ประชุมสมัชชาพรรคครั้งนี้ เซิ่ง ผิง ยังเข้าร่วมในฐานะผู้แทนที่อายุมากสุด 105 ปี

    เซิ่ง ผิง จัดการให้หู จิ่นเทา ไปศึกษาโรงเรียนศูนย์กลางพรรคที่ปักกิ่ง และได้เป็นเพื่อนชั้นเรียนของบุตรชายของหู เย่าปัง ปี 1981 เขากลับมาที่มณฑลกานซูอีกครั้งหนี่งในตำแหน่งเลขาธิการสันนิบาตเยาวชนฯ ประจำมณฑลนี้

    หนังสือ The Party and the People (2021) เขียนไว้ว่า เจ้าหน้าที่พรรคระดับสูง ที่เส้นทางการเมืองเริ่มต้นจากสันนิบาตรเยาวชนฯ มักเป็นที่รู้กันว่าเป็นพวก “กลุ่มสันนิบาตเยาวชน” หู จิ่นเทา ถือว่าเป็นผู้นำของกลุ่มนี้ และได้ประโยชน์ตอบแทนจากการสร้างความสัมพันธ์ทางการเมือง ที่อาศัยตำแหน่งผู้นำสันนิบาตเยาวชนฯ

    เส้นทางการเมืองของหู จิ่นเทา ที่เติบโตรวดเร็ว เกิดขึ้นในช่วงที่พรรคฯ กำลังมองหาผู้นำรุ่นใหม่มีคุณสมบัติเหมาะสม ยังหนุ่ม และมีความเป็นมืออาชีพ หู จิ่นเทา จบจากมหาวิทยาลัยซินหัว งานอาชีพด้านวิศวกรรม การเลื่อนตำแหน่งมาจากผลงาน และยังมีผู้นำระดับสูงของพรรคให้การสนับสนุน ปี 1982 เขาจึงได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสำรองของคณะกรรมการกลาง ขณะที่อายุแค่ 39 ปี

    หลังจากเป็นเลขาธิการสันนิบาตเยาวชนฯ ของมณฑลกานซู ในช่วงปี 1982-1985 หู จิ่นเทา ขึ้นเป็นเลขาธิการสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ของประเทศ ในปี 1985-1988 เลขาธิการพรรคมณฑลกุ้ยโจว (Guizhou) กล่าวกันว่า หู จิ่นเทา เดินทางไปเยือนทุกเขตปกครองของมณฑลนี้ จนรู้ปัญหาท้องถิ่นอย่างดี หู จิ่นเทา ไม่ได้ริเริ่มการปฏิรูปใดๆ ในมณฑล แต่เน้นงานขจัดปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ เมื่อเป็นเลขาธิการใหญ่ของพรรค เขาจึงให้ความสำคัญต่อปัญหานี้

    ส่วนผู้นำพรรคที่เกิดหรือว่าเคยมีประสบการณ์ทำงานที่นครเซี่ยงไฮ้ อย่างเช่น เจียง เจ๋อหมิน จะรู้จักกันในนามของ “กลุ่มเซี่ยงไฮ้” ผู้นำพรรคกลุ่มนี้จะให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วของมณฑลชายฝั่งทะเล แม้จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นก็ตาม ไม่ว่าระหว่างมณฑลชายฝั่งกับที่อยู่ลึกเข้าไป หรือระหว่างเมืองกับชนบท แต่หู จิ่นเทา จะให้ความสำคัญแก่การเติบโตที่สมดุล นอกจากนี้ พวกสมาชิกสันนิบาตเยาวชนฯ จำนวนมากมาจากชนบท จึงมักสะท้อนปัญหาชนบทให้แก่ผู้นำพรรคระดับสูง

    ช่วงปี 1992-2002 หู่ จิ่นเทา มาทำงานช่วยเจียง เจ๋อหมิน เลขาธิการพรรคในเวลานั้น และได้รับแต่งตั้งให้มีบทบาทสำคัญ คือ ประธานโรงเรียนศูนย์กลางพรรค รองประธานาธิบดี รองประธานคณะกรรมาธิการทหาร และก้าวขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคในปี 2002

    ที่มาภาพ : abc.net.au

    กลุ่มการเมืองของสี จิ้นผิง

    หนังสือ The Party and the People กล่าวถึงการขึ้นสู่ผู้นำสูงสุดของสี จิ้นผิง ว่า มีเส้นทางที่แตกต่างออกไป สี จิ้นผิง ไม่ได้ถูกเติ้ง เสี่ยวผิง เลือกให้เป็นทายาททางการเมืองเหมือนกับเจียง เจ๋อหมิน และหู จิ่นเทา หลังจากที่เติ้ง เสี่ยวผิง ถึงแก่กรรมในปี 1997 พรรคใช้วิธีการเลือกผู้นำ โดยการสำรวจความเห็นไม่เป็นทางการของบรรดาผู้นำอาวุโสของพรรค

    สี จิ้นผิง ยังแตกต่างจากผู้นำคนอื่น คือ ไม่ได้เป็นบุคคลที่มีทั้งความเชี่ยวชาญสาขาใดหนึ่ง และยังมีอำนาจการเมืองพร้อมกันไป ที่มักจะเรียกกันว่า “นักเทคโนแครต” การทำงานที่ผ่านมาของสี จิ้นผิง มีตำแหน่งทางการบริหารและการเมืองอย่างเดียวเท่านั้น และยังมีประสบการณ์เป็นนายทหารฝ่ายการเมืองในกองทัพปลดแอกประชาชน

    แต่สี จิ้นผิง ตัดสินใจได้ถูกต้องตั้งแต่แรกว่า เส้นทางสู่ตำแหน่งสูงสุดไม่ได้มาจากการทำงานกับกองทัพปลดแอก แต่ต้องเริ่มต้นจากการทำงานในระดับท้องถิ่นและมณฑล สี จิ้นผิง ไม่ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดเพราะผลงานความสำเร็จจากหน้าที่การงาน แม้จะใช้เวลา 25 ปีกับงานหน้าที่ปกครองในท้องถิ่นและมณฑลต่างๆ ตำแหน่งปกครองสุดท้ายคือเลขาธิการพรรคของนครเซี่ยงไฮ้ ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกประจำกรมการเมืองในปี 2007

    ความสำเร็จของสี จิ้นผิง บนเส้นทางการเมืองอาศัยหลายปัจจัย

    ประการแรก ความเป็น “เจ้าชายน้อย” ที่บิดาคือสี จงซุน เป็นนักปฏิวัติรุ่นบุกเบิก และพันธมิตรคนสำคัญของเติ้ง เสี่ยวผิง

    ประการที่ 2 สี จิ้นผิง มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำหลายคน แต่ไม่มีผู้นำคนใดที่ให้การอุปถัมภ์โดยตรง

    ประการที่ 3 มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุก “กลุ่มการเมือง” แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มใด

    ประการที่ 4 สี จิ้นผิง มีชื่อเสียงเรื่องการต่อสู้กับคอร์รัปชัน และสุดท้าย เป็นคนที่ไม่มีศัตรู

    The Party and the People บอกว่า สมัยที่ทำงานในมณฑลเจ้อเจียงและนครเซี่ยงไฮ้ สี จิ้นผิง ถูกมองว่าเป็นสมาชิก “กลุ่มเซี่ยงไฮ้” ของเจียง เจ๋อหมิน แต่สี จิ้นผิง ไม่เหมาะที่จะเข้ากับกลุ่มนี้เลย “กลุ่มเซี่ยงไฮ้” กับ “สันนิบาตเยาวชนฯ” มีแนวทางค่อนข้างชัดเจน กลุ่มเซี่ยงไฮ้ต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยความได้เปรียบของพื้นที่ชายฝั่งทะเล ส่วนสันนิบาตเยาวชนฯ มีแนวทางต่อสู้กับความยากจนและการกระจายประโยชน์จากการพัฒนาไปยังชนบท และรวมทั้งเมืองที่อยู่ลึกในแผ่นดินใหญ่ ห่างจากชายฝั่งทะเล

    คนทั่วไปรู้จักสี จิ้นผิง ว่ามาจากพื้นฐานครอบครัวนักปฏิวัติเก่าแก่ มากกว่าเรื่องแนวทางนโยบาย สมัยที่สี จิ้นผิง ขึ้นมามีอำนาจแล้ว แม้ทัศนะที่สะท้อนความคิดเห็นของกลุ่มการเมือง 2 กลุ่มจะยังคงมีอยู่ แต่ก็เป็นความเห็นที่มีอิทธิพลน้อยกว่าในสมัยเจียง เจ๋อหมิน และหู จิ่นเทา จุดนี้อาจอธิบายว่า ทำไมสี จิ้นผิง จึงพัฒนาแนวทางนโยบายออกมาค่อนข้างช้า เพราะสี จิ้นผิง ไม่ได้ขึ้นสู่อำนาจเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง

    สี จิ้นผิง ถูกกำหนดให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากหู จิ่นเทา ถือเป็นลักษณะพิเศษของประวัติพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพราะไม่ได้ถูกเลือกจากเติ้ง เสี่ยวผิง, เจียง เจ๋อหมิน หรือหู จิ่นเทา เนื่องจากพรรคไม่มีฉันทานุมัติเรื่องบุคคลที่จะมาแทนหู จิ่นเทา ในปี 2007 พรรคจึงทำโพลล์สำรวจความนิยมในหมู่ผู้นำพรรค 400 คน มีข่าวว่าหู จิ่นเทา สนับสนุนหลี่ เค่อเฉียง ที่มาจากสันนิบาตเยาวชน แต่ไม่ได้รับความนิยมกว้างขวาง ผลการสำรวจสี จิ้นผิง มาอันดับ 1 และหลี่ เค่อเฉียง อันดับ 2

    หนังสือชื่อ Factionalism in Chinese Communist Politics (2006) อธิบายว่า ประเทศปกครองโดยพรรคการเมืองพรรคเดียวจะมีปัญหายุ่งยาก 2 ประการ คือ ประการแรก เพื่อรักษาภาพลักษณ์ความเป็นเอกภาพของพรรค จึงต้องปฏิเสธว่าไม่มีความคิดที่แตกต่างกันต่อประชาชน แต่ในการกำหนดนโยบาย ความแตกต่างเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่พ้น ประการที่สอง ในเรื่องนโยบายแตกต่างกัน แต่ละฝ่ายต่างก็ต้องการเสียงสนับสนุน ที่ไม่สามารถจะอภิปรายได้อย่างเปิดเผย

    ปัจจัย 2 ประการดังกล่าว ทำให้ระบอบการเมืองจีนเกิดกลุ่มการเมืองขึ้นมา ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์จีนเอง มีความขัดแย้งและต่อสู้ด้านแนวทางกับความคิดมาตลอด กลุ่มการเมืองจึงเป็นปัจจัยสร้างพลวัตอย่างหนึ่ง ของระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ

    เอกสารประกอบ
    Hu Jintao argued about official papers before being escorted out of congress, October 25, 2022, theguardian.com
    The Party and the People, Bruce J. Dickson, Princeton University Prss, 2021.
    Factionalism in Chinese Communist Politics, Jing Huang, Cambridge University Press, 2006.