ThaiPublica > ประเด็นร้อน > BCG in Action > กลุ่มมิตรผล- ธนาคารกรุงเทพ จับมือผลักดัน ‘อีสาน 2030’ ใช้ประโยชน์จาก BCG ทุกมิติ

กลุ่มมิตรผล- ธนาคารกรุงเทพ จับมือผลักดัน ‘อีสาน 2030’ ใช้ประโยชน์จาก BCG ทุกมิติ

17 ธันวาคม 2022


ดินแดนตะวันออกเฉียงเหนือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘อีสาน’ ประกอบด้วย 20 จังหวัด กับประชากรแรงงานเฉลี่ย 22 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของแรงงานในประเทศ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1.8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10% ของจีดีพีประเทศไทย

แม้อีสานจะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ มีแรงงานอยู่ในภาคการเกษตรถึง 60% รายได้ต่อหัว 86,000 บาทต่อปี แต่เม็ดเงินยังคงกระจุกอยู่ที่จังหวัดใหญ่อย่าง ‘ขอนแก่น’ และ ‘นครราชสีมา’ และยังไม่นับบุรีรัมย์ที่บริหารจัดการได้ด้วยตัวเอง

ดินแดนแห่งนี้กำลังถูกตั้งคำถามถึงความเจริญและความก้าวหน้า ท่ามกลางโลกที่ผันผวน ท้าทาย และเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน (VUCA World)

หนึ่งในข้อเสนอที่ช่วยยกระดับอีสานคือ โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio Circular, Green Economy) เพราะพื้นที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันจากความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากไทยมีกลุ่มเกษตรกรที่มีความสามารถในการสร้างผลิตผลทางการเกษตรที่มีคุณภาพ และมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจชีวภาพจะเป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในอนาคต (New S-Curve) ที่มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

จาก BCG ถึง ระเบียงเศรษฐกิจ แนวคิดยกระดับอีสาน

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมคนแรกของประเทศไทย จึงสวมหมวกภาคเอกชนในฐานะ “กรรมการ กลุ่มมิตรผล” และ “กรรมการ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ” เพื่อขับเคลื่อนอีสานบนเป้าหมาย ‘อีสาน 2030’ โดยเริ่มปักหมุดแรกในงาน Isan BCG Expo 2022 ณ จังหวัดขอนแก่น วันที่ 9 ธันวาคม 2565 ว่า

“ผมจะมาขายฝัน ซึ่งเป็นฝันที่ beyond ผมจะไม่พูดถึงความอ่อนแออีกต่อไป…ฝันนี้ตระหนักดีว่าเรามีทรัพยากรจำกัด ฝันนี้ตระหนักดีว่าเรามีบริบทท้องถิ่น และตระหนักว่าต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่”

ดร.พิเชฐ กล่าวอีกว่า อีสานมีของดีๆ เต็มไปหมด แต่จะส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างศิลปะวัฒนธรรม หรือจะ education ลูกหลานให้รู้ประวัติศาสตร์อย่างไร ส่วนภาคการเกษตรก็ต้องพึ่งพาน้ำ ใช้ระบบการบริหารจัดการน้ำ ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นต้องบูรณาการกัน และมองเป้าหมายร่วมกัน

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกรรมการ กลุ่มมิตรผล และกรรมการ ธนาคารกรุงเทพ

กลยุทธ์อีสานคือ BCG Model แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นนโยบายจากรัฐบาล แต่ข้อได้เปรียบอาจทำให้อีสานถูกผลักดันได้เร็วและสำเร็จก่อนพื้นที่อื่น เพราะทรัพยากรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ประกอบกับนวัตกรรม ทำให้สามารถพัฒนานวัตกรรมการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ

ดร.พิเชฐ กล่าวต่อว่า หากอีสานทำ BCG แต่ละมิติอย่างจริงจัง ผลที่ได้ในมิติ Bio คือเศรษฐกิจชีวภาพที่ยั่งยืน สามารถใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพิ่มผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากของเสีย (waste) มิติ Circular คือเศรษฐกิจหมุนเวียน ทำให้ภาคธุรกิจใช้ผลิตภัณฑ์เต็มวงจรชีวิต (life cycle) ใช้ทรัพยากรหมุนเวียน ลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุด และ Green คือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

ดร.พิเชฐ กล่าวต่อว่า ภาคการเกษตรจำเป็นต้องปรับโครงสร้าง โดยใช้เทคโนโลยีสร้างความแม่นยำเยอะๆ ลดของเหลือทิ้ง ใช้เครื่องจักรกล ทำ Food Safety และระบบตรวจสอบย้อนกลับ เน้นการใช้พลังงานหมุนเวียน ใช้ขยะให้เป็นประโยชน์และเปลี่ยนจากการใช้ทรัพยากรการผลิตและกำจัดเป็นการใช้งานใหม่ (reuse & recycle)

ขณะเดียวกัน รัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570 โดยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและระบบขนส่ง เพื่อพาประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง และมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน

รัฐบาลจึงมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 กำหนดให้พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Northeastern Economic Corridor : NeEC-Bio Economy เพื่อพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมแห่งใหม่ของประเทศด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยมีองค์ประกอบขับเคลื่อน 5 ด้าน คือ (1) การให้สิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกในการลงทุน (2) การพัฒนาห่วงโซ่การผลิตและบริการ (3) การวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี (4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และ (5) การพัฒนาแรงงานและสนับสนุนผู้ประกอบการ

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกรรมการ กลุ่มมิตรผล และกรรมการ ธนาคารกรุงเทพ

ดร.พิเชฐ กล่าวต่อว่า ในอนาคตอีสานจะมีรถไฟความเร็วสูง ทั้งช่วยขนส่งสินค้าและขนส่งคน โดยมีเส้นทางจากจีน เชื่อมข้างบนลงมาข้างล่างอีสานทางผ่าน แต่ระหว่างทางคือเพชร ทองที่อีสานต้องเนรมิตกิจกรรมขึ้นมา ดังนั้นอีสานต้องเตรียมความพร้อมในประเด็นนี้

สำคัญที่สุดคือ ‘ความร่วมมือ’ จากทุกภาคส่วน ดังนั้น ในงาน Isan BCG Expo 2022 ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มมิตรผล จึงเป็นเหมือนการคิกออฟเป้าหมายอีสาน 2030 ภายในระยะเวลาไม่ถึง 8 ปี ทำให้แนวคิดของงานต้องมุ่งไปที่การ “Collaboration ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ”

  • ธนาคารกรุงเทพ ร่วมงาน Isan BCG Expo 2022 ที่ขอนแก่น
  • ‘Green Finance’ สินเชื่อสีเขียวจากธนาคารกรุงเทพ

    ธนาคารกรุงเทพ เป็นหนึ่งในกลุ่มทุน และเป็นสถาบันการเงินเดียว ที่ร่วมเป็นผู้สนับสนุนหลัก (Main Sponsor) การจัดงาน เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอีสาน ตลอดจนเดินหน้าผลักดันให้อีสานเป็นศูนย์กลางสร้างเศรษฐกิจไทยสู่ภูมิภาคอาเซียนบนพื้นฐานโมเดลเศรษฐกิจ BCG 

    นายทัฬห์ สิริโภคี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายลูกค้าธุรกิจรายปลีก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพเปิดโอกาสให้ผู้พัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถจัดแสดงสินค้าและบริการเพื่อนำเสนอศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมของผู้ประกอบการไทย และได้ร่วมสร้างสรรค์บูธกิจกรรมภายใต้แนวคิด “เพื่อนคู่คิดธุรกิจคิดดี” เพื่อสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และวิสาหกิจชุมชน ที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคม เศรษฐกิจ ช่วยแก้ไขปัญหา พัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างรายได้พร้อมกันไปกับการทำประโยชน์อย่างยั่งยืน

    โดยธนาคารได้นำเสนอผลิตภัณฑ์เด่นอย่าง ‘สินเชื่อบัวหลวงกรีน’ ซึ่งเป็นการสนับสนุนด้านเงินทุนสำหรับธุรกิจที่ต้องการลงทุนด้านพลังงานทดแทน (Renewable) ไม่ก่อมลพิษทางอากาศหรือปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลงทุนเพื่อนำวัสดุใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) การลงทุนกับผลิตผลที่ใช้สารชีวภาพทดแทนการใช้สารเคมี ลงทุนพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ 

    นายทัฬห์ สิริโภคี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายลูกค้าธุรกิจรายปลีก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

    ทั้งนี้ สินเชื่อบัวหลวงกรีน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 โดยตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อผ่านโครงการนี้ 2,000 ล้านบาทโดยปี 2564 ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพ ปล่อยสินเชื่อธุรกิจที่เกี่ยวกับการผลิตและส่งไฟฟ้า รวมถึงพลังงานทดแทนรวม 107,653 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการให้สินเชื่อแก่โรงงานไฟฟ้าในกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลักมากกว่า 50% ของสินเชื่อพลังงานทดแทน รองลงมาคือกลุ่มพลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานชีวมวล

     ขณะเดียวกันนี้ ธนาคารยังสนับสนุนการระดมทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัทเอกชนชั้นนำในไทย ผ่านการเป็นผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ด้าน ESG ปี 2564 ภาคเอกชนระดมทุนผ่าน ESG bond 56,700 ล้านบาท ซึ่งธนาคารเป็นผู้จัดการจำหน่ายถึง 37,200 ล้านบาท หรือ 66% ของมูลค่าตราสารหนี้ด้าน ESG ทั้งหมดในตลาดทุนไทย

    “ธนาคารพร้อมเป็นผู้สนับสนุนด้านการจัดหาแหล่งเงินทุน ช่วยให้ธุรกิจปรับตัวได้อย่างแข็งแรง และเชื่อมั่นว่าภาคธุรกิจที่แข็งแรงจะเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ที่พัฒนาทั้งสินค้าที่มีคุณภาพ พร้อมรักษาสิ่งแวดล้อมไว้ได้อย่างสมดุล ก่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน”

    บริบูรณ์ฟาร์ม – สันติพาณิชย์ ชู BCG สร้างความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่

    ธุรกิจที่ได้สินเชื่อจากธนาคารกรุงเทพ และเป็นส่วนหนึ่งของการทำ BCG คือ “บริบูรณ์ฟาร์ม” ผู้ผลิตและจำหน่ายสารสกัดน้ำมันอะโวคาโด รังสรรค์ผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ พร้อมสร้างเครือข่ายเกษตรกรที่มีระบบการเพาะปลูกที่ปลอดภัย และจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรเพื่อสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่สอดคล้องกับแนวทางสร้างความยั่งยืน และ “สันติพาณิชย์” Specialty Coffee ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า สนับสนุนความรู้การผลิตและการพัฒนาคุณภาพของผลผลิต โดยรับซื้อกาแฟจากเกษตรกรที่สูงตามคุณภาพที่ดีขึ้น สร้างความน่าอยู่ให้เกิดขึ้นกับชุมชน

    ฐิติรัตน์ ศักดาปรีชา ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริบูรณ์ฟาร์ม

    นางฐิติรัตน์ ศักดาปรีชา ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ ‘บริบูรณ์ฟาร์ม’ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของบริบูรณ์ฟาร์ม อยู่ที่การปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-Driven Entrepreneurship) สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ แนวคิดหรือไอเดียใหม่ๆ ร่วมกับนักวิจัย จนได้ผลิตภัณฑ์สารสกัดน้ำมันอะโวคาโด เพื่อตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพให้ตรงความต้องการผู้บริโภคอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มที่แข็งแกร่งให้กับตัวผลิตภัณฑ์

    ขณะเดียวกันทางบริบูรณ์ฟาร์มยังให้ความสำคัญกับเครือข่าย ส่งเสริมชุมชนให้มีความยั่งยืนร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกอะโวคาโดในพื้นที่ใกล้เคียงและต้องมีเจตนารมณ์เดียวกัน โดยได้คัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมให้ความรู้วิธีการดูแล โดยเน้นให้เกษตรกรในเครือข่ายพัฒนาคุณภาพผลผลิตอย่างสม่ำเสมอ ยังเป็นการช่วยผลักดันให้เกษตรกรในพื้นที่เปลี่ยนจากพืชไร่เชิงเดียวหันมาผลิตพืชยืนต้นที่มีมูลค่าสูงเพิ่มพื้นที่สีเขียว และสนับสนุนให้เกษตรกรใช้สารชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการช่วยเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรในเครือข่ายอีกด้วย
     

    นายจิรศักดิ์ สุทธาดล ผู้ก่อตั้งสันติพาณิชย์

    นายจิรศักดิ์ สุทธาดล ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ ‘สันติพาณิชย์ Coffee & Roaster’ กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อย่างเมล็ดกาแฟ ที่เรียกว่า Specialty Coffee ว่าสิ่งที่สำคัญคือการสร้างคุณภาพมาตรฐานของเมล็ดกาแฟ ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก การคั่ว จนถึงการ Blend กาแฟต่างสายพันธุ์มาผสมกันเพื่อสร้างรสชาติที่แตกต่างและซับซ้อนให้กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดงานวิจัยด้านกระบวนการหลังเก็บเกี่ยว Carbonic Maceration และ Yeast Process เพิ่มคุณภาพและรสชาติของกาแฟทำให้มูลค่าสูงขึ้น (Value added)

    นายจิรศักดิ์ เสริมว่า

    “สันติพาณิชย์ได้เชื่อมโยงกับเกษตรกรช่วยสนับสนุนความรู้ด้านกระบวนการผลิต การจัดการหลังเก็บเกี่ยว และที่สำคัญคือรับซื้อกาแฟในราคายุติธรรมตามคุณภาพของกาแฟ เกษตรกรจึงมีการพัฒนาลานตากเมล็ดกาแฟ ลงทุนทำบ่อหมัก รวมถึงการปลูกต้นไม้เพิ่มเพื่อรักษาพื้นที่สีเขียวและทำให้คุณภาพกาแฟดีขึ้นกลายเป็น Value Chain ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าได้ทุกขั้นตอน ก่อนจะกลายเป็นการเชื่อมโยง Supply Chain ระยะยาว” 

    พัฒนาเมืองต้องมีพื้นที่นวัตกรรม

    ขณะที่ นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล ในฐานะผู้ขับเคลื่อนงาน Isan BCG Expo 2022 กล่าวว่า กลุ่มมิตรผล ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยมากว่า 65 ปี และมีโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่ในจังหวัดขอนแก่นมานานกว่า 27 ปี เห็นว่าจังหวัดขอนแก่นเป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีศักยภาพและความพร้อมในด้านของพื้นที่เกษตรกรรม อีกทั้งยังเป็นจังหวัดในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เชื่อมต่อเศรษฐกิจกลุ่มแม่น้ำโขงและจีนตอนใต้ผ่านเส้นทาง ASEAN Highway รวมถึงเป็นเมืองแห่งศูนย์รวมองค์ความรู้และเทคโนโลยีอันทันสมัย และมีเป้าหมายในการยกระดับสู่เมืองแห่งนวัตกรรมและ Smart City

    กลุ่มมิตรผลจึงปรับปรุงและพัฒนาอาคาร ‘ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์’ (KKIC) ตั้งอยู่ในย่านนวัตกรรมใจกลางเมืองขอนแก่น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนานวัตกรรมการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย นับเป็นการสร้าง Innovation Ecosystem และการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน นำไปสู่การต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีมูลค่าสูง ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน

  • KKIC จับมือกลุ่มมิตรผลพร้อม 50 พันธมิตร จัดงาน Isan BCG Expo 2022
  • KKIC จะเป็นพื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรมการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ สำหรับผู้ประกอบการในภูมิภาค และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดขอนแก่นสู่ Smart City รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาอีสานให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมของลุ่มน้ำโขงได้ในอนาคต

    นายกวิน ว่องกุศลกิจ กรรมการ ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ (KKIC) กล่าวว่า โครงการ ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จะเป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนานวัตกรรมการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถเชื่อมโยงความรู้และกิจกรรมในย่านด้วยรูปแบบนวัตกรรมเปิด หรือ Open Innovation เป็นศูนย์รวมของการบ่มเพาะนวัตกรรุ่นใหม่ เกิดบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ งานวิจัย และความคิดสร้างสรรค์ ระหว่างผู้ประกอบการ อาจารย์ นักวิจัย และนวัตกร ซึ่งนับเป็นการสร้าง Innovation Ecosystem และการทำงานร่วมกันของภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาที่สมบูรณ์ที่สุดของจังหวัดขอนแก่น เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีมูลค่าสูงของประเทศไทยต่อไป