ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > เชลล์เปิดแบบจำลอง “Sky Scenario” นวัตกรรมและโอกาสด้านพลังงานในอนาคต

เชลล์เปิดแบบจำลอง “Sky Scenario” นวัตกรรมและโอกาสด้านพลังงานในอนาคต

11 สิงหาคม 2018


นายอัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561 บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ได้จัดงาน Shell Forum ในหัวข้อ “Energy Transition for Thailand’s Future” เพื่อเผยแพร่วิสัยทัศน์เกี่ยวกับนวัตกรรมและโอกาสด้านพลังงาน แบบจำลองทางเลือกพลังงาน และการดำเนินชีวิตในอนาคตตามแบบจำลอง “Sky Scenario” ซึ่งเป็นผลการศึกษาใหม่ของเชลล์ระดับโลก ตลอดจนเปิดเวทีในการร่วมกันมองไปข้างหน้าเกี่ยวกับเปลี่ยนผ่านพลังงาน แนวทางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และอนาคตด้านความยั่งยืนของประเทศไทย

โดยมี Dr. Cho Khong, Chief Analyst จาก Royal Dutch Shell ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจำลองสถานการณ์อนาคตของบริษัทเชลล์ เป็นผู้ให้ข้อมูลในแบบจำลอง Sky Scenario หรือ Sky และ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้ทิศทางการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนของไทย

Sky เป็นหนึ่งในแบบจำลองสถานการณ์ทางเลือกใหม่ภายใต้ Shell’s New Lens Scenarios (NLS) ชุดแบบจำลองสถานการณ์ของระบบพลังงานในอนาคต โดยเมื่อ 5 ปีก่อน เชลล์ได้สร้างแบบจำลองสถานการณ์ Mountains และ Oceans ซึ่งเป็นทางเลือก 2 ทางสำหรับการพัฒนาระบบพลังงานในศตวรรษที่ 21 แบบจำลองสถานการณ์ในอนาคตทั้ง 3 แบบ แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ในหลายรูปแบบสำหรับระบบพลังงาน และแสดงให้เห็นว่าความต้องการน้ำมันและก๊าซในปี พ.ศ. 2573 จะสูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน

นายอัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า เหตุผลที่เชลล์จัดงานนี้สืบเนื่องจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่จะช่วยกันลดอุณหภูมิโลกและไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส

“ที่ผ่านมาจะเห็นว่าการลดโลกร้อน หลายคนยังมองเป็นปัญหาไกลตัว แต่หากมองดูอุบัติเหตุ อุบัติภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมจังหวัดเพชรบุรี เขื่อนประเทศลาวแตก พายุต่างๆ ที่เกิดขึ้น คลื่นความร้อนที่ประเทศญี่ปุ่นหรือเกาหลี ทั้งหมดเป็นเครื่องหมายเตือนภัยว่าเรื่องพวกนี้ไม่ได้ไกลตัวเราอีกต่อไป”

เวที Shell Forum ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของเชลล์ ประเทศไทย ในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ ภายใต้กลยุทธ์ “พลังงานสะอาด เพิ่มประสิทธิภาพ และดีต่อสิ่งแวดล้อม” (More and Cleaner Energy)

นายอัษฎากล่าวว่า เชลล์ ประเทศไทย มีความมุ่งมั่นสนับสนุนรัฐบาลไทยในการใช้ระบบพลังงานที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ จากการจัดงานในครั้งนี้ เชลล์หวังว่าจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเจรจาและการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ภายใต้การปรับตัวและการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศ เราต้องการแรงสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนจากภาครัฐในเชิงนโยบาย การสนับสนุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่พัฒนาเครื่องยนต์ให้รองรับเชื้อเพลิงชีวภาพได้มากขึ้น ผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพต่างๆ ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวนี้จะเข้ามาช่วยตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของพลังงานสะอาด เพิ่มประสิทธิภาพ และดีต่อสิ่งแวดล้อมได้

“การจัดงานในครั้งนี้นับเป็นการเปิดมุมมองที่หลากหลายเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) เพื่อสนับสนุนนโยบายพลังงาน 4.0 ของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นความสำเร็จของการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดในอนาคต โดยเหล่าผู้บริหารจะร่วมให้ข้อมูลและเสวนากันตั้งแต่ในระดับนโยบาย ความเป็นไปได้ของอนาคตพลังงานรูปแบบใหม่ๆ วิธีการที่สังคมผลิตพลังงานและนำมาใช้ รวมถึงถ่ายทอดความรู้และความเชี่ยวชาญจากเชลล์ระดับสากลมาสู่ประเทศไทย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ข้อมูลจากผลการศึกษาแบบจำลอง Sky Scenario ได้รับการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ หลังจากเชลล์ได้เปิดเผยรายงานดังกล่าวในระดับโลกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา” นายอัษฎากล่าว

ดร.โช คง หัวหน้านักวิเคราะห์ภาครัฐศาสตร์ รอยัล ดัตช์ เชลล์

ต้องเร่งพลังงานไฟฟ้า

ดร.โช คง หัวหน้านักวิเคราะห์ภาครัฐศาสตร์ รอยัล ดัตช์ เชลล์ หนึ่งในทีมนักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญของเชลล์ระดับโลก กล่าวว่า “เชลล์มุ่งพัฒนาแบบจำลองสถานการณ์ด้านพลังงานมากว่า 50 ปี โดยผลการศึกษาแบบจำลองล่าสุด Sky Scenario ได้นำเสนอแนวทางที่เป็นไปได้ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเศรษฐกิจโดยรวมระดับโลก และหนทางในการบรรลุเป้าหมายการใช้พลังงานไร้มลพิษภายในปี พ.ศ. 2613 แบบจำลองครั้งนี้ไม่ใช่การคาดเดา นโยบาย หรือแผนธุรกิจใดๆ ของเชลล์ หากแต่เชลล์หวังว่าผลการศึกษาชิ้นนี้อาจช่วยหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ข้อตกลงปารีสฯ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มีการส่งสัญญาณไปทั่วโลก หากรัฐบาล อุตสาหกรรม และสังคมร่วมมือกันก็จะมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบพลังงานที่แตกต่างออกมาได้”

นอกเหนือจากนั้น Sky ยังแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในการใช้พลังงานที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ และยังระบุเพิ่มเติมว่าในช่วงกลางศตวรรษ การผลิตน้ำมันและก๊าซจะยังมีความต้องการถึง 85% แต่ในช่วงปลายศตวรรษจะลดลงเหลือ 30-40%

แบบจำลอง Sky Scenario มุ่งนำเสนอแนวทางที่เป็นไปได้ทั้งด้านภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และ เทคโนโลยี ในการบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีสฯ ที่ตั้งเป้าหมายร่วมกันในการรักษาอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส เหนือกว่าระดับอุณหภูมิก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของระบบพลังงานที่จะเกิดขึ้นซึ่งจะช่วยสร้างพลังงานที่ทันสมัยทั่วโลก โดยไม่ส่งผลกระทบระยะยาวกับสิ่งแวดล้อมและสังคม ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภค องค์กร และภาครัฐ จะเผชิญกับทางเลือกที่ยากต่อการตัดสินใจ และแนวทางที่นำไปสู่พลังงานที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ในอีก 50 ปีข้างหน้า สังคมจะมีการผลิตและใช้พลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป ยกตัวอย่างเช่น แนวความคิดของผู้คนในการเลือกใช้พลังงานที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ ประสิทธิภาพสูงจะสามารถเปลี่ยนไปได้ รวมไปถึงการเติบโตของแหล่งพลังงานใหม่ เช่น พลังงานทดแทน

Mountains คือการจำลองสถานการณ์อนาคตที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนดทิศทางว่าจะทำให้พลังงานสะอาดขึ้นได้อย่างไร ไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มสูงกว่า 2 องศาได้อย่างไร ส่วน Oceans เป็นการจำลองสถานการณ์ที่ผู้บริโภคหรือตลาดเป็นคนผลักดันมากกว่ารัฐบาล

“แบบจำลอง Sky คือส่วนผสมของการความร่วมมือกันเพื่อเร่งให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จากสังคม ตลาด และรัฐบาล ด้วยการนำส่วนที่มีความก้าวหน้าของแบบจำลอง Mountain และ Ocean มาร่วมกัน แบบจำลองสถานการณ์ Sky จึงนำเสนอแนวทางที่เป็นไปได้ทั้งในเชิงเทคโนโลยีและเศรษฐกิจที่จะบรรลุเป้าหมาย การช่วยไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียส”

ข้อตกลงปารีสมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงานเป็นศูนย์ในปี 2070 แต่การที่จะบรรลุเป้าหมายต้องมีการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับเศรษฐกิจและระบบพลังงาน ซึ่งแนวทางหนึ่งที่กำลังมีความสำคัญคือ พลังงานไฟฟ้าที่เริ่มใช้แทนพลังงานฟอสซิล

พลังงานลมและแสงอาทิตย์ขยายตัวอย่างรวดเร็วแต่ผลิตกระแสไฟฟ้าน้อยกว่า 20% การใช้พลังงานขั้นสุดท้าย การลดคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์นั้นในทุกส่วนของระบบเศรษฐกิจต้องใช้พลังงานไฟฟ้า แต่การใช้ไฟฟ้านั้นโตช้ามากราว 2% ทุก 10 ปี

แบบจำลอง Sky คาดว่าภายในปี 2070 การใช้พลังงานไฟฟ้าจะมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ปัจจุบันการใช้พลังงานไฟฟ้าเริ่มมีบ้างแล้วในภาคการขนส่ง ขณะที่พลังงานฟอสซิลจะพ้นจากระบบการผลิตไฟฟ้า และมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทน ขณะเดียวกัน พลังงานชีวมวลก็จะเริ่มมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้การใช้พลังงานฟอสซิลจะยังเพิ่มขึ้นไปจนถึงปี 2025 ก่อนที่จะเริ่มลดลงในปี 2030 และลดต่ำกว่าระดับปัจจุบันในปี 2040 ส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวจะลดลงราว 50% ช่วงปี 2020-2050

ที่มา: www.shell.com/scenario

ความสำเร็จตามแบบจำลอง Sky มีสมมติฐานว่า ทัศนคติของผู้บริโภครับรู้และตระหนักถึงการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งมีการนำกลไกกำหนดราคาคาร์บอนเข้ามาใช้ในปี 2020 ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนคาร์บอนสะท้อนในสินค้าและบริการ และการใช้พลังงานไฟฟ้าต้องเติบโตขึ้นเป็น 3 เท่า และแหล่งพลังงานใหม่จะต้องขยายตัวแบบทวีคูณ ที่สำคัญต้องไม่มีการทำลายป่าเลย

“แบบจำลองทั้ง 3 สถานการณ์มีความคืบหน้าในการดำเนินการ ซึ่งในแต่ละแบบจำลองมีความก้าวหน้าในอัตราความเร็วที่ต่างกัน โดยในแบบจำลอง Mountain แม้ช่วงแรกจะช้าแต่ก็มีดำเนินการต่อเนื่อง ส่วนแบบจำลอง Ocean มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและเร็วกว่า Mountain เพราะต้องตอบสนองการเติบโตที่รวดเร็วของเศรษฐกิจโลกด้วย และในแบบจำลอง Sky ต้องมีการผลักดันให้เปลี่ยนแปลงเร็วมากเพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนตามข้อตกลงปารีส โดยเมื่อดูในหลักการของข้อตกลงปารีสแล้ว เทคโนโลยีและเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้มีความเป็นไปได้ ที่สำคัญคือ ต้องมีการเปลี่ยน Mindset ซึ่งก็เริ่มเห็นบ้างแล้ว” ดร.โชกล่าว

กลุ่มเชลล์ตั้งเป้าลดคาร์บอน 20% ปี2025

ดร.โชกล่าวถึงการดำเนินการของกลุ่มเชลล์ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียสว่า ในระดับโลก Sky ได้แสดงให้เห็นถึงวิธีการที่จะบรรลุเป้าหมายที่ข้อตกลงปารีสกำหนดไว้ได้อย่างไร ไม่ใช่แค่เพิ่มขึ้นต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสเท่านั้น แต่เป็นต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสอย่างมาก และคำถามก็คือว่า หากมีประมาณการณ์อย่างนั้น ควรจะทำอย่างไร

“เราคิดและมองหาแนวทางว่า เราจะเป็นบริษัทพลังงานที่มีเป้าหมายไปในอนาคตสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างไร และมีคำถามมาตั้งแต่การทำแบบจำลอง Mountain และ Ocean ที่เราคาดการณ์การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของพลังงานที่เกิดขึ้น เป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ และเราจะใช้พลังงานตลอดศตวรรษอย่างไร สำหรับเชลล์ในระดับโลกมีการทำหลายด้าน เช่น มีการนำกลไกราคาคาร์บอน (carbon price mechanism) เข้ามาใช้ในการประเมินโครงการเป็นการภายในองค์กร รวมทั้งมาตรการอื่นที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยมีเป้าหมายที่จะลดลงให้ได้ 20% ภายในปี 2025 เพื่อให้มีการรับรู้ในสังคมรวมทั้งเป็นการปรับเปลี่ยนทัศนคติ”

“เป้าหมายสูงสุดเราต้องการที่จะยกระดับไปอยู่บนเส้นทางที่ในอีกหลายทศวรรษ สามารถนำพลังงานใหม่มาใช้ บนพื้นฐานที่ว่า เชลล์ในสายตาสังคมโลกจะเป็นบริษัทพลังงานแบบไหน ตัวอย่างเช่น ใน 40 ปีก่อน เชลล์เป็นบริษัทน้ำมัน ปัจจุบันเชลล์เป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซ ซึ่งจริงๆ แล้วผลิตก๊าซมากกว่าน้ำมัน ในอีก 40 ปีข้างหน้าเชลล์จะเป็น บริษัทพลังงานหมุนเวียนหรือ renewable ควบคู่กับก๊าซ ดังนั้น เชลล์จึงเคลื่อนตัวไปพร้อมกับช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป เชลล์เคลื่อนตัวไปข้างหน้าพร้อมๆ กับการเปลี่ยนผ่าน”

เมื่อเชลล์มองไปที่การเปลี่ยนผ่านของพลังงาน ได้เห็นตัวแปรต่างๆ มากมายในห่วงโซ่อุปทานของพลังงาน เช่น ไฟฟ้าที่ได้เปิดช่องให้พลังงานหมุนเวียนเริ่มเข้ามามีส่วนมากขึ้น ในห่วงโซ่อุปทานของพลังงานตั้งแต่กระบวนการการผลิตไปจนถึงผู้บริโภคมีตัวแปรที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก จึงต้องมองว่าในแต่ละส่วนนั้นเชลล์จะมีบทบาทอย่างไร

“ขณะนี้ความสนใจของเรามองในภาพกว้าง มองทุกส่วนว่ามีอะไรบ้างที่จะทำได้ และอะไรบ้างที่ทำแล้วจะเกิดผล เราก็จะประมวลอีกครั้ง ซึ่งในเชลล์เรามีส่วนงานพลังงานหมุนเวียนมีบุคลากรที่มีคุณภาพมีประสิทธิภาพ”

ดร.โชกล่าวถึงแนวทางการเข้าไปสู่พลังงานหมุนเวียนของเชลล์ว่า มีด้วยกัน 3 ข้อ ประกอบด้วย หนึ่ง แน่นอนว่าต้องมีการลงทุนในพลังงานใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาธุรกิจหลักเพื่อให้มีผลตอบแทน และสามารถมีเงินมาลงทุนในพลังงานใหม่ได้ เป็นการดำเนินการแบบคู่ขนาน สอง ประเมินทิศทางการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจพลังงาน นั่นคือที่มาของการทำแบบจำลอง เพื่อกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานในปัจจุบันไปสู่พลังงานที่ใช้เพื่ออนาคต และใช้จุดแข็งของเชลล์ในแต่ละส่วนที่แตกต่างกัน เช่น พลังงานชีวมวล ซึ่งเป็นส่วนที่เชลล์เชื่อว่าจะสามารถทำประโยชน์เพิ่มมูลค่าให้ได้ สาม ในส่วนการผลิตไฟฟ้าและห่วงโซ่อุปทานของพลังงาน ต้องดูว่าเชลล์จะเข้าไปมีบทบาทหรือส่วนร่วมตรงจุดไหน

“ดังนั้น เชลล์ต้องคิดว่าจุดไหนหรืออะไรที่จะลงทุน ที่ทำประโยชน์เพิ่มมูลค่า ในฐานะบริษัทพลังงานที่ผลิตให้ตรงกับพลังงานที่ต้องใช้ ซึ่งการดำเนินการตามแนวนี้มีหลายระยะด้วยกัน รวมทั้งต้องมีการประเมินสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อความยั่งยืนด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ทั้งหมดนี้คือพื้นฐานจำเป็นของแนวทางที่เชลล์ใช้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของพลังงานและเป็นบทบาทตลอดศตวรรษ”

นายอัษฎากล่าวเสริมว่า การที่เชลล์จะลงทุนรูปแบบใหม่ ขณะเดียวกันธุรกิจหลักก็ต้องมีกำไรมากพอที่จะมีเงินไปลงทุนในธุรกิจใหม่ซึ่งในช่วงแรกยังไม่มีผลกำไรกลับมา ในสิ่งที่ไปลงทุนต้องดูว่าสร้างคุณค่าได้ตรงไหน มีความสามารถสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นใน value chain ตรงไหนได้บ้าง ก็จะไปลงทุนในจุดที่มีความชำนาญมีประสบการณ์ สร้างคุณค่าได้

สิ่งที่ทำคือลดการปล่อยก๊าซในสิ่งทำอยู่ในกิจการลดผลกระทบที่สร้างขึ้นมาเอง โดยที่มีการทำหลายอย่างด้วยกัน เช่น การตีคาร์บอนไดออกไซด์ให้มีราคา เพราะหากมีราคา เมื่อมีทางเลือกต่างๆ ที่ประเทศหรือบริษัทจะไปลงทุนจะได้ต้นทุนที่แท้จริงของทางเลือกนั้นๆ ที่มีต้นทุนของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา

สำหรับในประเทศไทย นายอัษฎากล่าวว่า มองว่าการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดการขับเคลื่อน ที่สำคัญต้องมองตัวเองก่อนว่าจะทำอะไร แล้วเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะทำอะไรได้บ้าง เริ่มจากลงทุนในแผงโซลาร์ และที่บริษัทมีการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น น้ำมันดีเซล E20 ก็จะผลักดันให้ใช้กับรถขนส่งน้ำมัน เป็นพลังงานที่สะอาดมากขึ้น

การผลักดันให้ใช้พลังงานชีวมวลมากขึ้นเป็นเรื่องที่เชล์ต้องการจะเห็น ด้วยการใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์จากการไปลงทุนที่บราซิล สามารถช่วยผลักดันให้ราคาถูกลงได้ รวมทั้งต้องการเห็นการใช้พลังงานชีวมวลลดการสนับสนุนจากรัฐบาลลง นอกจากนี้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ มาทดสอบมาพัฒนาในการกลั่นเศษขยะเมืองให้เป็นน้ำมันสำเร็จรูปที่ใช้กันโดยทั่วไป ซึ่งอีกประมาณ 4-5 ปีน่าจะนำเข้ามาในไทยได้โดยมีพันธมิตรที่จะทำงานร่วมกัน

“แนวคิดให้คาร์บอนมีราคาช่วยกันคิดต่อได้ อยู่ที่การร่วมมือกันทุกฝ่าย ไม่ว่ารัฐบาล เอกชน สังคม”

ไทยหนุนพลังงานหมุนเวียนเป็น 30%

ด้าน ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงทิศทางในการพัฒนาพลังงานของไทยว่า การวางแผนที่เหมาะสมของภาครัฐและความร่วมมืออย่างเข้มแข็งกับภาคเอกชน ทำให้ที่ผ่านมาประเทศไทยมีความก้าวหน้าด้านพลังงานทดแทน และนับเป็นผู้นำด้านการใช้พลังงานทดแทนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอยู่ภายใต้นโยบายพลังงาน 4.0 ของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการบรรลุความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว ซึ่งรวมถึงการสร้างระบบพลังงานที่มั่นคงให้ทุกภาคส่วนในราคาที่เหมาะสมและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสังคมที่ยั่งยืนและเป็นธรรม

ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

“ขอขอบคุณกลุ่มบริษัท เชลล์ ประเทศไทย ที่ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ดร.โจ คง และผมมีความประทับใจมากในความจริงใจของกลุ่มบริษัท เชลล์ ประเทศไทย ที่ตั้งใจจะแบ่งปันและเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานในอนาคต ที่จะนำระบบพลังงานโลกไปสู่พลังงานที่ยั่งยืน และประทับใจเกี่ยวกับบทบาทของกลุ่มบริษัทเชลล์ในประเทศไทย วันนี้ผมเลยขอมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพลังงานที่ยั่งยืนในบริบทของประเทศไทยคืออะไร”

ดร.ศิริมีมุมมองที่สอดคล้องกับ ดร.โจว่า ไฟฟ้าจะเป็นพลังงานที่ความสำคัญเพิ่มขึ้น สัดส่วนความสำคัญสูงสุด 70-80% ของรูปแบบพลังงานที่จะใช้ในอนาคตเป็นพลังานไฟฟ้า ทั้งเพื่อการหุงต้ม การขับเครื่องยนต์ ส่วนพลังงานน้ำมัน ก็ยังมีเหลือบ้างในอีก 40-50 ปีข้างหน้า ส่วนสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนหรือ renewable โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานแสงอาทิตย์ จะมีสัดส่วนมาก 40-50% ขึ้นไป

อีกมุมมองหนึ่งที่สอดคล้องกับวาระ 2030 ของสหประชาชาติที่ว่าโลกในอนาคตที่ยั่งยืนราคาพลังงานจะต้องเป็นราคาที่ย่อมเยา ไม่แพง เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ และไม่เป็นภาระแก่ค่าครองชีพ ซึ่งเป็นเป้าหมายเดียวกันกับการผลักดันของรัฐบาล ราคาพลังงานไปในอนาคตจะต้องไม่แพง ไม่ว่าจะเป็นพลังงานหลัก พลังงานจากก๊าซ จากถ่านหิน พลังงานน้ำ หรือโซลาร์ ยกเว้นพลังงานขยะที่มีค่าเก็บขยะถูกมากและมีความจำเป็นจะต้องบำบัด กำจัดขยะนั้นอย่างเร่งด่วน เป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องกำจัดขยะที่สะสมมานาน 10-20 ปีจะต้องมีระบบที่เข้มแข็ง ดังนั้น ในช่วงต้นค่าการผลิตไฟฟ้าจากขยะเป็นการกำจัดที่ประสิทธิภาพสูงสุด ในช่วงของการกำจัดขยะค่าไฟฟ้าอาจจะมีราคาสูงอยู่บ้าง แต่จะเป็นราคาที่เท่าไร กระทรวงมหาดไทยกำลังศึกษา

“ไทยซึ่งเป็นผู้นำในอาเซียนในการใช้ชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า มีสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่นๆ ทั่วโลก 20-30% ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายนโยบายรัฐบาลที่จะเอาพลังงานหมุนเวียนให้เป็นสัดส่วนที่สูงจากปัจจุบัน 14% ซึ่งก็สูงอยู่แล้วในกลุ่มอาเซียนให้เป็น 30% ใน 20 ปีข้างหน้า ก็เป็นเป้าหมายที่จะเป็นไปได้”ดร.ศิริกล่าวว่า

สำหรับไทยได้ใช้พลังงานหมุนเวียนไม่เฉพาะผลิตไฟฟ้าอย่างเดียวแต่ยังรวมถึงการดูแลประชาชนฐานราก เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ช่วยให้ประชาชนในท้องถิ่นห่างไกลที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง เพื่อการสูบน้ำมาใช้ โดยในปีที่แล้วติดตั้งแผงโซลาร์ไปแล้ว 1,000 ชุดปีนี้จะติดตั้งเพิ่มอีก 5,000 ชุด เพื่อประโยชน์ของชุมชน นอกจากนี้ยังมีโครงการ Solar Dome เพื่อช่วยให้ชุมชนทำการแปรรูปสินค้าเกษตร เปิดช่องให้เกษตรกรเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรได้