ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > ‘ชัยธวัช’ ชี้ไม่เห็นชอบรัฐบาลผสมข้ามขั้ว ต่อลมหายใจระบอบ คสช.- ‘ก้าวไกล’ เดินหน้าเป็นฝ่ายค้านเชิงรุก

‘ชัยธวัช’ ชี้ไม่เห็นชอบรัฐบาลผสมข้ามขั้ว ต่อลมหายใจระบอบ คสช.- ‘ก้าวไกล’ เดินหน้าเป็นฝ่ายค้านเชิงรุก

22 สิงหาคม 2023


“ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการ พรรคก้าวไกล แจงจุดยืนต่อที่ประชุมรัฐสภา ไม่เห็นชอบการโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30  ระบุรัฐบาลผสมข้ามขั้ว ไม่ใช่การสลายขั้วให้ประเทศไทยไปต่อ แต่เป็นการต่อลมหายใจระบบการเมืองของระบอบ คสช. ยก 3 ต้นทุนที่ประชาชนต้องจ่าย พร้อมขอประชาชนอย่าเพิ่งหันหลังให้การเมือง ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลง จนกว่าอำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมเดินหน้าเป็นฝ่ายค้านเชิงรุก

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการ พรรคก้าวไกล

การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วันนี้ (22 ส.ค.66) เริ่มเวลา 10.00 น. มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม

อย่างไรก็ตามก่อนการพิจารณาเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 ประธานได้เปิดโอกาสให้นำกรณีการเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาของนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่เสนอให้รัฐสภาทบทวนมติที่ประชุมรัฐสภากรณีไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำได้ ซึ่งประธาน ได้เปิดโอกาสให้นายรังสิตมันต์ โรม นำเสนอญัตติในที่ประชุมแล้ว ท้ายที่สุด ประธานการประชุมได้วินิจฉัยว่า ไม่รับญัตติดังกล่าว

หลังจากนั้น ที่ประชุมได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยนายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ได้เสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เป็นผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อรัฐสภา และมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 หรือไม่น้อยกว่า 50 แล้ว โดยมีการเสนอชื่อเพียงรายชื่อเดียวโดยไร้คู่แข่ง

หลังที่ประชุมรัฐสภาเปิดให้มีการอภิปราย นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการ พรรคก้าวไกล  ได้ลุกขึ้นอภิปราย อธิบายถึงจุดยืนพรรคก้าวไกล ในการโหวตรับรองผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี

นายชัยธวัช กล่าวว่า “ในการโหวตรับรองให้กับผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ ผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลไม่สามารถที่จะเห็นชอบได้ ด้วยเหตุผลที่ไม่ใช่เพราะเราไม่รู้จักหรือไม่มีข้อมูลนายเศรษฐา ทวีสิน อย่างที่ท่านสมาชิกบางท่านได้ลุกขึ้นอภิปรายและซักถาม โดยเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าพี่น้องประชาชน ได้รับทราบข้อมูลครบถ้วนแล้วก่อนวันเลือกตั้งถึงเครดิตเดตนายกรัฐมนตรีที่ถูกเสนอ และหวังว่าสมาชิกรัฐสภาได้จะข่าวสารข้อมูลและใช้วิจารณญาณเหล่านั้นในวันเลือกตั้งพร้อมกับประชาชนทุกคน”

สำหรับเหตุผลที่ผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลที่ไม่สามารถเห็นชอบได้นายกรัฐนตรีในครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องคุณสมบัติของผู้ถูกเสนอชื่ออย่างที่มีการกล่าวหากันตามที่มีการเสนอตามสื่อมวลชน  หรือมีผู้ส่งเอกสารให้สมาชิกรัฐสภา

แต่เหตุผลที่ ตัวแทนราษฏรพรรคก้าวไกลไม่สามารถโหวตเห็นชอบได้นั้น เป็นเหตุผลง่ายๆ เพราะว่าเราเห็นว่าการตั้งรัฐบาลที่มีอยู่ในวันนี้เป็นการจัดตั้งรัฐบาลที่ขัดต่อเจตจำนงค์ของพี่น้องประชาชน ที่ได้แสดงออกไปแล้วอย่างตรงไปตรงมาในวันที่ 14 พ.ค.2566 ว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการยุติรัฐบาลและการเมืองที่สืบทอดอำนาจจากรัฐประหารของคสช.

“พวกเราพรรคก้าวไกลยังเห็นด้วยว่าการตั้งรัฐบาลที่มีอยู่ในครั้งนี้ ไม่ใช่ความพยายามที่จะสลายขั้วความขัดแย้ง ให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ แต่มันคือการต่อลมหายใจให้กับระบบการเมืองที่เป็นระบอบคสช.ให้ดำเนินสืบไป”

นายชัยธวัช ตุลาธนเลขาธิการ พรรคก้าวไกล

นายชัยธวัชอภิปรายอีกว่า “หลายคนบอกว่าการจัดตั้งรัฐบาลพิเศษที่ดำเนินการอยู่นี้เป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น พรรคการเมือง นักการเมืองจำเป็นต้องกลืนเลือด จำเป็นต้องจ่ายต้นทุนการเมืองมหาศาล โดยมีประชาชนและประเทศเป็นตัวตั้ง แต่ผมอยากให้คิดใหม่  และตั้งคำถามว่าอะไรคือราคา อะไรคือต้นทุนที่ประชาชนและสังคมไทยจะต้องจ่ายบ้างในการจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษที่เป็นอยู่ในขณะนี้”

ประการแรก เห็นว่าราคาที่ประชาชนต้องจ่าย คือความหวัง  จากการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค.2566 เคยเป็นวันแห่งความหวังของประชาชนโดย พวกเขาหวังว่าเสียงของพวกเขาจะทำให้การเมืองไทยออกจากระบบจากการรัฐประหารได้โดยสันติ พวกเขาหวังว่าเสียงของพวกเขาจะทำให้การเมืองของไทยเดินหน้าไปสู่อนาคต ไม่ใช่เดินวนกลับไปสู่อดีตเหมือนที่รู้กันอยู่ในขณะนี้

ประการที่สอง ราคาที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องให้กับรัฐบาลแบบพิเศษในขณะนี้คือ อำนาจ  พี่น้องประชาชนเคยเชื่อจริงๆว่าในระบอบประชาธิปไตยอำนาจสูงสุดคืออำนาจของประชาชน แต่เมื่อเขาออกไปใช้อำนาจจริง ๆ ในวันเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 ปรากฎว่าการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งกลายเป็นการจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษ ที่ทำให้ประชาชนออกไปใช้เสียงเลือกตั้งพอเป็นพิธี แต่จะไม่มีวันยอมให้อำนาจเป็นของประชาชนจริงๆนั้นคือราคาที่พี่น้องประชาชนต้องจ่าย

“ปรากฎว่า ประชาชนพึ่งค้นพบว่าระบอบประชาธิปไตยของบ้านเรา กลายเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนกลายเป็นไม้ประดับ  ไม่ใช่เจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จจริง”

ประกาศที่สาม ราคาที่ประชาชนต้องจ่ายคือความศรัทธา การจัดตั้งรัฐบาลแบบพิเศษกำลังทำให้พวกเราสูญเสียต้นทุนที่สำคัญนั่นคือ ศรัทธาของประชาชนในระบบรัฐสภา ความเชื่อมั่นของประชาชนสอดคล้องกับพื้นฐานสำคัญกับระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อไหรที่ประชาชนหมดศรัทธากับพรรคการเมืองหรือสถาบันการเมืองย่อมเป็นสัญญาณอันตรายของประเทศของเราในอนาคต

“ผมอยากฝากความหวังดีไปยังสมาชิกรัฐสภา ว่าหัวใจของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาคือการปะทะ ขัดแย้งระหว่างอำนาจของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งกับอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน จนถึงวันนี้เรายังหาทางออกการเมืองแบบนี้ไม่ได้ และเราเห็นว่าทางออกในความขัดแย้งของการเมืองไม่ใช่การสลายขั้วความขัดแย้งอย่างผิวเผินด้วยการตั้งรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว แต่ทางออกที่พวกเราต้องช่วยกันแสวงหาคือระบบการเมืองที่เป็นฉันทามติใหม่ที่วางอยู่บนหลักการพื้นฐานสำคัญที่ว่า อำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน แล้วเมื่อไหรที่เราสยบยอมหรือต่อลมหายใจให้กับระบบที่เราเรียกว่าประชาธิปไตย แต่ตอบไม่ได้ว่าประชาชนอยู่ตรงไหน ระบบนี้เราไม่มีทางหาทางออกหรือสลายความขัดแย้งได้”

เมื่อไหรที่เรายังสยบยอม และต่อลมหายใจให้กับระบอบการเมืองที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่ยอมเคารพอำนาจของประชาชน เมื่อนั้นประชาชนจะสูญสิ้นศรัทธาต่อระบบการเมืองของเราในที่สุด และจะสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นได้ในอนาคต นี่คือความหวังดีผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกล ที่อยากฝากไปยังสมาชิกรัฐสภาทุกคน ว่าเราเองก็ไม่อยาก เห็นอนาคตแบบนี้

“สุดท้าย  ผมทราบว่าพี่น้องประชาชนจำนวนมากนับล้านคน กำลังผิดหวัง กำลังโกธร หรือคับข้องใจกับการเมืองที่เกิดขึ้นแต่อยากเรียนพี่น้องประชาชนผ่านรัฐสภา การเลือกตั้งที่ผ่านมาได้สะท้อนแล้วว่าสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว แต่มันคงยังเปลี่ยนไม่มากพอ แม้ว่าท่านจะไม่พอใจ ท่านจะผิดหวัง ท่านจะคับข้องใจ แต่ขออย่าให้หันหลังให้กับการเมือง เราต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองและเปลี่ยนแปลงมันให้ได้ และทำให้การเมืองของเรา ระบอบบประชาธิปไตยของเรา ทำให้อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชนจริงๆ”

สำหรับสู่ขั้นตอนการโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30  ประธานรัฐสภาจะเปิดให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายคุณสมบัติของผู้ได้รับการเสนอชื่อ ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้คือ ส.ว. 2 ชั่วโมง และ ส.ส. 3 ชั่วโมง รวม 5 ชั่วโมง และกำหนดเริ่มลงมติในเวลา 15.00 น. โดยการลงคะแนนแบบเปิดเผย ด้วยการขานชื่อสมาชิกรัฐสภาตามลำดับอักษร ซึ่งคาดว่าทราบผลการลงมติในเวลาประมาณ 17.30 น. สำหรับผู้ได้รับความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต้องได้คะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 374 เสียง จากสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ทั้งหมด 747 คน (ส.ส. 498 คน / ส.ว. 249 คน)

……

พรรคก้าวไกลแถลงหลังลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เรียบร้อย

‘ก้าวไกล’ เดินหน้าเป็นฝ่ายค้านเชิงรุก ทำงานร่วมกับประชาชนทั้งในและนอกสภา

นายชัยธวัช แถลงภายหลังที่ประชุมรัฐสภามีมติโหวตเลือก นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ด้วยคะแนนเห็นชอบ 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง งดออกเสียง 81 เสียง ว่า “วันนี้เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลมิได้เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่ที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง”

“พรรคก้าวไกลขอย้ำว่า การจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ มิใช่การสลายขั้วลดความขัดแย้ง โดยเอาวาระของประเทศและประชาชนเป็นตัวตั้ง แต่เป็นการสยบยอมและต่อลมหายใจให้แก่ระบบการเมืองที่สถาปนาขึ้นโดยการรัฐประหาร เป็นการทำลายความหวัง ความศรัทธา และอำนาจของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย”

พร้อมกล่าวต่อว่า “แน่นอนว่าต่อจากนี้ไป พรรคก้าวไกลจะต้องทำงานในฐานะพรรคฝ่ายค้าน โดยเราจะเป็นฝ่ายค้านเชิงรุก ทุกเสียงที่พี่น้องประชาชนได้มอบให้พรรคก้าวไกลจะต้องมีความหมาย ผู้แทนราษฎรทุกคนของพรรคก้าวไกลจะทำงานอย่างสุดความสามารถ ทั้งในด้านการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ทั้งในด้านการผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้า ทั้งในด้านการผลักดันวาระของประชาชนผ่านกลไกต่างๆ ของสภา รวมทั้งการทำงานร่วมกับประชาชนนอกสภาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยร่วมกันอย่างไม่ท้อถอย”

เลขาธิการพรรคก้าวไกลกล่าวว่า แม้ในวันนี้ ผู้มีอำนาจจะพยายามทำให้อำนาจของประชาชนไม่มีความหมาย แต่พรรคก้าวไกลจะยังยืนอยู่อย่างมั่นคงกับประชาชน ด้วยความเชื่อมั่นว่าพลังของพี่น้องประชาชนจะสามารถสร้างอนาคตแบบใหม่ให้แก่สังคมไทยได้ในที่สุด สักวันหนึ่งเราจะมีประชาธิปไตยที่แท้จริง สักวันหนึ่งเราจะมีระบบเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า เท่าทันโลก และเป็นธรรม สักวันหนึ่งเราจะมีสังคมที่เคารพความแตกต่างหลากหลาย เคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ยึดถือความมั่นคงของประชาชนเป็นความมั่นคงของชาติ ด้วยความเคารพในประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ

หลังแถลงจบ สื่อมวลชนสอบถามถึงบทบาทการตรวจสอบรัฐบาลในฐานะฝ่ายค้าน นายชัยธวัชกล่าวว่า การทำงานในฐานะฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกลจะทำอย่างสร้างสรรค์ ยึดหลักการและเหตุผลเป็นตัวตั้ง ตนคิดว่าสิ่งที่จะล้มรัฐบาลชุดนี้ได้ คือศรัทธาของพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ แม้เราเป็นฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกลจะเดินหน้าทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะบริหารประเทศให้ดีที่สุดในการเลือกตั้งครั้งหน้า นี่คือเป้าหมายของเรา