ชนบทไทยเผชิญกับความท้าทายด้านความยากจนมากที่สุดรวมถึงความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง การลงทุนในนโยบายการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมมากขึ้นจะสามารถช่วยคนยากจนในชนบทได้
วันที่ 21 ตุลาคม 2565 ธนาคารโลกเปิดตัว รายงานการวิเคราะห์รายได้ในชนบท – โอกาสและความท้าทายของเกษตรกร (Rural Income Diagnostic-Challenges and Opportunities for Rural Farmers) ซึ่งพบว่า ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความก้าวหน้าที่โดดเด่นในการลดความยากจน แม้ว่าความเหลื่อมล้ำจะยังคงอยู่ในระดับสูง โดยอัตราความยากจนเริ่มลดลงจาก 58% ในปี 2533 เป็น 6.8% ในปี 2563 (วัดจาก upper-middle income poverty line ที่ 5.50 ดอลลาร์ต่อวัน) โดยได้รับแรงหนุนจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อย่างไรก็ตาม 79% ของคนยากจนยังคงอยู่ในพื้นที่ชนบทและส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
รายงานวิเคราะห์นี้ชี้ให้เห็นว่า การลดความยากจนของประเทศไทยชะลอตัวลงตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา โดยความยากจนเพิ่มขึ้นในปี 2559, 2561 และ 2563 สะท้อนถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง รายได้จากภาคการเกษตรและภาคธุรกิจที่ซบเซา และวิกฤติโควิด-19 ในปี 2563 อัตราความยากจนในพื้นที่ชนบทสูงกว่าในเขตเมืองมากกว่า 3% และจำนวนคนจนในชนบทมีจำนวนมากกว่าคนจนในเมืองเกือบ 2.3 ล้านคน การกระจายความยากจนยังมีความแตกต่างในแต่ละภูมิภาค โดยอัตราความยากจนในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือสูงเป็นสองเท่าของอัตราความยากจนเฉลี่ยของประเทศ
การวิเคราะห์ยังพบว่า ในปี 2562 ประเทศไทยมีอัตราความไม่เท่าเทียมกันของรายได้สูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกด้วยค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) ที่ 43.3% กลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด 1% แรกมีสัดส่วนในรายได้ประชาชาติถึง 21% ในขณะที่ส่วนแบ่งรายได้ของ 5 กลุ่มล่างสุด นั้นมีสัดส่วนเพียง 14%
รายงาน Global Wealth Report โดย Credit Suisse แสดงให้เห็นในทำนองเดียวกัน แม้ส่วนแบ่งความมั่งคั่งของกลุ่ม 1% แรกลดลงจาก 67% ในปี 2561 เป็น 40% ในปี 2563 แต่ก็ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกที่ 38%
ภาคชนบทมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นที่อยู่ของคนยากจนส่วนใหญ่ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีรายปานกลางระดับสูงที่เศรษฐกิจชนบทยังมีความสำคัญในเศรษฐกิจของประเทศ ในปี 2563 สัดส่วนของประชากรในชนบทของประเทศไทย (49%) ยังคงสูงกว่าประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง (34%) และค่าเฉลี่ยของโลก (44%) อย่างมีนัยสำคัญ เศรษฐกิจในชนบทมีการจ้างงานประมาณ 21 ล้านคน (55% ของการจ้างงานทั้งหมด) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจังหวัดที่มีประชากรในชนบทจำนวนมากมีสัดส่วนถึงประมาณ 48% ของจีดีพีของประเทศในปี 2562
ภาคชนบทยังมีบทบาทต่อภาคการเงินของไทย โดย 49% ของผู้ที่กู้เงินจากสถาบันการเงินในระบบอยู่ในพื้นที่ชนบทและมีสัดส่วนร้อยละ 40 ของยอดหนี้คงค้าทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม คนจนส่วนใหญ่ (79%) อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท ส่วนใหญ่อยู่ในครัวเรือนเกษตรกรรม ในปี 2562 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนในชนบทอยู่ที่ประมาณ 68% ของครัวเรือนในเมือง และผู้คนในครัวเรือนในชนบทยังคงประสบปัญหาการศึกษาในระบบในระดับต่ำ มีผู้ที่ต้องอาศัยการพึ่งพิงจำนวนมากขึ้น และมีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก
เกษตรกรรมมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่รายได้สุทธิของเกษตรกรที่ลดลงอย่างต่อเนื่องก่อให้เกิดความท้าทายอย่างมากต่อความพยายามในการลดความยากจน ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รายได้เกษตรกรลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ่วงความก้าวหน้าในการลดความยากจน แม้ภาคเกษตรกรรมจะมีสัดส่วนเพียง 8% ของ GDP แต่มีการจ้างงานราวหนึ่งในสามของกำลังแรงงานของประเทศ และมีส่วนสนับสนุน 15-20% ของการส่งออกทั้งหมด ประเทศไทยเป็นผู้ส่งสินค้าเกษตรรายสำคัญสู่ตลาดโลก ทั้งการเป็นผู้ส่งออกข้าวและน้ำตาลรายใหญ่ และผู้ส่งออกกุ้งแช่แข็ง ปลาทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง สัตว์ปีกปรุงสุก และมันสำปะหลังชั้นนำของโลก อย่างไรก็ตาม ผลงานโดดเด่นในระดับโลกนี้กลบความท้าทายหลายประการที่เกษตรกรในท้องถิ่นต้องเผชิญ ประเทศโดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
รายงานการวิเคราะห์รายได้ในชนบท – โอกาสและความท้าทายของเกษตรกรของประเทศไทยที่จัดทำโดยธนาคารโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาความท้าทายและโอกาสในการยกระดับรายได้และผลผลิตในภาคชนบท รายงานวิเคราะห์นี้ยังเสนอวิธีที่จะสนับสนุนการเติบโตของรายได้ในระยะสั้นและระยะกลางโดยให้ความสำคัญกับครัวเรือนที่อยู่ในภาคเกษตรกรรม เนื่องจากเป็นภาคส่วนที่มีความยากจนและมีความเปราะบางมากกว่าภาคส่วนอื่นๆ
รายได้และความท้าทายของครัวเรือนชนบท
ค่าแรงและเงินเดือนเป็นรายได้หลักของครัวเรือนทั้งในเมืองและชนบท แต่ครัวเรือนชนบทพึ่งพารายได้จากการทำการเกษตรมากกว่า สัดส่วนรายได้เฉลี่ยของการทำธุรกิจเกษตร หรือแหล่งรายได้ แตะ 23% ในกลุ่มครัวเรือนชนบทในกลุ่มที่ยากจนที่สุด เทียบกับ 13% ของกลุ่มที่รวยที่สุด
ในปี 2563 นั้น 35% ของครัวเรือนชนบทเป็นครัวเรือนเกษตรกรทั้งครอบครัว (สมาชิกทุกคนในครอบครัวทำงานในภาคเกษตร) 12% มีหลากหลาย (อย่างน้อยสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวอยู่ในภาคเกษตรและสมาชิกหนึ่งคนอยู่นอกภาคเกษตร) และ 40% ของครัวเรือนที่ทุกคนอยู่นอกภาคเกษตร นอกจากนี้ยังกลุ่มผู้สูงอายุ 14% ที่ไม่มีสมาชิกคนใดในครอบครัวทำงานมีรายได้ ครัวเรือนเกษตรในชนบท ซึ่งสมาชิกทุกคนในครอบครัวทำงานในภาคเกษตร เป็นกลุ่มที่ยากจนที่สุด ขณะที่ครัวเรือนนอกภาคเกษตรมีสถานะทางเศรษฐกิจทีดีกว่า ในปี 2565 อัตราความยากจนสูงกว่า 11% ในกลุ่มครัวเรือนเกษตรกรชนบท เทียบกับ 6% ของครัวเรือนนอกภาคเกษตร ครัวเรือนเกษตรชนบทก็ยังมีความเปราะบางมากกว่า เพราะรายได้มีความผันผวนสูงกว่าและมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะตกอยู่ในความยากจน
รายได้สุทธิของภาคเกษตรลดลงนับตั้งแต่ปี 2554 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกลดลง และจากสภาพอากาศที่เลวร้าย ในช่วงปี 2554-2562 ความยากจนของครัวเรือนเกษตรในชนบทลดลงเร็วกว่า ส่วนใหญ่มาจากการแจกเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล ขณะที่รายได้จากการเกษตรที่แท้จริง ไม่รวมเงินช่วยเหลือที่ได้รับมา ลดลงราว 7%
รายได้สุทธิของภาคเกษตรลดลงราว 14% ในช่วงเดียวกัน ทำให้รายได้ครัวเรือนชนบทเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัว การลดลงของผลกำไรภาคเกษตรมาจากการสูญเสียที่มากขึ้นเพราะพื้นที่เพาะปลูกที่เสียหายจากน้ำท่วมและภัยแล้งในช่วง 2554-2558 กับราคาสินค้าเกษตรและราคาอาหารลดลงตั้งแต่ปี 2554
รายได้สุทธิจากการทำการเกษตรเป็นแหล่งรายได้ที่เปราะบางที่สุดสำหรับครัวเรือนในชนบท โดยเฉลี่ยแล้วรายได้สุทธิจากธุรกิจเกษตรกรรมต่ำกว่ารายได้ค่าแรงและเงินเดือนถึงสองเท่า และรายได้สุทธิจากธุรกิจนอกภาคเกษตร ในขณะที่ค่าแรงและเงินเดือนและรายได้สุทธิจากธุรกิจนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยระหว่าง 25-30% ในช่วงปี 2554-2562 รายได้จากธุรกิจการเกษตรลดลงประมาณ 14% ส่งผลให้การเติบโตของรายได้ครัวเรือนในชนบทลดลง รายได้ภาคเกษตรลดลงสูงที่สุดในบรรดาครัวเรือนชนบทที่มีความหลากหลาย (-18% เทียบกับ -12% ของครัวเรือนเกษตรกร) แต่ผลกระทบต่อรายได้โดยรวม (ไม่รวมเงินโอน) นั้นรุนแรงกว่าในครัวเรือนเกษตรกรที่พึ่งพาธุรกิจการเกษตรเป็นแหล่งรายได้มากขึ้น รายได้สุทธิจากธุรกิจการเกษตรโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 43% ของรายได้ครัวเรือนเกษตรกร (ไม่รวมการโอน) เทียบกับ 24% ครัวเรือนที่มีความหลากหลาย และ 39% ของครัวเรือนในชนบททั้งหมด
ครัวเรือนเกษตรกรรายย่อยมีแนวโน้มที่จะมีรายได้ต่ำกว่าเกษตรที่มีที่ดินทำกินรายใหญ่ รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรรายย่อยต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของเกษตรกรขนาดกลางประมาณ 30% และต่ำกว่าเกษตรรายใหญ่ประมาณ 2 เท่า ในช่วงปี 2554-2558 เกษตรกรทุกคนต้องเผชิญกับรายได้ที่ลดลงเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ลดลงในช่วงปี 2554 และภัยแล้งครั้งใหญ่ในปี 2558 ซึ่งทำให้พื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่ในประเทศเสียหาย เกษตรขนาดใหญ่ที่ถือครองที่ดินมากได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากรายได้ลดลงประมาณ 36% เมื่อเทียบกับการลดลง 13% ของเกษตรกรขนาดกลาง และ 3% ของเกษตรกรรายย่อย สภาพอากาศที่ดีขึ้นในปี 2562 ทำให้รายได้ดีดตัวขึ้นสำหรับเกษตรกรทั้งหมด อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการฟื้นตัวเร็วขึ้นของรายใหญ่ แต่รายได้ยังคงต่ำกว่าในปี 2554 ในขณะที่รายได้ของเกษตรกรขนาดกลางและเกษตรกรรายย่อยสูงขึ้นเล็กน้อย
ครัวเรือนชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรายได้เฉลี่ยต่ำที่สุด ส่วนในภาคกลางระดับรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนชนบท (ไม่รวมเงินช่วยเหลือ) สูงกว่าระดับรายได้ของครัวเรือนชนบทในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกิน 60% ในภาคใต้ระดับรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนชนบทสูงกว่าระดับรายได้ของคัวเรือนชนบทในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือราว 50% รายได้ของครัวเรือนชนบทในภาคเหนือดีขึ้นเล็กน้อยในปี 2562 แต่รายได้ครัวเรือนชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังลดลง ระดับรายได้ภาคเกษตรที่ต่ำและลดลงต่อเนื่อง มีผลให้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรายได้ยังคงต่ำและยังคงยากจน
ครัวเรือนในชนบทมีระดับการศึกษาที่ต่ำกว่าครัวเรือนในเมืองอย่างมาก ครัวเรือนเกษตรกรมีระดับการศึกษาที่ต่ำที่สุด ซึ่งจำกัดโอกาสในการมีรายได้ที่สูงขึ้น ในปี 2563 หัวหน้าครัวเรือนในชนบทมากกว่า 70% ไม่ได้เรียนเกินชั้นประถมศึกษา เทียบกับไม่ถึง 50% ในเขตเมือง ในบรรดาครัวเรือนเกษตรกรมากกว่า 80% มีการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า และในกลุ่มนี้ประมาณ 60% ยังไม่สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาด้วยซ้ำ ในบรรดาครัวเรือนในชนบท ครอบครัวนอกภาคเกษตรมีระดับการศึกษาสูงสุด โดยประมาณ 15% ของหัวหน้าครัวเรือนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และอีก 19% มีระดับการศึกษาสูงกว่ามัธยมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยขึ้นไป รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในชนบทที่หัวหน้ามีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นสูงกว่าครัวเรือนที่หัวหน้ามีการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือน้อยกว่าประมาณ 50% และรายได้เฉลี่ยของผู้ที่มีหัวหน้ามีวุฒิการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยสูงกว่า 3 เท่า
ระดับการศึกษาที่สูงขึ้นยังเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับรายได้ที่สูงขึ้นของแรงงานในชนบทและนอกภาคเกษตร แม้แรงงานนอกภาคเกษตรในชนบทจะมีระดับรายได้สูงกว่าแรงงานในภาคเกษตรมาก แต่ก็มีช่องว่างที่ชัดเจนระหว่างแรงงานโดยพิจารณาจากระดับการศึกษาในทั้งสองกลุ่ม โดยเฉพาะรายได้เฉลี่ยของผู้สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยนั้นมากกว่ารายได้ของผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รายได้ต่อปีของแรงงานนอกภาคเกษตรที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้นไปนั้นสูงเกือบ 2 เท่าของรายได้ของแรงงานในภาคเกษตรที่มีการศึกษาใกล้เคียงกัน รายได้ต่อปีของแรงงานในฟาร์มที่มีวุฒิการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยลดลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่รายได้ต่อปีของแรงงานนอกภาคเกษตรที่มีระดับการศึกษาใกล้เคียงกันเพิ่มขึ้นอย่างมาก
โดยรวมแล้ว รายได้ต่อปีของแรงงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไม่ว่าจะมีการศึกษาระดับไหน สาเหตุหลักมาจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและการปรับโครงสร้างเงินเดือนข้าราชการ
ครัวเรือนในชนบทที่สูงวัยมีรายได้ต่ำที่สุดในบรรดาครัวเรือนในชนบททั้งหมด ผู้นำครัวเรือนภาคเกษตรในชนบทและผู้นำครัวเรือนชนบทที่มีความหลากหลายนั้นมีอายุเฉลี่ยสูงกว่าผู้นำครัวเรือนนอกภาคเกษตรในชนบท (57 ปี เทียบกับ 51 ปี) มีเพียง 7% ของภาคเกษตรในชนบทและครัวเรือนที่มีความหลากหลายที่มีผู้นำครัวเรือนที่อายุต่ำกว่า 40 ปี เมื่อเทียบกับ 25% ของครัวเรือนนอกภาคเกษตร
กว่า 40% ของครัวเรือนในภาคเกษตรมีผู้นำครัวเรือนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป แม้ครัวเรือนในภาคเกษตรจะมีระดับรายได้ต่ำที่สุดในบรรดาครัวเรือนในชนบท แต่ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำที่สุดก็เป็นครัวเรือนที่มีผู้นำอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งบ่งชี้ว่าการสูงวัยเป็นปัญหาร้ายแรงต่อผลผลิตและรายได้ของครัวเรือนเกษตรกรรมในชนบท ในบรรดาครัวเรือนนอกภาคเกษตรและครัวเรือนที่มีความหลากหลาย ผู้นำครัวเรือนวัยกลางคน (40-59 ปี) ดูเหมือนจะมีรายได้ที่ดีกว่า ซึ่งอาจสะท้อนถึงผลของประสบการณ์ที่มีต่อผลผลิตและรายได้
ครัวเรือนชนบทเผชิญปัญหาหลายด้านนอกจากการสูงวัยและการศึกษาแล้ว ครัวเรือนชนบทยังประสบกับปัญหาข้อจำกัดและความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงน้ำและพื้นที่ชลประทาน รวมทั้งยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการและตลาดเพื่อการเกษตร และยังเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น และภาระหนี้ที่สูงอยู่แล้วก็เพิ่มขึ้น ครัวเรือนเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ปลูกพืชไม่หลากหลาย และขาดความมั่นคงในการถือครองที่ดิน ตลอดจนยังมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด
ผลกระทบของวิกฤติการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจในชนบทจะยังคงมีผลอยู่อย่างยาวนานขึ้น ผลการสำรวจทางโทรศัพท์เพื่อติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 ของธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า 70% ของครัวเรือนในชนบทมีรายได้ลดลงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563
โดยครัวเรือนในชนบทมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 68% ของรายได้ครัวเรือนในเขตเมือง หลายครัวเรือนในชนบทยังคงขาดการศึกษา มีผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงจำนวนมาก และมีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก
รายงานฉบับนี้ชี้ถึงโอกาสที่จะเพิ่มรายได้ของครัวเรือนชนบท และข้อจำกัดหลักที่ทำให้รายได้ไม่เพิ่มขึ้น และเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขข้อจำกัด
โอกาสในการเพิ่มรายได้ในชนบทอย่างทั่วถึง
“ประเทศไทยมีศักยภาพในการสนับสนุนครัวเรือนในชนบทให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและยั่งยืน” ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าว “ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังปรับตัวให้เข้ากับชีวิตวิถีใหม่ (new normal) หลังการระบาดของโควิด มาตรการเชิงนโยบายที่เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การสนับสนุนการเพาะปลูกพืชผลที่มีความหลากหลายและมีมูลค่าสูง การปรับปรุงการเข้าถึงตลาดผ่านการเชื่อมต่อในพื้นที่ชนบทที่ดีขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้จะสามารถแก้ไขข้อจำกัดต่างๆ ที่คนยากจนในชนบทต้องเผชิญได้”
นาเดีย เบลฮัจ ฮัสซีน เบลกิท นักเศรษฐศาสตร์ความยากจนของธนาคารโลก กล่าวว่า “มาตรการด้านนโยบายที่มีความเชื่อมโยงหลากหลายมิติเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะ จะมีความสำคัญต่อการสนับสนุนครัวเรือนในชนบท เกษตรกรส่วนใหญ่มีการศึกษาน้อยและขาดทักษะทางดิจิทัล อีกทั้งประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรสูงอายุ ดังนั้น การสร้างทักษะให้เกษตรกรที่เป็นเด็กและผู้ใหญ่จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้พวกเขาสามารถปรับตัวให้เข้ากับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่อีกด้วย”
ข้อมูลในรายงานชี้ให้เห็นโอกาส 3 ด้านในการทำให้รายได้ของครัวเรือนในชนบทเติบโต ได้แก่ การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การสนับสนุนให้ทำการเกษตรที่หลากหลายปลูกพืชผลที่มีมูลค่าสูงขึ้น และการยกระดับการเข้าถึงตลาด
1)การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การยกระดับผลผลิตทางการเกษตรไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มรายได้ของภาคเกษตรเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารอีกด้วย การส่งเสริมผลิตภาพทางการเกษตรยังมีความสำคัญต่อการเติบโตของรายได้นอกภาคเกษตรในชนบทด้วยผลของตัวทวีคูณ (multiplier effect) ในด้านการผลิต (การแปรรูปอาหาร) และบริการ (เศรษฐกิจบริการด้านอาหาร และการค้า/การตลาดในประเทศ) และเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ทั่วประเทศ
2)การกระจายการเพาะปลูกสู่พืชผลที่มีมูลค่าสูงขึ้น
การผลิตข้าวมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย โดยสร้างรายได้จากการส่งออกเกือบ 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 อย่างไรก็ตาม ผลผลิตข้าวของประเทศนั้นต่ำเมื่อเทียบกับผู้ผลิตข้าวรายอื่นทั่วโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ ข้อมูลรายได้ภาคการเกษตร ปี 2549 ถึง 2562 พบว่า การปลูกข้าวมีรายได้ลดลงเมื่อเทียบกับพืชผลอื่นๆ รวมทั้งมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แม้จะมีผลผลิตและความสามารถในการทำรายได้สุทธิค่อนข้างต่ำ แต่การผลิตข้าวยังคงครองการใช้พื้นที่ชลประทานที่จำกัด การปลูกข้าวคิดเป็น 2 ใน 3 ของพื้นที่ชลประทานทั้งหมด ขณะที่การยกระดับผลผลิตข้าวยังคงมีความสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมทางการเกษตรและมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบสำหรับการปลูกข้าว แต่ก็ยังมีโอกาสมากที่จะเพิ่มรายได้ของเกษตรกรผ่านการกระจายพันธุ์พืชและการหมุนเวียนพืชผล ตัวอย่างเช่น ในเวียดนาม ชาวนาจำนวนมากปลูกข้าวในฤดูเดียวและผลิตผักหรือผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ในฤดูกาลอื่นๆ อีกทางเลือกหนึ่ง เกษตรกรสามารถถอนตัวออกจากการผลิตข้าวและหันไปปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสำหรับการผลิตข้าวเพื่อเพิ่มผลตอบแทนสูงสุดจากการใช้ที่ดินที่ปลูกได้ซึ่งค่อนข้างหายาก
3) ยกระดับการเข้าถึงตลาด
การขยายการเข้าถึงตลาดของเกษตรกรมีความสำคัญต่อการเพิ่มรายได้ของภาคเกษตร เนื่องจากจะช่วยให้เกษตรกรได้ราคาที่ดีขึ้นและขายในปริมาณที่สูงขึ้น อีคอมเมิร์ซและการซื้อขายออนไลน์สามารถช่วยขยายการเข้าถึงตลาด โดยการจัดหาแพลตฟอร์มที่อำนวยความสะดวกในการจับคู่ผู้ซื้อและผู้ขายอย่างมีประสิทธิภาพ การขยายการเข้าถึงตลาดอาจเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ประกอบการในชนบทและนอกภาคเกษตร มีศักยภาพในการเพิ่มการจ้างงานและรายได้ ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจในชนบท การศึกษาที่สำรวจองค์กรที่ใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีส่วนในการยกระดับการเชื่อมต่อทางการค้า โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท
สิ่งสำคัญคืออีคอมเมิร์ซยังให้ประโยชน์มากขึ้นได้อีกทำควบคู่ไปกับการเสริมสร้างระบบโลจิสติกส์ เพื่อเปิดทางให้ผู้ประกอบการในชนบทขยายตลาดนำเข้าและส่งออก ได้ผลตอบแทนจากห่วงโซ่คุณค่าที่สั้นลง และให้โอกาสแก่เกษตรกรในการยกระดับห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรไปสู่การแปรรูปและการจัดจำหน่ายทางการเกษตร