ส.ส.ก้าวไกล ร่วมอภิปรายรายงานผลการดำเนินการกองทุนประกันสังคม ชี้ปัญหาคุ้มครองไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ แนะยกเครื่องประกันสังคม รองรับอนาคตสังคมสูงวัย-เทคโนโลยีเปลี่ยน พาเศรษฐกิจประเทศไปต่อได้
วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ที่รัฐสภา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการอภิปรายและรับทราบผลการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม โดยในส่วนของ ส.ส.พรรคก้าวไกล มีผู้อภิปรายหลายประเด็นถึงสถานภาพของกองทุนฯ รวมถึงสถานการณ์ภาพรวมของระบบประกันสังคมในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต
หนึ่งในผู้อภิปราย โดยนายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงภาพรวมของระบบการคุ้มครองแรงงานผ่านประกันสังคม โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบว่า ไม่ว่ากองทุนฯ จะดำเนินงานดีขนาดไหน ตราบที่วันนี้ยังไม่สามารถขยายสิทธิประโยชน์เหล่านี้ไปครอบคลุมแรงงานได้อย่างทั่วถึง ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าประเทศไทยมีระบบคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้แรงงานอย่างเป็นธรรม
ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานที่ไม่ใช่ข้าราชการ 36 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 18 ล้านคนเป็นลูกจ้างในระบบ แต่อีก 18 ล้านคนยังอยู่นอกระบบในบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียน และมีเพียง 4% เท่านั้นที่ได้รับความคุ้มครอง นั่นหมายความว่าอีก 96% ยังตกหล่นจากความคุ้มครอง ทั้งที่แรงงานนอกระบบเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในความเข้มแข็งของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ
นายสิทธิพลยังระบุต่อว่าธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมขณะนี้คิดเป็น 96% ของธุรกิจทั้งหมด ยิ่งธุรกิจเล็ก แรงงานก็ยิ่งอยู่นอกระบบมากเท่านั้น และยิ่งได้รับความคุ้มครองที่น้อยลง กว่าครึ่งของแรงงานในธุรกิจขนาดเล็กที่มีการจ้างงานน้อยกว่า 49 คนไม่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง ขณะที่กว่า 88% ของแรงงานในธุรกิจขนาดย่อมที่มีการจ้างงานน้อยกว่า 5 คน ไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆ เลย
พร้อมกล่าวว่ามีหลายเหตุผลที่ทำให้ปัจจุบันแรงงานเหล่านี้ตกหล่นจากความคุ้มครอง ประการแรก รูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนไปเป็นไม่ทางการมากขึ้น เช่น งานพาร์ทไทม์ กิจการส่วนตัว ฯลฯ ซึ่งระบบประกันสังคมไม่ได้ถูกออกแบบมารองรับงานกลุ่มนี้ ประการต่อมา ระบบประกันสังคมภาคสมัครใจไม่จูงใจมากพอในการดึงดูดผู้ประกันตนมากขึ้น และประการสุดท้าย คือความขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่จะส่งเสริมให้คนเข้าสู่ระบบประกันสังคมมากขึ้น
จากการรวบรวมข้อมูลขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประกันสังคมภาคบังคับ ม.33 และกองทุนเงินทดแทน ครอบคลุมแรงงานเพียง 9-11 ล้านคน จากแรงงานทั้งสิ้น 36 ล้านคน หรือเรามีแรงงานที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น ขณะที่การประกันตนแบบสมัครใจตาม ม.39 คุ้มครองแรงงานเพียง 4% ของแรงงานทั้งหมด ส่วนการประกันตนตาม ม.40 คุ้มครองแรงงานต่ำกว่า 1% ของแรงงานทั้งหมด
กองทุนประกันสังคมมีความสำคัญในการเป็นแหล่งประกันความมั่นคงในชีวิต แต่หากแรงงานไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์หรือความคุ้มครองได้อย่างทั่วถึง นั่นจะเป็นปัญหาสำคัญในอนาคต จากข้อมูลทั้งหมด สะท้อนว่าปัญหาการจ้างงานนอกระบบและระดับความคุ้มครองแรงงานภายใต้กองทุนประกันสังคมกำลังอยู่ในภาวะจำกัดและมีปัญหา กองทุนฯ จำเป็นต้องหาแนวทางในการเร่งดึงดูดแรงงานนอกระบบให้เข้าร่วมกองทุนฯ ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันให้ได้ ต้องมีมาตรการเชิงรุกออกแบบแรงจูงใจที่เหมาะสมให้แรงงานนอกระบบอยากเข้ากองทุน
นายสิทธิพล ยังอภิปรายถึงข้อเสนอต่อกองทุนประกันสังคม โดยระบุว่าประการแรก กองทุนฯ จำเป็นต้องทำงานร่วมกับส่วนราชการอื่นๆ เพื่อสร้างมาตรการจูงใจที่ดีพอในการดึงดูดธุรกิจให้เข้าสู่ระบบ เช่น นโยบายหวยใบเสร็จ เพื่อช่วยเหลือด้านภาษี การเงิน และแหล่งเงินทุน เพื่อเป็นกลไกจูงใจให้ธุรกิจเข้าสู่ระบบ ประการที่สอง ทำระบบขึ้นทะเบียนประกันสังคมให้ง่ายขึ้นภายใต้หน่วยงานเดียว ไม่ซับซ้อน พัฒนาระบบรองรับเชื่อมกับฐานข้อมูลอื่นๆ เพื่อให้แรงงานอิสระขึ้นทะเบียนได้ และประการสุดท้าย กองทุนต้องปรับแก้นิยามความหมายของการจ้างงานในปัจจุบันซึ่งแตกต่างจากในอดีตมาก ปัจจุบันเรามีแรงงานประเภทใหม่ เช่น บนธุรกิจแพลตฟอร์ม หรือเป็นโปรเจกต์ระยะสั้น ซึ่งนับวันมีขนาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“การบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมมีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศ โดยเฉพาะในภาวะสังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่กระทบการจ้างงาน และภาวะเศรษฐกิจ ความเป็นไปของกองทุนประกันสังคมเกี่ยวข้องอย่างมากกับการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว” นายสิทธิพลกล่าว
ตลอดการพิจารณาวันนี้ ส.ส.พรรคก้าวไกลยังมีการอภิปรายในอีกหลายประเด็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาจากการที่มีกลุ่มผู้ประกันตนออกจากระบบประกันสังคมคิดเป็นเงินกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท สวนทางกับค่าใช้จ่าย ที่ปี 2563 กองทุนฯ มีค่าใช้จ่ายกว่า 1.3 แสนล้านบาท และปี 2564 กว่า 1.5 แสนล้านบาท, กรณีรายได้เงินสมทบตาม ม.33 ม.39 ม.40 และเงินสมทบจากรัฐบาล ปี 2563-2564 ลดลงไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท
รวมถึงกรณีสิทธิประโยชน์การรักษาที่ได้รับไม่เท่าเทียมกัน กับสิทธิจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ซึ่งเป็นความไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ทั้งที่ผู้ประกันตนต้องออกเงินสมทบด้วย, การที่ผู้ประกันตนตาม ม.40 ได้รับสิทธิประโยชน์ที่ไม่เท่าเทียมกับผู้ประกันตนตาม ม.33 และ ม.39 ไม่ว่าจะเป็นกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการคลอดบุตร, การลดระเบียบขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติ ซึ่งมีเป็นจำนวนมากในระบบเศรษฐกิจไทย ได้ขึ้นทะเบียนส่งเงินสมทบเข้าเงินกองทุนประกันสังคม เพิ่มรายได้ให้กองทุนประกันสังคมอย่างยั่งยืน เป็นต้น