ThaiPublica > ประเด็นร้อน > BCG in Action > UBE ใช้โมเดล Bio-Circular-Green บริหารธุรกิจก้าวสู่ตลาดโลก

UBE ใช้โมเดล Bio-Circular-Green บริหารธุรกิจก้าวสู่ตลาดโลก

29 กันยายน 2023


นางสาวสุรียส โควสุรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน)

บริษัทอุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) หรือ UBE เริ่มต้นธุรกิจเอทานอลจากมันสำปะหลังรายใหญ่ของไทย จนเติบโตและต่อยอดมาเป็นผู้ผลิต และจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันสำปะหลังรายใหญ่ในระดับต้นๆ ของโลก ได้ให้ความสำคัญกับการวิจัย พัฒนานวัตกรรม และกระบวนการผลิตที่จะไม่สร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการอยู่ร่วมกับชุมชน ซึ่งนางสาวสุรียส โควสุรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ UBE บอกว่า…

“ในฐานะกลุ่มธุรกิจพลังงานสะอาด ธุรกิจที่เราทำทั้งหมดจะสอดคล้องกับ BCG (bio-circular-green economy) โมเดล เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”

UBE เป็นผู้ผลิตและแปรรูปมันสำปะหลังแบบครบวงจร (well-integrated tapioca player) รายใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จากการดำเนินธุรกิจหลัก 3 ธุรกิจ ได้แก่ 1) ธุรกิจเอทานอล ดำเนินการโดย UBE มาตั้งแต่ปี 2554 ผ่านการร่วมทุนกับบริษัทย่อยในเครือไทยออยล์ และเครือบางจาก 2) ธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง ประกอบด้วย แป้งมันสำปะหลัง (tapioca starch) และแป้งฟลาวมันสำปะหลัง (cassava flour) ทั้งแบบทั่วไป และแบบออร์แกนิก ดำเนินการโดยบริษัท อุบลซันฟลาวเวอร์ จำกัด (UBS) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ 3) ธุรกิจเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ด้วยการผลิตและจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรชนิดอื่นที่มีมูลค่าสูง (high value product หรือ HVP) เช่น กาแฟอินทรีย์ (organic coffee) ข้าวอินทรีย์ (organic rice) และผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต เป็นต้น

ในธุรกิจเอทานอล บริษัทฯ มีกำลังการผลิตเอทานอล 4 แสนลิตรต่อวัน หรือ 146 ล้านลิตรต่อปี สามารถผลิตได้ทั้งเกรดเชื้อเพลิงและเกรดอุตสาหกรรม โดยใช้เทคโนโลยีไฮบริดที่มีความทันสมัยและครบวงจร ช่วยควบคุมคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน แต่โดยที่ปริมาณของเสียจากการผลิตมีจำนวนมาก ทั้งกากมันสำปะหลัง และน้ำเสียจากโรงงาน บริษัทฯ จึงลงทุนเพื่อบริหารจัดการของเสียทั้งหมดอย่างครบวงจร เริ่มจากแนวคิด zero waste กลายเป็น circular economy ที่นำของเสียทั้งหมดจากการผลิตแป้งมันสำปะหลัง และการผลิตเอทานอล เวียนกลับไปใช้อย่างสมบูรณ์ โดยไม่มีส่วนใดทิ้งให้เสียเปล่าแห่งแรกและแห่งเดียวที่ครบวงจรที่สุดในประเทศไทย ไปพร้อมๆ กับการขยายไปในธุรกิจเกษตรอินทรีย์

ในการนำไทยพับลิก้าเยี่ยมชมโรงงานที่อุบลราชธานี นางสาวสุรียสเปิดเผยว่า ทั้งโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังและโรงงานผลิตเอทานอล แต่ละวันมีของเสียเกิดขึ้นจำนวนมาก ประกอบด้วยเปลือก กากมันสำปะหลัง ซึ่งเปลือกมีทั้งเปลือกดิน เปลือกล้าง จึงต้องเอามาใช้ให้หมด โดยนำกากมันสำปะหลังมาหมักเป็นก๊าซ เปลือกนำมาทำปุ๋ยต่อ ขณะที่ก๊าซชีวภาพที่ได้นำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในโรงงาน ช่วยลดต้นทุนพลังงาน ส่งผลให้ปัจจุบันเหลือไฟที่ต้องซื้อจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพียง 5 เมกะวัตต์เท่านั้น จากที่ทั้งสองโรงงานใช้ไฟฟ้า 20 เมกะวัตต์ แต่ด้วยค่าไฟที่สูงขึ้นมาก บริษัทมีแผนจะลงทุนโซลาร์เซลล์เพิ่ม จากโซลาร์ลอยน้ำปัจจุบันที่ผลิตได้ 3 เมกะวัตต์ เพื่อจะได้ไม่ต้องซื้อไฟ 100% ให้เป็น zero คือไม่ซื้อไฟเลย

“ค่าไฟปัจจุบันแพงมาก โจทย์ของบริษัทคือการลงทุนโซลาร์เซลล์เพื่อเป็น zero เพราะเพื่อนบ้านค่าไฟถูกมาก เพียงยูนิตละ 2 บาทกว่า ของไทย 4 บาทกว่า บริษัทซื้อไฟ 5 เมกกะวัตต์ ก็ประมาณเดือนละ 8-10 ล้านบาท ปีละร้อยกว่าล้านบาท ทำให้แข่งขันไม่ได้ แม้จะมีขายไฟคืนบ้างแต่ก็ราคาถูกกว่าราคาที่ซื้อมา ไฟที่ผลิตได้จึงใช้เองทั้งหมด คุ้มค่ากว่า จึงมีแผนจะขอคณะกรรมการลงทุนโซลาร์เซลล์เพิ่ม”

โซลาร์ ลอยน้ำ

ขณะเดียวกัน น้ำที่ใช้ในผลิตในการผลิตแป้งมันสำปะหลัง และน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตเอทานอล จะผ่านการบำบัดให้ได้คุณภาพที่ได้มาตรฐาน โดยน้ำที่ใช้ในผลิตจะใช้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบผสมผสานที่เพิ่มการละลายออกซิเจนเข้าไปในน้ำเสียมากกว่าระบบอื่นถึง 10 เท่า สามารถลดเวลาการพักน้ำในบ่อผึ่งลมจาก 190 วันเหลือเพียง 2 วันเท่านั้น และได้ก๊าซชีวภาพที่สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการอบแป้งได้ถึง 36,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

ส่วนน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตเอทานอล จะถูกนำไปบำบัดในระบบ ที่นอกจากบำบัดน้ำเสียได้แล้วยังสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้มากถึง 98,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนสำหรับหม้อไอน้ำภายในโรงงานได้

น้ำเสียที่บำบัดแล้วสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ทั้งพืชไร่และพืชสวน โดยน้ำที่ผ่านการบำบัดจะกระจายผ่านท่อส่งน้ำบำบัดระยะทาง 12 กิโลเมตร โดยปลายท่อส่งน้ำจะเป็นพื้นที่ของโรงงานที่ใช้ปลูกหญ้าเนเปียร์เพื่อเป็นอาหารสัตว์ และเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ zero waste ขณะที่เกษตรกรในพื้นที่ที่อยู่รายทางของท่อจำนวน 463 ครัวเรือน ครอบคลุม 2 อำเภอ พื้นที่ 1 หมื่นไร่ จะได้ประโยชน์จากการใช้น้ำเพื่อเกษตรกรรม และช่วยปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ทีดีขึ้น

นางสาวสุรียสกล่าวว่า เกษตรกรได้ใช้น้ำที่ส่งผ่านท่อนี้ปลูกยางพารา ปลูกมัน ปลูกมะม่วงหิมพานต์ และหลายพื้นที่จากเดิมที่ไม่ได้ปลูกอะไรเลย เมื่อน้ำมาถึงหน้าบ้านก็ปลูกมะพร้าว แต่ในช่วงแรกต้องลงไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านก่อน เพราะชาวบ้านก็มีคำถามว่าเป็นน้ำโรงงาน พอเข้าใจกัน ตอนนี้เลยกลายเป็นแย่งน้ำ ชาวบ้านอีกด้านก็มาถามที่โรงงานว่าเมื่อไหร่จะต่อท่อไปอีกฝั่ง

นางสาวสุรียสกล่าวย้ำว่า…

“การนำขยะมาจัดการให้เกิดประโยชน์ได้ครบลูป บนพื้นที่ 2,061 ไร่ของโรงงาน เราเริ่มดำเนินงาน zero waste ตั้งแต่ปี 2549 แบบต่อจิ๊กซอว์ ทำระบบบำบัดน้ำเสียนำน้ำสะอาดกลับไปใช้บนแปลงปลูกพืชต่างๆ ของชาวบ้าน กากมันจากโรงแป้งจะเข้าโรงบ่อได้ไบโอก๊าซ ได้พลังงานสำหรับบอยเลอร์โรงงาน ลดต้นทุนนำเข้าไม้สักเพื่อมาเผาลง 30% และสามารถขายไฟฟ้าได้ 9 เมกะวัตต์ ส่วนกากเอทานอล หรือกากจากมันเส้น นำไปทำปุ๋ยชีวภาพ ทำอาหารสัตว์ มีโซลาร์ โฟลตติง เป็นต้น เอาทุกอย่างมาใช้ให้หมด และจาก Zero waste เกิดเป็น circular economy เราทำมานานแล้ว”

สารปรับปรุงดินจากกากมันสำปะหลัง

สำหรับโจทย์ต่อไปคือ การนำกากมันสำปะหลังมาทำอาหารสัตว์ที่มีมูลค่าและราคาดีกว่า โดยอยู่ระหว่างการพัฒนา

นอกจากนี้ จากการที่พื้นฐานธุรกิจของ UBE ส่วนหนึ่งจัดว่าสอดคล้องกับโมเดล BCG อยู่แล้วจากการผลิตเอทานอลที่เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล จึงได้จัดทำแผนธุรกิจที่ยึดหลัก BCG เพื่อความยั่งยืน เนื่องจากธุรกิจของเครือ UBE ทั้งธุรกิจเอทานอล และกลุ่มสินค้าแป้งมันสำปะหลัง เกี่ยวข้องกับสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยสินค้าแป้งมันสำปะหลังเกี่ยวกับสุขภาพของผู้คน และกลุ่มเอทานอลเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม

บริษัทได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เกษตรกร และภาคประชาสังคม ในกระบวนการที่เรียกว่า “อุบลโมเดล” โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพด้านเกษตรอินทรีย์ ต่อยอดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์อย่างมีความรู้ และได้คุณภาพตามมาตรฐานอินทรีย์ไทยและมาตรฐานอินทรีย์สากล เป็นการปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ให้ได้คุณภาพดี มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูงตามที่บริษัทรับซื้อ เมื่อเกษตรกรมีผลผลิตสูงขึ้นและยึดเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้ ก็เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

นางสาวสุรียส กล่าวว่า บริษัทได้ส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลังออร์แกนิก โดยจุดสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรในช่วงเริ่มต้น คือคำถามจากเกษตรกรว่า ถ้าไม่ให้ฉีดยาฆ่าหญ้า ไม่ให้ใช้ปุ๋ย มันสำปะหลังจะโตหรือไม่ เพราะดินในอุบลราชธานีปลูกมันสำปะหลังได้ผลผลิต 35 ตันต่อไร่และได้แป้งเฉลี่ย 25-31% และการปลูกสำปะหลังต้องดูแลในช่วง 3 เดือนแรก เพราะช่วงหัวมันสร้างแป้งใช้เวลา 4 เดือน ซึ่งปรากฏว่าเกษตรกรที่ทดลองปลูกสามารถดูแลให้ผ่าน 3 เดือนแรกได้ ไม่ให้หญ้าไปคลุมหรือแย่งอาหารมันสำปะหลังเท่านั้น จากนั้นมันสำปะหลังก็จะโต การปลูกมันสำปะหลังออร์แกนิกจึงต้องลงแรง ใช้แรงมากกว่ากันมากในการกำจัดหญ้าแทนการใช้ยาฆ่าหญ้า

โดยปกติบริษัทรับซื้อหัวมันที่มีเปอร์เซนต์แป้งเฉลี่ยตามมาตรฐาน 25 แพงกว่าปกติอยู่แล้ว และจะสูงขึ้นถ้ามีเปอร์เซนต์แป้งสูงกว่าค่าเฉลี่ย แต่ถ้าปลูกแบบอินทรีย์ (ออร์แกนิก) ก็จะรับซื้อในราคาสูงขึ้นอีก ปัจจุบัน บริษัทเป็นผู้ผลิตแป้งมันออร์แกนิก เรียกว่าเป็นเจ้าใหญ่ในอันดับโลกต้นๆ รวมทั้งโฟกัสในเรื่องนวัตกรรม ทั้งการผลิต การปรุงสูตรต่างๆ เพื่อให้มีรสชาตที่ดีขึ้น สำคัญที่สุดคือดีต่อสุขภาพด้วย เพราะมองเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ต้องตอบโจทย์สังคมในปัจจุบันที่มองเรื่องสุขภาพมากขึ้น

“สเตปแรกคือปรับทัศนคติไม่ให้ฉีดยาฆ่าหญ้า พอปรับได้ทุกอย่างก็ไปได้ ช่วง 2 ปีแรกพูดเยอะหน่อย แต่ปีต่อมามีคนทำแล้วเห็นผลแล้ว เกษตรกรรายอื่นก็ทำต่อ บางรายได้แป้ง 31% มากกว่าค่าเฉลี่ยที่ 25% โดยหัวมันที่ได้แป้งตามค่าเฉลี่ยแป้งจะรับซื้อสูงกว่าตลาด 50 สตางค์ แต่ถ้าเปอร์เซ็นต์แป้งดี ก็จะรับซื้อราคาสูงขึ้นอีก และหากเป็นมันออร์แกนิก ราคารับซื้อก็เพิ่มอีก ทำให้ทุกรายพยายามปลูกให้ได้ค่าเฉลี่ย ตอนนี้ในอุบลฯ มี 6 พันกว่าไร่ ถ้ารวมที่อำนาจเจริญและยโสธรก็หมื่นกว่าไร่ และแม้ว่าจะรับซื้อมันออร์แกนิกในราคาแพงกว่าตลาด แต่บริษัทก็ยังได้ส่วนต่างประมาณ 30% เพราะราคาขายดีขึ้น 30%”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบการปลูกมันสำปะหลังแบบอินทรีพย์ 6 พันไร่กับพื้นที่ปลูกมันทั้งหมด 4 แสนกว่าไร่ในอุบลฯ ก็ถือว่าน้อย แต่เป็นเกษตรกรที่มีความตั้งใจปลูกแบบอินทรีย์อย่างแท้จริง และบริษัทมีเป้าหมายที่จะขยายพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ในอุบลฯ เป็น 5 หมื่นไร่ ซึ่งขณะนี้พื้นที่ปลูกก็เพิ่มขึ้นเร็ว เนื่องจากส่วนหนึ่งได้รับการส่งเสริมจากกรมวิชาการเกษตร และเกษตรกรก็เห็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ

โรงงานเอทานอล

สำหรับเอทานอลนั้น นางสาวสุรียสกล่าวว่ามีอนาคตที่ดีมาก มีความต้องการในตลาดโลกสูง เพราะเป็นเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพหรือ green ตั้งแต่ปลูกจนถึงการผลิต แต่ปัจจุบันกฎหมายไทยเปิดให้ผลิตได้เพียงเอทานอลเกรดเชื้อเพลิง ผสมในน้ำมัน E20 ขณะที่เอทานอลเป็นที่ต้องการทั่วโลก ในฐานะเชื้อเพลิงอากาศยานที่สะอาด และต่อไปจะถูกบังคับให้ผสมเอทานอลเข้าไป รวมไปถึงนำไปผลิตไบโอพลาสติกได้ และปัจจุบันรัฐเริ่มเปิดให้นำเอทานอลไปผลิตได้แล้ว โดยบริษัทเอสซีจีอยู่ระหว่างการลงทุน ตลอดจนในอนาคตก็ใช้เป็นสารสกัดสมุนไพรได้ หรือแม้แต่เชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จะเห็นได้ว่า เอทานอลสามารถทำได้หลายอย่าง แต่ไทยติดข้อจำกัดเรื่องกฎหมายของกรมสรรพสามิต

ในฐานะนายกสมาคมมันสำปะหลัง ก็จะมีการหารือกับรัฐบาลใหม่ ทั้งกระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง เพื่อให้กรมสรรพสามิตแก้กฎกระทรวง ในการเปิดเสรีการผลิตเอทานอล เพื่อนำไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้

“เวลานี้ต่างประเทศเข้ามาหารือกับบริษัทฯ จำนวนมาก ตั้งแต่การประชุม COP26 ที่ต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปรากฏว่าญี่ปุ่นเข้ามาเยอะ มาติดต่อเป็นหลักในการซื้อเอทานอล ให้ความสนใจมาก เพราะเป็น green จริงๆ ตั้งแต่ปลูกไปจนถึงการผลิต เนื่องจากญี่ปุ่นตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก จะเข้าสู่ green คืออุปสงค์มี ไทยก็มีทรัพยากรจำนวนมาก แต่ติดอุปสรรคเรื่องกฎหมาย ขณะที่โลกก้าวไปอีกระดับแล้ว มีความชัดเจนว่ามาในทิศทางชีวภาพ จึงเป็นภาคบังคับว่าต้องเปิด เพียงแต่จะควบคุมอย่างไรเท่านั้น”

นางสาวสุรียสกล่าวว่า หากรัฐบาลอนุญาตให้เปิดเสรีการผลิตเอทานอลแล้ว บริษัทก็พร้อมผลิตเอทานอลเกรดต่างๆ ได้ทันที เพราะมีกำลังการผลิตที่ใหญ่มาก และมีความพร้อมในการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเกรดยา (pharmaceutical) ใช้สกัดสุมนไพร อีกส่วนเป็นเกรดผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เครื่องสำอางที่ใช้ปริมาณมากและมีแผนที่จะผลิตเพื่อรองรับการใช้เป็นน้ำมันอากาศยานในปี 2573 ซึ่งสถานการณ์ตลาดขณะนี้มีความต้องการเอทานอลสำหรับเชื้อเพลิงการบิน

นางสาวสุรียส โควสุรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน)

แต่ในระหว่างที่รอให้รัฐบาลอนุญาต บริษัทฯ ก็จะหาตลาดต่างประเทศคู่ขนานกันไป โดยมุ่งเน้นไปที่ความยั่งยืนจากเอทานอล บริษัทฯ กำลังดำเนินการให้มีการรับรองด้านความยั่งยืนที่ต่างประเทศยอมรับ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ถ้าได้ก็จะทำให้บริษัทอยู่ในท็อปลิสต์ด้านความยั่งยืน เพราะในต่างประเทศจะให้ความสำคัญเรื่องการลดก๊าซคาร์บอนจากพืชหลายประเภท ทั้ง อ้อย ข้าวโพด แต่ยังไม่มีการวัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากมันสำปะหลัง

“บริษัทน่าจะเป็นเจ้าแรกในไทย และอาจจะเป็นเจ้าแรกในโลกด้วยที่ทำเรื่องนี้กับมันสำปะหลัง นี่คือความยากและท้าทายพอสมควร เพราะในต่างประเทศจะเป็นพืชประเภท อ้อย ข้าวโพด ขณะที่บริษัทน่าจะเป็นเจ้าแรกที่ทำเรื่องความยั่งยืนกับมันสำปะหลัง ขณะเดียวกัน บริษัทอยู่ระหว่างว่าจ้างที่ปรึกษามาศึกษาเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ เพื่อรองรับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ CBAM รวมทั้งวางแผนว่าจะทำอย่างไรหากมีส่วนต่างคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลง”

สำหรับกลุ่มสินค้าแป้งมันสำปะหลังที่อยู่ในภาคอาหารนั้น นางสาวสุรียสกล่าวว่า จะมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่า ตั้งเป้าเป็น food tech น่าจะใช้เวลา 3 ปี “เราอยากจะเปลี่ยนตัวเองเป็นกลุ่ม food ตั้งเป้าว่าอีก 3 ปี จะแปลงร่างเป็น food tech ให้ได้” ปัจจุบันเครือ UBE ผลิตเอทานอล 60% แป้งมัน 40%

ผลิตภัณฑ์แป้งจากมันสำปะหลัง

นางสาวสุรียสยังกล่าวถึงภาวะโลกเดือดว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือผลผลิตเกษตรที่ลดลง โดยมีการประมาณการกันว่ามันสำปะหลังจะลดลง 10 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวล และราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น บริษัทจึงต้องขยับไปผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น ส่วนต่างที่ดีกว่า ขณะเดียวกัน จะมีการกระจายความเสี่ยงด้วยการขยายพื้นที่เพาะปลูกไปยังต่างประเทศ โดยมองไว้หลายแห่ง ไม่เฉพาะประเทศในแถบนี้ อย่างประเทศอินโดนีเซีย แม้จะผลิตมันสำปะหลังได้เยอะ แต่ที่ตั้งอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตรเดียวกับไทย นี่เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่หลายบริษัทดูอยู่ คือ กระจายความเสี่ยงไปในหลายพื้นที่ ด้วยการเข้าไปในแหล่งที่มีวัตุดิบ เพราะเห็นปัญหาเดียวกัน

ซีรีส์ BCG in Action สนับสนุนโดย