วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ในช่วงเวลาก่อน 9.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศมวลชนรอต้อนรับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นไปอย่างคึกคัก พร้อมกันนี้ยังมีนักการเมือง จากพรรคเพื่อไทย มารอต้อนรับนายทักษิณ ชินวัตรด้วยเช่นกัน อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายพิชัย นริศพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองของพรรคเพื่อไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ,นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แกนนำจัดตั้งรัฐบาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน สส.พรรคเพื่อไทย ยังมีนายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา บอกว่าไม่มีอะไรวันนี้เหมือนมารับผู้ใหญ่ ขณะที่ วานนี้ ‘นายเนวิน ชิดชอบ’ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ด ได้นั่งรถส่วนตัวมาที่อาคาร MJETS จุดที่เตรียมพร้อมรับตัวนายทักษิณ ในช่วงที่หลายหน่วยงานตรวจความพร้อมพื้นที่ด้วยเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศก่อน ‘ทักษิณ ชินวัตร’ แลนดิ้ง ว่าบริเวณอาคาร MJETS มีกลุ่มประชาชนคนเสื้อแดงทั่วประเทศ ได้เดินทางทั้งรถบัส รถตู้ รถยนต์ส่วนตัว พร้อมป้ายต้อนรับบริเวณสนามบินดอนเมือง บรรยายกาศเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ยินดีกับการกลับมาของนายทักษิณ ชินวัตร หลังจากใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ 17 ปี
เริ่มเปิดลงทะเบียนสื่อมวลชน จุดที่ 1 เวลา 6.00 น. ให้สื่อมวลชนลงทะเบียนได้เฉพาะที่ลงทะเบียนผ่าน QR Code เท่านั้น จากนั้นก็เดินทางไปยังอาคารผู้โดยสารอากาศยานส่วนบุคคล private jet terminal ระหว่างทางมีกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนมากมายืนต้อนรับ พร้อมแจกจ่ายอาหารและเครื่องดื่มให้กับผู้ที่มาต้อนรับนายทักษิณ
จากนั้นมาถึงจุดตรวจที่ 2 มีการตรวจค้นอาวุธ มารวมกันอยู่บริเวณหน้าอาคาร MJETS เพื่อจะผ่านด่านที่ 3 ให้เข้าเฉพาะช่างภาพ กับบุคคล VIP จุดที่ 3 มีเจ้าหน้าที่ยื่นแจกบัตรสัญญลักษณ์ S ให้ช่างภาพเข้าก่อน แต่จำนวนบัตรไม่เพียงพอ มีสื่อมวลชนเป็นจำนวนมากไม่สามารถเข้าพื้นที่หน้าอาคารได้ มีคำถามว่าทำไมจำนวนบัตรไม่เพียงพอกับจำนวนสื่อที่ลงทะเบียนผ่าน QR Code
แต่อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าเวลา 7.30 น. ระบบ APPS มีชื่อผู้โดยสาร ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เดินทางมาแน่ๆ
หลังเครื่องบินลงจอด ณ อาคาร MJETS สนามบินดอนเมือง ต่อมาเวลา 09.23 น. นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้กลับเหยียบแผ่นดินไทยอีกครั้ง ได้เดินออกจากประตูมากับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร พร้อมด้วยนางสาวพินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ และนายพานทองแท้ ชินวัตร และได้ก้มกราบพระบรมฉายาลักษณ์ ร.10 จากนั้นได้เดินไปทักทายแกนนำและ ส.ส.พรรคเพื่อไทย พร้อมโบกมือทักทายมวลชนที่มารอต้อนรับ ท่ามกลางเสียงตะโกนเรียกชื่อ “ทักษิณ”
……
วันเดียวกัน เวลา 10.40 น.ที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ต.อ.คมวุฒิ จองบุญวัฒนา ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานกรุงเทพ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 ได้นำบุคคลตามหมายจับมาส่งต่อศาล
ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้ง 3 คดียืนยันว่า บุคคลที่อยู่ต่อหน้าศาลเป็นจำเลยหรือจำเลยที่ 1 ในคดีทั้งสามคดี โดยจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นจำเลยในคดีทั้งสามคดี
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตรวจสอบบุคคลที่อยู่ต่อหน้าศาลแล้ว เป็นจำเลยหรือจำเลยที่ 1 ในคดีทั้ง 3 คดี ดังนี้
1.คดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 ระหว่างคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน โจทก์ พ.ต.ท.ทักษิณหรือนายทักษิณ ชินวัตร จำเลย
2. คดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 ระหว่าง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ พ.ต.ท.ทักษิณหรือนายทักษิณ ชินวัตร ที่ 1 กับพวกรวม 47 คน จำเลย
3. คดีหมายเลขดำที่ อม. 9/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/2551 ของศาลนี้ ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ พ.ต.ท.ทักษิณหรือนายทักษิณ ชินวัตร จำเลย
จึงรับตัวจำเลยหรือจำเลยที่ 1 ในคดีทั้งสามคดีดังกล่าวไว้
ศาลได้แจ้งให้จำเลยหรือจำเลยที่ 1 ทราบคำพิพากษาแล้ว โดยคดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 ลงโทษจำคุก 3 ปี คดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 ลงโทษจำคุก 2 ปี คำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม. 9/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/2551 ลงโทษจำคุกรวม 5 ปี
นับโทษจำคุกของจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 และต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 โดยศาลออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดในแต่ละคดีแล้ว
ทั้งนี้การนับโทษต่อคดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 เเละคดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 ศาลฎีกาฯนักการเมืองไม่ได้ให้นับโทษต่อ (คดีที่ 1 = 3 ปี , คดีที่ 2 = 2 ปี นับโทษซ้อนกัน ) เเต่ให้นับโทษต่อคดีหมายเลขดำที่ อม. 9/2551 รวมจำคุก 3 คดี เป็นเวลา 8 ปี
…………
กรมราชทัณฑ์ร่วมแถลงรับ “ทักษิณ”ตรวจเบื้องต้นพบโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ปอดอักเสบเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง ภาวะกระดูกสันหลังเสื่อมในหลายระดับ การกดทับเส้นประสาทส่งผลให้มีอาการปวดเรื้อรัง การเดินการทรงตัวผิดปกติ ชี้เป็นกลุ่มเปราะบางต้องดูแลพิเศษ นอนเดี่ยว รพ.ราชทัณฑ์ ระบุยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้เลย คาดอาจจะใช้เวลา1-2เดือน
วันเดียวกันเวลา 13.00 น. นายสหการณ์ เพชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม, นายอายุตม์ สินธพพันธ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์, นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์และในฐานะโฆษกกรมราชทัณฑ์, นายนัสที ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำ และนายแพทย์วัฒน์ขัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาล ราชทัณฑ์ แถลงข่าว
นานอายุตม์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการตามที่มาตรการหรือนโยบายที่ผู้บังคับบัญชาได้มอบไว้ 3 ประการ กล่าวคือ
1. กรมราชทัณฑ์โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพ มีผู้ต้องขังหลายคนจึงต้องดูเรื่องความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นอยู่อาหารน้ำดื่มและการเยี่ยมผู้ต้องหาต่างๆ
2. เนื่องจากนายทักษิณมีครอบครัวและมีเพื่อนรวมถึงองค์กรต่างๆที่อาจจะมาขอเยี่ยมไปจำนวนมากทางเรือนจำต้องจัดสถานที่ให้เพียงพอสำหรับการเยี่ยมต่าง ๆ ให้เรียบร้อยซึ่งตนได้มอบนโยบายให้กับผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพเรียบร้อยแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนซึ่งปกติแล้วเราจะจัดการเยี่ยมตามแดนต่างๆ เรื่องของการเยี่ยมคงจะต้องอะลุ่มอล่วย ซึ่งเตรียมห้องเยี่ยมไว้พร้อมแล้ว
ประการที่ 3 เนื่องจากนายทักษิณเป็นผู้สูงอายุมีอายุ 74 ปี “เรือนจำต้องดูเรื่องสุขภาพอนามัยของตัวท่านเป็นหลัก” เพื่อไม่ให้เกิดความเจ็บป่วยขึ้นมาในเรือนจำ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ยากมาก ในระหว่างที่อยู่ในเรือนจำจะมีปัญหามาก
“3 ประการนี้ทางกรมราชทัณฑ์ได้รับตัวอดีตนายกฯทักษิณเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ที่ศาลมาอยู๋ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและได้ทำประวัติตรวจสุขภาพเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ก็อยู่ในความดูแลของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ”
นายสิทธิ โฆษกกรมราชทัณฑ์กล่าวว่า วันนี้ทางกรมราชทัณฑ์โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้รับตัวนายทักษิณ ชินวัตร ไว้ตามหมายของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้เรียบร้อยแล้ว และได้ดำเนินการตามมาตรการในการรับตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่
“โดยได้มีการจัดทำทะเบียนประวัติและให้แพทย์ตรวจสุขภาพโดยแพทย์ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์พบว่าท่านอยู่ในกลุ่มเปาะบางเพราะมีอายุเกิน 60 ปีซึ่งปัจจุบัน 74 ปีแล้ว เมื่อดูจากประวัติทางการรักษาที่ผ่านมาประกอบกับผลการตรวจของแพทย์ในเบื้องต้นพบว่าท่านมีโรคประจำตัวที่จะต้องเฝ้าระวังและทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะต้องมีการตรวจติดตามโดยแพทย์เฉพาะทาง ในเบื้องต้นทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพ มหานครได้แยกการคุมขังไว้ที่แดน 7 ซึ่งเป็นสถานพยาบาลของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเพื่อความปลอดภัยจึงแยกคุมขังท่านไว้คนเดียวโดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง”
นายแพทย์วัฒน์ชัย ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงบาลราชทัณฑ์ กล่าวว่าเราได้จัดทีมแพทย์และสหวิชาชีพเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ขอเรียนให้ทราบถึงข้อมูลโดยสังเขปว่านายทักษิณมีโรคที่ต้องเฝ้าระวังดังนี้
1. มีประวัติโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและอยู่ในระหว่างการติดตามการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางใกล้ชิดโดยรับประทานยาละลายลิ่มเลือด อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันแต่ยังไม่ได้มีการทำบอลลูน
2. เคยมีปัญหาปอดอักเสบรุนแรง จากการติดเชื้อไวรัสโควิดทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบเรื้อรังแม้จะหายแล้วแต่ก็มีพังผืดในปอดส่งผลทำให้มีความผิดปกติอย่างต่อเนื่องในการดูดซับออกซิเจนจึงมีอาการเหนื่อยง่าย ทั้งสองส่วนนี้ทั้งโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและปอดอักเสบรุนแรงถือว่าจำเป็นเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังและต้องได้รับการดูแลโดยบุคลากรทางด้านการแพทย์เพื่อประเมินว่าอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
3. มีความดันโลหิตสูงซึ่งอยู่ในระหว่างการควบคุมรักษาโดยการรับประทานยาซึ่งการตรวจเบื้องต้นในวันนี้ ก็พบว่ามีความดันโลหิตผิดปกติอยู่
4. เป็นโรคภาวะเสื่อมตามอายุคือมีภาวะกระดูกสันหลังเสื่อมในหลายระดับและเมื่อใช้เอ็มอาร์ไอ สแกนพบว่ามีการกดทับเส้นประสาทส่งผลให้มีอาการปวดเรื้อรัง การเดินการทรงตัวผิดปกติ จากประวัติข้อมูลในเบื้องต้นที่เราได้รับและการตรวจร่างกายโดยทีมแพทย์เราเห็นว่านายทักษิณอยู่ในภาวะกลุ่มเปาะบาง ซึ่งตามแนวปฏิบัติของเรือนจำทั่วประเทศ ผู้บริหารของกรมราชทัณฑ์มีนโยบายต่อผู้ต้องขังในกลุ่มเปาะบางจำเป็นจะต้องอยู่ในพื้นที่เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัยและในกรณีที่มีความเจ็บป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที
ด้วนนายนัสที ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “แนวปฏิบัติกับผู้ต้องขังช่วงที่อยู่ในเรือนจำ จะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นความเป็นอยู่ ในทุก ๆเรื่องนั้น ในส่วนของแนวปฏิบัติของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเมื่อมีการรับตัวเราก็มีการจำแนกเข้าไปอยู่ในแดนควบคุมดูแลตามลักษณะของผู้ต้องขัง กรณีที่ผู้ต้องขังอยู่ในกลุ่มเปาะบางเราก็มีระเบียบของกรมราชทัณฑ์จะต้องอยู่ในแดนเฝ้าระมัดระวังด้านรักษาความปลอดภัยจึงจัดให้อยู่ในทัณฑสถานพยาบาล และจัดเจ้าหน้าที่ทีมงานดูแลเรื่องความปลอดภัย สำหรับกิจกรรมอื่น ๆ ก็จะเป็นเช่นเดียวกับผู้ต้องขังอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับประทานอาหาร การทำภารกิจต่างๆ และสิทธิอื่นๆที่จะต้องดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพบทนายตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งผู้ต้องขังทุกคนมีสิทสามารถพบกับทนายความได้ในเวลาราชการและการเยี่ยมของญาติพี่น้องก็เป็นไปตามระเบียบ ถ้าเป็นช่วงที่มีโควิดระบาดหรือเฝ้าระวังด้วยโรคระบาดต่างๆ ก็จะใช้แอพพลิเคชั่น LINE การเยี่ยมญาติโดยระบบอื่นๆไม่ว่าจะเป็นการเดินวอล์คอินเข้ามาเยี่ยมที่เรือนจำหรือใช้ระบบ conference ต่างๆผู้เกี่ยวข้องที่มีสิทธิ์ก็สามารถลงทะเบียนตามระเบียบของเรือนจำ”
ผู้สื่อข่าวถามว่าโรคประจำตัของนายทักษิณทางทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีแพทย์เฉพาะทางเตรียมไว้รักษาหรือไม่ นายสิทธิ ตอบว่าประเด็นนี้คงต้องตรวจสอบ โดยละเอียดอีกครั้ง เนื่องจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์จะมีแพทย์อยู่ไม่ครบทุกประเภท ถ้าเป็นเฉพาะทางโดยเฉพาะโรคหัวใจหรือต้องทำการเอ็มอาร์ไอ เรายังไม่มีเครื่องมือ ก็ต้องตรวจร่างกายละเอียดอีกครั้ง
“นะตอนนี้ยังไม่มีการตรวจสอบร่างกายอย่างละเอียด”
ด้านอธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวว่า “ทางเรือนจำให้เกียรตินายทักษิณซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีไม่ต้องเปลี่ยนใส่ชุดนักโทษ ใส่เสื้อสีขาวเดินเข้าไปประตูสองผ่านประตูสามแล้วเข้าไปในจุดที่ต้องสอบประวัติซึ่งใช้เวลาไม่นานนัก โดยการพิมพ์ลายนิ้วมือและถ่ายภาพ อาการของท่านก็ปกติดีทุกอย่าง ไม่มีสีหน้าวิตกกังวลใดใดและท่านก็ไม่ได้ร้องขออะไร”
นพ.วัฒน์ชัย กล่าวว่า ในการตรวจร่างกายท่านเบื้องต้นท่านยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่การเดินความถนัดในการทรงตัวอาจจะลดลงตามอายุ คือในการตรวจร่างกายโดยทีมแพทย์เราพบว่ากล้ามเนื้อบางมัดของท่านที่ตรวจจากเอ็มอาร์ไอ มีการกดทับเส้นประสาททำให้มีการอ่อนแรงไปบางส่วนแต่ function ในการอุ้มหรือยกของยังสามารถดำเนินการได้
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า เรื่องการตัดผมการแต่งกายของนายทักษิณต้องเป็นไปตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์หรือไม่ นายอายุตม์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า “อันนี้ก็อยู่ในแนวนโยบายข้อที่สองเรื่องของการผ่อนปรนบางอย่างอ่ะลุ่มอ่ะรวย เรื่องการตัดผม ท่านก็ตัดผมแบบรองทรงอยู่แล้วยังไม่ยาว แต่ถ้ายาวทางเดินจำเขาก็ตัดตามระเบียบ แต่ก็ไม่ถึงขนาดต้องกร้อนผมเหมือนนักโทษทั่วไป ไม่ใช่นะ ควรต้องดูท่านเป็นผู้ใหญ่ด้วยเป็นผู้สูงอายุอยู่ในกลุ่ม 608 ที่เราต้องดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งท่านจะอยู่ในห้องในอาคารสถานพยาบาลเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ซึ่งได้จัดไว้ให้ท่านอยู่คนเดียวไม่ปะปนกับผู้ต้องขังอื่น เนื่องจากท่านมีอายุสูงแล้วแล้วก็มีหลายโรคด้วย ซึ่งต้องดูเรื่องความปลอดภัยของท่านด้วยตามมาตรการที่ 1 ถ้าไปรวมอยู่กับผู้ต้องขังในแดนต่างๆท่านคงไม่ปลอดภัยท่านคงจะต้องอยู่เดียว”
นายสิทธิ โฆษกกรมราชทัณฑ์กล่าวว่าในเบื้องต้นตามมาตรการกักตัวของกรมราชทัณฑ์จะต้องกักตัวก่อน 10 วัน โดยห้าวันแรกจะเป็นการสกัดแบบเข้มข้นอยู่แต่ในห้อง ในช่วงนี้ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยม จะเป็นเฉพาะทนายความตามกฏหมายเท่านั้น ส่วนห้าวันหลังจะเป็นการผ่อนผ่อนออกไปอยู่ในห้องที่เรียกว่าบับเบิ้ลโซน ตรงนี้ก็จะอนุญาตให้เยี่ยมได้แต่ผ่านแอพพลิเคชั่น LINE จากนั้นญาติพี่น้องและผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าเยี่ยมได้หลังจากผ่าน 10 วัน ไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามถึงการขอพระราชทานอภัยโทษ นับจากวันนี้เป็นต้นไปสามารถดำเนินการได้เลยหรือไม่ นายสิทธิ กล่าวว่าตามที่รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เคยให้ข่าวไปแล้วว่าตั้งแต่วันนี้ผู้ต้องขังสามารถทำเรื่องยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้เลยตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาในเรือนจำ ส่วนขั้นตอนกระบวนการก็อยู่ที่ว่าเอกสารพร้อมหรือไม่ โดยปกติตัวผู้ต้องขังเองหรือญาติเป็นคนยื่นเอกสารทั้งหมดให้ทางเรือนจำ ทางเรือนจำมีคณะกรรมการพิจารณา และส่งไปยังกรมราชทัณฑ์กรมราชทัณฑ์ จากนั้นส่งต่อไปที่กระทรวงยุติธรรมและเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีลงนามซึ่งทางกรมราชทัณฑ์พร้อมหากผู้เกี่ยวข้องมายื่นเอกสาร
“การพระราชทานอภัยโทษมีสองประเภท คือเป็นการเฉพาะรายกับเป็นการทั่วไป ซึ่งการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป ขึ้นอยู่กับในวโรกาสต่างๆ หรืออาจจะมีพระบารมราชวินิจฉัย แต่กรณีของนายทักษิณนี้จะเป็นการยื่นเฉพาะรายหรือเฉพาะตัวบุคคล คาดว่าจะใช้เวลาประมาณหนึ่งถึงสองเดือนส่วนใหญ่จะช้าที่การยื่นเอกสารไม่ครบ เพราะมีเอกสารประกอบเป็นจำนวนมาก”