ThaiPublica > Sustainability > Contributor > แสงแดดกับก๊าซธรรมชาติ : ความเหมือนและความแตกต่าง

แสงแดดกับก๊าซธรรมชาติ : ความเหมือนและความแตกต่าง

2 มีนาคม 2022


ประสาท มีแต้ม

ในมุมของพลังงาน ทั้งแสงแดดและก๊าซธรรมชาตินั้นมีคุณสมบัติที่เหมือนกันในแง่ที่ว่าทั้งคู่เป็นสสารที่สามารถให้แสงสว่างและความร้อนได้ เมื่อเผาก๊าซธรรมชาติจะได้ความร้อนแล้วนำความร้อนไปต้มน้ำจนเป็นไอและใช้แรงดันของไอน้ำไปผลิตไฟฟ้า ประเทศไทยเราเองเริ่มผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซธรรมชาติเมื่อปี 2524 ในสมัยที่รัฐบาลได้ผลิตวาทกรรมให้คนไทยหลงดีใจว่า “โชติช่วงชัชวาล”

แต่เมื่อผ่านมาแล้ว 43 ปี แม้ในปัจจุบันนี้เราได้ใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อกิจการดังกล่าวเพิ่มขึ้นประมาณ 400 เท่าตัว แต่คนไทยเรากลับรู้สึกว่าตนเองกำลังยืนอยู่บนหน้าผาที่สูงชันและมีความเสี่ยงสารพัด มันเป็นเพราะอะไร?

ในทางวิทยาศาสตร์ ก๊าซธรรมชาติที่ผมกล่าวถึงมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษหลายชื่อ เช่น Natural gas และ Fossil gas ซึ่งเป็นก๊าซที่เกิดจากการทับถมของซากสัตว์เมื่อหลายล้านปีมาแล้ว แต่ด้วยกลไกการโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มพ่อค้าพลังงาน คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยเราเรียกกันติดปากว่า “ก๊าซธรรมชาติ” ทั้ง ๆ ที่ควรจะเรียกว่า “ก๊าซฟอสซิล” หรือ “Gas” เฉยๆ จึงจะเหมาะสมกว่า

ในการขุดเจาะก๊าซฟอสซิลขึ้นมาใช้ประโยชน์จะได้สารประกอบไฮโดรคาร์บอนหลายชนิดรวมทั้งน้ำมันดิบด้วย สารไฮโดรคาร์บอนที่มีธาตุคาร์บอนน้อยที่สุดคือ ก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซที่เรานำมาใช้ผลิตไฟฟ้านั่นเอง ส่วนก๊าซที่เราใช้ในการหุงต้มคือก๊าซแอลพีจี เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีธาตุคาร์บอนมากกว่า

ก๊าซมีเทนมีสถานะเป็นก๊าซ ในอดีตการขนส่งก๊าซธรรมชาติจะต้องผ่านทางท่อเท่านั้นซึ่งเป็นการลงทุนที่สูงมาก ไม่สามารถขนส่งทางอื่นได้ แต่เมื่อประมาณ 10 กว่าปีมานี้ นักอุตสาหกรรมสามารถทำให้ก๊าซมีเทนกลายเป็นของเหลวโดยการลดอุณหภูมิลงเหลือประมาณลบ 162 องศาเซลเซียสและลดปริมาตรลง 600 เท่าตัว (โดยความดันไม่เปลี่ยนแปลง) จึงสามารถขนส่งทางเรือได้สะดวกและเรียกชื่อใหม่ว่า “ก๊าซธรรมชาติเหลว” หรือ LNG (ไม่ใช่แอลพีจีซึ่งเป็นก๊าซหุงต้ม)

การมีเทคโนโลยีที่ทำให้ก๊าซมีเทนกลายเป็น LNG ได้อย่างง่ายดาย ประกอบกับการมีเทคโนโลยีในการขุดเจาะก๊าซในชั้นหิน (Shale gas) ที่มีจำนวนมหาศาลในสหรัฐอเมริกา ทำให้สหรัฐอเมริกากลายเป็นประเทศส่งออก LNG รายใหญ่ที่สุดของโลก (เริ่มต้นใหญ่ที่สุด แซงหน้าการ์ต้าและออสเตรเลียเมื่อเดือนมกราคม 2565 นี้เอง)

ด้วยเหตุที่พลังงานเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดังที่กล่าวมาแล้ว ทำให้ธุรกิจก๊าซเป็นสินค้าที่สามารถผูกขาดได้ง่ายขึ้น ในช่วงเวลาเพียงหนึ่งปีครึ่ง (มิ.ย.2563 – ธ.ค. 2564) ราคา LNG ในตลาดเอเชียได้เพิ่มขึ้นจากไม่ถึง 2 เป็น 34 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู

คราวนี้มาดูพลังงานแสงแดดกันบ้าง แม้เราจะรู้ดีว่าแสงแดดมีประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ต่อเรา แต่เราก็ไม่สามารถนำเอาแสงแดดมาหุงข้าวหรือผลิตไฟฟ้าได้ จนกระทั่งในปี ค.ศ.1839 แผ่นโซลาร์เซลล์ได้ถูกประดิษฐ์และผลิตไฟฟ้าได้เป็นครั้งแรกของโลก(โดยนักวิทยาศาสตร์หนุ่มวัย 19 ปีชาวฝรั่งเศส) แต่ก็ไม่เป็นผลในทางการนำไปใช้ประโยชน์เพราะมีต้นทุนที่แพงกว่าการผลิต
จากแหล่งพลังงานอื่น ๆ

ในปี 1905 ผลงานของนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญคือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ชื่อ “Photoelectric Effect” จนทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 1922 อธิบายว่า เมื่อแสงอาทิตย์มากระทบกับสารกึ่งตัวนำบนผิวของแผ่นโซลาร์ (ซึ่งส่วนใหญ่ทำมาจากทราย) ก็จะทำให้อิเล็กตรอนหลุดออกมา และกลายเป็นกระแสไฟฟ้าในทันที ไม่ต้องต้มน้ำให้เดือดเป็นไอ ไม่ต้องหมุนขดลวดทองแดงให้ตัดสนามแม่เหล็ก ไม่ต้องใช้น้ำหล่อเย็น ฯลฯ

ในปี ค.ศ.2020 องค์กรพลังงานสากล (IEA) ได้ออกรายงาน “World Energy Outlook 2020” สรุปว่า “ปัจจุบันนี้โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ดีที่สุดของโลกสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในราคาถูกที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยเทคโนโลยีที่ถูกกว่าถ่านหินและก๊าซในประเทศส่วนใหญ่ของโลก”

รายงานดังกล่าวเป็นภาพรวมของทั้งโลก แต่เท่าที่ผมติดตามพบว่า ในประเทศไทยเราเอง ไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์มีราคาถูกกว่าค่าไฟฟ้าที่ทางการไฟฟ้าขายให้กับประชาชนมานานกว่า 4-5 ปีมาแล้ว

ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว พอสรุปได้ว่า ทั้งก๊าซฟอสซิลและแสงแดดมีคุณสมบัติที่เหมือนกันคือสามารถนำไปผลิตไฟฟ้าได้ แต่ในกระบวนการผลิตไฟฟ้านั้นมีความแตกต่างที่มีนัยสำคัญอยู่ด้วยคือ การผลิตด้วยแสงแดดนั้นง่ายกว่าและมีต้นทุนถูกกว่ากันมาก สำหรับความแตกต่างผมได้(เผลอ)กล่าวไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่หมดค่อยว่ากันตอนท้ายนะครับ

เรามาดูข้อมูล “แผนที่แดด” และการใช้พลังงานจากแสงแดดและก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าของประเทศต่าง ๆ ดังนี้ครับ

มาเริ่มที่แผนที่แดดกันก่อน สีที่ระบายในแต่ละประเทศแสดงถึงศักยภาพของพลังงานแสงแดดบนพื้นที่หนึ่งตารางเมตรในช่วงเวลาหนึ่งปีของประเทศนั้น สีน้ำตาลเข้ม(ออกไปทางสีแดง)แสดงว่ามีศักยภาพสูง สีเหลือง(ออกไปทางสีเขียว) มีศักยภาพต่ำ โดยมีสเกลกำกับ เช่น ออสเตรเลียและเยอรมนีศักยภาพประมาณ 2,200 และ 1,100 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kwh หรือหน่วยไฟฟ้า) ต่อหนึ่งตารางเมตรในระยะเวลา 1 ปี ตามลำดับ ในทางปฏิบัติจริงเขามีแผนที่ที่ให้ความละเอียดมากกว่านี้ เช่น แสดงเป็นรายจังหวัด

สำหรับข้อมูลในกล่องผมนำมาเสริมเอง เพื่อบอกถึงร้อยละพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงแดด(โซลาร์เซลล์)และก๊าซธรรมชาติของประเทศต่างๆรวม 11 ประเทศ

เรามาเริ่มต้นด้วยการเปรียบเทียบระหว่างไทยกับเวียดนามก่อน เพราะมีศักยภาพของพลังงานแสงแดดใกล้เคียงกันมาก จะเห็นว่า เวียดนาม(ซึ่งใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศมากกว่าไทยประมาณ 50%) ใช้แสงแดดผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 5.0% ในขณะที่ไทยใช้เพียง 2.8% เท่านั้น และในจำนวน 2.8% ที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์นี้ เกือบทั้งหมด (มากกว่า 98%) เป็นโซลาร์ฟาร์มที่การไฟฟ้ารับซื้อในราคาที่แพงมากโดยได้บวกราคาเพิ่มเติมจากค่าไฟฟ้าปกติอีก 5.66 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ไฟฟ้าจากหลังคาบ้านจะถูกกีดกันด้วยสารพัดวิธีการ

คราวนี้มาดูระหว่างไทยกับเยอรมนีบ้าง ในขณะที่เยอรมนีมีแสงแดดน้อยกว่าของเราอย่างชัดเจน แต่ในปี 2021 เขาได้ผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดอย่างเดียวได้ถึง 8.8% ของไฟฟ้าที่ผลิตทั้งประเทศ คิดเป็นไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ได้ถึง 51,100 ล้านหน่วย ในขณะที่ทั้งประเทศไทยเราบริโภคไฟฟ้าในปี 2021 จำนวน 190,468 ล้านหน่วย ในจำนวนนี้ผลิตจากก๊าซธรรมชาติถึง 62%

ปัจจุบันนี้ ก๊าซธรรมชาติที่ประเทศไทยใช้ผลิตไฟฟ้ามาจาก 3 แหล่ง คือ (1) ผลิตจากอ่าวไทยประมาณ 70% (2) นำเข้าผ่านท่อก๊าซจากประเทศเมียนมา 16% และ (3) นำเข้าในรูป LNG ประมาณ 14% โดยในปี 2564 คิดเป็นมูลค่ารวม 99,239 ล้านบาท

กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (น่าจะชื่อกรมเชื้อเพลิงฟอสซิล) คาดว่าในปี 2570 แหล่งก๊าซในประเทศไทยจะลดลงเหลือสัดส่วน 50% และการนำเข้า LNG จะเพิ่มขึ้นถึง 40% ดังนั้น จะมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าของไทยแพงขึ้นขนาดไหนก็คงไม่ยากเกินไปที่เราจะคำนวณได้

มาดูค่าไฟฟ้าล่าสุดที่กระทรวงพลังงาน โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศขึ้นราคาในรูปของค่าไฟฟ้าผันแปร(Ft) ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2565 โดยเหตุผลสำคัญที่ กกพ. อ้างก็คือราคาก๊าซธรรมชาติจะขึ้นราคาจาก 271 เป็น 376 บาทต่อล้านบีทียู ในรูปที่ผมนำเสนอเป็นค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยประเภท 1.2 ที่ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 1,000 หน่วย อัตราค่าไฟฟ้าที่เคยเป็น 4.37 บาทต่อหน่วยเมื่อเดือนธันวาคมปี 64 ได้เพิ่มเป็น 4.55 บาทต่อหน่วยในปีใหม่ โดยจะเพิ่มขึ้นทุก 4 เดือนจนถึง 4.90 บาทต่อหน่วย (ดูรูปประกอบ)

ไม่มีใครทราบได้ว่า การคาดการณ์ราคาก๊าซในอนาคตของ กกพ.จะเป็นไปตามนี้หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องอนาคตที่ยังมาไม่ถึง แต่ประวัติศาสตร์ได้สอนเราว่าพลังงานฟอสซิลไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ(โดยเฉพาะ LNG) เป็นสินค้าที่สามารถปั่นราคาสินค้าได้ง่ายมาก ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลไทยควรจะคิดก็คือ ทำไมเราไม่ใช้แสงแดดมาผลิตไฟฟ้าให้มากขึ้นเหมือนกับที่ประเทศเยอรมนีและสเปนได้ทำสำเร็จมาแล้ว

การนำแสงแดดมาใช้ผลิตไฟฟ้านอกจากจะเป็นการลดจำนวนเงินไหลออกนอกประเทศแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีการจ้างงานได้เป็นจำนวนมาก ช่วยลดปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังหนักหน่วงอยู่ในขณะนี้

นอกจากนี้การใช้แสงแดดแทนก๊าซฟอสซิลยังช่วยลดปัญหาสำคัญอีก 2 ปัญหา คือปัญหาคอร์รัปชัน และปัญหาโลกร้อน นี่คือความเหมือนและความแตกต่างระหว่างแสงแดดซึ่งไม่มีวันหมดและทุกคนเป็นเจ้าของกับก๊าซฟอสซิลซึ่งถูกผูกขาด โกงได้ง่าย ก่อปัญหาโลกร้อนและแปรผันตามสภาวะสงครามของประเทศมหาอำนาจ เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้บริโภคควรจะถามตัวเองว่าเราจะผลักให้เป็นนโยบายของประเทศได้อย่างไร

ป.ล. ในวันที่ผมเขียนบทความชิ้นนี้เสร็จพอดี ผมได้เห็นรายงานขององค์การพลังงานสากล (IEA) เรื่อง “Global Methane Tracker 2022” (ก.พ. 2565) พร้อมกับพาดหัวข่าวว่า “ก๊าซมีเทน(หรือก๊าซธรรมชาติ)ที่ถูกปล่อยออกมาสู่ชั้นบรรยากาศจากภาคพลังงานมีมากกว่าที่ทางการรายงานถึง 70%” เพราะมีก๊าซมีเทนรั่วออกมาจากขั้นตอนการขุดเจาะน้ำมันดิบ ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งก๊าซจากชั้นหินของสหรัฐอเมริกาและการผลิต LNG ด้วย โดยที่ก๊าซมีเทนมีความสามารถในการเก็บกักความร้อนที่ก่อให้โลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 80 เท่าตัว