ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > UNEP เปิดรายงาน Emission Gap จี้ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงปีละ 7.6% คุมอุณหภูมิโลกเพิ่มไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

UNEP เปิดรายงาน Emission Gap จี้ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงปีละ 7.6% คุมอุณหภูมิโลกเพิ่มไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

3 ธันวาคม 2019


การลงนามในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อปี 2015 มีเป้าหมายเพื่อให้ชาติต่างๆ ควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นมากไปกว่าปัจจุบัน รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการปรับตัวเพื่อต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาเพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก รววมทั้งให้การสนับสนุนทางการเงินอย่างมั่นคงต่อการลดก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดยุทธศาสตร์ 20:20:20 คือ การลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 20 การเพิ่มอัตราส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 20 และเพิ่มประสิทธิภาพร้อยละ 20 แต่มาตรการนี้ดูเหมือนว่าอาจไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากระดับก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บความร้อนในชั้นบรรยากาศสูงเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง

ความเข้มข้นของก๊าซเพิ่มขึ้นมาตลอดและไม่มีท่าทีจะลดลง

เลขาธิการใหญ่ประจำองค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization — WMO) นายเพตเทอริ ทาลาส (Petteri Taalas) กล่าวเตือนว่า “อนาคตความเป็นอยู่ของมนุษยชาติกำลังอยู่ในความเสี่ยง” เนื่องจาก “เราได้ทำลายสถิติของความเข้มข้นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกครั้งเพราะมีค่าสูงเกิน 400 ส่วนต่อล้านส่วน ซึ่งถือว่าเป็นระดับวิกฤติ”

นายเพตเทอริอ้างถึงความเข้มข้นคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2018 ซึ่งอยู่ที่ 407.8 ส่วนต่อล้านส่วน และเสริมว่า “ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ได้เกิน 400 ส่วนต่อล้านส่วนตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉพาะปีที่แล้วความเข้มข้นได้เพิ่มขึ้นเท่ากับค่าเฉลี่ยของช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา”

เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ปัจจุบันและช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมพบว่าเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2018 อยู่ที่ 407.8 ส่วนในล้านส่วน เพิ่มขึ้น 147% จากช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมในปี 1750

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะมีข้อตกลงปารีสออกมาแล้วก็ตาม ก๊าซเรือนกระจกที่มากที่สุดและสร้างปัญหามากที่สุดคือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากเป็นก๊าซที่ตกค้างอยู่ในบรรยากาศเป็นศตวรรษและจะตกค้างในมหาสมุทรในเวลาที่นานกว่า

คาร์บอนไดออกไซด์ยังเป็นตัวการสำคัญที่เพิ่มการสะท้อนกลับของรังสีซึ่งส่งผลต่อสภาพอากาศ โดยวารสาร Greenhouse Gas Bulletin ของ WMO ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 1990 ก๊าซเรือนกระจกที่ตกค้างนานนี้มีผลทำให้การสะท้อนกลับของรังสีเพิ่มขึ้นถึง 43% เพราะเป็นผลจากคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 80% จากข้อมูลขององค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration — NOAA) ที่อ้างอิงอยู่ในวารสารขององค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก

นอกจากคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ความเข้มข้นของมีเทนและไนตรัสออกไซด์ยังเพิ่มมากขึ้นในทศวรรษที่ผ่านมาจากข้อมูลของ Global Atmosphere Watch network

มีเทน (CH4) ก๊าซที่มีผลต่อการสะท้อนกลับของรังสี 17% โดยนายเพตเทอริกล่าวว่า มีเทนก็เพิ่มขึ้นจนทำลายสถิติใหม่เช่นกัน ความเข้มข้นสูงเป็นอันดับสองในรอบ 10 ปี โดยเพิ่มขึ้นมาที่ 1,869 ส่วนต่อล้านส่วน สูงขึ้นระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมมากกว่า 2.5 เท่า

ก๊าซมีเทนเกิดจากธรรมชาติ 40% เช่น ปลวกและพื้นที่ชื้น อีกส่วนเกิดจากมนุษย์ 60% ด้วยการเลี้ยงปศุสัตว์ การปลูกข้าว การฝังกลบ และการเผาชีวมวล

ความเข้มข้นของมีเทนในปี 2018 ได้ทำลายสถิติเก่าโดยเพิ่มขึ้นมาจากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 259% ทั้งนี้การเพิ่มของปี 2918 จากปี 2017 สูงกว่าการเพิ่มขึ้นของปี 2016 ถึง 2017 และมากกว่าค่าเฉลี่ยของทศวรรษที่ผ่านมา

ส่วนความเข้มข้นของไนตรัสออกไซด์ (N2O) ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยความเข้มข้นในปี 2018 อยู่ที่ 331.1 ส่วนในพันล้านส่วน คิดเป็น 123% จากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งการเพิ่มจากปี 2017 ถึง 2018 นี้ก็มากกว่าปี 2016 ถึง 2017 และมากกว่าค่าเฉลี่ยของทศวรรษที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน

ไนตรัสออกไซด์เป็นก๊าซที่มีผลทำลายบรรยากาศชั้น Stratoshpere เป็นหลัก ซึ่งชั้นบรรยากาศนี้ช่วยสะท้อนกลับรังสีอัลตราไวโอเลตที่อันตราย ไนตรัสออกไซด์มีผลในการสะท้อนรังสีกลับ 6% ก๊าซนี้ส่วนใหญ่เกิดจากธรรมชาติประมาณ 60% และจากมนุษย์ 40% มีที่มาจากหลายแหล่งรวมถึงมหาสมุทร ดิน การเผาชีวมวล การใช้ปุ๋ย และอุตสาหกรรม

นายเพตเทอริได้กล่าวถึงความน่ากลัวของระดับความเข้มข้นของแก๊สเรือนกระจกในปัจจุบันไว้ว่า “ครั้งสุดท้ายที่โลกมีความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดนี้คือช่วง 3-5 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งช่วงนั้นอุณหภูมิโลกสูงกว่านี้ 2-3 องศาเซลเซียส และระดับน้ำทะเลสูงกว่าปัจจุบัน 10-20 เมตร”

หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างทันท่วงทีโลกจะเข้าสู่วิกฤติ

จากสถานการณ์ที่แย่ลงนี้นายเพตเทอริกล่าวว่า “ไม่มีสัญญาณว่าความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกจะชะลอลง มีแต่การทรุดลงเท่านั้น แม้ว่าจะมีการลงนามในข้อตกลงปารีสแล้วก็ตาม ดังนั้นจึงต้องนำข้อตกลงมาปฏิบัติและเพิ่มความมุ่งมั่นเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษยชาติ”

มีการคาดการณ์ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี้จะแตะระดับสูงสุดในปี 2020 ไม่ใช่ปี 2030 หากเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่แต่ละประเทศกำหนดเองตามความเหมาะสม หรือ National Determined Contributions (NDCs) ยังอยู่ในระดับปัจจุบัน

นายเพตเทอริกล่าวว่า การแก้ไขปัญหานี้ทางหนึ่งคือส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก ปัจจุบันการใช้พลังงานของโลก 85% มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ มีการใช้พลังงานนิวเคลียร์ พลังน้ำ และพลังงานหมุนเวียนเพียง 15% เท่านั้น และหากต้องการให้บรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส สัดส่วนการใช้พลังงานเหล่านี้ต้องกลับข้างกันภายใน 10 ปี

รายงานของ United in Science ซึ่งได้จากการรวบรวมขององค์กรพันธมิตรในงานเกี่ยวกับการวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเป้าหมายที่ตั้งไว้เพื่อต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนกับความจริงที่เป็นอยู่ นางสาวอิงเก แอนเดอร์เซน ผู้อำนวยการบริหารของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า “เราพบกับทางเลือกที่ยากคือการเตรียมการเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงที่เราต้องการตอนนี้ หรือรับกับผลที่โลกจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ” นางสาวอิงเกเสริมว่า “การค้นพบของวารสารองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก และรายงานช่องว่างของการปล่อยก๊าซของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ได้ชี้ให้เห็นถึงแนวทางที่ชัดเจนว่าในช่วงเวลาวิกฤตินี้โลกจะต้องมีการกระทำที่แน่วแน่และเข้มแข็งขึ้นในการปล่อยก๊าซ”

ความเปลี่ยนแปลงจะไม่สำเร็จหากประเทศมหาอำนาจไม่ร่วมมือกัน

นายเพตเทอริเน้นย้ำว่า สังคมโลกจำเป็นที่จะต้องเข้ามาร่วมแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี้เนื่องจาก “สหรัฐอเมริกาและยุโรปไม่ได้เป็นผู้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดอีกต่อไปแล้ว ในขณะนี้จีนเป็นผู้ปล่อยก๊าซอันดับหนึ่งของโลก และกลุ่มประเทศนอก OECD ก็ปล่อยก๊าซมากขึ้นอย่างมากเช่นกัน” ดังนั้น มุมมองและกลยุทธร่วมกันของสังคมโลกเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะแก้ปัญหานี้ ซึ่งปัญหานี้ต้องเป็นการร่วมของกันของภาครัฐและเอกชน

ที่มาภาพ: Emission Gap Report 2019

ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme — UNEP) ได้เผยแพร่รายงาน Emissions Gap Report 2019 ซึ่งเป็นรายงานฉบับที่ 10 สรุปผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ของสภาวะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบันรวมทั้งประเมินแนวโน้มในอนาคต และเปรียบเทียบสิ่งเหล่านี้กับระดับการปล่อยก๊าซที่โลกจะคงอยู่ต่อไปได้โดยที่มีต้นทุนน้อยที่สุดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีส

รายงานฉบับนี้เป็นฉบับครบรอบ 10 ปี ซึ่งได้นำเสนอรายงานสรุปย่อผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรอบทศวรรษที่ผ่านมาต่อที่ประชุม Climate Action Summit ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า ประเทศจำนวนมากไม่สามารถหยุดยั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ซึ่งหมายความว่า โลกจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เร็วและลดให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในรายงานยังมีข้อมูลอื่นที่แสดงให้เห็นถึงการดำเนินการในหลายด้านของอีกหลายประเทศ รวมทั้งรัฐให้ความสำคัญ ประชาชนหลายกลุ่มก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่าประเด็นเหล่านี้มีความสำคัญสูงสุด อีกทั้งได้มีการปรับปรุงเทคโนโลยีให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็วและมีต้นทุนต่ำลง

ที่ประชุม Climate Change Summit มีเป้าหมายที่จะกระตุ้นประเทศภาคีสมาชิกให้ดำเนินการตามแผน NDC ภายในปี 2020 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050 ซึ่งเมื่อการประชุมเสร็จสิ้นที่ประชุมได้เผยแพร่ข่าวว่า มี 70 ประเทศที่ประกาศจะนำเสนอแผน NDC สำหรับเป้าหมายปี 2020 ซึ่งในจำนวนนี้มี 65 ประเทศและเขตเศรษฐกิจพิเศษให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050

นอกจากนี้ บริษัทเอกชน สถาบันการเงิน และเมืองใหญ่จำนวนมาก ได้ประกาศมาตรการดำเนินการที่ชัดเจนเพื่อลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และขับเคลื่อนการลงทุนในเทคโนโลยีที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ

ต้องลดการปล่อยก๊าซลงปีละ 7.6% เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส

รายงาน Emissions Gap Report ระบุว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นปีละ 1.5% มีเพียงปี 2014-2016 เท่านั้นที่ทรงตัว ส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 55.3 กิกะตันคาร์บอนเทียบเท่า สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2018 ส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในการใช้พลังงานและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นถึง 37.5 กิกะตันคาร์บอนเทียบเท่าต่อปี หรือมีส่วนทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2018 เพิ่มขึ้น 2%

รายงานระบุอีกว่า ยังไม่มีสัญญานที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะแตะระดับสูงสุด ซึ่งหมายความว่าจะต้องลดการปล่อยก๊าซให้เร็วขึ้นและลดให้มากขึ้น โดยภายในปี 2030 การปล่อยก๊าซจะต้องต่ำกว่าปี 2018 ถึง 25% เพื่อให้โลกรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และการปล่อยก๊าซจะต้องต่ำกว่าปี 2018 ถึง 55% เพื่อให้โลกรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส โดยที่มีต้นทุนต่ำที่สุด

กลุ่มประเทศ G20 มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันสูงถึง 78% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก มีเพียง 5 ประเทศที่ประกาศความชัดเจนเรื่องเงื่อนเวลาในการที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050 ซึ่ง 2-3 ประเทศที่ได้นำเสนอยุทธศาสตร์ระยะยาวต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change — UNFCCC)

แต่อีก 15 ประเทศไม่ได้ให้กรอบเวลาที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ แม้โดยรวมแล้วทั้งกลุ่มใกล้จะบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับประเทศปี 2020 ตามเจตจำนงที่ได้ให้ต่อข้อตกลงแคนคูน แต่มี 7 ประเทศยังไม่ใกล้เป้าหมายปี 2030 ตามแแผน NDC และมี 3 ประเทศที่ยังไม่สามารถกำหนดลงไปได้

จำนวนประเทศภาคีที่ประกาศเป้าหมายว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050 ได้เพิ่มขึ้น แต่มีเพียงไม่กี่ประเทศที่นอกจากนำเสนอยุทธศาสตร์ระยะยาวต่อ UNFCC แล้วยังให้คำมั่นว่าจะดำเนินการลดการปล่อยก๊าซตามกรอบระยะเวลาที่ให้ไว้ด้วย และที่สำคัญ ประเทศเหล่านี้ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มประเทศ G20

รายงานเตือนว่าในช่วงปี 2020-2030 จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงปีละ 7.6% มิฉะนั้นเป้าหมายการรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีสจะพลาดเป้า

รายงานระบุอีกว่า แม้มีการดำเนินการตามเจตจำนงปัจจุบันที่ไม่มีเงื่อนไขผูกมัดภายใต้ข้อตกลงปารีส อุณหภูมิโลกก็ยังจะเพิ่มขึ้น 3.2 องศาเซลเซียสอย่างแน่นอนในศตวรรษนี้ และจะมีผลกระทบในวงกว้างและสร้างความเสียหายรุนแรงกว่าเดิม เพราะอุณหภูมิโลกได้เพิ่มขึ้นแล้ว 1.1 องศาเซลเซียส

ขณะนี้เทคโนโลยี นโยบาย ความรู้ มีพร้อมที่จะลดการปล่อยก๊าซ แต่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนี้ ต้องตั้งเป้าหมายร่วมกันให้มากขึ้นกว่า 5 เท่าในการจะลดการปล่อยก๊าซลง เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกในอีก 10 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส

ปี 2020 เป็นปีสำคัญในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะการประชุม Climate Change ที่กลาสโกว์มีเป้าหมายที่จะกำหนดแนวทางในอนาคตที่จะลดวิกฤติ และประเทศภาคีสมาชิกจะต้องดำเนินการครั้งสำคัญเพื่อให้คำมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ตลอดระยะเวลา 10 ปี รายงาน Emissions Gap ได้เตือนมาต่อเนื่อง และทั้ง 10 ปีนี้โลกก็ปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีการให้ความสำคัญกับผลการศึกษาที่มีข้อมูลชัดเจน และการที่ไม่ฟังคำเตือนนี้รวมทั้งไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว เราก็จะเผชิญกับภัยพิบัติที่รายแรงกระทบต่อชีวิต ทั้งคลื่นความร้อน พายุ และมลพิษ” นายแอนโตนิโอ กัวร์เตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าว

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change — IPCC) ได้เตือนว่า อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส จะทำให้ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น

“ความล้มเหลวของทุกฝ่ายที่ไม่ได้ร่วมกันดำเนินการให้เร็วกว่านี้และดำเนินการให้มากพอต่อการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หมายถึงว่า เราต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากขึ้น มากกว่า 7% ต่อปี ตลอดอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประเทศภาคีสมาชิกไม่สามารถรอได้ไปจนถึงสิ้นปี 2020 เมื่อมีการทำข้อตกลงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ แต่จะต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ รวมทั้งการดำเนินการระดับเมือง ภูมิภาค ภาคธุรกิจ และประชาชนทั่วไป” นางสาวอิงเก แอนเดอร์เซน ผู้อำนวยการบริหารของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กล่าว

“เราต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในปี 2020 จากนั้นก็เริ่มดำเนินการตามเป้าหมายระดับประเทศที่เข้มข้นกว่าเพื่อเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ เราต้องเร่งมือให้ทันกับปีที่เราเลื่อนออกไป และหากไม่ทำแบบนี้เป้าหมายการรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีสไม่มีทางเป็นไปได้” นางสาวอิงเกกล่าว

ในระยะสั้น ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เร็วกว่าประเทศกำลังพัฒนา เพื่อความเป็นธรรมและความเสมอภาค อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศต้องมีส่วนร่วมและร่วมมือกันมากขึ้น ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเรียนรู้จากประเทศพัฒนาแล้ว และสามารถนำเทคโนโลยีที่ไม่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ได้เร็วกว่าอีกด้วย

ที่สำคัญ รายงานเตือนว่า ทุกประเทศจะต้องเพิ่มเป้าหมายในแผน NDC สำหรับปี 2020 พร้อมจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ และวิธีการมีให้เลือกใช้มากมาย เพียงแต่ไม่ได้นำมาใช้ให้เร็วพอหรือใช้มากพอ

เพื่อรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส การปล่อยก๊าซเรือนกระจกปี 2030 จะต้องน้อยกว่าเป้าหมายตามแผน NDC ในปริมาณ 15 กิกะตันคาร์บอนเทียบเท่า และเพื่อรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส การปล่อยก๊าซเรือนกระจกปี 2030 จะต้องน้อยกว่าเป้าหมายตามแผน NDC ในปริมาณ 32 กิกะตันคาร์บอนเทียบเท่า ซึ่งหมายความว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่ละปีในช่วง 2020-2030 ต้องลดลง 7.6% เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสตามเป้า และต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่ละปีในช่วง 2020-2030 ลง 2.7% เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียสตามเป้าหมาย

เพื่อให้ได้ผลตามแนวทางนี้ ก็จะต้องเพิ่มเป้าหมายในแผน NDC อย่างน้อย 5 เท่าสำหรับเป้าหมายไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศา และต้องเพิ่มเป้าหมายในแผน NDC ถึง 3 เท่าสำหรับเป้าหมายไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส

รายงานระบุว่า การรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสยังสามารถทำได้ เพราะปัจจุบันมีความรู้ความเข้าใจถึงผลกระทบทางบวกมากขึ้น เช่น การมีอากาศที่ดี และเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งรัฐบาล เมืองของหลายประเทศ ภาคธุรกิจ และนักลงทุนเพิ่มความพยายาม และแนวทางจัดการมีหลากหลาย

เลขายูเอ็นเรียกร้องภาคีสมาชิกทบทวนแผน


ทางด้านนายแอนโตนิโอ กัวร์เตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวใน การประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 25 (25th Conference of the Parties of United Nations Framework Climate Change Convention) หรือ COP 25 ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 2-13 ธันวาคม 2562 ที่เมืองแมดริด ประเทศสเปนว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเห็นได้ชัดมากขึ้นและรุนแรงขึ้น ดังนั้น ที่ประชุม COP 25 จะต้องชักจูงให้โลกมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะแก้ไขปัญหานี้ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050

นายแอนโตนิโอกล่าวว่า เป้าหมายหลักของการประชุม COP25 คือ ผลักดันการดำเนินการแต่ละด้านให้มีความคืบหน้า โดยเฉพาะมาตรา 6
ภายใต้ข้อตกลงปารีสที่เกี่ยวข้องกับตลาดคาร์บอนและการเตรียมการสำหรับการทบทวนแผน NDC และการจัดทำแผน NDC ฉบับใหม่ในปีหน้า

“การกำหนดราคาคาร์บอนมีความสำคัญ เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก และเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การดำเนินการตามมาตรา 6 จะช่วยให้มีการจัดตั้งตลาด ระดมภาคเอกชน และมีกฎกติกาเดียวกันสำหรับทุกคน” นายแอนโตนิโอกล่าว

นอกจากนี้ยังหวังว่ารัฐบาลภาคีสมาชิกจะทบทวนแผน NDC ซึ่งมีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วนภายใน 12 เดือนก่อนการประชุม COP 26 ที่กำหนดให้รัฐบาลภาคีสมาชิกต้องนำเสนอแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ

การประชุม COP 25 จัดขึ้นที่กรุงแมดริด ประเทศสเปน โดยมีแคโรลินา ชมิดต์ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศชิลี เป็นประธานการประชุม COP 25