ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ความคืบหน้า “การพัฒนาวัคซีน COVID-19 ของไทย”

ความคืบหน้า “การพัฒนาวัคซีน COVID-19 ของไทย”

24 พฤษภาคม 2021


นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)

สภาพัฒน์ฯแจงความคืบหน้า “การพัฒนาวัคซีน COVID-19 ของประเทศไทย” เครื่องมือสำคัญในการป้องกัน-ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในอนาคต

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) แถลงข่าว ภาวะสังคมไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 พร้อมนำเสนอรายงานพิเศษเรื่อง “การพัฒนาวัคซีน COVID-19 ของประเทศไทย” ว่าท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 วัคซีนถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค แต่การผลิตวัคซีนขึ้นใช้เองภายในประเทศสามารถผลิตได้เพียงบางชนิดเท่านั้น ส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศมูลค่ากว่าร้อยละ 80

นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของโรคอาจส่งผลต่อการขาดแคลนในการจัดหาวัคซีนได้อย่างเพียงพอและทันท่วงที ซึ่งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการพัฒนา/ผลิตวัคซีนภายในประเทศ เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะมีวัคซีนในปริมาณที่เพียงพอต่อการป้องกันโรคแก่ประชาชน

ปัจจุบันวัคซีน COVID-19 มีการพัฒนา หรือ ผลิตจากผู้พัฒนากว่า 80 รายทั่วโลก จากข้อมูล ณ วันที่ 22 มกราคม 2564 พบว่า มีการผลิตวัคซีนอยู่จำนวน 237 ชนิด โดยมีจำนวน 173 ชนิด ที่กำลังอยู่ในช่วงการทดลองกับสัตว์ และมีจำนวน 64 ชนิดที่กำลังอยู่ในการศึกษาในมนุษย์

ทั้งนี้ วัคซีน COVID-19 สามารถแบ่งได้เป็น 4 ชนิดตามกระบวนการผลิต ได้แก่ วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม (mRNA),วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Recombinant Viral Vector Vaccine),วัคซีนที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein Subunit Vaccine) และวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated Vaccine)

สำหรับการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ของไทย ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของการผลิตวัคซีน ประกอบด้วย

    1) การพัฒนาวัคซีนตัวเลือกระดับห้องปฏิบัติการ
    2) การทดสอบวัคซีนในสัตว์ทดลอง
    3) การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 เพื่อศึกษาความปลอดภัยและปริมาณที่ใช้
    4) การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 เพื่อยืนยันความปลอดภัยและประสิทธิภาพ
    5) การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 เพื่อทดสอบประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ และติดตามอาการอันไม่พึงประสงค์
    6) การขึ้นทะเบียนและอนุมัติการใช้งาน
    7) การตลาดวัคซีนและห้องปฏิบัติการอ้างอิง

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีนโยบายและแผนยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติมาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้กำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2563-2565 ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

    1) การพัฒนาระบบและบริหารจัดการงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
    2) การส่งเสริม สนับสนุนการวิจัยพัฒนา และการผลิตวัคซีน
    3) การส่งเสริม สนับสนุนอุตสาหกรรมวัคซีนภายในประเทศ
    4) การพัฒนาศักยภาพบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐาน
    5) การเสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กร

โดยมีทิศทางการผลิตวัคซีน COVID-19 ใน 2 ด้าน คือ

1) การวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนในประเทศ โดยบางส่วนได้อาศัยความร่วมมือจากต่างประเทศ อาทิ การวิจัยพัฒนาวัคซีนชนิด mRNA โดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula VRC) ร่วมกับ University of Pennsylvania การวิจัยพัฒนาวัคซีนชนิด DNA โดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ร่วมกับ The University of Sydney, The University of Adelaide และ Telethon Kids Institute in Perth การวิจัยพัฒนาวัคซีนชนิด Inactivated โดยองค์การเภสัชกรรมร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบัน PATH และ The University of Texas at Austin การวิจัยพัฒนาวัคซีนชนิด Protein Subunit โดยบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จํากัด คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดจนการวิจัยพัฒนาวัคซีนชนิด Virus-Like Particle (VLP) โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

2) การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากต่างประเทศ ได้แก่ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จํากัด ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนชนิด Viral Vector จากบริษัท AstraZeneca ร่วมกับมหาวิทยาลัย Oxford

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังขาดโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและองค์ความรู้ที่จำเป็นในการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีน อาทิ องค์ความรู้ในการวิจัยวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำ ศูนย์ทดสอบวัคซีนในสัตว์ทดลองที่ได้มาตรฐาน วัสดุอุปกรณ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีน ความต่อเนื่องในการวิจัย พัฒนา และการพัฒนาให้เกิดห้องปฏิบัติการอ้างอิง (Reference Laboratory)

วิกฤติครั้งนี้จึงเป็นโอกาสและความท้าทายในการวิจัยและผลิตวัคซีนของไทย ตลอดจนการสร้างศักยภาพและความพร้อมสำหรับโรคระบาดใหม่ ๆ ในอนาคต ได้แก่ การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศไม่เป็นไปตามที่กำหนดและข้อจำกัดในการนำมาพัฒนาต่อยอด จึงควรส่งเสริมให้มีการศึกษาขั้นตอนของการถ่ายทอดเทคโนโลยีทุกประเด็น (Due Diligence Study) ตลอดจนการต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาการผลิตวัคซีนในระดับอุตสาหกรรม ผ่านการมีส่วนร่วมทั้งจากภาครัฐและเอกชนภายใต้แนวคิดความร่วมมือ (Consortium)

ต้นทุนการผลิตการวิจัยและพัฒนาวัคซีนมีต้นทุนสูง ในขณะที่งบประมาณของประเทศมีจำกัด ทำให้การสนับสนุนอาจไม่ต่อเนื่องและเพียงพอ จึงจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ลดความซ้ำซ้อนของการวิจัย/พัฒนา ให้เกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะของหน่วยงาน รวมทั้งสนับสนุนความร่วมมือในการพัฒนาและผลิตวัคซีนในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) ตลาดวัคซีนโดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน โดยการสร้างความร่วมมือเพื่อพึ่งตนเองด้านวัคซีนในภูมิภาคอาเซียนทั้งด้านวิชาการ และบริหารจัดการ เพื่อให้ประชาคมอาเซียนเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ในราคาที่เหมาะสม

ดังนั้น การสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนให้กับประเทศไทย จำเป็นจะต้องพัฒนาทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูง และการผลิตในระดับอุตสาหกรรม โดยต้องมีความชัดเจนเชิงนโยบาย การบริหารจัดการที่ดี เพื่อให้เกิดการระดมทรัพยากรและความร่วมมือของทุกภาคส่วน ตลอดจนเครือข่ายระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน