ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาพัฒน์รายงานภาวะสังคมไตรมาส 2 ปี 2566 จ้างงานดีขึ้น แต่หนี้ครัวเรือนเพิ่ม 3.6%

สภาพัฒน์รายงานภาวะสังคมไตรมาส 2 ปี 2566 จ้างงานดีขึ้น แต่หนี้ครัวเรือนเพิ่ม 3.6%

28 สิงหาคม 2023


นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์ฯ”

สภาพัฒน์ เผยภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2566 การจ้างงานปรับตัวดีขึ้นและการว่างงานที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องที่ร้อยละ 1.06 หนี้สินครัวเรือน ขยายตัวเพิ่มขึ้น และคุณภาพสินเชื่อปรับตัวลดลงเล็กน้อย คดีอาญาโดยรวมและผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุจราจรทางบกลดลง ขณะที่การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น ด้านคดีเกี่ยวกับชีวิตร่างกายและเพศ และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ และการร้องเรียนของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ฯ แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 2/2566 ว่า สถานการณ์ด้านแรงงานปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวในสาขานอกภาคเกษตรกรรม ขณะที่ภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง อย่างไรก็ตาม ชั่วโมงการทำงาน ค่าจ้างแรงงาน และอัตราการว่างงานยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

การจ้างงาน ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 1.7 จากการขยายตัวของการจ้างงานสาขานอกภาคเกษตรกรรมที่ร้อยละ 2.5 โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคารยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.7 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและการเข้ามาอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่นเดียวกับสาขาก่อสร้างที่มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 6.0 และสาขาการผลิต การค้าส่งและค้าปลีก และการขนส่งและเก็บสินค้า เพิ่มขึ้นเช่นกันที่ร้อยละ 0.3 0.5 และ 1.1 ตามลำดับ ขณะที่ภาคเกษตรกรรมการจ้างงานหดตัวลงเล็กน้อยจากปี 2565 ที่ร้อยละ 0.2 ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาภัยแล้ง ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น โดยชั่วโมงการทำงานภาพรวมและเอกชนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมาอยู่ที่ 42.7 และ 46.7 ตามลำดับ สำหรับค่าจ้างแรงงาน ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน โดยค่าจ้างเฉลี่ยในภาพรวมและภาคเอกชนอยู่ที่ 15,412 และ 14,032 บาทต่อคนต่อเดือน อัตราการว่างงานมีแนวโน้มดีขึ้น ลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 1.06 หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 4.3 แสนคน

ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป 1) การขาดแคลนแรงงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากพิจารณาตำแหน่งงานว่างและจำนวนแรงงานที่ได้บรรจุงานในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2565 ถึงเดือนมิถุนายน ปี 2566 จะพบว่า ผู้สมัครงาน 1 คนมีตำแหน่งงานรองรับถึง 5 ตำแหน่ง 2) การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการเกษียณอายุของแรงงานทักษะต่ำ โดยไตรมาสสองปี 2566 มีแรงงานทักษะต่ำในภาคเอกชนที่กำลังจะเกษียณอายุกว่า 1.3 ล้านคน ขณะที่แรงงานที่จะเข้ามาทดแทนมีแนวโน้มลดลง และ 3) ผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ของเกษตรกรจากภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยปริมาณฝนสะสมในปัจจุบันมีค่าน้อยกว่าค่าปกติในทุกภูมิภาค ซึ่งการลดลงของปริมาณน้ำจะส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตร

หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสหนึ่ง ปี 2566 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ขณะที่คุณภาพสินเชื่อภาพรวมของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่ความเสี่ยงในการเป็นหนี้เสียของสินเชื่อยานยนต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ไตรมาสหนึ่ง ปี 2566 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 15.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 90.6 ชะลอตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน หากพิจารณาการก่อหนี้ครัวเรือนรายวัตถุประสงค์ พบว่า ครัวเรือนมีการก่อหนี้เพื่ออสังหาริมทรัพย์ และอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนภาพรวมลดลงเล็กน้อย โดยหนี้ NPLs มีมูลค่า 1.44 แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.68 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.62 ของไตรมาสก่อน

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นหนี้สินครัวเรือนที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 1) หนี้เสียและความเสี่ยงของการเป็นหนี้เสียของสินเชื่อยานยนต์ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในไตรมาสหนึ่ง ปี 2566 หนี้ NPL ของสินเชื่อยานยนต์ขยายตัวเพิ่มสูงถึงร้อยละ 30.3 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน SML ต่อสินเชื่อรวมยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน 2) การติดกับดักหนี้ของลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ สะท้อนจากพฤติกรรมการกู้ยืมของลูกหนี้สหกรณ์ส่วนใหญ่เพื่อใช้สอยส่วนตัวและเพื่อชำระหนี้สินเดิม และ 3) การส่งเสริมให้คนไทยมีทัศนคติทางการเงินที่ถูกต้อง แม้ว่าคนไทยจะมีระดับความรู้ทางการเงินดีขึ้น แต่การสำรวจการติดตามระดับความรู้ และการเข้าถึงบริการทางการเงินของครัวเรือน ปี 2565 พบว่า ทัศนคติทางการเงินที่ถูกต้องของคนไทยลดลงเมื่อเทียบกับปี 2563

การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังในไตรมาสสอง ปี 2566 เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับสุขภาพของคนวัยทำงานพบการเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน ภาวะเครียดและมีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น อีกทั้งวัยทำงานมีความเสี่ยงจะเป็นโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม

การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นร้อยละ 62.3 จากการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยด้วยโรคที่มากับฤดูฝน ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออกที่เริ่มมีการระบาดมาตั้งแต่ไตรมาสหนึ่ง ปี 2566 ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยเด็กและวัยเรียนอายุ 5 – 14 ปี ขณะที่สถานการณ์สุขภาพจิต พบว่ามีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น โดยมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ สุขภาพของคนวัยทำงานที่พบการเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน ภาวะเครียดและการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น อีกทั้งคนวัยทำงานยังมีความเสี่ยงจะเป็นโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม ซึ่งเกิดจากการทำงานเป็นเวลานาน ๆ อย่างต่อเนื่อง

การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ในไตรมาสสอง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จำเป็นที่ต้องเฝ้าระวังปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่มักมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญ นอกจากนี้ ยังพบการลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่หนีภาษีมากขึ้น ทำให้ประชาชนและเยาวชนผู้บริโภคสามารถหาซื้อได้ง่าย

การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 โดยเป็นการบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 0.1 ขณะที่แอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เนื่องจากในช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่มีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ ทำให้ประชาชนมีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อสังสรรค์มากขึ้น ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังคือ ความรุนแรงในครอบครัวจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 พบเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นจำนวน 2,347 ราย สูงสุดในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการเมาสุรา และการเมาสุราร่วมกับการใช้ยาเสพติด รวมทั้ง ยังมีประเด็นเกี่ยวกับ การลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่หนีภาษี โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าจากปีก่อน

ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน คดีอาญาโดยรวมลดลงร้อยละ 17.8 แต่ต้องเฝ้าระวังคดีชีวิตร่างกายและเพศ และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ผู้ประสบภัยรวมจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงร้อยละ 12.0 จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 0.3 จำนวนผู้บาดเจ็บลดลง ร้อยละ 12.2 นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญเฝ้าระวังเด็กและเยาวชนใช้กัญชาแบบสูบเพื่อนันทนาการ และการบังคับใช้กฎหมายจำกัดความเร็วอย่างจริงจัง

ไตรมาสสอง ปี 2566 คดีอาญารวมมีการรับแจ้งทั้งสิ้น 88,719 คดี ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 17.8 เป็นการรับแจ้งคดียาเสพติด 70,297 คดี ลดลงร้อยละ 23.8 ขณะที่คดีชีวิตร่างกายและเพศรับแจ้ง 4,643 คดี และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์รับแจ้ง 13,779 คดี เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 และ 14.7 ตามลำดับด้านอุบัติเหตุทางถนน จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน มีผู้ประสบภัยสะสมรวม 198,685 ราย ลดลงร้อยละ 12.0 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2565 โดยมีผู้บาดเจ็บสะสม 195,125 ราย ลดลงร้อยละ 12.2 และผู้เสียชีวิตสะสม 3,560 ราย ลดลงร้อยละ 0.3 ประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 77.8 

ทั้งนี้ มีประเด็นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่ต้องให้ความสำคัญ คือ 1) การหลอกลวงทางโทรศัพท์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 คนไทยต้องรับสายจากมิจฉาชีพ 17 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 165.6 รวมทั้งจากข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบคดีดังกล่าวมากถึง 278,572 คดี มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 38,786 ล้านบาท 2) การเฝ้าระวังเด็กและเยาวชนใช้กัญชาแบบสูบเพื่อนันทนาการ จากผลการสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมการใช้สารเสพติด พบว่า ปี 2565 ทุกกลุ่มอายุมีการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 18 – 19 ปี ที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9.7 จากปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 และ 3) การบังคับใช้กฎหมายจำกัดความเร็ว ซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดถึงร้อยละ 68 จึงต้องการบังคับใช้กฎหมายจำกัดความเร็วอย่างจริงจัง

การร้องเรียนผ่าน สคบ. เพิ่มขึ้นสูง ขณะที่การร้องเรียนผ่านสำนักงาน กสทช. ลดลง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวัง คือ การซื้อขายที่อยู่อาศัยมือสองที่ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะการซื้อทรัพย์ที่มาจากการขายทอดตลาด และการแอบอ้างนำหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของประชาชนไปเปิดเบอร์โทรศัพท์โดยไม่รู้ตัว

ไตรมาสสอง ปี 2566 การรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.5 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยการร้องเรียนผ่าน สคบ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.1 โดยเฉพาะในบริการด้านสัญญา ขณะที่การร้องเรียนในกิจการโทรคมนาคมของสำนักงาน กสทช. ลดลงร้อยละ 40.5 ซึ่งการร้องเรียนเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังคงมีมากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวัง คือ

    1) การซื้อขายที่อยู่อาศัยมือสองที่ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะการซื้อทรัพย์ที่มาจากการขายทอดตลาด โดยในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบธุรกิจที่ขายทรัพย์ทอดตลาดมักให้ข้อมูลสำคัญกับผู้ซื้อที่ไม่ครบถ้วน ตลอดจนมีการทำสัญญาโดยอาจใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาต่อผู้ซื้อในอนาคต และ
    2) ประชาชนบางส่วนถูกแอบอ้างนำหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนไปเปิดเบอร์โทรศัพท์มือถือโดยไม่รู้ตัว

  • สภาพัฒน์ฯเผย Q1/2566 อัตราว่างงานกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่หนี้ครัวเรือนยังไม่ลด
  • การย้ายถิ่นของประชากรช่วง COVID-19 : ความท้าทายของตลาดแรงงาน

    จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วง ปี 2563 – 2565 ส่งผลให้ประชากรจำนวนหนึ่งเคลื่อนย้ายจากแหล่งงานไปยังพื้นที่อื่น เนื่องจากการปิดโรงงานและสถานประกอบการ จากข้อมูลการสำรวจการย้ายถิ่นของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระหว่างปี 2562 – 2565 พบว่า ในช่วง COVID-19 เกิดการเคลื่อนย้ายของประชากรมากขึ้น โดยในช่วงปี 2563 – 2564 มีลักษณะการย้ายออกจากพื้นที่/จังหวัดขนาดใหญ่ที่เป็นตลาดงาน สำหรับภูมิภาคที่มีการย้ายเข้าจะเป็นพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ขณะที่ในปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว จึงเริ่มเห็นการเคลื่อนย้ายไปยังเมืองใหญ่มากขึ้น

    สำหรับการย้ายถิ่นในช่วง COVID-19 ซึ่งกำหนดให้เป็นผู้ที่เคลื่อนย้ายมาอาศัยในพื้นที่ปัจจุบันมากกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี ในปี 2565 พบว่า คนกลุ่มนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 2.1 ล้านคน โดยครึ่งหนึ่งของประชากรต้องการจะอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ตลอดไป หรือเป็นประชากรย้ายถิ่นถาวร ที่มีประมาณ 1.1 ล้านคน ขณะที่อีก 1.0 ล้านคน เป็นประชากรย้ายถิ่นชั่วคราว ซึ่งต้องการย้ายไปที่อื่นในระยะเวลาอันสั้น (น้อยกว่า 2 ปี) เพียง 1.9 แสนคน เท่านั้น นอกจากนี้หากพิจารณาสถานะการทำงานของประชากรย้ายถิ่นในช่วง COVID-19 พบว่า 1.4 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 65.2 เป็นกำลังแรงงาน ในจำนวนนี้มีงานทำแล้วกว่า 1.3 ล้านคน โดยร้อยละ 58.1 อยู่ในภาคบริการ ซึ่งเกือบ 1 ใน 4 ไม่มีหลักประกันทางสังคม และส่วนใหญ่เป็นแรงงานอายุน้อยและมีทักษะสูง

    จากสถานการณ์ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า
    1) การคาดหวังว่าจะให้แรงงานเคลื่อนย้ายช่วง COVID-19 กลับมาชดเชยการขาดแคลนแรงงานในปัจจุบันคงทำได้ยาก มีประชากรเพียง 1.9 แสนคน ที่ต้องการย้ายถิ่นภายใน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งในจำนวนนี้เป็นกำลังแรงงานเพียง 8.4 หมื่นคน
    2) แรงงานที่กลับภูมิลำเนาจะมีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาท้องถิ่น โดยกำลังแรงงานย้ายถิ่นมีระดับการศึกษา/ทักษะที่ค่อนข้างสูง ร้อยละ 39.1 เป็นผู้จบการศึกษาระดับปวช. ขึ้นไป
    3) แรงงานที่เคลื่อนย้ายในช่วง COVID-19 ส่วนใหญ่ไม่มีสวัสดิการรองรับ ซึ่งไม่เพียงจะกระทบต่อแรงงาน แต่ยังกระทบต่อครอบครัวของแรงงานที่จะขาดหลักประกันอีกด้วย และ
    4) การคืนถิ่นยังช่วยสร้างผลกระทบที่ดีเชิงสังคม อาทิ การช่วยให้เด็กอาศัยอยู่กับพ่อแม่มากขึ้น รวมทั้งผู้สูงอายุที่อาศัยในต่างจังหวัดมีผู้ดูแล แก้ปัญหาครอบครัวแหว่งกลาง และทำให้ครอบครัวมีความเข้มแข็งมากขึ้น

    ดังนั้น แนวทางที่ต้องให้ความสำคัญต่อไป คือ 1) การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยภาคเอกชนต้องมีมาตรการจูงใจให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน ภาครัฐอาจใช้โอกาสในช่วงการขาดแคลนแรงงานให้สถานประกอบการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อทดแทนแรงงานที่หายไป ขณะเดียวกัน บางอาชีพซึ่งเป็นอาชีพที่คนไทยไม่ทำ หรืองานที่ใช้ทักษะต่ำอาจจำเป็นต้องพิจารณานำเข้าแรงงานต่างด้าวเพิ่มเติมหากปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะต่ำมีความรุนแรงขึ้น 2) การดึงศักยภาพของแรงงานคืนถิ่น โดยสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการสร้างงานในพื้นที่มากขึ้น 3) การส่งเสริมให้แรงงานทุกคนได้รับความคุ้มครองทางสังคม เกือบ 1 ใน 4 ยังเป็นกลุ่มที่ประกอบอาชีพอิสระ ที่ภาครัฐยังต้องเร่งส่งเสริมประชาสัมพันธ์ให้แรงงานอิสระกลุ่มดังกล่าวที่เคยเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมได้คงสภาพสมาชิกต่อไป และส่งเสริมการเข้าเป็นสมาชิกในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ม.39 ม.40 กอช. และ 4) การขยายบทบาทการสร้างความเข้มแข็งในท้องถิ่น ประชากรย้ายกลับไปท้องถิ่นเป็นโอกาสที่จะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งของชุมชนให้ดีขึ้น โดยต้องดึงศักยภาพของคนกลุ่มนี้ให้มีบทบาทในการช่วยเหลือชุมชน ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการร่วมกันในการพัฒนาพื้นที่ชุมชนของตนเอง

    จัดการซากรถยนต์อย่างไร เมื่อรถ EV มาแทนที่

    ความนิยมใช้รถยนต์ EV ของคนไทยมีเพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่าในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2566 มีการจดทะเบียนรถยนต์ EV รวมกว่า 32,450 คัน คิดเป็นร้อยละ 10 ของรถยนต์ที่จดทะเบียนทั้งหมด และคาดการณ์ว่าสัดส่วนรถยนต์ EV ของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 34 ภายในปี 2573 แม้การเพิ่มขึ้นของรถยนต์ EV จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่รถยนต์ EV ที่เพิ่มขึ้นยังหมายถึง รถยนต์สันดาปจะถูกแทนที่ และเลิกใช้งานเป็นจำนวนมากด้วย ทั้งนี้ ในปี 2565 มีรถยนต์ถูกเลิกใช้งานจำนวนกว่า 2.7 แสนคัน ขณะเดียวกันรถยนต์ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันยังมีอายุมากกว่า 20 ปี จำนวนกว่า 5 ล้านคัน ทำให้ในอนาคตจะมีรถที่เลิกใช้งานเพิ่มขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีระบบการจัดการที่เหมาะสม เนื่องจากส่วนประกอบของรถยนต์มีทั้งที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ และก่อให้เกิดโทษ โดยร้อยละ 75 ของส่วนประกอบรถยนต์สามารถนำเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ (remanufacturing) และบางส่วนสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (recycling) ได้ ขณะที่ส่วนประกอบอีกร้อยละ 25 เป็นของเสียและเป็นอันตราย อาทิ สารทำความเย็น น้ำมันหล่อลื่น แบตเตอรี่ ซึ่งต้องการการกำจัดอย่างเหมาะสม

    ในขณะที่การจัดการซากรถยนต์ส่วนใหญ่ของไทยเป็นการจัดการที่ยังไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการจัดการของเสีย ซึ่งมาจากกระบวนการถอดรื้อชิ้นส่วน/การจัดการของเสียอันตราย การแยกส่วนประกอบ โดยชิ้นส่วนที่ไม่มีมูลค่าจะถูกทิ้งเป็นขยะในชุมชนและถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง รวมถึงการรีไซเคิลที่ไม่ถูกวิธีของโรงงานนอกระบบ ทำให้การจัดการของเสียอันตรายเป็นภาระที่ตกอยู่กับท้องถิ่น ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นต้องมีกฎระเบียบหรือข้อบังคับในการจัดการซากรถยนต์บนหลักการของการจัดการสิ่งแวดล้อม การเก็บรวบรวมรถยนต์ที่เลิกใช้งานแล้ว และการบำบัดของเสียอันตรายที่เกิดจากซากรถยนต์ ตลอดจนการมีบทลงโทษในกรณีการจัดการที่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญควบคู่กับการออกกฎหมาย คือ

      1) การส่งเสริมให้มีสถานประกอบการจัดการซากรถยนต์แบบครบวงจรและได้มาตรฐาน
      2) ต้นทุนการซื้อรถยนต์ที่อาจจะเพิ่มขึ้นจากการที่ผู้ผลิตผลักภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการซากรถยนต์ให้กับผู้บริโภค และ
      3) การบูรณาการการทำงานของหน่วยงานกำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิตรถยนต์ การจดทะเบียนรถยนต์ รวมไปถึงการจัดการซากรถยนต์และของเสียอันตรายที่เกิดจากรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว

    LGBTQ+ : หลากหลายที่ไม่แตกต่าง เพื่อเปิดกว้างสู่ความเสมอภาคทางเพศ

    จากข้อมูลของ LGBT Capital และ Ipsos พบว่า ในปี 2566 ประเทศไทยคาดว่าจะมีจำนวนประชากร LGBTQ+ ประมาณ 5.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีจำนวนเพียง 4.2 ล้านคน สังคมไทยมีการยอมรับและเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศมากขึ้น โดยในส่วนของภาครัฐมีการผลักดันกฎหมายส่งเสริมสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+  อาทิ ร่างพราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ….และการยกร่างแก้ไขพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ….(สมรสเท่าเทียม) สถานศึกษาอนุญาตให้นักศึกษาและบัณฑิตสามารถแต่งกายตามเพศวิถีของตนได้ ขณะเดียวกันภาคเอกชน บางบริษัทเริ่มมีนโยบายส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิของ LGBTQ+ อาทิ สวัสดิการด้านสุขภาพไปยังคู่ชีวิตโดยไม่จำกัดเพศ รวมถึงการขยายตัวของภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ซีรีส์วายซึ่งมีจำนวนผู้ชมผ่าน LINE TV มากถึง 18.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนมากกว่า 3 เท่าตัว

    ในทางกลับกันสังคมไทยในปัจจุบัน ยังคงพบปัญหาการเลือกปฏิบัติในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง จากรายงานการศึกษาของ World bank ในปี 2561 พบว่า ร้อยละ 90.63 ของกลุ่มตัวอย่าง ประสบปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งพบได้ตั้งแต่ในระดับครอบครัว ระดับวัยเรียนและวัยศึกษา จนกระทั่งเข้าสู่ระดับวัยทำงาน รวมถึงด้านการใช้ชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งนี้ การเลือกปฏิบัติส่งผลกระทบเชิงลบต่อกลุ่ม LGBTQ+ หลายด้าน โดยเฉพาะทางด้านอารมณ์และจิตใจ จากผลการสำรวจของคิด for คิดส์ : ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี 2565 พบว่า กลุ่มเยาวชน LGBTQ+ ที่ถูกเลือกปฏิบัติร้อยละ 50.5 มีความเครียดสูง และเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชนภายหลัง สอดคล้องกับรายงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในปี 2562 ที่พบว่า ร้อยละ 48.5 กลุ่ม LGBTQ+ วัยแรงงาน มีปัญหาทางด้านอารมณ์ จากความเครียดที่ต้องพยายามปิดบังการทางเพศ เพื่อหลีกเลี่ยงอคติทางเพศซ้ำ ๆ จากประสบการณ์เคยถูกปฏิเสธเข้าทำงานหรือเลื่อนตำแหน่ง

    ดังนั้น สังคมจำเป็นต้องสร้างการยอมรับและการสนับสนุน โดยเริ่มต้นตั้งแต่

      1) ครอบครัว การรับฟัง การพูดคุยด้วยทัศนคติที่ดี จะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจต่อลูกหรือสมาชิกคนในครอบครัวที่เป็น LGBTQ+ อย่างถูกต้อง พร้อมให้คำแนะนำปรึกษาโดยปราศจากอคติทางเพศ
      2) สถานศึกษาหรือโรงเรียน จำเป็นต้องให้ความรู้เกี่ยวกับด้านสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ แก่นักเรียน นักศึกษา ครู หรือบุคลากรในสถานศึกษา พัฒนาปรับปรุงเนื้อหาการเรียนการสอนให้คำนึงถึงมิติความหลากหลายเพศ
      3) สถานที่ทำงาน พัฒนานโยบายที่เน้นป้องกันการถูกเลือกปฏิบัติ การคุกคามทางเพศในที่ทำงาน และสามารถเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี
      4) กฎหมาย เร่งรัดการออกกฎหมายเพื่อให้กลุ่ม LGBTQ+ ได้รับสิทธิต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมกับเพศอื่น อาทิ การรับบุตรบุญธรรม การจัดการทรัพย์สินร่วม และการเข้าถึงสวัสดิการของอีกฝ่ายในฐานะคู่สมรส รวมทั้งส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิความเท่าเทียมทางเพศแก่ประชาชนทุกกลุ่ม และ 5) การสร้างความตระหนักรู้ทางสังคม เน้นสร้างการมีส่วนร่วมผ่านกิจกรรมทางสังคม โดยการสร้างพื้นที่สาธารณะในการแบ่งปันความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันได้แบบเปิดเผย

    บทความเรื่อง “หนี้สินคนไทย : ภาพสะท้อนจากข้อมูลเครดิตบูโร”

    การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลง และกระทบต่อการจ้างงานและระดับรายได้ของครัวเรือน ทำให้ครัวเรือนขาดสภาพคล่องและมีแนวโน้มที่จะก่อหนี้เพิ่มมากขึ้น โดยสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ในปี 2564 เพิ่มสูงสุดเป็นประวัติกาลที่ร้อยละ 94.7 ซึ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนจำเป็นต้องเข้าใจพฤติกรรมการก่อหนี้ของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้สามารถออกแบบมาตรการแก้ไขได้อย่างเหมาะสมและตรงจุด ซึ่งข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) เป็นข้อมูลที่มีรายละเอียดของลูกหนี้ และการรายงานมูลค่าหนี้จัดชั้นกล่าวถึงพิเศษ (SML) และหนี้เสีย (NPL) ความครอบคลุมทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่น ๆ

    สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนจากข้อมูลเครดิตบูโรในไตรมาสหนึ่ง ปี 2566 มีมูลค่าหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 12.9 ล้านล้านบาท และมีบัญชีสินเชื่อในระบบประมาณ 83.1 ล้านบัญชี โดยเมื่อพิจารณาพฤติกรรมการก่อหนี้และการชำระหนี้จำแนกตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มวัยทำงานอายุต่ำกว่า 50 ปี มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง COVID-19 โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยซึ่งมีการกู้เพิ่มขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ และการผ่อนคลายมาตรการ LTV ของ ธปท. ที่ช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ขณะที่พฤติกรรมการชำระหนี้ พบว่า กลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี มีปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นหลังช่วง COVID-19 โดยมีมูลค่า NPL ในปี 2565 สูงกว่าปี 2562 ทั้งที่ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงความเปราะบางของลูกหนี้กลุ่มนี้ที่รายได้อาจยังไม่ฟื้นตัว นอกจากนี้ กลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี ยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกยึดรถ เนื่องจากมีสัดส่วน SML ต่อสินเชื่อรวมสูงที่สุดเมื่อเทียบกับอายุอื่น รวมทั้งกลุ่มอายุน้อยกว่า 40 ปี ยังมีหนี้เสียในสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องในระดับสูงอีกด้วย

    สำหรับพฤติกรรมการก่อหนี้ของกลุ่มอายุมากกว่า 50 ปี พบว่า ช่วง COVID-19 มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้อื่น ๆ ซึ่งประกอบไปด้วย หนี้เพื่อประกอบธุรกิจการเกษตร หนี้เช่าซื้อมอเตอร์ไซด์ และหนี้ที่ไม่สามารถจัดอยู่ในกลุ่มอื่นๆ โดยหนี้ประเภทนี้กลุ่มอายุ 50 – 59 ปี เป็นกลุ่มที่มีการก่อหนี้คิดเป็นมูลค่าสูงที่สุด นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาพฤติกรรมการชำระหนี้ยังพบว่า หลัง COVID-19 กลุ่มอายุ 50 – 59 ปี และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นจากปี 2562

    จากข้อมูลเครดิตบูโร พบว่า

      1) ยังมีหนี้จำนวนมากที่ไม่เข้าสู่ระบบข้อมูล NCB ทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถตรวจสอบสถานะหนี้สินและรายได้สุทธิหลังหักภาระหนี้ของลูกหนี้ได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การกู้ยืมเกินศักยภาพในการชำระคืนของลูกหนี้
      2) การแก้ไขปัญหาหนี้เสียต้องให้ความสำคัญกับหนี้เสียที่เกิดจากผู้ให้สินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์มากขึ้น โดยสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมของ NCB ในปี 2565 สูงถึงร้อยละ 7.6 แต่หากพิจารณาหนี้เสียที่เกิดจากเฉพาะธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) พบว่ามีสัดส่วนดังกล่าวเพียงร้อยละ 2.6 ซึ่งน้อยกว่าเกือบ 3 เท่า สะท้อนให้เห็นว่า ลูกหนี้ที่มีปัญหาเป็นลูกหนี้ที่เกิดจากผู้ให้สินเชื่ออื่น ๆ ที่ไม่ใช่ ธพ.
      3) กลุ่มลูกหนี้ที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ กลุ่มวัยแรงงานตอนต้น และกลุ่มผู้สูงอายุ โดยกลุ่มวัยแรงงานตอนต้นหรือกลุ่มเจนวายมีพฤติกรรมใช้จ่ายไปกับทัศนคติว่า “ของมันต้องมี” ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุ พบว่า มีหนี้เสียมีการขยายตัวสูงกว่า
      กลุ่มอื่น ส่วนหนึ่งเกิดจากการมีทักษะทางการเงินต่ำ สะท้อนให้เห็นว่า คนแต่ละช่วงวัยและหนี้แต่ละประเภทต้องการแนวทางแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน และ 4) หนี้ครัวเรือนอื่น ๆ ที่ไม่สามารถจำแนกประเภทได้ อาจเป็นหนี้ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยปี 2565 หนี้อื่น ๆ มีสัดส่วนต่อมูลค่าหนี้ทั้งหมดกว่าร้อยละ 18.8 อีกทั้ง ยังมีสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมสูงเป็นอันดับสอง และมีลูกหนี้ที่เป็น NPL รวมเกือบ 2 ล้านราย

    ดังนั้น การแก้ปัญหาอาจควรมีแนวทาง ดังนี้

      1) ขยายความครอบคลุมของสมาชิกเครดิตบูโร โดยมีมาตรการจูงใจให้ผู้ให้สินเชื่อทุกกลุ่มเข้าเป็นสมาชิก NCB อาทิ งดเว้นเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า และกำหนดให้ผู้ให้สินเชื่อต้องใช้ข้อมูลของ NCB ประกอบด้วยทุกครั้ง
      2) ต้องมีการกำกับดูแลให้ผู้ให้บริการสินเชื่อดำเนินการตามเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเข้มงวด โดย ธปท. มีการจัดทำเกณฑ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ควรมีการกำกับดูแลและติดตามการดำเนินการของผู้ให้สินเชื่อร่วมด้วย
      3) หน่วยงานรัฐในฐานะคนกลางต้องส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับศักยภาพของลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลระหว่างรายได้และภาระหนี้ หรือระยะเวลาที่สามารถผ่อนชำระหนี้ต่อไปได้
      4) ส่งเสริมการปลูกฝัง Financial literacy และวินัยทางการเงินต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงวัย โดยวัยเด็ก/วัยเรียนควรมีหลักสูตรที่ช่วยปลูกฝังพฤติกรรมทางการเงินที่ดี ขณะที่วัยทำงานควรสร้างความตระหนักรู้ในการวางแผนทางการเงิน การลงทุน และการเก็บออม และกลุ่มผู้สูงอายุควรคำนึงถึงการใช้จ่ายในสินค้าที่จำเป็น และระมัดระวังในการก่อหนี้ และ
      5) ดำเนินนโยบายที่ไม่กระตุ้น ให้เกิดการก่อหนี้หรือกระทบต่อการชำระหนี้ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีหนี้สะสมจำนวนมาก อาทิ เกษตรกร จากนโยบายพักชำระหนี้ที่สร้างแรงจูงใจการไม่ชำระหนี้