ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > ‘พิธา’ ประกาศตั้งรัฐบาล 313 เสียง ตั้งคณะทำงานข้อตกลงร่วม MoU-เปลี่ยนผ่านรัฐบาล แถลงเนื้อหา 22 พ.ค.

‘พิธา’ ประกาศตั้งรัฐบาล 313 เสียง ตั้งคณะทำงานข้อตกลงร่วม MoU-เปลี่ยนผ่านรัฐบาล แถลงเนื้อหา 22 พ.ค.

18 พฤษภาคม 2023


วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรม ดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ, นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย, พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย, นายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง, นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม, และ นายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศ​กีรติ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ แถลงข่าวประกาศตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน โดยมีจำนวนผู้แทนราษฏรรวมกันทั้งสิ้น 313 คน จากผลการเลือกตั้งที่ไม่เป็นทางการ

นายพิธา กล่าวว่า พวกเราทุกพรรคขอขอบคุณทุกเสียงที่ประชาชนมอบให้ เสียงของประชาชนทุกเสียงคือเสียงแห่งความหวัง คือเสียงแห่งการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลชุดใหม่จะทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ต่ออำนาจของประชาชน และเราจะเป็นรัฐบาลของคนไทยทุกคน

สาระสำคัญของการแถลงข่าววันนี้ คือการประกาศจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชนร่วมกัน ด้วยความเคารพในฉันทามติของประชาชน ดังนี้

  1. ทุกพรรคเห็นชอบที่จะสนับสนุนหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตามเสียงข้างมากจากผลการเลือกตั้งของประชาชน
  2. ทุกพรรคจะร่วมกันจัดทำข้อตกลงร่วม (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อแสดงถึงแนวทางการทำงานร่วมกัน และวาระร่วมของทุกพรรค และจะแถลงต่อสาธารณะในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ เพื่อแก้ไขวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ
  3. ทุกพรรคจะจัดตั้งคณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อจากรัฐบาลเดิมได้แบบไร้รอยต่อ

  • MoU กลไกจัดตั้งรัฐบาลผสม สร้างบรรทัดฐานใหม่การเมืองไทย
  • อย่างไรก็ตาม การแถลงข่าวใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที หลังจากนั้นเปิดให้สื่อมวลชนถามคำถาม โดยนายพิธาให้ความเชื่อมั่นว่าการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชนจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนและโดยราบรื่น จำนวน 313 เสียง มีความเพียงพอและเป็นความปกติของระบอบประชาธิปไตย

    ผู้สื่อข่าวถามถึงเนื้อหาและสาระสำคัญของ MOU ที่จะจัดทำวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 นี้ โดย นายพิธา ตอบว่า “เรากำลังจัดทำคณะกรรมทำงาน แต่วันนี้ไม่ได้มาแถลงรายละเอียดเนื้อหา MOU”

    นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

    นายพิธา ให้ข้อมูลว่า คณะทำงานทั้ง 2 ทีม ได้แก่ คณะเจรจาและคณะเปลี่ยนผ่านอำนาจ ได้เตรียมการวางแผนในหลายรูปแบบว่าจะมีฉากทัศน์ใดเกิดขึ้นบ้าง แต่ละฉากทัศน์จะบริหารจัดการอย่างไร เพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงพิจารณาว่าจุดยืนและนโยบายของทุกพรรคการเมือง จะทำงานร่วมกันอย่างไรโดยยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง กระบวนการทั้งหมดจะคำนึงถึงเสถียรภาพของรัฐบาลและการมีส่วนร่วมของทุกพรรคการเมือง เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จลุล่วง ทุกพรรคการเมืองสามารถสานต่อนโยบายที่ได้สัญญาไว้กับประชาชน

    เมื่อถามถึงความเห็นของ สว. หลายคนที่ออกมาแสดงจุดยืนว่าจะโหวตนายกฯ ตามเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร นายพิธา กล่าวว่า ขอขอบคุณ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของใคร แต่เป็นเรื่องของระบบ ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด

    ทั้งนี้ นายพิธา ยืนยันว่า ไม่กังวลเรื่องคะแนนโหวต 376 เสียง พร้อมย้ำว่า “ยืนยันว่าผ่านครับ…ตอนนี้มั่นใจว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นไปได้ด้วยดี”

    “ผมยังคิดว่า 313 เสียง ณ วันนี้ เป็นความปกติของระบบประชาธิปไตยที่เพียงพอ เพราะฉะนั้นการบอกว่าต้องทำให้ได้ 376 เสียง โดยต้องตามหาเพิ่มเติม ยังไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญในวันนี้ อย่างไรก็ตาม อาจจะมีหลายฉากทัศน์ที่เราจะคาดไม่ถึง ผมก็มีกรอบในการเจรจาหาจุดตัวเลขที่สมดุลเพื่อให้เกิดความแน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล และลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น”

    ผู้สื่อข่าวถามเรื่องการแบ่งกระทรวงต่างๆ ให้พรรคร่วม นายพิธา ตอบว่า “คราวนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของเก้าอี้ เราเอาวาระประชาชนเป็นตัวตั้งและเอานโยบายของพรรคเป็นตัวตั้ง ยกตัวอย่างหลายๆ นโยบายพื้นฟูเศรษฐกิจหรือการกระจายที่ดินมัน 8 กระทรวง ปีหน้าภาวะภัยแล้งจะรุนแรงก็ 7 ถึง 8 กระทรวง เราต้องเอาลำดับความสำคัญปัญหาของประชาชนเป็นตัวตั้ง แล้วค่อยว่ากันถึงการทำงานให้เป็นเอกภาพและเป็นองคาพยพเดียวกัน ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาคุยตรงนั้น”

    ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวถามถึงอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็น ประเด็นหุ้นสื่อ หรือการที่นายพิธาได้รับการร้องเรียนต่างๆ นายพิธา ตอบประเด็นนี้ว่า “ไม่กังวล แต่ก็ไม่ประมาท เข้าใจดีว่าการเมืองมีมิติไหนบ้าง เราก็ต้องพร้อมรับให้ได้ทุกมิติ ในเมื่อเราเป็นบุคคลสาธารณะก็ต้องยอมรับการตรวจสอบ ขณะเดียวกันถ้ามีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองก็ต้องพร้อมรับผลกระทบที่เกิดขึ้นเหล่านั้น”