ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > บทเรียน “พรรคประชาธิปัตย์” ผ่านเลือกตั้ง 2566 กับปรากฏการณ์ wave of change การเมืองไทย

บทเรียน “พรรคประชาธิปัตย์” ผ่านเลือกตั้ง 2566 กับปรากฏการณ์ wave of change การเมืองไทย

16 มิถุนายน 2023


‘อลงกรณ์ พลบุตร’ สะท้อนบทเรียน พรรคประชาธิปัตย์ ผ่านชัยชนะพรรคก้าวไกล กับปรากฏการณ์การเมืองใหม่ การเลือกตั้งสุจริต ไม่ซื้อเสียง กล้าหาญ และตรงไปตรงมา ถึงเวลาปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ กลับมายืนให้ถูกที่ถูกเวลา บนหลักการประชาธิปไตย

นายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

ผลการเลือกตั้ง 2566 และชัยชนะของพรรคก้าวไกลที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ อาจเป็นบทเรียนสะท้อนไปยัง “พรรคประชาธิปัตย์” พรรคการเมืองเก่าแก่อายุกว่า 77 ปีที่มีความเป็นสถาบันทางการเมือง และเคยเป็นพรรคใหญ่ หรือตัวเลือกลำดับต้นๆ ของทุกการเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคขนาดเล็กที่มี ส.ส. เพียง 24 ที่นั่งเท่านั้น

อะไรคือจุดอ่อน ที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่ตัวเลือกสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ‘ไทยพับลิก้า’ ได้พูดคุยกับ ‘อลงกรณ์ พลบุตร’ รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งครั้งหนึ่งในปี 2556 เคยเสนอให้ปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์เพื่อให้ทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ก่อนจะเริ่มวิเคราะห์จุดอ่อนพรรคประชาธิปัตย์ ‘อลงกรณ์’ ได้มองการเมืองไทยหลังชัยชนะของพรรคก้าวไกล ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจาก disruptive politics เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์การเมืองใหม่ ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หรือ disruptive technology เข้าสู่ยุคของดิจิทัลเทคโนโลยี กลายเป็นเครื่องมือสำคัญทำให้การสื่อสารการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารระหว่างบุคคลต่อบุคคลง่าย รวดเร็วฉับไว แบบไร้รอยต่อ เรียกว่าเกิดการปฏิวัติการสื่อสารโฉมใหม่ ทุกคนสามารถเป็นทั้งผู้รับข่าวสารและผู้นำเสนอข่าวสาร

การสื่อสารที่รวดเร็วในยุคดิจิทัลเทคโนโลยี เข้ามาเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยจากการเมืองแบบแอนะล็อกซึ่งการสื่อสารจะเป็นทิศทางเดียว เช่น การจัดเวทีปราศัยทางการเมือง การเดินเคาะประตูบ้านบอกนโยบาย หรือการขึ้นรถแห่กระจายเสียง เมื่อเข้าสู่ยุคการเมืองใหม่ โชเซียลมีเดียทำให้การสื่อสารการเมืองเปลี่ยนแปลง เป็นการสื่อสารสองทาง เปลี่ยนการรับรู้ของประชาชน นั่นเป็นที่มาของชัยชนะของพรรคก้าวไกล

แม้การเลือกตั้งครั้งนี้ จะมีกระแสล่วงหน้าว่าประชาชนต้องการเปลี่ยนขั้ว ไม่เอาพรรคร่วมรัฐบาลชุดเดิม แต่ต้องการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลใหม่ที่มาจากฝ่ายค้านมาเป็นกระแสหลัก แม้ทุกคนจะรู้อยู่แล้วว่ากระแสการเมืองเปลี่ยนขั้ว แต่กระแสของพรรคก้าวไกลถือว่าเป็นปรากฏการณ์ ที่สามารถสื่อสารถึงประชาชนจนชนะการตัดสินใจของประชาชน โดยโซเซียลมีเดียเป็นเครื่องมือสื่อสาร แต่หัวใจสำคัญที่พรรคก้าวไกลชนะ คือคอนเทนต์ หรือเนื้อหาที่สื่อสารออกไป

“ความชัดเจนของจุดยืนคือ ‘ความกล้า’ นำเสนอนโยบายใหม่ๆ ก่อให้เกิดความหวังและความเชื่อ ตรงนี้เองคือจุดเปลี่ยนของการเลือกตั้ง”

แม้ว่าผลโพลที่ผ่านมาจะบอกว่าประชาชนต้องการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง แต่ก็พลิกโผทุกโผและทุกโพลที่พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งได้มากขนาดนี้ และเป็นการชนะการเลือกตั้งที่ไม่มีการซื้อเสียง

ชัยชนะพรรคก้าวไกล ปรากฏการณ์ “การเมืองใหม่” ชัยชนะของพรรคก้าวไกลจึงถือเป็นปรากฏการณ์ที่ ‘อลงกรณ์’ เห็นว่าสร้างจุดเปลี่ยนของการเมืองไทย โดยเฉพาะการแก้ 6 ปัญหาใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง ต้องยอมรับว่าชัยชนะของพรรคก้าวไกลครั้งนี้ไม่มีการซื้อเสียง ที่ผ่านมา ในมุมของนักการเมืองพรรคการเมือง ทุกคนไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งที่ทุจริต แต่ว่าการเมืองไทยตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ ไม่สามารถทำให้การเลือกตั้งมีความสุจริตและยุติธรรมได้ แม้จะมีองค์กรอิสระอย่างสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เข้ามาดูแลจัดการเลือกตั้ง แต่กระแสการทุจริตการเลือกตั้งยังเป็นกระแสที่ทำให้นักการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติ ตกอยู่ในวงวนการเมืองแบบเก่า

“ผมไม่ได้มองชัยชนะของพรรคก้าวไกลเพียงแค่ว่าได้สร้างปรากฏการณ์ของการเป็นพรรคที่ชนะเลือกตั้งได้เสียงอันดับหนึ่ง แต่วิถีทางที่ได้มาซึ่งชัยชนะของพรรคก้าวไกล มีความสำคัญที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางใหม่ของการเมืองไทย”

นายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

หลังคืนวันที่ 14 พ.ค. 2566 ทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ‘อลงกรณ์’ เขียนในเฟซบุ๊กของเขาในวันที่ 15 พ.ค. 2566 เพื่อขอให้ ส.ส. หรือ ส.ว. ได้เคารพเสียงประชาชนต่อผลการเลือกตั้ง โดยได้ชี้ประเด็นว่า ชัยชนะของการเลือกตั้งของพรรคก้าวไกลมาจากการไม่ซื้อเสียงเลย

ขณะที่การเลือกตั้งครั้งนี้มีการซื้อเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้ง ดังนั้น จึงอยากให้มองถึง ‘ปรากฏการณ์ก้าวไกล’
ไม่ใช่แค่ชัยชนะอันดับหนึ่ง แต่วิธีการได้มาซึ่งชัยชนะเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม

ถ้าเราสนับสนุนโมเมนตัมเช่นนี้ในการเปลี่ยนแปลงการเมืองทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ ความหวังที่เราจะเห็นการพัฒนาประชาธิปไตยในแนวทางที่ถูกต้องก็จะเกิดขึ้น เป็นผลดีต่อระบบการเมืองไทยในอนาคต

สิ่งที่ ‘อลงกรณ์’ อยากให้มองคือ พรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่มีวันชนะและมีวันแพ้ มีวันนี้และมีวันหน้า แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นถือเป็นคุณูปการของการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศเรา ก็คือการแก้ปัญหาเรื่องการทุจริตการเลือกตั้ง และทำให้การเลือกตั้งบริสุทธ์ยุติธรรม

“เราต้องการให้ได้ ส.ส. รัฐมนตรี และรัฐบาล ที่เป็นคนดีมีคุณธรรม มีความรู้ ความสามารถ แต่ในระบบการเมืองเก่าๆ นับวันสิ่งเหล่านี้ก็ยิ่งไกลต่อความเป็นจริง”

“เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถที่จะสนับสนุนแนวนโยบายเหล่านี้ทำให้เป็นเหมือน snowball ที่มีพลังที่จะใหญ่ขึ้น โตขึ้น ผมคิดว่าชัยชนะของพรรคก้าวไกลที่ไม่มีการซื้อเสียงเลยเป็นความเปลี่ยนแปลง ที่ไม่ใช่แค่สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงหรือ wind of change ของพรรคก้าวไกล แต่มันคือ wave of change ของการเมืองไทย นั่นคือสิ่งที่ผมเชื่อเช่นนั้น

ส่วนกระแสปรากฏการณ์การเมืองใหม่จะยั่งยืนหรือไม่ อลงกรณ์บอกว่า อย่างน้อยเขาเชื่อว่า คน 14 ล้านคน หรือ 30% ของผู้มาออกเสียงเลือกตั้ง ที่ลงคะแนนให้พรรคก้าวไกล เชื่อในอำนาจการลงคะแนนของตัวเองที่ไม่มีอามิสสินจ้างมาซื้อได้

“สิ่งเหล่านี้คือ big hope และก็ฝากความหวังไว้ว่า 14 ล้านคนจะเพิ่มเป็น 20-30 ล้านคน เริ่มนับหนึ่งได้ นั่นคือจุดสำคัญ เพราะที่ผ่านมา การเมืองเก่าเราไม่สามารถนับหนึ่งได้มานานมากแล้ว”

“เลือกตั้งสุจริต” ก้าวแรกการเมืองใหม่ การตั้งต้นก้าวเดินสู่ประชาธิปไตยที่สุจริต การเลือกตั้งที่ไม่ซื้อเสียง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตย เพราะถ้าได้ผู้แทนประชาชน ผู้แทนรัฐบาล ที่สุจริต ประเทศจะแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้

“คำกล่าวในอดีตที่ว่านักการเมืองลงทุน และการถอนทุนนำมาสู่การคอร์รัปชันซึ่งนำไปสู่ปัญหาอื่น เป็นเงื่อนไขของการรัฐประหาร วงจรอุบาทว์เหล่านี้ก็จะจบลง และคนรุ่นเราน่าจะเป็นผู้ร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง ถ้าเราเห็นแนวทางความหวังอย่างนี้ชัดเจน ก็ต้องก้าวข้ามประโยชน์ส่วนตัว ประโยชน์ของพรรค นั่นคือการที่สนับสนุนครรลองประชาธิปไตยในการเคารพเสียงของประชาชน”

อลงกรณ์บอกว่า เมื่อพรรคก้าวไกลได้เสียงมากเป็นอันดับหนึ่ง ก็มีความชอบธรรม มีสิทธิที่จะได้จัดตั้งรัฐบาล ถ้าทำไม่ได้ก็เป็นสิทธิของพรรคอันดับสองและอันดับสาม แต่ไม่ควรมีวิธีการที่มันผิดปกติต่างจากนี้ไปอีกแล้ว

นายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

“ผมได้แสดงจุดยืนเหล่านี้ออกไปเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว หนึ่งคือ ขอให้ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์โหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในการประชุมร่วมรัฐสภา เป็นการใช้สิทธิ ส.ส.ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ไม่ใช่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นี่คือสิ่งที่ผมเสนอ และเสนอให้ ส.ส. และ ส.ว ได้สนับสนุนหลักการระบบเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร”

ข้อเสนอของ ‘อลงกรณ์’ เป็นเพียงข้อเสนอส่วนตัว ต้องนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของพรรคประชาธิปัตย์ โดยหลักและแนวทางปฏิบัติของพรรคประชาธิปัตย์แล้ว การจะลงมติในเรื่องที่สำคัญ ต้องเป็นมติร่วมระหว่างกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่และ ส.ส ชุดใหม่ เช่น กรณีการลงมติว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ร่วมรัฐบาล โดยกรณีการโหวตสนับสนุนนายกรัฐมนตรีถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องลงมติพรรคฯ โดยยึดถือข้อบังคับและแนวปฏิบัติของพรรคประชาธิปัตย์ คือเป็นมติของกรรมการบริหารและ ส.ส. ชุดใหม่ตามกฎของพรรคฯ ต้องประชุมใน 60 วันนับตั้งแต่หัวหน้าพรรคลาออก โดยคาดว่าจะประชุมภายในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 นี้

“ต้องรอดูต่อไป ผมเสนอให้เป็นมติพรรคฯ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเอกสิทธิ์ของ ส.ส. เพราะว่าข้อบังคับไม่ได้เขียนไว้ แต่ต้องเคารพมติคณะกรรมการบริหารและ ส.ส. ชุดใหม่ในการประชุมพรรคฯ ในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้”

จุดยืนไม่ชัดเจน “จุดอ่อน” พรรคประชาธิปัตย์

‘อลงกรณ์’ วิเคราะห์พรรคประชาธิปัตย์จากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ที่ทำให้จากพรรคที่เคยได้คะแนนเสียง ส.ส. หลักร้อยที่นั่ง เหลือเพียง 20 กว่าที่นั่ง โดยเห็นว่า จุดอ่อนมาจากความไม่ชัดเจนของจุดยืนทางการเมือง ที่อยู่ในขั้วรัฐบาลและถูกผลักให้เป็นฝ่ายอนุรักษนิยม ขัดกับปฐมอุดมการณ์ของพรรคที่เป็นยึดแนวทางประชาธิปไตยมาโดยตลอด

เมื่อถามว่ามติพรรคฯ ในการโหวตเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่

‘อลงกรณ์’ ก็เห็นเป็นเช่นนั้น ว่าจุดยืนทางการเมืองมีความสำคัญมากของพรรคการเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนมั่นใจพรรคก้าวไกลมากกว่า

“ความชัดเจนในความตรงไปตรงมา เป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างความศรัทธาของประชาชน เพราะฉะนั้น การที่พรรคประชาธิปัตย์จะฟื้นฟูปฏิรูปพรรค ก้าวเดินไปข้างหน้า สิ่งที่เราต้องมาทบทวน คือ การแสดงจุดยืนทางการเมือง ว่าเป็นปัญหาของพรรคหรือไม่ ในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่าเรามีปัญหา”

สอง เรามี ‘ความกล้า’ เพียงพอที่จะนำเสนอนโยบายอย่างตรงไปตรงมาตามแนวทางและอุดมการณ์ของพรรคหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น การต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ การต่อต้านการผูกขาด ตัดตอนของทุนใหญ่

“ผมคิดว่าสมาชิกพรรคต้องการเห็นความชัดเจนและจุดยืนเช่นนี้ ซึ่งเป็นความท้าทายที่จะสร้างจุดเปลี่ยนของพรรคต่อไปให้ได้ในฐานะของความเป็นสถาบันทางการเมือง ที่เราได้ร่วงหล่นจากพรรคหลัก/พรรคใหญ่ของประเทศ มาสู่พรรคขนาดกลางขนาดเล็ก บทเรียนเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องทบทวน และการเลือกตั้งคณะกรรมการบรหารชุดใหม่ของพรรค จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อจุดเปลี่ยนของพรรคฯ”

ผลการเลือกตั้ง คือ บทเรียนพรรคประชาธิปัตย์ ข้อเสนอการปฏิรูปฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์จะมีคนรับฟังหรือไม่ ‘อลงกรณ์’ บอกว่า

พรรคฯ มีความเป็นประชาธิปไตย ข้อเสนอของเขาก็มีทั้งคนเห็นด้วยไม่เห็นด้วย แต่ภายในต้นเดือนกรกฎาคมที่มีการประชุมใหญ่ของพรรคฯ คงจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหลายกลุ่ม ที่สรุปบทเรียนและถอดบทเรียน รวมทั้งการตกผลึกในข้อเสนอว่าพรรคฯ จะเดินหน้าไปอย่างไร

“ที่ผ่านมาเรา noting to lose ตั้งแต่พรรค 100 กว่าเสียงจนมาถึง 25 เสียง ซึ่งขณะนี้หลังการเลือกตั้งทุกคนยังสับสนว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ผมก็พูดเสมอนะว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการวิเคราะห์ข้อผิดพลาดของเราเอง ไม่ใช่ไปมองข้อผิดพลาดของคนอื่น ถ้าเราจะปรับปรุงปฏิรูปตัวเอง เราต้องดูความผิดพลาดของเรา ทั้งจุดอ่อนจุดแข็ง”

แล้วอะไรคือ “จุดแข็ง-จุดอ่อน” ของพรรคประชาธิปัตย์

ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์มีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง และสิ่งที่เป็นจุดอ่อน ‘อลงกรณ์’ เชื่อว่ามีที่มาที่ไป เขาอยู่กับพรรคฯ มาตลอด ไม่เคยย้ายพรรคเลย มีเพียงช่วงหนึ่งที่ลาออกจากพรรคฯ ไปเป็นรองประธานสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ เพราะต้องมีความเป็นกลาง

“ผมก็เป็นลูกศิษย์อาจารย์ป๋วยเพราะผมเรียนธรรมศาสตร์ ผมเข้าไปทำงานเพราะต้องการปฏิรูปประเทศ ต้องการปฏิรูปการเมือง เมื่อเสร็จภารกิจในการทำ blueprint หรือพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศมอบให้ผู้มีอำนาจคือรัฐบาลแล้ว ผมก็กลับมาทำงานกับพรรคฯ”

‘อลงกรณ์’ บอกว่า เขากลับมาทำงานพรรคในสถานการณ์ที่พรรคฯ ยากลำบากหลังการเข้าร่วมรัฐบาล และก่อนการเลือกตั้งก็มีสมาชิกพรรคคนสำคัญก็ลาออกไป แต่ก็มีคนรุ่นใหม่เข้ามา ซึ่งจุดยืนทางการเมืองของพรรคฯ เป็นสาเหตุหนึ่ง แต่ว่าจะโทษพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมดก็คงไม่ได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นสถานการณ์ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา

20 ปีประชาธิปัตย์ติดหล่มต่อสู้ ‘ระบอบทักษิณ’ สิ่งที่เกิดขึ้นนับจากปี 2544 คือการต่อสู้ทางการเมืองระหว่าง 2 พรรคใหญ่ คือ พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคไทยรักไทย โดยเฉพาะในการเลือกตั้งปี 2548

“ผมเป็นประธานตรวจสอบทุจริตตั้งแต่ปี 2545-2549 ผลการตรวจสอบทำให้รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของพรรคไทยรักไทยติดคุกจากคดีทุจริตปุ๋ยปลอม ขณะนั้นปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่มาก จนมีการชุมนุมต่อต้านพรรคไทยรักไทย แล้วก็จบลงด้วยความรุนแรงและการรัฐประหาร”

‘อลงกรณ์’ บอกว่า พรรคประชาธิปัตย์เหมือนตกบันไดพลอยโจนต่อสถานการณ์ทางการเมืองและการต่อสู้การเมือง ที่คนของพรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่าเป็นการต่อสู้เพื่อประเทศชาติเหนือการชนะเลือกตั้งหรือการได้เป็นรัฐบาล สถานการณ์ดังกล่าวต่อเนื่องสืบมาจนถูกจัดให้เป็นกลุ่มอนุรักษนิยม โดยจะเห็นว่าในการตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลในปี 2562 หลายคนถามถึงการลงมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์ของเสียงข้างมากของคณะกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส. ชุดใหม่ไม่เข้าร่วมรัฐบาลนั้น ก็สืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2544 เป็นการต่อสู้ต่อเนื่องกับระบอบทักษิณในมุมที่คนพรรคประชาธิปัตย์คิด

“ในปี 2562 คนพรรคประชาธิปัตย์ยังคิดว่าเป็นการต่อสู้กับระบอบทักษิณ การตัดสินใจจึงมีแค่ 2 ทาง คือ ร่วมกับไม่ร่วม ถ้าไม่ร่วมประเทศก็เดินไปไม่ได้ แต่จะข้ามขั้วไปกับพรรคเพื่อไทยก็เป็นไปไม่ได้ จึงไม่มีทางเลือกหรือมีทางเลือกน้อยมากในการตัดสินใจ แต่การตัดสินใจในครั้งนั้นทำให้เราต้องจ่ายราคาแพง คือ ผลการเลือกตั้งในปี 2566 ที่เกิดขึ้น

ชัยชนะ “ก้าวไกล” ยุติการต่อสู้ “ระบอบทักษิณ”

‘อลงกรณ์’ เห็นว่า ถึงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องมาตั้งหลักตั้งลำใหม่ในแง่ของจุดยืนทางการเมือง โดยเฉพาะเมื่อชัยชนะของพรรคก้าวไกลมาช่วยทำให้คิดได้ว่า สถานการณ์ที่ต่อสู้มาเป็นเวลา 20 ปี ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคของคุณทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย ได้ยุติลงแล้ว พร้อมทั้งการประกาศของนายทักษิณ ชินวัตร ที่จะกลับบ้าน และพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เนื่องจากประทศไทยเป็นประเทศนิติรัฐ นิติธรรม ผู้ที่กระทำผิดแม้ว่าจะหลบหนีคดีอย่างไรก็มีโอกาสที่จะกลับมาต่อสู้คดี

“เมื่อเขาต้องยอมรับความเป็นนิติรัฐนิติธรรมของประเทศไทย และประกาศที่จะมารับโทษ มาต่อสู้คดี ผมคิดว่า นั่นคือการสิ้นสุด หรือ 2 ทศวรรษของพรรคประชาธิปัตย์ในการต่อสู้กับระบอบทักษิณ มาสู่ยุคของการที่เราคิดว่าภาคการเมืองเดินหน้าไป โดยที่มีกระแสของการเลือกตั้งที่สุจริต ไม่มีการซื้อเสียง ผมคิดว่าคือโอกาสที่ดีที่สุดของพรรคประชาธิปัตย์และของประเทศไทย และผมเชื่อว่าความเป็นสถาบันทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาขอให้เรายืนให้ถูกที่ ถูกเวลา ดังนั้น จุดเปลี่ยนตรงนี้จึงมีความสำคัญต่ออนาคตของพรรคมากเช่นกัน

‘อลงกรณ์’ มองว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาไม่เพียงพรรคประชาธิปัตย์ที่ติดหล่ม แต่ยังมีการแบ่งขั้ว แบ่งสีทางการเมือง แต่การยอมรับว่ากระทำผิดและกลับมารับโทษมีความสำคัญมาก(กรณีทักษิณ ชินวัตร) เพราะนั่นหมายถึงการยอมรับว่าประเทศนี้มีนิติรัฐ นิติธรรม และการต่อสู้คดีในหลายเรื่องก็ยังค้างคา เป็นโอกาสของการพิสูจน์ความยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นจุดอ่อน 1 ใน 6 ของจุดอ่อนของประเทศเช่นกัน

‘อลงกรณ์’ เชื่อว่า การเลือกตั้งโดยสุจริต ไม่ซื้อเสียง เป็นก้าวแรกที่สำคัญในการแก้ปัญหาประเทศทั้ง 6 ข้อ คือ 1. ความไม่เป็นประชาธิปไตย 2. การเลือกตั้งที่ทุจริต 3. ปัญหาความเหลื่อมล้ำ 4. ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรม 5. ปัญหาระบบราชการ 6. เรื่องคอร์รัปชัน

“ทั้งหมด 6 ข้อเป็นปัญหาใหญ่ที่เราจะถอดชนวนให้ได้ เพราะว่าปัญหาทั้งหมดมันเริ่มต้นจากการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และการเลือกตั้งก็ไม่สุจริต นำไปสู่ปัญหาคอร์รัปชันทั้งในวงราชการ การเมือง และธุรกิจ และนำมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผูกขาด ตัดตอนเพราะการเอื้อประโยชน์เชิงนโยบาย จนนำมาสู่การไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเที่ยงธรรมเที่ยงตรงได้”

การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ต้องมีหลักกิโลเมตรแรก คือ ‘ประชาธิปไตย’ และการเลือกตั้งที่สุจริต เป็นธรรม ถ้าเราได้ ส.ส. ที่ดี รัฐสภาที่ดี รัฐบาลที่ดี โอกาสที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น โดยขณะนี้เรามีสองเรื่อง คือ ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งสุจริตเป็นคานงัด ทำให้เรื่องอื่นๆ ทำได้ง่ายขึ้น เช่น การมีระบบราชการที่โปร่งใส สุจริต จะไม่เกิดปัญหาการสมรู้ร่วมคิดระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการในการคอร์รัปชันหรือการบังคับใช้กฎหมาย

ถ้ากฎหมายคือกฎหมาย ไม่ใช่คุกมีไว้ขังคนจน หรือกรณีของละเว้นกฎหมาย กรณีทุนจีนสีเทา ส่วยสติกเกอร์ จะไม่เกิดขึ้น และจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนเหลื่อมล้ำ

“การผูกขาดตัดตอนจะไม่เกิดปัญหาทุนใหญ่ ที่ให้ทุนกับพรรคการเมืองจนบางครั้งส่งตัวแทนเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ต้องเริ่มต้นที่ 2 คานงัด ผมถึงบอกว่าชัยชนะของพรรคก้าวไกล เป็นการสร้างปรากฏการณ์ที่เราฝันในฐานะนักการเมืองอาชีพ คือ การเลือกตั้งที่ไม่มีการซื้อเสียง เอาชนะบ้านใหญ่ ทุนใหญ่ได้

อันนี้เป็นสิ่งที่เหนือกว่าชัยชนะของพรรคก้าวไกล เป็นปรากฏการณ์ของคน 30% ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่ตื่นขึ้น เป็นสึนามิของความหวังในการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม อย่าไปมองแค่ว่าเป็นคู่แข่งแล้วชนะเลือกตั้ง หรือว่าเคยเป็นรัฐบาลต้องมาเป็นฝ่ายค้าน ต้องมองไปถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของการเมืองไทย

นายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

ตัดเงื่อนไขการ “รัฐประหาร”

‘อลงกรณ์’ เห็นว่า การสร้างประชาธิปไตยที่ถูกต้องทำให้ตัดเงื่อนไขการัฐประหาร โดยยอมรับครรลองประชาธิปไตยให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นราบรื่นรวดเร็ว ใครชนะเลือกตั้ง ให้เขาเป็นรัฐบาลพิสูจน์ความสามารถ ฝ่ายค้านก็มีโอกาสทำงานพิสูจน์ความสามารถเช่นกันในฐานะฝ่ายค้าน ตรวจสอบถ่วงดุลเช่นเดียวกับเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยพรรคก้าวไกลได้ทำหน้าที่ฝ่ายค้าน เพราะฉะนั้น เราแพ้เลือกตั้งจะไปโทษใครเขา

ในเมื่อเราเป็นรัฐบาลแล้วไม่สามารถชนะใจประชาชน อันนี้คือระบอบประชาธิปไตย ต้องมีความอดทนอดกลั้น ใครชนะให้เขาเป็นรัฐบาล ทำงานไม่เข้าหูเข้าตาประชาชนเขาไม่เลือก เราก็กลับมาเป็นรัฐบาล

“ผมถึงบอกว่า 2 คานงัดที่สำคัญ คือ การเลือกตั้งที่สุจริตและระบอบประชาธิปไตยที่ต่อเนื่องอย่างสันติ จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด เพราะว่าอีก 4 ข้อเป็นปัญหาใหญ่มาก แต่ถ้าไม่มีการเมืองที่มีเจตจำนงทางการเมืองและความเข้มแข็งทางการเมืองที่มีประชาชนสนับสนุน การปฏิรูประบบราชการ หรือปัญหาอื่นๆ เป็นไปไม่ได้เลย”

แล้วจะปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์อย่างไร

‘อลงกรณ์’ บอกว่าไม่โทษใครเลยกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะผมก็มีส่วนในการโทษตัวเองเช่นกัน เนื่องจากอยู่ในพรรคมาตลอดตั้งแต่ปี 2534 ได้เห็นพัฒนาการของพรรคตั้งแต่รุ่งเรืองมาจนถึงวันที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงน้อยมาก และไม่ใช่พรรคที่เป็นทางเลือกหลักของประชาชนอีกต่อไป

“ผมมีส่วนรับผิดชอบ แต่ผมได้มองเห็นพัฒนาการและความรุ่งเรืองตกต่ำของพรรค จนผมเสนอปฏิรูปพรรคเมื่อปี 2556 จนมาถึงวันนี้ ผมไม่ได้เปลี่ยนแปลงความคิด และยืนยันว่าข้อเสนอในอดีตของผมถูกต้อง แต่วันนี้พรรคจะพิจารณาข้อเสนอของผมหรือไม่ ผมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพรรคประชาธิปัตย์ได้แต่เพียงผู้เดียว แต่ผมก็ยังหวังว่าความพ่ายแพ้ครั้งนี้จะเป็นบทเรียนที่ไม่ใช่แค่รู้บทเรียน แต่เราต้องเปิดหน้าใหม่ของก้าวใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ นั่นคือความหวังของผม”

‘อลงกรณ์’ เห็นว่า สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องปฏิรูปคือจุดยืน นโยบาย ความกล้าหาญ และผู้นำ ที่มีภาวะผู้นำ ซึ่งมีวิสัยทัศน์ใหม่ความคิดใหม่ๆ ไม่ได้ขึ้นกับอายุ เพราะการดำเนินงานการเมืองต้องชัดเจน ตรงไปตรงมา

“ผมคิดว่าไม่ว่าเราเป็นฝ่ายค้านหรือเราเป็นรัฐบาล แล้วจำเป็นต้องโหวตค้านฝ่ายตรงข้ามเสมอไป เราต้องเป็นผู้นำของการสร้างการเมืองใหม่ที่สร้างสรรค์ ไม่ยากเลยกับการยืนในจุดยืนที่ถูกต้อง การทำในสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ต้องมีคือความกล้าหาญ”

นอกจากนี้ การมีวิสัยทัศน์ทันโลก มองเห็นอนาคตในการสร้างนโยบายสร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ประเทศไทยสามารถที่จะเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตได้ ไม่ว่าเป็นเรื่องโลกร้อน เรื่องความมั่นคงอาหาร ปัญหาในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ ระบบรัฐสวัสดิการใหม่ๆ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบริหารราชการ เพราะตลอด 100 ปีที่ผ่านมาเราไม่เคยเปลี่ยนเลย ทำได้แค่ปรับ โดยเฉพาะการกระจายอำนาจ ปฏิรูประบบราชการ

‘อลงกรณ์’ เชื่อว่า พรรคประชาธิปัตย์มีฐานอุดมการณ์ มีฐานประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ซึ่งนั่นคือจุดแข็งของพรรค เหลือเพียงไม่กี่อย่างที่ต้องกลับมาฟื้นฟู คือ หนึ่ง ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีความกล้า สอง ยืนในจุดยืนประชาธิปไตยสุจริต สาม ความพร้อมที่จะเป็นรัฐบาลและฝ่ายค้าน อย่ามุ่งแต่จะเป็นรัฐบาลจนละเลยหลักการสำคัญของเรา หรือถ้าเป็นรัฐบาลก็ต้องมีเหตุผลเพียงพอที่จะตอบประชาชนและผู้สนับสนุนได้ สี่ ต้องเปิดพรรคกว้าง สร้างคนใหม่ๆ ซึ่งประกอบไปด้วยคนทุกรุ่น ทุกวัย ผสมผสานระหว่างรอยหยักบนหน้ากับรอยหยักบนสมอง เพราะต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่ขาดประสบการณ์ แต่อาจจะมีวิธีคิดบริหารจัดการที่ดี เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ทำ Put the right man on the right job เลือกคนให้เหมาะกับงาน

นอกจากนี้ ต้องสร้างนโยบาย ต้องตอบโจทย์วันนี้และวันหน้า แม้การเลือกตั้งที่ผ่านมานโยบายพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ขี้เหร่เท่าไหร่เลย แต่พรรคไม่ได้อยู่ในจุดหรือชั้นขายของแถวหน้า จึงต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาธิปัตย์กลับมาอยู่บนชั้นบนสุด แต่จะเลือกไม่เลือกเป็นอีกเรื่อง

“ผมคิดว่าประชาธิปัตย์มีโอกาสด้วยคุณสมบัติของเราที่เป็นสถาบันการเมือง สิ่งที่เราต้องการคือผู้นำและจุดยืนทางการเมืองของเราเท่านั้น”

‘อลงกรณ์’ ยังมีความหวังของการเมืองไทย เพียงแต่อยากให้มองทุกอย่างมีเหรียญ 2 ด้าน อย่ามองอย่างมีอคติ โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการปั่น การแชร์ข่าว ที่อาจจะทำให้เกิดความเกลียดชัง เช่น ดีลลับฐานทัพอเมริกาแทรกแซงพรรคก้าวไกล โดยสถานการณ์เหล่านี้คล้ายคลึงกับช่วงที่เขาเป็นนักศึกษา 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งจะนำไปสู่ความรุนแรง และทำให้คนที่ไม่คิดว่าจะแพ้ฉวยโอกาสได้

“ผมเรียกร้องให้ทุกคนมีสติ อย่าสร้างความเกลียดชัง เพราะประชาธิปไตยสร้างไม่ได้บนฐานความเกลียดชัง ประชาธิปไตยจะเติบโตได้ด้วยเหตุผลและสันติวิธีเท่านั้น ใครก็ตามบอกว่าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแต่ใช้วิธีการของการสร้างความเกลียดชัง การบิดเบือนข้อมูล เขาไม่ใช่นักประชาธิปไตย แต่เป็นผู้ทำลายประชาธิปไตย”

‘อลงกรณ์’ บอกว่า เขากังวลและไม่ต้องการให้ใครลงถนนแล้วก่อให้เกิดการแบ่งแยก และอยากให้การเมืองไทยก้าวพ้นจากปลักตมของวงจรอุบาทว์ ต้องการเห็นศักยภาพของประเทศไทย ต้องไม่เสียเวลาเสียโอกาสอีกแล้ว เพราะทางแก้ไขทางเดียวคือการมีผู้นำการเมืองมีเจตจำนงทางการเมืองที่ซื่อสัตย์ สุจริต ตามครรลองของประชาธิปไตยเท่านั้น