ThaiPublica > เกาะกระแส > จีนมุ่งสู่เป้าหมาย “ความมั่งคั่งร่วมกัน” มหาเศรษฐีใหม่จะตอบแทนสังคมอย่างไร

จีนมุ่งสู่เป้าหมาย “ความมั่งคั่งร่วมกัน” มหาเศรษฐีใหม่จะตอบแทนสังคมอย่างไร

11 กันยายน 2021


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : globaltimes.cn

หนังสือพิมพ์ The New York Times รายงานว่า เมื่อ 40 ปีที่แล้ว เติ้ง เสี่ยวผิง ประกาศว่า เพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ จีนจะปล่อยให้คนบางส่วนร่ำรวยขึ้นมา แต่เมื่อเร็วนี้ สี จิ้นผิง ได้ประกาศว่า ถึงเวลาแล้วที่บรรดาคนที่มั่งคั่งทางธุรกิจของจีน จะต้องแบ่งปันความมั่งคั่งของพวก คืนให้แก่สังคมมากขึ้น

สี จิ้นผิง กล่าวว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะพยายามบรรลุสิ่งที่เรียกว่า “ความมั่งคั่งร่วมกัน” (common prosperity) โดยธุรกิจและผู้ประกอบการจะต้องเข้ามามีส่วนช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ เพราะคือปัญหาที่จะฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในอนาคต และยังเป็นตัวทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการนำของพรรค

เมื่อเดือนมกราคม สี จิ้นผิง กล่าวกับเจ้าหน้าที่จีนว่า การบรรลุเป้าหมายความมั่งคั่งร่วมกัน ไม่ใช่ประเด็นทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาทางการเมืองที่สำคัญ ที่เกี่ยวพันกับรากฐานการปกครองของพรรค

“เราจึงไม่อาจจะปล่อยให้เกิดความแตกต่างมหาศาล ปรากฎขึ้นมาระหว่างคนรวยกับคนจน”

บรรลุ “ความมั่งคั่งร่วมกัน” ในปี 2035

รายงานของ Credit Swiss Research Institute เรื่อง Global Wealth Report 2021 ก็ระบุว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของจีน เดิมเคยมีอยู่ในระดับที่ต่ำ แต่การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจกลไกตลาด ทำให้ความเหลื่อมล้ำเรื่องความมั่งคั่ง พุ่งสูงขึ้นมาตลอด ในปี 2000 คนจำนวน 1% เคยครอบครองความมั่งคั่ง 20.9% ของประเทศจีน เพิ่มขึ้นเป็น 30.6% ในปี 2020 พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงเชื่อว่า การกระจายความมั่งคั่ง จะให้คนจีนมีกำลังซื้อมากขึ้น และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่มีอัตราการเติบโตลดต่ำลง

รัฐบาลจีนกำหนดให้มณฑลเจ้อเจียง เป็นพื้นที่ทดลองการสร้างความมั่งคั่งร่วมกัน เจ้อเจียงจะเป็นตัวอย่างของอนาคตข้างหน้าของจีน ที่จะเกิดขึ้นในอีกหลายปีข้างหน้า สี จิ้นผิงเองก็ประกาศว่า ในวาระครบรอบ 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จีนได้ประสบความสำเร็จ ในการสร้างสังคมที่รุ่งเรืองระดับกลางแล้ว จีนกำลังมุ่งสู่เป้าหมายที่สองของวาระครบรอบ 100 ปีอีกอย่างหนึ่ง คือการสร้างจีนให้เป็นประเทศสังคมนิยม ที่ทันสมัยและยิ่งใหญ่ในทุกด้าน

เจ้อเจียงเป็นมณฑลชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่สี จิ้นผิง เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคในปี 2002 และเป็นที่ตั้งของบริษัทเอกชนของจีน ที่ประสบความสำเร็จมากสุดอย่าง อาลิบาบา มหาเศรษฐีของจีนหลายคนก็มาจากมณฑลนี้ ปี 2020 เศรษฐกิจเจ้อเจียงมีลูค่า 6.4 ล้านล้านหยวนหรือ 1 ล้านล้านดอลลาร์ เท่ากับ 6.4% ของจีน และมีขนาดเศรษฐกิจเท่ากับเนเธอร์แลนด์

รัฐบาลจีนกำหนดเป้าหมายการพัฒนาต่อไป คือการบรรลุความมั่งคั่งร่วมกัน โดยการพัฒนาเศรษฐกิจ จะเป็นปรับปรุงมาตรฐานชีวิตประชาชนคนจีน สร้างความยุติธรรมทางสังคม รัฐบาลจีนกำหนดให้ในปี 2025 เจ้อเจียงเพิ่มรายได้ต่อคนในมณฑลเป็น 12,000 ดอลลาร์ ที่เป็นเกณฑ์มาตรฐานของเศรษฐกิจพัฒนาแล้วระดับกลาง ให้โครงสร้างสังคมของมณฑลมีรูปทรงแบบ “ใบต้นมะกอก” คือครัวเรือนรายได้ปานกลางมีจำนวนมาก และเป็นเสาหลักเศรษฐกิจ

หลังจากที่รัฐบาลจีนประกาศเอาจริงเอาจัง ที่จะบรรลุเป้าหมาย “ความมั่งคั่งร่วมกัน” ธุรกิจยักษ์ใหญ่เอกชนของจีน ต่างก็ขานรับเป้าหมายดังกล่าว Tencent ยักษ์ใหญ่ไฮเทคกล่าวว่า จะลงทุน 50 พันล้านหยวน (7.7 พันล้านดอลลาร์) สำหรับโครงการความมั่งคั่งร่วมกัน เช่นการฟื้นฟูเศรษฐกิจชนบท การเพิ่มรายได้แก่คนรายได้ต่ำ และการปรับปรุงระบบสาธารณสุขในระดับรากฐาน

ที่มาภาพ : straitstimes.com

คนร่ำรวยจะตอบแทนสังคมอย่างไร

บทความชื่อ How Do China’s New Rich Give Back? ในหนังสือ The China Questions (2018) กล่าวว่า ลักษณะโดดเด่นอย่างหนึ่งในการพัฒนาของจีน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือการพุ่งขึ้นมาของความมั่งคั่งส่วนตัว สิ่งนี้เป็นเรื่องใหม่ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน จะต้องหาทางแก้ปัญหาในเรื่องนี้

การที่มหาเศรษฐีสามารถใช้ความมั่งคั่งได้อย่างอิสระ ถือเป็นปัญหาท้าทายใหม่ต่อการนำของพรรค เพราะความมั่งคั่งนี้ อาจไปส่งเสริมให้เกิดประชาสังคม (civil society) ที่เป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐ

แนวทางของพรรคในการจัดการปัญหาความมั่งคั่งของบุคคล คือออกกฎหมายการกุศลของจีน เพื่อส่งเสริมการบริจาคให้ไปในภาคส่วนที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลาง

The China Questions กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมา คนมีฐานะมั่งคั่งในจีนไม่ค่อยจะบริจาคเงินเพื่อสังคม เช่นในปี 2013 มหาเศรษฐีใจบุญ 100 คนของจีน ที่บริจาคเงินมากที่สุด ยอดการบริจาครวมกันยังน้อยกว่าการบริจาคของ Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook และภรรยา ที่ผ่านมา การบริจาคเพื่อการกุศลในจีน มาจากบริษัทธุรกิจ มากกว่าจากตัวบุคคล

ในปี 2008 เกิดแผ่นดินไหวที่เสฉวน ทำให้การบริจาคเงินช่วยเหลือพุ่งขึ้นมาก แต่หลังจากนั้นแล้ว กระแสการบริจาคเพื่อการกุศลก็ลดลง ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นกับองค์กรการกุศลต่างๆของจีน เช่น ปัญหาคอร์รัปชัน และองค์กรการกุศล ที่มีความน่าเชื่อถือในจีน มีจำนวนไม่มาก

ที่มาภาพ : amazon.com

ในปี 2011 ยอดบริจาคให้สภากาชาดจีน ตกฮวบลง เมื่อมีการเผยแพร่ภาพการใช้ชีวิตหรูหราของ Guo Meimei ผู้จัดการคนหนึ่งของสภากาชาดจีน ทำให้คนทั่วไปสงสัยเรื่องการใช้เงินขององค์กรการกุศล แต่สิ่งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะเธอถูกตัดสินจำคุกจากการทำธุรกิจการพนันผิดกฎหมาย

เดือนกันยายน 2016 กฎหมายการกุศลจีน (China Charity Law) มีผลบังคับใช้ ทำให้เกิดความชัดเจนเรื่องการบริจาคเพื่อการกุศล กฎหมายให้ความหมายของกิจกรรมการกุศล ที่ทางการเห็นชอบ และลักษณะองค์กรที่สามารถทำกิจกรรมดังกล่าว เช่น มูลนิธิ กลุ่มทางสังคม และองค์กรบริการสังคม เป็นต้น

กฎหมายทำความหมายขององค์กรการกุศล ที่กว้างขึ้น กิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนได้แก่ การบรรเทาความยากจน การบรรเทาสาธารณภัย การดูแลคนสูงอายุและพิการ การส่งเสริมการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมและกีฬา องค์กรการกุศลสามารถระดมทุนจากสาธารณะได้ แต่ค่าใช้จ่ายด้านการบริหารองค์กร จะต้องไม่เกิน 10% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด และการให้แรงจูงใจทางภาษีแก่การบริจาค เป็นต้น

รายงานการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เรื่องลักษณะการบริจาคเงินของมหาเศรษฐีใจบุญจีน 100 คน เมื่อปี 2015 ปรากฏว่า เป็นจำนวนเงิน 3.8 พันล้านดอลลาร์ หรือ 25% ของยอดบริจาคการกุศลทั้งหมดของจีน มีสัดส่วน 0.12% ของ GNP เทียบกับสหรัฐฯ 2.1% ของ GNP แต่ตัวเลขของจีนไม่รวมการบริจาคแก่วัด โบสถ์ หรือสมาคมแซ่ในจีน การบริจาคเพื่อการศึกษาได้รับความนิยมมากที่สุด มีสัดส่วน 70% ของการบริจาคทั้งหมด ในสหรัฐฯ การบริจาคแก่สถาบันศาสนามาอันดับหนึ่งคือ 33% อันดับ 2 คือการศึกษามีสัดส่วน 15.4% มหาเศรษฐีจีนส่วนใหญ่ มักบริจาคเงินแก่กิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่แจ๊ค หม่าเป็นมหาเศรษฐีคนเดียวที่บริจาคเงินใน 4 ด้านคือการศึกษา สิ่งแวดล้อม สวัสดิการสังคม และการบรรเทาสาธารณภัย

การเติบโตเพื่อคนส่วนใหญ่

เว็บไซต์ข่าวสารของทางการจีน globaltimes.cn กล่าวว่า เมื่อเทียบกับ 20 ปีที่แล้ว รอบครัวชาวจีนจำนวนมากมีฐานะดีขึ้น เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วและครอบคลุมกว้างขวาง แต่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และความมั่งคั่ง ก็ขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากจีนเป็นประเทศสังคมนิยม จึงมีพันธะต่อการเติบโตด้านสวัสดิการแก่คนส่วนใหญ่ เวลาเดียวกันก็ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ ที่มีฐานะมั่งคั่ง บริจาคเงินแก่โครงการการกุศล

จีนเป็นประเทศที่ได้เห็นถึงความสำเร็จที่ใหญ่หลวงของธุรกิจแพลตฟอร์ม ที่ให้ประโยชน์แก่เจ้าของกิจการไฮเทคกลุ่มน้อย ขณะที่คนธรรมดาทำงานได้ค่าจ้าง ต้องทำงานทั้งวันและคืน เพื่อธุรกิจแพลตฟอร์มนี้ ผลกำไรมากมายของธุรกิจแพลตฟอร์มมาจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ที่มีรายได้ปานกลางและต่ำ จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่บริษัทไฮเทคและเจ้าของ จะต้องตอบแทนแก่สังคม และเป็นหุ้นส่วนในการบรรลุเป้าหมายความมั่งคั่งร่วมกัน

ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา จีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่มีอัตราการเติบโต 10% เป็นเวลาถึง 30 ปีต่อเนื่อง จีนประสบความสำเร็จ ในการลดจำนวนคนยากจนได้ถึง 400-600 ล้านคน และจีนจะเป็นแบบอย่างแก่โลกเราได้หรือไม่ ในการยกระดับการพัฒนายกที่สูงขึ้น โดยคนในสังคมมี “ความมั่งคั่งร่วมกัน”

เอกสารประกอบ

Warning of Income Gap, Xi Tells China’s Tycoons to Share Wealth, Sept 7, 2021, nytimes.com
The China Questions: Critical Insights Into a Rising Power, Edited by Jennifer Rudolph and Michael Szonyi, Harvard University Press, 2018.
Common prosperity calls for better policy design, charitable contribution, Aug 22, 2021, globaltimes.cn