ThaiPublica > ประเด็นร้อน > BCG in Action > “KTIS” พัฒนาชาวไร่อ้อย ด้วย “BCG Model” พลิกโฉมนครสวรรค์เป็นพื้นที่ปลูก ‘อ้อย’ อย่างยั่งยืน

“KTIS” พัฒนาชาวไร่อ้อย ด้วย “BCG Model” พลิกโฉมนครสวรรค์เป็นพื้นที่ปลูก ‘อ้อย’ อย่างยั่งยืน

11 กรกฎาคม 2023


นายอภิชาต นุชประยูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจชีวภาพ บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS

‘นครสวรรค์’ จังหวัดที่เคยขึ้นชื่อว่าแห้งแล้ง เพาะปลูกพืชผลไม่ขึ้น แต่ปัจจุบันพลิกฟื้นผืนดินใหม่

ทุกวันนี้ เกษตรกรนครสวรรค์ โดยเฉพาะชาวไร่อ้อยที่ปลูกอ้อยแล้วมีผลผลิตอย่างต่อเนื่อง เติบโตอย่างยั่งยืน

จุดเริ่มต้นของการพลิกจังหวัดนครสวรรค์สู่หนึ่งในแหล่งปลูกอ้อยที่สำคัญของประเทศ เริ่มจากปี 2538 บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ที่เดินทางไปดูงานที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี-อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่ดีที่สุดในโลก จากนั้นบริษัทได้นำพันธุ์อ้อยจากออสเตรเลียมาปรับใช้ในประเทศ ทว่าล้มเหลว

ผู้บริหารของบริษัทมีความเห็นว่า สาเหตุเกิดจากการนำวิธีการทำอ้อยอย่างออสเตรเลียมาใช้โดยขาดความรู้ความเข้าใจ จึงเชิญผู้เชี่ยวชาญจากการทำอ้อยในออสเตรเลียมาศึกษาและทำไร่อ้อยในประเทศไทย โดยเริ่มจากการใช้อุปกรณ์เกษตรจากออสเตรเลียมาใช้ และปรับหลักการทางวิชาการให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของไทย นำมาสู่ “แผนพัฒนาชาวไร่อ้อย” ของ KTIS

เว็บไซต์ของ KTIS ให้ข้อมูลว่า “จรูญ ศิริวิริยะกุล” ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท KTIS ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ 30 ปีที่แล้วว่า “เครื่องจักรโรงงานน้ำตาลนั้น ใครมีเงินก็ซื้อได้ แต่ความมั่นคงที่แท้จริงของโรงงานน้ำตาลอยู่ที่วัตถุดิบคืออ้อย เราจึงต้องสร้างความสำเร็จในอาชีพให้ชาวไร่อ้อยของเรา ให้เขามีฐานะที่ดี ร่ำรวยจากการทำอ้อย ชาวไร่ก็จะทำอ้อยอยู่กับเราตลอดไป โรงงานของเราก็จะมีความมั่นคง”

นี่จึงเป็นที่มาของสโลแกน “KTIS More than Sugar”

นายอภิชาต นุชประยูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจชีวภาพ บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ให้สัมภาษณ์กับไทยพับลิก้าถึงแนวทางการทำธุรกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ ‘BCG Economy’ (Bio, Circualr, Green) ว่า KTIS ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐาน ‘ความยั่งยืน’ มาตั้งแต่ก่อนมีคำว่า BCG โดยในอดีตใช้สโลแกน “ชาวไร่อ้อยมั่งคั่ง” และ “KTIS More than Sugar” ส่วนปัจจุบันใช้สโลแกน “ชาวไร่อ้อยมั่งคั่ง กลุ่ม KTIS มั่นคง”

ทั้งหมดคือการทำโดยไม่รู้ตัว ว่าในอีก 20 – 30 ปีต่อมา สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นกระแสความยั่งยืน หรือ sustainability ที่โลกกำลังให้ความสำคัญ

ด้วยเป้าหมายที่ว่า “ต้นน้ำคือ ชาวไร่อ้อยต้องดำรงชีวิตอยู่ได้ ส่วนปลายน้ำคือ ทำอย่างไรให้มีวัตถุดิบสม่ำเสมอ แปลว่าเราไม่ได้ทำแต่น้ำตาล ดังนั้น more than sugar เป็นการนำ waste มาเพิ่มมูลค่า ปุ๋ยก็ทำจากกากของเสีย หรือทำเอทานอล น้ำเสียที่บำบัดแล้ว เอาไปให้ชาวไร่อ้อยใช้ ทั้งหมดนี้คือตัว C (Circular) ใน BCG”

นายอภิชาต เสริมว่า ปัจจุบันคนบริโภคน้ำตาลน้อยลง บริษัทจึงมองว่าน้ำตาลไม่ใช่วัตถุดิบเพื่อการบริโภคเท่านั้น แต่สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไบโอพลาสติก ไบโอเคมิคอลล์ ยา กระทั่ง waste ที่เหลือจากกระบวนการผลิตก็สามารถนำไปทำแพคเกจจิ้งชานอ้อยได้

ด้านการดูแลเกษตรกร นายอภิชาต บอกว่า บริษัทให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดี และความมั่งคั่ง เพราะถ้าเกษตรกรชาวไร่อ้อยไม่มีเงินปลูกอ้อย บริษัทก็ไม่มีอ้อย ดังนั้นจึงยกระดับการปลูกอ้อยด้วย smart farming เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น ต้นทุนต่ำลง ใช้ปุ๋ยชีวภาพแทนปุ๋ยเคมี เน้นใช้เครื่องมือทันสมัย เช่น รถตัดอ้อย ดาวเทียม จีพีเอส ฯลฯ รวมถึงการทำเกษตรผสมผสาน โดยเฉพาะการทำบ่อน้ำในไร่ของตนเอง

” ชาวไร่มีแต่ตัว ก็สามารถทำไร่อ้อยได้ หรือไม่มีที่ดินก็ทำอ้อยได้ อยากทำอ้อยยกมือ-เดินมาหาเรา ไม่มีที่ดินก็ไปเลือก ตรงไหนเหมาะก็ไปเช่า บริษัทจ่ายเงินให้ไปก่อน พอปลูกอ้อยเสร็จ ก็ส่งอ้อยมา ซื้อขายตามราคาตลาด สิ่งที่เขาได้คือไม่ต้องไปกู้แบงก์ แต่เขาต้องมาทำภาระผูกพันกับเรา (Contract Farming) เหมือนยืมเงินเราไป แต่ไม่ต้องคืนเป็นเงิน ถ้าปลูกอ้อยแล้วไม่เกเรก็คืนเป็นอ้อย แล้วก็หักเงินกันไป และหักแล้วให้เขามีเงินเหลือสำหรับดำเนินชีวิต นี่คือสิ่งที่เราทำมากว่า 20 ปี”

BCG ทุกกระบวนการ

นายอภิชาต กล่าวว่า กลุ่ม KTIS อยู่ร่วมกับชุมชนและเกษตรกรมานานกว่า 20-30 ปี มีเกษตรกรในเครือข่ายกว่า 10,000 ราย โดยมีการทำเกษตรพันธะสัญญา (contract farming) กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อสร้างความยั่งยืนในด้านผลผลิต เพราะถ้าไม่ทำสัญญาวัตถุดิบจะไม่มั่นคงและมีความเสี่ยงสูง นอกจากนี้ยังมีการดูแลเกษตรกรในเครือข่าย โดยเฉพาะการช่วยเหลือด้านเงินทุน

นายอภิชาต ยกตัวอย่างเรื่อง ‘ปุ๋ย’ จากโรงงานน้ำตาล เมื่อโรงงานได้กากจากการผลิตน้ำตาลแล้ว บริษัทนำไปพัฒนาเป็นปุ๋ยชีวภาพ โดยมีคุณค่าทางอาหารในดินเทียบเท่าปุ๋ยทั่วไป และนำปุ๋ยชีวภาพไปช่วยเหลือชาวไร่ให้มีค่าใช้จ่ายถูกลง

“ตอนนี้เราทำปุ๋ยชีวภาพ เราขายปุ๋ยให้ไร่อ้อย ไร่ส้ม ไร่ข้าวฟ่าง ทุกคนใช้แล้วแฮปปี้ ไม่ได้บรรจุถุงเล็กๆ แล้วขาย เราขายในพื้นที่ เขามีกำลังมารับ บรรจุกระสอบ บรรทุกใส่รถบ้าง ปลูกแตงโม ฟัก ใช้ได้หมด”

นายอภิชาต กล่าวต่อว่า ชานอ้อยที่ได้หลังจากสกัดเป็นน้ำตาล บริษัทก็นำไปทำเป็นเยื่อกระดาษเป็น แพคเกจจิ้ง ‘ชานอ้อย’ ตั้งแต่ถ้วย จาน ชาม และหลอดดูดน้ำ เพื่อทดแทนโฟม เพื่อลดภาวะโลกรวน

ทั้งนี้ KTIS ยังร่วมมือกับ ปตท. เพื่อพัฒนาการผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) คุณภาพสูง เช่น คอนแทคเลน ถุงกาแฟ ฯลฯ ซึ่งมีคุณสมบัติย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และในขั้นตอนกำจัดไม่ต้องผ่านกระบวนการฝังกลบแล้วใส่สารให้เกิดการหมักเป็นก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้ยังนำวัตถุดิบที่เหลือจากกระบวนการผลิตไปต่อยอดเป็นเอทานอล เพื่อเป็นพลังงานให้รถยนต์ ตลอดจนทำแอลกอฮอล์-เจลล้างมือ
ในช่วงวิกฤติโควิด-19

ส่วน ‘ใบอ้อย’ ซึ่งแต่เดิมเป็นของเหลือทิ้งที่เกษตรกรมักจะนำไปเผาเพราะไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ อีกทั้งการเผายังสร้างมลพิษ PM 2.5 แต่กลุ่ม KTIS ยังคงรับซื้อใบอ้อย เพื่อนำไปต่อยอดเป็นพลังงานไฟฟ้าชีวมวล

ขณะที่กระบวนการจัดการภายในโรงงาน KTIS นำน้ำเสียจากกระบวนการผลิตไปบำบัด และต่อยอดเป็นไบโอแก๊ส (biogas) สำหรับใช้ในโรงงาน

“BCG สอนเราว่าคุณต้องคิดให้ครบ ไม่ใช่อยากได้ waste ก็ไปขนจากที่อื่น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่ารถ ขนไป-กลับ ใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น คาร์บอนเพิ่มขึ้น แต่ต้องยอมรับข้อจำกัดว่า ธุรกิจต้องไม่ขาดทุน ทำแล้วคุ้ม ถ้าเผาแล้วขาดทุนก็ไม่ทำ ต้องขายไฟได้…บอกเลยว่ายังมี waste ให้เราใช้อีกเยอะ

‘น้ำ’ หัวใจของความยั่งยืนภาคการเกษตร

อย่างไรก็ตาม นายอภิชาต บอกว่า อุปสรรคสำคัญคือ ‘น้ำแล้ง’ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกอ้อยที่มีคุณภาพความหวานได้ แม้บริษัทจะสนับสนุนให้แปลงใหญ่มีบ่อน้ำไว้สำรองใช้ แต่สุดท้ายวนกลับมาที่ปัญหาเดิมคือไม่มีน้ำ

เพราะถ้าไม่มีน้ำ ความยั่งยืนก็ไม่เกิด

“สิ่งที่เราต้องการคือให้ชาวไร่ปลูกอ้อยได้ต่อเนื่อง เรามักจะประสบปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม ฝนตกแต่เก็บน้ำไม่ได้ ทำอย่างไรที่จะมีน้ำใช้ นี่สิ่งนี้เราต้องจัดการ นครสวรรค์แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน แต่ไม่มีน้ำใช้ การจะให้บริษัททำบ่อน้ำเอง ต้องทำเป็นล้านๆ ตารางกิโลเมตร ก็ทำไม่ไหว”

“แต่สิ่งที่เราทำมาเป็น 10 ปี คือเราบอกชาวไร่ว่าคุณต้องมีบ่อน้ำ ค่าขุดเราออกให้ มีอ้อยค่อยมาคืน แต่ปัญหาคือไม่มีน้ำ ต่อให้ขุดน้ำบาดาล ก็เจอแต่ดิน บางพื้นที่ต้องขุดเป็นร้อยเมตร แล้วชาวไร่ที่ไหนมีเงินมาขุด หรือเกษตรกรมีบ่อน้ำ แต่ไม่มีน้ำต้นทุน ผันน้ำไปไม่ถึง ระยะทาง 30 – 50 กิโลเมตรจากแม่น้ำเจ้าพระยา”

พร้อมยกตัวอย่างว่า “แต่ก่อนอินเดียแล้งเหมือนทะเลทราย พอผ่านไปสักระยะจะเห็นคลองคอนกรีต พอหน้าน้ำ เขากระจายน้ำไปตามคลองเช้าชุมชน คนอินเดียถามผมว่า ประเทศยูปลูกอ้อยได้เท่าไร พอบอกตัวเลขไป เขาบอกจำผิดหรือเปล่า ผมยืนยันว่าถูก เขาถามทำไมมันต่ำจัง เขาไม่เชื่อ เพราะน้อยกว่ากันเกือบครึ่ง ทั้งที่เรามองอินเดียว่าน่าจะแล้ง แต่เขามีน้ำบาดาล มีระบบจัดการ แต่บ้านเราไม่มีระบบโครงสร้างพื้นฐานแบบนี้ ดังนั้นถ้ารัฐไม่เข้ามาช่วยก็ทำอะไรไม่ได้”

ถึงกระนั้น นายอภิชาต ยืนยันว่า อย่างน้อยการทำ smart farming จะช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำได้ และเห็นผลลัพธ์ที่ดีกว่าเกษตรกรที่ไม่ได้ทำ

“ยิ่งทำ BCG ยิ่งทำให้ต้นทุนต่ำลง โดยเปรียบเทียบง่ายๆ ระหว่าง ไร่อ้อย 1 ไร่ กับ 100 ไร่ ไม่มีทางที่ต้นทุนเท่ากัน ยิ่งแปลงใหญ่ ต้นทุนยิ่งต่ำโดยใช้เครื่องมือมาช่วย เทียบกันแล้วชาวไร่อ้อยที่ทำ BCG กับเราจะมีต้นทุนที่ต่ำลง”

ถ้าจะทำให้ BCG ในมิติ Bio เติบโตอย่างยั่งยืน ภาครัฐต้องสนับสนุนเรื่องน้ำ เพราะน้ำคือหัวใจของการเกษตร เกษตรจะไม่มีทางยั่งยืนเมื่อไม่มีน้ำ

พลิกนครสวรรค์สู่แหล่งปลูกอ้อย

พร้อมเล่าต่อว่าหากย้อนกลับไปราว 2 ทศวรรษก่อน กระแสความยั่งยืนยังไม่เป็นที่พูดถึงเท่าไรนัก แต่ KTIS ก็ปักธงให้ธุรกิจต้องเติบโตอย่างยั่งยืน มีการกระจายความเสี่ยง ทั้งที่ในสมัยนั้นยังไม่มีการใช้คำว่าความยั่งยืนอย่างจริงจัง

เมื่อถามว่า KTIS ยึดหลักอะไร นายอภิชาต ตอบทันทีว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” และเล่าต่อว่า “รัฐบาลมีแนวคิด ไทยแลนด์ 4.0 ผลักดันอุตสาหกรรม New S Curve หนึ่งในนั้นมี Bio Economy ต้องการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรจาก 1 เท่า เป็น 10 เท่า หรือ 100 เท่า หากจะไปสู่เป้าหมายนี้ เราเห็นว่าเกษตรกรต้องการการสนับสนุนมากกว่านี้”

จากเศรษฐกิจพอเพียง สู่ New S Curve จนกระทั่งปัจจุบันใช้คำว่า BCG ยิ่งทำให้ KTIS เห็นภาพองค์กรชัดขึ้นว่ามาถูกทางตามนโยบายของภาครัฐและแนวทางของโลก เพราะคำว่า BCG ซึ่งประกอบด้วย Bio Circular และ Green คือแก่นธุรกิจของ KTIS ตั้งแต่การดูแลเกษตรกร การรับซื้ออ้อย การแปรรูป การเพิ่มมูลค่า ตลอดจนการนำ waste จากกระบวนการผลิตและ waste ทางการเกษตรไปต่อยอด

“ถามว่ากลุ่มธุรกิจเราเป็น BCG อย่างไร ผมถามกลับว่า ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของเรา มีอะไรบ้างที่ไม่เป็น BCG ผมมานั่งดูแล้วพบว่า ทุกบริษัทเชื่อมโยงกันทั้งหมด โรงเยื่อกระดาษไม่ได้ตัดไม้มาทำ เราใช้กากอ้อยที่เหลือทิ้ง ปุ๋ยก็ไม่ได้ซื้อปุ๋ยเคมี เราเอากากหม้อกรองของโรงน้ำตาลมาทำปุ๋ย ใช้กากตะกอนเยื่อกระดาษมาทำ โรงไฟฟ้าไม่ได้ซื้อน้ำมันเตามา แต่ใช้กากและใบอ้อยมาผลิต ทุกกิจกรรมเกี่ยวข้องกับ BCG หมด”

“ความสำเร็จของเราคือ เราพาเขา (ชุมชน) มาถูกทาง จากสมัยก่อนที่นครสวรรค์ปลูกอ้อยไม่ได้เลย ทุกวันนี้เราเคยมีอ้อยสูงถึง 7-8 ล้านตัน…เราอยู่ในพื้นที่มากกว่า 30 ปี ร่วมหัวจมท้ายกับชาวบ้าน-เกษตรกรมานาน ถ้าเขาไม่ชอบคงไม่อยู่กับเรานานขนาดนี้”

ซีรี่ย์ BCG in Action สนับสนุนโดย