ThaiPublica > Native Ad > ‘เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์’ บ่มเพาะ ‘เยาวชนน่าน’ เสริมประสบการณ์นอกห้องเรียน สร้างทักษะเรียนรู้ตลอดชีวิต

‘เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์’ บ่มเพาะ ‘เยาวชนน่าน’ เสริมประสบการณ์นอกห้องเรียน สร้างทักษะเรียนรู้ตลอดชีวิต

11 กรกฎาคม 2023


กว่า 10 ปีของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาที่ได้สร้างหลักคิดให้เยาวชนมีตรรกะและเรียนรู้ว่าผลเกิดจากเหตุ จึงนำไปสู่การก่อตั้ง มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญาขึ้นในปี 2565 เพื่อต่อยอดกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญาให้มีความต่อเนื่อง กับภารกิจการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยแนวคิด ‘การศึกษาที่ยั่งยืน’ ผ่านการปลูกฝังวิธีคิดเชิงธุรกิจและความเป็นผู้ประกอบการให้แก่เยาวชน ทั้งเชิงรูปธรรมและนามธรรม สร้างสังคมไทยเติบโตอย่างยั่งยืนโดยมีวัตถุประสงค์หลักในการมอบโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ทักษะใหม่ และประสบการณ์จริง เพื่อให้เยาวชนมีความพร้อมที่จะใช้ชีวิตอย่างสมดุลในอนาคต

ในปี 2566 นี้ มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา ได้ริเริ่มโครงการ ‘เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์’ รุ่นที่ 1 ขึ้น มุ่งเน้นสอนทักษะและวิธีคิดเชิงธุรกิจให้แก่เยาวชนในจังหวัดน่าน ภายใต้แนวคิด “66 วันเรียนรู้ชีวิต ทำธุรกิจให้เป็นจริง” เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมูลนิธิฯด้วยการลงมือปฏิบัติจริง ทำให้เกิดการพัฒนาทักษะและเสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต สามารถกลับมาดูแลท้องถิ่น พัฒนาชุมชน และสร้างความยั่งยืนในจังหวัดน่านและพื้นที่ใกล้เคียงด้วยความมุ่งหมายของมูลนิธิฯ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในมิติอื่น ๆ

สำหรับ ‘เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์’ คัดเลือกนักเรียนมัธยมปลายจาก 8 โรงเรียนในจังหวัดน่าน เรียนรู้ประสบการณ์ทำธุรกิจจริง ผ่านหลักสูตร 3 แคมป์ ภายใต้แนวคิด “66 วันเรียนรู้ชีวิต ทำธุรกิจให้เป็นจริง” โดยมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา สนับสนุนเงินทุนเริ่มต้นในการทำธุรกิจ

นอกจากความรู้ใหม่แล้ว เยาวชนยังได้รับการแบ่งปันประสบการณ์จากกูรูนักธุรกิจ และได้ลงมือปฏิบัติจริงตั้งแต่การพัฒนาสินค้า การผลิต จนถึงนำผลิตภัณฑ์มาขายจริง พัฒนาการและการเรียนรู้ต่างๆ อาทิ การวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ จัดตั้งบริษัททำธุรกิจจริงตามองค์ความรู้ ควบคู่กับการลงมือปฏิบัติทั้งกระบวนการ ตั้งแต่คิดไอเดียธุรกิจ พัฒนาสินค้า วางแผนงาน ขายสินค้า และรายงานผลประกอบการ รวมทั้งได้เรียนรู้ทักษะการแก้ปัญหาภายใต้ความท้าทายของระยะเวลาที่จำกัด

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่ผลการดำเนินธุรกิจที่วัดได้ด้วยยอดขาย แต่เป็นการที่เยาวชนได้เรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ ทักษะ และสร้างเสริมประสบการณ์ ในการเป็นผู้ประกอบการครั้งแรกในชีวิต ได้ลงมือทำธุรกิจทั้งกระบวนการ

  • อ่าน ‘น่านเพาะพันธุ์ปัญญา’ กับเป้าหมายสร้างทักษะการเรียนรู้ที่ยั่งยืน
  • ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา

    ‘เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์’ หลักสูตรสร้างทักษะและประสบการณ์ใหม่นอกห้องเรียน

    ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา กล่าวถึงเป้าหมายของโครงการว่า “เราไม่ได้ต้องการเห็นว่าธุรกิจที่เยาวชนคิดคืออะไร หรือผลิตภัณฑ์เป็นแบบไหน กำไรหรือไม่ แต่สิ่งสำคัญคือการผจญภัยตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้ายของโครงการ สิ่งที่เราสังเกตได้คือ น้องๆ เติบโตขึ้น มีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น สามารถวิเคราะห์ปัญหาและบอกได้ว่าอะไรคือเหตุของปัญหา เมื่อหาเหตุและผลได้ เขาจะมองทางเลือกว่าควรแก้ปัญหาอย่างไร ทางเลือกก็จะมาจากการตัดสินใจของเขา”

    ดร.อดิศวร์ เล่าถึงพัฒนาการอีกว่า เยาวชนหลายคนทำไปอย่างที่คิด แต่ไม่เป็นตามที่คาดหวัง แปลว่าเขาล้ม แต่หลายคนก็ยังทำต่อไปได้ด้วยความตั้งใจ แล้วลุกเพื่อเดินหน้าต่อ กระทั่งการร่วมกันทำงานกับเพื่อนที่ไม่คุ้นเคยกันมาก่อน แต่ก็จบลงที่การพูดคุยหาทางออกร่วมกัน

    “ถ้าเขากลับบ้านไปแล้วคิดว่า การเรียนรู้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดชีวิต องค์ความรู้ใหม่ ทักษะใหม่ และประสบการณ์ จะช่วยตีโจทย์การแก้ปัญหาทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น การทำธุรกิจหรือชีวิตส่วนตัว ต่อไปไม่ว่าจะทำอะไร เชื่อว่าจะลดความเสี่ยงของความไม่สำเร็จลง” ดร.อดิศวร์ กล่าว

    ดร.อดิศวร์ เสริมว่า เยาวชนที่ร่วมโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์จะได้ ‘วิธีคิดเชิงตรรกะ’ ที่มาจาก ‘ประสบการณ์’ ในโครงการ และแม้ว่าพวกเขาอาจจะไม่เห็นประโยชน์จากสิ่งที่ได้รับในทันที แต่ก็เชื่อว่าสักวันนึงเมื่อน้อง ๆ ได้เผชิญอุปสรรคปัญหาประสบการณ์จากโครงการจะผุดขึ้นมาเป็นทางออกช่วยในการแก้ปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่เยาวชนเท่านั้นที่ได้ประสบการณ์ แต่ครูที่มาในฐานะผู้สังเกตการณ์ก็ได้อะไรกลับไปเช่นกัน

    ดร.อดิศวร์ กล่าวต่อว่า “ผู้ปกครองจะได้เห็นว่าเด็กเปลี่ยนไป ความคิดเปลี่ยน วิธีการมองปัญหาเปลี่ยน การแก้ไขปัญหาเปลี่ยน เพราะเขาได้มาประลองฝีมือกันที่นี่แล้ว เมื่อกลับไปแล้ว ได้ใช้ชีวิตจริง ใช้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นจริงโดยธรรมชาติ และนำเรื่องพวกนี้ไปใช้ในชีวิต ประโยชน์จะเกิด ซึ่งเป็นความหวังเล็กๆ ของเราว่า คงจะได้อะไรติดไม้ติดมือไปแล้วและนำไปใช้ในชีวิตจริงได้”

    เมื่อถามว่า โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้มากน้อยแค่ไหน ดร.อดิศวร์ ตอบว่า “บางครั้งการลดความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องของโอกาส…การให้โอกาสทางการศึกษา เป็นก้าวแรกเลยที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง” และอธิบายต่อว่า มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญาเป็นมูลนิธิขนาดเล็ก มีทุนไม่มาก แต่เรามีความตั้งใจและความหวังที่ใหญ่โตมากกว่าสิ่งที่เรามี นั่นคือการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำลง

    “อย่างน้อยที่สุด น้องๆ ในโครงการนี้จะไม่ด้อยไปกว่าคนอื่น เขาได้รับโอกาสที่อาจจะไม่สามารถมีหากเขาไปเรียนรู้ในหลักสูตรปกติ แต่การมาเรียนรู้นอกหลักสูตรนอกห้องเรียน จะเห็นผลเมื่อวันหนึ่งเขาไปลงแข่งขันในสนามจริง เขาจะรู้ว่าสามารถสู้คนอื่นได้ สิ่งนี้แหละที่บอกว่า อย่างน้อยเราไปปิดช่องว่างให้ลดลง หรือลดความเหลื่อมล้ำได้สักนิด ได้เพียงนิดเดียวเราก็ดีใจแล้วที่ว่าเรามีส่วนทำให้มันลดลง” ดร.อดิศวร์ กล่าว

    บทเรียน: รับฟังลูกค้า ปรับปรุง แก้ไข

    เมื่อเยาวชนได้รับโจทย์ให้ยกระดับของดีใกล้ตัวที่มีในจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีของดีท้องถิ่นมากมาย แต่หลายอย่างอาจจะเข้าไม่ถึงผู้บริโภค เพราะด้วยปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์ไม่ทันสมัย การแปรรูป การตลาด การขาย ตลอดจนของบางอย่างยังถูกคนมองข้ามไป ทั้งหมดนี้คือความท้าทายที่เยาวชนต้องหาทางออก

    ยกตัวอย่างสินค้าชุมชนที่ในอดีตเป็นที่รู้จักเฉพาะคนบางกลุ่มคือ ข้าวแคบ แต่หลังจากเยาวชนจากโรงเรียนเมืองลีประชาสามัคคี หาไอเดียการตลาดใหม่จนออกมาเป็นข้าวแคบแบรนด์ลินา โดยพัฒนาข้าวแคบที่มีรสชาติหลากหลาย ทำให้อาหารทานเล่นซึ่งเป็นสินค้าชุมชนเป็นที่รู้จัก มีรสชาติดี ทานง่าย และเข้าถึงกลุ่มคนมากขึ้น

    ตัวแทนนักเรียนโรงเรียนเมืองลีประชาสามัคคี บอกว่า สิ่งที่ได้จากโครงการคือ การทำงานเป็นทีม รู้จักแบ่งหน้าที่ตามความถนัด เพื่อให้แต่ละคนมีบทบาทที่ชัดเจนและสามารถแสดงความสามารถของตัวเอง

    แม้จะมีอุปสรรคเรื่องค่าใช้จ่ายจากการขนส่ง เพราะต้องจ้างรถไปขายที่ข่วงเมือง ทีมโรงเรียนเมืองลีประชาสามัคคีเลยแก้ปัญหาด้วยการเจาะตลาดเล็ก คือระดับตำบล จากนั้นขยายมาขายในตัวอำเภอ ส่งขายในร้านค้าชุมชน พอขายได้ในระดับหนึ่ง จึงติดต่อกับรถของโรงพยาบาลค่ายฯ และขอติดรถออกมาขายของในเมือง และเยาวชนก็ช่วยออกค่าน้ำมันส่วนหนึ่ง

    นอกจากนี้ยังมีจุดอ่อนของผลิตภัณฑ์คือ ข้าวแคบที่ทำในตอนแรกใช้วิธีการอบเพื่อสร้างจุดขายไร้น้ำมัน ทว่าลูกค้าชอบแบบทอดมากกว่า เมื่อทีมโรงเรียนเมืองลีประชาสามัคคีได้นำปัญหามาคุยกัน เลยทำออกมาขาย 2 แบบ ปรากฏว่า ข้าวแคบแบบทอดขายดีกว่าแบบอบ ทำให้เยาวชนได้เรียนรู่ว่าในการทำธุรกิจ ‘ลูกค้าคือศูนย์กลาง’ และไม่ควรยึดติดกับความคิดแบบเดิมๆ

    ทีมโรงเรียนเมืองลีประชาสามัคคี

    หนึ่งในตัวแทนทีมโรงเรียนเมืองลีประชาสามัคคี บอกว่า “เมื่อมาเข้าค่ายและได้ทำธุรกิจจริง ทำให้รู้ว่าการคิดจะทำธุรกิจต้องคิดอย่างรอบคอบ คิดว่าเมื่อเลือกทำสิ่งใดแล้ว ผลที่ตามมาคืออะไร คนอื่นจะเดือดร้อนหรือไม่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้สามารถนำมาใช้ในการเรียนได้ เช่น ในวิชาคณิตศาสตร์ เดิมเราจะคิดจากโจทย์ แล้วไปหาคำตอบ แต่ที่จริงแล้ว เราต้องมาดูที่กระบวนการหาคำตอบด้วยว่ามีอะไรบ้าง ทำอย่างไร ใช้สูตรอย่างไรคิดเพื่อจะไปให้ถึงคำตอบสุดท้าย

    ตัวอย่างเรื่องข้าวแคบ คล้ายกับผลิตภัณฑ์ข้าวหลามถอดเสื้อ แบรนด์หลามรวย จากทีมโรงเรียนสา ซึ่งมองว่า จุดอ่อนของข้าวหลามคือความยุ่งยากในการรับประทาน โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยรับประทานเท่าไรนัก จึงมีการแก้ปัญหานี้โดยพัฒนาให้สามารถแกะรับประทานได้ง่ายขึ้น จัดส่งและเก็บได้หลายวัน มีไส้หลากหลายรสชาติ ที่สำคัญคือใช้ของดีท้องถิ่นอย่างมะแขว่นมาเป็นส่วนผสมของไส้

    “เราพัฒนาสินค้าจากฟีดแบค ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาสินค้า จุดนี้เลยทำให้สินค้าขายได้ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ นอกจากเรื่องการบริหารเงินแล้ว ในเรื่องการคิดผลิตภัณฑ์หรือบริการ การให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และปรับปรุงพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก” ตัวแทนทีมโรงเรียนสา กล่าว

    ทีมโรงเรียนสา

    อุปสรรคของแบรนด์หลามรวย คือการขาย จากตอนแรกตั้งกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยว แต่ในช่วงโลว์ซีซันไม่มีนักท่องเที่ยว ส่วนการขายออนไลน์ก็ไม่ชัดเจน เลยทำยอดขายไม่ได้ตามเป้า ทีมเลยแก้ปัญหาด้วยการเข้าไปโพสต์ขายสินค้าในกลุ่มเล็กๆ เช่น กลุ่มตลาดนัดคนเวียงสา หรือกลุ่มตลาดนัดคนเมืองน่าน และพยายามออกบูธบ่อยขึ้น มีการรับออเดอร์จากคนในเวียง ทำให้มีการบอกต่อในวงกว้าง เริ่มจากตัวอำเภอและขยายออกไปไกลขึ้น สุดท้ายมีคนหันมาสนใจสินค้าและทำยอดขายได้มากขึ้น

    ตัวแทนทีมโรงเรียนสา เล่าว่า “ช่วงที่ออกไปขายของที่ตลาดข่วงเมืองน่านครั้งแรกที่ไม่ได้ไปกับทางโครงการ เราเจอฝนตกโดยไม่ได้เตรียมร่มไปเลย พอไปอีกครั้งทำให้เตรียมพร้อมทุกอย่าง รวมถึงการจัดหน้าร้านเพื่อดึงดูดลูกค้า ถ้าขายไม่ดีก็พยายามออกโปรโมชัน และปรับปรุงคุณภาพสินค้าให้ดีขึ้น หรือตอนแรกสินค้าของเราไม่ได้ติดฉลากบอกไส้ชัดเจน เมื่อได้รับฟีดแบคก็มาปรับปรุงแพคเกจใหม่ให้ดูน่าสนใจ”

    มองผิวเผินเหมือนจะแก้ปัญหาได้อย่างราบรื่น แต่ทว่ากว่าจะแก้ปัญหาได้ต้องอาศัยความเชื่อมั่นในเพื่อนร่วมทีม และเชื่อใจในศักยภาพของเพื่อน จึงจะก้าวข้ามอุปสรรคไปได้

    “คอนเนคชันคือสิ่งสำคัญในโลกของการทำงาน เราไม่สามารถทำอะไรคนเดียวได้ และรู้จักใช้เงินทำงานให้เรา…การเป็นนักธุรกิจไม่ได้เป็นกันมั่วๆ แต่ทุกอย่างมาจากการคิด การวางแผน เมื่อเราคิดออกมาทุกอย่างมันก็เป็นจริงได้ การวางแผนจึงเป็นเรื่องสำคัญ” หนึ่งในตัวแทนทีมโรงเรียนสา กล่าว

    ทีมโรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร

    บทเรียน: วางแผน กล้าเสี่ยง จัดสรรเวลา และไม่พลาดซ้ำ

    ถัดมาที่ทีมโรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร กับแบรนด์ NALANA ด้วยการออกแบบสแน็คบ็อกซ์แห่งแรกที่ยกระดับ 6 ขนมขึ้นชื่อที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชนในจังหวัดน่าน รวมอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีลวดลายพิเศษ เพื่อเพิ่มมูลค่าของฝากจากน่าน

    ตัวแทนทีมโรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร บอกว่า โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ ทำให้การใช้ชีวิตในช่วงปิดเทอมใหญ่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะความรู้จากประสบการณ์การทำธุรกิจ

    “การทำธุรกิจต้องมีความยืดหยุ่นมากๆ ต้องพร้อมรับมือกับปัญหาที่เข้ามา ปรับเปลี่ยนและพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด วิธีคิดแบบนี้ สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันเราได้ เช่นกรณีเกิดปัญหาขึ้น หากเรายังใช้การแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดแบบเดิม ผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะยังเหมือนเดิม แต่ถ้าเราปรับวิธีคิดใหม่ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ลุล่วง และตรงจุด และต้องกล้าที่จะเสี่ยง กล้าที่จะแตกต่างหรือแปลกใหม่” ตัวแทนทีมโรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร กล่าว

    ตัวแทนทีมโรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร กล่าวต่อว่า “ในการทำงานต้องรู้จักจัดสรรเวลา เมื่อมีภารกิจมากขึ้นทั้งการเรียนและการทำงาน ต้องจัดสรรเวลาให้เหมาะสม และรู้จักรับฟังความคิดเห็น เอาใจเขามาใส่ใจเราแม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่เมื่อนำมาแชร์ร่วมกัน จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้นและทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่น”

    ตัวแทนทีมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56

    มุมมองดังกล่าวคล้ายกับมุมมองจากตัวแทนทีมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 ที่พัฒนาคุกกี้ แบรนด์ Ten Bites โดยพัฒนาคุกกี้ที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชาติพันธุ์ในจังหวัดน่าน ควบคู่กับการใช้ผ้าปักลายซึ่งเป็นหัตถกรรมท้องถิ่นของแต่ละชนเผ่า มาเป็นเครื่องมือสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมการขาย

    ตัวแทนทีมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 พูดถึงบทเรียนและการเรียนรู้จากการเข้าร่วมแคมป์ว่า หลังจากเข้าร่วมแคมป์ทำให้รู้จักการวางแผน และรู้การวางแผนช่วยให้เราสามารถบรรลุตามเป้าหมาย และสามารถนำไปใช้กับการเรียนได้อีกด้วย

    “เราอย่าหยุดการเรียนรู้ เพราะว่าชีวิตเราไม่ได้อยู่เพียงแค่นี้ แต่ยังสามารถที่จะเติบโตต่อไปในอนาคตอีกมาก ทำให้เราสามารถวางแผนชีวิตที่ดีและมีสติคิดรอบคอบมากขึ้น รวมทั้งร่วมมือกัน วางแผน ปรับตัวและเรียนรู้ มีความกล้ามากขึ้นในการขายสินค้า ต้องรู้จักเรียกลูกค้า ต้องขายของเป็น แม้จะรู้สึกตื่นเต้น แต่ก็สนุกมาก” ตัวแทนทีมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 กล่าว

    ทีมโรงเรียนพระธาตุพิทยาคม

    ส่วนทีมโรงเรียนพระธาตุพิทยาคม ได้พัฒนากาแฟ และพิซซ่าม้ง แบรนด์มองเดอพี โดยได้ไอเดียจากกาแฟจากบ้านมณีพฤกษ์ ซึ่งเป็นแหล่งกาแฟที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในไทย และยกระดับพิซซ่าม้ง อาหารวัฒนธรรมของชนเผ่าซึ่งทำกินกันเฉพาะในช่วงเทศกาลปีละครั้ง ให้เป็นของทานเล่นที่เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น

    กาแฟ และพิซซ่าม้ง แบรนด์มองเดอพี เจออุปสรรคเช่นเดียวกัน คือ พื้นที่บ้านแต่ละคนอยู่คนละอำเภอและคนละหมู่บ้านกัน ทำให้มีปัญหาในการติดต่อสื่อสาร อีกทั้งบางคนมีปัญหาทางบ้านต้องทำงาน ทำให้ไม่มีเวลามาให้กับการทำธุรกิจ แต่เมื่อได้เปิดอกคุยและยอมรับในข้อจำกัดและปัญหาของแต่ละคน ทำให้ทุกอย่างผ่านมาได้ด้วยดี

    เมื่อถามถึงบทเรียนที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ ตัวแทนทีมโรงเรียนพระธาตุพิทยาคม บอกว่า “เราได้เรียนรู้การทำธุรกิจจากการลงมือทำจริง ขายจริง ได้ฝึกฝนและเรียนรู้ถึงความผิดพลาดว่าเกิดขึ้นจากอะไร และควรแก้ไขปัญหานี้อย่างไร และไม่ควรกลับไปทำความผิดพลาดซ้ำ”

    ครูคือโค้ช เรียนรู้ไปพร้อมกัน

    ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโครงการคือ ครูจากโรงเรียนต่างๆ ที่มาเป็นพี่เลี้ยงประจำทีม โดยหนึ่งในครูที่ช่วยพัฒนาวิธีคิดของเยาวชนน่านคือ ครูดาราลักษณ์ อินปา และครูเจนภพ วิถาน จากโรงเรียนเชียงกลางประชาพัฒนา ครูทั้งสองจากโรงเรียนเชียงกลางประชาพัฒนา กล่าวว่า หน้าที่ของครูในโครงการคือ การเปิดโอกาสให้เด็กได้เสนอความคิดของตัวเอง กล้าแสดงออกและลงมือทำ

    “เปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือทำ ทำให้พบปัญหา และบางครั้งเขาล้ม แต่หาคิดวิธีว่าจะลุกขึ้นมาสู้อย่างไรให้เร็วให้ได้ ซึ่งต่อไปสิ่งเหล่านี้เขาอาจจะเจอในชีวิตจริง” ครูจากโรงเรียนเชียงกลางประชาพัฒนา กล่าว

    ส่วนบทเรียนที่ครูได้รับคือ การได้ความรู้ใหม่ในแง่ธุรกิจ รวมถึงวิธีการสอนรูปแบบใหม่ที่พี่เลี้ยง โค้ช จะเน้นให้ข้อคิด ให้ความคิด เป็นการศึกษาแนวใหม่ในยุคปัจจุบันที่มุ่งเน้นให้ครูเป็นพี่เลี้ยง เป็นคนชี้แนะแนวทางมากกว่าที่จะไปยืนสอนหน้าห้อง

    “ครูรุ่นใหม่ต้องไม่ชี้นำ แต่จะมีการพูดในทางบวก และพูดให้เด็กคิดตาม” นี่คืออีกหนึ่งบทเรียนของครูโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 ได้แก่ ครูสุนิตา ไชยชนะ และครูสงกรานต์ มหามิตร

    นายนิภัทร สุวาส เจ้าของ บริษัท สมาร์ทอิมเมจ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด

    ครูสุนิตา และครูสงกรานต์ บอกว่า หลังจากเข้าร่วมโครงการแล้วเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในตัวเด็กคือ การรับฟัง และการฝึกให้คิดเอง เพราะถ้าไม่คิดเองก็จะไม่สามารถตอบคำถามหรือไม่สามารถแก้ไขปัญหาเองได้

    “เมื่อเขาคิดเอง ทำเอง ลงมือทำเอง เขาก็จะตอบได้ทุกอย่าง ทุกวันนี้เขามาบอกว่า หนูจะทำอันนี้ หนูจะเป็นคนพรีเซ้นท์เอง ตอนแรกครูเพียงแนะนำให้เขาเลือกทำในสิ่งที่ถนัดและคิดว่าทำได้ดี ซึ่งค่ายนี้ทำให้เขาบอกและพูดในสิ่งที่ต้องการ” ครูสุนิตา และครูสงกรานต์ กล่าว

    ครูสุนิตา และครูสงกรานต์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ทำให้ตัวเองทึ่งมากคือ เด็กสามารถตอบคำถามรายละเอียดปลีกย่อยได้ เช่น เรื่องของต้นทุน ต่างจากแต่ก่อนเด็กไม่สามารถตอบได้ เป็นผลมาจากการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง และเป็นคำตอบที่กลั่นกรองและเรียบเรียงมาจากการที่เมนเทอร์ให้คำแนะนำ ทำให้ครูก็รู้สึกภูมิใจไปกับลูกศิษย์ไปด้วย

    “ครูก็ได้รับประโยชน์ ได้ความรู้ในการทำธุรกิจ เราต้องศึกษาไปด้วยเพื่อว่าหากเด็กมาถามเราก็ต้องสามารถชี้แนะพวกเขาได้ ซึ่งความรู้ในเชิงธุรกิจก็เปิดโลกครูเช่นกัน ในเรื่องของทักษะกระบวนการให้เด็กได้เรียนรู้ และการลงมือปฏิบัติ สามารถนำไปปรับใช้กับวิชาวิทยาศาสตร์ได้ เหมือนให้เด็กและเรียนรู้ เราก็เพิ่มเทคนิคและวิธีการเข้าไปเพิ่มเติม ดูว่าจะตั้งคำถามอย่างไร ใช้วิธีการอย่างไร” ครูจากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 กล่าว

    สุดท้าย ครูจากโรงเรียนปัว ได้แก่ ครูสุพรรษา เขื่อนธะนะ และครูรัชนี บูรณพันธ์ ทั้งสองพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ ให้เด็กได้มีความกล้า และได้ลงมือทำจริง โดยมีครูคอยสนับสนุน แนะนำ และให้กำลังใจ

    ครูจากโรงเรียนปัว กล่าวว่า “ครูเห็นทุกคนมีพัฒนาการมาก จากคนที่พูดไม่เก่ง ก็กล้าพูดกล้าแสดงออกมากขึ้น หรือคนที่พูดเก่งแต่ไม่มีการวางแผนที่ดีพอ พอมาเข้าแคมป์นี้เขารู้จักวางแผน หรือบางคนไม่พูดแต่คิดเยอะมาก จากคนที่อยู่เบื้องหลัง แต่เมื่อมาแคมป์นี้เขาสามารถนำเสนองานได้ด้วยตัวเอง หรือบางคนอยู่กับเพื่อนไม่ได้ แต่เขาก็ปรับตัวแม้จะต้องใช้เวลา พวกเขารู้จักเข้าหากันมากขึ้น เราได้เห็นมุมต่างๆ เหล่านี้ สะท้อนถึงเด็กมีพัฒนาการที่ชัดเจน”

    สำหรับสิ่งที่ครูได้รับคือ การเรียนรู้ร่วมกันไปพร้อมกับเด็ก โดยเฉพาะเรื่องธุรกิจ เพราะไม่เพียงแค่เด็กที่ต้องหาความรู้เท่านั้น แต่ครูก็ต้องหาความรู้เพื่อรอตอบคำถามไปด้วย และสิ่งเหล่านี้สามารถนำไปไปประยุกต์เข้ากับวิชาที่สอน คือ วิชาค้นคว้าอิสระ มีการเรียนการสอนหลายๆ เทคนิคที่สามารถแทรกเข้าไปได้

    ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ปรัชญาการทำงานของมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญาที่มุ่งพัฒนาความรู้และทักษะ ด้วยการสร้างประสบการณ์จริงให้แก่เยาวชน พัฒนาทุนมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสและความยั่งยืนให้กับประเทศไทย