ครม.เคาะลดเงินสมทบประกันสังคมเหลือ 2.5% อีก 3 เดือน เริ่ม 1 มิ.ย.นี้ บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้นายจ้าง – ลูกจ้างกว่า 2 หมื่นล้านบาท รวม 12 เดือน เงินสมทบลดลงฮวบกว่า 8.8 หมื่นล้าน หวั่นขาดเสถียรภาพด้านกระทรวงแรงงานทำรายงานเสนอรัฐบาลขยายเพดานค่าจ้าง-เพิ่มรายได้กองทุน สปส. รองรับค่าใช้จ่ายในอนาคต
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ….ตามที่กระทรวงแรงงานนำเสนอ โดยให้ปรับลดอัตราเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 จากเดิมต้องจ่ายเงินสมทบฝ่ายละ 5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน ปรับลดเหลือฝ่ายละ 2.5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับรัฐบาลส่งเงินสมทบในอัตราเดิม 2.75 % ของค่าจ้างผู้ประกันตน รวมทั้งปรับลดเงินสมทบของผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 จากเดิมต้องจ่ายเงินสมทบเดือนละ 432 บาท ลดเหลือเดือนละ 216 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้างและผู้ประกันตน รวมทั้งรักษาระดับการจ้างงาน และเพิ่มกำลังซื้อของตลาดในประเทศ (วงเงินรวมประมาณ 20,300 ล้านบาท) จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID-19)
ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ……มีสาระสำคัญ ดังนี้
-
1) ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2563 และกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564
2) ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ให้รัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุน เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตราย หรือ เจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตร ฝ่ายละ 1% ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนฝ่ายละ 1.25% ของค่าจ้างผู้ประกันตน และรัฐบาลปรับเป็น 1.5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ฝ่ายละ 0.25% ของค่าจ้างผู้ประกันตน ตามบัญชี ก.
3) ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป ให้รัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุน เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตร ฝ่ายละ 1.5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละ 3% ของค่าจ้างผู้ประกันตน และรัฐบาล 1% ของค่าจ้างผู้ประกันตน สำหรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในส่วนของนายจ้าง และผู้ประกันตน ฝ่ายละ 0.5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน และรัฐบาล 0.25% ของค่าจ้างผู้ประกันตน ตามบัญชี ข.
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังได้จัดทำแผนบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม รวมทั้งประมาณการการสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่จะได้รับจากมาตรการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับนายจ้างและผู้ประกันตนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส โควิดฯ เสนอที่ประชุม ครม.ตามมาตรา 7 และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 มีรายละเอียดดังนี้
- การปรับลดอัตราเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 จากฝ่ายละ 5% เหลือ 2.5% และปรับลดเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จากเดือนละ 432 บาท เหลือเดือนละ 216 บาท คาดว่าส่งผลทำให้กองทุนประกันสังคมจัดเก็บเงินสมทบได้ลดลง 20,163 ล้านบาท โดยผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบลดลง 10,676 ล้านบาท และนายจ้างจ่ายเงินสมทบลดลง 9,487 ล้านบาท
- หากรวมมาตรการปรับลดอัตราเงินสมทบ เป็นระยะเวลา 12 เดือนกล่าวคือ การปรับลดอัตราเงินสมทบครั้งที่ 1 ตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคม 2563 , การปรับลดครั้งที่ 2 ตั้งแต่เดือนกันยายน ถึง พฤศจิกายน 2563 และครั้งที่ 3 เดือนมกราคม ถึง มีนาคม 2564 รวมแล้วยอดเงินสมทบทั้งหมดจะลดลงไปประมาณ 88,831 ล้านบาท โดยผู้ประกันตนจะจ่ายเงินสมทบลดลง 56,659 ล้านบาท ส่วนนายจ้างจะจ่ายเงินสมทบลดลง 32,172 ล้านบาท
ดังนั้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างเสถียรภาพกองทุน และไม่เป็นภาระต่อประเทศในอนาคต จึงต้องมีการดำเนินการ โดยปรับเพิ่มเพดานค่าจ้าง ซึ่งจะทำให้กองทุนมีรายรับมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากฐานค่าจ้างที่ปรับเพิ่ม พร้อมทั้งปรับอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากมีการประเมินสถานะกองทุนชราภาพ พบว่าอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพที่สำนักงานประกันสังคม ควรจัดเก็บเฉลี่ยสูงถึง 15.53% ในขณะที่มีการจัดเก็บเงินสมทบเพียง 6% จึงจำเป็นจะต้องเพิ่มอัตราเงินสมทบ เพื่อให้ใกล้เคียงกับอัตราที่แท้จริง
ทั้งนี้ หากสามารถเริ่มดำเนินการปรับเพิ่มอัตราได้เร็วจะทำให้การเพิ่มอัตราเงินสมทบเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้น แต่หากชะลอการเพิ่มอัตราเงินสมทบออกไป จะทำให้ในอนาคตอาจต้องเพิ่มอัตราเงินสมทบอย่างก้าวกระโดด เพื่อให้กองทุนมีเงินเพียงพอจ่ายสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนตามที่กฎหมายกำหนด
สำหรับผลกระทบต่อผู้ประกันตน , นายจ้าง และสำนักงานประกันสังคม มีรายละเอียดดังนี้
อย่างไรก็ตาม การลดอัตราเงินสมทบส่งผลกระทบโดยตรงต่อเงินบำเหน็จขราภาพของผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบน้อยกว่า 180 เดือน ประมาณ 5.93 ล้านคน ทำให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพลดลงประมาณ 1,195 บาทต่อคน และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพลดลงประมาณ 504 บาทต่อคน
ทั้งนี้ จำนวนเงินสำรองที่คงเหลือประมาณ 56,066 ล้านบาท เพียงพอสำหรับการจ่ายประโยชน์ทดแทนได้ประมาณ 9 เดือน ทำให้กองทุน 4 กรณีมีความเสี่ยงที่จะขาดเสถียรภาพ หากไม่สามารถจัดเก็บเงินสมทบได้ตามเป้าหมาย
กองทุน 2 กรณี ประกอบด้วย กรณีสงเคราะห์บุตร และชราภาพ ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยกองทุนจะจัดเก็บเงินสมทบได้จำนวน 16,236 ล้านบาท จากปกติที่ประมาณการจัดเก็บได้จำนวน 28,414 ล้านบาท ซึ่งลดลง 12,177 ล้านบาท ในขณะที่ต้องจ่ายประโยชน์ทดแทนประมาณ 8,683 ล้านบาท ในด้านกระแสเงินสดยังมีกระแสเงินสดรับมากกว่ากระแสเงินสดจ่าย ไม่ส่งผลต่อสภาพคล่องของกองทุน
“แต่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีภาระค่าใช้จ่ายประโยชน์ทดแทน กรณีบำนาญชราภาพแก่ผู้ประกันตนในอนาคต เพราะต้องจ่ายสิทธิประโยชน์ ตามหลักเกณฑ์อัตราและสูตรบำนาญที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งการที่สำนักงานประกันสังคมไม่ได้รับเงินสมทบเต็มจำนวน ทำให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายของกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้นที่อาจส่งผลกระทบต่อรัฐบาล ซึ่งจะต้องนำเงินมาสนับสนุนกรณีกองทุนไม่เพียงพอในอนาคต ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม 2533”
นอกจากนี้ กองทุนว่างงาน จะจัดเก็บเงินสมทบได้จำนวน 2,846 ล้านบาท จากปกติที่ประมาณการจัดเก็บได้จำนวน 4,744 ล้านบาท ซึ่งลดลง 1,897 ล้านบาท ในขณะที่ต้องจ่ายประโยชน์ทดแทนประมาณ 9,181 ล้านบาท ซึ่งรายรับเงินสมทบต่ำกว่าค่าใช้จ่าย และต้องนำเงินกองทุนออกมาใช้ จำนวน 6,335 ล้านบาท
โดยภาพรวมทั้งปี 2564 กองทุนว่างงานจัดเก็บเงินสมทบลดลง 4,921 ล้านบาท ในขณะที่ต้องจ่ายประโยชน์ทดแทนทั้งปีประมาณ 36,724 ล้านบาท ซึ่งรายรับเงินสมทบต่ำกว่าค่าใช้จ่าย และต้องนำเงินกองทุนออกมาใช้จำนวน 22,587 ล้านบาท ทำให้มีเงินลงทุนคงเหลือ ณ สิ้นปี 2564 จำนวน 130,780 ล้านบาท