ThaiPublica > Sustainability > Headline > อาเซียนย้ำคำมั่นข้อตกลงปารีส มุ่งพลังงานสะอาด เร่งประเทศพัฒนาจัดสรรเงิน Climate Change ตามข้อผูกพัน

อาเซียนย้ำคำมั่นข้อตกลงปารีส มุ่งพลังงานสะอาด เร่งประเทศพัฒนาจัดสรรเงิน Climate Change ตามข้อผูกพัน

12 กันยายน 2023


สภาพน้ำท่วมมนิลา ฟิลิปปินส์ปี 2563 ที่มาภาพ:https://www.xinhuanet.com/english/2020-11/14/c_139515674.htm

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่ประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศได้จัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 43 หรือ 43rd ASEAN Summit ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงวันที่ 4 – 7 กันยายน 2566 ซึ่งผู้นำเดินหน้าจัดการกับปัญหาและความท้าทายมากมายที่ภูมิภาคเผชิญ

ที่ประชุมให้ความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาดเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) ซึ่งในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและข้อตกลงปารีสปี 2015

โดย แถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (ASEAN Joint Statement on Climate Change to the 28th Session of The Conference of The Parties )to The United Nations Framework Convention on Climate Change) หรือ (UNFCCC COP-28) ระบุไว้ว่า จะดำเนินการเพื่อให้บรรลุความก้าวหน้าที่สำคัญในด้านพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน และประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยคำนึงถึงสถานการณ์ของประเทศ

ด้วยการบรรลุเป้าหมายที่จะลดความเข้มของพลังงาน 32% (เทียบกับระดับปี 2005) และใช้พลังงานหมุนเวียน 23% ในสัดส่วนพลังงานของอาเซียน ด้วยสัดส่วนพลังงานทดแทน 35% ในกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งภายในปี 2568 ภายใต้แผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน (ASEAN Plan of Action for Energy Cooperation:APAEC)

เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสามประะชาคม(cross-pillar cooperation)และการประสานงานด้านการเงินยั่งยืน และอื่นๆ ผ่าน ASEAN Taxonomy เพื่อการเงินยั่งยืน และโครงการริเริ่มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนาแผนที่สีเขียวของอาเซียนในแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลาง อาเซียนครั้งที่ 9

แถลงการณ์ระบุว่า อาเซียนมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ความเสี่ยงของสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบต่อระบบธรรมชาติและมนุษย์ รวมทั้งย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องมีการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศอย่างมุ่งหวังไว้สูง ผ่านการบรรเทาผลกระท[การปรับตัวและการเงิน เพื่อให้คำมั่นที่ภาคีให้ไว้นั้น บรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีส

อาเซียนยังมีความกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียและความเสียหายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น และเหตุการณ์ที่ค่อยๆเกิดขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งประเทศสมาชิกอาเซียน

  • ADB ชี้ไทยเปราะบางต่อ Climate Change การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจ Net Zero คือความท้าทายเชิงนโยบาย
  • อาเซียนตระหนักถึงผลกระทบด้านลบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เช่น อาหาร น้ำ พลังงาน สภาพแวดล้อมที่สะอาดและเป็นสีเขียว และสุขภาพ รวมไปถึงระบบนิเวศที่มีผลกระทบอย่างมากต่อกลุ่มเปราะบาง รวมถึงผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพ และประชาชนที่อาศัยอยู่ในชนบทและพื้นที่ห่างไกล ผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม

    สภาพน้ำท่วมมนิลา ฟิลิปปินส์ ปี 2563 ที่มาภาพ: https://phys.org/news/2020-11-major-manila-typhoon-batters-philippines.html

    อาเซียนเรียกร้องภาคี UNFCCC และข้อตกลงปารีส ที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ให้ทบทวนและเสริมสร้างเป้าหมายปี 2030 ในแผนปฏิบัติการลดการปล่อยมลพิษระดับชาติ (Nationally Determined Contributions:NDCs) ภายในสิ้นปี 2566 เพื่อให้สอดคล้องเป้าหมายอุณหภูมิของข้อตกลงปารีส

    โดยคำนึงถึงหลักการที่กำหนดขึ้นซึ่งกำหนดให้ปฏิบัติเป็นการทั่วไปบนความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างกัน (Common but Differentiated and Responsibilities respective Capabilities) หรือ CBDR – RC ตามศักยภาพในการดำเนินการของแต่ละประเทศภาคีสมาชิก

    แถลงการณ์ขอให้ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีการปล่อยมลพิษต่ำ ปลดล็อคโอกาส ตลอดจนส่งเสริมการไหลเวียนของพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทนข้ามพรมแดน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรมและเท่าเทียม

    สภาพน้ำท่วมมะนิลา ฟิลิปปินส์ปี 2563 ที่มาภาพ:https://www.philstar.com/headlines/2020/11/12/2056440/major-floods-manila-typhoon-batters-philippines
    อาเซียนตอกย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินการตามที่ตกลงในการประชุม COP27 ในการส่งเสริมการสนับสนุนทางการเงินเพื่อให้สามารถดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศในภาคีประเทศกำลังพัฒนา โดยขอให้ให้ประเทศภาคีที่พัฒนาแล้ว

  • จัดให้มีวิธีการสนับสนุนการดำเนินการที่เพิ่มขึ้นเพื่อช่วยภาคีประเทศกำลังพัฒนาในส่วนที่เกี่ยวกับทั้งการบรรเทาและการปรับตัว ในการสานต่อพันธกรณีที่มีอยู่ภายใต้ UNFCCC รวมถึงการจัดทำและการดำเนินการตามแผนการปรับตัวระดับชาติและการสื่อสารเพื่อการปรับตัว
  • ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาอย่างเร่งด่วนที่จะจัดสรรเงิน 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีให้กับภาคีประเทศกำลังพัฒนาภายในปี 2566 รวมทั้งเพิ่มเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เกินกว่าวัตถุประสงค์นี้ก่อนปี 2568 และกำหนดเป้าหมายเม็ดเงินใหม่ เพื่อระดมเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้มากขึ้น ด้วยการพิจารณาถึงความจำเป็นและความสำคัญของประเทศกำลังพัฒนารวมถึงสมาชิกอาเซียน
  • เสริมสร้างความมุ่งมั่นและเพิ่มการมีส่วนร่วมโดยการจัดหาเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพียงพอและคาดการณ์ได้ ต่อกลไกทางการเงินต่างๆภายใต้และนอก UNFCCC รวมถึงกองทุนการเงินสีเขียวของอาเซีย(ASEAN Catalytic GreenFinance Facility:ACGF), กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund:GCF) กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก(Global Environment Facility:GEF) กองทุนเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ( Adaptation Fund และกองทุนชดเชยให้กับประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด(Least Developed Country Fund) โดยคำนึงถึงความสำคัญและความต้องการของประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่เป็นภาคีด้วย
  • เป็นผู้นำในการยกระดับเป้าหมายในการบรรเทาผลกระทบด้วยการส่ง NDCs ที่ทบทวนแล้วในปี 2566 พร้อมนโยบายและวิธีการที่ชัดเจนในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และต้องยอมรับว่าการสนับสนุนภาคีประเทศกำลังพัฒนาให้มากขึ้น จะช่วยให้สามารถดำเนินการด้านสภาพอากาศด้วยเป้าหมายที่สูงขึ้นได้
  • แถลงการณ์ปิดท้ายด้วยการย้ำคำเรียกร้องต่อทุกฝ่าย…

    ให้ยกระดับเป้าหมายปี 2030 ใน NDCs เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายอุณหภูมิของความตกลงปารีสภายในสิ้นปี 2566 และเร่งประเทศพัฒนาแล้วให้จัดหาเงิน เทคโนโลยีให้มากขึ้น

    และสนับสนุนการความสามารถประเทศสมาชิกอาเซียนในลักษณะที่ทันการณ์ พร้อมเพรียง มีความต่อเนื่อง และเหมาะสมกับเพศสภาพ เพื่อให้เข้าใจถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้น ในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น เพื่อให้บรรลุข้อผูกพันด้านสภาพภูมิอากาศ

    แถลงการณ์รับทราบถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่ใช่ภาคีในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์และนโยบายในกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความก้าวหน้าในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ การพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามาถปรับตัวกับสภาพภูมิอากาศ

    สภาพน้ำท่วมมนิลา ฟิลิปปินส์ปี 2563 ที่มาภาพ:https://www.xinhuanet.com/english/2020-11/14/c_139515674.htm

    ฟิลิปปินส์จี้อาเซียนกระตุกประเทศพัฒนาแล้วเดินหน้าตามข้อผูกพัน

    ประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ หรือ บองบอง กล่าวในวันเดียวกันระหว่างเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 43 ที่กรุงจาการ์ตา ว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ต้อง กระตุ้นให้ประเทศที่พัฒนาแล้วยึดมั่นในพันธกรณี ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    ประธานาธิบดีมาร์กอสกล่าวว่า ภัยคุกคามเร่งด่วนที่สุดต่อความก้าวหน้าของอาเซียน คือผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเตือนว่า ผลกระทบที่ต่อผู้คนนั้นไม่เท่าเทียมกัน

    ประธานาธิบดีมาร์กอสกล่าวว่า ในการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ (COP28) ปี 2567 อาเซียนต้องเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วยกระดับการดำเนินการตามข้อผูกพัน ซึ่งได้แก่ การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเสริมสร้างขีดความสามารถเพื่อขับเคลื่อนขีดความสามารถของอาเซียนในการป้องกัน บรรเทา จัดการ และปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    ประธานาธิบดีมาร์กอสกล่าวว่า “ในฐานะที่เป็นหนึ่งในประเทศที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติมากที่สุดในโลก ฟิลิปปินส์จะยังคงให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้อาเซียนรับมมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างชาญฉลาดและมีความพร้อมรับภัยพิบัติ ซึ่งรวมถึงผ่านศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งอาเซียน”

    ประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ แห่งฟิลิปปินส์ ที่มาภาพ: https://pco.gov.ph/43rd-asean-summit/photos/

    อาเซียนต้องใช้เงิน 29.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

    ขณะเดียวกันประธานาธิบดีโจโก วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย ได้กล่าวในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 43 หรือ 43rd ASEAN Summit ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ 5 กันยายน 2566 ว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องใช้เงิน 29.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯในกระบวนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

    ประธานาธิบดีวิโดโดกล่าวว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน จะปลดล็อกศักยภาพ ผ่านความร่วมมือทางการเงินกับพันธมิตร ในการสร้างสภาพแวดล้อมทางการเงินที่มีเสถียรภาพและสร้างผลกำไรแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานในการบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านพลังงานในอนาคตอันใกล้

    นอกจากประเด็นการเปลี่ยนผ่านพลังงานแล้ว ประธานาธิบดีวิโดโดกล่าวถึงความริเริ่มอีกสองด้าน ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวที่จะเป็นหลักให้ห่วงโซ่อุปทานแข็งแกร่ง และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเศรษฐกิจสร้างสรรค์

    ประธานาธิบดีวิโดโดคาดว่า ภายในปี 2573 เศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียนจะมีมูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

    ปัจจุบันอาเซียนได้ให้ความเห็นชอบโครงการร่วมมือ 93 โครงการ รวมมูลค่า 38.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยที่ 73 โครงการซึ่งมีมูลค่า 17.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จะเปิดตัวในเร็วๆนี้

    เดินหน้ามุ่งเน้นความยั่งยืน

    นอกจากที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 43ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน โดยเห็นได้จากการรับรองปฏิญญาที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนที่มีมากถึง 8 ฉบับ ทั้งปฏิญญาอาเซียน(ASEAN Declaration) และปฏิญญาผู้นำอาเซียน(SEAN Leaders’ Declaration) ได้แก่

      1)กรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภาคทะเลของอาเซียน (ASEAN Blue Economy Framework)
      2)ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาที่ครอบคลุมความพิการและความร่วมมือเพื่อประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็ง(ASEAN Declaration on Disability-Inclusive Development and Partnership for a Resilient ASEAN Community)
      3)ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความเสมอภาคทางเพศและการพัฒนาครอบครัว(ASEAN Declaration on Gender Equality and Family Development)
      4)ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการในการตอบสนองต่อภาวะวิกฤติ(ASEAN Leaders’ Declaration on Strengthening Food Security and Nutrition in Response to Crises)
      5)แถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28(ASEAN Joint Statement on Climate Change to the 28th Session of The Conference of The Parties )to The United Nations Framework Convention on Climate Change) หรือ (UNFCCC COP-28)
      6)ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการดูแลและการจัดการการศึกษาเด็กปฐมวัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(ASEAN Leaders’ Declaration on Early Childhood Care and Education in Southeast Asia)
      7)ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเป็นภูมิภาคที่มีภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืน (ASEAN Leaders’ Declaration on Sustainable Resilience)
      8)ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(ASEAN Leaders’ Declaration on The ASEAN Human Rights Dialogue)