ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ย้ำทำหน้าที่จนกว่า ครม. ใหม่ถวายสัตย์ – มติ ครม. ชงรัฐบาลหน้า สางหนี้รถไฟสายสีเขียว 7.8 หมื่นล้าน

นายกฯ ย้ำทำหน้าที่จนกว่า ครม. ใหม่ถวายสัตย์ – มติ ครม. ชงรัฐบาลหน้า สางหนี้รถไฟสายสีเขียว 7.8 หมื่นล้าน

5 กรกฎาคม 2023


เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ภายหลังการประชุม ครม. วันนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนบริเวณทางเชื่อมระหว่างตึกสันติไมตรีกับตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/
  • นายกฯ ย้ำทำหน้าที่จนกว่า ครม. ใหม่ถวายสัตย์
  • สั่ง “ดีอีเอส-มท.” ใช้แอปฯ “ไทยดี” ยืนยันตัวตน
  • มอบ กต. สานต่อความร่วมมือ “ไทย-เยอรมัน”
  • มติ ครม. ชงรัฐบาลหน้าสางหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 7.8 หมื่นล้าน
  • เพิ่มสัดส่วน รสก. ถือหุ้นบริษัทลูกเป็น 50% แก้ปมเลี่ยง กม.จัดซื้อฯ
  • ผ่าน กม.ลูก ส่งข้อมูลภาษีให้ประเทศสมาชิก OECD
  • ชง กกต.ไฟเขียวตั้งซี 10 “คลัง-ศธ.-แรงงาน-กปร.-ก.พ.”
  • เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ กล่าวทักทายสื่อมวลชนที่มายืนรอทำข่าวว่า “สวัสดีนะจ๊ะ” จากนั้นก็เดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า โดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน แต่มอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ

    ย้ำทำหน้าที่จนกว่า ครม. ใหม่ถวายสัตย์

    นายอนุชา กล่าวว่า การประชุม ครม. วันนี้ เป็นการประชุมตามปกติ โดย ครม. ชุดปัจจุบันยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้ทุกอย่างสามารถเดินต่อไปโดยไม่ติดขัด และแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง จนกว่า ครม. ชุดใหม่จะถวายสัตย์ปฏิญาณ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในลำดับต่อไป

    สั่ง “ดีอีเอส-มท.” ใช้แอปฯ “ไทยดี” ยืนยันตัวตน

    นายอนุชารายงานว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการเปิดใช้งานระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล และระบบเปรียบเทียบภาพใบหน้า โดยใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน “ไทยดี” (แอปพลิเคชัน Thai Digital Identity – ThaID) โดยรัฐบาลได้มีความมุ่งมั่นการไปสู่ digital government ผ่านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ตอบสนองความต้องการของประชาชน และเพิ่มศักยภาพในการบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง

    “แอปพลิเคชันไทยดี ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จในการพัฒนาระบบดิจิทัลของภาครัฐเพื่อประชาชนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย รวมทั้งเป็นการสร้างมิติใหม่ของการทำช่องทางดิจิทัล โดยที่ประชาชนสามารถยืนยันตัวตนโดยไม่ต้องกรอกข้อมูลให้เสียเวลา” นายอนุชากล่าว

    นายอนุชากล่าวต่อว่า นายกฯ มีข้อสั่งการให้กระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ได้นำแอปพลิเคชันไทยดีไปใช้ให้บริการประชาชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และนำไปต่อยอดสู่การพัฒนาระบบการให้บริการภาครัฐที่ครอบคลุมทุกหน่วยงาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ระบบราชการไทย และช่วยอำนวยความสะดวกในการให้บริการ เพื่อสนองความต้องการของประชาชน และถือเป็นการยกระดับการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น

    มอบ กต. สานต่อความร่วมมือ “ไทย-เยอรมัน”

    นายอนุชากล่าวต่อว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกฯ หารือกับเอกอัครราชทูตประเทศเยอรมัน และได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสานต่อมิตรภาพและความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างประเทศไทย-เยอรมัน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชากรทั้งสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาที่ยั่งยืน สาธารณสุขและการศึกษา

    ปลื้มทิศทาง ศก.ไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัว

    นายอนุชากล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศ ที่นำเสนอโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตามรายงานเศรษฐกิจและการเงินประจำเดือนพฤษภาคม 2566 มีข้อสรุปว่า เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว รายละเอียด ดังนี้

  • การใช้จ่ายภาคเอกชนมีการปรับเพิ่มขึ้นทั้งการบริโภคและการลงทุน
  • การใช้จ่ายภาครัฐมีการขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายการลงทุน
  • มูลค่าการส่งออกสินค้า ไม่รวมทองคำ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม
  • จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติก็มีปัจจัยฟื้นตัวต่อเนื่อง
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลง จากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ เนื่องจากตามการลดลงของค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ
  • ตลาดแรงงานโดยรวมฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ
  • ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดมีการขาดดุลจากเงินบริการรายได้และเงินโอน ขณะที่การค้าเกินดุลเล็กน้อย
  • มติ ครม. มีดังนี้

    นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    ชงรัฐบาลหน้าสางหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 7.8 หมื่นล้าน

    นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว สรุปได้ ดังนี้

    1. กทม. (พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ในขณะนั้น) ยืนยันว่าได้ดำเนินการครบถ้วนและถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ มติ ครม. และหลักธรรมาภิบาลที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การดำเนินการโครงการฯ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.ย. 2562 เรื่อง การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

    2. กทม. (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร) มีแนวทางดำเนินโครงการฯ ดังนี้

      2.1) กทม. เห็นพ้องด้วยกับนโยบายการลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชน และทำให้การบริการสาธารณะเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (through operation) จึงเห็นควรสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและงานติดตั้งระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ของโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ในกำกับดูแลของ กทม. เช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นที่รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้ค่าโดยสารอยู่ในระดับที่ประชาชนสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายได้ โดยเฉพาะส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) ที่เป็นส่วนต่อขยายพื้นที่ให้บริการนอกเขต กทม. และยังมีผู้โดยสารไม่มาก
      2.2) กทม. เห็นควรที่จะดำเนินการโครงการฯ ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนมีความรอบคอบ มีการพิจารณาข้อมูลรอบด้านและตรวจสอบได้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในการได้รับการบริการของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ
      2.3) จากกรณีที่คณะกรรมการดำเนินการโครงการฯ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้เจรจากับบริษัทเอกชนไว้ว่า บริษัทฯ จะเป็นผู้รับภาระส่วนต่างค่าเดินรถที่ค้างจ่ายอยู่ทั้งหมด กทม. จึงได้หยุดชำระค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลานานกว่า 4 ปี ก่อให้เกิดภาระต่อเอกชนผู้ให้บริการ รวมถึงมีภาระดอกเบี้ยที่อาจจะเกิดขึ้นกับ กทม. ในอนาคต การหาข้อยุติตามการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวของ ครม. จะช่วยทำให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการ และประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนซึ่งเป็นผู้ใช้บริการสาธารณะ

    3. กทม. เห็นควรให้มีการนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ สำหรับการดำเนินโครงการฯ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณ สำหรับค่าก่อสร้างและดอกเบี้ยในอนาคตทั้งหมด โดยปัจจุบัน กทม. มีภาระหนี้จากงานโครงสร้างพื้นฐานและงานซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ รวมทั้งสิ้น 78,830.86 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 13 มีนาคม 2566) ดังนี้

    รายการ

      (1) ค่างานโครงสร้างพื้นฐานและค่าจัดกรรมสิทธิ์ 55,034.70 ล้านบาท
      (2) ค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสำหรับเงินกู้โครงสร้างพื้นฐานที่ กทม. ได้จ่ายให้กระทรวงการคลัง ตั้งแต่ปี 2562-2565 จำนวน 1,508.93 ล้านบาท
      (3) ค่าจ้างงานซื้อขาย พร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ 22,287.23 ล้านบาท

    ทั้งนี้ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีความเห็นให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กรุงเทพมหานคร (มท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้เกิดความชัดเจนในประเด็นต่างๆ ดังนี้

    1. ความชัดเจนของการดำเนินโครงการ ให้กรุงเทพมหานครหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคมในประเด็นของระบบตั๋วร่วม การกำหนดอัตราค่าโดยสารการเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทาง และรายละเอียดอื่นๆ ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความพร้อมของกรุงเทพมหานครในการรับมอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ตามมติ ครม. (26 พฤศจิกายน 2561) และความชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมาย โดยให้ กทม. ประสานงานกับ สงป. ในรายละเอียด รวมทั้งสถานะหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทและภาระหนี้ และการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติจากการปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562

    2. สำนักงบประมาณเห็นว่า กระทรวงมหาดไทย (กทม.) ควรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อมูลประมาณการวงเงินภาระหนี้สินที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งหมดจนจบสัญญาสัมปทาน (ปี 2572) เปรียบเทียบกับประมาณการ รายได้/สถานะทางการเงินของ กทม. และจัดทำข้อเสนอแผนการชำระหนี้ดังกล่าวเป็นรายปี เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของ ครม. ในโอกาสแรก

    เพิ่มสัดส่วน รสก. ถือหุ้นบริษัทลูกเป็น 50% แก้ปมเลี่ยง กม. จัดซื้อฯ

    นายอนุชากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบอนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนด กรณีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ โดยวิธีเฉพาะเจาะจง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดกรณีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง พ.ศ. 2561 เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง กรณีสัดส่วนการถือหุ้นของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจในรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทที่เป็นนิติบุคคลในเครือของหน่วยงานของรัฐเดียวกัน จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของทุนทั้งหมด เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมด

    เนื่องจากปัจจุบันปรากฏว่า มีรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐบางแห่งไปจัดตั้ง หรือไปถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจหรือนิติบุคคลต่างๆ โดยมีเจตนาและวัตถุประสงค์ให้มีภารกิจหลัก เพื่อให้มารองรับการดำเนินการในภารกิจหรือกิจกรรมของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้จัดตั้ง หรือไปเป็นผู้ถือหุ้นนั้นโดยตรงแล้วเลือกจัดซื้อจัดจ้างกับบริษัทที่ตนจัดตั้งขึ้น หรือถือหุ้นอยู่โดยใช้วิธีเฉพาะเจาะจง เพื่อที่จะไม่ต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปหรือวิธีการคัดเลือก ทั้งนี้ กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อป้องกันมิให้รัฐวิสาหกิจหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยใช้ช่องว่างของกฎหมายไปจัดซื้อจัดจ้างบริษัทที่เป็นนิติบุคคลในเครือของหน่วยงานเดียวกัน จึงจำเป็นต้องแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดกรณีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง พ.ศ. 2561 โดยกำหนดให้เพิ่มอัตราร้อยละในการถือหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วนในรัฐวิสาหกิจ หรือนิติบุคคลในเครือจากเดิมร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 50 เพื่อให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้จัดซื้อจัดจ้างกับบริษัทหรือนิติบุคคลในเครือของหน่วยงานเดียวกัน เนื่องจากมีภารกิจเกี่ยวข้องกันโดยตรง และไม่สามารถใช้วิธีอื่นได้

    ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องนี้มิได้เป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีกระทำการอันเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือ มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป คณะรัฐมนตรีจึงสามารถพิจารณาอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงดังกล่าวได้ โดยที่เรื่องนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในด้านการบริหารราชการแผ่นดิน

    ผ่าน กม.ลูก ส่งข้อมูลภาษีให้ประเทศสมาชิก OECD

    นายอนุชากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงออกตามความใน พ.ร.ก.การแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566 โดยให้กระทรวงการคลังแจ้งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development หรือ OECD) เพื่อให้ความตกลงพหุภาคี ระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ (multilateral competent authority agreement on automatic exchange of financial account information หรือ MCAA CRS) มีผลผูกพัน เมื่อร่างกฎกระทรวงฯ และกฎหมายลำดับรอง ฉบับอื่นๆ ของ พ.ร.ก.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566 มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว

    ทั้งนี้ ปัจจุบัน พ.ร.ก.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นกฎหมายเพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูล ตามการร้องขอของประเทศคู่สัญญา และการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ ตามมาตรฐานที่ OECD กำหนด มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2566 จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายลำดับรอง เพื่อรองรับการดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงิน ดังกล่าวให้ทันภายในเดือนกันยายน 2566 (ซึ่งไทยได้ให้คำมั่นว่าไทยจะเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูล CRS ตามที่ Global Forum กำหนด โดย ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2562) เพื่อไม่ให้ไทยถูกพิจารณาเป็นประเทศที่ไม่มีความโปร่งใสทางภาษี ซึ่งกรมสรรพากรพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้ไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณี และข้อผูกพันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงิน ตามความตกลง MCAA CRS และสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติได้ทันภายในเดือนกันยายน 2566

    ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฯเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับหน้าที่ของผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลบัญชีทางการเงินที่เป็นสถาบันการเงินในไทย ซึ่งต้องดำเนินการตาม พ.ร.ก.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. 2566 โดยเป็นการรายงานข้อมูลบัญชีทางการเงินของลูกค้า ที่เป็นชาวต่างชาติผู้ไม่มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในไทยกับประเทศคู่สัญญาเป็นประจำรายปี แบ่งเป็น 6 ลักษณะ ได้แก่ 1) ผู้มีหน้าที่รายงาน 2) การตรวจสอบบัญชีกรณีทั่วไป 3) การตรวจสอบบัญชีของบุคคลธรรมดา 4) การตรวจสอบบัญชีของนิติบุคคล 5) หลักเกณฑ์พิเศษสำหรับการตรวจสอบข้อมูลลูกค้า และ 6) เบ็ดเตล็ด ซึ่งกระทรวงการคลังได้พิจารณา ตาม ม.27 และ ม.32 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินฯ พ.ศ. 2561 แล้วเห็นว่า ร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐ เนื่องจากไม่มีงบฯ รายจ่ายเพิ่มเติมในการดำเนินการตามร่างกฎกระทรวงฯ และสามารถใช้บุคลากรเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่เพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ตามร่างกฎกระทรวงฯ ในขั้นต้นได้ และได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนแล้ว ซึ่งผู้แสดงความคิดเห็นไม่ได้คัดค้านในหลักการของร่างกฎกระทรวงดังกล่าว

    เปลี่ยนชื่อ สส. เป็น “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม”

    นายอนุชากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ เปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. … เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการ เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ

    ทั้งนี้ จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งส่งผลให้ไทยต้องรับมือกับปัญหาที่ตามมาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้ทบทวนและปรับปรุงบทบาท ภารกิจ และโครงสร้างหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้สอดคล้องกับบริบทด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยนำภารกิจของกองประสานการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมารวมกับภารกิจของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงหน้าที่และอำนาจ เปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Department of Climate Change and Environment)

    ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าว ทำให้เกิดการปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของหน่วยงาน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนี้

      1. ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. …
      2. ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …

    โดย ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีความเห็น ดังนี้

      1. ร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับที่เสนอมานั้น เป็นผลจากการปรับปรุงหน้าที่และอำนาจ และเปลี่ยนชื่อ “กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม” เป็น “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” โดยถือเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการบริหารราชการแผ่นดิน
      2. ร่างกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับไม่เป็นการตัดโอนงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้ จึงไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงงบประมาณเพิ่มเติม เพิ่มวงเงิน หรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณที่จะเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป

    กกต. ไฟเขียวซื้อหุ้นเพิ่มทุนแบงก์ในเครือธนาคารโลก 200 ล้าน

    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบผลการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ได้เห็นชอบตามที่ ครม. ได้อนุมัติในหลักการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลังใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงินทั้งสิ้น 200.6 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับชดเชยการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนในการชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนแบบสามัญและเฉพาะเจาะจงของกลุ่มธนาคารโลก ปี 2561

    สำหรับการพิจารณาของ กกต. นี้สืบเนื่องจากที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 ได้อนุมัติหลักการให้ สศค. ใช้จ่ายงบกลางเพื่อวัตถุประสงค์และวงเงินข้างต้น และต้องดำเนินการเพื่อให้ได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 169 (3) จึงจะสามารถใช้จ่ายงบประมาณได้

    น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า การดำเนินการซื้อหุ้นเพิ่มทุนในกลุ่มธนาคารโลกของประเทศไทย เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 ที่ได้เห็นชอบให้กระทรวงการคลังซื้อหุ้นเพิ่มทุน แบบสามัญ และแบบเฉพาะเจาะจงของธนาคารในกลุ่มธนาคารโลก 2 แห่ง (จากทั้งหมด 5 แห่ง) ได้แก่ ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการ (International Bank for Reconstruction หรือ IBRD) และบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (International Finance Corporation หรือ IFC) รวมวงเงิน 78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2,652 ล้านบาท ซึ่งผลการเพิ่มทุนดังกล่าวจะส่งผลให้ประเทศไทยมีอำนาจการออกเสียงใน IBRD เพิ่มเป็นร้อยละ 0.5 จากเดิม ร้อยละ 0.49 และใน IFC เพิ่มเป็นร้อยละ 0.52 จากเดิมร้อยละ 0.46

    โดยระหว่างมีงบประมาณ 2563-2565 กระทรวงการคลังได้ดำเนินการชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนของ IBRD และ IFC มาแล้ว 3 ครั้งรวมทั้งสิ้น 54.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมียอดคงเหลือที่ต้องชำระในปีงบประมาณ 2566 เป็นงวดสุดท้ายจำนวน 23.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

    อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ชำระค่าหุ้นจริงในปีงบประมาณ 63-65 ค่าเงินบาทได้อ่อนค่ากว่าที่สำนักงบประมาณได้ประมาณการไว้ ทำให้เกิดการชำระค่าหุ้นน้อยกว่าแผน ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2566 จึงคาดว่าตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรรไว้ กระทรวงการคลังจะชำระเงินค่าหุ้นได้ 17.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังขาดอีก 6.02 ล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 200.6 ล้านบาท กระทรวงการคลังจึงจำเป็นต้องขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณเพิ่มเติมตามวงเงินตามที่ได้รับอนุมัติในครั้งนี้

    อนุมัติงบกลาง 19 ล้าน ให้ กกต. เป็นค่าใช้จ่ายเลือกตั้งเพิ่มเติม

    น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอ เพื่อใช้จ่ายในการควบคุมการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป (เพิ่มเติม) รวมทั้งสิ้น 19.96 ล้านบาท ของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจที่ร่วมดำเนินการ 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 10.50 ล้านบาท และ บริษัทโทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จำนวน 9.45 ล้านบาท

    นอกจากนี้ ครม. ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลางฯ วงเงิน 17.38 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (สำนักงาน กสม.) ขอรับการจัดสรร เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐของสำนักงาน กสม. เนื่องจากปีงบประมาณ 2566 สำนักงาน กสม. ได้เสนอคำของบประมาณรายจ่ายตามแผนงานบุคลากรภาครัฐ 204.67 ล้านบาท และได้รับการจัดสรร 151.74 ล้านบาท แยกเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากร 149.94 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายดำเนินงาน 1.8 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอไปจนสิ้นปีงบประมาณ 2566 จึงมีความจำเป็นต้องเสนอให้ ครม. พิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางฯ เพิ่มในวงเงิน 17.38 ล้านบาท แยกเป็น ค่าใช้จ่ายบุคลากร 16.69 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายดำเนินงาน 6.82 แสนบาท

    ทั้งนี้ หลังจากได้รับอนุมัติจาก ครม. แล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 2 กรณีที่ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางในครั้งนี้ จะต้องให้ดำเนินการตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญมาตรา 169 (3) และเมื่อ กกต. ให้ความเห็นชอบแล้วสำนักงบประมาณจึงจะสามารถจัดสรรงบประมาณให้ได้ต่อไป

    เสนอ กกต. เห็นชอบ 107 ล้าน จ่ายค่าเครื่องวัดน้ำมันปาล์ม

    น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับเบิกจ่ายโครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์ม เพื่อบริหารจัดการและควบคุมสต๊อกน้ำมันปาล์ม งวดที่ 3 และงวดสุดท้าย จำนวนเงินรวม 107.24 ล้านบาท และให้ดำเนินการเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาต่อไป

    สำหรับโครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์มฯ เคยได้รับอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 และ 14 กรกฎาคม 2563 ให้กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในเป็นผู้ดำเนินโครงการภายในกรอบงบประมาณ 372.52 ล้านบาท เพื่อให้สามารถนำข้อมูลปริมาณน้ำมันปาล์มดิบไปใช้ในการกำกับดูแลและบริหารจัดการสต็อกน้ำมันปาล์มดิบได้รวดเร็ว ทันสถานการณ์ สามารถรักษาสมดุลและพยุงราคาผลปาล์มน้ำมันภายในประเทศให้มีเสถียรภาพมากขึ้น

    น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการขอรับจัดสรรงบจากสำนักงบประมาณ เพื่อจ่ายค่าจ้างตามสัญญาจ้างแก่ผู้รับจ้างตามงวดงานแล้ว 2 งวด ยังเหลืองวดที่ 3 จำนวน 69.71 ล้านบาท และงวดสุดท้าย 37.53 ล้านบาท รวม 107.24 ล้านบาท ซึ่งไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ทัน ทำให้วงเงินที่เคยได้รับอนุมัติไว้ถูกพับไปโดยกฎหมาย ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ จึงมีความจำเป็นต้องขอรับจัดสรรงบประมาณ เพื่อชดเชยงบประมาณดังกล่าว

    อย่างไรก็ตาม ด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 169 (3) บัญญัติให้ ครม. ที่พ้นจากตำแหน่งต้องไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ก่อน ประกอบกับ ครม. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติและขั้นตอนการดำเนินงานตามมาตรา 169 (3) ของรัฐธรรมนูญว่า การอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จะต้องทำเท่าที่จำเป็นและต้องได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ก่อน โดยการดำเนินการดังกล่าวจะทำได้ เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติภารกิจของส่วนราชการที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายงบประมาณ นอกเหนือจากที่ได้รับการจัดสรร หรือที่ได้รับการจัดสรรไปแล้วแต่ไม่เพียงพอและมีความจำเป็นเร่งด่วน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขอความเห็นชอบจาก ครม. ก่อนแล้วจึงเสนอให้ กกต. พิจารณาให้ความเห็นต่อไป

    โดยในเรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า หากไม่มีเงินรองรับการเลิกจ่ายงวดงานตามสัญญาจ้าง อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการได้ ดังนั้น ภายหลังได้รับอนุมัติจาก ครม. แล้ว จึงให้ดำเนินการตามมาตรา 169 (3) และเมื่อ กกต. ให้ความเห็นชอบแล้ว สำนักงบประมาณจึงจะจัดสรรงบประมาณตามโครงการการต่อไป

    ชง กกต. ไฟเขียวตั้งซี 10 “คลัง-ศธ.-แรงงาน-กปร.-ก.พ.”

    น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ ในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (นักบริหารระดับต้น) ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ (เศรษฐกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง (กค.) ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ และให้ดำเนินการต่อไปได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักงาน กปร. ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิจำนวน 3 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

      1. นายศุภรัชต์ อินทราวุธ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ) ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2566
      2. นายวิกรม คัยนันทน์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ) ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2566
      3. นางกมลินี สุขศรีวงศ์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ) ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2566

    และให้ดำเนินการต่อไปได้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภท วิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (สำนักนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักงาน ก.พ. สำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

      1. นางสาวกมลลักษณ์ อ้นอารี ผู้อำนวยการสำนักพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ผู้อำนวยการระดับสูง) ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาระบบราชการ (นักทรัพยากรบุคคลทรงคุณวุฒิ) ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2566

      2. นางอรวรรณ คงธนขันติธร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน (ผู้อำนวยการระดับสูง) ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาระบบราชการ (นักทรัพยากรบุคคลทรงคุณวุฒิ) ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2566

    และให้ดำเนินการต่อไปได้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    4. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงแรงงาน)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้ง นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงแรงงาน เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง และให้ดำเนินการต่อไปได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    5. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงศึกษาธิการ)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเสนอ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 5 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

      1. นายสมใจ วิเศษทักษิณ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
      2. นางสาววันเพ็ญ บุรีสูงเนิน รองศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 6 สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 8 สำนักงานปลัดกระทรวง
      3. นายสุภชัย จันปุ่ม รองศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 13 สำนักงานปลัดกระทรวง
      4. นายประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
      5. นายวิทวัต ปัญจมะวัต ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

    และให้ดำเนินการต่อไปได้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 169 (2) แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    6. แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สาขาการเงิน ในคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเสนอ แต่งตั้งนายสมหมาย ลักขณานุรักษ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สาขาการเงิน ในคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 เพิ่มเติม