ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามส่งออกข้าวได้ถึง 8 ล้านตันปีนี้

ASEAN Roundup เวียดนามส่งออกข้าวได้ถึง 8 ล้านตันปีนี้

13 สิงหาคม 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 6-12 สิงหาคม 2566

  • เวียดนามมีข้าวส่งออกได้ถึง 8 ล้านตันปีนี้
  • ฟิลิปปินส์เจรจาเวียดนาม-อินเดียนำเข้าข้าว 3-5 แสนตัน
  • ไฟฟ้าดับทำเศรษฐกิจเวียดนามเสียหาย 1.4 พันล้านดอลล์
  • จีนเริ่มวางรางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมเวียดนาม
  • มาเลเซียเปิดโรดแมปอุตสาหกรรมเคมีปี 2030
  • มาเลเซียวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค
  • อินโดนีเซียเล็งขยายการชำระเงินด้วย QR ไปอินโดแปซิฟิก
  • อาเซียนซัมมิทครั้งที่43 มุ่งเสริมสร้างศักยภาพของภูมิภาคใน 20 ปีข้างหน้า
  • เวียดนามมีข้าวส่งออกได้ถึง 8 ล้านตันปีนี้

    ที่มาภาพ: https://tuoitrenews.vn/news/business/20230707/vietnams-rice-export-on-upward-trend-in-h1/74250.html

    เวียดนามสามารถส่งออกข้าวได้สูงสุด 8 ล้านตันในปีนี้ เพิ่มขึ้น 12%จากปี 2565 และยังคงรองรับความต้องการภายในประเทศได้ จากการเปิดเผยข้อมูลของกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท

    พื้นที่เกษตรของประเทศสามารถผลิตข้าวได้ 28 ล้านตันต่อปี และกระทรวงฯได้คำนวณว่าข้าวประมาณ 20 ล้านตันน่าจะเพียงพอต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ กระทรวงฯระบุในรายงานเมื่อวันพฤหัสบดี(10 ส.ค.) ที่ได้นำเสนอต่อสมัชชาแห่งชาติ ถึงปริมาณข้าวที่เวียดนามสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ หลังจากหลายประเทศ เช่น อินเดีย รัสเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สั่งห้ามส่งออกข้าว

    แม้เวียดนามจะเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับสองของโลกรองจากอินเดีย แต่ก็นำเข้าจากอินเดียเช่นกัน

    แต่เนื่องจากการนำเข้าส่วนใหญ่นำไปผลิตอาหารสัตว์ การห้ามส่งออกข้าวขาวบาสมาติของอินเดียจะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อตลาดของเวียดนาม กระทรวงฯ ระบุ

    ราคาข้าวของเวียดนามพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสูงถึง 660 ดอลลาร์ต่อตันในช่วงหนึ่ง เนื่องจากหลายตลาด เช่น จีน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เพิ่มการซื้อข้าวเป็นตัวเลขสองหรือสามหลัก

    เวียดนามได้ส่งออกข้าว 4.83 ล้านตันในช่วง 7 เดือนแรกและมีรายได้เกือบ 2.6 พันล้านดอลลาร์ มากกว่า 3 ใน 4 ของการส่งออก ได้ส่งไปยังประเทศในเอเชีย

    อียูซื้อข้าวจากเวียดนามเพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

    แต่รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร เล มินห์ ฮวน กล่าวว่าสินค้าส่งออกประเภทอื่นๆ มีการเติบโตที่ช้าลง เนื่องจากอุปสงค์จากประเทศอื่นๆ ลดลง โดยการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้ และอาหารทะเลในช่วง 7 เดือนแรกลดลง 9.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี สู่ระดับ 29.13 พันล้านดอลลาร์

    ฟิลิปปินส์เจรจาเวียดนาม-อินเดียนำเข้าข้าว 3-5 แสนตัน

    ที่มาภาพ: https://www.philstar.com/headlines/2023/04/18/2259835/after-scrapping-import-plan-da-promises-enough-rice-supply-despite-el-nio-threat
    ฟิลิปปินส์ได้เปิดการเจรจากับเวียดนามและอินเดียเพื่อการนำเข้าข้าวหลายแสนตันเพื่อเพิ่มอุปทานและดึงราคาลง เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงเกษตร (DA) กล่าวเมื่อวันศุกร์(11 ส.ค.)

    ในแถลงการณ์ นายโดมิงโก ปันกานิบัน ปลัดอาวุโสกระทรวงเกษตร กล่าวว่า กระทรวงฯเปิดการเจรจากับเวียดนามและอินเดีย ตามคำสั่งของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์

    ปัจจุบัน ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรอีกหนึ่งตำแหน่ง

    ผลจากการเจรจาอย่างต่อเนื่อง นายปันกานิบันกล่าวว่า “ผู้ส่งออกเวียดนามบางรายเสนอราคาให้ผู้ค้าเอกชนของเราต่ำลง 30-40 ดอลลาร์สหรัฐฯ นับตั้งแต่การประชุม (ครั้งล่าสุด) ของเราที่ทำเนียบประธานาธิบดี”

    กระทรวงฯจะประสานงานกับรัฐบาลอินเดียด้วย เพื่อให้อนุญาตการนำเข้าด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม

    ผู้บริหารกระทรวงเกษตรกล่าวว่า การเจรจาหวังว่าจะปูทางให้ประเทศได้รับเงื่อนไขที่ดีขึ้นสำหรับการนำเข้าข้าวเพิ่มอีก 300,000 ถึง 500,000 ตันในปีนี้เมื่อต้นเดือนนี้กระทรวงฯกำลังพิจารณาที่จะนำเข้าข้าวใหม่อีก 1.3 ล้านตัน

    นายปันกานิบันกล่าวว่า การนำเข้าข้าวจะช่วยให้ราคาข้าวถูกลง เนื่องจากจะทำให้เพิ่มปริมาณข้าวสำรองของประเทศเพิ่มขึ้น แต่แม้จะไม่มีการนำเข้า ปริมาณข้าวสำรองของประเทศคาดว่าจะคงรองรับได้ 52-57 วันภายในสิ้นปี 2566

    ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีมาร์กอส ได้ขอให้ชาวฟิลิปปินส์มั่นใจว่ากระทรวงฯจะมีข้าวเพียงพอ แม้การเกษตรจะได้รับความเสียหายจากพายุไต้ฝุ่นเอไกในเกาะลูซอนตอนเหนือและปรากฏการณ์เอลนีโญ

    เมื่อเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดีได้พบปะกับเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและผู้ค้าที่ทำเนียบประธานาธิบดี ซึ่งได้หารือเกี่ยวกับข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาปริมาณข้าวในประเทศ

    ไฟฟ้าดับทำเศรษฐกิจเวียดนามเสียหาย 1.4 พันล้านดอลล์

    ที่มาภาพh ttps://e.vnexpress.net/news/economy/power-outages-cost-vietnam-1-4b-world-bank-4640388.html
    ไฟฟ้าที่ดับในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนทำให้เวียดนามได้รับความเสียหายประมาณ 1.4 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 0.3% ของ GDP จากการประเมินของธนาคารโลก

    ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนมิถุนายน พื้นที่ทางตอนเหนือของเวียดนามประสบกับปัญหาไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง จากความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ไฟฟ้าพลังน้ำซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตไฟฟ้าหลักประสบปัญหาไฟฟ้าดับอย่างรุนแรงเนื่องจากภัยแล้ง ส่งผลให้โรงไฟฟ้าหลายแห่งในพื้นที่ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้หลายครั้งต่อสัปดาห์

    ดอร์ซาตี มาดานี นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก กล่าวว่า การหยุดชะงักของการผลิตไฟฟ้าทำให้เวียดนามเสียหายคิดเป็นมูลค่าราว 1,400 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 0.3% ของ GDP เวียดนาม โดยคำนวณจากความต้องการไฟฟ้าที่ไม่ได้รับการตอบสนองที่ 36 กิกะวัตต์ชั่วโมงในปี 2565 และที่ 900 กิกะวัตต์ชั่วโมงในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนปีนี้

    การสำรวจองค์กรธุรกิจทางตอนเหนือของเวียดนามในภาคอุตสาหกรรมพบว่า การสูญเสียรายได้จากเหตุไฟฟ้าดับสูงถึง 10% และไฟฟ้าที่ไม่เป็นไปตามความต้องการจะนำไปสู่การสูญเสียรายได้สำหรับการไฟฟ้าเวียดนามประมาณ 75 ล้านดอลลาร์

    ธนาคารโลกระบุว่า ความไม่สมดุลของการจ่ายไฟฟ้าในภาคเหนือของเวียดนามเป็นเพราะภูมิภาคนี้พึ่งพาไฟฟ้าพลังน้ำและถ่านหินเป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ขาดแคลนวัตถุดิบ ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการผลิตและจำหน่ายพลังงาน กำลังการผลิตที่จำกัดทำให้พื้นที่ดังกล่าวเข้าถึงพลังงานส่วนเกินทางตอนใต้ของเวียดนามได้ยาก ซึ่งคิดเป็นพลังงานประมาณ 20 กิกะวัตต์ชั่วโมง

    มาดานีกล่าวว่า เวียดนามต้องการการลงทุนเพิ่มเติมในระบบจำหน่ายไฟฟ้า

    ในรายงานเดือนกรกฎาคม หอการค้ายุโรปกล่าวว่า ไฟฟ้าดับอาจเกิดขึ้นเป็นรอบ และเสนอว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญกับแผนระยะยาว

    ธนาคารโลกเสนอแนวทางแก้ไขหลายอย่างในระหว่างนี้ รวมถึงกำหนดการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าในปี 2567 และ 2568 การลงทุนในระบบจำหน่ายและการกระจายแหล่งพลังงาน

    จีนเริ่มวางรางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมเวียดนาม

    ที่มาภาพ:http://www.ecns.cn/news/society/2023-08-09/detail-ihcryevw1981580.shtml
    รถไฟความเร็วสูงสายตรงสายแรกของจีนไปยังเวียดนามได้เริ่มขึ้นวางรางแล้วเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยคนงานได้ใช้เครื่องวางรางที่มีความยาว 500 เมตร จากการรายงานของ CGTN รายงาน

    ทางรถไฟระหว่างมืองฝางเฉิงก่าง และตงซิงในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน มีระยะทาง 46.9 กิโลเมตร และมีความเร็วที่ออกแบบไว้ที่ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังสร้างโครงสร้างพื้นฐานโดยมีเงื่อนไขที่จะยกระดับความเร็วในการเดินทางเป็น 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในอนาคต

    ทางเดินรถไฟจะทำให้การเดินทางระหว่างเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ กับเขตGreater Bay Area และตลาดอาเซียนง่ายและรวดเร็วขึ้น

    ทางรถไฟสายมืองฝางเฉิงก่าง-ตงซิงคาดว่าจะเห็นรางรถไฟทั้งหมดภายในสิ้นเดือนกันยายน และทางรถไฟจะเปิดใช้งานได้ภายในสิ้นเดือนธันวาคม

    ทางรถไฟจะย่นระยะเวลาการเดินทางระหว่าง 2 แห่งจาก 60 นาทีเหลือ 20 นาที และจะเชื่อมเมืองตงซิง เมืองชายแดนกับเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงยาว 42,000 กิโลเมตรของประเทศ

    ปัจจุบันทางรถไฟจีน-ลาวเป็นเส้นทางรถไฟสายหลักของจีนสู่อาเซียน ในช่วง 20 เดือนแรกจากที่เปิดดำเนินการ รถไฟขนส่งผู้โดยสารแล้ว 19 ล้านคนและสินค้า 23 ล้านตัน จากข้อมูลของ China Railway

    ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึง 3 สิงหาคม ทางรถไฟได้ขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน 2.5 ล้านตัน ส่งผลใหมีการไหลเวียนของสินค้า ซึ่งรวมถึงผลไม้เมืองร้อน แร่เหล็ก แป้งมันสำปะหลัง และยางพารา

    ความสำเร็จของรถไฟจีน-ลาวเป็นแรงกระตุ้นให้ประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ในเวียดนามมีการเรียกร้องเพิ่มขึ้นให้สร้างทางรถไฟสายเหนือ-ใต้ที่เชื่อมต่อเมืองหลวงฮานอยกับโฮจิมินห์ซิตี้

    ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว จีนและเวียดนามประกาศการดำเนินการร่วมกันในการเร่งโครงการรถไฟหล่าวกาย-ฮานอย-ไฮฟอง โดยเรียกร้องให้มีการสรุปแผนทบทวนแผนรถไฟรางมาตรฐานหล่าวกาย -ฮานอย-ไฮฟองให้ทันการณ์ มีการหารือเกี่ยวกับการแก้ไข ข้อตกลงรถไฟทวิภาคี 2535 และฉันทามติเกี่ยวกับแผนการเชื่อมต่อ

    ผู้เชี่ยวชาญชาวจีนมองว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการยุติความลังเลมานานหลายสิบปีของเวียดนามว่าควรเชื่อมต่อกับจีนโดยใช้ระบบรถไฟมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งต่างจากทางรถไฟที่มีความกว้างหนึ่งเมตรของประเทศ

    มาเลเซียประกาศโรดแมปอุตสาหกรรมเคมีปี 2030

    ที่มาภาพ: https://www.humanresourcesonline.net/malaysia-introduces-chemical-industry-roadmap-2030-listing-sustainability-as-a-core-principle

    ในวันศุกร์ (4 ส.ค. 2566) กระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมของมาเลเซีย (MITI) ประกาศเปิดตัวโรดแมปอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ปี 2030 ( Chemical Industry Roadmap 2030) หรือ CIR2030 โดยในอีก 7 ปีข้างหน้า จะมุ่งเน้นไปที่การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อสร้างงานที่มีทักษะสูง รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 เป้าหมายหลัก

    เต็งกู ซาฟรูล อาซิส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรม เปิดถึงความสำคัญของโรดแมปนี้ว่า อุตสาหกรรมเคมีได้ประสบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากเมกะเทรนด์สำคัญของโลก อุปสงค์ที่เปลี่ยนแปลงไป และการที่โลกให้ความสำคัญกับ ESG (สิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล)

    “CIR2030 จัดทำขึ้นเพื่อรับมือกับความท้าทายที่สำคัญเหล่านี้ เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมปรับตัวและคงไว้ซึ่งความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก นี่คือจุดที่แผนงานที่ชัดเจนนี้เป็นช่องทางสำคัญในการเพิ่มมูลค่าเพิ่ม (GVA) ของอุตสาหกรรมให้กับเศรษฐกิจโดยรวมจาก 3.4% ในปัจจุบันเป็นมากกว่า 4.5% ภายในปี 2573 หรือมูลค่าเพิ่มประมาณ 4 หมื่นล้านริงกิตมาเลเซีย นอกจากนี้ เรายังตั้งเป้าหมายให้อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ของเราติดอันดับหนึ่งในอาเซียนในแง่ของการไหลเข้าของ FDI (การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ) ภายในปี 2573”

    “พูดสั้นๆ ก็คือ CIR2030 เป็นตัวหลักในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรม”

    CIR2030 จัดทำขึ้นโดย MITI ด้วยความร่วมมือกับหน่วยงานพัฒนาการลงทุนแห่งมาเลเซีย(Malaysian Investment Development Authority-MIDA) เปโตรนาส(PETRONAS) Chemical Industries Council of Malaysia (CICM) และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมาย 5 ข้อ 22 กลยุทธ์ และ 10 แนวทาง สำหรับมาเลเซียในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ภูมิทัศน์อุตสาหกรรมเคมีในช่วงเจ็ดปีข้างหน้า

    CIR2030 ได้กำหนดแนวทางวิธีการ 10 ข้อพร้อมกิจกรรมหลัก งานที่แล้วเสร็จระหว่างดำเนินการ ตัวชี้วัด บทบาทและความรับผิดชอบ เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการนำโรดแมปไปปฏิบัติให้ได้ผล

    นอกจากนี้จะมีคณะทำงานกำกับดูแลและคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อให้แน่ใจว่า มีการติดตามแนวทางและวิธีการ ตรวจสอบ และนำไปปฏิบัติได้ทันการณ์

    โรดแมปลำดับความสำคัญ 11 กลุ่มใน 3 เซกเม้นท์สำคัญ ได้แก่ สารเคมีพื้นฐานและสารตัวกลาง เช่น ปุ๋ย เช่นเดียวกับโอลีโอเคมีและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลางสาย C1 พลาสติกและโพลิเมอร์ เช่น วัสดุผสมประสิทธิภาพสูง ตลอดจนเคมีภัณฑ์เฉพาะทาง เคมีภัณฑ์เพื่อการดูแล เคมีโภชนาการ เคมีภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และเคมีก่อสร้าง

    แต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ จะมีกลยุทธ์เฉพาะ เพื่อการเติบโตตามศักยภาพและความต้องการในอนาคต

    CIR2030 จะนำไปปฏิบัติร่วมกับแผนแม่บทอุตสาหกรรมใหม่ 2030 หรือ New Industrial Master Plan 2030 (NIMP 2030) ที่จะเปิดตัวในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งตามแผน NIMP 2030 ได้มีการจัดเตรียมแผนปฏิบัติการสำหรับภาคอุตสาหกรรมเคมี ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และปิโตรเคมี จำนวน 16 แผนที่สอดคล้องกับพันธกิจ 4 ข้อของ NIMP

    โดยรวมแล้ว อุตสาหกรรมเคมีเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์ที่มีมูลค่ามากที่สุดของมาเลเซีย โดยมีสัดส่วน 6% ต่อ GDP ในปี 2565 และจ้างงานเกือบ 293,000 คน (คิดเป็น 12.5% ​​ของการจ้างงานในภาคการผลิตทั้งหมด 2.6 ล้านคน) ภาคเคมีและปิโตรเคมีเพียงอย่างเดียวเป็นอุตสาหกรรมที่มีส่วนร่วมการค้าสินค้าที่ในภาคการผลิตของมาเลเซียใหญ่เป็นอันดับสาม โดยมีความเชื่อมโยงที่แข็งแกร่งกับภาคส่วนอื่นๆ เช่น อิเล็กทรอนิคส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เกษตรกรรม และเภสัชกรรม

    มาเลเซียวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค

    ที่มาภาพ : https://www.bernama.com/en/thoughts/news.php?id=2166297
    รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจนายราฟิซิ รอมลี กล่าวว่า มาเลเซียวางแผนที่จะพัฒนาโรงงานพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสานที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่เดินหน้ารโรงไฟฟ้าไฮโดรเจนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน 70% ภายในปี 2593

    กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ Khazanah Nasional จะเป็นผู้นำในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบผสมผสาน ซึ่งดึงการลงทุนทั่วโลกมาแล้วมูลค่ารวม 6 พันล้านริงกิตมาเลเซีย นายราฟิซีกล่าว

    โครงการนี้จะเป็นหนึ่งใน 10 โครงการมูลค่า 2.5 หมื่นล้านริงกิตที่อยู่ภายใต้ National Energy Transition Roadmap (NETR)

    “NETR เป็นความพยายามของฝ่ายบริหารที่จะปรับเปลี่ยนขนาดของพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้เราสามารถขยายขนาดกำลังการผลิตติดตั้งของเราได้อย่างรวดเร็วด้วยโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่เหมาะสม” นายราฟิซิกล่าว

    รัฐบาลระบุว่า Tenaga Nasional, Sime Darby Property, Malakoff และ Petronas จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ

    ในเดือนพฤษภาคม มาเลเซียได้เพิ่มเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนเป็น 70% ของกำลังการผลิตทั้งหมดภายในปี 2593 จาก 40% เป้าหมายนี้ต้องใช้เงินลงทุน 637 พันล้านริงกิต

    มาเลเซียเพิ่งยกเลิกการห้ามส่งออกพลังงานหมุนเวียน ทำให้บริษัทในประเทศสามารถพัฒนาศักยภาพได้ตามขนาดและตอบสนองความต้องการของภูมิภาค

    ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม เรียกร้องให้มีการระดมทุนเพิ่มเติมสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อช่วยให้ประเทศต่างๆ บรรลุเป้าหมายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

    อินโดนีเซียเล็งขยายการชำระเงินด้วย QR ไปอินโดแปซิฟิก

    ที่มาภาพ: https://seasia.co/2022/07/25/yes-finally-five-asean-countries-to-connect-their-qr-code-payment-systems-very-soon
    นายอาชาด ราชิด ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) กล่าวว่า คาดหวังที่จะขยายบริการชำระเงินดิจิทัลด้วย QR code ไม่เพียงเฉพาะในอาเซียนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศในอินโดแปซิฟิกด้วย

    นายราชิด กล่าวในการอภิปรายที่จัดขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ 56 ปีของการก่อตั้งอาเซียนในกรุงจาการ์ตาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยระบุว่าการทำธุรกรรมด้วย QR code มีความสำคัญในอันดับต้นของ ASEAN-BAC ในด้านการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล

    “ASEAN-BAC ส่งเสริมการชำระเงินดิจิทัลข้ามพรมแดนที่มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงการชำระเงินและ (เสริมสร้าง) ธุรกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก และขนาดกลาง (MSMEs) ทั่วทั้งอาเซียน เราอยากที่จะการขยาย (ระบบ) นี้ไปยังประเทศอื่นๆ ในอินโดแปซิฟิก”

    ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 ที่เมืองลาบวน บาโจ จังหวัดนูซาเต็งการาตะวันออก ในเดือนพฤษภาคม 2566 ผู้นำอาเซียนได้รับรองคำประกาศเกี่ยวกับความก้าวหน้าของการเชื่อมโยงการชำระเงินระดับภูมิภาคและส่งเสริมการทำธุรกรรมสกุลเงินท้องถิ่นภายในกลุ่มประเทศอาเซียน

    ผู้นำอาเซียนให้ความสำคัญกับ บทบาทของระบบและบริการชำระเงินข้ามพรมแดนที่เร็วขึ้น ถูกลง ปลอดภัยขึ้น โปร่งใสมากขึ้น และครอบคลุมมากขึ้น เพื่อประโยชน์ในวงกว้าง สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและเศรษฐกิจดิจิทัล

    นอกจากนี้ยังรับทราบถึงประโยชน์ของการใช้สกุลเงินท้องถิ่นต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน การบูรณาการทางการเงินในระดับภูมิภาคที่ลึกยิ่งขึ้นโดยการยกระดับการค้าและการลงทุนภายในอาเซียน และสนับสนุนห่วงโซ่มูลค่าของภูมิภาค

    เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม นายราชิดซึ่งดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมของอินโดนีเซีย (Kadin)ด้วย กล่าวว่า บริการชำระเงินดิจิทัลด้วย QR code ในรูปแบบเดียวกันภายในประเทศอาเซียน จะเป็นจริงในเดือนกันยายน 2566

    การเชื่อมโยงการชำระเงินด้วย QR ข้ามพรมแดนได้ถูกนำมาใช้ระหว่างอินโดนีเซียและไทยรวมถึงสิงคโปร์แล้ว ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคสามารถใช้แอปพลิเคชันบนมือถือเพื่อสแกนรหัส QR สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการจากประเทศที่เข้าร่วม

    นอกจากการพัฒนาการเชื่อมโยงการชำระเงินให้ก้าวหน้าแล้ว ASEAN-BAC ยังมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการบรรลุวิสัยทัศน์ของอาเซียนเกี่ยวกับอินโดแปซิฟิกผ่านการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจที่มากขึ้นและระหว่างประชาชนและการเชื่อมต่อระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ

    อาเซียนซัมมิทครั้งที่43 มุ่งเสริมสร้างศักยภาพของภูมิภาคใน 20 ปีข้างหน้า

    ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด เปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 ที่มาภาพ :https://www.asean2023.id/en/gallery/photo
    การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 43 จะยังคงหารือเกี่ยวกับการเสริมสร้างศักยภาพของกลุ่มและประสิทธิภาพเชิงสถาบันเพื่อช่วยให้องค์กรสามารถรับมือต่อความท้าทายในอีก 20 ปีข้างหน้า

    อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดและการประชุมที่เกี่ยวข้องในกรุงจาการ์ตา ระหว่างวันที่ 5-7 กันยายน 2566

    Sidharto Suryodipuro ผู้อำนวยการทั่วไปของความร่วมมืออาเซียนของกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียกล่าวว่า อินโดนีเซียมีเป้าหมายที่จะวางรากฐานสำหรับความร่วมมือของอาเซียนเพื่อจัดการกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต

    “เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น เราต้องทำให้สถาบันของเรา (อาเซียน) และกลไกการทำงานแข็งแกร่งขึ้น”

    Suryodipuro กล่าวว่า มีหลายด้านที่ต้องเสริมความเข้มแข็ง เช่น ทรัพยากรมนุษย์ในประชาคมอาเซียน การเจรจาด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนความร่วมมือทางทะเลระหว่างประเทศสมาชิก

    พร้อมกับชี้ว่า อินโดนีเซียมีส่วนร่วมในข้อตกลงหลายฉบับระหว่างที่ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ก่อนหน้านี้อินโดนีเซียเคยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2519 ปี 2546 และ 2554

    ในระหว่างที่อินโดนีเซียเป็นประธาน ได้มีการบรรลุข้อตกลงบางฉบับ รวมถึงการจัดตั้งสำนักเลขาธิการอาเซียน การหารือเกี่ยวกับสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANWFZ) ประชาคมอาเซียน และการจัดตั้งข้อตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก(RCEP)

    การหารือเกี่ยวกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันต่างๆ ของอาเซียน ซึ่งเริ่มขึ้นภายใต้ความคิดริเริ่มของอินโดนีเซีย เริ่มขึ้นในปี 2565 ด้วยข้อเสนอแนะของกองเรือรบระดับสูงเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนหลังปี 2568 (HLTF-ACV) ว่าด้วยการเสริมสร้างขีดความสามารถของอาเซียนและประสิทธิผลของสถาบัน

    ผู้นำอาเซียนยังได้หารือเรื่องนี้กับหน่วยงานระดับสูงในการประชุมสุดยอดครั้งที่ 42 ที่เมืองลาบวน บาโจ จังหวัดนูซาเต็งการาตะวันออก (NTT) ในเดือนพฤษภาคม

    บรรดาผู้นำเน้นย้ำถึงความสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพของกลุ่มและประสิทธิผลเชิงสถาบัน รวมทั้งการทำให้อาเซียนสามารถตอบสนองต่อวิกฤตการณ์และสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที

    การประชุมสุดยอดอาเซียนปี 2566 ที่กรุงจาการ์ตาไม่เพียงแต่จะมีผู้นำอาเซียนเข้าร่วมเท่านั้น แต่ยังมีพันธมิตรภายนอก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดียเข้าร่วมด้วย

    Suryodipuro กล่าวว่าอินโดนีเซียคาดหวังให้ผู้นำระดับโลก 27 คนและองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงผู้นำ 18 ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) นายกรัฐมนตรีแคนาดา และกรรมการบริหารของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกเข้าร่วม การประชุม

    การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกประกอบด้วย 18 ประเทศที่เข้าร่วม รวมถึง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐเกาหลี รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา