ThaiPublica > คอลัมน์ > สงครามแย่งก๊าซธรรมชาติ เหตุสำคัญค่าไฟฟ้าแพงขึ้น 72 สตางค์ต่อหน่วย

สงครามแย่งก๊าซธรรมชาติ เหตุสำคัญค่าไฟฟ้าแพงขึ้น 72 สตางค์ต่อหน่วย

26 กรกฎาคม 2023


ประสาท มีแต้ม

สงครามแย่งก๊าซธรรมชาติ เหตุสำคัญค่าไฟฟ้าแพงขึ้น 72 สตางค์ต่อหน่วย

เราบ่นกันมากว่าค่าไฟฟ้าในบ้านเราแพงมาก จะเรียกว่าราคาแพงที่สุดตั้งแต่ตั้งประเทศไทยมาก็ว่าได้ จนในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา ทุกพรรคการเมืองต่างก็เสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่จะเป็นจริงได้หรือไม่ ผู้บริโภคอย่างเราก็ต้องติดตามตรวจสอบกันต่อไป

สาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงมีหลายอย่าง ที่สังคมไทยได้รับรู้กันบ้างแล้ว เช่น การมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองล้นมากเกินไป จนนำไปสู่ “ค่าความพร้อมจ่าย” ที่โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่แม้ไม่ได้เดินเครื่องผลิตเลยติดต่อกันนานหลายปี แต่ก็ยังได้รับเงินครบตามสัญญาที่เรียกว่า “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย”

บทความนี้จะกล่าวถึงอีกสาเหตุหนึ่งซึ่งสังคมก็ได้รับรู้กันบ้างแล้ว แต่ผมเชื่อว่ารู้กันแบบที่ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนมากพอ นั่นก็คือนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับการจัดสรรให้ใครได้ใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งแต่ละแหล่งมีราคาต่อหน่วยที่แตกต่างกันมาก บางช่วงเวลาราคาต่อหน่วยต่างกันมากถึง 3- 5 เท่าตัว

ผมทราบดีว่า ในยุคสมัยนี้คนส่วนมากไม่ชอบอ่านอะไรยาวๆ ผมจึงขอนำเสนอข้อมูลซึ่งทั้งหมดผมรวบรวมมาจากกระทรวงพลังงาน แล้วคำนวณออกมาเพื่อให้เข้าใจง่าย ดังแสดงในภาพ

ข้อมูลด้านซ้ายมือของภาพ เกิดจากนโยบายของรัฐบาลที่เป็นอย่างนี้มาหลายรัฐบาลแล้ว แต่ยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้ คือให้โรงแยกก๊าซ (หรือปิโตรเคมี) ได้ใช้ก๊าซจากแหล่งที่ผลิตภายในประเทศของเราเองซึ่งมีราคาถูกกว่าอีก 2 แหล่งที่เหลือ คือจากประเทศเมียนมา (นำเข้าทางท่อก๊าซ) และนำเข้าทางเรือในรูปของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งมีราคาแพงและผันผวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงครามรัสเซียบุกยูเครน

เมื่อโรงแยกก๊าซได้ใช้ก๊าซราคาถูกตามที่ตนต้องการแล้ว ก๊าซส่วนที่เหลือนี้ให้นำไปเฉลี่ยราคา (ตามสัดส่วน) กับอีก 2 แหล่ง เพื่อให้อีก 3 ภาคส่วนธุรกิจ คือ การผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรมอื่น และภาคยานยนต์ขนส่ง (NGV) ได้ใช้

ในช่วง ม.ค.-เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา ด้วยนโยบายที่กล่าวมาแล้ว ทำให้ราคาก๊าซเฉลี่ย (เรียกว่า pool gas) เท่ากับ 400 บาทต่อล้านบีทียู ในขณะที่โรงแยกก๊าซได้ใช้ในราคาเพียง 213 บาทต่อล้านบีทียู กรุณาดูภาพประกอบ

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ต้นทุนเฉพาะค่าก๊าซ (อย่างเดียว) ในการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยเท่ากับ 3.16 บาทต่อหน่วย มูลค่าก๊าซรวมกัน 126,400 ล้านบาท

คราวนี้ สมมติว่ารัฐบาลเปลี่ยนนโยบายการจัดสรรการใช้ก๊าซใหม่ ด้วยเหตุผลที่ว่า ก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยเป็นของคนไทย ซึ่งคนไทยได้ช่วยกันปกปักษ์รักษากันมายาวนาน จึงควรจะให้คนไทยส่วนใหญ่ได้ใช้ก่อน นั่นก็คือนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้คนไทยได้ใช้ พร้อมๆ กับภาคการขนส่ง (NGV) และภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย แล้วปล่อยให้ปิโตรเคมีซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงถึง 25-30 เท่าตัว ได้ใช้ก๊าซ LNG ซึ่งมีราคาแพง

ด้วยนโยบายใหม่ดังกล่าวนี้ ทำให้ต้นทุนเฉพาะค่าก๊าซ (อย่างเดียว) ในการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยลดลงมาเหลือเท่ากับ 1.88 บาทต่อหน่วย โดยมูลค่าก๊าซรวมลดลงมาเหลือ 74,887 ล้านบาท

นั่นคือ จากนโยบายใหม่นี้ ทำให้ต้นทุนค่าก๊าซในการผลิตไฟฟ้าจำนวนเท่าเดิมลดลงมาถึง 1.28 บาทต่อหน่วย

อนึ่ง ไฟฟ้าในไทยผลิตโดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงถึง 56% ที่เหลือแม้จะผลิตด้วยเชื้อเพลิงอื่นๆ ที่มีต้นทุนต่างกัน แต่รัฐบาลก็จำหน่ายให้ผู้บริโภคในราคาที่เฉลี่ยราคาเดียวกัน ดังนั้น ผลจากการใช้นโยบายการใช้ก๊าซใหม่จึงมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าในระบบทั้งหมดลดลงได้ถึง 0.72 บาทต่อหน่วย (มาจาก 0.56 คูณด้วย 1.28)

ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการจัดสรรก๊าซให้คนส่วนใหญ่ซึ่งยากจนได้ใช้ก๊าซของตนเองก่อนเท่านั้น ปัจจัยอื่นๆ เช่น กำลังการผลิตสำรองล้นเกิน ฯลฯ ยังคงเหมือนเดิมทุกประการ

ในปี 2566 คาดว่า คนไทยทั้งประเทศจะใช้ไฟฟ้ารวมกันจำนวนประมาณ 2 แสนล้านหน่วย ดังนั้น ผลจากนโยบายการใช้ก๊าซใหม่นี้จะทำให้คนไทยสามารถประหยัดเงินในกระเป๋าได้ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ จำนวนเงินที่ประชาชนถูกแย่งไปจากกระเป๋าโดยนโยบายการจัดสรรการใช้ก๊าซธรรมชาติของรัฐบาลไทยนั่นเอง

ไหนๆ ก็พูดเรื่องการจัดสรรการใช้ก๊าซกันแล้ว เพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งระบบ ผมจึงขอเสนอแหล่งที่มา จำนวน และราคาของก๊าซธรรมชาติทั้งหมดในช่วงเดือนมกราคาถึงเมษายน 2566 ดังภาพนะครับ เผื่อท่านที่สนใจอย่างเป็นระบบจะนำไปคิดต่อ เพราะมีข้อมูลบางอย่างที่น่าสนใจ

จากข้อมูลในภาพนี้ มีข้อสังเกตที่สำคัญ 2 ประการ คือ

ประการแรก ปริมาณก๊าซที่ผลิตจากประเทศไทยเกือบจะเพียงพอสำหรับการผลิตไฟฟ้า มีขาดแคลนบ้างแต่ก็ได้ใช้ก๊าซจากเมียนมาตั้งแต่ประมาณปี 2543 เราเพิ่งนำเข้า LNG เมื่อประมาณปี 2553 นี่เอง แต่ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีปัญหามากนักเพราะราคา LNG ยังไม่แพงนัก

ประการที่สอง เราจะเห็นข้อมูลที่น่าตกใจ คือ เรานำเข้า LNG มาใช้ในจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของที่เราขุดเจาะจากในประเทศของเราเอง แต่มูลค่าดังกล่าวประมาณ 2 เท่าของมูลค่าที่เราผลิตได้เอง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือราคาก๊าซ LNG ต่อหน่วยความร้อนแพงกว่าก๊าซในประเทศไทยถึง 4 เท่าตัว

คำถามจากข้อสังเกตที่ 2 ก็คือ หากก๊าซในประเทศไทยหมดลง คนไทยเราจะรับสภาพกับค่าไฟฟ้าแพงกว่านี้ได้อีกเท่าใด

เมื่อพูดถึงเรื่องก๊าซไทยจะหมด เรามาดูการคาดการณ์ของกระทรวงพลังงาน พบว่า ในปี 2580 หรืออีก 13 ปีข้างหน้า ก๊าซไทยและก๊าซจากเมียนมาจะเหลือเพียงร้อยละ 28 และ 4 ของความต้องการเท่านั้น ดังภาพ

ข้อมูลในภาพนี้ มาจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน แต่ผมเชื่อว่าหน้าที่ตามกฎหมายของกรมนี้คงจะมีแต่เรื่องการจัดหา “เชื้อเพลิงธรรมชาติ” ซึ่งหมายถึงก๊าซฟอสซิลไม่ว่าจะอยู่ในสภาพก๊าซหรือของเหลว ความจริงแล้วมันเป็น “ธรรมชาติ” เมื่อ 200 ล้านปีที่แล้ว แต่เชื้อเพลิงธรรมชาติที่เป็นปัจจุบันนี้และอนาคตด้วยเขาคงมองไม่เห็นหรือไม่ใช่หน้าที่ของกรมนี้

ผมจึงขอนำเสนอข้อมูลอีกภาพนะครับ เป็นปริมาณไฟฟ้าที่ประเทศต่างๆผลิตจากแสงอาทิตย์ซึ่งเป็น “เชื้อเพลิงธรรมชาติ” จริงๆ ที่เป็นธรรมชาติทั้งในปัจจุบันและในอนาคต รวมทั้งไม่ต้องกังวลเรื่องวันหมดด้วย ตามนี้ครับ

จากข้อมูลดังกล่าว เราจะเห็นว่าประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีแสงแดดน้อยกว่าประเทศไทย สามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดได้ถึงประมาณครึ่งหนึ่งของที่ประเทศไทยใช้ทั้งประเทศ แล้วเราลองคิดต่อไปอีกว่า หากรัฐบาลไทยคิดแบบเดียวกับรัฐบาลญี่ปุ่น เราจะสามารถประหยัดเงินตราของประเทศ ซึ่งก็เป็นเงินในกระเป๋าของคนส่วนใหญ่เสียด้วย ได้มากขนาดไหน

ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลล้วนๆ เงื่อนไขเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ที่นำมาอ้างกันในการจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้นั้น เป็นเพียงแค่ข้ออ้างบังหน้าเพื่อซ่อนผลประโยชน์จำนวนมหาศาลไว้เบื้องหลังเท่านั้นเอง เฉพาะเรื่องพลังงานทั้งระบบอย่างเดียวก็ปาเข้าไปถึง 2.5 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 15% ของจีดีพีแล้ว